- คำนำ
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งแรก รัชกาลที่ ๕
- จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ตอนแรกเสวยราชย์
- จดหมายเหตุเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์แลเมืองเบตาเวีย ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕
- หนังสือกำหนดการรับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามที่เมืองเบตาเวีย
- จดหมายเหตุของพระวรภัณฑ์พลากร
- ระยะทางเสด็จประพาสอินเดีย
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งหลัง รัชกาลที่ ๕
- ภาคผนวก ๑. (ก) เรื่อง กงสุลอังกฤษลดธง
- ภาคผนวก ๑. (ข) เรื่องอัฐปลอม
- ภาคผนวก ๑. (ค) เรื่อง เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม
- ภาคผนวก ๑. (ฆ) เรื่อง พวกจีนตั้วเฮีย
- ภาคผนวก ๒. (ก) เรื่อง สร้างวัดราชบพิธ
- ภาคผนวก ๒. (ข) เรื่อง สร้างพระรูป ๔ รัชกาล
- ภาคผนวก ๓. เรื่อง เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๑๕
- ภาคผนวก ๔. เรื่อง นักเรียนไทยไปศึกษา ณ ต่างประเทศ
- ภาคผนวก ๕. คำกราบบังคมทูลของท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
- ภาคผนวก ๖. (พระบรมราชโองการ)
- ภาคผนวก ๗. เรื่องเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน
- ภาคผนวก ๘. เรื่องการแต่งกายเข้าเฝ้า
ภาคผนวก ๑. (ก) เรื่อง กงสุลอังกฤษลดธง
เรื่องกงสุลอังกฤษลดธงนั้น ตัวกงสุลเยเนอราลอังกฤษชื่อน๊อกส์ (ทอมัส ยอช น๊อกส์) เวลานั้นไปยุโรปกลับมายังไม่ถึงกรุงเทพ ฯ ผู้รักษาการแทนชื่อ อาลบาสเตอร ที่เป็นผู้ตั้งวิวาท เกิดเหตุด้วยพวกเจ้าภาษีฝิ่น ซึ่งขึ้นอยู่ในเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ไปจับฝิ่นเถื่อนที่โรงก๊วนพวกงิ้วอยู่ริมวัดสัมพันธวงศ์เกิดต่อสู้กันไฟไหม้โรงก๊วน แล้วลุกลามไปไหม้ตึกที่พวกแขกในบังคับอังกฤษตั้งร้านขายของ ทรัพย์สินเสียไปเป็นอันมาก กงสุลอังกฤษหาว่าความเสียหายเกิดเพราะพวกเจ้าภาษีเผาโรงก๊วน จะให้ลงโทษและเรียกค่าเสียหายทดแทนให้พวกแขก ฝ่ายเจ้าภาษีฝิ่นแก้ว่าไฟไหม้เพราะพวกงิ้วจุดเผาโรงก๊วนเมื่อจะหนีออกทางหลังโรง เจ้าภาษีหาได้เผาโรงก๊วนไม่ กงสุลไม่เชื่อ จะให้รัฐบาลตั้งข้าหลวงไต่สวนด้วยกันกับกงสุลตามข้อสัญญาว่าด้วยคนในบังคับ ๒ ฝ่ายวิวาทกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่ยอม ว่ากรณีไม่ตรงกับข้อสัญญา เพราะเจ้าภาษีฝิ่นมิได้วิวาทกับแขกในบังคับอังกฤษ รับแต่จะให้เงินทดแทนพวกแขกเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่ไฟไหม้ กงสุลไม่ยอม จึ่งเกิดวิวาทกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (รู้ว่านายน๊อกส์กับนายอาลบาสเตอรไม่ชอบกันในส่วนตัว) โต้แย้งถ่วงเวลาไว้จนนายน๊อกส์กลับมาถึงแล้วพูดจากันฉันมิตรให้เห็นว่า ที่เอากรณีเล็กน้อยเพียงเท่านั้นเป็นเหตุให้เกิดวิวาทเฉพาะในเวลาบ้านเมืองกำลังฉุกเฉินด้วยเปลี่ยนรัชกาล จะเสียประโยชน์ของรัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่าย นายน๊อกส์เห็นชอบด้วยยอมถอนคดีนั้น ส่วนเรื่องลดธง นายอาลบาสเตอรชี้แจงว่าที่จริงนั้นเป็นด้วยเชือกชักธงขาด จึงมิได้ชักธงในวันที่เตรียมการต่อเชือก หาได้ลดธงในทางการเมืองไม่ แต่เมื่อแพ้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ นายอาลบาสเตอรก็ลาออกจากตำแหน่ง กลับไปยุโรป ฝ่ายแม่ทัพเรืออังกฤษ ณ เมืองฮ่องกง ได้รับหนังสือเรียกเรือรบ (สมัยนั้นประเทศไทยยังไม่มีโทรเลข ต้องเขียนหนังสือส่งไปตีโทรเลขที่สิงคโปร์) ยังไม่ทันทำอย่างไร ได้ข่าวว่าเปลี่ยนรัชกาลใหม่ในประเทศสยาม นายพลเรือเกปเปลจึงมาเอง พอทันช่วยงานบรมราชาภิเษก