๖๒. เกิดไข้อหิวาตกะโรค

เมื่อเดือน ๗ ปีมโรงโทศกนั้น อหิวาตกะโรค หรือที่เรียกในเวลานั้นว่า ไข้ป่วงใหญ่ เริ่มมาเกิดขึ้นเปนคราวใหญ่ที่ผู้คนเปนอันตรายมาก ในจดหมายเหตุเรื่องเกิดอหิวาตกะโรคครั้งนั้นจดไว้ว่า เมื่อณเดือน ๗ ข้างขึ้นเวลายามเศษ ทางทิศพายัพแลเห็นเหมือนแสงเพลิงติดในอากาศ เรียกว่าธุมเพลิง แต่นั้นก็เกิดไข้ป่วงใหญ่มาแต่ทางทเล ไข้นั้นเกิดมาแต่เมืองเกาะหมากก่อน แล้วข้ามมาหัวเมืองฝ่ายตวันตก ติดต่อขึ้นมาจนถึงปากน้ำเจ้าพระยา ชาวเมืองสมุทปราการตายลงเปนอันมาก ราษฎรพากันอพยพหนีความไข้ขึ้นมากรุงเทพฯ บ้าง แยกย้ายไปหัวเมืองอื่นบ้าง คนในกรุงเทพฯ ก็เปนโรคป่วงใหญ่ขึ้นตั้งแต่ณวันเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำไปถึงวันเพ็ญ คนตายทั้งชายทั้งหญิง ศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าแลศาลาดินในวัดสระเกษ วัดบางลำภู[1] วัดบพิตรภิมุข วัดประทุมคงคา แลวัดอื่น ๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก ถึงมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างกินแต่ปลาแห้งพริกกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ ด้วยอาเกียรณ์ไปด้วยทรากศพ อหิวาตกะโรคซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปีมโรงโทศกนั้น ผู้คนตายมากกว่าที่ใคร ๆ จำได้ว่าเคยมีมาแต่ก่อนไม่มีคราวไหนจะร้ายแรงถึงคราวนั้น คนทั้งหลายพากันเกิดความหวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อมรณไภยทั่วไปทั้งพระนคร จึงมีรับสั่งให้ตั้งพระราชพิธีอาพาธพินาศตามอย่างที่ได้เคยทำมาเมื่อปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ. ๒๓๕๔ อิกคราว ๑[2] เมื่อณวันจันทร์เดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ

พระราชพิธีนี้ทำที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทคล้ายกับพิธีตรุษ มีจดหมายเหตุกล่าวไว้ดังนี้ คือ ยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดรุ่งคืน ๑ แล้วเชิญพระแก้วมรกฎแลพระบรมธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะไปในกระบวนแห่โปรยทรายประน้ำพระปริตทั้งทางบกทางเรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรง (รักษาอุโบสถ) ศีล ทั้งพระราชวงษานุวงษ์ที่มีกรมแลหากรมมิได้ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายน่าฝ่ายในก็พระราชทานอนุญาตให้รักษาศีลทำบุญให้ทานตามใจสมัค มิต้องให้เข้าเฝ้าแลทำกิจราชการที่ไม่จำเปน แม้บรรดาไพร่ซึ่งอยู่เวรประจำซองรักษาพระราชวังชั้นในแลชั้นนอกนั้น ก็ได้รับพระราชทานอนุญาตปล่อยไปบ้านเรือนตามใจสมัค โดยทรงพระกรุณาตรัสว่า ประเพณีสัตวทั้งหลาย ไภยมาถึงก็ย่อมรักชีวิตร บิดามารดาภรรยาแลบุตรญาติพี่น้องก็เปนที่รักเหมือนกันทั่วไป จะได้ไปรักษาพยาบาลกัน ที่ผู้ใดมีกตัญญูอยู่รักษาพระองค์มิได้ไปนั้น ก็พระราชทานเงินตราเปนบำเหน็จตามความชอบ แลโปรดให้จัดซื้อปลาแลสัตวสี่เท้าสองเท้า ที่มีผู้จะฆ่าซื้อขายในท้องตลาดในจังหวัดกรุงเทพฯ มาถวายทรงปล่อย สิ้นพระราชทรัพย์เปนอันมาก คนโทษที่ต้องเวรจำอยู่นั้นก็ปล่อยออกสิ้น เว้นแต่พม่าข้าศึก บรรดาประชาราษฎรทั้งปวง มีรับสั่งให้ประกาศห้ามมิให้ไปฆ่าสัตวตัดชีวิตรให้อยู่แต่บ้านเรือน ต่อเมื่อมีการร้อนจำจะต้องไปจึงให้ไป อหิวาตกะโรคมีมากอยู่ประมาณ ๑๕ วัน ถึงณวันเสาร์เดือน ๗ แรม ๗ ค่ำโรคจึงค่อยเสื่อมถอยน้อยลงโดยลำดับ ศพชายหญิงอันหาญาติพี่น้องจะฝังจะเผามิได้นั้น ก็พระราชทานเงินค่าจ้างแลฟืนให้เก็บเผาจนสิ้น ความไข้ครั้งนั้นสำรวจได้จำนวนคนที่ตายในจังหวัดกรุงเทพฯ แลหัวเมืองใกล้เคียง รวมเบ็ดเสร็จประมาณสามหมื่น ผู้หญิงตายมากกว่าผู้ชายประมาณ ๒ ใน ๓ ส่วน เมื่อความไข้ในกรุงเทพฯ สงบแล้ว ได้ความว่าความไข้นั้นเปนต่อขึ้นไปข้างฝ่ายเหนือ แต่จะเปนไปถึงไหนเปนที่สุดไม่ปรากฎ



[1] คือวัดสังเวชวิศยาราม

[2] ลักษณพระราชพิธีอาพาธพินาศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชธิบายไว้โดยพิศดารในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ