๕๑

บรัมบานัน

วันที่ ๒๘ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๕

ที่นี่กะวันให้มีงารบ้างพักบ้าง วันนี้นับเปนวันพักไปดูบรัมบานัน ๆ นี้ได้เปนเมืองหลวงครั้งหนึ่ง แต่เมื่อเจ้าแผ่นดินถือสาสนาฮินดู มีเรื่องราวพงศาวดารที่เล่าหลายอย่าง ว่าด้วยเรื่องเมืองชวานี้ นัยหนึ่งว่าเปนคนอียิปต์ซึ่งต้องเนียรเทศมา นับถือสาสนาตามอย่างอิยิปต์โบราณ นัยหนึ่งว่านับถือพระอาทิตย์ พระจันทร์ หรือธาตุน้ำ หรือธาตุไฟ หรือต้นไม้ นับถือผู้ที่มีอายุมากเปนใหญ่เปนหัวน่า การปกครองก็อาไศรยด้วยผู้ใหญ่บังคับบัญชากัน เรื่องเหล่านี้เปนแต่เล่าคเนมากกว่าที่ได้หลักฐานมา ถึงมีจดหมายเปนเรื่องราวก็เสมออย่างพงศาวดารเหนือตั้งแต่อาทิสะกะเปนต้นมา เหตุผลที่เล่านั้นเริ่มจับแต่ปีต้นแห่งศักราชชวา ว่าประบูยาหยาบายาเปนเจ้ากรุงอสตินะ หรือหัสดินะ สืบตระกูลมาแต่อรชุนลูกของปาณฑุเทวนาตะ มีเสนาบดีผู้ใหญ่คนหนึ่ง เปนคนมีสติปัญญาแลความสามารถมาก เจ้าแผ่นดินใช้ให้ไปเที่ยวดูเมืองอื่น เมื่อมาถึงเกาะนี้แวะขึ้นพบเปนเมืองแห่งรากษสปรากฏชื่อว่านุสาเกนดัง นุสาแปลว่าแกะ เกนดังเปนชื่อของภูเขาอันหนึ่งในเกาะนี้ ได้พบเม็ดยาวาวูด ซึ่งเปนอาหารของพลเมืองในเวลานั้น จึงได้เปลี่ยนชื่อนุสาเกนดัง เปนนุสาชวา เมื่อเที่ยวไปในเกาะพบรากษส ๒ ตนตาย มือถือใบไม้มีอักษรจดไว้ในนั้นคนละใบ ๆ หนึ่งเปนอักษรปุรว (บุรพ) หนังสือเก่า อิกใบหนึ่งเปนหนังสือไทย จึงเอาผสมกันเข้าตั้งขึ้นเปนตัวพยัญชนะหนังสือชวา ๒๐ ตัว แล้วได้รบกับพวกรากษสต่าง ๆ ที่เปนสำคัญนั้นคือเขาวารสิงค แล้วได้จดหมายเหตุการที่ได้พบสิ่งใดได้ตั้งสิ่งใดไว้โดยย่อ ๆ มีศักราชเปนกำหนด ผู้อื่น ๆ จึงได้จดหมายต่อมาจนถึงเปนเรื่องพงศาวดาร จดหมายอันนั้นยังมีปรากฏอยู่ แต่จะลงในที่นี้ไม่ได้ยาวนัก เริ่มตั้งแต่ปีที่ ๑ อาทิสกะแต่ภายหลังว่ากลับไปเมืองอสตินะ เพื่อจะกราบทูลเรื่องราวแก่พระราชาที่ใช้มา

นัยหนึ่งกล่าวว่าอาทิสกะเปนเจ้ามีอำนาจมาก ได้ตั้งบ้านเมืองหลายแห่งทั่วทั้งชวา นับถือกันว่าเปนเทวดา เมื่อจะมาก็แล่นเรือมาบนภูเขา ได้ตั้งกฎหมายไว้อย่างหนึ่ง เปนกฎหมายที่ไม่ดุร้าย แลกฎหมายที่ใช้ต่อ ๆ มาว่าออกจากแบบนั้น แต่แก้ไขเพิ่มเติมใช้มาจนถึงเมื่อเมืองสิงคาละเปนใหญ่ ๑๐๐๐ ปีเศษมาแล้ว นัยหนึ่งว่าใช้มาจนถึงเมืองมายาพหิสก่อนนี้ ๕๐๐ ปี

ในพงศาวดารตอนนี้มีหลายฉบับเนื้อความไม่ใคร่ต้องกัน ที่เปนของพวกแขกจดก็มักจะกล่าวเจือปนด้วยสาสนาแขก ที่เปนของพวกฮินดูจดก็เรียกชื่อเรียกเสียงเปนพวกปาณฑวะ เหมือนอย่างกับเมืองชวาเปนเมืองอินเดียเอาแน่นักไม่ใคร่ได้ ตามลำดับแผ่นดินซึ่งมีในจดหมายต่าง ๆ เปน ๓ อย่างกันนี้ ฉบับของสุสุนันเปนจดหมายเขียนด้วยลายมือ มีกำหนดว่าตั้งแต่ศักราช ๒๘๙ ปี เมืองหลวงชื่อ วิภตะ มีเจ้าแผ่นดิน ๕ คน ตั้งแต่บาสุเกติถึงปาณฑุเทวนาตะศักราช ๘๐๐ เมืองหลวงตั้ง กดิรี มีเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งชื่ออชิยาหยาพายา แล้วย้ายเมืองหลวงไปตั้งเปงกิงมีเจ้าแผ่นดินอิกองค์หนึ่ง ศักราช ๙๐๐ หรือ ๙๐๒ ไปตั้งเมืองหลวงที่บรัมบานัน เจ้าแผ่นดินมี ๒ องค์ ชื่อบากะแลธรรมมายา ศักราช ๑๐๐๒ ตั้งเมืองหลวงเมนดังกามูลันแล้วจึงแยกเมืองออกเปน ๔ เมือง ในศักราช ๑๐๘๒ หรือ ๑๐๘๔ คือเมืองกดิรี (ดาหา) เจ้าแผ่นดินชื่อเลมบูอามิยาหยา นครวัน (กุเรปัน) เจ้าแผ่นดินชื่อ เลมบูอามิเสสา สิงหคิริ (สิงหัศสาหรี) เจ้าแผ่นดินชื่อเลมบูอามิวุ จังกาลา (สิงคาละฤๅกาหลัง) เจ้าแผ่นดินชื่อ เลมบุอามิลูเฮอ แลต่อมาปันหยีสุริยอามิเสสารวมเมืองทั้ง ๔ เมืองนี้เปนใหญ่ไปตั้งอยู่เมืองจิงกาลา คือเมืองกาหลัง ศักราช ๑๒๐๐ ตั้งเมืองหลวงเรียกประชาชะรัน เจ้าแผ่นดินชื่อลาเลียน เปนลูกของปันหยีสืบวงศ์กันมาอีก ๓ คนย้ายเมืองไปตั้งใหม่ในปี ๑๓๐๑ เรียกว่ามายาพหิส เจ้าแผ่นดินเปลี่ยนชื่อจากชากาสุระ เปนโบรวิยายอที่ ๑ แล้วมีชื่อเดียวกันต่อมาเปนที่ ๒, ๓, ที่ ๔, ๕, จนถึงปี ๑๓๘๑ พ่อของเจ้าแผ่นดินองค์แรกชื่อกาโนไม่ปรากฎว่าเปนลูกผู้ใด กล่าวเลียว่าพระเจ้าโปรดให้เปนเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๓ ก็ดูเปนผู้อื่นครองเมืองอสตินะสืบตระกูลมาจนถึงเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๕ องค์ที่ ๖ จึงได้ย้ายเมืองไปกดิรี เมื่อเจ้าแผ่นดินตายเมืองก็ล่มจมไป เกิดเจ้าแผ่นดินแทนขึ้นอิกแยกเปน ๒ เมือง คือเปงคิงแลบรัมบานันสองเมืองเกิดรบกัน เจ้าแผ่นดินบรัมบานันถูกธรรมมายาลูกเขยเจ้าแผ่นดินเปงคิงฆ่าตาย เมืองบรัมบานันว่างจนเจ้าแผ่นดินเปงคิงตาย ธรรมมายาได้เปนเจ้าทั้งสองเมือง ครั้นธรรมมายาตายสูญวงศ์กษัตริย์ จึงมีคนต่างประเทศชื่อ อาชิสกะ มาตั้งตัวเปนเจ้าเมืองเมนดังกามูลันแทนเทวาตสิงคซึ่งรบได้ไชยชนะ ในที่นี้จดหมายไว้ว่า เมื่อปี ๑๐๑๘ จันทิเสวู คือวัดพันหนึ่งที่บรัมบานันได้ทำแล้วสำเร็จ เมื่อเมืองเมนดังกามูลันสาบสูญเชื้อวงศ์แล้วจึงได้เกิด ๔ เมืองขึ้น ครั้นภายหลังปันหยีสุริยอามิเสสา ลูกของอามิลูเฮอคือท้าวกาหลัง รวม ๔ เมืองเข้าเปนเมืองเดียว ในข้อนี้น่าสงสัยปันหยีชื่ออามิเสสา เปนชื่อเดียวกันกับท้าวกุเรปัน ทำไมจึงไปเปนลูกท้าวกาหลัง ถ้าจะเข้าใจว่าปันหยีจะรวบรวมเมืองทั้งหมดแล้วไปตั้งอยู่กาหลัง ปันหยีสุริยตายแล้วลูกชื่อปันหยีลาเลียนได้เปนเจ้าต่อไป ย้ายเมืองจากสิงคาละไปตั้งที่ประชาชะรัน สิ้นเนื้อความในจดหมายตอนนี้ที่มีอยู่ที่สุสุนัน แต่เขาคัดค้านกันว่าหนังสือฉบับนั้นเปนเห็นชัดว่าผู้แต่งถือศาสนาแขกเอาแน่นักไม่ได้ มีอิกฉบับหนึ่งเปนของปนัมบาหันเมืองสุเมนับว่าเปนคนรู้หลักนักปราชญ์มากดีกว่าสุสุนัน เขามีรายจำนวนเมืองแลเจ้าแผ่นดิน จับตั้งแต่ศักราชปีแรกมา คือที่ ๑ เรียกว่าเมืองกลิงคเวสี เจ้าแผ่นดินชื่อ ทริกเตรสตะ ต่อมาอิก ๓ คนจนถึงศักราช ๓๑๐ จึงได้ตั้งเมืองอสตินะ เจ้าแผ่นดินชื่อเคาตมะ ในระยะเจ้าแผ่นดิน ๔ คนท่อนต้นนั้นดูอายุอยู่ข้างจะมากเหลือเกิน ตั้งแต่เคาตมะสืบมาอิก ๘ คนจึงได้เปลี่ยนเมืองหลวงเรียกว่ามาลาอปติ ในศักราช ๕๘๘ สืบมาอิก ๕ คนจึงเปลี่ยนเมนดังกามูลัน ในปี ๖๕๘ สืบต่อมาอิก ๓ เจ้าแผ่นดินจึงถึงจังกาละ คือ สิงคาละ ในปี ๘๑๘ เจ้าแผ่นดินชื่อกันกิยาอันหรือไชยลังกาละ มีเจ้าแผ่นดินต่ออิกคนหนึ่ง คือ สุพรต หรือเทวกสุมา จึงได้ตั้งเมืองกุริปันในปี ๙๒๗ เจ้าแผ่นดินชื่อลาเลียน มีเจ้าแผ่นดินต่อมาในเมืองนั้นอิก ๓ คนจึงได้ตั้งประชาชะรันในปี ๑๐๘๔ เจ้าแผ่นดินในเมืองนั้น ๒ องค์แล้วจึงย้ายไปตั้งมายาพหิสในปี ๑๑๕๘ เจ้าแผ่นดินชื่อ ชากะสุสุรุ หรือบรวิชยเจ้าแผ่นดินสืบมาในเมืองนั้นอิก ๖ องค์ รวมตามบาญชีนี้เปนเจ้าแผ่นดิน ๓๘ แต่ต้นเรื่องของจดหมายนี้ว่าจนถึงสร้างโลกแลแบ่งยุคเอาอย่างอินเดียแต่อยู่ข้างฟั่นเฝือ เขาเข้าใจกันว่าสาสนาฮินดูแลพุทธสาสนาได้เข้ามาในเวลานั้น เจ้าแผ่นดินเหล่านี้ก็เปนอวตารโดยมาก

อิกตำราหนึ่งของไกยอธิปติอาทิมังคล เปนริเยนต์เมืองเดมัก จับเริ่มแต่ปีศักราชชวา ๕๐๐ เศษ คือเมืองเมงดังกามูลัน เจ้าแผ่นดินชื่อ สเวลชาละ ศักราช ๕๒๕ มีเจ้าแผ่นดินต่อมาอิก ๓ องค์ แล้วจึงตั้งเมืองยังกาละ หรือสิงคาละ คือกาหลัง เจ้าแผ่นดินชื่อ เทวกสุมา ในศักราช ๘๔๖ สืบมาอิก ๒ คน คือ เลมบูอามิลูเฮอ คือ ท้าวกาหลัง แล้วปันหยีกรตปติ ในที่นี้มีคำอธิบายว่าเวลานั้นมีเมืองเอกราชอิก ๓ เมือง คือเมือง (ดาหาไม่ออกชื่อ) กดิรี เมืองสิงคสารี แลเมืองนครวัน ดูตามนี้เห็นชัดเจนว่าผู้ที่นับลำดับเจ้าแผ่นดิน นับแต่วงศ์เมืองกาหลังเห็นจะเปนด้วยถือเอาการภายหลังรวมกันที่กาหลัง แต่ช่างเข้าเรื่องเสียจริง ๆ ผู้ที่สืบท้าวกาหลัง ชื่อปันหยีหรือกรตปติ ก็คือกรัตปาตีที่เราเรียกนั้นเอง แต่ว่าเปนลูกท้าวกาหลังไม่ใช่ลูกเขย ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเมืองหลวงเปนประชาชะรันในศักราช ๑๐๐๐ ปี เจ้าแผ่นดินชื่อปันหยีไมสาตพักรามัน หรือลาเลียนก็ลงรอยเดียวกัน เปนเจ้าแผ่นดินประชาชะรัน ๓ คน ต่อไปถึงมายาพหิส ในปี ๑๒๒๑ ต้องกันกับฉบับของสุสุนัน ในตอนมายาพหิสอยู่ข้างจะได้เค้าแน่นอน หนังสือทั้ง ๓ ฉบับนี้ เปนยากที่จะเอาแน่ได้ เพราะเจือปนด้วยการอัศจรรย์เหมือนเล่านิทานทั้งสิ้น แต่อย่างไร ๆ ก็ดี บรัมมานันซึ่งได้สร้างขึ้นไว้ ปรากฏชัดว่าสาสนาฮินดูได้ตั้งมาช้านาน ขุดพบเทวรูปแลแหวนโบราณเปนอันมาก เราได้มาทั้งเทวรูปแลแหวน คงเปนเมืองที่เจริญใหญ่โตประกอบไปด้วยวิชาช่างอย่างวิเศษ ในหนังสือฉบับอื่นได้กล่าวว่าสร้างเมื่อปี ๕๒๕ อิกนัยหนึ่งว่า ๑๐๑๘ ตามนักปราชญ์ฝรั่งเขาคเนกันว่าฝีมือช่างเช่นนี้คงจะอยู่ในเซนชุรีคฤศตศักราชที่ ๖ หรือที่ ๗ เทวกสุมานั้นพวกชวาว่าเปนเจ้าที่ฉลาดมาก มีความคิดกว้างขวางแลเมตตากรุณาแผ่อำนาจได้ด้วยความกรุณาโอบอ้อม ไม่ช้านานอำนาจก็แผ่ไปทั่วเกาะชวา ได้ส่งลูกหญิงคนหนึ่งลูกชาย ๔ คนไปที่เมืองอินเดียเพื่อจะให้เล่าเรียนสาสนาพระพรหม ลูกคนใหญ่ได้เจ้าหญิงเมืองอินเดียเปนเมีย ได้สมบัติพัสฐานไพร่พลทหารแลช่างฝีมือดีมาเปนอันมาก แต่เขาสงสัยว่าบางทีผู้แต่งหนังสือจะคิดปิดบังด้วยอายว่าคนต่างประเทศมาเปนเจ้า แต่ไม่มีสิ่งไรเปนสำคัญ อย่างใดก็ดีการจำเริญในวิชาช่างของเมืองชวาจำเริญในเวลานั้นโดยมากเปนเรื่องที่รู้ได้แน่ ซึ่งนำเอาเรื่องพงศาวดารชั้นเก่ามาเล่าในที่นี้ ด้วยความประสงค์ว่าจะให้รู้ว่าบรัมบานันได้สร้างขึ้นเมื่อใด แลเพราะเหตุใดแขกจึงได้ถือสาสนาพราหมณ์ แลฝีมือช่างที่ทำดีอย่างวิเศษเช่นนี้ได้ช่างมาแต่ไหน เจ้าแผ่นดินมีอำนาจวิเศษอย่างใดแลจะได้รู้ต้นเชื้อวงศ์ของอิเหนา ซึ่งเรานับว่าเปนคนรู้จักกันในหนังสือ แลเชื้อวงศ์นั้นได้สร้างบรัมบานันนี้

จะจับเรื่องที่ไปดูต่อไป ออกจากยกยาเช้า ๓ โมง ๑๕ มินิต ไปในรถไฟ ๑๕ มินิตถึงสเตชั่นที่หยุด ขึ้นรถม้าไปตามถนนในท้องนา เลี้ยวเข้าไปข้างถนนไม่ไกลนัก เปนที่มณฑปหรือปรางค์ซึ่งเรียกว่าจันทิกาลสังเปน ๔ เหลี่ยมมีมุขทั้ง ๔ ด้าน แต่ด้านตวันออกทลุเข้าไปได้ถึงในกลางมณฑป อิก ๓ มุขเปนแต่คูหาตั้งเทวรูป หลังคาทำลายลงมาเสียแล้วไม่เห็นว่ารูปเปนอย่างไร แต่ตัวมณฑปนั้นซุ้มน่าต่างเสาเชิงกลอนบัวล้วนสลักศิลาทั้งสิ้น บันไดขึ้น ๔ ด้านแต่ทลายหมดต้องทำบันไดไม้ขึ้นไป เราไม่สามารถที่จะกล่าวถึงกว้างยาวสูงต่ำอย่างไรได้ ที่สุดจนจะดูลเอียดก็ไม่ใคร่จะได้ เพราะท่านผู้ที่ไปคอยชี้แจง ๒ คน คือดอกเตอร์โกรนะแมน แลเปรสิเดนต์อาชิโอโลยิกลโซไซเอตี แกวิตกกลัวจะเพลิดเพลินเสียไม่ไปดูบรัมบานัน เพราะแบรอนกวาลเคยเห็นเราเพลิดเพลินดูที่มิวเซียมบัตเตเวีย บอกแกว่าเราคงจะชอบบรัมบานันมาก แกจึงคอยบอกเสมอว่าที่นี่ไม่ดีไปดูที่บรัมบานันเถิด จึงได้ดูสักแต่พอคุยได้ว่าได้มา แกอธิบายว่าเปนที่ฝังกระดูกของกาลิเบนิง แต่จะอย่างไรไม่รู้ด้วย เห็นใหญ่โตมากเข้าใจว่าจะเปนศาลนางกาลีที่พวกฮินดูเรียกพระแม่ สังเกตเอาตามชื่อบรรดาที่ก่อสร้างด้วยศิลาเหล่านี้ พวกชวาแล้วเปนบอกทุกคนว่าเทวดาสร้าง แต่ทั้งเชื่อว่าเทวดาสร้างเช่นนั้น ศิลาที่พอจะยกไปได้แล้วรื้อเอาไปทำอะไรต่ออะไรต่าง ๆ โดยมาก เหมือนอย่างกาลีเบนิงนี้อยู่ใกล้บ้านคนตั้งอยู่ในกลางนา ชำรุดเสียด้วยมือคนช่วยเปนอันมาก ด้วยแต่ก่อนนี้วิลันดาสาลวลแต่การค้าขายไม่ได้เอาธุระ พึ่งจะมาจัดการรักษาห้ามไม่ให้คนรื้อ ออกจากที่นี้ไปตามทางที่มีต้นมะขามรายสองข้างในกลางนา เลี้ยวเข้าไปอีกถึงวัดอีกตำบลหนึ่ง เรียกว่าจันทิสารีเปนพื้นสองชั้นปันเปนสามห้อง สลักเปนรูปภาพต่าง ๆ มีซุ้มมีกรอบทำงามมาก ข้างในดูเปนรอยถือปูน ว่าเปนวิหารสำหรับพระอยู่ ว่าเปนวัดในพระพุทธศาสนา เราไม่สู้จะแน่ใจไม่เห็นมีร่องรอยอย่างไร แต่การที่ดูนั้นก็ไม่ผิดอันใดกับกาลิเบนิงอยู่ในต้องเร่งเหมือนกัน ออกจากนั้นไปเปนที่แจ้งไม่มีต้นไม้ ไร่นาดูก็ไม่สู้กระไรนัก จนถึงฝั่งแม่น้ำโอปักเปนแม่น้ำที่ลาวาถมเสียจนตื้นขับรถข้ามไปได้ น้ำอยู่ในสักคืบเศษขึ้นถึงฝั่งฟากโน้นก็เปนตลาดตำบลปันหยีบรัมบานัน มีบาซาแลบ้านเรือนติดต่อไปจนถึงจันทิเสวู เขาตั้งซุ้มที่ทางจะเข้าผูกใบไม้ริมทางเอาหัวเม็ดกำแพงแก้วมาตั้งเรียงไว้เปนแถว ในลานบริเวณนั้นปัดกวาดรักษาเรียบร้อยดีมาก แต่เดิมมาก็มีรู้กันว่าบรัมบานันเปนวัดฮินดู มีฝีมือดีแต่เห็นจะเปนด้วยย่อมกว่าบุโรพุทโธ แลจมอยู่ในดินเสียมาก จึงไม่ทำให้ได้ตรวจตรารักษาก่อนบุโรพุทโธ พึ่งได้ลงมือจัดการใน ๒๐ ปีนี้ เรามาคราวก่อนแต่ชื่อบรัมบานันก็ไม่ได้ยิน เดี๋ยวนี้เปนที่กำลังพวกวิลันดาตื่นเต้นกันมาก พบคอเวอนเนเยเนราลก็บอกเรื่องบรัมบานัน แลให้ไดเรกเตอร์ปัปลิกเวิกจัดรูปมาให้ด้วย เดี๋ยวนี้ตั้งโซไซเอติขึ้นสำหรับที่จะตรวจตราขุดรื้ออยู่เสมอ เมื่อขึ้นไปบนเทวสถานกลางก็แลเห็นได้ว่าแม่น้ำนั้นไม่ได้คงตามที่เดิม มีรอยเก่าเปนแอ่งอยู่ เปลี่ยนกระแสใหม่ปัดเข้ามาใกล้บรัมบานัน มีกองดินเปนเท่าเขาไฟเปนลูกคลื่นไปทั้งนั้น เพราะเขามราปีซึ่งอยู่ใกล้รเบิดหลายครั้ง ถ้ารเบิดคราวใดวัดก็ทลายลงไป แลเท่าถ่านก็มากถมสูงขึ้นจนเหลือเห็นพ้นดินอยู่น้อย ด้านข้างภูเขามีหินที่ทลายลงไปกองโต ๆ ต้องขุดดินออกกว่าจะเสมอพื้นได้เปนการลำบากมาก ที่ขุดไว้แล้ว เดี๋ยวนี้แถวกลางหันหน้าไปทิศตวันออกทั้งสิ้น สถานพระอิศวรอยู่กลางสูงแลใหญ่กว่าอื่น ๆ มีบันไดขึ้น ๔ ด้าน สถานพระพรหมอยู่เหนือพระนารายณ์อยู่ใต้ย่อมลงมากว่า มีอัฒจันท์ขึ้นแต่ด้านตวันออกด้านเดียว มีด้านตวันออกอีกสายหนึ่ง ๓ สถาน ๆ กลางหันหน้าตรงสถานพระอิศวร บันไดขึ้นทางทิศตวันตก มีรูปพระโคที่เรียกว่านนทรี อีก ๒ สถานตรงน่าพระพรหมแลพระนารายณ์ไม่รู้ว่าจะมีอันใด สองสถานนี้พังมากจนไม่มีผนัง มีเล็ก ๆ สลับหว่างแถวกลางกับข้างตวันออกอีกสองหลังย่อมลงไปกว่า จะสันนิษฐานว่าคงจะมีแถวข้างตวันตกเปน ๙ ยอดหรือ ๑๓ ยอดก็ไม่สนัด เพราะหลังสถานที่เราเรียกว่าแถวกลางถึงว่ามีกองหินเหลี่ยมเช่นที่ก่ออยู่มากก็ดี แต่ดูไม่เปนเค้าว่ามีอีกแถวหนึ่งต่างหาก ถ้าจะว่าศิลากอง ๆ เหล่านั้นพังลงไปจากเทวสถานทั้งปวงก็ได้ เพราะที่แผ่นดินที่เหลืออยู่ ตั้งแต่แถวกลางออกไปตกที่ลาดไปหาท้องนาริมแม่น้ำ ไม่พอกันกับที่จะทำอีกแถวหนึ่งขนาดเดียวกับข้างตวันออก ถ้าเช่นนั้นก็จะต้องเปนน่าเดียว ชั่วแต่ข้างตวันออก ดูก็สมเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง ที่เทวสถานเหล่านี้ยกเสียแต่สถานพระอิศวรมีบันไดด้านเดียว แถวกลางหันน่าตวันออก แถวตวันออกหันน่าตวันตก ยังมีที่พื้นลาดลงไปข้างด้านตวันออก เขากำลังขุดอยู่พบสถานใหม่ขนาดเดียวกับที่ห้อยอยู่หว่างแถวขุดต่ำลงไปกว่าน่าแผ่นดิน ๖ ฟิตจึงถึงราก คือแปลว่าดินถมขึ้นมาถึง ๖ ฟิต ถ้าแถวนั้นรายตลอดอีกก็จะทำให้ตวันตกรายยากขึ้นหรือต่ำกว่า ถ้าสันนิษฐานว่าน่าเดียวแล้วสายกลางหรือแถวกลางต้องเรียกว่าสายหลังหรือแถวหลัง พื้นที่ทำเทวสถานนี้สูงกว่าพื้นท้องนามาก ได้ไปขึ้นสถานกลางก่อน บันไดที่ขึ้นเปนบันไดใหญ่มีหัวนาคแต่พลสิงห์ทลายเสีย ดอกเตอรโกรนแมนว่าเปนรูปช้างซึ่งเราไม่เห็นด้วย แต่จะไว้อธิบายที่บุโรพุทโธหรือที่อื่นซึ่งมีที่เทียบมากกว่าสัณฐานเปนไม้สิบสองย่อเก็จเปน ๒๐ เหลี่ยม บันไดขึ้น ๑๖ คั่น ลายข้างล่างเปนน่ากระดาน ลูกแก้วเปนบัวคว่ำบัวหงาย ท้องไม้แล้วมีลายข้างบนเหมือนอย่างพระเบญจาเราไทย ๆ ข้างบนเปนพนักมีทักษิณชั้นหนึ่ง แต่บันไดนั้นสูงกว่าทักษิณต้องมีอัฒจันท์ลงสองข้าง ๆ ละ ๖ คั่น แล้วมีลายขึ้นไปถึงทักษิณชั้นสองมีพนักบันไดอีก ๔ คั่น คราวนี้ถึงตัวมณฑป บันไดจมเข้าไปในซุ้มประตูถึงพื้นใน ระธานอิก ๑๐ คั่น ผนังพังลงมาเปนศิลากอง ๆ แต่ช่องกบประตูยังดีอยู่ ลายสลักชั้นล่างปันเปนช่อง ๆ ลายกลางเปนซุ้มคูหามีสิงห์อย่างวัดพระแก้วน่าอัดยืน ในนั้นสองข้างเปนขวดปักดอกไม้ซึ่งพวกวิลันดาว่าต้นโพ เพราะเขาไม่รู้ว่าศาสนาพราหมณ์อย่างใดฮินดูอย่างใด เหมือนกับที่เขาพูดว่ารู้ มีรูปสัตว์เคียงขวด ๒ ตัวแต่สัตว์นั้นรูปต่าง ๆ บางทีก็เปนนกหน้าคน เขาเรียกว่าคันธารวบางทีก็เปนห่านเปนแกะยังตีอรรถไม่ออกว่าแปลว่ากระไร ถัดปลายช่องนั้นไปมีช่องลูกมะหวดคั่นสองเสา แล้วเปนลายเช่นที่ว่าแล้วต่อไปอีกจนรอบ ที่ย่อเก็จชั้นล่างนั้นเปนซุ้มมีเทวรูปยืน พนักทั้ง ๒ ชั้นมีเสาคั่น มีเสาสลักเปนเทวรูปนั่งบ้างยืนบ้าง ในหว่างเสาเปนลายภาพเทวรูปหลาย ๆ ตัว ด้านหลังของพนักเปนเรื่องรามเกียรติดูพอเอาเรื่องได้ แต่ผู้ที่จัดเรียบเรียงขึ้นใหม่ไม่สู้สันทัดในเรื่องรามเกียรติเปนแต่จับต่อ ๆ กันเข้าเหมือนเด็กเล่นต่อรูปเขียนกระดาษ ด้วยลายนั้นสลักศิลาเป็นท่อน ๆ ถูกที่มีลายขนาบคาบเกี่ยวพอประกับกันเปนเรื่องก็เปนเรื่องติดต่อกัน ถ้าถูกที่ขาดหายเสียก็ไม่ต่อกันได้ พาให้ตัวเรื่องที่ควรจะอยู่น่ากลับไปอยู่กลาง ๆ หรือข้างหลัง จึงได้ดูเรื่องได้เปนท่อน ๆ ไม่เรียบเรียงกันตลอดเปนเรื่องเดียวจนรอบเหมือนรเบียงวัดพระแก้ว ลายที่ไม่ต้องบอกเลยว่าเรื่องอะไรเมื่อใดเช่นถวายแหวนจองถนนแลอื่น ๆ มีเปนอันมาก บรรดารูปเหล่านี้ล้วนแต่เปนอย่างฮินดูทั้งนั้น ลิงก็เปนรูปลิงแท้ ยักษ์หน้าไม่สู้ผิดกับคนมากเปนแต่ผมหยิกหน้าดุมีหนวด แต่มนุษย์นั้นหน้าแลเครื่องแต่งตัวกษัตริย์เปนอย่างฮินดู แต่ไพร่พลเปนอย่างคนอิยิปต์โบราณผมหยิกมีแต่ผ้านุ่ง ตัวลายพนักทักษิณชั้นสองมีเสาคั่นเปนห้อง ๆ เหมือนกัน มีเสาเปนมะหวดต่อออกมาแล้วถึงเทวรูปเปนห้อง ๆ มักจะยืน ๓ ตัว หรือนั่ง ๓ ตัวเปนพื้น ฝีมืออยู่ข้างจะงาม ๆ แต่เปนพนักลวงเดิรไม่ได้ ในตัวเทวสถานนั้น มุขด้านตวันออกทลุเข้าไปถึงกลางตัวมณฑป มีฐานตั้งรูปพระอิศวรสูงสัก ๖ ศอกไปหา ๘ ศอกอยู่ท่ามกลางห้องไม่ได้อาศรัยผนังงามมากเปนศิลาแห่งเดียว อิก ๓ ทิศเปนแต่กั้นฉเพาะมุขเหมือนที่กาลิเบนิงที่เขาตั้งไว้เดี๋ยวนี้ คือมุขใต้ รูปพระอิศวรเปนมหาฤๅษีทิศตวันตกมหาวิฆเนศร ทิศเหนือพระทุรคาซึ่งพวกชวาชั้นใหม่เรียกว่าโลโลยองแกรง ว่าเปนนางกาลีนั้นเอง แต่เทวรูปนอกจากพระอิศวรองค์ใหญ่จะตั้งถูกที่หรือไม่เปนที่สงสัยอยู่ แต่ฝีมือที่ทำนั้นงามยิ่งนักทั้ง ๓ องค์ เขาว่าเมื่อแรกพบจมลงไปอยู่ในพื้นทั้งนั้น เพราะที่ใต้ฐานพระมีหลุมลึก ๆ มีทรัพย์สมบัติเงินทองอยู่ในนั้นทุก ๆ แห่ง ว่ากันด้วยเรื่องศิลาที่ทำจะได้มาแต่แห่งใดดูมากมายนักหนา พวกวิลันดาเขาว่าคงจะเปนศิลาในแม่น้ำ แต่เดี๋ยวนี้ทรายถ่านมากกลบแม่น้ำตื้นเสียหมด จึงไม่เห็นหินปรากฏในที่ใกล้ พวกชาวชวาจึงได้เข้าใจว่าเปนเทวดาสร้าง ถึงว่าถือศาสนามหหมัดก็ยังเคารพนับถือเทวรูปเหล่านี้บนบานสารกล่าวกันอยู่เสมอ ที่นับถือมากนั้นคือทุรคา เวลาเราไปที่นั้นเห็นดอกกุหลาบซึ่งเอาไปบูชาเสียบอยู่ตามเทวรูปออกแดงไป ครั้นเวลากลับลงมาแล้วก็เห็นคนขึ้นไปนับด้วยร้อย มุ่งหน้าไปที่ทุรคาทั้งนั้น เขาว่ามีคนไปมาบูชาอยู่เสมอไม่ขาด การที่บนบานนั้นมักจะเปนเรื่องคลอดลูกหรือไข้เจ็บ จนตัวสุลต่านเองเมื่อยังไม่ได้เปนสุลต่านก็เคยมาบูชาเส้นสรวงเหมือนกัน ดูสถานกลางนี้พอทั่วก็อยู่ในบ่ายโมง ๑ ร้อนเต็มทีต้องกลับไปพักที่โรงเขาปลูกไว้ใกล้จันทิวิษณู คือสถานพระนารายณ์ ตามรอบโรงนี้มีแผ่นศิลาซึ่งสลักรูปรามเกียรติแลสลักเทวรูปเปนลายพนักชั้นบน ที่ประกอบเข้าเรื่องไม่ได้ตั้งรายไว้โดยรอบถึง ๒ ชั้น โรงนี้ทำหลังคามุงกระเบื้อง ตั้งโต๊ะสำหรับกินเข้ากลางวันที่ด้านหุ้มกลองทำเปนซุ้มหุ้มด้วยผ้าแดงตั้งมหาวิฆเนศรองค์ย่อม ๆ แต่ทาสีขาวเขียนเขม่า เราบ่นว่าเสียดายไปทาเสียทำไม เขาว่าตั้งใจจะให้เห็นเปนธงช้าง แปลใจความว่าเขาเข้าใจว่าธงช้างของเราหมายเอารูปมหาวิฆเนศร ๆ เปนรูปของพระพุทธเจ้าแต่ชาติก่อน มีท่านพวกนักปราชญ์ทั้งหลายมาถามความเห็นว่าเราเห็นว่าที่นี้เปนของพุทธศาสนาหรือศาสนาพระอิศวร เราว่าเราไม่ได้มีความสงไสยสักนิดเดียวว่าจะเกี่ยวข้องด้วยพุทธศาสนา เปนศาสนาพระอิศวรแท้ เขาว่าทำไมจึงมีรูปโพธิสัตวอยู่ตามพนักชั้นสอง คือเขาเข้าใจว่าบรรดารูปอันใดอันหนึ่งซึ่งมีมือถือดอกบัวแล้วเปนโพธิสัตว์ทั้งสิ้น เราว่าเทวรูปที่ถือดอกบัวมีโดยมาก จะอ้างหาพยานให้เห็นได้หลายอย่าง เขาก็ยอมรับแต่ว่าเปนศาสนาพระอิศวร แต่เทวดาถือดอกบัวยังร่มว่าเปนโพธิสัตว์อยู่เช่นนั้น แต่เวลานี้ยังไม่ได้เถียงกันถึงแตกหัก แล้วบรรดาพวกเปรสิเดนต์แลแมมเบอร์ของอาชิโอโลยิกัลโซไซเอตีมาสปิชแลให้ดิโปลมาขอให้เปนกิติมศักดิแมมเบอร์ในโซไซเอตินั้น เรารับจะอุดหนุนทุกอย่าง แลถามดูถึงโซไซเอตีนี้ตั้งอยู่อย่างไร เขาว่าแมมเบอร์เสียปีละ ๔ กิลเดอมีสัก ๗๐ คน แต่ทุนน้อยคอเวอนเมนต์ต้องอุดหนุน แต่ไม่เปนการเสมอ ต่อเมื่อใดจะทำการอันใดอันหนึ่งทำรายงารไปยื่นคอเวอนเมนต์เห็นชอบก็อนุญาตให้คราวละ ๒๐๐๐ กิลเดอ ๓๐๐๐ กิลเดอ เราให้เงิน ๒๐๐ กิลเดอ เปนค่าที่ต้องเข้าเรี่ยไรเหมือนแมมเบอร์ตามธรรมเนียม คิดเอาว่าจะอยู่อีก ๕๐ ปี คงเปนแมมเบอร์ทั้ง ๕๐ ปี แล้วให้สมุดที่แต่งว่าด้วยเรื่องบรัมบานันเซ็นชื่อพวกกรรมการพร้อมด้วยกันหมด แล้วดอกเตอร์โกรนแมนให้สมุดเล่ม ๑ หรือ ๒ เล่ม ซึ่งแกแต่งว่าด้วยธรรมเนียมชวาต่าง ๆ เพราะเหตุดังนี้เราจึงไม่คิดอ่านที่จะกล่าวถึงสูงต่ำกว้างแคบในเวลานี้ เพราะถ้าจะวัดก็ป่วยการเวลา จะคเนตาก็ไม่แน่ดูในสมุดนั้นดีกว่า

กินเข้ากลางวันพร้อมด้วยท่านนักปราชญ์ราชบัณฑิตเหล่านั้นแล้วขึ้นไปดูสถานพระนารายณ์ ลดสิ่งละย่อม ๆ ลงหมด คือชั้นล่างบันไดสูง ๑๑ คั่น บันไดเกยที่ลงเดิรตามทักษีณเพียง ๒ คั่น บันไดชั้นบน ๑๑ หรือ ๑๒ คั่น แต่พนักชำรุดซุดโซมยังไม่ได้ตั้งที่ รูปพระนารายณ์ใหญ่กว่าเทวรูปทั้งสามที่เห็นมาแล้ว สถานพระพรหมก็เหมือนกัน ผนังพังลงมาจนถึงฐานบัด รูปพระพรหมหัวตกอยู่ข้างล่าง แล้วไปดูสถานที่นนทรีย่อมกว่าสถานพระนารายณ์พระพรหม รูปโคหมอบจะโตกว่างัวฝรั่งก็ไม่มากนัก แต่เขาเอารูปพระอาทิตย์พระจันทร์ คือเทวดาขับรถเทียมด้วยม้าแลราชสีห์เสมอหน้ากันมาก ๆ เหมือนพระอาทิตย์พระจันทร์อย่างกรี๊กหรืออิยิปต์ไปตั้งไว้บนนั้นด้วย แต่ไม่ใช่ที่ ๆ ตั้งเปนแน่ ยังอีก ๔ สถานไม่ได้ไปดู แต่สองสถานตรงพระนารายณ์แลพระพรหมย่อมลงไปกว่าสถานพระโค โคอิก ๒ สถานที่สับหว่างย่อมลงไปกว่าอีกเลยไปดูที่ขุดใหม่เสีย พอสิ้นเวลา ๆ บ่ายเกือบ ๔โมงกลับมาขึ้นรถไฟที่สเตชั่นอื่นใกล้จันทิเสวู เขาชี้ให้ดูว่าตรงสเตชั่นข้ามไป เปนกราตนเก่าครั้งเมืองหลวงตั้งอยู่บรัมบานัน แต่เมื่อคฤศตศักราช ๖๐๐ ปี ยังพบก้อนศิลาที่เปนรากโคนของกราตนนั้น แต่จมดินเสียมาก แลศิลาจารึกที่ได้จากจันทิเสวูก็มีความเจือกันถึงที่นี้ แต่เสียใจที่จะไล่เอาความว่าจารึกนั้นว่ากระไร ซัดว่าไปอยู่เสียเมืองบัตเตเวีย มีผู้แปลไว้ก็จำไม่ได้

วันนี้ซื้อกฤชพวกเจ๊กเอามาขาย แลซื้อผ้าโสร่งที่ช่างผู้หญิงเขาทำ เลือกแต่ฉเพาะที่ลายต้องห้ามใช้ได้แต่สุลต่านกับรตูแลเคราน์ปรินซ์บ้างใช้ได้แต่เจ้านายบ้าง ขุนนางผู้ใหญ่บ้าง มีลายคล้ายกับผ้าปูมหรือผ้าลายไทย ๆ แย่งครุฑจับนาคแย่งนาคใหญ่ เว้นแต่หน้าตาสัตว์เหล่านั้นเปนหนังแขก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ