ภาคผนวก ๘. เรื่องการแต่งกายเข้าเฝ้า

มีการที่จัดขึ้นในราชสำนักในปีมะเมียนั้นอย่างหนึ่ง คือ เมื่อมีเครื่องแบบสำหรับแต่งตัวทหารมหาดเล็กขึ้นแล้ว ทรงพระราชดำริให้มีเครื่องแบบสำหรับฝ่ายพลเรือนแต่งเข้าเฝ้าในเวลาปกติด้วย ให้แต่งใส่เสื้อแพรสีต่างกันตามกระทรวง คือเจ้านายสีไพล ขุนนางกระทรวงมหาดไทยสีเขียวแก่ กลาโหมสีลูกหว้า กรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศ) สีน้ำเงินแก่ (จึงเกิดเรียกสีนั้นว่า “สีกรมท่า” มาจนทุกวันนี้) มหาดเล็กสีเหล็ก (อย่างเดียวกับสีเสื้อแบบทหารมหาดเล็ก) อาลักษณ์กับโหรสีขาว (คล้ายเสื้อติวนิค แต่ชายสั้น) คาดเข็มขัดนอกเสื้อปิดคอมีชาย (คล้ายเสื้อติวนิค แต่ชายสั้น) คาดเข็มขัดนอกเสื้อ เจ้านายทรงเข็มขัดทอง ขุนนางคาดเข็มขัดหนังสีเหลือง หัวเข็มขัดมีตราพระเกี้ยว นุ่งผ้าม่วงโจงกะเบนแทนสมปัก แต่เครื่องแบบพลเรือนนี้ไม่ได้บัญญติให้ใช้ทั่วกันไป เป็นแต่ใครได้พระราชทานก็แต่ง ที่ไม่ได้พระราชทานก็คงแต่งตัวอย่างเดิม คือใส่เสื้อกะบอกผ้าขาว เจ้านายทรงผ้าม่วงโจงกระเบนคาดแพรแถบ ขุนนางนุ่งสมปักชักพกคาดผ้ากราบ แต่เครื่องแบบพลเรือนที่ว่านี้ใช้มาเพียงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ พอเสด็จกลับจากอินเดียก็เริ่มเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

(คัดจากหนังสือความทรงจำ พระนิพนธ์ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

เรื่องเปลี่ยนแบบเครื่องแต่งตัวเข้าเฝ้า ซึ่งเปลี่ยนเป็นแบบใหม่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงเมื่อต่องานบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ด้วยเรื่องเนื่องไปถึงประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อีก อันการเปลี่ยนแบบเครื่องแต่งตัวไปตามแบบฝรั่งนั้น ที่จริงเริ่มมาแต่เมื่อเสด็จไปเมืองสิงคโปร์ในปีมะเมียแล้ว กระบวนเสด็จที่ไปครั้งนั้น เต็มยศก็แต่งเครื่องแบบเสื้อติวนิกอย่างฝรั่ง เวลาปกติก็ใส่เสื้อเปิดอกผูกผ้าผูกคออย่างฝรั่ง แต่คงให้นุ่งผ้าโจงไม่เปลี่ยนไปนุ่งกางเกง เมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ เวลาเสด็จออกอย่างใหม่ก็ใช้เครื่องแต่งตัวเช่นว่ามา เวลาเสด็จไปอินเดียก็ใช้เครื่องแต่งตัวเช่นนั้น แต่ที่อินเดียมีช่างชาวยุโรปทำเครื่องแต่งตัวได้เหมาะดียิ่งขึ้นไปอีก จึงทำเครื่องแต่งตัวใหม่ที่อินเดีย และมีเรื่องเกร็ดเล่ากันมาเรื่องหนึ่ง ว่าเมื่อพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ช่างตัดเสื้อทำเครื่องแต่งพระองค์ที่เมืองกาลกัตตานั้น ทรงปรารภว่าเสื้อเปิดอกแบบฝรั่ง ต้องมีเสื้อชั้นในและต้องมีคอเสื้อผ้าผูกคอ ในฤดูร้อนใช้เวลามีการงานก็พอทน แต่จะเอาไปใช้ในเวลาเที่ยวเล่นโดยลำลองจะทนร้อนไม่ไหว จึงตรัสสั่งให้ช่างฝรั่งทำเสื้ออีกอย่างหนึ่ง ให้รูปเหมือนอย่างเสื้อใส่เที่ยวเล่น แต่ให้ปิดตั้งแต่คอมีดุมกลัดตลอดอก มิให้ต้องใส่เสื้อเชิ้ดหรือผูกผ้าผูกคอ เมื่อช่างฝรั่งไปทำเสื้ออย่างรับสั่งมาถวายก็โปรด แต่เป็นแบบเสื้อแปลกเพิ่งมีขึ้นใหม่ ยังไม่มีชื่อจะเรียกว่ากะไร เวลานั้นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ยังเป็นนายราชาณัตยานุหาร ว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์เป็นราชเลขานุการ อาสาคิดชื่อเสื้อแบบนั้นด้วยเอาภาษามคธคำหนึ่ง กับภาษาอังกฤษคำหนึ่งผสมกันว่า “ ราชแปตแตน” Raj Pattern แปลว่า“ แบบหลวง” ต่อมาเราเรียกและใช้เสื้อราชแปตแตนกันแพร่หลายมาก ฉันเคยได้ยินเรื่องเดิมจึงเอามาจดไว้มิให้สูญเสีย

ส่วนเครื่องแต่งตัวผู้หญิงนั้น เมื่อครั้งเสด็จกลับมาจากสิงคโปร์มิได้โปรดให้แก้ไขอย่างไร นางในยังคงนุ่งจีบและห่มแพรสะไบเฉียงกับตัวเปล่าอยู่อย่างเดิม จนถึงงานบรมราชาภิเษกครั้งหลัง จึงดำรัสสั่งให้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวผู้หญิงเป็นแบบใหม่ คือ ให้คงแบบนุ่งจีบอย่างเดิมไว้แต่สำหรับแต่งกับห่มตาดเมื่อเต็มยศใหญ่ โดยปรกติให้เลิกนุ่งจีบเปลี่ยนเป็นนุ่งโจงอย่างเดิม และให้ใส่เสื้อแขนยาวชายเสื้อเพียงบั้นเอว แล้วห่มผ้าแพรสะไบเฉียงบ่านอกเสื้อและให้สวมเกือกบู๊ดกับถุงเท้าหุ้มตลอดน่องด้วย แต่เครื่องแต่งตัวผู้หญิงยังแก้ไขต่อมาอีก

(คัดจากประชุมบทละคอนดึกดำบรรพ์ ฉบับบริบูรณ์ พิมพ์ครั้งที่ ๓ ในงานศพคุณพระประยูรวงศ์ พ.ศ. ๒๓๘๖ หน้า ๕๑ ตอนประวัติ)

ประกาศเรื่องแต่งตัวเข้าเฝ้า

คือ ตำรวจ กรมช้าง ทหารมหาดเลก } เปนต้น ก็ให้แต่งตามตำแหน่งยศที่ได้รับพระราชทานฯ

ข้อ ๒ พระบรมราชวงษานุวงษ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย} เฝ้าสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวในพระที่นั่ง ฤๅในที่ประชุมแห่งใดแห่งหนึ่ง} ที่เปนคราวแต่งเตมยศนั้น ให้พระบรมราชวงษานุวงษแต่ง องค์ทรงผ้าม่วงสีน้ำเงินแก่ สวมเสื้อเยรบับเข้มขาบ ถุงเท้าแพรสีน้ำเงินแก่ รองเท้าหนังดำมัน มีเขมเงิน แต่ที่ในพระที่นั่ง ถ้าเปนที่อื่นรองท้าวหนังดำมันไม่ต้องมีเขมก็ได้ หมวกนั้นใช้เหมือนอย่างหมวกเตมยศอย่างใหญ่ที่ว่ามาแล้ว ข้าราชการให้นุ่งผ้าสีน้ำเงินแก่ สวมเสื้อเยรบับเข้มขาบ ถุงท้าวแพรสีน้ำเงินแก่ รองท้าวหนังดำมันมีเขมเงินแต่ในพระที่นั่ง ถ้าเปนที่อื่นรองเท้าหนังดำมันไม่มีเขมก็ได้ ข้าราชการที่มีเสื้อยศแล้ว ที่ต้องขี่ม้าแห่ม้านำตาม} เสดจ์ ใส่บุดรองท้าวสูง ฤๅสนับขาก็ได้ หมวกนั้นให้ใช้เหมือนอย่างหมวกเตมยศอย่างใหญ่อย่างเช่นว่ามาแล้วนั้น ผู้ที่ได้รับตราพระราชทานเครื่องราชอิศริยศ ก็ให้ติดตราเครื่องราชอิศริยยศด้วย ฯ

ข้อ ๓ พระบรมราชวงษานุวงษ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย} จะเฝ้าสมเดจพระเจ้าอยู่หัวในพระที่นั่ง ฤๅที่แห่งใดแห่งหนึ่ง} ซึ่งเป็นเวลาแต่งครึ่งยศ ให้นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินแก่ เสื้อเชิดชั้นในขาวผ้าผูกคอขาว เสื้อกั๊กขาวฤๅดำก็ได้ เสื้อชั้นนอกเดรศโคตสีดำคืออิวนิงเดรศ ถ้าเปนเดกอายุต่ำกว่า ๑๖ ปีลงมาให้ใช้เดรศยักเกต ถุงท้าวสีน้ำเงินแก่ รองท้าวหนังดำมัน หมวกดำขนยาว ถ้าได้รับพระราชทานตราเครื่องราชอิศริยยศ ก็ให้ใช้ติดที่อกเสื้อฤๅรังดุมเสื้อค่างซ้าย ถ้าได้ตราเครื่องราชอิศริยยศมีสายแพรแถบสภายด้วยก็ให้ใส่สภายในเสื้อเดรศโคต ถ้าได้ดวงตราสวมคอก็ให้แขวนที่คอเสื้อเชิดชั้นในแทนผ้าผูกคอก็ได้ อนึ่งผู้ที่มีความชอบได้รับพระราชทานตราเครื่องราชอิศริยยศหลายอย่างด้วยกัน ก็ให้ย่นดวงตราเลกให้เลกลงห้อยกับสายสร้อยที่รังดุมเสื้อเดรศโคตค่างซ้ายแทนดวงตราหลวงที่ได้รับพระราชทาน อนึ่ง เสื้อเดรศโคตสีดำแลเสื้อฟรอกโคตสีน้ำเงินแก่ฤๅดำนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีสองอย่าง คือ ข้าราชการที่มีตำแหน่งยศ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนสำคัญนั้น ฤๅข้าราชการที่มีราชการไปต่างประเทศแลหัวเมือง ให้ใช้เสื้อเดรศโคตแลฟรอกโคตสีน้ำเงินแก่ มือคอกำมหยี่ดำ ติดดุมตราแผ่นดินตามตำแหน่งกรม ใช้หมวกแกบติดแถบทองฤๅแถบเงินแทนหมวกแพรดำขนยาวด้วยก็ได้ นอกจากผู้ที่ได้รับสัญญาบัตรนั้น ห้ามไมให้ใช้เสื้อเดรศโคต ฤๅเสื้อฟรอกโคต มือ คอ} กำมหยี่ดำมีดุมตราแผ่นดิน แลหมวกติดแถบทองฤๅแถบเงิน อนึ่งข้าราชการที่ได้รับพระราชทานเสื้อยศสำรับกรมนั้น ถ้าแห่เสด็จก็ให้ใช้เสื้อครึ่งยศสำรับกรมนั้น ถ้าไม่ได้แห่เสดจ์ ก็ให้ใช้เดรศยักเกษสำรับกรมนั้นฯ

ข้อ ๔ พระบรมราชวงษานุวงษ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย} จะเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ในพระบรมมหาราชวัง เปนเวลาปรกติตามธรรมเนียมนั้น ตั้งแต่เวลาเช้าไปจนเวลาบ่าย ๔ โมงเยน ให้แต่งตัวนุ่งผ้าสีน้ำเงินแก่แทนสมปักตามธรรมเนียม สวมเสื้อเชิดชั้นในขาวเสื้อกั๊กขาวฤๅดำก็ได้ สวมเสื้อฟรอกโคตดุมสองแถวสีน้ำเงินแก่ฤๅดำชั้นนอก ถุงท้าวศรีรองท้าวหนังดำหมวกแพรดำขนยาว ถ้าได้รับพระราชทานตราเครื่องราชอิศริยยศด้วย ก็ให้ติดผ้าศรีสำหรับดวงตรานั้น ผูกเป็นรูปดอกไม้ฤๅรูปแมงปอตามตำแหน่งยศตราที่รังดุมเสื้อฟรอกโคตค่างซ้าย ถ้าจะติดดวงตราอย่างเลกกับสายสร้อยตามที่ว่ามาแล้วก็ได้ ถึงวันอุโบสถก็ให้ข้าราชการแต่งคงอยู่อย่างเช่นว่ามานี้ แต่พระบรมราชวงษานุวงษนั้น แต่งพระองค์ทรงผ้าม่วงศรีแดง สวมเสื้อกั๊กขาวยักเกศขาว ผ้าผูกคอขาว ถุงท้าวขาว ห้ามไม่ให้พระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการแต่งอย่างอื่นให้ผิดจากข้อบังคับนี้ ถ้าเวลาบ่ายสี่โมงแล้ว ให้แต่งตัวสวมเสื้ออิวนิงเดรศจงเสมอ ถึงจะเข้าไปข้างในฤๅจะมีกิจธุระในพระบรมมหาราชวัง ก็ให้แต่งอย่างเช่นว่ามานี้ ข้าราชการกรม ตำรวจ์ ทหารมหาดเลก} นั้น ถึงจะเฝ้าในเวลาตามธรรมเมียมก็ให้แต่ง่ครึ่งยศแลสภายกระบี่ด้วย ถ้าแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย}ผู้ใดเหนแต่งตัว อย่างที่ว่ามานี้เปนความลำบากไป จะนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินแก่สวมเสื้อยศอย่างเก่าที่ได้รับพระราชทานติดดุมให้ตลอดคอนั้นก็ได้ไม่ห้าม ถ้าจะแต่งตามที่บังคับอย่างใหม่นี้ ก็ให้แต่งให้หมดจดสอาดเรียบร้อย

ข้อ ๕ ถ้าจะมีการเสดจ์พระราชดำเนินออกจากพระนครไปประภาศ ณ เมืองใดตำบลใดก็ดีเปนเวลาไปรเวต เวลาปิกนิก} พระบรมราชวงษานุวงษแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย} ซึ่งตามเสดจ์พระราชดำเนินนั้นจะแต่งตัวนุ่งผ้าศรีต่าง ๆ ฤๅสวมเสื้ออย่างต่างๆ ผ้าผูกคอศรีฤๅรูปต่างๆ ฤๅหมวกอย่างต่าง ๆ ก็ได้ไม่ห้าม แต่ถ้าเสดจ์ขึ้นประทับที่วัง แลที่ประทับแรมตำบลใดตำบลหนึ่ง} ไม่เปนเวลาไปรเวตแล้ว ต้องแต่งตัวตามธรรมเนียมยศอย่างในกรุงเทพฯ

ข้อ ๖ ในวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยานั้น ให้พระบรมราชวงษานุวงษข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย}ทั้งปวง ที่จะถือน้ำพระพิพัฒสัตยาในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่งองค์แลแต่งตัวนุ่งผ้ายกขาว ผ้าเขียนทองขาว ผ้าขาวลาย} ข้าราชการนุ่งผ้าขาวทองพันฤๅขาวคาม สวมเสื้อเยรบับเข้มขาบขาว ถุงท้าวแพรขาว รองท้าวดำมันมีเขมคาดเสื้อครุยหมวกยศตามเช่นว่ามาแล้ว ผู้ที่ได้รับพระราชทานตราเครื่องราชอิศริยยศนั้น ก็ให้ติดตราเครื่องราชอิศริยยศด้วย แต่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเสื้อยศตามกรมนั้น ก็คงให้แต่งเสื้อตามยศ ฯ

ข้อ ๗ ถ้าเสดจ์พระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมราชวงษานุวงษแลศพข้าราชการผู้ใหญ่ แลข้าราชการซึ่งจะไปรับเสดจ์นั้นให้แต่งตัวครึ่งยศตามข้อบังคับที่ ๓ พระบรมราชวงษานุวงษจงแต่งพระองค์ทรงเครื่องดำไว้ทุกข์ แลทรงเครื่องขาว เคารพท่านผู้ที่สิ้นพระชนม์ลำดับยศแลกำหนดพระชนมายุดังนี้ .....

ถ้าเปนพระศพพระเจ้าบรมวงศเธอให้พระเจ้าราชวงษเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าบวรวงษเธอ} ทรงเครื่องขาวล้วนในวัน เชิญพระศพวันพระราชทานเพลิง} ในวันกลางให้ทรงขาวลาย ถ้าเปนพระศพพระเจ้าราชวรวงษเธอให้พระเจ้า น้องยาเธอ พระเจ้าวรวงษเธอชั้น ๔} แต่งพระองค์ทรงขาวลาย เว้นไว้แต่ทรงพระกรุณาโปรดให้ทรงขาวล้วนจึงทรงได้ ถ้าเปนพระศพพระเจ้าน้องยาเธอ ให้พระเจ้าน้องยาเธอที่มีชนม์อ่อนกว่า ทรงขาวล้วน วันเชิญพระศพ วันพระราชทานเพลิง} ในวันกลางให้ทรงขาวลายแต่พระวรวงษเธอชั้น ๔ นั้น ถึงจะมีพระชนมายุแก่กว่าก็ให้ทรงขาวลาย ถ้าเปนพระศพพระบวรวงษชั้น ๑ ให้พระเจ้าบรมวงษเธอ ราชวงษเธอ น้องยาเธอ บวรวงษ ชั้น ๓ ชั้น ๔ ทรงขาวลายในวันพระราชทานเพลิง ถ้าเปนพระศพพระเจ้าบวรวงษเธอชั้น ๓ ชั้น ๔ } พระเจ้าราชวงษเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ} ไม่ต้องทรงขาวลาย ถ้าเปนพระศพพระวงษเธอ พระประพันทวงษเธอ พระสัมพันทวงษเธอ} พระบรมวงษานุวงษไม่ต้องทรงขาว ถ้าโปรดให้ทรงจึ่งทรงได้แต่ท่านที่ผู้ร่วมพระวงษเดียวด้วยกันที่มีพระชนม์อ่อนกว่าเปน... จึงทรงขาวได้ พระประพันทวงษนอกจากที่ไว้นี้จงแต่งพระองค์นุ่งผ้าม่วงศรีดำ เสื้ออิวนิงเดรศสีดำเชิดกั๊กดำ ผ้าผูกคอดำ ถุงท้าวดำ รองเท้าหนังดำมัน ถ้าพระบรมวงษานุวงษ มีอัทยาสรัยรักใคร่กันกับท่านที่สิ้นพระชนม์นั้นจะไว้ทุกข์ได้เปนการนับถือ ก็ให้พันแพรดำที่พระมาลา ฤๅต้นแขนเสื้อค่างซ้ายก็ได้ ถ้าได้รับพระราชทานตราเครื่องราชอิศริยยศก็ให้ติดตราเครื่องราชอิศริยยศด้วย

อนึ่ง หม่อมเจ้า หม่อมราชวงษ} ถ้าเปนน้อง เปนบุตร เปนหลานสนิท} ท่านผู้ที่สิ้นพระชนม์ ถ้าเปนลูกน้อง ฤๅหลานก็ให้แต่งตัวนุ่งขาวลายวันพระราชทานเพลิง หม่อมเจ้า หม่อมราชวงษ} บังคับนอกจากนี้ ก็ให้แต่งตัวดำตามอย่างเช่นว่ามาแล้วนั้น

อนึ่ง ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย}ทั้งปวง ที่บิดามารดา} บุตรภรรยาฤๅญาติพี่น้องถึงแก่กรรมลง ก็ให้ไว้ทุกข์เมื่อเวลาเฝ้าได้ คือ ให้พันแพรดำที่ต้นแขนเสื้อยศค่างซ้ายไปกว่าจะสิ้นเขตรที่ไว้ทุกข์ ฯ

ข้อ ๘ ผู้ที่จะแต่งให้ถูกต้องตามข้อพระราชบัญญัตินี้ ถ้าไม่เข้าใจสงไสอยู่ในข้อใดข้อหนึ่ง} ก็ให้ไปดูรูปภาพที่เขียนไว้ที่ทิมดาบกรมวัง ในพระบรมมหาราชวัง อนึ่งประเทศราชทั้งปวง แลคนต่างประเทศที่จะเฝ้าสมเดจพระเจ้าอยู่หัวนั้น ก็ให้แต่งตัวตามเพศบ้านเมือง} ของตัว ให้กรมวังดูแลระวังห้ามปราม อย่าให้ข้าราชการทั้งปวงแต่งตัวต่าง ๆ ผิดอย่างข้อพระราชบัญญัติซึ่งจัดไว้นี้จงทุกประการ ฤๅข้าเจ้าบ่าวขุนนางแลพลเรือนคนใด อยากจะแต่งตัวตามอย่างใหม่ให้งดงามก็ได้ไม่ห้าม ขอท่านทุกพระองค์ ทุกท่าน ทุกนาง} อย่าได้มีความรังเกียจกระดากกระเดื่องอะไรเลย จงแต่งให้เปนแบบอย่าง จะได้เปนอย่างธรรมเนียมอัน ดีงาม} เปนเกียรติยศไปในแผ่นดินสยามสิ้นกาลนานเทอญ

ประกาศมา ณ วัน ๑๒ ค่ำ ปีรกา เบญจศก ศักราช ๑๒๓๕

  1. ๑. คัดจากสมุดไทย หมู่จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๕ เรื่องประกาศพระราชบัญญัติการแต่งกายในการเข้าเฝ้า จ.ศ. ๑๒๓๕ เลขที่ ๑๖๗๕ ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เล่ม ๗๖*๒

  2. ๒. ข้อความตอนต้นของเรื่องนี้ขาดหายไป ยังหาสมุดไทยไม่พบ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ