๒๒. เรื่องจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้

เมื่องานพระบรมศพ ผู้ว่าราชการหัวเมืองใหญ่น้อยเข้ามาถวายพระเพลิงพระบรมศพตามประเพณี ตามปรากฎในหนังสือเก่า เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช แลหนังสือพงษาวดารเมืองสงขลา[๑]ว่าเมื่องานพระบรมศพแล้ว เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) กราบบังคมทูลว่า มีความชราทุพลภาพ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองนครฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ขึ้นเปนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ทำนองเปนจางวางผู้กำกับราชการ แลทรงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) บุตรเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์)[๒] เปนพระยาศรีธรรมาโศกราช ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อณเดือน ๙ ปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ. ๒๓๕๔ อนึ่งเข้าใจว่าในปลายรัชกาลที่ ๑ หรือต้นรัชกาลที่ ๒ นั้น เจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) ถึงอสัญกรรม จึงทรงตั้งหลวงฤทธินายเวร (จ๋ง) หลานเจ้าพระยาสงขลา เปนบุตรพระอนันตสมบัติ เปนพระยาวิเศษภักดี ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาด้วย เรื่องราวในพระราชพงษาวดารทั้งรัชกาลที่ ๒ แลรัชกาลที่ ๓ มีเรื่องเนื่องด้วยเมืองนครศรีธรรมราช แลเมืองสงขลาหลายตอน ควรจะเล่าเรื่องหัวเมืองปักษ์ใต้ย้อนถอยหลังขึ้นไปไว้ตรงนี้สักน่อย ผู้อ่านจะได้เข้าใจชัดเจนดีขึ้น คือ :-

เมื่อเจ้านคร[๓]ฯ ตั้งตัวเปนอิศร ในสมัยเมื่อเสียกรุงเก่าแก่พม่าข้าศึก หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตก ว่าโดยย่อ คือหัวเมืองที่จัดเปนมณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลภูเก็จ มณฑลชุมพร ทุกวันนี้ อยู่ในอาณาเขตรของเจ้านครฯ จนถึงปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑ พ.ศ. ๒๓๑๒ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกกองทัพหลวงลงไปตีได้เมืองนครศรีธรรมราชแลจับได้ตัวเจ้านครฯ แต่ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าเจ้านครฯ ไม่ได้เปนขบถคดร้าย เพราะต่างคนต่างตั้งตัวในเวลาบ้านเมืองเปนจลาจลยังไม่เคยเปนเจ้าเปนข้ากัน จะเอาโทษเจ้านครฯ หาควรไม่ จึงเปนแต่ให้ลดยศเจ้านครฯ ลงเปนเพียงพระยา แลเอาตัวเข้ามาไว้ในกรุงธนบุรี ทางโน้นให้เจ้านราสุริวงษ์หลานเธออยู่สำเร็จราชการ เจ้านราสุริวงษ์รักษาเมืองนครฯ อยู่ได้ ๗ ปีถึงพิราไลยในปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงตั้งพระยานครฯ ให้กลับมียศขึ้นเปนพระเจ้านครศรีธรรมราช เทียบยศอย่างเจ้าประเทศราชชั้นสูง ตั้งเสนาบดีได้เหมือนพระเจ้ากรุงกัมพูชา แล้วให้กลับออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราชดังเก่า เมื่อปีวอกอัฐศกนั้น ได้ความในหนังสือกฎรับสั่งครั้งตั้งเจ้านครฯ ยกเหตุอันเปนความชอบของเจ้านครฯ ๓ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ว่าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุทธยาเสียแก่พม่าข้าศึก เจ้านครฯ ตั้งตัวเปนใหญ่ครองเมืองนครศรีธรรมราชอยู่นั้น พวกแขกยกกองทัพเข้ามาตีเมืองนครศรีธรรมราช เจ้านครฯ ต่อสู้มีไชยชนะ รักษาเมืองนครศรีธรรมราชให้คงอยู่แก่ไทย มิให้ตกไปเปนเมืองของพวกแขกข้าศึกได้

ข้อ ๒ ว่าเมื่อเจ้านครฯ เข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรี ได้มีความสวามิภักดิโดยเสด็จในงานพระราชสงครามมีบำเหน็จความชอบ ครั้นจะโปรดให้มียศบันดาศักดิอยู่ในกรุงธนบุรี สมพลบ่าวไพร่ซึ่งจะเปนกำลังของเจ้านครฯ ก็อยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชโดยมาก มีอยู่ในกรุงธนบุรีเพียง ๒๐ คน ๓๐ คน น้อยนัก

ข้อ ๓ แสดงความที่ทรงไว้วางพระไทยในเจ้านครฯ ด้วยธิดาที่ได้ถวายทำราชการฝ่ายในก็มีลูกเธอแล้ว[๔] จึงโปรดให้เจ้านครฯ กลับออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช

ได้ความในกฎรับสั่งของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งกล่าวมานี้แปลกออกไปอิกข้อ ๑ ว่าเมืองแขก คือ เมืองไทรบุรี แลเมืองปัตตานี ซึ่งเคยขึ้นกรุงศรีอยุทธยามาแต่ก่อน ยังไม่ได้มาอ่อนน้อม ให้เจ้านครฯ คิดอ่านให้ไปยืมเงินเมืองทั้ง ๒ นี้ สำหรับที่จะซื้อเครื่องสาตราวุธเมืองละ ๑,๐๐๐ ชั่ง ลองใจพระยาไทร พระยาปัตตานีดูว่าจะทำประการใด ความข้อนี้ไม่พบจดหมายเหตุว่าเจ้านครฯ ได้ไปทำอย่างไร แต่พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ที่มีในภายหลัง เชื่อได้ว่าทั้งพระยาไทรแลพระยาปัตตานี ไม่ยอมให้ยืมเงิน ๑,๐๐๐ ชั่ง แต่จะเปนเพราะคำที่ตอบมาไม่พูดจาท้าทายให้เกิดอริ หรือจะเปนเพราะพระเจ้ากรุงธนบุรียังติดการศึกสงครามทางอื่นอยู่ ทั้งเมืองไทรแลเมืองปัตตานี ไม่ได้ยอมขึ้นพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ไม่ได้ให้กองทัพลงไปปราบปรามจนตลอดรัชกาล ส่วนเจ้านครฯ ที่ได้กลับออกไปครองเมืองเมื่อครั้งกรุงธนบุรีนั้น มีจดหมายเหตุปรากฎว่า หัวเมืองซึ่งเคยเปนอาณาเขตรของเจ้านครฯ ครั้งตั้งตัวเปนอิศร พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้แยกกลับมาเปนหัวเมืองขึ้นกรุงธนบุรีหมด เจ้านครฯ คงได้ว่ากล่าวอยู่แต่ในเขตรเมืองนครศรีธรรมราชเดิม ฝ่ายเหนือขึ้นมาจดเมืองไชยา ฝ่ายใต้ลงไปจดแดนเมืองพัทลุงแลเมืองสงขลา แต่ด้านตวันออกตวันตกเขตเมืองนครฯ จดทเลทั้ง ๒ ด้าน

ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อปีมโรงฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ พ.ศ. ๒๓๒๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าเจ้านครฯ แก่ชราฟั่นเฟือน แลพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ตั้งแต่งให้มียศศักดิผิดประเพณีเหลือเกินนัก จึงโปรดให้เรียกตัวกลับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ อย่างเดิม ทรงตั้งเจ้า (พัฒน์) เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเปนบุตรเขยแลเปนอุปราชของเจ้านครฯ แต่ครั้งตั้งตัวเปนอิศร ให้เปนเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช ความปรากฎในหนังสือกฎรับสั่งว่า ให้เมืองสงขลากลับมาเปนเมืองขึ้นนครศรีธรรมราช แลว่าเมืองนครศรีธรรมราชต่อติดเขตรแดนกับหัวเมืองแขก ให้เจ้าพระยานครฯ คอยสืบสวนระวังการงาน อย่าให้พวกแขกกำเริบเข้ามาย่ำยีพระราชอาณาจักรได้ แต่หัวเมืองอื่นหาได้กล่าวถึงไม่ จึงเข้าใจว่าเมืองพัทลุง เมืองไชยา เมืองชุพพร คงเปนหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ส่วนหัวเมืองฝ่ายชายทเลน่านอก เหนือเขตรเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นไป คือ เมืองภูเก็จ เมืองถลาง เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง ๔ เมืองนี้ ปรากฎในพงษาวดารเมืองถลางว่า โปรดให้มีข้าหลวงกรุงเทพฯ ออกไปกำกับทำนองอย่างตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลทุกวันนี้ ด้วยหัวเมืองทางนั้นเปนน่าด่านใกล้แดนพม่า ชื่อข้าหลวงที่ออกไปกำกับหัวเมืองฝ่ายตวันตก ปรากฎว่าพระยาราชนกูล คน ๑ พระยาธรรมไตรโลก คน ๑ แลเจ้าพระยาสุรินทรราชา คน ๑ แต่ผู้ใดจะไปก่อนหลังแลจะผลัดเปลี่ยนหรือเลื่อนยศขึ้นในคนเดียวกันอย่างไรไม่แน่ แต่ทราบได้ว่าเมื่อเจ้าพระยาสุรินทราชาได้เปนผู้กำกับมณฑลหัวเมืองฝ่ายตวันตกนั้น ก่อนปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ พ.ศ. ๒๓๓๖

เมื่อปีมเสงสัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าอังวะปะดุงยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองไทย กองทัพพม่าที่ยกเข้ามาคราวนั้นจำนวนพลแสนสามหมื่นเศษ ยกมาทุกทางที่จะมาได้ ส่วนข้างหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตก พม่ายกกองทัพมาเปน ๒ กอง กอง ๑ ตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งได้แล้ว ยกเลยลงไปตีเมืองถลาง ท้าวเทพสัตรี ท้าวศรีสุนทร รักษาเมืองถลางไว้ได้ กองทัพพม่าอิกกอง ๑ ยกมาตีเมืองระนอง เมืองกระบุรี ซึ่งเปนหัวเมืองขึ้นเมืองชุมพร แล้วข้ามมาตีได้เมืองชุมพร เมืองไชยา แลเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นกองทัพหลวงทางกรุงเทพฯ ยกไปต่อสู้กองทัพที่พระเจ้าปะดุงยกเปนทัพหลวงมาทางลาดหญ้าแขวงเมืองกาญจนบุรี ตีกองทัพพม่าแตกยับเยินไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงมีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพลงไปปราบปรามพม่าที่มาตีหัวเมืองทางแหลมมลายู เมื่อตีทัพพม่าแตกหนีกลับไปหมดแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา จึงให้ข้าหลวงเชิญกระแสรับสั่งออกไปยังหัวเมืองแขกคือเมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เมืองตรังกานู[๕] ให้มายอมเปนเมืองขึ้นดังแต่ก่อน พระยาปัตตานีขัดขืนไม่ยอมมาขึ้น กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีรับสั่งให้กองทัพไทยยกลงไปตีได้เมืองปัตตานี กวาดครอบครัวแลเก็บเครื่องสาตราวุธมาเสียเปนอันมาก เมื่อข่าวกองทัพไทยตีได้เมืองปัตตานี ปรากฎออกไปถึงเมืองไทรบุรี แลเมืองตรังกานู พระยาไทรบุรี (อับดุลละโมกุรัมซะ) แลพระยาตรังกานู (มาโซ) ต่างเกรงพระเดชานุภาพ จึงมายอมอ่อนน้อมขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยดี กรมพระราชวังบวรฯ ก็โปรดให้คงเปนเมืองประเทศราชถวายต้นไม้ทองเงินอยู่ทั้ง ๓ เมือง แต่ส่วนเมืองปัตตานีนั้น ตัวพระยาปัตตานีผู้ที่ขัดแขงจะหลบลี้ล้มตายไปอย่างไร หรือว่าจับตัวได้ ข้อนี้ไม่แน่ แต่มีหลักฐานเชื่อได้ว่า เมื่อตีได้เมืองปัตตานีครั้งนั้นแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ทรงตั้งแขกคน ๑ ซึ่งมีความสวามิภักดิให้เปนพระยาปัตตานีต่อมา แลในคราวตีเมืองปัตตานีครั้งนั้น หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญฮุย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลามีความชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนยศขึ้นเปนพระยาสุวรรณคิรีสมบัติ แลทรงตั้งนายบุญเฮี้ยวผู้น้อง เปนพระอนันตสมบัติ ผู้ช่วยราชการ แต่ให้เมืองสงขลาคงขึ้นอยู่แก่เมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม

เรื่องหัวเมืองปักษ์ใต้ในรัชกาลที่ ๑ ที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารต่อมา มีเนื้อความเคลือบคลุมเปนข้อสงไสยแลแตกต่างกับหนังสือพงษาวดารเมืองสงขลาอยู่ตอน ๑ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าเมื่อปีรกาเอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑ พ.ศ. ๒๓๓๒ องเชียงสือญวน เมื่อยังเปนเจ้าอนัมก๊ก มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลฯ ว่า รายาเมืองปัตตานีมีหนังสือให้ทูตถือไปถึงองเชียงสือ ชวนให้ยกกองทัพญวนเข้ามาตีกรุงเทพฯ พร้อมกับรายาปัตตานีจะยกกองทัพขึ้นมาอิกทาง ๑ องเชียงสือส่งต้นหนังสือรายาปัตตานีเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย จึงโปรดให้พระยากลาโหมราชเสนายกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานี จับได้ตัวรายาปัตตานีเอามาจำคุกไว้ณกรุงเทพฯ ต่อมาอิก ๒ ปี ถึงปีกุญตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ พ.ศ. ๒๓๓๔ ว่ามีแขกเซียะอยู่นอกพระราชอาณาเขตรยกกองทัพเรือเข้ามาตีเมืองสงขลา เจ้าเมืองกรมการสู้พวกแขกเซียะข้าศึกไม่ได้ ต้องหนีไปเมืองพัทลุง เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ยกกองทัพเมืองนครไปตีพวกแขกเซียะแตกพ่ายไป แต่ในหนังสือพงษาวดารเมืองสงขลาเรื่องรายาเมืองปัตตานีเปนขบถ กล่าวว่าขึ้นปีกุญตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ พ.ศ. ๒๓๓๔ (ตรงปีกับที่กล่าวในพระราชพงษาวดาร ว่าแขกเซียะยกกองทัพมาตีเมืองสงขลา) ว่ามีโต๊ะซาหยัด[๖] มาแต่อินเดีย สำแดงตนว่าเปนผู้วิเศษรู้เวทมนต์แลวิชาการต่างๆ จนผู้คนในเมืองปัตตานีนับถือเปนอันมาก โต๊ะซาหยัดคบคิดกับพระยา (รายา) ปัตตานี ยกกองทัพขึ้นมาตีเมืองสงขลา เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) พระยาสงขลา (บุญฮุย) ยกกองทัพเมืองนครฯ เมืองสงขลา ไปตีกองทัพเมืองปัตตานีแตกไปจากเมืองสงขลาแล้ว พระยาสงขลายกตามลงไปตีได้เมืองปัตตานีก่อน กองทัพกรุงเทพฯ จึงยกออกไปถึง ในคราวนั้นเมื่อเสร็จศึกแล้ว เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) กับพระยาสงขลา (บุญฮุย) เกิดอริกันขึ้น ถึงกราบทูลฟ้องร้องกัน ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า พระยาสงขลา (บุญฮุย) มีความชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนยศพระยาสงขลา (บุญฮุย) ขึ้นเปนเจ้าพระยาอินทคิรีฯ ให้ยกเมืองสงขลามาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แลให้กำกับหัวเมืองแขกด้วย ได้ความตามหนังสือพงษาวดารเมืองสงขลาดังนี้ ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูเห็นเรื่องราวที่แตกต่างกันตอนนี้ ไม่สมเหตุผล ทั้งที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดาร แลหนังสือพงษาวดารเมืองสงขลา แต่มีหลักฐานความจริงอยู่ ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระยาปัตตานีเปนขบถ ข้อ ๒ ได้โปรดเลื่อนยศพระยาสงขลา (บุญฮุย) ขึ้นเปนเจ้าพระยา ยกเมืองสงขลาขึ้นเปนเมืองโทขึ้นกรุงเทพฯ ได้กำกับหัวเมืองแขกชายทเลน่าในมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ จึงเปนเหตุให้ข้าพเจ้าสันนิฐานว่า เรื่องที่จริงในตอนนั้นจะเปนดังกล่าวต่อไปนี้ คือ:-

ในปีใดปีหนึ่งระหว่างปีรกาเอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑ พ.ศ. ๒๓๓๒ กับปีกุญตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ พ.ศ. ๒๓๓๔ มีโต๊ะซาหยัดเข้ามาจากต่างประเทศ มาสำแดงตนว่าเปนผู้วิเศษ จนพวกแขกชาวเมืองปัตตานีพากันเชื่อถือเปนอันมาก รายาเมืองปัตตานีซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงตั้งไว้ ได้โต๊ะซาหยัดนั้นเปนตัวคิดจึงก่อการขบถ ชักชวนพวกแขกสลัดซึ่งอยู่นอกพระราชอาณาเขตร สมทบกับแขกเมืองปัตตานียกกองทัพขึ้นมาตีเมืองสงขลา แลแต่งคนให้ไปชวนองเชียงสือ ให้ยกกองทัพญวนขึ้นมาตีทางตวันออกอิกทาง ๑ แต่องเชียงสือไม่เข้าด้วย เมื่อรายาเมืองปัตตานียกกองทัพขึ้นมาถึงเมืองสงขลา พระยาสงขลา (บุญฮุย) มีกำลังไม่พอต้านทานทัพแขก จึงหลบถอยขึ้นมาอาไศรยเมืองพัทลุง ครั้นเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ยกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชลงไปถึง กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช แลเมืองสงขลา จึงช่วยกันระดมตีกองทัพเมืองปัตตานีแตก แล้วพระยาสงขลาติดตามลงไปตีได้เมืองปัตตานี จับได้ตัวรายาเมืองปัตตานีส่งเข้ามากรุงเทพฯ เหตุด้วยพระยาสงขลา (บุญฮุย) มีความชอบเมื่อยกตามลงไปตีได้เมืองปัตตานี ประกอบกับกระแสพระราชดำริห์ ว่าเมืองนครเมืองเดียวกำกับหัวเมืองแขกทั้งน่านอกน่าใน ดูแลระวังเหตุการณ์ไม่ได้ทั่วถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนยศพระยาสงขลา (บุญฮุย) ขึ้นเปนเจ้าพระยาสงขลา ให้เมืองสงขลามาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แลให้กำกับหัวเมืองแขกข้างทเลน่าในด้วย เมืองปัตตานีก็โปรดให้แยกออกเปน ๗ หัวเมืองในครั้งนั้น เปนเมืองปัตตานี ๑ เมืองหนองจิก ๑ เมืองยะลา ๑ เมืองรามันห์ ๑ เมืองยิหริ่ง ๑ เมืองสายบุรี ๑ เมืองระแงะ ๑ แลทรงตั้งข้าราชการไทยบ้าง แขกซึ่งมีความสวามิภักดิ์บ้าง ให้เปนเจ้าเมืองทั้ง ๗ เมือง เพื่อจะมิให้เมืองปัตตานีมีกำลังคิดขบถได้ดังแต่ก่อน ส่วนเมืองนครศรีธรรมราช คงได้กำกับดูแลแต่เมืองไทรบุรีข้างน่านอกต่อมา

ครั้นอยู่มาถึงปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ พ.ศ. ๒๓๕๑[๗] เจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) มีใบบอกเข้ามาว่า ดาโต๊ะปักลันเจ้าเมืองยิหริ่งคบคิดกับพวกแขกสลัดจะมาตีเมืองสงขลา จึงโปรดให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) ยกกองทัพลงไปปราบปรามเมืองยิหริ่งเรียบร้อยดังเก่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเรื่องที่จริงจะเปนเช่นนี้



[๑] หนังสือพงษาวดารเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคิรี (ชม) พึ่งแต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๕ เปนพงษาวดารสกูลณะสงขลามากกว่าพงษาวดารเมือง สอบดูพออาไศรยเค้าเรื่องได้บ้าง แต่มีที่พลาดหลายแห่ง ความที่ข้าพเจ้ากล่าวอ้างถึงพงษาวดารเมืองสงขลาต้องใช้ความสันนิฐานประกอบ

[๒] พระยานครฯ (น้อย) นี้ ภายหลังได้เปนเจ้าพระยา มีอำนาจชื่อเสียงยิ่งกว่าผู้สำเร็จราชการเมืองนครฯ คนอื่นๆ ทั้งสิ้น บางทีจะเปนเพราะเหตุนี้ หรือบางทีจะอาไศรยหลักฐานซึ่งเปนความจริง จึงเข้าใจกันโดยมาก ดังปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์น่า ๕๙ แม้จนถึงเบอร์นี้อังกฤษ ก็ได้แต่งไว้ในหนังสือแต่เมื่อรัชกาลที่ ๓ ว่าเปนลูกเธอพระเจ้ากรุงธนบุรี หาใช่บุตรเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ไม่ เรื่องที่ปรากฎมานั้น เจ้านครฯ ถวายธิดาทำราชการฝ่ายในครั้งกรุงธนบุรีคน ๑ ชื่อเจ้าจอมมารดาฉิม ซึ่งเปนมารดาพระพงษ์นรินทร์ พระอินทรอไภย มีน้องสาวเข้าไปอยู่ฝ่ายในด้วยอิกคน ๑ จะชื่อไรไม่ปรากฎ ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารแต่ว่า เมื่อปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ เจ้าพระยาพิไชยราชา ผู้สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลกลงมากรุงธนบุรี แต่งเถ้าแก่เข้าไปขอธิดาเจ้านครฯ ผู้เปนน้องเจ้าจอมมารดาฉิมนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระพิโรธ ถึงให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตรเจ้าพระยาพิไชยราชา ครั้นต่อมาในปลายรัชกาลกรุงธนบุรีหรือเมื่อในปีแรกรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพ พระราชทานน้องเจ้าจอมมารดาฉิมนั้นแก่เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) เข้าใจกันว่า เวลานั้นพอตั้งครรภ์กับพระเจ้ากรุงธนบุรีติดไป จึงเปนเหตุให้เชื่อกันว่า พระยานครฯ (น้อย) เปนลูกเธอของพระเจ้ากรุงธนบุรี

[๓] เจ้านครเห็นจะเปนเชื่อสายชาวนครศรีธรรมราช พิเคราะห์ตามประกาศพิธีตรุศเมืองนครฯ เข้าใจว่าชื่อตัวจะชื่อ”หนู” เข้าไปถวายตัวทำราชการครั้งกรุงเก่า ได้เปนที่หลวงสิทธินายเวรมหาดเล็ก แล้วได้เลื่อเปนปลัดเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึกนั้น ตำแหน่งพระยานครฯ ว่างอยู่ หลวงนายสิทธิปลัดจึงตั้วตัวขึ้นเปนเจ้า ครองอาณาเขตรนครศรีธรรมราช จึงเรียกกันว่าเจ้านครฯ

[๔] ลูกเธอที่กล่าวตรงนี้ คือ พระพงษ์นรินทร แต่ในหนังสือเก่าเขียนครั้งรัชกาลที่ ๒ ได้พบที่เมืองนครศรีธรรมราช เขียนว่าพระพงษ์อำมรินทร ต้องกันหลายฉบับ

[๕] ตามความในหนังสือพงษาวดารเมืองตรังกานู เมืองกลันตัน ว่า เดิมเมืองตรังกานูร้างอยู่ เมืองกลันตันเปนเมืองขึ้นเมืองปัตตานี มาในราวครั้งกรุงธนบุรีนี้เอง ต่วนมาโซคน ๑ เปนเชื้อสายพระยาปัตตานีไปได้น้องสาวเจ้าเมืองยะโฮเปนภรรยา เจ้าเมืองยะโฮรักใคร่ จึงให้กำลังแกต่วนมาโซมาตั้งเมืองตรังกานูขึ้น ครั้นพระยาตรังกานู (มาโซ) มีกำลังมากขึ้น จึงชิงได้เมืองกลันตันไปเปนเมืองขึ้นเมืองตรังกานู ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฎในกฎรับสั่งพระเจ้ากรุงธนบุรีครั้งตั้งเจ้านครฯ ว่าให้ไปว่ากล่าวแต่แก่เมืองไทรบุรี แลเมืองปัตตานี ซึ่งเปนเมืองใหญ่มาแต่ครั้งกรุงเก่าแต่ ๒ เมือง

[๖] ผู้ที่เรียกว่า ซาหยัด หมายความว่าเปนเชื้อสายสืบมาแต่พระมหะหมัด

[๗] จะเปนปีกุญตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ พ.ศ. ๒๓๓๔ ดังกล่าวในพงษาวดารเมืองสงขลาไม่ได้ ด้วยเวลานั้นเจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) ยังเปนเจ้าพระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า ยังไม่ได้เลื่อยศเปนเจ้าพระยาพลเทพ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ