ภาคผนวก ๒. (ข) เรื่อง สร้างพระรูป ๔ รัชกาล

เมื่อสร้างพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์นั้นก็เริ่มปั้นหุ่นแต่ปีมะเส็ง การสร้างพระบรมรูปไม่เคยมีประเพณีมาแต่ก่อน แต่โบราณรูปที่สร้างเป็นเจดียวัตถุสำหรับสักการบูชา สร้างแต่พระพุทธรูปและเทวรูป หรือรูปพระสงฆ์ที่มีผู้นับถือมาก แม้จะสร้างพระรูปเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินก็สร้างเป็นพระพุทธรูป ดังเช่นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่อยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือมิฉะนั้นก็สร้างเป็นรูปพระอิศวรหรือพระนารายณ์ยังมีอยู่ในเมืองเขมรหลายองค์ ที่จะสร้างพระรูปพระเจ้าแผ่นดินเป็นรูปมนุษย์แต่โบราณหาทำไม่ อะไรเป็นเหตุให้ทิ้งตำราเดิม เวลาแต่งหนังสือนี้หมดตัวผู้รู้เสียแล้ว รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้กราบทูลถามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อยังมีโอกาสที่จะรู้ได้ จึงได้แต่สันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ คือเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ได้พระรูปพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ เข้ามาหลายพระองค์ เป็นพระรูปหล่อเช่นที่เอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๓ กับพระมเหสีถวายมาเป็นบรรณาการบ้าง เป็นพระรูปปั้นระบายสีเช่นที่ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานบ้าง ความนิยมคงจะเริ่มเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงมีผู้ส่งพระบรมรูปฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (องค์ที่ทรงพระมาลาสก๊อต) ไปให้ทำเป็นรูปหล่อที่ในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ส่งไปก็เป็นได้) ช่างปั้นฝรั่งเศสเป็นผู้ปั้น ได้เป็นแต่ฉายาลักษณ์จึงคิดประดิษฐ์พระรูปโฉมตามคาดคะเนแล้วหล่อด้วยปูนปลาศเตอร์ขนาดสูงราวครึ่งเมตร ส่งเข้ามาถวายทอดพระเนตรก่อน (พระบรมรูปตัวอย่างที่ว่านี้ เดี๋ยวนี้อยู่ไนหอสุราลัยพิมาน) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นพระบรมรูปที่ฝรั่งทำผิดเพี้ยนพระลักษณะมากนัก จึงให้บอกเลิกแล้วดำรัสสั่งให้ช่างไทย (จะเป็นใครสืบไม่ได้ความ แต่เป็นช่างปั้นฝีมือเยี่ยมอยู่ในเวลานั้น) ปั้นพระบรมรูปขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ ให้ทำเป็นอย่างพระบรมรูประบายสีขนาดเท่าพระองค์ (พระบรมรูปองค์ที่ว่านี้ เดี๋ยวนี้ประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งเวไชยันต์วิเชียรปราสาทที่เมืองเพชรบุรี) แต่การปั้นยังไม่ทันแล้วก็สิ้นรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้ทำต่อมาจนสำเร็จ เมื่อมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเช่นนั้นแล้ว จึงทรงพระราชดำริว่าควรจะสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์เป็นพระรูปหล่อขนาดเท่าพระองค์ ขึ้นไว้เป็นที่สักการบูชาเฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายท่านผู้ใหญ่ในราชการแผ่นดินก็เห็นชอบด้วย เพราะมีแบบแผนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบุรพการีมหาราชเป็นเยี่ยงอย่าง และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มสร้างเป็นรูปมนุษย์มาแล้ว สันนิษฐานว่ามูลเหตุที่สร้างพระบรมรูป ๔ องค์เห็นจะเป็นเช่นว่ามา การสร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์นั้นโปรด ฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และเป็นช่างอย่างดีในพระองค์เองด้วย เป็นผู้อำนวยการ เมื่อปั้นหุ่นนั้นรู้พระลักษณะแต่ขนาดพระองค์ว่าสูงเท่าใด เพราะมีพระพุทธรูปฉลองพระองค์อยู่เปนหลัก แต่ส่วนพระรูปโฉมนั้นนอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมรูปปั้นอยู่แล้ว ต้องอาศัยไต่ถามผู้ได้เคยเห็นพระองค์ให้บอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างแก้ไขไปแต่แรกจนแล้ว ก็ในเวลานั้นผู้เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีอยู่มาก แต่ผู้เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หาได้แต่ ๔ คน คือ พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ พระองค์ ๑ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังองค์ ๑ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คน ๑ กับเจ้าพระยาธรรมา ฯ (ลมั่ง สนธิรัตน) คน ๑ ปั้นพระบรมรูปสำเร็จได้หล่อเมื่อเดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้วโปรด ฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในชั้นแรก

(คัดจากหนังสือความทรงจำ พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

  1. ๑. วันหล่อพระบรมรูปนั้น จดหมายเหตุโหรฉบับจมื่นกงศิลป์ (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๘) บันทึกไว้ว่า “ณ วัน ๗ ๑๒ ๑ ค่ำ (ปีมะแม จ.ศ. ๑๒๓๓) – (วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๔) หล่อพระรูปพระพุทธยอดฟ้า ๑ พระพุทธเลิศหล้า ๑ พระนั่งเกล้า ๑ พระจอมเกล้า ๑”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ