- คำนำ
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งแรก รัชกาลที่ ๕
- จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ตอนแรกเสวยราชย์
- จดหมายเหตุเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์แลเมืองเบตาเวีย ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕
- หนังสือกำหนดการรับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามที่เมืองเบตาเวีย
- จดหมายเหตุของพระวรภัณฑ์พลากร
- ระยะทางเสด็จประพาสอินเดีย
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งหลัง รัชกาลที่ ๕
- ภาคผนวก ๑. (ก) เรื่อง กงสุลอังกฤษลดธง
- ภาคผนวก ๑. (ข) เรื่องอัฐปลอม
- ภาคผนวก ๑. (ค) เรื่อง เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม
- ภาคผนวก ๑. (ฆ) เรื่อง พวกจีนตั้วเฮีย
- ภาคผนวก ๒. (ก) เรื่อง สร้างวัดราชบพิธ
- ภาคผนวก ๒. (ข) เรื่อง สร้างพระรูป ๔ รัชกาล
- ภาคผนวก ๓. เรื่อง เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๑๕
- ภาคผนวก ๔. เรื่อง นักเรียนไทยไปศึกษา ณ ต่างประเทศ
- ภาคผนวก ๕. คำกราบบังคมทูลของท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
- ภาคผนวก ๖. (พระบรมราชโองการ)
- ภาคผนวก ๗. เรื่องเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน
- ภาคผนวก ๘. เรื่องการแต่งกายเข้าเฝ้า
ภาคผนวก ๑. (ข) เรื่องอัฐปลอม
เรื่องอัฐปลอมนั้น เดิมในประเทศนี้ใช้เงินตราพดด้วง ๓ ขนาด คือ บาท สลึง (๑/๔ ของบาท) และเฟื้อง (๑/๘ ของบาท) ราคาต่ำกว่านั้นลงมาใช้เบี้ย (หอยเก็บมาจากทะเลตั้งพิกัดราคา ๑/๖๔๐๐ ของบาท) ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อทำหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศแล้ว มีเรือกำปั่นเข้ามาซื้อสินค้าในกรุงเทพ ฯ มากขึ้น พวกชาวต่างประเทศเอาเงินเหรียญเม๊กสิโคมาซื้อสินค้า ราษฎรไม่พอใจ พวกพ่อค้าจึงต้องเอาเงินเหรียญเม๊กสิโคมาขอแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติไปซื้อสินค้า จำนวนเงินที่มาขอแลกมากขึ้นทุกที จนโรงทำเงินที่พระคลังมหาสมบัติทำให้ไม่ทัน เพราะเงินพดด้วง “ทำด้วยมือ” ทำทั้งกลางวันกลางคืนก็ได้เพียงวันละ ๒,๔๐๐ บาท เป็นอย่างมาก จึงเป็นเหตุให้เกิดฝืดเคืองในการค้าขายด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรด ฯ ให้สั่งเครื่องจักรมาตั้งโรงกษาปณ์เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ ทำเงินตราเปลี่ยนรูปเป็นเงิน (เหรียญ) แบน คงพิกัดบาท สถึง และเฟื้องตามราคาเดิม ต่ำกว่านั้นลงมาให้เลิกการใช้เบี้ยเปลี่ยนเป็นเหรียญทองแดง ๒ อย่าง เรียกว่า “ซีก” (หมายความว่าครึ่งเงินเฟื้อง ราคา ๑/๑๖ ของบาท) อย่าง ๑ “เสี้ยว” (หมายความว่าส่วนสี่ของเงินเฟื้อง ราคา ๑/๓๒ ของบาท อย่าง ๑ ถัดนั้นลงมาให้ทำเหรียญดีบุกขึ้น ๒ อย่างเรียกว่า “อัฐ” (หมายความว่าส่วนแปดของเงินเฟื้อง ราคา ๑/๖๔ ของบาท) อย่างหนึ่งเรียกว่า “โสฬส” (หมายความว่าส่วนสิบหกของเงินเฟื้อง ราคา ๑/๑๒๘ ของบาท) อย่าง ๑ แต่ดีบุกเป็นของอ่อนหล่อง่าย และหาได้ง่ายในประเทศนี้จึงมีผู้ทำอัฐและโสฬสปลอมขึ้นในกรุงเทพฯ ครั้นตรวจตราจับกุมกันกวดขัน ก็ย้ายลงไปทำตามหัวเมืองมลายู แล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ จนอัฐปลอมมีแพร่หลายในท้องตลาด ราษฎรไม่รู้ว่าไหนเป็นของจริงไหนเป็นของปลอม พากันรังเกียจไม่อยากรับอัฐและโสฬส แต่จะไม่รับก็เกรงรัฐบาลจะเอาผิด จึงตื่นกันถึงกับคิดจะปิดร้านไม่ขายของพ้องในเวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาล เรื่องนี้จะได้ปรึกษาหารือกันในรัฐบาลประการใดไม่ทราบ แต่ตกลงจะแก้ไขด้วยลดราคาทั้งเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกลงทันที พอเปลี่ยนรัชกาล ๑๓ วัน ก็ออกประกาศอนุญาตให้ราษฎรเอาเหรียญทองแดงและดีบุกของรัฐบาลมาแลกเอาเงิน จะยอมให้เต็มราคาเดิมเพียง ๑๕ วัน ต่อไปนั้นให้ลดพิกัดราคาเหรียญทองแดงซีกลงเป็นอันละอัฐ ๑ (๑/๖๔ ของบาท) ลดราคาเหรียญทองแดงเสี้ยวลงเป็นอันละโสฬส ลดราคาเหรียญอัฐดีบุกลงเป็นอันละ ๑๐ เบี้ย (๑/๖๔๐ ของบาท) และลดราคาเหรียญโสฬสลงไปเป็นอันละ ๕ เบี้ย แล้วทำเหรียญดีบุกตรารัชกาลที่ ๕ ขนาดเท่าเหรียญอัฐของเดิม ความตื่นเต้นกันด้วยเรื่องอัฐปลอมก็สงบไป แต่ความลำบากเรื่องเครื่องแลกในการซื้อขายยังมามีขึ้นอีก ด้วยต่อมาไม่ช้านักราคาเนื้อทองแดงและดีบุกสูงขึ้นกว่าราคาที่กำหนดให้ใช้เป็นเครื่องแลก ก็มีผู้รวบรวมเหรียญทองแดงและดีบุก ส่งไปหลอมขายในประเทศอื่นเสียโดยมาก จนเกิดอัตคัดเครื่องแลกไม่พอใช้ในการซื้อขายในท้องตลาด ราษฎรจึงหันไปใช้ปี้ถ้วยที่นายอากรบ่อนเบี้ยสั่งมาจากเมืองจีน สำหรับใช้เป็นคะแนนราคาต่าง ๆ ในการเล่นเบี้ยเอาเป็นเครื่องแลกในการซื้อขาย พวกจีนได้กำไรก็สั่งปี้เข้ามาจำหน่ายให้ราษฎรใช้กันแพร่หลาย จนเมื่อรัฐบาลสั่งให้ทำเหรียญทองแดง ซีก เสี้ยว อัฐ และโสพส มาจากยุโรปและประกาศให้ใช้ตั้งแต่ปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เรื่องเครื่องแลกในการซื้อขายจึงเรียบร้อยแต่นั้นมา