คำนำ

เมื่อปีชวดโทศก พ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชาธิราชเจ้า มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าตรวจชำระหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ลงพิมพ์ให้เจริญความรู้แก่ประชาชนทั้งหลาย แลหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรนั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯ ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องตอนรัชกาลที่ ๑ ไว้ในท้ายพระราชพงษาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่มตอน ๑ นอกจากนี้ยังมีหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดีฯ เรียบเรียงขึ้นไว้แต่ปีมเสงเอกศก พ.ศ. ๒๔๑๒ โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าตรวจชำระให้สมควรแก่การพิมพ์ตามพระราชประสงค์ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ชำระหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร แลได้พิมพ์ส่วนรัชกาลที่ ๑ สำเร็จแล้ว แต่ในปีฉลูตรีศก พ.ศ. ๒๔๔๔ เล่ม ๑ เมื่อตั้งต้นตรวจชำระพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ ต่อมา หนังสือเดิมมีแต่ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯ ฉบับเดียว เห็นความที่เรียบเรียงไว้ยังบกพร่องนัก จะเปนด้วยท่านรีบเรียบเรียง แลหาจดหมายเหตุครั้งรัชกาลที่ ๒ ไม่ใคร่จะได้ ครั้นจะตรวจชำระแลพิมพ์เพียงเนื้อความเท่าที่ปรากฎในฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯ เห็นว่าจะไม่เปนประโยชน์แก่ผู้อ่านดังพระราชประสงค์ ข้าพเจ้าจึงได้รั้งรอมา เพื่อจะค้นหาหนังสือจดหมายเหตุครั้งรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเข้าใจว่ายังจะหาได้ทั้งในหนังสือไทยแลหนังสือต่างประเทศ แต่ประจวบติดราชการอื่นเสียด้วย การตรวจชำระหนังสือพระราชพงษาวดารจึงเริศร้างค้างมาหลายปี แต่ก็มิได้เสียเวลาเปล่าไปจากประโยชน์ทีเดียว ด้วยในเวลาระหว่างนั้นเวลาข้าพเจ้ามีโอกาศได้ค้นหาจดหมายเหตุเก่าทั้งที่ในกรุงเทพฯ แลตามหัวเมือง ได้พบหนังสือซึ่งเนื่องด้วยเรื่องพระราชพงษาวดารในรัชกาลที่ ๒ หลายเรื่อง แต่ก็ยังมิได้ลงมือเรียบเรียง มาจนปีขาลฉศก พ.ศ. ๒๔๕๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระมหาสมณะ มีรับสั่งเตือน โดยทรงพระปรารภว่า หนังสือพระราชพงษาวดารเปนหนังสือสำคัญสำหรับบ้านเมือง แลเปนหนังสือที่แต่งยาก ด้วยผู้แต่งต้องเปนผู้มีโอกาศโดยเฉภาะจึงจะทำได้ ทรงพระดำริห์เห็นว่า ถึงแม้จะทำไม่ได้ดีพอใจทีเดียว ก็ควรข้าพเจ้าจะทำให้สำเร็จเสียสักชั้น ๑ คงจะเปนประโยชน์มิมากก็น้อย ข้าพเจ้าเห็นชอบตามที่สมเด็จพระมหาสมณะทรงพระปรารภ จึงตกลงใจว่าจะลงมือชำระหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ ต่อเล่มรัชกาลที่ ๑ ซึ่งได้ทำมาแล้ว ในเวลาปรารภนี้ พอประจวบกับที่กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ ได้รับพระราชเสาวณีในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลือกหาเรื่องหนังสือถวาย สำหรับที่จะโปรดให้พิมพ์เปนของแจกในการพระราชกุศล ทรงพระราชูทิศเปนทักษิณานุปทาน พระราชทานในงานศพหม่อมราชวงษ์หญิงแป้ว มาลากุล ณกรุงเทพ ในพระวรวงษ์เธอกรมหมื่นปราบปรปักษ์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงอุปการะเลี้ยงมาแต่ยังเยาว์ แลได้รับราชกิจสนองพระเดชพระคุณตลอดมาจนสิ้นชีพ เมื่อปีขาลฉศก จุลศักราช ๑๒๗๖ พ.ศ. ๒๔๕๗ ข้าพเจ้ามารฦกขึ้นว่า สกุลมาลากุลนี้ เปนสาขาในพระบรมราชจักรีวงษ์ อันสืบตรงลงมาแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ประการ ๑ แลได้เห็นทั้งในบานแพนกแลตัวต้นหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร ที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯ เรียบเรียงนั้น ปรากฎว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งเปนพระไอยการของหม่อมราชวงษ์หญิงแป้ว ได้ทรงเปนพระธุระช่วยเหลือแลตรวจแก้ต้นฉบับเดิมด้วยอิกประการ ๑ จึงคิดเห็นว่าถ้าพิมพ์หนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ ให้ทันเปนของพระราชทานแจกในงานศพหม่อมราชวงษ์หญิงแป้ว จะเปนการสมควรนักหนา ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ สมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระองค์ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วย โดยเฉภาะเมื่อทรงรฦกได้ว่า หนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีรับสั่งให้ตรวจชำระลงพิมพ์การยังค้างอยู่ ถ้าโปรดให้พิมพ์ ก็เหมือนกับได้ทรงบำเพ็ญการอันเปนพระราชประสงค์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงให้สำเร็จด้วยอิกส่วน ๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้ารีบตรวจชำระพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ ทูลเกล้าฯ ถวาย ข้าพเจ้าจึงได้ลงมือชำระแลเรียบเรียงพระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๒ ฉบับที่พิมพ์เล่มนี้ แต่เมื่อปีขาลฉศก พ.ศ. ๒๔๕๗ เปนต้นมา

ข้าพเจ้าขอโอกาศชี้แจงแก่ท่านทั้งหลาย บรรดาได้อ่านหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๑ ซึ่งข้าพเจ้าได้ตรวจชำระแลพิมพ์เมื่อปีฉลูตรีศกนั้นให้ทราบสักน่อยหนึ่ง ว่าเมื่อครั้งข้าพเจ้าตรวจชำระพระราชพงษาวดารรรัชกาลที่ ๑ นั้น ความตั้งใจของข้าพเจ้าเปนแต่จะตรวจชำระเรื่อง แลจัดระเบียบการเรียบเรียงให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นประการ ๑ กับเลือกเรื่องในจดหมายเหตุครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมาพบเมื่อภายหลังเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯ แต่งพระราชพงษาวดาร เติมลงให้ความบริบูรณ์กว่าฉบับเดิมอิกประการ ๑ หนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๑ ซึ่งข้าพเจ้าได้เรียบเรียงแลพิมพ์เมื่อปีฉลูตรีศกนั้น ที่จริงไม่แปลกกับฉบับที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯ ได้ทำไว้นัก ระหว่างเวลาแต่นั้นมา จนเมื่อมาจับทำพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ คราวนี้ ข้าพเจ้าได้แต่งหนังสือเรื่องอื่นๆ อันเนื่องด้วยพงษาวดาร มีอธิบายพระราชพงษาวดารกรุงเก่าเปนต้น สังเกตดูผู้อ่านพอใจที่จะทราบทั้งตัวเรื่องแลข้อวินิจฉัยในพงษาวดาร หรือถ้าจะว่าอิกอย่าง ๑ ทุกวันนี้ มีผู้เอาใจใส่ศึกษาพงษาวดารในทางวินิจฉัยใคร่ครวญคิดเหตุผลในเรื่องพงษาวดารมากขึ้น ไม่อ่านไปเปล่าๆ ดังแต่ก่อน อันนี้นับว่าเปนลาภเกิดขึ้นในการศึกษาของบ้านเมือง เมื่อมีความรู้สึกอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ ในทางที่จะให้ผู้อ่านได้วินิจฉัย แลเข้าใจเหตุผลในเรื่องพงษาวดาร เพราะฉนั้นลักษณที่เรียบเรียงจึงผิดกับหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๑ ซึ่งข้าพเจ้าได้ทำมาแล้ว ทั้งสำนวนแลวิธีเรียบเรียง จะเรียกว่าแต่งใหม่ทีเดียวก็ได้ แต่ถึงกระนั้นเนื้อเรื่องก็ยังต้องอาไศรยพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯ เปนหลักความ เพราะท่านได้รวบรวมไว้แล้ว เปนแต่แห่งใดเห็นคลาศเคลื่อนโดยมีหลักฐาน ข้าพเจ้าจึงแก้ไข กับได้เพิ่มเติมเรื่องที่มาพบใหม่เข้าหลายแห่ง ให้ความบริบูรณ์เท่าที่สามารถจะทำได้

การแต่งหนังสือพงษาวดารโดยวิธีทางวินิจฉัย มีความลำบากเปนข้อสำคัญอยู่อย่าง ๑ คือ เรื่องตอนใดที่ผู้แต่งมีความสงไสยว่าความจริงแท้จะเปนอย่างไร โดยเหตุหนังสือเก่าที่ได้พบกล่าวความไม่ต้องกันบ้าง บางทีเรื่องที่เรียบเรียงไว้แต่ก่อน พิเคราะห์ดูไม่สมเหตุสมผลในทางวินิจฉัยบ้าง ความเหล่านี้ในการตรวจชำระจำต้องลงเนื้อเห็นตัดสินว่า เรื่องที่จริงน่าจะเปนอย่างไร การตัดสินนี้ที่เปนตัวความลำบาก ด้วยผู้แต่งเช่นข้าพเจ้าเกิดไม่ทันจะรู้เห็นเรื่องหรือเหตุการณ์นั้นๆ ว่าความจริงแท้เปนอย่างไร จำต้องเดาโดยพิเคราะห์จดหมายเหตุที่พบบ้าง บางทีต้องเดาเอาแต่โดยอัตโนมัติบ้าง ในตอนที่ต้องเดาเหล่านี้ ถ้าผู้แต่งไม่ระวังตัวก็อาจจะกลายไปเปนผู้ลวงโลก แลกลับทำให้เรื่องหนังสือนั้นเสียไปด้วย การแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ มีข้อความที่ต้องตัดสินแลต้องเดาหลายแห่ง ข้าพเจ้าบอกไว้ในตัวเรื่องบ้าง ทำเปนคำอธิบายหมายเลขไว้บ้าง ข้าพเจ้าได้ตั้งใจระวังบอกหลักฐานที่พบหรือคิดเห็นอย่างนั้นๆ ด้วยเหตุใด ให้ปรากฎแก่ผู้อ่าน ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ หนังสือพระราชพงษาวดารเล่มนี้ บางแห่งจึงมีคำอธิบายหมายเลขยืดยาว อาจจะทำให้ผู้อ่านเบื่อหน่ายในการที่ต้องพลิกหาคำอธิบาย ถ้าความรำคาญเกิดขึ้นแก่ท่านผู้ใด ขอจงให้อไภยโทษแก่ข้าพเจ้า แลจงเข้าใจความวิตกอันเปนเหตุให้ต้องทำอย่างนั้นด้วย ข้าพเจ้าเชื่อว่าต่อไปภายน่า คงจะมีผู้ศึกษาโบราณคดีที่จะเอาเปนธุระตรวจสอบเรื่องพระราชพงษาวดารแลแต่งเติมแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นไปโดยลำดับ แต่หวังใจว่าผู้ที่จะตรวจสอบแก้ไขจะระวัง ด้วยความรู้สึกรับผิดชอบของผู้แต่งหนังสือพงษาวดาร ดังกล่าวมาแล้ว

การเรียบเรียงพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ ที่พิมพ์เล่มนี้ ในบรรดาข้อสงไสยแลความคิดเห็นของข้าพเจ้าประการใด ข้าพเจ้าได้กราบทูลหารือพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ เหมือนอย่างที่พระองค์ท่านกับข้าพเจ้าได้เคยช่วยกันทำหนังสือเรื่องอื่นๆ มาในน่าที่กรรมการหอพระสมุดวชิรญานแต่ก่อน แลหนังสือพระราชพงษาวดารเรื่องนี้ ท่านได้ทรงรับเปนพระธุระตรวจใบแก้ในเวลาพิมพ์ด้วยอิกชั้น ๑ แต่ทรงตรวจได้ไม่กี่ยก กรมพระสมมตฯ ก็สิ้นพระชนม์เสีย ทำให้ข้าพเจ้าว้าเหว่พ้นที่จะหาถ้อยคำมารำพรรณให้เท่าถึงความรู้สึกเสียใจได้ ผู้ที่ได้ช่วยข้าพเจ้าในการแต่งหนังสือเรื่องนี้ นอกจากกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ยังมีผู้อื่นอิก คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ได้ทรงรับธุระหารือแลช่วยทรงสอบสวนข้อสงไสยหลายครั้ง พระองค์ ๑ พระราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา เปนผู้ตรวจใบแก้ แลช่วยหาหนังสือส่วนภาษาไทยให้สอบอิกพระองค์ ๑ ดอกเตอร์แฟรงก์เฟอร์เตอร์ บรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณ ได้ช่วยหาหนังสือภาษาอังกฤษสำหรับที่จะสอบสวนคน ๑ หลวงไพรสณฑ์สาลารักษ์ (เทียน สุพินทุ) กรมป่าไม้ ได้ช่วยหาพงษาวดารพม่า ขุนบวรวรรณกิจ (เตี้ยม) พนักงานหอพระสมุดฯ เปนผู้ช่วยค้นหนังสือในหอพระสมุดฯ อิกคน ๑ ส่วนการเขียนนั้น หลวงพิพิธสุนทร (จิตร จิตตะยโศธร) เปรียญ ในกระทรวงมหาดไทย แต่ยังเปนขุนพินิจอักษร กับนายชิดพนักงานหอพระสมุดฯ ได้ช่วยข้าพเจ้าทั้งในการเขียนแลดีดพิมพ์ ซึ่งเปนการหนักแรงแก่เขาทั้ง ๒ ไม่ใช่น้อย สมควรจะแสดงอุปการกิจที่ข้าพเจ้าได้รับในการแต่งหนังสือเรื่องนี้ให้ปรากฎ

ในที่สุดข้าพเจ้าขอแสดงแก่ท่านผู้อ่านอิกครั้ง ๑ ว่าหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ ที่พิมพ์เล่มนี้ แม้ข้าพเจ้าได้ตั้งใจทำโดยเต็มสติปัญญา ก็มิได้ทนงใจว่าข้อความที่ได้แต่ง หรือความคิดที่ได้ลงไว้ จะพ้นจากความวิปลาศคลาศเคลื่อนไปทีเดียว ท่านทั้งหลายจงอ่านด้วยวิจารณปัญญา จึงจะสมควรแก่วิไสยของผู้ศึกษาโบราณคดี

อนึ่งพระราชกุศลบุญราษี ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนี ทรงบำเพ็ญในการพิมพ์หนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ เปนครั้งแรก เพื่อพระราชทานความรู้แก่ประชาชนโดยกระแสพระราชดำริห์ ดังแสดงมาแล้ว เปนพระราชกุศลอันกอปรด้วยสาระประโยชน์วิเศษทั้งในคดีโลกแลคดีธรรม กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณเชื่อว่า บรรดาผู้ที่ได้อ่านหนังสือนี้ จะถวายอนุโมทนาสาธุการทั่วกัน

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ