๕๗. เรื่องบำรุงแบบแลบทลคร

ในการทนุบำรุงกรุงรัตนโกสินทรให้สมบูรณ์ด้วยประการต่าง ๆ ดังได้แสดงเหตุผลแลได้อธิบายมาแล้วถึงเรื่องการก่อสร้าง แลฝีมือช่างในตอนที่กล่าวด้วยสร้างสวนขวานั้น ยังมีการอื่นอิกหลายอย่าง ซึ่งเสื่อมทรามมาแต่เสียกรุงเก่า ได้มาทนุบำรุงให้กลับคืนดีขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๒ จะกล่าวในที่นี้เฉภาะเรื่องทนุบำรุงแบบแลบทลครไทย ซึ่งเปนเครื่องมโหรศพสำหรับพระนคร

ลครเมื่อครั้งกรุงเก่ามีเปน ๒ อย่าง เรียกว่าลครในอย่าง ๑ ลครนอกอย่าง ๑ ลครในนั้น คือ ลครผู้หญิง มีได้แต่ของหลวง[๑] ลครนอกเปนลครผู้ชาย ใครๆ จะมีก็ได้ไม่ห้าม บทลครครั้งกรุงเก่าที่ได้พบหนังสือบท แลได้เห็นจดหมายเหตุประกอบกัน ที่เปนเรื่องสำคัญสำหรับเล่นลครโรงใหญ่ก็คือ เรื่องรามเกียรติ เรื่องอุณรุท เรื่องอิเหนา นอกจากนี้ เรื่องลครนอกเล่นเช่นเรื่องสังข์ทอง ไกรทอง มณีพิไชย เปนต้น ก็มีมาตั้งแต่กรุงเก่า เมื่อกรุงเสีย หนังสือบทลครคงเปนอันตรายหายสูญไปเสียมาก ครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี ตามความที่ปรากฎในจดหมายเหตุ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงเอาเปนพระธุระทนุบำรุงให้กลับมีขึ้นทั้งลครในแลลครนอก โดยถือว่าเปนเกียรติยศสำหรับพระนคร เมื่อทรงตั้งเจ้านครฯ ให้กลับเปนเจ้าประเทศราชก็พระราชทานอนุญาตให้มีลครผู้หญิง แลถึงหาเข้ามาเล่นประชันกับลครในของหลวง เมื่อสมโภชพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกฎ[๒] เมื่อปีชวดโทศก จุลศักราช ๑๑๔๒ พ.ศ. ๒๓๒๓ แต่บทลครที่มีในครั้งกรุงธนบุรี เห็นจะหาบทกรุงเก่าที่ยังเหลืออยู่มาได้น้อย ปรากฎว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชนิพนธ์บทลครเพิ่มเติมที่ขาดฉบับขึ้นสำหรับเล่นลครหลวงบ้าง แต่ก็ไม่สู้เรียบร้อย[๓] มาถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ก็มีทั้งลครในแลลครนอก เหมือนอย่างครั้งกรุงเก่า ส่วนบทลครนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงทนุบำรุงมาก ลักษณที่ทรงทนุบำรุงบทลครในครั้งรัชกาลที่ ๑ ตามคำที่เล่าสืบกันมา แลสังเกตหนังสือที่พบปะอยู่ทุกวันนี้ เห็นต้องกันดังกล่าว ว่าโปรดให้ขอแรงบรรดาจินตกวีซึ่งมีขึ้นในเวลานั้น ให้ช่วยกันรับไปแต่งเปนตอน ๆ เรื่องที่สำคัญเช่นเรื่องรามเกียรติ เรื่องอุณรุท เรื่องดาหลัง (อิเหนาใหญ่) เมื่อจะรวมเข้าเรื่องทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขอิกชั้น ๑ จึงเรียกหนังสือบทลคร ๓ เรื่องนั้นว่าพระราชนิพนธ์ ส่วนที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ พวกจินตกวีติดต่อรวบรวมกันโดยลำพัง หนังสือกลอนซึ่งบำรุงขึ้นในครั้งรัชกาลที่ ๑ จะพึงสังเกตได้ในเวลานี้ คือ เสภาเรื่องขุนข้างขุนแผน บทลครเรื่องไกรทอง เรื่องมณีพิไชย เรื่องสังข์ทองตอนต้น ล้วนเปนหนังสือแต่งหลายสำนวนทั้งนั้น บางเรื่องจะเห็นได้ ว่าบางตอนเปนบทครั้งกรุงเก่า มาแต่งซ่อมที่ขาดเมื่อในรัชกาลที่ ๑ แต่วิธีรำลครไม่ปรากฎว่าครั้งรัชกาลที่ ๑ ฝึกหัดกวดขันเพียงไรนัก มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ การฝึดหัดวิธีรำจึงกวดขันจนได้ที่ เปนแบบอย่างของลครรำมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนบทลครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระองค์เปนจินตกวีอย่างวิเศษที่สุดพระองค์ ๑ ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ ก็ได้ทรงรับน่าที่ในหมู่จินตกวี มีพระราชนิพนธ์ปรากฎอยู่ในหนังสือที่ช่วยกันแต่งหลายเรื่อง ครั้นมาในรัชกาลที่ ๒ เมื่อฝึกหัดวิธีรำแลเล่นลครได้ดีถึงที่แล้ว บทลครที่แต่งครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมิได้แต่งเข้ากับวิธีรำ เล่นลครมักจะยืดยาวแลรำได้ไม่สดวก จึงทรงพระราชนิพนธ์บทลครขึ้นใหม่ ๗ เรื่อง คือ:-

๑. เรื่องอิเหนา ทรงแต่ต้นจนจบ รวม ๔๕ เล่ม สมุดไทย แต่เรื่องอื่นทรงพระราชนิพนธ์เฉภาะตอนที่เลือกมาสำหรับเล่นลคร คือ:-

๒. เรื่องรามเกียรติ ตั้งแต่หณุมานถวายแหวน จนทศกรรฐ์ล้มตอน ๑ ตั้งแต่ฆ่าสีดา จนอภิเศกไกรลาศตอน ๑ รวม ๓๓ เล่มสมุดไทย

๓. เรื่องไชยเชฐ ตั้งแต่ไชยเชฐไปตามช้าง จนไชยเชฐกับนางสุวิญชาคืนดีกับไชยเชฐ รวม ๓ เล่มสมุดไทย เรื่อง ๑

๔. เรื่องมณีพิไชย ตั้งแต่งูขบนางจันทร จนพระมณีพิไชยออกไปอยู่กับพราหมณ์ที่ศาลา รวม ๑ เล่มสมุดไทย เรื่อง ๑

๕. เรื่องคาวี ตั้งแต่ท้าวสรรณุราชได้ผะอบผม จนถึงคาวีฆ่าไวยทัต รวม ๔ เล่มสมุดไทย เรื่อง ๑

๖. เรื่องสังข์ทอง ตั้งแต่นางพันธุรัตได้พระสังข์มาเลี้ยง จนท้าวยศวิมลกับพระสังข์กลับจากเมืองสามล รวม ๗ เล่มสมุดไทย เรื่อง ๑

๗. เรื่องไกรทอง ตั้งแต่ไกรทองอยู่ในถํ้าชาละวัน จนกลับตามนางวิมาลาลงไปในถํ้า รวม ๒ เล่มสมุดไทย

ลักษณที่ทรงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ทราบว่าบางเรื่องแบ่งกันแต่งเปนตอน แต่ผู้ที่ได้รับแบ่งนั้นน้อยตัว ได้ยินแต่ ๓ คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แลขุนสุนทร (ภู่) ประชุมแต่งน่าพระที่นั่งหรือแต่งแล้วมาตรวจแก้น่าพระที่นั่ง แต่โดยมากนั้นทรงพระราชนิพนธ์เอง เล่ากันว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทลครเรื่องใดแล้ว พระราชทานไปให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีคิดวิธีรำทำบท บางทีบทใดรำขัดข้อง ต้องแก้บทเข้าหาวิธีรำก็มี ด้วยเหตุนี้บทลครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ จึงเล่นลครได้เรียบร้อยดี นับว่าหนังสือบทลครที่ได้เล่นกันแพร่หลาย แลลครรำที่เล่นได้แบบแผนถึงที่มีแต่รัชกาลที่ ๒ เปนต้นมา



[๑] ลครผู้หญิง พึ่งอนุญาตให้ใครๆ มีได้ไม่ห้าม เมื่อในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทรนี้ ประกาศพระราชกฤษฎีกาเรื่องนี้ ได้พิมพ์ไว้ในหนังสือเทศาภิบาล เล่ม ๘ แผ่นที่ ๔๘ วันที่ ๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๘

[๒] เรื่องลครผู้หญิงของเจ้านครฯ มีปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์น่า ๑๒๒

[๓] เรื่องบทลครครั้งกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ น่า ๑๒๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ