จดหมายเหตุเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์แลเมืองเบตาเวีย ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕

ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๒๓๒ พ.ศ. ๒๔๑๓

วัน ๕ ๔ ค่ำ ปีมะเมียโทศก ศักราช ๑๒๓๒ เวลา ๕ โมงเช้า ออกเรือพระที่นั่งพิทยัมรณยุทธจากท่าราชวรดิฐ

ข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดำเนินนั้น ผู้ที่มีเครื่องยศ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี (กรมหลวงอดิศรอุดมเดช) ๑ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ที่สมุหพระกลาโหม ๑ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ๑ พระยาสุรศักดิ์มนตรี ๑ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ๑ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ๑ นายราชาณัตยานุหาร ๑ พระชลธารพินิจจัย ๑ หลวงสิทธินายเวร ๑ หลวงพิจารณ์จักรกิจ๑๐ ๑ นายจ่ายวด๑๑ ๑ หลวงวิสูตรสาครดิฐ๑๒ ๑ รวม ๑๔ ทหารรักษาพระองค์ นายทุ้ย๑๓ ๑ นายบุศย์๑๔ ๑ นายดั่น๑๕ ๑ นายเล็ก๑๖ ๑ นายเจ๊ก๑๗ ๑ นายเจียม๑๘ ๑ รวม ๖ นายที่ไม่มีเครื่องยศ พระยาศรีสุนทรโวหาร๑๙ ๑ พระยาอมรสาตรประสิทธิ์ศิลป์๒๐ ๑ พระพิบูลย์โกษากร๒๑ ๑ หลวงราโชวาต๒๒ ๑ ขุนสมุทโคจร๒๓ ๑ รวม ๕ นาย คนใช้มีเครื่องยศ นายวรกิจบรรหาร๒๔ ๑ นายพิจารณ์สรรพกิจ๒๕๑ รวม ๒ นาย รวมทั้งสิ้นเจ้านายขุนนางมีเครื่องยศ ๑๔ ทหารรักษาพระองค์ ๖ คนใช้มีเครื่องยศ ๒ ขุนนางไม่มีเครื่องยศ ๕ รวม ๒๗ คนในเรือ คนใช้ขุนนางกุ๊กบ๋อยเลี้ยงขุนนาง กะลาสี ทหารมรินรวม ๑๘๑ รวมเจ้าขุนนาง ไพร่ คนใช้ ที่ไปในเรือพระที่นั่ง ๒๐๘ คน

เมื่อเรือพระที่นั่งใช้จักรไปกลับเรือที่ปากคลองหลอดแล้วล่องไปตามลำแม่น้ำ เวลาเที่ยงแล้ว ๓๕ นาที ถึงปากลัดบน เวลาบ่ายโมงครึ่ง ถึงปากลัดล่าง เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ถึงหน้าเมืองสมุทปราการ ทอดสมอหยุดเหนือหาดพระเจดีย์กลางน้ำ เสด็จทรงเรือบตขึ้นไปนมัสการพระสมุทเจดีย์ กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จออกไปคอยส่งเสด็จอยู่หน้าเมืองสมุทปราการ เสด็จมาเฝ้าที่พระสมุทเจดีย์๒๖ แล้วเสด็จกลับลงมาเฝ้าที่เรือพระที่นั่ง ครั้นเวลาบ่าย ๔ โมงใช้จักรออกจากที่ทอด เวลาบ่าย ๔ โมง ๔๓ นาที ถึงที่ตื้นสันดอนน้ำลึก ๘ ศอกคืบ เวลาบ่าย ๕ โมงตกน้ำลึก ๕ วา ถึงที่ทอดกำปั่น พบเรือราญรุกไพรีกลับมาทอดอยู่แจ้งความว่า ออกไปถึงหน้าเมืองชุมพรแล้ว สูบชำรุดไปไม่ได้ ต้องกลับเข้ามา เรือสยามูปสดัมภ์ทอดอยู่ที่นั้นด้วย จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เอาเรือไฟลำเล็กไปรับ จมื่นทิพเสนา๒๗ จมื่นราชามาตย์๒๘ พระยาสมุทบุรานุรักษ์๒๙ เป็นไวสกงสุลสยามอยู่สิงคโปร์ ไปลงเรือสยามู แล้วเรือพระที่นั่งใช้จักรไปจนเวลาย่ำค่ำ กัปตันตั้งเข็มเดินทางตรง ศีรษะเรือตั้งทิศใต้สู่ลมสำเภา เดินเคียงไปด้านตะวันตก เกาะเหลื่อม เกาะไผ่ เวลายาม ๑ ถึงท้ายเกาะคราม เวลา ๒ ยามคะเนจะถึงหน้าเมืองปราณ

เวลารุ่งขึ้นวัน ๖ ๔ ค่ำ ไม่เห็นฝั่งแลเกาะอะไรเลย จนเวลาย่ำค่ำถึงตรงเกาะเต่า แขวงเมืองชุมพร ออกมาห่างประมาณ ๒๗ ไมล์ เห็นแต่เกาะเขียวๆ ตั้งแต่เวลา ๒ ยามจนย่ำรุ่ง ลมสำเภาพัดกล้ามีคลื่น

เวลาย่ำรุ่งวัน ๗ ๔ ค่ำ เห็นเกาะกระหน้าเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ข้างตะวันตกเฉียงเหนือ เห็นฝั่งแลเขาแต่เขียว ๆ เวลาเช้า ๒ โมงแล่นเรือตรงแหลมทราย ยังห่างปากอ่าวเมืองสงขลา ๓๐ ไมล์ เห็นตลิ่งแลเขาต้นไม้สูง ๆ บ้าง เวลาเช้า ๔ โมงถึงหน้าแหลมทราย แลเห็นต้นตาล ต้นมะพร้าวแลบ้านตามชายตลิ่ง เวลาเที่ยงแลเห็นกำปั่นทอดอยู่ปากอ่าวเมืองสงขลา เวลาบ่ายโมง ๒๐ นาที ถึงที่ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา น้ำลึก ๓ วาศอก เรือกลไฟประพาสอุดรสยาม เรือกลไฟเจ้าพระยามาจอดอยู่ก่อน กับเรือกำปั่นลูกค้า ๓ ลำ พระยาสงขลา (เจ้าพระยาวิเชียรคิรี เม่น) พระสุนทรานุรักษ์ (เนตร ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา บุตรเจ้าพระยาวิเชียรคิรี เม่น) แลกัปตันออตันนายเรือเจ้าพระยา มาเฝ้าที่เรือพระที่นั่ง เวลาบ่าย ๒ โมงเสด็จขึ้นไปประทับที่พลับพลาแหลมทราย แล้วเสด็จทรงรถประพาสตามตลาดที่เมืองสงขลา เสด็จกลับเรือพระที่นั่งเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ทรงฝากพระราชหัตถเลขาเข้ามาถึงเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกับเรือเจ้าพระยา เวลา ๒ ยาม เรือสยามูถึงทอดท้ายเกาะหนู เวลายาม ๑ พระสุนทรา พระยาสมุท มาเฝ้าในเรือพระที่นั่ง รับสั่งให้เรือสยามูออก ณ วัน ๑ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมง

ณ วัน ๑ ๔ ค่ำ เวลาบ่ายโมงเศษ เสด็จไปประพาสตามสวนราษฎรริมเกาะยอ จนถึงโรงจีนทำอ่างไห แล้วกลับถึงเรือพระที่นั่งเวลาทุ่มหนึ่ง เวลา ๗ ทุ่มใช้จักรออกจากท่าทอดสมอเมืองสงขลา

รุ่งขึ้น ณ วัน ๒ ๔ ค่ำ ถึงแหลมตานี เรือเดินห่างฝั่งประมาณ ๑๐ ไมล์ เวลาเช้า ๒ โมง ถึงตรงแหลมงู เป็นพรมแดนเมืองตานีกับเมืองกลันตันต่อกัน เวลาเที่ยงเรือเดินลึกแลไม่เห็นฝั่ง คะเนประมาณถึงหน้าเมืองกลันตัน เวลาย่ำค่ำถึงท้ายเกาะปรินเตียน และเห็นเกาะริดังห่างประมาณ ๒๐ ไมล์ เวลายามเศษถึงหน้าเมืองตรังกานู เวลา ๒ ยามเศษ เห็นเกาะบราลา

วัน ๓ ๔ ค่ำ เวลาย่ำรุ่ง พ้นเกาะบราลา มาถึงหน้าแหลมเขาตังโกรน เวลาเที่ยงเห็นเกาะนาค แขกเรียกว่าปูลูเทียวมัน เวลาบ่าย ๔ โมงเห็นเกาะปลูปิสัง ปลูอ่อ ปูลูติงงิ พร้อมกันทั้ง ๔ เกาะ เวลา ๓ ยามเห็นแสงเพลิงดวงใหญ่ที่หินขาวปากช่องเมืองสิงคโปร์ ตื่นบรรทมขึ้นทอดพระเนตร รับสั่งให้ใช้จักรเข้าไปให้ใกล้ แล้วรับสั่งให้ถอยออกไปนอกหินขาวประมาณ ๑๐ ไมล์ รอคอยเวลาให้สว่าง จะทอดพระเนตรเสาตะเกียงให้เห็นถนัด

ครั้นทอดพระเนตรแล้ว เวลาย่ำรุ่งวัน ๔ ๑๐ ๔ ค่ำ ใช้จักรเดินเรือไปตามช่องเมืองสิงคโปร์ เวลาเช้าโมงครึ่งถึงแหลมโรแมนเนีย เป็นที่สุดแผ่นดินเรียกว่าแหลมมลายู ตรงข้ามเกาะเมืองเรียว ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของวิลันดา เวลาเช้า ๒ โมง มิสเตอร์เบิน เจ้าท่าเมืองสิงคโปร์ ใช้เรือกลไฟชื่อปุรโตมากับพระยาอัสดงคตทิศรักษา (พระยาอนุกูลสยามกิจ ตันกิมเจ๋ง เป็นกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์) หลวงพิเศษพจนการ (พระยาอรรคราชนาถภักดี หวาด) ออกมารับเสด็จถึงเรือพระที่นั่งที่แหลมยะโฮ เรือพระที่นั่งรอจักรหยุดเรือพระที่นั่งรบทั้ง ๓ นายขึ้นมาเฝ้า มิสเตอร์เบิน ถวายหนังสือพิมพ์ ว่าด้วยเกาวนาแลพ่อค้าพร้อมใจกันจัดการรับเสด็จด้วยความยินดี ๑๑ ข้อ มีแจ้งอยู่ในหนังสือพิมพ์นั้น แล้วมิสเตอร์เบิน ก็นำเรือพระที่นั่งแล่นไปตามช่อง ถึงที่ทอดสมอตรงหน้าท่ายอนสตันเปียเวลา ๔ โมงเช้า ทอดสมอเรือพระที่นั่งห่างฝั่งประมาณ ๑๕ เส้น

(หนังสือพิมพ์ที่มิสเตอร์เบินถวายนั้น คือหมายรัฐบาลสั่งเตรียมการรับเสด็จ สำเนามีพิมพ์ไว้ในหนังสือสยามเรโปสิตอรี ปีคริสต์ศก ๑๘๗๑ ดังนี้

หมายรัฐบาลที่ ๖๖

การรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเมื่อเสด็จขึ้น ได้กะไว้ดังต่อไปนี้ จึงโฆษณาให้ทราบทั่วกัน

๑. เมื่อแลเห็นธงราชธวัชเมื่อใด จะยิงปืนใหญ่ที่ป้อมแคนนิงนัด ๑ แลจะชักธงสยามขึ้นที่เสาธงสัญญาเป็นสำคัญ

๒. วันแลเวลาซึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะเสด็จขึ้นนั้น จะบอกให้ทราบด้วยชักสัญญาเหมือนกับบอกเวลาส่งเมล์ฉะนั้น สัญญาจะชักที่เสาธงสัญญาแลมีธงช้างหมายให้ทราบ จะชักสัญญาไว้ ๓ ชั่วโมง ในเวลานั้นจะไม่ชักสัญญาอื่น

๓. เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงเหยียบพระบาทขึ้นบก จะยิงปืนสลุตที่ป้อมแคนนิง

๔. สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะเสด็จขึ้นที่อ่าวคอลเยอร์ ผู้รั้งราชการเมือง บรรดากรมการผู้ใหญ่ แลผู้บังคับการทหารบกทหารเรือ ทั้งหัวหน้ากระทรวงต่างๆ แลกงสุลต่างประเทศ ขอให้เข้าใจว่าได้รับเชิญไปรับเสด็จกับผู้รั้งราชการ

๕. ให้ทหารกรมที่ ๗๕ เป็นกองเกียรติยศ ไปตั้งแถวคอยรับเสด็จที่เสด็จขึ้น

๖. สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะเสด็จจากท่าขึ้นบกไปที่ศาลานคราภิบาล ทรงรับคำถวายชัยมงคลที่นั้น ให้ทหารแขกมัทราฐไปตั้งแถวเป็นกองเกียรติยศที่หน้าศาลา แลให้ทหารอาสาเมืองสิงคโปร์ไปยืนเป็นกองเกียรติยศที่ข้างบนบันได

หมายพลตระเวน

ข้อบังคับของพลตระเวนมีดังนี้ ประกาศไว้ให้คนทั้งหลายทราบ คือ

๑. ตามความในหมายรัฐบาลที่ ๖๖ นั้น ได้ออกข้อบังคับสำหรับพลตระเวน ให้รักษาการโดยกวดขัน เวลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จมาเมืองสิงคโปร์ดังนี้

๒. เพื่อจะไม่ให้ผู้คนพลุกพล่านเวลาเสด็จ ห้ามมิให้รถข้ามสะพานควนัคชั่วโมงครึ่ง ก่อนเวลากำหนดเสด็จขึ้นบก เว้นไว้แต่รถที่ได้รับใบอนุญาตเป็นสำคัญ ข้าราชการซึ่งได้รับเชิญไปคอยรับเสด็จจะได้รับตั๋วอนุญาตสีเหลือง จากผู้แทนอธิบดีกองตระเวนไปเป็นสำคัญ ส่วนผู้ที่มีประสงค์จะไปคอยดูกระบวนเสด็จ จะได้รับตั๋วอนุญาตสีขาว

๓. ถนนเหล่านี้ จะปิดชั่วโมงครึ่งก่อนเวลาเสด็จขึ้น คือ ถนนแบตเตอรี่ ถนนปรินส์ ถนนดะซูซา ถนนดะอัลไมดา

๔. ขอให้ผู้เป็นนายสั่งคนขับรถของตนให้กระทำตามคำสั่งซึ่งพิมพ์ไว้ข้างหลังใบอนุญาต

๕. ผู้ใดจะขอตั๋วอนุญาต ให้ไปขอที่ศาลาว่าการพลตระเวนในระหว่างเวลา ๔ โมงเช้า จนบ่าย ๔ โมงพรุ่งนี้

หมายนี้ออกตามบัญชาท่านผู้รั้งราชการเมือง

(ลงชื่อ) อี. เอ. เออวิง

ผู้รั้งตำแหน่งโคโลเนี่ยลสเกรตตารี

ทำ ณ ที่ว่าการโคโลเนียลสเกรตตารี วันที่ ๑๓ มีนาคม คริสต์ศก ๑๘๗๑)

เวลาย่ำเที่ยง ๒๐ นาที นายทหารอังกฤษกัปตันลักกี เสมียนใหญ่ชื่อมิสเตอร์เบิด รองชื่อมิสเตอร์แนตนี ลงมาเฝ้าในเรือพระที่นั่งกราบบังคมทูลว่า วันนี้ขอเชิญเสด็จประทับอยู่ไนเรือพระที่นั่งคืนหนึ่งก่อน ต่อเวลาพรุ่งนี้จึงจะได้จัดการรับเสด็จได้๓๐ ครั้นเวลาบ่าย ๔ โมงครึ่ง ผู้รั้งราชการเมืองสิงคโปร์ ชื่อนายพันเอกแอนสันกับมหาราชาอาบูบักกะ เจ้าเมืองยะโฮ น้องชายลงมาเฝ้าในเรือพระที่นั่ง แล้วมิสเตอร์รีดลงมาเฝ้า๓๑ ครั้นมิสเตอร์รีดกลับ ทรงเรือบต ๑๒ กรรเชียง มีเรือบตข้าราชการตาม ๒ ลำ เสด็จเที่ยวทอดพระเนตรตามชายทะเลแถวหน้าบ้านตีโละวัยยา ที่พวกอังกฤษทำอู่แลท่าจอดเรือกำปั่น เวลาทุ่มหนึ่งกลับถึงเรือพระที่นั่ง

ครั้น ณ วัน ๕ ๑๑ ๔ ค่ำ เวลาเช้าโมงเศษ เรือกลไฟบางกอกมาแต่กรุงเทพ ฯ ได้รับหนังสือ ฯ พณ ฯ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เวลาเช้า ๔ โมง ผู้รั้งราชการเมืองให้จัดเรือกลไฟเล็กลำ ๑ เรือ ๑๐ กรรเชียง ๒ ลำมารับเสด็จ จึงรับสั่งให้ข้าราชการแต่งตัวเต็มยศขึ้นไปคอยรับเสด็จที่สะพานทำไว้รับเสด็จนั้น ทรงเรือพระที่นั่ง ๑๒ กรรเชียง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี เจ้าพระยาสุรวงศ์ ฯ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ ฯ พระยาสุรศักดิ์มนตรี นายราชาณัตยานุหาร ตามเสด็จในเรือพระที่นั่ง เรือไฟจึงถึงสะพานยอนสตันเปีย เวลา ๕ โมงเช้า นายพันเอกแอนสัน ผู้รั้งราชการเมืองสิงคโปร์ พร้อมด้วยกรมการผู้ใหญ่ กงสุลต่างประเทศ แลมหาราชาเมืองยะโฮ คอยรับเสด็จอยู่ที่สะพาน มีทหารยืนแถวแลแตรวงเป็นกองเกียรติยศ ขุนนางไทยยืนเป็นแถวคอยรับเสด็จ ๒ ข้าง เมื่อออกเรือพระที่นั่ง เรือพิทยัมรณยุทธกับเรือยงยศอโยชฌิยายิงสลุต ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นที่ท่า ป้อมแคนนิงกับเรือรบอังกฤษยิงสลุต ผู้รั้งราชการเมืองเชิญเสด็จผ่านแถวกองเกียรติยศไปขึ้นรถพระที่นั่ง ผู้รั้งราชการตามเสด็จในรถนั้น ไปยังเตาน์ฮอล คือศาลานคราภิบาล ที่หน้าศาลามีทหารยืนแถวเป็นกองเกียรติยศ บนบันไดมีทหารอาสาเมืองสิงคโปร์ยืนรายรับเสด็จ เสด็จขึ้นไปยังห้องประชุม มีราชอาสน์จัดตั้งไว้ เชิญเสด็จขึ้นประทับราชอาสน์ ข้าราชการยืนราย ๒ ข้าง แล้วพวกกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลพวกผู้ดีชาวเมืองสิงคโปร์เข้าเฝ้าเดินผ่านหน้าพระที่นั่งถวายคำนับทีละคน ครั้นเสร็จแล้ว มิสเตอร์ทอมัศสก๊อตผู้เป็นหัวหน้าของสโมสรพาณิชย์ถวายชัยมงคล (คำถวายชัยมงคลนั้นแปลได้ความขอกราบทูลสมเด็จบรมบพิตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณเกล้า พระเจ้าแผ่นดินสยาม แลเป็นราชาธิราชของลาว ขอพระองค์จงได้โปรด

ข้าพเจ้าสมาชิกทั้งหลายในสมาคมพาณิชย์เมืองสิงคโปร์ เป็นนายห้าง นายธนาคาร แลเป็นพ่อค้า นานาชาติ มีความประสงค์จะถวายความยินดี แลมีน้ำใจต้อนรับพระองค์ด้วยความเคารพ ในเมื่อพระองค์เสด็จมาถึงเมืองของข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นครั้งแรก

ข้าพเจ้าทั้งหลายนิยมว่า การที่พระองค์เสด็จครั้งนี้ เป็นพยานให้ปรากฏยิ่งขึ้นกว่า รัฐบาลของพระองค์ประสงค์จะบำรุงทางมิตรไมตรีกับนานาประเทศ ข้าพเจ้าทั้งหลายแน่แก่ใจว่า ซึ่งพระองค์ผู้ทรงพระเกียรติยศสูง ได้ทรงประพฤติเป็นแบบอย่างที่เสด็จไปประพาสถึงเมืองต่างประเทศดังนี้ ไม่ใช่แต่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์เท่านั้น จะเป็นเยี่ยงอย่างแก่พระราชาในประเทศอื่น แลเป็นประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในประเทศนั้น ๆ ด้วย

ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความชื่นชมยินดีที่แลเห็นว่า พระองค์มีพระราชหฤทัยเผื่อแผ่กว้างขวาง เหมือนกับสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงแสดงมาแล้ว (สมเด็จพระบรมชนกนาถ) พระองค์ได้ทรงปกครองพระราชอาณาจักรด้วยพระปรีชาญาณ แลบรรเทาความทุกข์ร้อนต่างๆ กรุงสยามได้อาศัยพระปรีชาญาณของสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้นเป็นที่ตั้ง จึงได้มีความเจริญ แลเป็นที่นับถือของนานาประเทศอย่างทุกวันนี้

ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความพอใจ ที่ได้แลเห็นการค้าขายในระหว่างเมืองนี้ กับพระราชอาณาจักรของพระองค์มีมากมายแลเจริญขึ้นทุกที ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้สึกพระเดชพระคุณที่รัฐบาลสยามได้ช่วยทำนุบำรุง การค้าขายของข้าพเจ้าทั้งหลาย ทางไมตรีในระหว่างเมืองสิงคโปร์กับกรุงสยาม ถ้ายังสามารถจะเจริญขึ้นอีกได้ ข้าพเจ้าทั้งหลายหวังใจว่าทางไมตรีนั้นจะเจริญยิ่งขึ้น

ในที่สุด ข้าพเจ้าทั้งหลายขอให้พระองค์จงทรงดำรงพระบรมสุข แลทรงเจริญรุ่งเรืองด้วยประการทั้งปวง แลขอให้พระเป็นเจ้าผู้ประทานสรรพสิ่ง จงบันดาลให้รัชกาลของพระองค์ยืนนาน ประกอบด้วยศานติสุข แลพระเกียรติยศทุกประการ

ลงชื่อแทนสมาคมค้าขาย ทอมัส สก๊อต

ผู้เป็นประธาน

พระราชดำรัสตอบว่า

ดูกรท่านทั้งหลาย เรามีความยินดีที่ได้ฟังคำต้อนรับของพวกพ่อค้าเมืองสิงคโปร์ ซึ่งแสดงโดยไมตรีจิต การค้าขายเป็นการสำคัญที่จะให้เกิดสมบัติของชาติทั้งหลาย ทั้งเป็นเหตุให้เคิดความอุตสาหะแลความสุขความเจริญแก่ประชาชนทุกชั้น เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถของเราเสวยราชสมบัติอยู่ ได้ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับรัฐบาลต่างชาติในยุโรป เพื่อจะให้การไปมาค้าขายในระหว่างประชาชนเจริญขึ้น เราจะพยายามดำเนินตามรอยพระบาทยุคล บำรุงความเจริญในพระบรมราโชบายซึ่งได้ทรงเริ่มไว้โดยเต็มกำลัง

เป็นความยินดีของเราอย่างหนึ่ง เมื่อเรามาเยี่ยมเยือนเมืองต่างประเทศภายนอกพระราชอาณาจักร ได้มาถึงเมืองสิงคโปร์ก่อน เพราะนอกจากที่เป็นเมืองค้าขายใหญ่โต ยังเป็นเมืองซึ่งได้มีไมตรีชอบพอค้าขายกันกับกรุงสยามอยู่เป็นอันมาก เราหวังใจว่า เมืองนี้คงจะมีความเจริญยิ่งขึ้นต่อไปทุกๆ ปี แลบรรดาผู้ที่อยู่ในเมืองนี้จะมีความสุขสำราญ อยู่ในพระราชอำนาจของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เราขอให้สิ่งซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในสกลโลกจงป้องกันแลอุดหนุนความประสงค์ของท่านทั้งหลายในการค้าขายให้สำเร็จประโยชน์ทุกประการ

แล้วหัวหน้าพ่อค้าจีนถวายชัยมงคล แลมีพระราชดำรัสตอบตามสมควร

ครั้นทรงรับชัยมงคลแล้ว ผู้รั้งราชการเมืองจึงเชิญเสด็จขึ้นทรงรถ พวกข้าราชการขึ้นรถตามเสด็จไปเคาเวอนเมนต์เฮาส์ เป็นตึกที่อยู่ของเจ้าเมืองสิงคโปร์บนยอดเขา ซึ่งได้จัดไว้เป็นที่ประทับแรมกับจัดบ้านที่นิวฮาเบอชื่อบ้านปริกเดียไว้อีก ๒ แห่ง พวกข้าราชการแยกกันอยู่ ที่บ้านเจ้าเมืองบ้าง ที่บ้านปริกเดียบ้าง บ้านพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ ยิ้ม เป็นเจ้าของเรือเจ้าพระยา) บ้าง บ้านพระยาอัสดงคตบ้าง (เมื่อเสด็จถึงเมืองสิงคโปร์แล้วได้มีพระราชโทรเลขถึงสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ดังนี้

ทูล สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย

หม่อมฉันออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม มาตรวจตราหัวเมืองของหม่อมฉัน แล้วได้ลงมาถึงเมืองสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพระองค์ เป็นครั้งแรกที่เจ้าแผ่นดินสยามได้มาขึ้นที่เมืองของอังกฤษ

ท่านผู้รั้งราชการได้ต้อนรับหม่อมฉันเป็นเกียรติยศอย่างสูงสุด แลได้จัดให้พักที่จวนมีความสุขสบายมาก หม่อมฉันมีความยินดีที่ได้เห็นบ้านเมืองแลผู้คน ซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจของพระองค์ มีความเจริญรุ่งเรืองถึงเพียงนี้

หม่อมฉันขอบพระทัยที่พระองค์ทรงรับรองโดยไมตรี แลขอให้พระองค์ทรงเจริญชนมสุขทุกประการ

สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย มีพระราชโทรเลขตอบดังนี้

ทูล สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม

หม่อมฉันได้รับพระราชโทรเลขมีมาจากเมืองสิงคโปร์ หม่อมฉันมีความยินดีมากที่ได้ทราบว่า พระองค์เสด็จมาถึงแผ่นดินของอังกฤษ แลเจ้าเมืองกรมการได้จัดการรับเสด็จเป็นที่พอพระทัย หม่อมฉันขอบพระทัยที่พระองค์ทรงประทานพร แลขอให้พระองค์เชื่อพระทัยว่า หม่อมฉันก็มีความประสงค์จะให้พระองค์เจริญพระชนมสุขทุกประการ)

ครั้นเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ ทรงเครื่องตามธรรมเนียม ทรงรถเสด็จไปเยี่ยมข้าราชการที่อยู่บ้านปริกเดีย เวลาบ่าย ๕ โมงเศษเสด็จกลับจากบ้านปริกเดีย ไปทอดพระเนตรบาแรกที่ทหารอยู่บนเขา เวลาย่ำค่ำเสด็จกลับถึงที่ประทับเดิม เวลายามหนึ่งพวกขุนนางนายทหารพาภรรยาแลบุตรหญิงมาเฝ้าที่บ้านเจ้าเมือง พร้อมกันประมาณ ๒๐๐ คน เข้ามาหน้าพระที่นั่งแล้วคำนับเรียงกันไปเป็นคู่ แล้วผู้รั้งราชการเมืองให้ทำปี่พาทย์ฝรั่ง พวกชายหญิงซึ่งมาเฝ้านั้นก็พากันเต้นรำถวายทอดพระเนตรจน ๒ ยาม

วัน ๗ ๑๓ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง ทรงเครื่องเต็มยศเสด็จไปทอดพระเนตรเรือรบอังกฤษ (ชื่อบารุสซา) แล้วเสด็จไปบ้านปริกเดีย เสวยกลางวันกับขุนนางที่อยู่บ้านปริกเดียแลขุนนางที่ตามเสด็จ แล้วทรงเครื่องตามธรรมเนียม ทรงรถไปทอดพระเนตรที่ตึกสำหรับส่งหนังสือเมล์ (ไปรษณียสถาน)๓๒ แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรโบสถ์อังกฤษ (วัดเซ็นแอนดริว) แล้วเสด็จไปที่สกูล (แรฟฟัล) สอนหนังสือเด็ก แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรที่รักษาคนเสียจริตแลรักษาคนป่วยไข้ (โรงพยาบาล) เสร็จแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตรที่เยล์ คือคุกสำหรับขังคนโทษ จนเวลาบ่าย ๕ โมงเศษเสด็จกลับยังที่ประทับบ้านเจ้าเมือง เวลาทุ่ม ๑ ผู้รั้งราชการเมืองมีการเลี้ยงถวายในราชการ เชิญเสด็จเสวยโต๊ะกับขุนนางชาวยุโรปประมาณ ๖๐ คน

วัน ๗ ๑๒ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง ทรงเครื่องตามธรรมเนียมไปทอดพระเนตรที่ตึกตเลแครฟ (โทรเลขสถาน) แลศาลชำระความแล้วเสด็จไปทอดพระเนตรที่สูบน้ำสำหรับดับไฟไหม้แลที่ตึกลมประทีป จนเวลาบ่าย ๒ โมงเสด็จกลับที่ประทับ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษเสด็จไปทอดพระเนตร (การประกวดดอกไม้ ซึ่งจัดขึ้นในการรับเสด็จ ณ) สวนดอกไม้สำหรับเมืองสิงคโปร์ เวลาบ่าย ๕ โมงเสด็จกลับที่ประทับ เวลา ๒ ทุ่มทรงเครื่องครึ่งยศเสด็จไปทอดพระเนตรละคร (พูด ซึ่งพวกอังกฤษชาวเมืองสิงคโปร์พร้อมกันจัดขึ้นเล่นถวายในการรับเสด็จ) ที่เตาน์ฮอล สองยามเสด็จกลับยังที่ประทับเดิม

วัน ๑ ๑๔ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ ทรงเครื่องตามธรรมเนียม เสด็จไปบ้านพระยาอัสดงคต ๆ จัดโต๊ะถวายเสวยพร้อมกับข้าราชการที่ตามเสด็จ เวลาเช้า ๕ โมงเสด็จกลับยังที่ประทับ ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมงเสด็จไปทอดพระเนตรสวนจีนของจีนวังโป

วัน ๒ ๑๕ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเสด็จเที่ยวประพาสห้างขายของต่างๆ แล้วเสด็จกลับ เวลา ๒ ทุ่มครึ่งทรงเครื่องเต็มยศอย่างทหาร พร้อมด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือน ไปทอดพระเนตรเต้นรำที่เตาน์ฮอล (ซึ่งจัดขึ้นในการรับเสด็จ) เวลา ๕ ทุ่มเศษเชิญเสด็จเสวย แลมีโต๊ะจัดตั้งเลี้ยงผู้ที่ไป ๔ โต๊ะ ๆ หนึ่งประมาณ ๗.๘.๙ วา คนชาวยุโรปประมาณทั้งชายทั้งหญิง ๔๐๐ คนเศษ ครั้นกินโต๊ะแล้วผู้รั้งราชการเมืองยืนขึ้นกล่าวคำสรรเสริญตามภาษาอังกฤษ แปลได้ความว่า การชุมนุมครั้งนี้ทำให้เป็นพระเกียรติยศแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งเป็นพระองค์แรกที่ได้เสด็จมาก้าวพระบาทเหยียบแผ่นดินของอังกฤษ แล้วถวายพระพรว่า ขอให้ทรงเจริญดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติยืนอยู่นาน ขุนนางฝ่ายไทยฝ่ายอังกฤษก็ฮุเรขึ้นพร้อมกัน ๓ หน เสวยแล้วเสด็จทอดพระเนตรเต้นรำ พวกขุนนางนายห้างก็เต้นรำอีกพัก ๑ แล้วเสด็จกลับยังที่ประทับเวลา ๒ ยาม

ปีมะแม จ.ศ. ๑๒๓๓ พ.ศ. ๒๔๑๔

วัน ๓ ๕ ค่ำ เวลาเที่ยงทรงเครื่องตามธรรมเนียม เสด็จไปบ้านเมเยอแมกเนีย แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรตลาดขายปลาขายผักแลศาลเจ้าโจซือกง แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรอู่กำปั่นแลโรงทำการช่างที่อู่กำปั่นด้วย เวลาบ่าย ๒ โมงเสด็จกลับยังที่ประทับ เวลาทุ่มเศษเสด็จไปเสวยโต๊ะที่บ้านเซอเบนสันแมกสเวล อธิบดีผู้พิพากษา เสวยแล้วกลับยังที่ประทับ

วัน ๔ ๕ ค่ำ เวลา ๕ โมงเช้าเสด็จประพาสตามห้างแล้วเสด็จกลับ เวลาบ่าย ๕ โมงเสด็จประพาสตามถนนต่างๆ เวลาทุ่มเศษ ผู้รั้งราชการเมืองเชิญเสวยโต๊ะไปรเวต

วัน ๕ ๕ ค่ำ เสด็จพระราชทานเครื่องราชอิศริยากรณ์แก่นายพันเอก แอนสัน ผู้รั้งราชการเมืองสิงคโปร์ เวลาบ่าย ๓ โมงครึ่ง ทรงเครื่องเต็มยศพร้อมด้วยขุนนางฝ่ายทหารพลเรือนตามเสด็จ ขึ้นรถออกจากที่ประทับบ้านเจ้าเมือง เสด็จมาลงท่ายอนสตันเปีย มีทหารกองเกียรติยศคอยส่งเสด็จ ขุนนางฝรั่ง ขุนนางจีน มหาราชาเมืองยะโฮมาส่งเสด็จถึงสะพาน แล้วทรงเรือกลไฟเล็กที่ผู้รั้งราชการเมืองจัดไว้ส่งมานั้น มายังเรือพระที่นั่งพิทยัมรณยุทธ แลเวลาที่เสด็จลงเรือก็ยิงสลุตส่งเสด็จเหมือนอย่างขาเสด็จขึ้นเมืองฉะนั้น เวลา ๑๑ ทุ่ม เรือพระที่นั่งใช้จักรออกจากที่ทอดหน้าเมืองสิงคโปร์

ณ วัน ๖ ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงถึงอ่าวแม่น้ำเมืองยะโฮ เวลาเช้า ๓ โมงครึ่งเข้าช่องเกาะเรียว เวลาย่ำค่ำเห็นเกาะเมืองลิงาข้างขวา ห่างประมาณ ๑๕ ไมล์

วัน ๗ ๕ ค่ำ เวลาย่ำรุ่ง เห็นเกาะปากช่องบังกาข้างเหนือ เวลา ๒ โมงเช้าเห็นเสาเรือนตะเกียงปากช่องบังกาแหลมตะวันออก เวลา ๓ โมงเช้าเข้าช่องบังกา เวลาย่ำค่ำออกปากช่องบังกาข้างใต้

วัน ๑ ๕ ค่ำ เวลาเช้า เห็นเกาะวอศเซอเหนือห่างประมาณ ๑๐ ไมล์ เวลาเช้า ๓ โมงถึงหน้าหมู่พันเกาะข้างตะวันออก ๔ โมงเช้าถึงเกาะวอศเซอใต้ บนเกาะมีเรือนตะเกียง เวลาเช้า ๕ โมงถึงเกาะชวาที่ปากอ่าวเมืองเบตาเวีย เห็นฝั่งแลกำปั่นรบ กำปั่นลูกค้า เห็นอู่กำปั่นอยู่บนเกาะ เวลาบ่ายโมงเรือพระที่นั่งแล่นผ่านเรือรบวิลันดาเข้าไป เรือ ๘ ลำยิงสลุตลำละ ๒๑ นัด ครั้นเรือพระที่นั่งทอดสมอ อาสิสเตนเรสิเดนต์กับผู้ว่าราชการกรมการเมือง กัปตันเจ้าท่ากับขุนนางอีก ๕ นายลงมาเฝ้า

(ได้พบคำแปลหมายรัฐบาลเตรียมการรับเสด็จที่เมืองเบตาเวีย มีอยู่ในจดหมายเหตุเก่าหอพระสมุด ฯ กรมการวิลันดาคงนำมาให้กราบทูล ฯ เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึง อย่างเดียวกับที่เมืองสิงคโปร์ เห็นควรรักษาไว้ จึงได้พิมพ์ไว้ในที่นี้

หนังสือกำหนดการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม จะเสด็จออกมาเมืองเบตาเวีย ในเดือนมาช คริสต์ศักราช ๑๘๗๑ ปี จะเสด็จออกมาถึงท่าแล้วจะรับอย่างไร

ข้อ ๑. ว่า เจ้าพนักงานผู้ที่รักษาธงบอกเหตุที่เกาะออนรุก แลเจ้าพนักงานผู้รักษาธงบอกเหตุที่เรือรบ ที่ทอดประจำอยู่ที่ท่าเรือนอก ได้เห็นเรือพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม มีธงที่ปลายเสาเมื่อใด เจ้าพนักงานต้องชักธงบอกให้ฮัปมาสเตนเจ้าท่าทราบโดยเร็ว แล้วเจ้าท่าจะต้องไปแจ้งแก่คอเวอนเนอเยเนราลผู้ครองเมือง แล้วเจ้าพนักงานที่ได้กำหนดไว้ให้ออกไปเชิญเสด็จขึ้นบก

ข้อ ๒. ว่า เรือรบฮอลันดาแล่นออกไปพบเรือพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามก็ดี เรือพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามแล่นมาพบเรือรบฮอลันดาก็ดี เรือรบฮอลันดาต้องทำคำนับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามตามกฎหมายข้อที่ ๑ แลข้อ ๒๘, ๕๒, ๕๓ ซึ่งได้กำหนดไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเมืองใดจะเข้ามา จะต้องคำนับแลยิงสลุตรับในเรือรบฮอลันดาอย่างไร (นั้น) เรือรบฮอลันดาต้องทำคำนับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามตามกฎหมายกำหนดไว้นั้น อนึ่ง เรือพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเข้ามาทอดสมอแล้ว กัปตันของเรือรบที่ชักธงบอกเหตุตามว่าไว้ในข้อที่ ๑ ต้องลงเรือไปที่เรือพระที่นั่ง บอกให้กัปตันเรือพระที่นั่งทราบว่า ขุนนางซึ่งได้จัดไว้ให้เป็นเจ้าพนักงานออกมาเชิญเสด็จนั้น จะออกมาเชิญเสด็จ

ข้อ ๓. ว่า ขุนนางซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเชิญเสด็จขึ้นบกนั้น ครั้นได้เห็นธงสำคัญแล้ว ต้องมาชุมนุมพร้อมกัน เจ้าพนักงานเหล่านั้นคือเสเกรตตารีของคอเวอนเนอเยเนราลผู้ครองเมืองนั้นนาย ๑ ขุนนางสำหรับปรึกษาราชการแผ่นดินมีอายุสูงที่สุดนาย ๑ เกาวนาเมืองเบตาเวียนาย ๑ กอมมันเดอคือแม่ทัพใหญ่ที่หนึ่งซึ่งได้บังคับการรบบนบกเกาะยาวานาย ๑ ชีปออฟิเซอคือแม่ทัพใหญ่ที่หนึ่งซึ่งได้บังคับการรบฝ่ายทะเลยาวานาย ๑ ฮัปมาสเตนคือเจ้าท่านาย ๑ กับทั้งอาศยูกาศคือเสมียนฝ่ายการทหารของคอเวอนเนอเยเนราลนาย ๑ รวม ๗ นายด้วยกัน

เจ้าพนักงานเหล่านี้ชุมนุมกันพร้อมแล้ว พากันไปลงเรือกลไฟชื่อติลิอองซึ่งจอดอยู่ที่สะพาน แล้วใช้จักรออกไปที่เรือพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม แล้วขึ้นบนเรือพระที่นั่งเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม สำแดงชื่อคอเวอนเนอเยเนราลกราบทูลให้ทราบว่า คอเวอนเนอเยเนราลทราบว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จมาถึงแล้ว ก็มีความยินดี ให้กราบทูลว่า คอเวอนเนอเยเนราลขอเชิญเสด็จขึ้นบกตามที่กำหนดไว้ในหนังสือนี้ ถ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงเห็นชอบตามกำหนดนั้น ให้ขุนนางที่ลงไปเชิญเสด็จนั้นชักธงขึ้นเป็นสำคัญ แล้วให้ผู้ที่อยู่ที่ตึกฮัปมาสเตนไปแจ้งความให้คอเวอนเนอเยเนราลทราบ

ข้อ ๔. ได้แจ้งความนี้ให้คอเวอนเนอเยเนราลทราบแล้ว จะยิงปืนใหญ่ที่ป้อมชื่อปรินฟเรศริก ๓ นัดให้เป็นสำคัญ การที่จะรับเสด็จนั้นจะเป็นตามกำหนดในหนังสือนี้ทุกประการ

ข้อ ๕. เรือพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะเข้ามาเมื่อใด เรือรบฮอลันดาแลเรือรบเมืองอื่นๆ ที่ทอดอยู่ที่ท่าเรือนอก แลทอดอยู่ท่าเรือใน จะต้องชักธงขึ้นแต่งเรือให้พร้อมทุก ๆ ลำ เวลาเช้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะเสด็จขึ้นบกนั้น นายเรือพ่อค้าฮอลันดาก็ดี นายเรือพ่อค้าต่างประเทศก็ดี แลนายเรือมลายูก็ดี บรรดาที่ทอดอยู่ที่ท่าแลลำแม่น้ำ ได้เห็นที่เรือรบชักธงขึ้นแต่งเรือเมื่อใด เรือเหล่านั้นต้องชักธง (ด้วย อนึ่ง ให้ชักธง) ฮอลันดาขึ้นที่ตำบลคอเวอนเมนต์เฮาส์ คือที่คอเวอนเนอเยเนราลอยู่แห่งหนึ่ง ที่สตาสเฮาส์คือที่ปรึกษาราชการแผ่นดินแห่งหนึ่ง ที่ฮัปมาสเตนเจ้าท่าอยู่แห่งหนึ่ง ที่คัสตัมเฮาส์ตึกเก็บภาษีแห่งหนึ่ง แลที่อื่นซึ่งเป็นที่สำคัญหลายแห่ง

ข้อ ๖. เจ้าพนักงานที่กำหนดไว้ไนข้อ ๓ นั้น เมื่อจะออกไปเชิญเสด็จจะต้องลงเรือกลไฟชื่อติลิออง เวลาเช้าย่ำรุ่ง ถ้าเรือลำนั้นไม่พอกับคนที่ตามเสด็จ เจ้าพนักงานต้องจัดเรือลำอื่นตามที่จะต้องการ ให้พอคนที่จะมาพร้อมกันเที่ยวเดียว อย่าให้ต้องรับหลายเที่ยว

ข้อ ๗. พวกทหารจะชุมนุมพร้อมกันที่สนามชื่อกอนอิงสเปลน ให้ทันในเวลาเช้าย่ำรุ่ง มาพร้อมกันแล้วให้เดินตามถนนชื่อเสเกรตตารี จนถึงตำบลชื่อรุสวิก แล้วจะยืนเรียงกันเป็นแถวตามคลองขุด ตรงกันกับที่คอเวอนเมนต์โฮเต็ล

ข้อ ๘. ทหารที่อยู่ในโรงทหารชื่อเวลเตอเฟรเดน ต้องชุมนุมพร้อมแล้ว เดินออกมายืนเป็นแถวที่ถนนชื่อตอนโร้ก แต่งตามยศหมู่ของเขา

ข้อ ๙. ทหารมลายูที่ถือหอกกับทั้งพวกโปลิศ ต้องชุมนุมพร้อมกันในเวลาเช้าย่ำรุ่ง ที่ตรงหน้าตึกนายโปลิศ แลทหารมลายูที่ถือหอกต้องแต่งตัวตามธรรมเนียมของเขา ที่เป็นนายนั้นต้องแต่งตัวตามกำหนดกฎหมาย แล้วจะต้องเลือกเอานายผู้หนึ่งให้ถือธง แลทหารมลายูที่ถือหอกกับพวกโปลิศ ให้ยืนแถวข้างปีกซ้ยของพวกทหาร ทหารถือหอกกับพวกโปลิศเหล่านี้ ให้ยืนเป็นแถวริมถนนทั้งสองฟาก ไว้ช่องถนนห่าง ๑๒ ฟุต

ข้อ ๑๐. พวกจีนที่อยู่เมืองเบตาเวียที่มีตำแหน่งราชการ แลจีนที่อยู่ในบังคับของเขา ต้องแต่งตัวตามธรรมเนียมของเขา แล้วให้ออกมายืนเรียงเป็นแถวตามถนนต่อพวกทหารที่ถือหอก จะได้ทำคำนับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามตามธรรมเนียมจีน

ข้อ ๑๑. คนชาวฮอลันดาซึ่งต้องเป็นทหารนอกจากทหารประจำ ต้องชุมนุมพร้อมกันที่ใกล้ถนนชื่อบิลเนลนิวปอส ให้ทันเวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว นายของเขาจะเดินมาตั้งเป็นแถวที่ถนนนั้น ตั้งข้างปีกขวาพวกทหารที่ยืนแถว แลให้ทหารเหล่านี้ยืนไว้ช่องถนนห่าง ๑๒ ฟุต

ข้อ ๑๒. คนชาวมลายู แลคนชาติอื่นๆ ที่อยู่เมืองเบตาเวีย ต้องแต่งตัวตามธรรมเนียมโดยดี ถือหอกตามที่มี ออกมาพร้อมกันยืนอยู่ที่หน้าป้อม แลนายของเขาที่เรียกว่า ยากสะ จะนำมาให้ตั้งอยู่ในถนนชื่อปรินเซน ต่อพวกทหารซึ่งตั้งอยู่ในถนนบิลเนลนิวปอส จนถึงสะพานชักให้ยืนแถว ๒ ฟากถนน ให้ไว้ช่องถนนห่าง ๑๒ ฟุต

ข้อ ๑๓. สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จมาถึงที่ทหารยืนถือปืนเมื่อใด ให้ทหารบิเซนอัมทำคำนับ ที่เป็นทหารมลายูถือหอกนั้น จะคำนับเอาปลายหอกลงถึงดินตามธรรมเนียมเขา แลเมื่อเสด็จพระราชดำเนินอยู่นั้น พวกแตรกลองจะเป่าแตรตีกลองรับเสด็จ แลนายที่ถือธงจะลดธงลงคำนับ นายทหารทุก ๆ นายก็จะทำคำนับด้วยดาบ

/*ข้อ ๑๔. ทหารม้าที่นำเสด็จแลที่ตามเสด็จ เดินพ้นทหารที่ยืนแถว ๒ ฟากถนนแล้ว ทหารที่ยืนแถว ๒ ฟากถนนนั้นเดินแห่ตามเสด็จทุกพวก จนถึงโฮเต็ลตำบลรุสวิกที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามประทับ แล้วขุนนางนายของพวกมลายู แลนายของพวกจีน แลนายใหญ่ของพวกมลายูที่เรียกว่า ยากสะ แลชิปปริสคือพระใหญ่ของจีน ของมลายู แลนายบ้านนายพวกกระบวนแห่ กับขุนนางจีนจะตามเข้าไปในโฮเต็ลที่ประทับก็ได้ แต่ทหารพวกเหล่านี้จะเข้าไปไม่ได้

ข้อ ๑๕. ทหารม้าที่นำเสด็จแลตามเสด็จนั้น ต้องชุมนุมพร้อมกันในเวลาเช้าย่ำรุ่งที่สนามตรงหน้าโรงการช่างที่ตำบลยาคคะปาศ ตั้งคอยอยู่ที่นั้นจนถึงเวลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จขึ้นบนบกเชิญขึ้นรถทรงแล้ว ทหารม้าเหล่านี้จะมาตั้งเป็นแถวนำเสด็จบ้างตามเสด็จบ้าง จะได้ส่งเสด็จเข้าไปโฮเต็ล ประทับตำบลรุสวิกให้เป็นพระเกียรติยศ

ข้อ ๑๖. เวลาโมงเช้า เจ้าพนักงานพวก ๑ คือไวสเปรสิเดนต์ผู้เป็นขุนนางปรึกษาในราชการแผ่นดินที่สองนายหนึ่ง กอมมานเดอคือแม่ทัพฝ่ายทหารบกนายหนึ่ง ฝ่ายทะเลนายหนึ่ง กับหมอความใหญ่ที่สุด ฝ่ายศาลชำระความนายหนึ่ง กับเปรสิเดนต์ฝ่ายพ่อค้านายหนึ่ง เจ้าพนักงานเหล่านี้จะชุมนุมที่สะพานคอยรับเสด็จ เมื่อเสด็จทรงพระราชดำเนินขึ้นบกแล้ว เจ้าพนักงานทั้งนี้จะได้ทำคำนับกราบทูลให้ทราบว่า มีความยินดีด้วยสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามได้เสด็จมาถึงบ้านเมืองโดยดี ไม่มีเหตุการณ์สิ่งใด

ข้อ ๑๗. เวลาโมงเช้า เจ้าพนักงานอีกพวกหนึ่งจะมาชุมนุมพร้อมกันกับคอเวอนเนอเยเนราลที่โฮเต็ลชื่อรุสวิกที่ประทับ พนักงานเหล่านี้ คือขุนนางในพวกสำหรับปรึกษาราชการแผ่นดินพวกหนึ่ง เสเกรตตารีในคอเวอนเมนต์พวกหนึ่ง เปรสิเดนต์คือตระลาการใหญ่ในศาลชำระความนายหนึ่ง ที่สองตระลาการใหญ่นายหนึ่ง ขุนนางที่เปนหัวหน้าในหัวเมืองขึ้นพวกหนึ่ง ตระลาการศาลอย่างที่สองนายหนึ่ง พวกหมอความแห่งโรงศาลใหญ่พวกหนึ่ง เจ้าพนักงานสำหรับชำระความพวกทหารพวกหนึ่ง พ่อค้าใหญ่ในจำพวกนายห้างพวกหนึ่ง นายทหารฝ่ายบกฝ่ายทะเลที่ไม่ต้องออกไปรับเสด็จพวกหนึ่ง นายทหารเก่าๆ ที่ทำการครบกำหนดแล้วไม่ได้คุมทหารพวกหนึ่ง นายแบงก์แลนายช่างห้างใหญ่พวกหนึ่ง กับครูสอนศาสนาคริสเตียนที่เมืองเบตาเวียพวกหนึ่ง พนักงานพวกนี้จะคอยรับเสด็จอยู่ที่โฮเต็ลที่ประทับพร้อมกับคอเวอนเนอเยเนราล

ข้อ ๑๘. สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม กับทั้งเจ้าพนักงานได้ออกจากเรือพระที่นั่งที่จะส่งขึ้นบก เรือรบฮอลันดาต้องทำคำนับตามกำหนดไว้ในข้อ ๑๒

ข้อ ๑๙. สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จมาถึงหน้าป้อมชื่อเวนกอม จะยิงปืนใหญ่สลุตคำนับ ๒๑ นัด เมื่อเสด็จถึงสะพานจะขึ้นบก พวกแตรกลองจะเป่าแตรตีกลองรับเสด็จตามเพลงที่รับพระเจ้าแผ่นดิน

ข้อ ๒๐. เจ้าพนักงานที่คอยรับเสด็จตามข้อ ๑๖ นั้น ได้ทำคำนับแล้วกราบทูลเชิญเสด็จขึ้นทรงรถของคอเวอนเนอเยเนราล ขุนนางฝ่ายสยามที่ตามเสด็จนั้น ได้ขึ้นรถที่คอเวอนเมนต์จัดไว้รับทุกนาย

ข้อ ๒๑. สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จขึ้นทรงรถแล้ว การที่เสด็จไปนั้น ทหารม้าจะแบ่งเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งจะนำเสด็จ พวกหนึ่งจะตามเสด็จ รถของคอเวอนเนอเยเนราลที่จัดรับเสด็จนั้น เทียมม้า ๓ คู่ แลผู้ที่ขึ้นนั่งไปในรถด้วยสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามนั้น คือไวสเปรสิเดนต์ ในพวกขุนนางที่ปรึกษาราชการแผ่นดินนายหนึ่ง แม่ทัพใหญ่ฝ่ายทหารบกนายหนึ่ง ฝ่ายทหารทเลนายหนึ่ง เป็นสามนายด้วยกัน นายของทหารม้าที่นำเสด็จไปข้างหน้านั้น จะขึ้นม้าเดินข้างขวารถสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม นายของทหารม้าที่ตามเสด็จนั้น ขึ้นม้าเดินข้างซ้ายรถสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม รถสำหรับขุนนางฝ่ายสยาม แลรถสำหรับเจ้าพนักงานฮอลันดานั้น จะเดินข้างหลังทหารม้า ตามเสด็จเป็นแถวกันไปตามลำดับผู้ใหญ่ผู้น้อย แต่ทหารม้ามลายูหมู่หนึ่งนั้น เดินตามรถขุนนางฝ่ายสยามแลเจ้าพนักงานฮอลันดา

ข้อ ๒๒. สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะเสด็จลงจากรถที่โฮเต็ลเมื่อไร จะยิงปืนใหญ่ที่ป้อมชื่อปรินฟเรศริกสลุตคำนับ ๒๑ นัด ยิงปืนสลุต แล้วพวกทหารแตรกลองเป่าแตรตีกลองเป็นเพลงฮอลันดา แลเพลงสยามทำถวายเป็นคำนับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม

ข้อ ๒๓. รถที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะทรงมาโฮเต็ลนั้นจะมาตามถนนท้องสนาม ครั้นถึงโฮเต็ลลงจากรถแล้ว รถพระที่นั่งกับรถอื่นนั้นจะเดินออกไปตามถนนข้างป้อมปรินฟเรศริกคอยอยู่ที่นั้น กระบวนแห่เดินไปพ้นแล้ว รถนั้นกลับเข้ามาที่โฮเต็ลอีก

ข้อ ๒๔. สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม จะเสด็จเข้าไปในโฮเต็ลตามประตูทิศตะวันออก คอเวอนเนอเยเนราลกับเจ้าพนักงานที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๗ จะคอยพร้อมกันอยู่ในหอข้างในรับเสด็จ แลเจ้าพนักงานที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ ข้อ ๑๖ นั้น จะตามเสด็จเข้าไป แลพวกเสเกรตตารี จะเป็นเจ้าพนักงานนำเสด็จเข้ามาในที่คอเวอนเนอเยเนราล แลเจ้าพนักงานที่คอยรับเสด็จ

ข้อ ๒๕. สมีเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จเข้ามาในที่คอเวอนเนอเยเนราลกับเจ้าพนักงานคอยรับนั้นแล้ว คอเวอนเนอเยเนราลกราบทูลให้ทราบว่า มีความยินดีด้วยสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามได้เสด็จมาถึงเมืองเบตาเวียโดยดี ครั้นกราบทูลดังนั้นแล้ว คอเวอนเนอเยเนราลนำเจ้าพนักงาน ที่คอยรับเสด็จเข้าเฝ้ากราบทูลสำแดงชื่อให้ทรงทราบ แล้วเจ้าพนักงานกับผู้อื่นก็ลากลับออกไป เหลืออยู่แต่คอเวอนเนอเยเนราลกับขุนนางเจ้าพนักงานในคอเวอนเนอเยเนราล

ข้อ ๒๖. ขุนนางแลนายหหารทุกๆ นาย ต้องแต่งเต็มยศตามกำหนดกฎหมายทุก ๆ นาย แลขุนนางผู้น้อยที่ไม่มีเครื่องยศกับคนชาวฮอลันดาแต่งตัวสวมเสื้อดำ เอาผ้าขาวผูกคอแต่งให้งดงาม

ข้อ ๒๗. ครั้นคอเวอนเนอเยเนราลได้นำเจ้าพนักงานเข้าเฝ้าแล้วก็ลาออกไป ทหารม้า ทหารเดินเท้า ก็เลิกกลับไปที่อยู่

ข้อ ๒๘. เพื่อจะมิให้เกิดเหตุเมื่อเวลาเสด็จนั้น ได้มีคำห้ามมิให้ผู้ใดเดินรถ แลเดินเท้าตามถนนที่จะเสด็จ ตั้งแต่เวลาโมงเช้าจนเสด็จขึ้นประทับที่อยู่แล้ว รถทั้งปวงต้องเดินที่ถนนชื่อโคเวโนอิงซรารี ตามทางที่จะออกไปชื่อยากาตรา รถของพวกที่ทำถนนเหล็กสำหรับเดินรถนั้นต้องหยุดในเวลาห้ามนั้นเหมือนกัน หนังสือนี้คอเวอนเนอเยเนราลนิเทอแลนด์อินเดีย ให้เสเกรตตารีคอเวอนเมนต์ลงพิมพ์ประกาศออกวันที่ ๙ เดือนมาช คริสต์ศักราช ๑๘๗๑ ปีตรงกับวัน ค่ำ ๕ ๔ ปีมะเมียโทศก (พ.ศ. ๒๔๑๓)

1 เรื่องเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และเมืองเบตาเวียครั้งแรกนี้ ดูเรื่องราวที่ภาคผนวกเอกสาร หมายเลข ๓ หน้า ๑๕๗

  1. 1. เรื่องเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และเมืองเบตาเวียครั้งแรกนี้ ดูเรื่องราวที่ภาคผนวกเอกสาร หมายเลข ๓ หน้า ๑๕๗

  2. 2. ที่เรียกว่าเครื่องยศ คือแต่งยูนิฟอร์ม ผู้ที่ไปตามเสด็จคราวนั้นจัดเป็น ๒ พวก ที่ไปในกระบวนตามเสด็จติดพระองค์มีเครื่องแต่งตัวตามยศ นอกจากนั้นแต่งเครื่องปกติ เครื่องแต่งตัวตามยศตามเสด็จคราวนั้น ข้างฝ่ายพลเรือนใช้เสื้อปีกแพรสีน้ำเงินแก่ปักทองคอแลข้อมือ ขลิบทองหน้าอก คาดเข็มขัดนอกเสื้อ มีกระบี่ พลเรือนติดสายเข็มขัด นุ่งผ้าไหมสีน้ำเงินแก่ ถุงเท้าขาว รองเท้าหนังดำ หมวกเฮลเม็ดแพรขนสีดำ นายทหารแต่งเครื่องทหารมหาดเล็ก เสื้อปีกสีนกพิราบ คาดสายกระบี่ นุ่งผ้าไหมสีเดียวกัน ถุงเท้าขาว รองเท้าหนังดำ หมวกรูปทรงถัง

  3. 3. พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสงชูโต)

  4. 4. เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (โต มานิตยกุล)-เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต

  5. 5. เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ชาย บุนนาค) – พระยาประภากรวงศ์

  6. 6. เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) – พระยามนตรีสุริยวงศ์

  7. 7. นายราชาณัตยานุหาร (พร บุนนาค) – เจ้าพระยาภาสกรวงศ์

  8. 8. พระชลธารพินิจจัย (ฉุน ชลานุเคราะห์)

  9. 9. หลวงสิทธิ์นายเวร (ทับ ทรรพนันทน์) – พระอินทรเทพ

  10. 10. หลวงพิจารณ์จักรกิจ (เจิม อมาตยกุล) – พระยาเพ็ชรพิชัย

  11. 11. นายจ่ายอด (สมบุญ กัลยาณมิตร) – หลวงสิทธิ์นายเวร

  12. 12. หลวงวิสูตรสาครดิฐ (กัปตัน ยอนบุช) – พระยาวิสูตรสาครดิฐ

  13. 13. นายทุ้ย บุนนาค – พระยาราชานุประพันธ์

  14. 14. นายบุศย์ บุณยรัตพันธุ์ - พระยาอภัยรณฤทธิ์

  15. 15. นายดั่น อัมรานนท์ - พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์

  16. 16. นายเล็ก บุนนาค – หลวงศิลปสารสราวุธ

  17. 17. นายเจ๊ก จารุจินดา – พระยาเทพอรชุน

  18. 18. นายเจียม - - พรหมประสาทศิลป์ (พระ)

  19. 19. พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ์)

  20. 20. พระยาอมรสาตรประสิทธิ์ศิลป์ (รอด โรจนแพทย์) - พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี

  21. 21. พระพิบูลยโกษากร (เถียร โชติกะเสถียร) – พระยาโชฎึกราชเศรษฐี

  22. 22. หลวงราโชวาต (แก้ว) – พระยาสัมพาหบดี

  23. 23. ขุนสมุทโคจร (จู โชติกะเสถียร) – เจ้าหมื่นเสมอใจราช

  24. 24. นายวรกิจบรรหาร (เที่ยง ธุวะนุติ) - หลวงสิทธิ์นายเวร

  25. 25. นายพิจารณ์สรรพกิจ (สุ่น สาตรภัย) – พระยาอภัยพิพิธ

  26. 26. กรมพระราชวังบวรฯ มีหน้าที่ทรงทำการซ่อมแซมป้อมเมืองสมุทรปราการอยู่ในเวลานั้น จึงลงไปคอยส่งเสด็จที่เมืองสมุทรปราการ

  27. 27. จมื่นทิพเสนา (เอี่ยม อมาตยกุล) - พระยาประชุมประชานารถ

  28. 28. จมื่นราชามาตย์ (จุ้ย ภูมิรัตน) - พระยามหาเทพ

  29. 29. พระยาสมุทบุรานุรักษ์ (เนตร เนตรายน) - พระยาอรรคราชนารถภักดี

  30. 30. เวลานั้นตำแหน่งเจ้าเมืองสิงคโปร์ว่าง นายพันเอกแอนสันเป็นผู้รั้งราชการเมือง ที่ต้องเชิญเสด็จประทับอยู่ในเรือวัน ๑ ก่อน เพราะจัดการรับเสด็จไม่ทันนั้น เป็นด้วยสมัยนั้น โทรเลขในระหว่างเมืองสิงคโปร์กับกรุงเทพฯ ยังไม่มี ที่เมืองสิงคโปร์รู้ไม่ได้แน่ว่าจะเสด็จถึงวันไร

  31. 31. มิสเตอร์รีดคนนี้เป็นนายห้างใหญ่อยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ได้เคยเข้ามาเฝ้า ฯ แลเป็นที่ชอบพระอัธยาศัยพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  32. 32. ในสมัยนั้น ชื่อต่างๆหลายชื่อ เช่น ไปรษณีย์โทรเลขเป็นต้น ยังไม่เกิดขึ้นในภาษาไทย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ