๔๕. เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์

การทิ้งหนังสือ หรือที่เรียกตามภาษาเก่าว่าทอดบัตรสนเท่ห์ ถือกันมาว่าเปนความผิดอย่างร้ายแรงฐานมหันตโทษแต่โบราณ ดังปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารเก่า ว่าเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีคนทิ้งบัตรสนเท่ห์ เปนเหตุให้ฆ่าขุนนางเสียมาก คติถือโทษการทิ้งบัตรสนเท่ห์ว่าเปนความผิดอย่างร้ายแรง ยังมีตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทรในครั้งนั้น

เมื่อชำระความปาราชิกคราวนั้นแล้ว ไม่ช้ามีผู้ทิ้งบัตรสนเท่ห์แต่งเปนโคลงบท ๑ ว่า

๏ ไกรสรพระเสด็จได้ สึกชี
กรมเจษฎาบดี เร่งไม้
พิเรนทรแม่นอเวจี ไป่คลาศ
อาจพลิกแผ่นดินได้ แม่นแม้นเมืองทมิฬ ๚

ได้ทรงทราบ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ผู้ที่แต่งโคลงบังอาจว่ากล่าวหยาบช้าตลอดจนถึงแผ่นดิน จึงโปรดให้สืบเอาตัวผู้ทิ้ง ได้ความว่าเปนโคลงของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร เหตุด้วยกรมหมื่นศรีสุเรนทรเปนศิษย์พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ประการ ๑ กรมหมื่นศรีสุเรนทรเปนจินตกวี[๑] ประการ ๑ กับอิกประการ ๑ คำว่า “ไป่” ใช้แทน “ไม่” ซึ่งปรากฎในโคลงบัตรสนเท่ห์นี้ กรมหมื่นศรีสุเรนทรมักทรงใช้ ได้หลักฐานดังกล่าวมานี้ จึงมีรับสั่งให้เอากรมหมื่นศรีสุเรนทรมาขังไว้ เผอิญกรมหมื่นศรีสุเรนทรมาประชวรสิ้นพระชนม์ในระหว่างที่ต้องขังอยู่นั้น จึงไม่ได้ตัดสินลงโทษอย่างใด



[๑] หนังสือที่กรมหมื่นศรีสุเรนทรได้ทรงแต่งไว้ คือ โคลงเรื่องสมโภชพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมวงษ์เมื่อในรัชกาลที่ ๑ เรื่อง ๑ กับฉันท์กล่องช้างเผือกพลาย เห็นจะแต่งถวายเมื่อคราวสมโภชพระยาเสวตรกุญชรอิกเรื่อง ๑

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ