ภาคผนวก ๓. เรื่อง เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๑๕

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศถึงเมืองสิงคโปร์ของอังกฤษ และเมืองบะเตเวีย เมืองสมารังของฮอลันดา ที่เรียกกันภายหลังแต่โดยย่อว่า “เสด็จไปสิงคโปร์” เมื่อปลายปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ นั้น มูลเหตุที่มีมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จำเดิมแต่ทำหนังสือสัญญาเปิดบ้านเมืองให้ฝรั่งมาค้าขาย มีกงสุลและพวกฝรั่งต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ มากขึ้นทุกที พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะทนุบำรุงพระนครมิให้พวกฝรั่งดูหมิ่น จึงให้เริ่มจัดการต่าง ๆ คือให้สร้างถนน (เจริญกรุง) สำหรับให้ใช้รถเป็นต้น ได้โปรด ฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กับพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ไปดูลักษณะการที่อังกฤษบำรุงเมืองสิงคโปร์เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ด้วยเมืองสิงคโปร์อยู่ใกล้ไปมาได้สะดวกกว่าที่อื่น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภจะเสด็จไปเองให้ถึงเมืองสิงคโปร์ ชะรอยจะใคร่ทรงสืบสวนถึงวิธีฝรั่งปกครองบ้านเมืองด้วย แต่พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปถึงต่างประเทศเป็นการใหญ่ จึงต้องรอหาโอกาสมาจนถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อเสด็จลงไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอ ครั้งนั้น เซอร์แฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์กับภรรยาขึ้นมาเฝ้า เพื่อจะมาดูสุริยอุปราคาหมดดวงด้วย เซอร์แฮรีออดทูลเชิญเสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร์ จึงตรัสรับว่าจะเสด็จไปเยี่ยมตอบ แล้วทรงปรึกษาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ๆ ก็เห็นชอบด้วย แต่กราบบังคมทูลขอให้มีเวลาตระเตรียมก่อน (สันนิษฐานว่าคงกำหนดว่าจะเสด็จไปเมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนมีนาคมปีมะโรงนั้น) แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากหว้ากอ ก็มาประชวรเสด็จสู่สวรรคตเสีย การที่จะเสด็จไปสิงคโปร์จึงเป็นอันค้างอยู่ (ความที่จะกล่าวต่อไปนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าให้ฉันฟัง) ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แรกได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พวกกงสุลต่างประเทศมีมิสเตอร์น๊อกส์ กงสุลเยเนอราลอังกฤษเป็นต้น ถามท่านว่าจะคิดอ่านให้พระเจ้าแผ่นดินทรงศึกษาวิธีปกครองบ้านเมืองด้วยประการอย่างใด ท่าน (ระลึกถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ยังค้างอยู่) ตอบว่าคิดจะให้เสด็จไปทอดพระเนตรวิธีปกครองบ้านเมืองของต่างประเทศที่เมืองสิงคโปร์ และเมืองบะเตเวีย พวกกงสุลก็พากันซ้องสาธุการและรับจะบอกไปถึงรัฐบาลของตน ให้รับเสด็จให้สมพระเกียรติ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบว่าจะได้เสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศก็ทรงยินดีเต็มพระราชหฤทัย ครั้นได้รับเชิญของรัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลฮอลันดาก็ลงมือเตรียมการตั้งแต่ต้นปีมะเมียมา

ครั้งนั้นมีการที่ต้องแก้ไขขนบธรรมเนียมเดิม ให้สะดวกแก่ที่เสด็จไปต่างประเทศหลายอย่าง เป็นต้นว่า

(๑) เรือพระที่นั่งที่จะเสด็จไป จะใช้เรือพระที่นั่งอัครราชวรเดช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรง ก็ไม่ไว้ใจ ด้วยทางที่จะเสด็จไปต้องผ่านท้องทะเลใหญ่ เผอิญในเวลานั้นซื้อเรือรบอย่างคอเวตต่อด้วยเหล็กมาจากสก๊อตแลนด์เพิ่งมาถึงใหม่ลำ ๑ ขนานนามว่าเรือพิทยัมรณยุทธ จึงจัดเรือรบลำนั้นให้เป็นเรือพระที่นั่งทรง ให้มีเรือรบซึ่งต่อในกรุงเทพ ฯ เป็นเรือตามเสด็จลำ ๑ เป็นเรือล่วงหน้าลำ ๑ รวมเป็นกระบวนเสด็จ ๓ ลำด้วยกัน

(๒) ราชบริพารที่ตามเสด็จ ซึ่งประเพณีเดิม เวลาเสด็จไปไหนในพระราชอาณาเขต ต้องมีพนักงานต่าง ๆ ตามเสด็จด้วยมากมาย ก็ให้ลดจำนวนลงคงแต่ ๒๗ คน ทั้งเจ้านายที่โปรด ฯ ให้ไปตามเสด็จด้วย คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ (สมเด็จพระราชปิตุลา ฯ) พระองค์หนึ่ง พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ (กรมหลวงอดิศรอุดมเดช) เป็นนายร้อยทหารมหาดเล็กอยู่แล้ว โปรด ฯ ให้เป็นราชองครักษ์พระองค์ ๑ ขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปตามเสด็จครั้งนั้น มีเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ๑ เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ๑ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็ก ได้บังคับบัญชาทหารมหาดเล็กอยู่แล้ว โปรด ฯ ให้เป็นราชองครักษ์ ๑ สมัยนั้นเครื่องแต่งตัวที่ใช้ในราชสำนักยังไม่ใช้ถุงเท้ารองเท้า และยังใส่เสื้อแพรหรือเสื้อกระบอกผ้าขาวเข้าเฝ้า จึงต้องคิดแบบเครื่องแต่งตัวสำหรับบรรดาผู้ที่จะตามเสด็จเข้าสมาคมและการพิธีต่าง ๆ ให้ใส่ถุงเท้ารองเท้า และแต่งเครื่องแบบทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ฝ่ายทหารมีเครื่องแบบทั้งเต็มยศและเวลาปกติ ฝ่ายพลเรือนมีเครื่องแบบแต่เต็มยศ เป็นเสื้อแพรสีกรมท่าปักทองที่คอและข้อมือ เวลาปกติใช้เสื้อคอเปิดผูกผ้าผูกคออย่างฝรั่ง แต่เครื่องแบบครั้งนั้นใช้นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่า ไม่นุ่งกางเกงทั้งทหารและพลเรือน ผ้าม่วงสีกรมท่าจึงใช้เป็นเครื่องแบบและนุ่งในเวลามีการงานแต่ครั้งนั้นสืบมา

เนื่องแต่จัดระเบียบการแต่งตัวเมื่อครั้งเสด็จไปสิงคโปร์คราวปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ นั้น เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงประเพณีทั่วทั้งประเทศไทยอย่าง ๑ ซึ่งควรจะกล่าวไว้ด้วย ในสมัยนั้นไทยยังไว้ผมตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา เด็กไว้ผมจุกเหมือนกันทั้งชายหญิง ผู้ใหญ่ชายไว้ “ผมมหาดไทย ” คือโกนผมรอบศีรษะไว้ผมยาวสัก ๔ เซ็นต์บนกลางกบาลหัว แล้วหวีแต่งเรือนผมนั้นตามเห็นงาม ส่วนผู้หญิงไว้ “ผมปีก” มีเรือนผมแต่บนกบาลหัวทำนองเดียวกับผู้ชาย รอบหัวเดิมไว้ผมยาวลงมาจนประบ่า ชั้นหลังเปลี่ยนเป็นตัดเกรียนรอบศีรษะ และไว้ผมที่เป็นพู่ที่ริมหูสำหรับเกี่ยวดอกไม้เครื่องประดับ เรียกว่า “ผมทัด” ทั้งสองข้าง ประเพณีไว้ผมเช่นว่ามา ไทยเราไว้อย่างเดียวกันทั้งบ้านทั้งเมือง จนเคยตามาหลายร้อยปี ก็เห็นงามตามวิสัยมนุษย์อันสุดแต่ทำอะไรให้เหมือนกันมาก ๆ ก็ (เกิดเป็นแฟชั่น) เห็นว่างามตามกันไป เป็นเช่นเดียวกันทุกชาติทุกภาษา ยกตัวอย่างเช่นพวกจีนเดิมไว้ผมมวย ครั้นพวกเม่งจูมาครอบครองบังคับให้ไว้ผมเปีย นานเข้าก็นิยมว่าผมเปียสวยงาม หรือจะว่าข้างฝรั่ง ยกตัวอย่างดังเครื่องแต่งตัวผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไม่รู้จักหยุด ก็เป็นเพราะเหตุเช่นเดียวกัน แต่การไว้ผมของไทยอย่างว่ามา เมื่อไปยังต่างประเทศ พวกชาวเมืองเห็นเป็นวิปริตแปลกตามักพากันยิ้มเยาะ เมื่อครั้งทูตไทยไปยุโรปในรัชกาลที่ ๔ จึงให้ไว้ผมทั้งศีรษะและตัดยาวอย่างฝรั่ง แต่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ ก็กลับตัดผมมหาดไทยไปอย่างเดิม เมื่อจะเสด็จไปสิงคโปร์คราวนี้ ก็โปรด ฯ ให้ผู้ที่จะตามเสด็จเริ่มไว้ผมยาวตั้งแต่เวลาตระเตรียม เว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษี ฯ ให้ตามเสด็จไปทั้งไว้พระเกศาจุก ครั้นเมื่อเสด็จกลับคืนพระนคร ทรงปรารภกับท่านผู้ใหญ่ในราชการว่า การไปมาและคบหาสมาคมในระหว่างไทยกับฝรั่งจะมีมากขึ้นทุกที ประเพณีไว้ผมมหาดไทยชวนให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่น ควรจะเปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวทั้งศีรษะ ท่านผู้ใหญ่ในราชการก็เห็นชอบตามพระราชดำริ จึงดำรัสสั่งให้เลิกตัดผมมหาดไทยในราชสำนักตั้งแต่บีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นต้นมา แต่มิให้บังคับถึงราษฎร ใครจะไว้อย่างใดก็ไว้ได้ตามชอบใจ แต่เมื่อคนทั้งหลายเห็นบุคคลชั้นสูงไว้ผมตัดยาว ก็พากันตามอย่างมากขึ้นโดยลำดับ หลายปีประเพณีไว้ผมมหาดไทยจึงหมดไป ถึงกระนั้นเมื่อแรกเลิกตัดผมมหาดไทยนั้น คนชั้นผู้ใหญ่สูงอายุก็ยังไม่สิ้นนิยมผมมหาดไทย แม้แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มักให้ช่างตัดผมรอบศีรษะให้สั้น และไว้ผมข้างบนยาวคล้ายกับเรือนผมมหาดไทย เรียกกันว่า “ผมรองทรง” ทางฝ่ายผู้หญิงนั้นก็โปรดให้เลิกผมปีก เปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวแต่ในราชสำนักก่อน แล้วผู้หญิงพวกอื่นก็เอาอย่างต่อๆ กันไปจนทั่วทั้งเมือง

นอกจากเรื่องตัดผมยังมีการอื่นๆ ที่จัดเป็นอย่างใหม่ในกระบวนเสด็จอีกหลายอย่าง เช่นให้ยืนเฝ้าและถวายคำนับเป็นต้น แต่การรักษาพระนครในเวลาเสด็จไม่อยู่ ซึ่งเคยถือกันมาว่าเป็นการสำคัญ แม้เพียงเสด็จไปหัวเมืองในพระราชอาณาเขตเมื่อรัชกาลก่อนๆ แต่ครั้งนี้ไม่ลำบาก ด้วยพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้ทรงว่าราชการแผ่นดิน มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์อยู่ประจำแล้ว

เสด็จออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันพฤหัสบดีเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเมีย ไปหยุดพักที่เมืองสงขลาทอดพระเนตรบ้านเมืองวัน ๑ แล้วแล่นเรือต่อไปถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ รัฐบาลและพวกอังกฤษชาวเมืองสิงคโปร์ จัดการรับเสด็จอย่างใหญ่ยิ่งกว่าเคยรับแขกเมืองมาแต่ก่อน ด้วยเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปถึงเมืองสิงคโปร์ รับเสด็จขึ้นเมืองเป็นการเต็มยศ ผู้รั้งราชการเมืองสิงคโปร์กับข้าราชการทั้งปวงพร้อมกันมารับเสด็จที่ท่าเรือ เชิญเสด็จตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ แล้วทรงรถแห่ไปยังศาลานคราทร ซึ่งพวกพ่อค้าพาณิชย์ทั้งปวงคอยเฝ้าอยู่พร้อมกัน เชิญเสด็จประทับราชอาสน์ แล้วผู้เปนนายกสภาพาณิชย์เมืองสิงคโปร์อ่านคำถวายชัยมงคล กล่าวความท้าวถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงปกครองพระราชอาณาจักรด้วยพระปรีชาญาณ ทรงทนุบำรุงให้ประเทศสยามมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่นับถือของนานาประเทศ และที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติตามแบบอย่างต่อมา จนถึงทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปทอดพระเนตรเมืองต่างประเทศ ก็สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบแล้ว เสด็จกลับขึ้นรถทรงแห่ไปยังจวนเจ้าเมือง ซึ่งจัดถวายเป็นที่ประทับแรมตลอดเวลาเสด็จอยู่เมืองสิงคโปร์ ในเวลาเสด็จประทับอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ๗ วันนั้น มีการสโมสรต่างๆ ที่จัดขึ้นรับเสด็จ และเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการและสถานที่ต่างๆ สำหรับบ้านเมืองมากมายหลายอย่างทุก ๆ วัน ตามรายการในจดหมายเหตุดูเกือบไม่มีเวลาที่จะได้เสด็จพัก การสโมสรนั้น นายทหารบกมีประชุมเต้นรำ (Ball) ที่โรงทหารคืน ๑ พวกฝรั่งชาวเมืองสิงคโปร์มีการประชุมแต่งตัวต่าง ๆ เต้นรำ (Fancy Dress Ball) ที่ศาลานคราทรคืน ๑ ต่อมามีลครสมัครเล่นถวายทอดพระเนตรที่ศาลานคราทรอีกคืน ๑ ผู้รั้งราชการเมืองมีการเลี้ยงอย่างเต็มยศ (Banquet) คืน ๑ พวกชาวสิงคโปร์มีการประกวดต้นไม้ดอกไม้ถวายทอดพระเนตรที่สวนสำหรับเมืองวัน ๑ ส่วนกิจการและสถานที่ ๆ เชิญเสด็จทอดพระเนตรนั้น คือโรงทหารบก เรือรบ อู่เรือ ศาลชำระความ เรือนจำ โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารไปรษณีย์ สถานีโทรเลข สถานีเครื่องดับไฟ โรงกลั่นไอประทีป (Gasworks) ห้างและตลาดขายของทั้งทรงรถเที่ยวทอดพระเนตรถนนหนทางที่บำรุงบ้านเมืองด้วย เสด็จประทับอยู่เมืองสิงคโปร์จนเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง มีการส่งเสด็จอย่างเต็มยศเหมือนเมื่อเสด็จไปถึง ออกเรือในค่ำวันนั้น ไปถึงท่าเมืองบะเตเวียที่เกาะชวา ณ วันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ รัฐบาลฮอลันดาก็จัดการต่าง ๆ รับเสด็จเป็นอย่างใหญ่ ทำนองเดียวกับอังกฤษรับเสด็จที่เมืองสิงคโปร์ มีรายการแปลกออกไปแต่มีการสวนสนามทหารบกอย่าง ๑ พวกมลายูกับพวกจีนมีการแห่ประทีปอย่าง ๑ และพวกฝรั่งมีการจุดดอกไม้ไฟถวายทอดพระเนตรคืน ๑ สถานที่ซึ่งเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรมีแปลกที่ ทอดพระเนตรโรงทำปืนอย่าง ๑ กับทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานอีกอย่าง ๑ ซึ่งในเมืองสิงคโปร์ยังไม่มีในสมัยนั้น เสด็จประทับอยู่ที่เมืองบะเตเวีย ๗ วัน ถึงวันเสาร์เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งแล้วออกเรือในเช้าวันนั้น วันรุ่งขึ้นก็ถึงเมืองสมารัง แต่เสด็จไปถึงต่อเวลาบ่าย จึงประทับแรมอยู่ในเรือพระที่นั่งคืนหนึ่ง ถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาเช้าเรสิเดนต์ (สมุหเทศาภิบาล) หัวหน้าในรัฐบาลเมืองสมารังลงมารับเสด็จขึ้นเมืองเป็นการเต็มยศ และมีพิธีรับเสด็จคล้ายกับที่เมืองบะเตเวีย มีสิ่งซึ่งได้ทอดพระเนตร ณ เมืองสมารังครั้งนั้นแปลกจากที่อื่น คือ ทรงรถไฟซึ่งกำลังสร้างไปจนถึงสุดปลายรางอย่าง ๑ ทอดพระเนตรโรงทำดินปืนอย่าง ๑ กับเจ้ามังกุนคโรเมืองโสโล พาลครชวามาเล่นถวายทอดพระเนตรอย่าง ๑ เสด็จประทับอยู่เมืองสมารัง ๓ วัน ถึงวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ออกเรือในวันนั้น กลับมาถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อแรม ๕ ค่ำ มีพระราชดำรัสขออย่าให้มีการรับรองอย่างยศศักดิ์ให้ซ้ำซากลำบากแก่เขาอีก ผู้รั้งราชการลงมารับเสด็จเป็นการไปรเวต เชิญเสด็จประทับร้อนที่จวนเจ้าเมือง เชิญเสด็จเสวยกลางวันแล้วเสด็จประพาสตามพระอัธยาศรัย ครั้นเวลาค่ำเชิญเสด็จเสวยอีกเวลา ๑ และเสด็จทอดพระเนตรลครม้า แล้วจึงเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง รุ่งขึ้นวันอังคารเดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ ออกเรือพระที่นั่งจากเมืองสิงคโปร์ เสด็จกลับถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำ รวมเวลาที่เสด็จไปครั้งนั้น ๓๗ วัน เมื่อเสด็จกลับมาถึงแล้ว มีงานรื่นเริงเฉลิมพระเกียรติและแต่งประทีปทั่วทั้งพระพระนคร ๕ วัน

พิเคราะห์รายการที่เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ เมืองบะเตเวียและเมืองสมารัง เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรขนบธรรมเนียมฝรั่งมาก ทั้งในส่วนการสมาคมและกิจการต่าง ๆ ซึ่งเนื่องในการปกครองทนุบำรุงบ้านเมือง การที่เสด็จไปต่างประเทศครั้งนั้น ความเข้าใจของคนทั้งหลายทั้งไทยและฝรั่งเป็นอย่างเดียวกันว่า เสด็จไปทรงศึกษาหาแบบอย่างมาจัดการทนุบำรุงประเทศไทย หากว่าเมื่อเสด็จกลับมาไม่ทำอะไรเลย ก็คงถูกติเตียนว่าเสด็จไปเที่ยวเล่นให้สิ้นเปลืองเวลาเปล่า ๆ หรือถึงหมิ่นประมาทพระปัญญาว่าไร้ความสามารถ ก็แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ว่าราชการบ้านเมือง จึงเริ่มทรงจัดการแก้ขนบธรรมเนียมแต่ในราชสำนักด้วยความเห็นชอบของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในเวลานั้นอายุฉันได้ ๑๐ ขวบและอยู่ในราชสำนัก ได้เห็นการที่เปลี่ยนแปลงที่จัดเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ยังจำได้อยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่าโปรด ฯ ให้กั้นฉากในพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็น ๓ ห้อง ห้องทางตะวันตกตั้งโต๊ะเก้าอี้เป็นห้องรับแขก ห้องตอนกลางคงเป็นทางเสด็จออกท้องพระโรงหน้าห้องทางตะวันออกจัดเป็นห้องเสวย ตั้งโต๊ะเก้าอี้เลี้ยงแขกได้ราว ๒๐ คน เวลาเช้าเสด็จออกท้องพระโรงเจ้านายขุนนางยังหมอบเฝ้า และคงแต่งตัวเหมือนอย่างเดิม แต่ตอนกลางวันเมื่อเสด็จขึ้นจากท้องพระโรง หรือตอนบ่ายและตอนค่ำก่อนเสวยเย็น เสด็จประทับที่ห้องรับแขกในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ให้ผู้ที่เข้าเฝ้าแต่งตัวสวมถุงเท้ารองเท้าใส่เสื้อเปิดคอแบบฝรั่ง นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่า ยืนเฝ้าตามอย่างฝรั่ง ถึงเวลาเสวยเย็นโปรด ฯ ให้เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักนั่งโต๊ะเสวยด้วย ต้องแต่งตัวใส่เสื้อแย๊กเก๊ตขาวเปิดคอ เวลาบ่าย ๆ ถ้าเสด็จทรงเที่ยวประพาส ก็แต่งตัวใส่ถุงเท้ารองเท้าเสื้อเปิดคอ และยืนเฝ้าเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาถ้าว่าตามความเห็นในสมัยนี้ก็ดูเป็นการเล็กน้อย แต่คนในสมัยนั้นเห็นแปลกประหลาด ถึงจมื่นเก่งศิลปคน ๑ เขียนลงเป็นจดหมายเหตุใน “ปูม” เมื่อวันเสาร์เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ (ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔) ว่า “ในข้างขึ้นเดือนนี้ข้าราชการแต่งคอเสื้อผ้าผูกคอด้วยเป็นธรรมเนียมฝรั่งธรรมเนียมนอกดังนี้ พอเป็นเค้าให้เห็นได้ว่าคนในสมัยนั้นเห็นเปนการสำคัญเพียงใด

มีการอีกอย่างหนึ่งซึ่งทรงพระราชดำริเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ คือ จะจัดการศึกษาของลูกผู้ดี ซึ่งได้โปรด ฯ ให้ตั้งโรงเรียนภาษาไทยขึ้นแต่ก่อนเสด็จไปสิงคโปร์แล้ว เมื่อเสด็จกลับมีพระราชประสงค์จะให้มีโรงเรียนภาษาอังกฤษด้วย แต่ขัดข้องด้วยหาครูไม่ได้ เพราะมิชชันนารีที่สอนภาษาอังกฤษแก่ไทยในเวลานั้น สอนแต่สำหรับชักชวนคนให้เข้ารีดเป็นข้อรังเกียจอยู่ จึงโปรด ฯ ให้เลือกหม่อมราชวงศ์ที่ยังเยาว์วัยส่งไปเรียนที่โรงเรียนแรฟเฟล ณ เมืองสิงคโปร์ในปีมะแมนั้นประมาณ ๒๐ คน นักเรียนที่ส่งไปครั้งนั้นยังมีตัวอยู่ในเวลาเมื่อแต่งหนังสือนี้แต่ ๓ คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์พระองค์ ๑ หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ องค์ ๑ เดี๋ยวนี้ทรงพระชราแล้วทุกพระองค์ แต่นักเรียนชุดนี้ไปเรียนอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เพียงปีเศษ ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียหาครูอังกฤษได้ โปรด ฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้นแล้ว ก็โปรด ฯ ให้กลับมาเรียนในกรุงเทพ ฯ เว้นแต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร์ (ม.ร.ว. เทวหนึ่ง ศิริวงศ์) ทั้ง ๓ นี้ เรียนรู้มากถึงชั้นสูงกว่าเพื่อน จึงโปรด ฯ ให้ส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษต่อไป เป็นแรกที่ส่งนักเรียนหลวงไปเรียนถึงยุโรป

กรมที่ทรงจัดมากเมื่อกลับจากสิงคโปร์นั้น คือทหารมหาดเล็ก ถึงตอนนี้ทรงจัดแก้ไขเพิ่มเติมขยายการออกไปหลายอย่าง คือให้ชักชวนพวกเชื้อสายราชสกุลและลูกมหาดเล็ก เข้าเป็นทหาร เพิ่มจำนวนคนขึ้น จัดเป็น ๖ กองร้อย ให้สร้างตึกแถว ๒ ชั้นขึ้น ๒ ข้างประตูพิมานชัยศรี เป็นที่อยู่ของทหารมหาดเล็ก และสร้างตึก ๒ ชั้นขึ้นอีกหลัง ๑ ที่ริมกำแพงด้านหน้าพระราชวัง สำหรับเป็นที่อยู่ของนายทหารมหาดเล็ก (ตามแบบ ดังลินบาแร๊ก ณ เมืองสิงคโปร์) แต่ตึกหลังนี้เมื่อกำลังสร้างอยู่ประจวบเวลาเริ่มแก้ไขการพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งจะเล่าเรื่องต่อไปข้างหน้า) ไม่มีสถานที่จะทำการพระคลังฯ จึงโปรด ฯ ให้โอนไปเป็นสถานที่ทำการพระคลัง ฯ ขนานนามว่า “หอรัษฎากรพิพัฒน์” (แต่ตัวตึกเดี๋ยวนี้แก้ไขต่อเติมผิดกับของเดิมมากแล้ว) และในครั้งนั้นให้สร้างตึกใหญ่สำหรับเป็นที่สโมสรของทหารมหาดเล็ก ตามแบบสโมสรคองคอเดียที่เมืองบะเตเวียอีกหลัง ๑ (ซึ่งแก้ไขเป็นศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้) เรียกชื่อตามภาษาฝรั่งว่า “หอคองคอเดีย”

ภายนอกพระราชวัง กีมีการก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ครั้งนั้นอีกหลายอย่าง ว่าแต่ตามที่ฉันจำได้ คือทำถนนริมกำแพงรอบพระนครอย่าง ๑ สร้างสวนสราญรมย์อย่าง ๑ แต่งคลองตลาดตอนระหว่างสะพานช้างโรงสีกับสะพานมอญ ทำเขื่อนอิฐมีถนนรถ (ซึ่งภายหลังขนานนามว่าถนนราชินี และถนนอัษฎางค์) ทั้ง ๒ ฟาก และมีสะพานหกสำหรับรถข้ามคลองเหมือนอย่างที่เมืองบะเตเวียด้วย นอกจากที่พรรณนามา มีการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแต่สมัยนั้นก็หลายอย่าง เป็นต้นว่าหารถมาใช้ในกรุงเทพ ฯ แพร่หลายมาแต่นั้น ซื้อมาจากเมืองสิงคโปร์บ้าง เมืองบะเตเวียบ้าง แต่ในไม่ช้าก็มีช่างตั้งโรงรับสร้างและซ่อมแซมรถขึ้นในกรุงเทพ ฯ เช่นเดียวกับการที่แต่งตัวใส่เสื้ออย่างฝรั่งและใช้เกือกถุงตีน ในไม่ช้าก็มีโรงรับจ้างตัดเสื้อและขายสิ่งของที่ต้องการใช้ หาได้ในกรุงเทพ ฯ นี้เองไม่ลำบาก หรือถ้าว่าโดยย่อ การที่เสด็จไปเมืองสิงคโปร์ครั้งนั้น นอกจากเจริญการสมาคมในระหว่างไทยกับชาวต่างประเทศ เป็นปัจจัยให้ชาวต่างประเทศนิยมเข้ามาค้าขายในประเทศนี้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก

(ตอนเสด็จประเทศอินเดีย)

พอเสด็จกลับจากสิงคโปร์แล้ว ไม่ช้าในปีมะแมนั้นแองก็เริ่มเตรียมการที่จะเสด็จไปอินเดีย เหตุที่จะเสด็จไปอินเดียนั้น เจ้าพระยาภานุวงศ์ ฯ เคยเล่าให้ฉันฟังว่า ทรงพระราชปรารภแต่ตัวท่านตั้งแต่แรกเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ ว่าที่เสด็จไปเมืองสิงคโปร์ และเมืองบะเตเวีย เมืองสมารัง ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่เพียงเมืองขึ้นที่ฝรั่งปกครองคนต่างชาติต่างภาษาได้ประโยชน์ยังน้อย ใคร่จะเสด็จไปถึงยุโรป ให้ได้เห็นขนบธรรมเนียมราชสำนักและประเพณีบ้านเมืองของฝรั่งเอง (ตรงนี้จะแทรกวินิจฉัยของฉันลงสักหน่อยที่มีพระราชประสงค์เช่นนั้นก็เป็นธรรมดา แต่เหตุใดจึงจะรีบเสด็จไปโดยด่วนไม่รั้งรอ ข้อนี้ฉันสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า เวลาที่ไม่ต้องการทรงว่าราชการแผ่นดินมีอยู่เพียงอีก ๒ ปี ถ้ารอไปจนถึงเวลาทรงว่าราชการเองแล้ว คงยากที่จะหาโอกาสได้เพราะฉะนั้นจึงจะรีบเสด็จไปยุโรปในเมื่อโอกาสยังมีอยู่) เจ้าพระยาภานุวงศ์ ฯ เห็นชอบด้วยตามพระราชดำริ รับจะไปพูดจากับเจ้าพระยาศรีสุรียวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นชอบด้วย อ้างว่าไปยุโรปทางก็ไกลเรือที่จะทรงก็ไม่มี เป็นการเสี่ยงภัยมากนัก ไม่สะดวกเหมือนกับไปสิงคโปร์และเมืองชวา เจ้าพระยาภานุวงศ์ไม่อยากให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัส จึงคิดขึ้นว่าอินเดียก็รุ่งเรืองคล้ายกับยุโรป ผู้ปกครองมียศเป็นไวสรอยต่างพระองค์ คล้ายกับราชสำนัก และหนทางที่จะไปก็ไม่ไกลนัก ส่วนเรือพระที่นั่งที่จะทรงไปนั้น ในเวลานั้นห้างนะกุดาอิสไมล์ที่วัดเกาะสั่งเรือสำหรับส่งคนโดยสารในระหว่างกรุงเทพ ฯ กับเมืองสิงคโปร์เข้ามาใหม่ ๑ ใหญ่โตมีห้องพอจะรับกระบวนเสด็จไปอินเดียได้ คิดจะขอซื้อ (คือเช่า) มาเป็นเรือหลวงชั่วคราวแล้วขายกลับคืนให้เจ้าของ ก็จะไม่สิ้นเปลืองเท่าใดนัก ท่านได้ลองพูดกับเจ้าของก็ยอมตามความคิดไม่ขัดข้อง ยังติดแต่ที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านนำความขึ้นกราบทูลตามความคิด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าถ้าจะไปถึงยุโรปยังไม่ได้ ไปเพียงอินเดียก็ยังดี เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯ จึงไปกระซิบปรึกษากับนายน๊อกส์กงสุลเยเนอราลอังกฤษ นายน๊อกส์เห็นชอบด้วย รับจะช่วยว่ากล่าวกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และที่สุดตัวเองรับจะไปตามเสด็จด้วย การที่จะเสด็จไปอินเดียก็เป็นอันพ้นความขัดข้อง ส่วนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เมื่อปลงใจให้เสด็จไปอินเดียแล้วก็เลยช่วยกะการต่อไปให้เสด็จทอดพระเนตรหัวเมืองสำคัญในพระราชอาณาเขตทางฝ่ายทะเลตะวันตก คือเมืองภูเก็ต เมืองพังงา และเมืองไทรบุรีด้วย การตระเตรียมกระบวนเสด็จไปอินเดียไม่ยากเหมือนเมื่อครั้งเสด็จไปสิงคโปร์ เพราะได้เคยเห็นขนบธรรมเนียมฝรั่งอยู่มากแล้ว เครื่องแต่งตัวก็แก้ไขเป็นแบบฝรั่งทีเดียว เว้นแต่ยังนุ่งผ้าไม่ใช้กางเกงเท่านั้น ส่วนราชบริพารที่ตามเสด็จครั้งนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ที่เคยไปครั้งก่อนได้ไปอีกแทบทั้งนั้น ที่เพิ่มขึ้นใหม่ พระเจ้าน้องยาเธอ คือสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี (กรมพระจักรพรรดิพงศ์) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร (กรมพระนเรศวรฤทธิ์) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัยเป็นนายทหารมหาดเล็กพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ (สมเด็จกรมพระยาเทววงศวโรปการเพิ่งลาผนวชสามเณร) พระองค์ ๑ ขุนนางก็ล้วนชั้นหนุ่ม เลือกคัดแต่ที่มีแววฉลาด ดูเหมือนวิธีเลือกสรรคนตามเสด็จครั้งก่อนจะเอาแต่ที่ต้องทรงใช้สอย ครั้งหลังเลือกด้วยหมายจะให้ไปได้ความรู้เห็นมาสำหรับราชการภายหน้าเป็นสำคัญ

(คัดจากหนังสือความทรงจำ พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ