๗๐

โตสารี

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม

เวลา ๔ โมงเช้าขึ้นม้าไปทางนาดิโวโน ขึ้นเขาไปอยู่ข้างชันติ้ว แล้วลงเขาอย่างชันติ้วจนถึงลำธาร แล้วกลับขึ้นเขาอีก คราวนี้ขึ้นหลังคาวัดพระแก้วลงหลังคาวัดพระแก้วแท้ ผ่านบ้านตำบลหนึ่งแล้ว จึงมาบรรจบเอ็นหว่างเขาต่อเขา ซึ่งแลเห็นน้ำพุเมื่อขาขึ้นมา หยุดพักอยู่ที่หลังเขาแห่งหนึ่งราษฎรมานั่งอยู่ตามเหล่านั้นมาก ไล่เลียงถึงอาหาร ว่ากินเข้านาแห้งไม่ต้องอาศรัยน้ำ แต่ปนกับเข้าโภช กับเข้าใช้ปลาเค็มเนื้อโค พริกปลูกได้น่าเดือน ๑๒ เดือนอ้าย เดือน ๔ เปนพริกนกแลพริกเทศแต่อย่างเผ็ด ตามบ้านทุก ๆ บ้านต้องปลูกเปนหอคอยสูง ๆ ไม่มีฝามีแต่หลังคาเล็ก ๆ สำหรับแขวนเข้าโภชไว้ให้คอนโทรเลอมาตรวจ ว่าอาหารจะพอกินตลอดปีหรือไม่ ถ้าบ้านเราทำเช่นนั้นแล้วถูกฝนแดดแลน้ำค้างได้ราผุกันเร็วไม่ได้กินเลย แต่ที่นั้นเขาว่าเก็บดีกว่าอย่างอื่น แห้งป่นเปนแป้งง่าย การที่นั่งเล่นนั้นใช่ว่านั่งในร่ม นั่งกลางแจ้งกำลังเที่ยง ดูกำลังสบายดีทีเดียว กลับมาที่โฮเต็ลเวลาเที่ยงนาน เก็บลูกสตอเบอรี่ได้ตามทาง เมื่อมาถึงโฮเต็ลเรสิเดนต์เอาลูกปีชมาให้ เปนลูกไม้ที่ซื้อขายกันอยู่ในที่นี้ ราคากระทอละกิลเดอหนึ่ง ต่อลงไปอีกก็ได้ เวลาเย็นเดิรไปกับรเด่นมาสริเยนต์ ขึ้นเขาอีกเขาหนึ่งอยู่น่าโฮเต็ลข้อนจะอยู่ข้างกันดารเพราะเขาชันต้องขึ้นโดยแรงเหนื่อยเต็มทนทีเดียว ถึงเหงื่อออกนิด ๆ ไปกินน้ำชาบนนั้นพูดกันกับรเด่นมาสเรื่องเมืองโซโล วันนี้พวกที่อยู่โฮเต็ลด้วยกันนี้มาหาพร้อมกัน มีกงสุลสวิเดนคนหนึ่ง เปนคนเจ็บอาการมากขึ้นมารักษาตัว หมอให้กินแต่นมวัวมาเดือนหนึ่งแล้ว เดี๋ยวนี้ฟื้นขึ้นพอกินอาหารอื่นได้บ้าง แต่ยังโรเรอยู่ มีทหารบ้าง เจ้าของไร่กาแฟบ้าง ทั้งผู้หญิงผู้ชายเกือบ ๒๐ คน รับรองกันอย่างเพื่อนฝูงดูสนุกสนานดี อยู่ที่นี่กินเข้ากับเรสิเดนต์ทุกวัน เวลาไปตามทางได้สนทนากับคอนโทรเลอ เมื่อแรกก็พูดอังกฤษเรื่อยดีอยู่ พอรู้ว่าหมอไรเตอร์พูดเฟลมิชได้เลยไปจ้ำให้ตาหมอเปนล่ามเสียบ่อย ๆ แต่เรื่องราวนั้นมากด้วยกัน น่าที่จะเล่าวันไปโบรโม แต่จะปล่อยเสียวันนี้บ้างล่วงน่า หาไม่วันนั้นจะมากเกินไป

เรื่องราวนั้นคือเขาเหล่านี้ไม่มีชื่อฉเพาะลูก เรียกว่าติงเค็ลทั้งนั้น แต่ที่เปนยอดสูงกว่าเพื่อนนั้นเรียกว่าปานังยาอันอยู่ใกล้กับโตสารี ใกล้เขานั้นมีหลังเขาแห่งหนึ่ง ว่าเปนที่อยู่ของไกญอุมาซึ่งเปนคนแรกขึ้นมาตั้งบ้านเรือนบนเขามีเมียชื่อไญอุมา คำที่เรียกว่าไกญหรือไญ ๒ อย่างนี้ เปนชื่อของผู้ซึ่งนับถือเรียกอะไร ๆ ก็ได้ ไกญอุมาเปนต้นพืชพันธุ์ของคนชาวเขา พวกที่เขานี้นับถือทั่วกัน เมื่อมาอยู่ช้านานไม่มีลูก จึงพากันไปที่เขาโบรโม ทำการบูชายัญแล้วอธิษฐานต่อบัตโตโรบุรุ คือปตารกาหลาหรือพระอิศวร ซึ่งอยู่เขาสุเมรุ ขอให้มีลูก ๒๕ คน ถ้ามีลูกครบ ๒๕ คนแล้ว จะเอาไปบูชายัญ คือทิ้งลงในเครตา คือปล่องภูเขาไฟ แต่นั้นมาไญอุมาก็มีลูกครบ ๒๕ คน ลูกคนเล็กโตแล้ว จึงเรียกมาพร้อมกัน เล่าเรื่องที่ได้บลไว้นั้นให้ฟัง บอกว่าจะต้องทำตามที่ได้บลไว้ ฝ่ายลูกสุดท้องชื่อกุสุโม จึงว่ากับพ่อว่า ถ้าเอาไปบูชายัญเสียทั้ง ๒๕ คน ใครจะเปนผู้ทำไร่นาสืบพืชพันธุ์ต่อไป พวกชาวเขาจะมิสูญเสียเพียงนี้หรือ ขอให้เอาแต่ตัวไปบูชายัญคนเดียวเถิด แต่ขอสัญญาไว้ว่า ถ้าหากตัวตายวันใด ให้พี่น้องไปทำการบูชายัญในวันนั้นเสมอทุก ๆ ปีไป เมื่อได้ทำการบูชายัญแล้ว ให้อุส่าห์ทำไร่นาตั้งแต่วันนั้นไป พ่อแม่แลพี่น้องทั้งปวงก็ยอมรับตามคำขอนั้น ครั้นถึงวันกำหนดก็พากุสุโมไปพักอยู่ที่ทเลทราย มีเขาเล็กอยู่ในกลางทเลทรายเขาหนึ่ง ชำระตัวบริสุทธิ์ในที่นั้นแล้ว จึงพาขึ้นไปที่เครตาคือปล่องไฟในทเลทราย ทำการบูชายัญผลักกุสุโมลงไปในกลางปล่องนั้น คนทั้งปวงสืบมาจึงได้มีความนับถือว่าที่ได้สืบพืชพันธุ์มาทุกวันนี้ เพราะอาศรัยความกรุณาของกุสุโม จึงได้ยกขึ้นเปนไกญ เรียกว่าไกญกุสุโม ที่ซึ่งอาบน้ำชำระกายไกญสุกุโมนั้น ถ้าผู้ชายรักผู้หญิงหรือผู้หญิงรักผู้ชาย แต่ไม่เปนที่ตกลงกันข้างหนึ่ง ก็หาพระหรือครูไปเศกก้อนหินส่งให้แล้วเดิรทักษิณเขาเล็กนั้น ๓ รอบ เอาหินขว้างไปที่เขาก็เปนอันได้สมความปรารถนา ไกญอุมาก็เปนที่นับถือมีพิธีซึ่งทำประจำปีอุทิศต่อไกญกุสุโมซึ่งจะได้กล่าวต่อไปภายน่า ขอจบไว้เพียงเท่านี้ที เรื่องเหล่านี้เปนเรื่องนิทานก็จริงอยู่แล แต่เกี่ยวกับการนับถือของราษฎรแถบนั้น แลมีเหตุที่จะต้องพูดถึงต่อไป จึงได้นำมากล่าวไว้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ