๖๗. เรื่องราชทูตไปเมืองจีนครั้งที่ ๒

ปีมเสงตรีศก จุล ๑๑๘๓ พ.ศ. ๒๓๖๔ เมื่อเดือน ๓ ปีมโรงโทศก ถึงฤดูสำเภาเข้ามาจากเมืองจีน ได้ข่าวว่าพระเจ้ากรุงจีนเกียเข้งสิ้นพระชนม์ แลพระเจ้ากรุงจีนพระองค์ใหม่มีราชสาสนเข้ามาฉบับหนึ่งใจความว่า พระเจ้ากรุงจีนพระองค์ใหม่ยังใช้ศักราชเกียเข้ง[๑]อยู่ มีราชสาสนแจ้งให้ประเทศที่มีพระราชไมตรีทราบทั่วกันว่า พระเจ้ากรุงจีนเกียเข้งพระราชบิดาเสวยราชสมบัติได้ ๒๕ ปีสิ้นพระชนม์ เมื่อยังมีพระชนม์อยู่ได้ทรงพระอักษรไว้ว่า ตั้งแต่ได้ราชสมบัติทรงอุสาหะทำนุบำรุงแผ่นดิน ข้าศึกศัตรูมีมาก็ได้จัดกองทัพไปปราบปรามจนราบคาบ บ้านเมืองอยู่เย็นเปนศุข เมื่อปีมโรงโทศกนี้ พระชนม์ได้ ๖๑ ปี ศักราชเกียเข้ง ๒๕ ทำบันซิ่วใหญ่ แต่บรรดาเมืองขึ้นใหญ่น้อยมาบันซิ่ว จึงโปรดให้ยกส่วยแลอากรเงินติดค้าง พระราชทานให้เปนเงินยี่สิบล้านตำลึงจีน (คิดเปนเงินไทยหกแสนสองหมื่นห้าพันชั่ง) ซึ่งยกส่วยแลอากรให้ขุนนางแลราษฎรทั้งนี้ เพื่อจะให้มีความศุขทั่วกัน ณปีมโรงโทศก ขุนนางแลเมืองขึ้นมาแจ้งว่า ฤดูฝนนี้บริบูรณ์ อาณาประชาราษฎรทำนาได้ผลมาก ก็มีความยินดีนัก เมื่อณเดือน ๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนฤดูร้อน เสด็จไปประพาสเยียมโหเปนที่สบาย ก็ยังหามีพระโรคมาเบียดเบียนไม่ ยังมีพระกำลังอยู่ ขึ้นเขาลงเขาก็แขงแรง แลสวนนี้เปนที่เย็นมาแต่ก่อน ครั้งนี้เสด็จมากลางทางเปนฤดูร้อนจึงเกิดพระโรค วานนี้ทรงม้าข้ามเนินมาถึงสวนเยียมโห ให้บังเกิดเสมหะประทะขึ้นมา ครั้นเวลาค่ำพระโรคกำเริบมากขึ้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าจะไม่คงพระชนม์ชีพแล้ว ทรงรฦกถึงความหลังอย่างพระไอยกาทรงประพฤติมา จึงสั่งขุนนางผู้ใหญ่ให้เอาหนังสือที่จดหมายบอกเหตุยกความชอบไทจือ มาตรัสบอกแก่ขุนนางผู้ใหญ่ว่า จดหมายนี้เมื่อณเดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลารุ่ง ศักราชเกียเข้งได้ ๑๘ ปี มีอ้ายเหล่าร้ายลอบเข้าไปในวัง ขึ้นบนหลังคา ไทจือเบียนเหลงพระราชบุตรยิงอ้ายเหล่าร้ายตายสองคน พวกเพื่อนพลัดตกลงมา จับได้อ้ายเหล่าร้ายหลายคน ไทจือมีความชอบจึงตั้งให้เปนเจ้าติซินอ๋อง แล้วบุตรเราคนนี้รู้จักคุณบิดามารดากล้าแขงมีสติปัญญามาก ควรจะครองราชสมบัติกรุงปักกิ่งได้ แล้วตรัสสั่งสอนติซินอ๋องว่า ธรรมดาเปนพระเจ้าแผ่นดินให้รู้จักคนดีแลคนชั่ว แลให้รักใคร่อาณาประชาราษฎร ความทั้งนี้ได้สั่งสอนอยู่เนือง ๆ ให้จำไว้จะได้รักษาบ้านเมือง เราครองราชสมบัติมาจนอายุได้ถึง ๖๑ ปีก็เปนบุญมากอยู่แล้ว อยู่ภายหลังถ้าตั้งอยู่ในคำสั่งสอน ถึงจะตายไปก็ไม่เปนห่วง แลพระเจ้ากรุงจีนแต่ก่อนซึ่งออกไปสิ้นพระชนม์นอกพระราชวังก็มีอยู่ แลที่สวนนี้เคยเสด็จไปมามิได้ขาดก็เหมือนพระราชวัง สิ้นพระชนม์แล้วให้นุ่งขาวห่มขาวแต่ ๒๗ วัน แล้วให้แจกกฎหมายประกาศป่าวร้องไปตามหัวเมืองให้จงทั่ว พระเจ้าเกียเข้งสิ้นพระชนม์เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ ศักราชเกียเข้ง ๒๕ ปีมโรงโทศก

ครั้นถึงเดือน ๖ ปีมเสงตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ จึงโปรดให้พระยาสวัสดิสุนทรเปนราชทูต หลวงบวรเสนหาเปนอุปทูต หลวงพจนาภิมณฑ์เปนตรีทูต ขุนพินิจวาจาเปนบั้นสือ ขุนพจนาพิจิตรเปนท่องสื่อใหญ่ เชิญพระราชสาสนออกไปคำนับพระศพพระเจ้าเกียเข้งฉบับหนึ่ง ทรงยินดีต่อไทจือติซินอ๋อง ซึ่งได้เสวยราชย์ใช้ยี่ห้อนามแผ่นดินว่า พระเจ้าเตากวาง ฉบับหนึ่ง ใจความว่า พระราชสาสนสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา เจริญทางพระราชไมตรีมาถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงปักกิ่งพระองค์ใหม่ ด้วยมีพระราชสาสนแจ้งเข้าไปโดยทางพระราชไมตรีว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงปักกิ่งเกียเข้งผู้ใหญ่ ตั้งแต่ได้ครองราชสมบัติมาจนสิ้นพระชนม์ พระองค์มีความอุสาหะทำนุบำรุงแผ่นดินโดยสัตย์โดยธรรม มีคุณแก่พระวงษานุวงษ์เสนาบดีอาณาประชาราษฎรยิ่งนัก ควรที่จะทำการฉลองพระเดชพระคุณตามอย่างแต่ก่อน จึงบวงสรวงเทวดาฟ้าแลดินไหว้พระไอยกาไอยกีแล้ว รับครองราชสมบัติตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าเกียเข้งผู้ใหญ่ซึ่งทรงสั่งไว้นั้น กรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยายินดียิ่งนัก จึงแต่งให้พระยาสวัสดิสุนทรราชทูต หลวงบวรเสนหาอุปทูต หลวงพจนาภิมณฑ์ตรีทูต ขุนพินิจวาจาบั้นสือ ขุนพจนาพิจิตรท่องสื่อใหญ่ เชิญพระสุพรรณบัตร ราชสาสน แลเครื่องมงคลราชบรรณาการออกมาทรงยินดี (สิ่งของเครื่องราชบรรณาการคือ) ข้างน่า อำพันทองหนักชั่ง ๑ ข้างในหนักชั่ง ๑ กรักขี ข้างน่าหนัก ๓ หาบ ข้างในหนักหาบ ๑ การบูน ข้างน่าหาบ ๑ ข้างในห้าสิบชั่ง พิมเสนเอก ข้างน่าชั่ง ๑ ข้างใน ๘ ตำลึง พิมเสนโท ข้างน่า ๒ ชั่ง ข้างในชั่ง ๑ ผลกระเบา ข้างน่า ๓ หาบ ข้างในหาบห้าสิบชั่ง แก่นไม้มะเกลือ ข้างน่า ๓ หาบ ข้างในหาบห้าสิบชั่ง สุพรรณถัน ข้างน่าหาบ ๑ ข้างในห้าสิบชั่ง นอระมาด ข้างน่า ๖ ยอด ข้างใน ๓ ยอด หางนกยูง ข้างน่า ๑๐ หาง ข้างใน ๕ หาง ปีกนก ข้างน่า ๖๐๐ ข้างใน ๓๐๐ ปีก ดีปลี ข้างน่าหาบ ๑ ข้างในห้าสิบชั่ง งาช้าง ข้างน่าสี่ลำหาบสิบสองกิ่งหนัก ๓ หาบ ข้างในสี่ลำหาบหกกิ่งหนักหาบห้าสิบชั่ง ชันปึก ข้างน่าหาบ ๑ ข้างในห้าสิบชั่ง กากกะรุนจันทบุรี ข้างน่า ๗ ตำลึงไทย ข้างใน ๓ ตำลึงไทย เปลือกสีเสียด ข้างน่าหาบ ๑ ข้างในห้าสิบชั่ง เปลือกสมุลแว้ง ข้างน่าหาบ ๑ ข้างในห้าสิบชั่ง รง ข้างน่า ๓ หาบ ข้างในหาบห้าสิบชั่ง กระวาน ข้างน่าสามหาบ ข้างในหาบห้าสิบชั่ง ฝาง ข้างน่า ๓๐ หาบ ข้างใน ๑๕ หาบ พรมวิสูตร ข้างน่า ๒ ผืน ข้างในผืน ๑ ผ้าโมรีแดง ข้างน่า ๑๐ ผืน ข้างใน ๕ ผืน พระราชสาสนมีไปในการคำนับพระศพพระเจ้าเกียเข้งอิกฉบับหนึ่งใจความว่า จัดได้เทียนใหญ่หนักเล่มละสิบชั่ง ๑๐ เล่ม หนักเล่มละห้าชั่ง ๑๐ เล่ม ธูปใหญ่หนักดอกละสิบชั่ง ๑๐ ดอก ธูปเล็กหนักดอกละห้าชั่ง ๑๐ ดอก กฤษณาอย่างดีหนัก ๑๐ ชั่ง จันทน์ชะมด หนัก ๒ หาบกับยี่สิบชั่ง ออกมาจุดเผาสักการพระศพพระเจ้าเกียเข้ง

เรื่องทางพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน ควรจะต้องอธิบายในที่นี้สักน่อย ทางพระราชไมตรีในระหว่าง ๒ พระนครนี้ มีมาตั้งแต่ครั้งเมืองศุโขไทยเปนราชธานีของสยามประเทศ แต่ลักษณที่กรุงสยามเปนไมตรีกับจีน ผิดกับเมืองญวนแลเมืองพม่า เมืองทั้ง ๒ นั้น ได้เคยทำสงครามแพัจีน จึงยอมส่งบรรณาการถวายพระเจ้ากรุงจีนเปนกำหนด แต่เมืองไทยไม่เคยทำศึกสงครามกับจีน เปนไมตรีกันด้วยการค้าขาย ข้างไทยเอาสินค้าไปขายที่เมืองจีนแลซื้อหาสิ่งของที่ต้องการใช้มาจากเมืองจีน ฝ่ายจีนก็อาไศรยได้สินค้าที่ส่งแลซื้อหาไปจากเมืองไทย จีนกับไทยจึงไปมาถึงกันตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงครองกรุงสยาม แต่เมื่อจีนมีอำนาจขยายอาณาเขตรกว้างขวางออกมาจนติดต่อกับเมืองญวน จีนตั้งจ๋งต๊กปกครองหัวเมืองเปนมณฑล ๆ การค้าขายกับต่างประเทศ ยอมให้เรือต่างประเทศเข้าได้แต่ในเมืองท่าบางแห่ง คือ ท่าเมืองกึงตั๋งเปนต้น ขุนนางจีนที่รักษาเมืองมักเบียดเบียนพวกลูกค้าที่ไปมาค้าขาย ต่อเปนเรือที่ไปในทางราชการ เช่นเรือราชทูตเชิญพระราชสาสนหรือเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน พวกขุนนางจีนจึงยำเกรงไม่กล้าเบียดเบียน อันนี้เปนต้นเหตุให้ชาวต่างประเทศที่ไปมาค้าขายกับเมืองจีนต้องไปอาไศรยแอบอ้างว่าไปในราชการ เช่นว่าไปถวายเครื่องราชบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงจีนเปนต้น ถึงฝรั่งเมื่อแรกออกมาค้าขายทางตวันออกก็ต้องทำเช่นนั้น จีนเลยตีขลุมว่าบรรดาประเทศที่ไปถวายบรรณาการเหล่านี้ ยอมเปนเมืองขึ้นของจีน จ๋งต๊กเมืองกวางตุ้งเลยตั้งตัวเปนผู้กำกับต่างประเทศที่ไปมาค้าขายตามหัวเมืองจีนข้างฝ่ายใต้ เรื่องทางไมตรีกับจีน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้โดยพิสดาร ได้พิมพ์ในหนังสือชุมนุมพระบรมราชาธิบายปรากฎอยู่แล้ว หนังสือที่ว่าเปนพระราชสาสนพระเจ้ากรุงจีนมีมา เมื่อปลายปีมโรงโทศกบอกข่าวพระเจ้าเกียเข้งสิ้นพระชนม์ที่กล่าวในตอนนี้ไม่มีราชทูตมาด้วย ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่า เห็นจะเปนแต่เจ้าเมืองกึงตั๋งคัดสำเนาประกาศฝากเรือสำเภาส่งมา บางทีจะอ้างว่าเปนพระราชสาสนก็เปนได้ แต่เห็นควรจะลงไว้เต็มสำเนาที่ปรากฎในพระราชพงษาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ผู้อ่านจะได้ทราบสำนวนจีน



[๑] วิธีนับศักราชอย่างจีนนั้น เมื่อตั้งรัชกาลใหม่ ขนานนามรัชกาลอย่างเช่นว่า “เกียเข้ง” เปนต้น แล้วนับศักราชคามลำดับปีในรัชกาล เช่นว่าเกียเข้งปีที่ ๑ ตั้งแต่ปีแรกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเสวยราชย์ แล้วนับต่อไปว่าเกียเข้งปีที่ ๒ เกียเข้งปีที่ ๓ โดยลำดับ จนเปลี่ยนรัชกาลใหม่ก็ตั้งตามนามแผ่นดินใหม่ แลนับศักราชตามนามรัชกาลใหม่เปนปีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไป เมืองยี่ปุ่นแลเมืองญวนก็ใช้นับศักราชวิธีเดียวกันอย่างนี้ ผู้ที่จะจดจาฤกศักราชถอยหลังขึ้นไป จำต้องจำลำดับพระเจ้าแผ่นดินแลจำปีรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดินได้ทุกพระองค์ ข้อที่ว่าพระเจ้าปักกิ่งองค์ใหม่ยังใช้ศักราชเกียเข้งอยู่ดังปรากฎในหนังสือนี้นั้น เพราะเหตุว่าพระเจ้าเกียเข้งสิ้นพระชนม์ในกลางปี ถ้าจะเปลี่ยนศักราชนับ ๑ ใหม่ในเวลานั้น การนับเดือนจะคลาศเคลื่อน จึงใช้นามแผ่นดินเก่าให้ตลอดปี ไปตั้งศักราชใหม่เอาวันซิวอิ๊ดขึ้นปีใหม่ตรุษจีน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ