คำวิจารณ์....“ข้างหลังภาพ”
ข้าพเจ้าจะเป็นบุคคลคนแรกก็ได้ ที่ได้รับเกียรติยศอ่านบทประพันธ์เรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของ “ศรีบูรพา” ในขณะที่ขัดเกลาเปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว กล่าวคือ ข้าพเจ้าได้อ่านบทประพันธ์เรื่องนี้โดยละเอียดในตอนที่หนึ่ง ซึ่งผู้ประพันธ์ได้นำมาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นในการรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งใหม่แต่ยังเป็นต้นร่าง ได้อ่านอย่างพินิจพิจารณาเป็นที่สุด และอย่างที่ได้พยายามเก็บแนวการประพันธ์เรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบที่สุด
ข้าพเจ้าขอน้อมรับคำเชิญของท่านบรรณาธิการที่ขอให้เขียนวิจารณ์เรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้ด้วยความยินดี ยินดีที่จะได้มีโอกาสบรรยายถึงความรู้สึกนึกคิดของข้าพเจ้าโดยตรงในบทประพันธ์ที่ข้าพเจ้า และอีกหลายร้อยคนได้ให้ความสนใจมาแล้วอย่างยิ่งในตอนที่หนึ่ง ที่ได้นำลงพิมพ์ไว้เพียงนั้นในหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายวัน ระหว่างเดือนธันวาคมกับมกราคม ปีที่แล้ว.
งานวิจารณ์เป็นงานใหม่ของข้าพเจ้า แต่เมื่องานใหม่ชิ้นนี้เป็นงานใหม่ที่ชอบใจแล้ว ข้าพเจ้าก็พอใจที่จะรับทำด้วยความเต็มใจ และเริ่มเขียนหน้าวรรณคดีวิจารณ์นี้ขึ้นด้วยการหยิบยกบทประพันธ์ที่ข้าพเจ้าชอบใจอยู่เป็นอย่างมากแล้วเหมือนกันเช่นนี้ขึ้นพิจารณา สอบความหมายความเข้าใจในเรื่องราวทั้งหมด สืบต้นสายปลายเหตุของเรื่องให้ประจักษ์แจ้งชัดในวงของผู้พึงอ่านบทประพันธ์ชนิดโนเวลเช่นนี้โดยทั่วถึง ข้าพเจ้าไม่ได้เขียนบทความนี้ในหน้าที่ของ “คริติค” เพราะคริติคนั้นอยู่ในขีดผู้ชี้ผิดชี้ชอบ ซึ่งถ้าจะแปลตามรูปศัพท์กรีกเดิมแล้ว ก็ได้แก่ผู้พิพากษ์โดยตรง ผู้พิพากษ์ย่อมไม่ใช่ผู้วิจารณ์ ในฐานะที่เป็นแต่เพียงผู้เยาว์ ข้าพเจ้าไม่บังอาจที่จะก้าวสูงขึ้นไปจนถึงขั้นผู้ชี้ผิดชี้ชอบเช่นนั้นได้ ข้าพเจ้าไม่อาจหาญพอที่จะเลือกเอา “ข้างหลังภาพ” ขึ้นมาเพ่งเล็งในฐานะของผู้พิพากษ์ได้ เพราะฐานะของผู้พิพากษ์ย่อมเป็นฐานะที่ถึงได้ยาก เป็นฐานะที่อยู่เหนืออาร์ติสต์ทั้งปวง ผู้พิพากษ์หรือคริติคนี้จึงรวมเข้ากับอาร์ติสต์ได้ยากที่สุด เพราะอาร์ติสต์ย่อมมีวิถีทางไปตามแนวของตัวโดยเฉพาะ ไม่ผยองความสามารถอาจหาญของตนขึ้นไปเทียบเท่ากับคริติค ท่านอาจารย์ ม.จ. วรรณ ไวทยากรฯ ได้ตรัสไว้ว่า “ผู้พิพากษาชี้ผิดชอบในอรรถคดีฉันใด ผู้พิพากษ์ก็ชี้ผิดชี้ชอบในวรรณคดีฉันนั้น.”
ได้กล่าวแล้วว่า ข้าพเจ้าจะขอเชิดชู “ข้างหลังภาพ” ขึ้นพิจารณาในกรอบแต่เพียงเป็นผู้วิจารณ์ผู้หนึ่ง เป็นการเชิดชูที่ผู้ใฝ่ใจในความสวยสดงดงามของศิลปะทั้งหลายจะพึงให้ได้แก่ผู้สร้างศิลปะนั้น ๆ ข้าพเจ้ามอง “ศรีบูรพา” ในเหลี่ยมนี้ ไม่นอกเหนือออกไปจากเขตที่หลักการวิจารณ์จะพึ่งอนุญาตให้ไม่เพ่งไปในทางที่ “ศรีบูรพา” จะเป็นผู้สนิทชิดชอบกับข้าพเจ้าเป็นส่วนตัวแล้วเขียนวิจารณ์กันไปโดยฉันทาคติ ข้าพเจ้าได้ตั้งปณิธานไว้แล้วว่า จะขอพิจารณา “ข้างหลังภาพ” ด้วยความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยถือไปตามแนวที่ “ข้างหลังภาพ” เป็นวรรณกรรมชิ้นหนึ่งที่นักประพันธ์ผู้หนึ่งได้ใช้ความสวยงามที่บังเกิดจากความฝันของเขา ผูกประพันธ์ร้อยกรองขึ้นไว้ด้วยความรอบคอบระมัดระวังอย่างวิจิตรพิสดาร เป็นออริจินัลเวอร์คที่บริสุทธิ์ผุดผ่องของเขาแท้จริง ข้าพเจ้าจะพิจารณา “ข้างหลังภาพ” ไปตามแนวนี้ และโดยความยุติธรรมอย่างนี้.
ในขณะที่จะลงมือวิจารณ์เรื่อง “ข้างหลังภาพ” ข้าพเจ้าได้อ่านเอาเรื่องจากบทประพันธ์เรื่องนี้อีก ๒-๓ ตลบ โดยเลือกอ่านจากตอนที่ข้าพเจ้าผูกใจจดจ่ออยู่อย่างมากที่สุดในคราวที่อ่านตอนแรก และจดจำเหตุผลเรื่องราวทั้งหมดไว้ในสมองหนึ่งคืนเต็มก่อนจะลงมือเขียน แล้วจึงได้เขียนบทวิจารณ์บทนี้ขึ้นด้วยความสดชื่นเบิกบานใจอย่างแปลก ด้วยความที่รู้สึกโปร่งสมองในขณะที่ใช้ความตรองในการวิจารณ์เรื่องนี้ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินและผ่องแผ้วในอารมณ์อย่างประหลาดมหัศจรรย์ที่สุด.
ข้าพเจ้าจำได้ดีว่า ได้เคยมีความรู้สึกดีในเมื่อได้อ่านบทประพันธ์จบลงดังนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง คือในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” โดยฝีปากหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง. ชีวิตที่ผ่านความระทดสลดเศร้า ของวิสูตร และมาเรีย เกรย์ ในเรื่องนั้น ไม่ลืมเลือนไปจากความทรงจำของข้าพเจ้าได้จนบัดนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความงามประการที่สำคัญอันเป็นอาภรณ์ประดับ “ละครแห่งชีวิต” นั้นไม่ได้อยู่แต่ที่วิญญาณของวิสูตรหรือมาเรีย เกรย์เท่านั้น หากอยู่ที่เซตติงของเรื่องเป็นส่วนมาก หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงได้ทรงสร้างเซตติงขึ้นได้สวยงามอย่างน่าชมเชยที่สุด เป็นฉากที่สดชื่นอ่อนหวานทั้งภายในและภายนอกประเทศสยาม ชีวิตในตอนที่สำคัญที่สุดของตัวเอกไม่ได้อยู่ภายในสยาม แต่ไปอยู่นอกสยาม ความสำคัญของเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” นั้นอยู่ที่การบรรยายถึงชีวิตภายนอกประเทศสยามได้อย่างชัดเจน ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า “ละครแห่งชีวิต” มีราคาขึ้นด้วยเซตติงอย่างมากมายในยุคนั้น และนี่ก็เป็นความจริง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้อ่าน “ละครแห่งชีวิต” ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ตื่นใจในเซตติงของบทประพันธ์มากกว่าที่จะเข้าใจในชีวิตอันเป็นไอเดียลลิสต์ของวิสูตร โดยถ่องแท้ เช่นเดียวกับที่คนเมืองนอกเคยตื่นใจเรื่องทุกเรื่องที่เป็นบทประพันธ์ของ รัดยาร์ดคิปปลิง ก็โดยที่คิปปลิงตั้งเซตติ้งของเรื่องเกือบทุกเรื่องขึ้นในอินเดีย คนมักแสวงสิ่งใหม่ ต้องการที่จะได้พบแต่สิ่งแวดล้อมแปลก ๆ ใหม่ ๆ หรือสถานที่งดงามที่ตนหาโอกาสพบเห็นได้ยาก ดังนั้นเซตติงที่แปลกและใหม่จึงเป็นอาภรณ์สำคัญประการหนึ่งของบทประพันธ์ที่งดงามดังนี้.
“ข้างหลังภาพ” เปิดฉากตอนที่หนึ่งทั้งตอนขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ในท่ามกลางความสดชื่นรื่นรมย์ของไมตรีจิตมิตรภาพที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ในท่ามกลางกลิ่นไอที่หอมฟุ้งจรุงใจประสมกับสีสันวรรณะที่งดงามของดอกไม้ญี่ปุ่นนานาชนิด ผู้อ่านทุกคนจะสังเกตได้ว่า “ศรีบูรพา” ได้ร้อยกรองข้อความตลอดเรื่องในตอนนี้ขึ้นอย่างประณีตบรรจงเป็นที่สุด ได้พรรณนาถึงสภาพธรรมชาติที่อ่อนหวานนุ่มนวลไว้อย่างวิจิตรพิสดาร เช่นเล่าถึง ความสวยงามในเวลาค่ำคืนที่กามากูระ-เมืองชายทะเล สถานที่มีลมเย็นโกรกอยู่เรื่อย ๆ มีลูกคลื่นฟอกหาดสาดหินโดยไม่ขาดระยะ และมีดวงดาวที่พราวดาษอยู่เต็มฟ้า หรือที่ มิตาเกะ-เมืองที่งามไปด้วยธรรมชาติแวดล้อม มีลำธารที่กว้างใหญ่ “ซึ่งมีน้ำใสสะอาดจนสามารถจะแลเห็นก้อนหินตะปุ่มตะป่าอยู่ภายใต้พื้นน้ำ” หรือที่เล่าตลอดไปถึง ชีวิตการสมาคมในประเทศญี่ปุ่น และความเป็นอยู่โดยทั่วไปของประชาชนพลเมืองญี่ปุ่นอย่างละเอียดนั้นแล้ว เช่นนี้-ข้าพเจ้าขอยืนยัน ยืนยันโดยความยินดีด้วย “ศรีบูรพา” ทีเดียว ว่าผู้ประพันธ์ได้สร้างเซตติงขึ้นเป็นอาภรณ์ประดับบทประพันธ์เรื่องนี้ด้วยความตระการเพียบพร้อมจริง ๆ.
พูดถึงการสร้างเนื้อเรื่องแล้ว ความเรียงในการบรรยายไม่ลักลั่น เริ่มแต่เมื่อพระยาอธิการบดีพาหม่อมราชวงศ์กีรติผู้ภรรยาไปฮันนีมูน เมื่อต้นเรื่องตลอดไปจนจบนั้น นับว่าผู้ประพันธ์ได้วางไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยดียิ่ง โวหารในการผูกประพันธ์กลมกลืน การเรียงระดับเรื่องราวต่อเนื่องกันดี ได้นำพาให้ผู้อ่านอยู่ในระดับแอทโมสเฟียร์ที่ดีงามจนจบเรื่อง
ว่าโดยลักษณะตัวละครในเรื่อง “ศรีบูรพา” ได้ทำความงวยงงสงสัยให้แก่ผู้อ่านอย่างมากมาย ในการสร้างหม่อมราชวงศ์กีรติขึ้นในเรื่องนี้ คาแรคเตอร์ของหญิงสาวผู้นี้ได้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นอย่างสูง เป็นสตรีที่เป็นไอเดียลลิสต์อย่างแท้จริง ความรอบคอบเยือกเย็นสุภาพเรียบร้อย อ่อนหวานในวงการสมาคม ซื่อสัตย์กตัญญูและคุณงามความดีอีกหลายอย่างหลายประการ ยกเป็นคุณสมบัติของสตรีผู้นี้ทั้งสิ้น. หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นสุภาพสตรีที่ “ศรีบูรพา” ได้ใช้ความคิดฝันของเขาไปในทางที่เป็นมงคลอันเจริญ ยิ่งเสียกว่า “เพลิน” ของ “ศรีบูรพา” ในเรื่อง “สงครามชีวิต” ยิ่งเสียกว่าสตรีใด ๆ ทุกผู้ทุกคน ในการที่ได้ระทมทุกข์บำรุงสุขอยู่ชั่วกาลเวลาเช่นนี้ ยากที่จะหาใครเทียบกับหม่อมราชวงศ์กีรติ.
ในความที่เป็นผู้อยู่ในความคุ้มครอง ป้องปัก ภายใต้จารีตประเพณีอย่างกวดขันของท่านพ่อ หญิงที่สาวที่สุดและสวยที่สุดทั้ง ๆ ที่มีอายุแท้จริงย่างเข้า ๓๕ ปีผู้นี้ จำต้องแต่งงานไปกับพระยาคนหนึ่งซึ่งอยู่ในพุ่มชรา แต่งไปด้วยความพิศวงสงสัยอย่างที่อยากจะรู้จักกับความรักอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นที่สุด แต่แล้วก็ไม่ได้พบได้เห็นจนแล้วจนรอด ตราบกระทั่งมีผู้ชายอีกคนหนึ่งผ่านเข้ามาในชีวิตของเธอ.
นพพร เป็นชายหนุ่มที่ถูกสร้างขึ้นอย่างประณีตพิสดารไม่น้อยไปกว่าหม่อมราชวงศ์กีรติ เป็นแบบอย่างของชายหนุ่มในวัย ๒๒ ปีที่น่ารักน่าเอ็นดู มีความรู้สึกนึกคิดที่ดีงามในการครองตัว มีจรรยามารยาทที่เรียบร้อยน่าชื่นชม มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสมบัติของลูกผู้ชาย เช่นนั้น เป็นคุณสมบัติของ “นพพร” บุคคลที่ได้กำเนิดขึ้นจากปลายปากกา “ศรีบูรพา”.
เพราะเหตุที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยริคเคียว และเพราะเหตุที่บิดาเป็นมิตรกับเจ้าคุณอธิการบดีมาก่อน นพพรต้องรับหน้าที่เป็นผู้ต้อนรับขับสู้จัดหาที่ทางให้เจ้าคุณเฒ่าและหญิงสาวตลอดเวลาที่อยู่ในญี่ปุ่นนี้ และด้วยความที่เป็นคนดีอยู่แล้วประการหนึ่ง ประกอบกับความที่เคยมักคุ้นกับท่านเจ้าคุณอธิการบดีผู้มีใจดีประดุจพระประการหนึ่ง นพพรจึงได้พลอยสนิทสนมกลมเกลียวไปกับคุณหญิงอธิการบดีสาว หม่อมราชวงศ์กีรติ ผู้มีรูปโฉมโนมพรรณงดงามเสมือนแม่พระนั้นไปด้วย.
ความเรียงของเรื่องได้ดำเนินไปอย่างเรียบ ๆ สุขุม และสมเหตุสมผล ทุก ๆ ระยะเวลาที่ไมตรีจิตมิตรภาพของนพพร และหม่อมราชวงศ์กีรติ ได้เจริญงอกงามขึ้นไปทีละเล็กละน้อย จากการที่มีจิตใจคารวะในกันจนถึงขั้นของความเป็นมิตรไมตรี “ศรีบูรพา” ได้เดินเรื่องไปอย่างเรียบร้อยไม่เร่งรัด และไม่แอบเสอร์ด.
การที่มีโอกาสใกล้ชิดสนิทสนมกันยิ่งขึ้นไปเป็นลำดับนี้ ย่อมนำพาให้ความรู้สึกนึกฝันของชายหนุ่มอายุ ๒๒ ปี อย่างนพพร คาดไกลไหวหวั่นไปได้บ้าง และไม่เป็นปัญหาในเรื่องที่นพพรจะรู้สึกนึกรักในหม่อมราชวงศ์กีรติ ในมรรยาทอันแช่มช้อยน่ารักซึ่งเป็นความดีพิเศษของเธอ เช่นเดียวกับชายหนุ่มในวัยนี้ทุกคนจะพึงมีจิตใจไหวหวั่นไปในคุณงามความดีของสตรีที่ชอบชิดสนิทสนมของเขา จนบังเกิดความรักขึ้นได้ในท้ายที่สุด.
ข้อความทุกบททุกตอนที่สำแดงถึงความเฉลียวฉลาดของหม่อมราชวงศ์กีรติก็ดี ความสุภาพเรียบร้อยและความมีใจสูงของนพพรก็ดี ผู้ประพันธ์ได้วาดไว้ด้วยเหตุผลอันละเอียดอ่อนไม่รู่วาม ค่อยเป็นค่อยไป จนถึงขั้นของความเป็นมิตรสนิทสนมกันในบั้นปลาย นพพรกับหม่อมราชวงศ์กีรติได้ใช้ชีวิตอยู่ใกล้กันเกือบตลอดเรื่อง.
ในฐานที่เป็นผู้อาภัพอับรักมาตลอดในวัย ๓๕ ปี และในฐานที่ไม่เคยประสบพบรักที่อ่อนหวานสดชื่นเลยตลอดเวลา ๒๒ ปี ที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ทั้งคู่หม่อมราชวงศ์กีรติกับนพพรอดที่จะมีน้ำใจดีต่อกัน ด้วยความเห็นอกเห็นใจนั้นไม่ได้ ดังนั้นขณะที่อยู่ด้วยกันสองต่อสองบนเนินเขามิตาเกะ ที่อุดมไปด้วยธารน้ำใสไหลระรื่น ที่เต็มไปด้วยหินตะปุ่มตะป่ำสวยงามภายใต้พื้นน้ำ ที่สะพรั่งไปด้วยพรรณไม้กลิ่นหอมและสีสวย และเป็นที่ ๆ ห่างไกลจากผู้คนนั้น ความรักของนพพรก็ระเบิดขึ้น.
หม่อมราชวงศ์กีรติไม่ได้สะดุ้งตกใจในความเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดน่ากลัวของนพพรเช่นนั้นเลย สุภาพสตรีที่สูงด้วยอุดมคติผู้นี้ได้ปรามไว้ด้วยกิริยาสงบ. ด้วยเหตุผลหว่านล้อมถึงศีลธรรมประเพณี และก็ด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วยเหตุผลเหล่านี้ที่ระงับเหตุผลในเรื่อง “ความรัก” ของนพพรให้สงบระงับลงได้ ผู้ประพันธ์ได้ปลูกเหตุผลให้ตัวละครทั้งสองในตอนนี้ได้แยบคายเป็นที่น่าชมเชย ทุกข้อความที่อภิปรายขัดแย้ง ทั้งนพพรและหม่อมราชวงศ์กีรติต่างเต็มไปด้วยเหตุผล สมบูรณ์ด้วยการบรรยายอีโมชั่นของวิญญาณนพพร กับหม่อมราชวงศ์กีรติอย่างซาบซึ้งจับใจ.
เหตุการณ์บนเนินเขามิตาเกะ คือหัวใจของเรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้ โดยที่นอกจากจะเป็นเรื่องราวตอนสำคัญที่สุดแล้ว. ยังเป็นชนวนที่ให้ชื่อเรื่องประโลมใจเรื่องนี้ว่า “ข้างหลังภาพ” อีก ตามอนุสนธิสืบเนื่องมาจากบทนำตอนแรกที่นพพรพิจารณาดูรูปภูเขามิตาเกะ แล้วจึงหวนรำลึกนึกไปถึงเรื่องราวบนเนินเขามิตาเกะเรื่องของภาพคนสองคนในรูปวาดด้วยสีน้ำรูปนั้น ซึ่งคนหนึ่งในจำนวนสองคนนั้น นพพรสามารถแลเห็นได้ “แม้จนกระทั่งขนตาอันยาวงอน และจนกระทั่งรูปสามเหลี่ยมสีแดงสดใส 3 รูป ที่ได้วางไว้บนริมฝีปากจนทำให้ความบางของริมฝีปากนั้นมีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด.”
ที่มิตาเกะ ทำให้กีรติเข้าใจนพพรอย่างทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว แต่นพพรเพียงแต่เข้าใจกีรติดีขึ้นกว่าเดิม หาได้เข้าใจทะลุปรุโปร่งไปเช่นนั้นไม่ ความกลัดกลุ้มรุมใจที่ทำให้นพพรเวียนระไวไปสู่หม่อมราชวงศ์กีรติเพื่อขอเข้าใจความแน่ชัดขึ้นอีกนั้น ผู้ประพันธ์ได้วางอีโมชั่นไว้อย่างหรู เชื่อแน่ว่าผู้อ่านทุกคนจะต้องชมเชย “ศรีบูรพา” ในการบรรยายอีโมชั่นของนพพรและหม่อมราชวงศ์กีรติจนตลอดเรื่อง.
หม่อมราชวงศ์กีรติต้องจากนพพรมาสยาม เป็นการลาจากกันอย่างรำลึกนึกถึงกันเป็นที่สุด เป็นการลาจากกันโดยที่ฝ่ายหนึ่งยังไม่เข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งแจ่มแจ้ง กีรติบอกนพพรแต่เพียงว่า “ฉันเป็นเพื่อนตายของเธอ” แม้จนนาทีสุดท้ายที่เรือจะออก นพพรได้ถามหม่อมราชวงศ์กีรติด้วยคำถาม ที่ได้เฝ้าถามอยู่หลายหนแล้ว แต่ไม่ได้รับทราบคำตอบ “คุณหญิงรักผมไหม?” หม่อมราชวงศ์กีรติตอบเขาแต่เพียงว่า “รีบลงไปเถอะนพพร รีบไปเสีย ฉันแทบใจจะขาด.”
“ศรีบูรพา” จบข้อความตอนหนึ่งเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ลงเพียงนี้ ลงเพียงที่หม่อมราชวงศ์กีรติกลับสยามกับพระยาอธิการบดีผู้สามี ลงเพียงที่นพพรไม่ได้ยินคำรักจากหม่อมราชวงศ์กีรติเลยจนคำเดียว เป็นการจบที่ทิ้งแง่ไว้อย่างแยบคาย ชนิดที่จะหาช่องทางตำหนิติเตียนได้ยากอย่างที่สุด.
ตลอดเรื่องที่อ่านมา “ศรีบูรพา” เขียนขึ้นอย่างระมัดระวัง อย่างที่ไม่จำเพาะแต่ผู้วิจารณ์เช่นข้าพเจ้า แม้จนผู้พิพากษ์เรื่องโนเวลที่ช่ำชอง ก็ยังยากที่จะหยิบยกแง่บกพร่องขึ้นตำหนิได้โดยปราศจากอติมาน. ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาที่จะว่าผู้ประพันธ์ในการที่สร้างหม่อมราชวงศ์กีรติขึ้นด้วยความสมบูรณ์ในอุดมคติเป็นอย่างสูง ซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ในปุถุชนคนธรรมดา เพราะเหตุการณ์รอบชีวิตหม่อมราชวงศ์กีรติที่เป็นมานั้นได้อนุโลมไว้แล้วในข้อนี้ นักประพันธ์ย่อมมีโอกาสที่จะใช้ความนึกฝันอย่างไกลยิ่ง และย่อมมีเสรีในความนึกฝันอย่างไม่มีขอบเขตอันเป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน ข้าพเจ้าไม่บังควรที่จะปรักปรำเอาว่า ความฝันของ “ศรีบูรพา” จะเป็นเครื่องทำให้เรื่องแอบเสอร์ด.
ตอนที่หนึ่งทั้งตอนของ “ข้างหลังภาพ” งดงามมาจนตลอดเรื่องเช่นนี้แล้ว ขอให้เราคาดฝันกันเถิดว่า การดำเนินเรื่องในตอนที่สองก็คงจะงดงามอย่างตอนที่หนึ่งเหมือนกัน เราจะได้พบชีวิตของหม่อมราชวงศ์กีรติกับนพพรในสยามอีกครั้งหนึ่ง ผู้ประพันธ์คงจะดำเนินเรื่องอย่างหรูและระมัดระวังอย่างจริงจังตามเคย สไตล์ในการประพันธ์ตอนที่สองคงจะไม่บกพร่องหรือลดหย่อนอ่อนไปจากตอนที่หนึ่งอย่างไร. ข้าพเจ้าหวังเช่นนั้น และเชื่อเหลือเกินว่า “ศรีบูรพา” จะไม่ทำให้ข้าพเจ้าเสียความมุ่งหวังอันนั้น.
สมจิตต์ ศิกษมัต
๕ ธันวาคม ๒๔๘๑
(คำวิจารณ์เรื่อง “ข้างหลังภาพ” จากบุคคลคนแรกที่ได้อ่าน ตีพิมพ์ในหนังสือ “มหาวิทยาลัย” ของจุฬา ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๑๖ ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๘๑)