ภาคผนวก ๗. เรื่องเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน

ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาเสด็จออกมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้านายและข้าราชการทั้งปวงล้วนแต่งเต็มยศใหญ่ ใส่เสื้อเยียระบับเข้มขาบกับเสื้อครุยหมอบเฝ้าอยู่เต็มทั้งท้องพระโรง พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับบนพระแห่น เมื่อเสนาบดีทูลถวายราชสมบัติตามประเพณีแล้ว โปรดให้อาลักษณ์อ่านประกาศว่า ประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าเช่นใช้มาแต่โบราณไม่สมควรกับสมัยของบ้านเมืองเสียแล้ว ให้เลิกประเพณีหมอบคลานเสีย เปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าและเคารพด้วยถวายคำนับต่อไป พออาลักษณ์อ่านประกาศจบ เหล่าข้าเฝ้านับแต่กรมพระราชวังบวร ฯ เป็นต้น บรรดาที่หมอบอยู่เต็มทั้งท้องพระโรงก็ลุกขึ้นยืนถวายคำนับพร้อมกัน ดูเหมือนกับเปลี่ยนฉากรูปภาพอย่างหนึ่งเป็นอย่างอื่นไปในทันที น่าพิศวงอย่างยิ่ง เวลานั้นตัวฉันอายุ ๑๒ ปี ยังไว้ผมจุก ได้เห็นยังจับใจไม่ลืมอยู่จนบัดนี้ เมื่อเสด็จขึ้นข้างในไปประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้านายและข้าราชการผู้หญิงเฝ้า ก็มีอ่านประกาศและลุกขึ้นยืนเฝ้า เปลี่ยนรูปภาพเหมือนอย่างข้างหน้าอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นอันเพิกถอนระเบียบการเข้าเฝ้าอย่างเก่าซึ่งเคยใช้มาหลายร้อยปี เปลี่ยนระเบียบใหม่ซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๕ แต่นั้นไป

(คัดจากประชุมบทละคอนดึกดำบรรพ ฉบับริบูรฒ์ พิมพ์ครั้งที่ ๓ ในงานศพเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ หน้า ๕๐ ตอนประวัติ)

ประกาศเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน

เราพระเจ้ากรุงสยาม ขอประกาษแก่พระบรมวงษานุวงษ แลเสนาบดีข้าธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยให้ทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่ได้รับบรมราชาภิเศกถวัลยราชสมบัติครองแผ่นดินมา ก็ได้ตั้งใจคิดการที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร ให้มีความศุขเจริญแห่งพระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งสมณชีพราหมณประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไป การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ไม่คิดจะให้มีแก่ชนทั้งหลาย ในพระราชอาณาจักรต่อไป ด้วยได้เหนแลทราบการว่า ในมหาประเทศต่าง ๆ ซึ่งเปนมหานครอันใหญ่ ในทิศตวันออกตวันตก ก็ได้เลิกเปลี่ยนธรรมเนียมนี้หมดทุกประเทศแล้ว การที่เขาได้พร้อมกันเลิกเปลี่ยนธรรมเนียม ที่หมอบคลานกราบไหว้นั้น ก็เพื่อจะให้เหนความดีที่จะไม่มีการกดขี่แก่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป บัดนี้บ้านเมืองประเทศเหล่านั้นก็มีความเจริญทุก ๆ เมืองโดยมาก ก็ในประเทศสยามนี้ ธรรมเนียมบ้านเมือง ที่เปนการกดขี่แก่กัน อันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้น มีอยู่อีกหลายอย่างหลายประการจะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนเสียบ้าง แต่จะให้แล้วไปในครั้งเดียวคราวเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องค่อยคิดเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ควรแก่การจะเปลี่ยนแปลงได้ บ้านเมืองจึงจะได้มีความเจริญสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแรงนัก ไม่เหนว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นจึ่งจะต้องละธรรมเนียมเดิมที่ถือว่าหมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย ให้เปลี่ยนอิริยาบถเปนยืนเปนเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเปนก้มศีศะ ก็ซึ่งให้เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ดังนี้ เพราะจะให้เหนเปนแน่ว่าจะไม่มีความกดขี่แก่กัน ในการที่ไม่เปนยุติธรรมอีกต่อไป ตั้งแต่นี้สืบไปพระบรมวงษานุวงษ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งจะเข้ามาในที่เฝ้าแห่งหนึ่งแห่งใดจงประพฤติตามข้อบัญญัติใหม่ซึ่งให้ยืนให้เดินนั้น เทอญ

ประกาศเลิกธรรมเนียมหมอบคลานเป็นโค้งศีรษะ

ศุภมัศดุ จุลศักราช ๑๒๓๕ กุกุฎสังวัสฉระกะติกะมาสะ กฤษณปักษพาระสีดิถีระวิวาระ ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเดจพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัฒ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตปรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราชปรมนารถบพิท พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมหัยสวรยพิมาน โดยสฐานอุตราภิมุข พระบรมราชวงษาณุวงษ แลท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย} ฝ่ายทหารพลเรือน} เฝ้าพร้อมกันโดยลำดับ จึ่งมีพระบรมราชโองการมาระพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ทรงประกาศแก่พระบรมราชวงษาณุวงษ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย} ให้ทราบว่า ตั้งแต่ได้ให้เสดจเถลิงถวัลราชสมบัติมา ก็ตั้งพระราชหฤๅไทยที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความศุกข์ความเจรีญแก่พระบรมราชวงษาณุวงษ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย} ทั้งสมณชีพราหมณ์ ประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไป การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ไม่อยากที่จะให้มีในบ้านเมืองต่อไป ด้วยได้ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ในมหาประเทศต่างๆ ซึ่งเปนมหานครอันใหญ่ในทิศตวันตกตวันออกในประเทศอาเซียนี้ ฝ่ายตวันออก คือเมืองจีน เมืองญวน เมืองยี่ปุ่น แลฝ่ายตวันตกคืออินเดีย แลเมืองที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายแลผู้ที่บันดาศักดิ์ ที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยามนั้น บัดนี้เมืองเหล่านั้น ก็ได้เลิกเปลี่ยนธรรมเนียนั้นเสียหมดทุกเมืองทุกประเทศด้วยกันแล้ว การที่เราได้พร้อมกันเลิกเปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้นเสีย ก็เพราะเพื่อจะให้เหนความดีที่จะไม่มีการกดขี่แก่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป ประเทศใดเมืองใดที่ได้ยกธรรมเนียมที่เปนธรรมเนียมกดขี่แก่กันเสียแล้ว ประเทศนั้นเมืองนั้นก็เหนว่ามีแต่ความเจริญมาด้วยกันทุก ๆ เมืองโดยมากแล้ว ก็ในประเทศสยามนี้ธรรมเนียมบ้านเมืองที่เปนการกดขี่แก่กันนั้น ก็ยังมีอยู่อีกหลายอย่างหลายประการ จะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนธรรมเนียมที่เปนการกดขี่แก่กันนั้นเสียบ้าง แต่การที่จะจัดผลัดเปลี่ยนธรรมเนียมจะให้แล้วไปในครั้งเดียวคราวเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องค่อยคิดเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ควรกับการที่จะเปลี่ยนแปลงได้ บ้านเมืองจึ่งจะได้มีความเจริญสมบูรณยิ่งขึ้นไป เหมือนกับประเทศใหญ่ที่ใกล้เคียงที่เขาได้มีความเจริญแล้ว แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันเรี่ยวแรงนัก ผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้นได้ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเวทนา เพราะที่จะให้ยศแก่ท่านผู้ใหญ่ ก็การทำยศที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้ ไม่ทรงเหนว่ามีประโยชน์กับบ้านกับเมือง}สิ่งหนึ่งสิ่งใด}เลย ผู้น้อยที่ต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ไห้ยศต่อท่านผู้ที่เปนใหญ่นั้น ก็ต้องทนลำบากอยู่จนสิ้นวาระของตนที่จะได้ออกมาพ้นท่านผู้ที่เปนใหญ่ ธรรมเนียมอันนี้และ เหนว่าเปนต้นแห่งการที่เปนการกดขี่แก่กันทั้งปวง เพราะฉนั้นจึ่งจะต้องละพระราชประเพณีเดิมที่หมอบคลาน ที่ถือว่าเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย เพราะทรงพระมหากรุณาที่จะให้ท่านทั้งหลายได้ความศุกข์ ไม่ต้องทนยากลำบากหมอบคลานเหมือนอย่างแต่ก่อน แลธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเปนยืนเปนเดีน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมแลกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเปนก้มสีสะ ธรรมเนียมที่ยืนที่เดีนแลก้มสีสะนี้ ใช้ได้เหมือนกับธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ ลางที่ท่านผู้ที่มีบันดาศักดิ์ ที่ชอบธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ตามธรรมเนียมเดิมเหนว่าดีนั้น จะมีความสงไสสนเท่ว่าการที่เปลี่ยนธรรมเนียมหมอบคลานให้ยืนให้เดีน} จะเปนการเจริญกับบ้านเมืองด้วยเหตุไร ก็ให้พึงรู้ว่าการที่เปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานให้ยืนให้เดีน}นั้น เพราะที่จะให้เหนเปนแน่ว่า จะไมมีการกดขี่แก่กันอีกต่อไป เมืองใดประเทศใดผู้ที่เปนใหญ่มิได้กระทำการกดขี่แก่ผู้น้อยแล้ว เมืองนั้นประเทศนั้นก็คงมีความเจริญเปนแน่ ตั้งแต่นี้สืบไปพระบรมราชวงษาณวงษแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย} ซึ่งจะเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในท้องพระโรงแลในที่เสดจออกแห่งหนึ่งแห่งใด} จงประพฤติตามพระราชบัญญัติที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดไว้เปนข้อบัญญัติสำหรับข้าราชการต่อไปจงทุกข้อทุกประการ จึ่งได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษสมันตพงษพิสุทธิ์ มหาบุรุศรัตโนดม ซึ่งได้สำเรจราชการแผ่นดิน ตั้งเปนข้อพระราชบัญญัติไว้สำรับแผ่นดินต่อไปดังนี้

พระราชบัญญัติ

ข้อ ๑ ว่า พระราชวงษาณุวงษแลข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน} ผู้ใหญ่ผู้น้อย}ทั้งปวง เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ในท้องพระโรงฤๅที่เสด็จออกแห่งใด ๆ ก็ดี เมื่อเดินเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งแล้ว ให้ก้มสีสะถวายคำนับครั้งหนึ่ง แล้วจึ่งเดินไปยื่นที่ตำแหน่งของตนเฝ้า เมื่อไปถึงที่ยืนเฝ้าแล้ว ให้ก้มสีสะถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง แล้วอื่นให้เปนปรกติให้เรียบร้อย ห้ามมิให้เดินไปเดินมา} แลยืนหันหน้าหันหลัง}ไปมาในเวลาที่เสดจออก แลมิให้ยืนเอามือไพล่หลังแลท้าวเอว แลเอามือไปท้าวผนังแลเสาฤๅที่ต่าง ๆ แลสูบบุรี่หัวเราะพูดแก่กันเสียงดัง ต่อหน้าพระที่นั่ง ให้ยืนเปนลำดับให้เรียบร้อย ตามบันดาศักดิ์ผู้ใหญ่ผู้น้อย} ถ้ามีราชการที่จะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ให้เดินออกมาจากที่เฝ้ายืนตรงหน้าพระที่นั่งก้มสีสะถวายคำนับแล้ว จึงกราบบังคมทูลพระกรุณา เมื่อสิ้นข้อความที่กราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ให้ก้มสีสะลงถวายคำนับ จึ่งให้เดินถอยหลังมาที่ยืนเฝ้าอยู่ตามเดิม ถ้าจะถวายหนังสือฤๅสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใด}ของเลกของไหญ่}ก็ดี ต่อพระหัถสมเดจพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ให้ถือสองมือเดินตรงเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งภอสมควร แล้วก้มสีสะลงถวายคำนับเสียก่อน จึ่งถวายของนั้นต่อพระหัถ ถ้าถวายของนั้นเสรจแล้วให้เดินถอยหลัง ถ้าเปนที่ใกล้ให้ถอยหลัง ๓ เก้า ฤๅ ๕ เก้าภอสมควร ถ้าเปนที่ไกลให้ถอยหลังออกมา ๗ เก้า จึ่งกลับหน้าเดินไปยืนตามที่ ถ้าจะมีพระบรมราชโองการดำรัสด้วยผู้หนึ่งผู้ใด}ที่ยืนอยู่ในที่เฝ้านั้น ก็ให้ผู้นั้นยืนคงอยู่ตามที่ ก้มสีสะถวายคำนับแล้ว จึ่งรับพระบรมราชโองการ เมื่อรับพระบรมราชโองการกราบบังคมทูลสิ้นข้อความแล้ว ก็ให้ก้มสีสะลงคำนับ อนึ่ง พระราชวงษาณุวงษแลข้าทูลลอองธุลีทระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย} ทั้งปวงที่ได้เข้ามายืนเฝ้าในเวลาที่เสดจออกอยู่นั้น ถ้ามีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานเก้าอี้ให้นั่งจึงนั่งได้ ห้ามมิให้นั่งลงกับพื้นแลนั่งบนเก้าอี้ฤๅนั่งที่แห่งใด ๆ ตามชอบใจในเวลาที่เสด็จออกต่อหน้าพระที่นั่ง แลผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้นั่งเก้าอี้เฝ้าอยู่นั้น นั่งให้เปนปรกติให้เรียบร้อย ห้ามมิให้ยกท้าวขึ้นรับบนเก้าอี้้แลไขว้ห้างเหยียด ท้วตะแคงตัวทำกิริยาหาความสบายให้เกินกิริยาทีนั่งเปนปรกติเปนอันขาษ เมื่อเวลาเสดจขึ้นก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับให้พร้อมกัน ถ้าแขกเมืองประเทศราชเมื่อจะเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ให้กระทำกิริยาคาระวะตามเพทบ้านเมืองของตนก่อน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้ขึ้นจึงยืนได้

ข้อ ๒ พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัว เสดจพระราชดำเนิรออกประทับอยู่ที่แห่งใด ๆ ก็ดี ข้าราชการแลมหาดเลกซึ่งเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทอยู่ในที่นั้น ถึงเสดจออกประทับอยู่ช้าหลายชั่วโมง ก็ห้ามมิให้ข้าราชการแลมหาดเลกที่ยืนเฝ้าอยู่นั้น นั่งลงในที่แห่งใด ๆ เปนอันขาษ ถ้าเว้นไว้แต่เปนที่กำบังลับพระเนตรสมเดจพระเจ้าอยู่หัวจึงนั่งได้ แลในเวลาที่เสดจออกทรงประทับอยู่ ณ ที่แห่งใดๆ นั้น ข้าราชการแลมหาดเลกยืนเฝ้าอยู่ไนที่โดยลำดับแล้ว ผู้ซึ่งจะเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทภายหลังที่มิได้มีราชการที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณา ห้ามมิให้เดินผ่านหน้าพระที่นั่ง และเดินผ่านหน้าข้าราชการที่ยืนเฝ้าอยู่ก่อนนั้น ให้เดินหลีกเลี่ยงเข้ายืนตามตำแหน่งของตนที่ควรจะยืน ถ้าเว้นไว้แต่ผู้ที่รับพระบรมราชโองการ จึงเดินผ่านหน้าเพื่อนข้าราชการไปมาได้

ข้อ ๓ สมเดจพระเจ้าอยู่หัวเสดจพระราชดำเนิรไปทางสถลมารค ข้าราชการแลราษฎรชายหญิง}ที่จะมาคอยดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนิรก็ดี จะทรงช้าง ม้า รถ} ฤๅจะทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใด}ก็ดี เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนิรมาถึงหน้าผู้ที่ยืนคอยดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนิรอยู่นั้น ให้คนเหล่านั้นก้มสีสะถวายคำนับจงทุกคนห้ามมิให้นั่งยืนดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนิรบนชานเรือน บนน่าต่างเรือน แลบนที่สูงที่ไม่ควรจะนั่งจะยืน} ถ้าทรงม้า รถ} ไม่มีกระบวนนำเสด็จตามเสดจพระราชดำเนิร ผู้ซึ่งอยู่บนเรือนแลอยู่บนที่สูงไม่ทันรู้ว่าเสด็จพระราชดำเนิร แต่ภอแลเหนว่าเปนรถพระที่นั่ง ฤๅม้าพระที่นั่งก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับ ห้ามมิให้นั่ง หมอบ}เปนอันขาษ แลในเวลาที่เสดจพระราชดำเนิรทรงช้าง ม้า รถ} ฤๅทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใด} มาในทางสถลมารถ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใด}ขี่ม้าฤๅไปบนรถภบปะกระบวนนำเสดจพระราชดำเนิรก็ให้หยุดม้า รถ} ริมทาง ถ้าเสดจมาถึงตรงหน้าแล้วให้ถอดหมวกก้มสีสะถวายคำนับอยู่บนรถ หลังม้า} ไม่ต้องลงจากรถ หลังม้า} ต่อเสด็จพระราชดำเนิรไปสิ้นกระบวนแล้ว จึ่งให้ออกเดินรถ ม้า} ต่อไป ฤๅเสด็จพระราชดำเนิรทางชลมารค ข้าราชการแลราษฎรชายหญิง} ที่อยู่แพอยู่เรือนริมน้ำ ให้ยืนขึ้นก้มสีสะถวายคำนับจงทุกคน ถ้ามาด้วยเรือภบปะกระบวนเสด็จพระราชดำเนิร ถ้าเรือเลกยืนไม่ได้ก็ให้ถอดหมวกก้มสีสะถวายคำนับในเรือไม่ต้องยืน ถ้าเปนเรือใหญ่ควรจะยืนได้ก็ให้ยืนขึ้นคำนับตามธรรมเนียม

ข้อ ๔ ข้าราชการเมื่อจะเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง แลจะออกจากพระบรมมหาราชวัง ฤๅจะไปกิจธุระแห่งหนึ่งแห่งใด}ก็ดี ถ้าภบปะท่านผู้มีบันดาศักดิ์ที่ได้เคยกระทำคำนับยำเกรงตามธรรมเนียมเก่าฉันใด ก็ให้กระทำคำนับยำเกรงอย่างธรรมเนียมใหม่ให้เหมือนกัน ธรรมเนียมที่อื่นเหมือนกับนั่ง หมอบ} ธรรมเนียมที่เปิดหมวกก้มสีสะเหมือนกับกราบไหว้อย่างแต่ก่อนนั้น ถ้าผู้หญิงจะไปในที่เฝ้าแลภบปะท่านผู้ใหญ่ ไม่ต้องเปิดหมวกเปนแต่ก้มสีสะลงคำนับ เมื่อกระทำคำนับแล้ว หมวกนั้นจะเปิดก็ได้ไม่เปิดก็ได้ แลผู้คนข้าทาษที่ใช้สอยอยู่ในบ้านเรือนนั้นก็อย่าให้ท่านผู้ที่เปนเจ้าเปนนาย}บังคับให้ข้าทาษหมอบคลาน ให้บังคับให้ข้าทาษไช้ยืนไช้เดิรตามพระราชบัญญัติ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งไว้นี้ ให้พระบรมราชวงษาณุวงษ ข้าราชการฝ่าย{ทหารพลเรือน {ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวรสถานมงคล ให้กระทำตามพระราชบัญญัติประกาศนี้จงทุกประการ

ประกาศมา ณ วัน ๑๒ ค่ำ ปีรกา เบญจศก ฯ

  1. 1. คัดจากสมุดไทย หมู่จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๕ เรื่องประกาศเลิกธรรมเนียมหมอบคลานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เลขที่ ๒๔๕๔ ได้จากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

  2. 2. คัดจากสมุดไทย หมู่จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๕ เรื่องประกาศใช้พระราชบัญญัติ เลิกธรรมเนียมการหมอบคลานเป็นโค้งศรีษะ เลขที่ ๑๒๗๒ จุลศักราช ๑๒๓๕ (พ.ศ. ๒๔๑๖) เป็นสมบัติเก่าของหอพระสมุดฯ เล่ม ๕๖/๒๙

  3. 3. ๑ ๑๒ ๑๒ ปีระกา จ.ศ. ๑๒๓๕ – วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๑๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ