๕๘. โปตุเกตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี

เมื่อครั้งกรุงเก่าเปนราชธานี ได้มีทางพระราชไมตรีกับฝรั่งชาติโปตุเกต ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ ปรากฎว่าได้มีทางพระราชไมตรีกับยี่ปุ่น แลฝรั่งชาติวิลันดา, อังกฤษ, สเปน แลแต่งราชทูตไทยออกไปถึงเมืองวิลันดาในยุโรปเปนครั้งแรกในแผ่นดินนี้ ถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้มีไมตรีกับฝรั่งชาติเดนมาร์ค ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือสมเด็จพระนารายน์มหาราช จึงได้มีทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศสอิกชาติ ๑ มีลูกค้าฝรั่งไปมาค้าขาย แลมีบาทหลวงเข้ามาตั้งสอนสาสนาคฤศตังอยู่ตลอดจนเวลาเสียกรุงเก่าแก่พม่าข้าศึก ในเวลาเมื่อบ้านเมืองเปนจลาจล พวกฝรั่งต่างชาติก็พากันไปค้าขายเมืองอื่น ทางพระราชไมตรีที่มีกับต่างประเทศ จึงเปนอันระงับไปคราว ๑ ในครั้งกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีเปนพระราชธุระบำรุงการสมาคม แลค้าขายกับจีนเปนสำคัญ มาถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ประจวบเวลาฝรั่งต่างชาติทำสงครามกันคราวเอมเปรอนโปเลียนที่ ๑ การสมาคมกับฝรั่งนาน ๆ จึงมีเรือลูกค้าเข้ามาลำ ๑ แต่ข้างฝ่ายไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มาจนรัชกาลที่ ๒ เห็นประโยชน์ในการแต่งเรือไปค้าขายต่างเมือง มีเรือหลวง แลเรือสำเภาเจ้านายข้าราชการ แลพ่อค้าแต่งไปค้าขายตามเมืองต่างประเทศ ทางตวันตกไปจนถึงอินเดีย ข้างใต้ลงไปจนถึงเมืองชวา ข้างตวันออกไปจนเมืองจีน มีการค้าขายเกี่ยวข้องกันยิ่งขึ้นโดยลำดับมา เรือกำปั่นหลวงชื่อเรือมาลาพระนคร หลวงสุรสาครเปนนายเรือ ออกไปค้าขายถึงเมืองหมาเก๊า[๑] ซึ่งโปตุเกตได้ไว้จากจีน โปตุเกตเจ้าเมืองหมาเก๊าเอาเปนธุระรับรองเลี้ยงดูเรือไทยโดยทางไมตรี แลสงเคราะห์ให้ได้ค้าขายโดยสดวก ครั้นเรือมาลาพระนครกลับเข้ามากรุงเทพฯ เจ้าเมืองหมาเก๊าแต่งให้กาลส มันแวนต์ สิลไวร์ เปนทูตคุมเครื่องบรรณาการเข้ามาถวายขอเจริญทางพระราชไมตรี กาลสมาด้วยเรือกำปั่นชื่ออิยันเตเปนเรือสองเสา ถึงปากน้ำเจ้าพระยาณวันพฤหัศบดีเดือน ๔ แรมค่ำ ๑ ปีขาลสัมฤทธิศก ผู้รักษาเมืองสมุทปราการบอกเข้ามาให้กราบบังคมทูลฯ ทรงพระราชดำริห์ว่าเมื่อเรือไทยออกไปค้าขายถึงเมืองหมาเก๊า เขารับรองแสดงไมตรีเปนอันดี เมื่อเขามาก็สมควรที่จะรับรองตอบแทน อิกประการ ๑ ในเวลานั้นที่ในกรุงฯกำลังต้องการหาซื้อปืนไว้สำหรับรักษาพระนคร ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าถ้ามีทางไมตรีไว้กับโปตุเกต การซื้อหาปืนจะสดวกขึ้น จึงโปรดให้อนุญาตให้เรือโปตุเกตขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ ให้ทอดสมออยู่ที่น่าบ้านพระยาสุริยวงษ์มนตรี กาลสโปตุเกตเข้ามาครั้งนั้นถือหนังสือเจ้าเมืองหมาเก๊ามีมาถึงเสนาบดี แปลออกได้ความว่า ทางพระราชไมตรีกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา กับกรุงโปตุคอลเสื่อมสูญมาช้านานแล้ว จึงแต่งให้กาลส มันแวนต์ สิลไวร์ เข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอสืบทางพระราชไมตรีต่อไป แลให้คุมสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย คือฉากเขียนรูปพระเจ้าแผ่นดินโปตุคอลแผ่น ๑ พิณอย่างฝรั่งเครื่องเงินสำรับ ๑ ระย้าแก้วมีโคมคู่ ๑ กระจกใหญ่รูปกลม ๒ แผ่น เชิงเทียนแก้วสำหรับกระจก ๒ คู่ เชิงเทียนแก้วมีโคมคู่ ๑ กระบี่ฝักกาไหล่ทองสองเล่ม สุจหนี่พื้นกำมหยี่ริมเลี่ยมเงินสำรับ ๑ ระย้าแก้วมีโคมคู่ ๑ กระจกใหญ่รูปกลม ๒ แผ่น เชิงเทียนแก้วสำหรับกระจก ๒ คู่ เชิงเทียนแก้วมีโคมคู่ ๑ กระบี่ฝักกาไหล่ทองสองเล่ม สุจหนี่พื้นกำมะหยี่ริมเลี่ยมเงินมีพรมรองสองผืน ตัวอย่างกำปั่นสองลำ แลว่าถ้าจะต้องพระราชประสงค์สงไร ก็ให้สั่งกาลสออกไป จะได้จัดหาเข้ามาถวาย หนังสือเข้าเมืองหมาเก๊ามีเนื้อความต่อไปว่า ขอให้เรือโปตุเกตได้ไปมาค้าขายในกรุงสยามโดยสดวกดังแต่ก่อน เจ้าพนักงานนำความกราบบังคมทูลทรงทราบแล้ว จึงโปรดใต้กาลสเข้าเฝ้าที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน[๒] เสด็จออกอย่างรับแขกเมืองเต็มยศ กาลสเฝ้าแล้ว ไปหาพระยาสุริวงษ์มนตรี[๓] แจ้งว่าสินค้าที่บรรทุกเข้ามาจะขอจำหน่ายเสียให้สิ้นแล้ว จะขอซื้อน้ำตาลทรายบรรทุกออกไปขายที่เมืองเกาะหมาก กาลสนั้นจะขอขึ้นอยู่บนบกก่อน พระยาสุริยวงษ์มนตรีกราบทูลฯ จึงพระราชทานอนุญาตตามความประสงค์ของกาลส กาลสได้ขึ้นอยู่ที่เรือนน่าบ้านพระยาสุริยวงษ์มนตรี พระราชทานเบี้ยเลี้ยงให้เดือนละสองชั่ง กาลสจำหน่ายสินค้าเสร็จแล้ว ซื้อน้ำตาลได้สี่พันหาบ ได้บรรทุกกำปั่นออกไปขายที่เมืองเกาะหมาก ส่วนตัวกาลสนั้นยังอยู่ในกรุงเทพฯ

ต่อมาโปรดให้พระยาสุริยวงษ์มนตรี แต่งกำปั่นมาลาพระนครบรรทุกสินค้าให้หลวงฤทธิสำแดงเปนนายเรือ แลถือหนังสือพระยาสุริยวงษ์มนตรีไปถึงเจ้าเมืองหมาเก๊าว่า ที่เจ้าเมืองหมาเก๊าแต่งใต้กาลสเปนทูตเข้ามาถวายเครื่องราชบรรณาการนั้น เมื่อกาลสเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดทำนุบำรุงกาลสให้มีที่อยู่แลพระราชทานเงินให้เปนเบี้ยเลี้ยงเดือนละสองชั่ง แลได้นำกาลสเข้าเฝ้าถวายสิ่งของแล้ว โปรดให้ลดค่าธรรมเนียมเรือให้กาลส แล้วว่าหลวงฤทธิสำแดงออกมาค้าขาย ขอให้เจ้าเมืองหมาเก๊าช่วยทำนุบำรุงด้วย แลว่าจะต้องการปืนคาบศิลาเปนอันมาก ขอให้เจ้าเมืองหมาเก๊าช่วย จัดซื้อปืนคาบศิลาให้หลวงฤทธิสำแดงคุมเข้าไปด้วย เมื่อหลวงฤทธิสำแดงกลับเข้ามา มีหนังสือเจ้าเมืองหมาเก๊าตอบมา ใจความว่าเจ้าเมืองหมาเก๊าได้ทำนุบำรุงหลวงฤทธิสำแดง ให้ได้จำหน่ายสินค้าแลจัดหาของที่ต้องพระราชประสงค์ แลได้ให้เงินรายวันแก่หลวงฤทธิสำแดงเหมือนอย่างหลวงสุรสาครออกไปเที่ยวก่อน แล้วได้ยกค่าธรรมเนียมเมืองหมาเก๊าให้ ต้องเสียแต่ค่าธรรมเนียมปากเรือ ที่เจ้าปักกิ่งตั้งขุนนางจีนมากำกับเรียกอยู่ แลได้มอบปืนคาบศิลา ๔๐๐ บอก ให้หลวงฤทธิสำแดงเข้ามา ราคาบอกละ ๘ เหรียญ แล้วว่าปืนคาบศิลาซึ่งยังค้าอยู่นั้น ยังให้ไปจัดซื้อที่เมืองบั้งกล่า จะส่งเข้ามาครั้งหลังกาลสโปตุเกตพักอยู่ในกรุงเทพฯ จนถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ พ.ศ. ๒๓๖๒ จึงกราบถวายบังคมลากลับไป[๔]พระยาสุริวงษ์มนตรีมีหนังสือให้กาลสถือไปถึงเจ้าเมืองหมาเก๊าว่า ได้พากาลสเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเสี้อผ้าให้กาลส แลยกค่าธรรมเนียมปากกำปั่นพระราชทานกาลสเปนเงิน ๓๑ ชั่ง ๓ บาทสลึง แลพระราชทานพริกไทยหนัก ๕๐ หาบ งาช้างหนัก ๒ หาบ ดีบุกหนัก ๑๕ หาบ มอบให้กาลสคุมมาเปนของพระราชทานเจ้าเมืองหมาเก๊าด้วย[๕]



[๑] ตำบลหมาเก๊า หรือ มะเกา นั้น เปนนามของภูเขายอดหนึ่งอยู่ที่ชายทเลตำบลนั้น ภาษากวางตุ้งเรียกเขายอดนั้นว่า ม่าเก๋าซัง เสียงฝรั่งเรียกตามภาษากวางตุ้ง เพราฝรั่งเอานามเขายอดนั้นเปนเครื่องหมายแทนชื่อตำบลนั้น จึงได้เรียกเมืองมะเกา หรือ ม่าเก๋า แต่ไทยเราเรียกกันแต่ก่อนว่า เมืองหมาเก๊า จึงลงไว้ตามที่ไทยเรียก

[๒] คือ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทุกวันนี้

[๓] การรับกาลสโปตุเกตครั้งนี้ พิเคราะห์ดูตามเนื้อเรื่อง ไม่ได้รับอย่างราชทูต โปรดให้เข้าเฝ้าอย่างพ่อค้าชาวต่างประเทศ แลให้พระยาสุริวงษ์มนตรีเปนผู้จัดการต้อนรับ ตลอดจนมีจดหมายตอบเจ้าเมืองหมากเก๊า เพราะพรยาสุริวงศ์มนตรีเปนพนักงานแต่งเรือไปค้าขายเมืองหมาเก๊า อยู่ในฐานเปนผู้คุ้นเคยกับโปตุเกต ไม่ใช่ได้ว่าที่พระคลัง พระยาสุริวงษ์มนตรี ได้ว่าที่พระคลังต่อเมื่อครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามา เมื่อปีมเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔

[๔] เข้าใจว่าที่กาลสอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าไปขายที่เกาะหมาก แลรับสินค้าเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ อิกเที่ยวหนึ่ง เมื่อรับซื้อสินค้าในกรุงเทพฯ บรรทุกรวางเต็มเที่ยวที่สองแล้ว กาลสจึงกราบถวายบังคมลากลับไป การที่กาลสอยู่ในกรุงเทพฯ เปนนานนั้น เชื่อได้ว่าเพื่อประโยชน์ ๓ อย่าง คือ อย่าง ๑ สืบสวนสินค้าที่จะซื้อแลขายได้ในกรุงเทพฯ อย่างที่ ๒ ที่จะทำไมตรีให้มีความคุ้นเคยชอบพอไว้กับไทย เปนทางให้โปตุเกตไปมาค้าขายได้โดยสดวก อย่างที่ ๓ เพื่อจะรับซื้อแลขายสินค้าให้ได้กำไรคุ้มค่าใช้จ่ายที่เข้ามาในคราวนั้น หรือให้กลับได้กำไรด้วย ข้อความเหล่านี้เปนคำสั่งของเจ้าเมืองหมาเก๊าทั้งนั้น ไม่ใช่ความคิดของกาลสเอง

[๕] ได้พบในหนังสือซึ่งฝรั่งแต่ง ว่าด้วยการไปมาค้าขายก้บกรุงสยาม กล่าวความต้องกันหลายเรื่อง ว่าเปนประเพณีตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาจนกรุงรัตนโกสินทร คือ ถ้าแขกเมืองต่างประเทศนำสิ่งของเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ย่อมพระราชทานของตอบแทนราคาไม่ตํ่ากว่าของที่ถวายนั้น ถ้าหากว่าเรือต่างประเทศบรรทุกสิ่งของซึ่งต้องการใช้ในราชการเข้ามา เช่นเครื่องสาตรารุธ เปนต้น ยังได้รับประโยชน์ค่าปากเรือแลภาษีสินค้าคุ้มค่ารวางอิก ไม่เอาเปรียบชาวต่างประเทศที่เข้ามาถวายสิ่งของราชบรรณาการ หรือรับบรรทุกของที่ใช้ในราชการเข้ามา ด้วยเหตุนี้ จึงได้เห็นในหนังสือพระราชพงษาวดารบ่อย ๆ รวมทั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามา ว่าครั้งนั้น ๆ ชาวต่างประเทศคนนั้น ๆ ถวายสิ่งของอย่างนั้น ๆ บางที่ถึงถวายปืนตั้งหลายร้อยกระบอกก็มี ความจริงไม่ได้เปนการถวายเปล่า ได้พระราชทานตอบแทนคุ้มหรือเกินราคาของถวายทุกราย ด้วยประเพณมีดังอธิบายมานี้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ