๗๑. ท้องตราว่าด้วยการค้าขายของหลวง

๏ สารตรา ท่านเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม ให้มาแก่หลวงพรหมเสนา ผู้ว่าที่ปลัดแลกรมการ ด้วยพระยานครบอกส่งหางว่าวรายเงินกำปั่น ซึ่งขุนอักษรนายกำปั่น นายศรีไหมลาต้า คุมเอา ช้าง ดีบุก ออกไปจำหน่ายณเมืองเทศ กลับเข้ามาถึงเมืองนคร ณปีขาลสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๑๘๐ พ.ศ. ๒๓๖๑) ได้พรรณผ้าเข้ามาส่ง ได้ให้หลวงน่าวังคุมเอาพรรณผ้าเข้ามาส่งณกรุงเทพพระมหานคร เดือน ๑๑ ปีเถาะเอกศก เปนเงินทุนเดิมในกำปั่นเมื่อออกไป ช้างสิบสี่ช้าง เปนเงินทุน ๑๑๐ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๒ บาท ดีบุกเมืองถลาง ๘๐ ภาราหาบห้าสิบชั่ง ดีบุกเมืองนคร ๒๔ ภาราสองหาบหกสิบสี่ชั่ง เข้ากัน ๑๐๕ ภาราหาบสิบสี่ชั่ง เงินทุน ๑๐๕ ชั่ง ๗ ตำลึง ๙ สลึงเฟื้อง ๒๘๔ เบี้ย เข้ากัน ๒๑๖ ชั่ง ๓ ตำลึงสลึงเฟื้อง ๒๘๔ เบี้ย เสียค่าจ้างคนงานกลาสีใช้จ่ายเบ็ดเสร็จเมื่อออกไป ๒๔ ชั่ง ๙ ตำลึง ๙ สลึงเฟื้อง ๔๘๐ เบี้ย เข้ากันเปนเงินทุน ๒๔๐ ชั่ง ๑๒ ตำลึง ๑๑ สลึง ๗๖๔ เบี้ย แลขุนอักษรนายกำปั่น นายศรีไหมลาต้า ออกไปจำหน่ายณเมืองเทศได้เปนเงินช้างเดิม ๑๔ ช้าง ล้มเสีย ๒ ช้าง คง ๑๒ ช้าง จำหน่ายได้เปนเงิน ๙๐ ชั่ง ๖ บาท ๓ สลึง ๑๗๗ เบี้ย ดีบุกเดิม ๑๐๕ ภาราหาบ ๑๔ ชั่งออกเศษภารา ๒ หาบ ๑๔ ชั่ง ๘ ตำลึง จำหน่ายได้ภาราละชั่ง ๕ ตำลึง ๕ สลึง เงิน ๑๓๕ ชั่ง ๑๒ ตำลึง ๓ บาท ๑๑๘ เบี้ย เข้ากันจำหน่ายสินค้าได้เปนเงิน ๒๒๕ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ๗ สลึง ๒๙๕ เบี้ย หักเสียค่าธรรมเนียมจำหน่ายช้าง จำหน่ายดีบุกเปนเงิน ๒๕ ชั่ง ๕ ตำลึง ๙ สลึง ๕๒๘ เบี้ย เสียค่าจ้างกลาสีคนงาน ๑๕ ชั่ง ๘ ตำลึงสลึง ๖๕๒ เบี้ย เข้ากันเปนเงิน ๔๑ ชั่ง ๓ ตำลึง ๑๐ สลึงเฟื้อง ๓๘๐ เบี้ย ยังคงเงินอยู่ ๑๘๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๓ บาท ๗๑๕ เบี้ยนั้น ขุนอักษร นายศรีไหมเอาจัดซื้อผ้าขาวเศรษฐี พอจวนมรสุมเศรษฐีว่า จะทำผ้าซึ่งต้องการให้ครบจำนวนเงินนั้นมิทัน เศรษฐีสัญญาว่า ให้กำปั่นกลับออกไปรับเอาพรรณผ้าณมรสุมปีเถาะเอกศกนี้ให้ครบ เศรษฐีจัดได้แต่ผ้าขาวสี่ชนิดให้เข้ามาก่อน เปนพรรณผ้าขาวสุกตำ ๖ กุลี ราคากุลีละชั่ง ๕ ตำลึง เปนเงิน ๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ผ้าขาวฉนำ ๑๕ กุลี ราคากุลีละชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาทสลึง ๕๓๓ เบี้ย เปนเงิน ๑๙ ชั่ง ๗ ตำลึง ๘ สลึง ผ้าขาวโมริยชนิดหนึ่ง ๑๐ กุลี ราคากุลีละชั่ง ๕ ตำลึง เปนเงิน ๑๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ผ้าขาวโมริยชนิดหนึ่ง ๘ กุลี ราคากุลีละชั่ง ๕ ตำลึง เปนเงิน ๑๐ ชั่ง ผ้า ๓๙ กุลีเปนเงิน ๕๔ ชั่ง ๗ ตำลึง ๘ สลึง เสียค่าชักค่าบดค่าภาษีในซื้อผ้า ๕ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ๕ สลึง คิดเปนเงิน ๖๐ ชั่ง ๗ บาทสลึง ให้หลวงน่าวังคุมเข้าไปส่งด้วยพระยานครนั้น ได้ให้เจ้าพนักงานรับไว้ครบตามบอกแล้ว แต่เงินซึ่งยังค้างอยู่แก่เศรษฐีเจ้าทรัพย์เมืองเทศเปนเงิน ๑๒๔ ชั่ง ๘ ตำลึง ๓ บาทสลึง ๗๑๕ เบี้ย เศรษฐีได้สัญญาไว้ว่าให้กำปั่นกลับออกไปรับเอาพรรณผ้าณมรสุมปีเถาะเอกศกให้ครบนั้น พระยานครกรมการได้จัดแจงกำปั่นบรรทุกช้างบรรทุกดีบุกกลับออกไปจำหน่ายณเมืองเทศ แต่ณเดือนสามปีขาลสัมฤทธิศกแล้ว ๆ ได้สั่งให้รับเอาผ้าซึ่งค้างอยู่แก่เศรษฐีให้ครบตามสัญญา ถ้าขุนอักษร นายศรีไหมกลับมาถึงเมืองนครเมื่อใด ได้พรรณผ้ามามากน้อยเท่าใด ก็ให้พระยานครกรมการบอกส่งรัดรายพรรณผ้าแลหางว่าวเข้าไปให้แจ้ง

หนังสือมาณวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำปีเถาะเอกศก ๚

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่าในท้องตรานี้ ที่เรียกว่าการค้าขายของหลวงนั้น ไม่ใช่เอาอำนาจราชการไปกะเกณฑ์เอาทรัพย์สมบัติของผู้หนึ่งผู้ใดมา ต้องลงทุนซื้อหาแลเสียค่าใช้จ่ายอย่างพ่อค้า ถ้าจะผิดกับที่พ่อค้าเขาทำ ก็เพียงของหลวงไมได้ผลประโยชน์เท่าพ่อค้า เพราะทำการกันหลายต่อ การรั่วไหลมีมาก ความจริงอันนี้มีหลักฐานประกอบ ปรากฎอยู่ในหนังสือที่ครอเฟิดแต่งเรื่องที่เข้ามาเปนทูตอยู่ในเมืองไทย ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังเปนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้มีรับสั่งบอกว่า เรือหลวงออกไปค้าขายที่อินเดียขาดทนถึง ๒๕๐ ชั่ง ครอเฟิดลงความเห็นของตนเองไว้ว่า การที่ขาดทุนนั้นไม่น่าอัศจรรย์ ด้วยไทยไม่มีเอเยนต์ที่ดี มีแต่พวกแขกนายห้างที่หาประโยชน์ไม่สุจริต ไทยจึงถูกฉ้อฉลจนขาดทุน

การค้าขายกับต่างประเทศ เวลาเมื่อรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียแต่งครอเฟิดเปนทูตเข้ามา ได้ความจากหนังสือที่ครอเฟิดแต่งดังพรรณนามานี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ