๕๖. เรื่องสร้างสวนขวา

เมื่อขยายเขตรพระบรมมหาราชวังออกไปแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่าพระราชวังหลวงครั้งกรุงเก่า มีสวนแลสระแก้วเปนที่สำหรับประพาสสำราญพระราชอิริยาบถข้างภายในพระราชวัง พระบรมมหาราชวังที่ได้สร้างขึ้นในกรุงรัตนโกสินทรนี้ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ก็ได้ทรงสร้างสวนสำหรับประพาศไว้ภายในพระราชวัง เรียกว่าสวนขวา แต่สวนขวาซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๑ นั้น เปนแต่ได้ขุดสระแลปลูกพระตำหนักทองที่ประทับในสระไว้หลัง ๑ กับมีพลับพลาที่เสวยหลัง ๑ อยู่ริมปากอ่างแก้ว น่าเขาก่อด้วยฟองน้ำ นอกจากนี้ยังหาได้สร้างสวนสระให้เปนที่ประพาศบริบูรณ์เหมือนพระราชวังครั้งกรุงเก่าไม่ ครั้นเมื่อได้ขยายเขตรพระบรมมหาราชวังมีที่ว่าง แลทรงพระราชดำริห์ว่าช่างฝีมือดีมีมากขึ้นแล้ว สมควรจะสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวังให้งดงามบริบูรณ์ได้ ทรงหารือพระราชดำริห์นี้กับพระราชวงษานุวงษ์แลเสนาบดี ก็เห็นชอบโดยพระราชบริหาร จึงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เปนแม่กองจัดการสร้างสวนขวา แลให้พระราชวงษานุวงษ์ ข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายในที่มีกำลังแลความสามารถ ช่วยกันรับน่าที่ในการก่อสร้างบ้าง การตกแต่งบ้าง ดังจะปรากฎรายการต่อไปข้างน่า

เรื่องสร้างสวนขวาซึ่งกล่าวมา ที่ปรากฎว่าถึงทรงหารือเสนาบดีเห็นชอบตามพระราชบริหารแล้ว จึงกะปันน่าที่ให้พระราชวงษานุวงษ์แลข้าราชการช่วยกันจัดการก่อสร้างตกแต่ง ดังนี้ ถ้าผู้อ่านเข้าใจว่าการสร้างสวนขวา เปนแต่เพียงสร้างที่ประพาศเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถเท่านั้นแล้ว ก็น่าที่จะรู้สึกประหลาดใจ ความจริง การที่สร้างสวนขวานั้น เกี่ยวแก่ราชการบ้านเมืองเปน ๒ ประการ มีปรากฎในท้องตรา[๑] ที่ได้โปรดให้มีขึ้นไปถึงเจ้าอนุซึ่งเปนเจ้านครเวียงจันท์อยู่ในเวลานั้น กล่าวในท้องตราถึงเรื่องสร้างสวนขวานั้น ว่าจะให้ปรากฎพระเกียรติยศสืบไปในแผ่นดินประการ ๑ จะดูสติปัญญาข้าราชการซึ่งเปนช่างให้ทำการไว้ฝีมือประการ ๑ ควรจะอธิบายไว้ในที่นี้ ว่าเกี่ยวด้วยราชการอย่างไร

ในข้อที่ว่าจะให้ปรากฎพระเกียรติยศนั้น จะเข้าใจความข้อนี้ต้องแลดูเหตุการณ์ถอยหลังขึ้นไปถึงเมื่อครั้งกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก ครั้งนั้นบ้านเมืองยับเยิน ทั้งที่ถูกพม่าเผาทำลายราชธานี แลกวาดต้อนผู้คนเก็บทรัพย์สมบัติไปเสียมากกว่ามาก ด้วยพม่าตั้งใจจะทำลายความเปนอิศรของสยามประเทศมิให้มีได้ต่อไป ความพินาศของเมืองไทยในครั้งนั้นย่อมทราบทั่วไปในนานาประเทศ ครั้นเมื่อไทยกลับตั้งเปนอิศรได้ แม้ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี ความประสงศ์ของไทยมีอยู่ทั่วกันที่จะให้ปรากฎแก่นานาประเทศ ว่าไทยกลับตั้งเปนเมืองมีเจ้านายปกครองเปนอิศรได้เหมือนอย่างเดิม ข้อนี้จะพึงแลเห็นได้ในเรื่องพระราชพงษาวดาร ตั้งแต่พระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้กรุงเก่าคืนจากพม่า แต่เดิมก็ทรงพระราชดำริห์จะกลับตั้งกรุงเก่าเปนราชธานี แต่ครั้นเมื่อไปทอดพระเนตรเห็นบ้านเมืองยับเยิน เกินกำลังที่จะกลับตั้งให้คืนดี แลรักษาได้ในเวลานั้น จึงลงมาตั้งเมืองธนบุรีเปนราชธานีไปพลาง ไม่ทันที่จะได้ดำริห์ถึงเรื่องสร้างราชธานีให้มั่นคง ด้วยติดทำศึกตลอดมา ชั้นแรกต้องรบพุ่งกับไทยด้วยกันเองที่แตกไปตั้งเปนต่างก๊กต่างเหล่า แล้วต้องทำศึกกับพม่า แล้วต้องปราบปรามเมืองซึ่งเคยเปนประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุทธยามาแต่ก่อน คือ กรุงกัมพูชาเปนต้น ตลอดจนเกิดวิบัติสิ้นรัชกาล ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อย้ายพระนครมาตั้งข้างฝั่งตวันออก เปนอันตกลงว่าจะเอากรุงเทพมหานครเดี๋ยวนี้เปนราชธานีต่อไป จึงเริ่มการสร้างพระนครแลพระราชวังตลอดจนวัดวาอารามทั้งปวง ทำด้วยมุ่งหมายจะให้เหมือนกรุงเก่าทุกอย่าง ความที่กล่าวนี้จะเห็นได้ด้วยแผนที่แลเนื้อความมีปรากฏในหนังสือจดหมายเก่าหลายแห่ง ยกตัวอย่าง ดังเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างพระวิหารพระศรีสากยมุนีวัดสุทัศน์ ก็กะขนาดจะสร้างให้สูงเทียบเท่าวิหารพระเจ้าพนัญเชิงที่กรุงเก่า (ดังปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์ น่า ๓๘๕) ด้วยความมุ่งหมายมีเปนข้อสำคัญอัน ๑ ที่จะให้ความปรากฎไปถึงนานาประเทศ ว่าไทยมีกำลังสร้างราชธานีได้ใหม่เหมือนดังราชธานีเดิม คติอันนี้มีตลอดลงมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ เหตุที่สร้างวัดวาอารามขึ้นเปนอันมากในรัชกาลที่ ๓ นั้นก็ด้วความนิยมอย่างเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว ที่กล่าวโดยใจความในท้องตราถึงนครเวียงจันท์ว่าจะให้เปนพระเกียรติยศนั้น หมายความดังแสดงมานี้

ในข้อที่ว่า จะดูสติปัญญาช่างที่มีฝีมือนั้น เกี่ยวแก่เรื่องบำรุงฝีมือช่างไทย เรื่องนี้ก็ต้องพิเคราะห์ความถอยหลังขึ้นไป จนถึงเมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึกเหมือนกัน เมื่อพม่าตีได้กรุงเก่า พม่าตั้งใจเสาะแสวงหาช่างไทยที่ดีมีฝีมือ กวาดเอาไปเสียเปนกันมาก เปนเช่นนี้มาแต่ครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองตีกรุงเก่าได้ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งนั้นในหนังสือพงษาวดารพม่าก็กล่าวว่า พระเจ้าหงษาวดีให้เลือกหาเก็บเอาช่างไทยไปเปนอันมาก ด้วยมีวิชาช่างหลายอย่างที่ไทยสันทัด แต่พม่าทำไม่เปน ยกตัวอย่างเช่นวิชาช่างหล่อเปนต้น[๒]

การที่พม่ากวาดเอาช่างไปนั้น ไม่ว่าช่างอย่างใดถ้าได้ตัวก็กวาดเอาไป ไม่เฉภาะแต่ช่างหล่อ เพราะฉนั้นเมื่อเมืองไทยเรากลับตั้งเปนอิศรได้ในครั้งกรุงธนบุรี ช่างที่มีฝีมือเห็นจะเหลืออยู่น้อยเต็มที ด้วยเหตุนี้จึงไม่ปรากฎสิ่งของฝีมือดีมีครั้งกรุงธนบุรี แม้แต่พระแท่นของพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ซึ่งยังมีอยู่ทุกวันนี้ ที่วัดอินทารามองค์ ๑ อยู่ที่โรงพระแก้ววัดอรุณราชวรารามองค์ ๑ ดูฝีมือก็อยู่ข้างหยาบเต็มที จึงทำให้เข้าใจว่าเพราะทำในเวลายังไม่มีช่างฝีมือดี ฝีมือช่างไทยพึ่งมามีดีขึ้นต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทรนี้ ไม่ว่าของอย่างใดๆ ที่จะพึงพบเห็นได้ในเวลานี้ บรรดาเปนของฝีมือช่างดี ที่เปนชั้นเก่าเปนของสร้างในรัชกาลที่ ๑ ทั้งนั้น เช่นเครื่องราชูประโภคเปนต้น หรือถ้าจะเลือกกล่าวแต่สิ่งของซึ่งคนทั้งหลายจะพึงเห็นได้ด้วยกันโดยง่าย เช่น บานประตูมุกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แลบานมุกพระมณฑปพระพุทธบาท ฝีมือเขียนฝาผนังพระอุโบสถวัดราชบุรณะ เหล่านี้เปนต้น เมื่อว่าโดยย่อ การบำรุงวิชาช่างต่าง ๆ เปนการสำคัญอย่างยิ่งอย่าง ๑ ในการก่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร เพราะเปนเวลาหมดช่างฝีมือดีด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว อันการบำรุงฝีมือช่าง เปนการพ้นวิไสยราษฎรจะทำได้เอง ด้วยต้องการทุนรอน ตลอดจนอำนาจในการก่อสร้าง จำต้องเปนการหลวง พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงเปนพระราชธุระเอง จึงจะรวบรวมแนะนำ แลลงทุนรอนให้ช่างทำการอันประกอบด้วยฝีมือให้ดีได้ สิ่งแลการที่จะทำเพื่อบำรุงฝีมือช่างนั้น ถ้าเปนเครื่องเงินทองของเลอียด ก็ทำเครื่องราชูประโภคตลอดจนเครื่องยศสำหรับพระราชทานผู้อื่น ถ้าเปนของเนื่องในวิชาก่อสร้างแกะสลักวาดเขียน ก็มีแต่สร้างวัดสร้างวัง เปนต้น เพราะฉนั้นการที่สร้างวัดสร้างพระราชวังครั้งรัชกาลที่ ๑ ก็ดี ในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ต่อมาก็ดี นับเนื่องในการบำรุงฝีมือช่างไทยให้กลับคืนดีขึ้นสำหรับพระนคร เพราะฉนั้นการสร้างสวนขวา ที่กล่าวในท้องตรา ว่าเพื่อจะบำรุงฝีมือช่างนั้น ที่จริงมีเหตุเนื่องด้วยราชการบ้านเมืองดังแสดงมานี้ แม้ฝีมือทำเครื่องถมซึ่งคนทั้งหลายเข้าใจกันโดยมากว่า ช่างชาวเมืองนครศรีธรรมราชทำฝีมือดี ถึงเรียกกันว่าถมนครฯ นั้น ที่จริง ก็มิใช่ช่างประจำเมืองมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า วิชาช่างถมนครฯ พึ่งบำรุงขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทรนี้เหมือนกัน ตั้งแต่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) เปนผู้สำเร็จราชการเมือง เจ้าพระยานครฯ (น้อย) เปนคนแขงแรงในการงาน ทำอะไรทำจริง แลพอใจในการช่าง เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ได้รับกระแสรับสั่งออกไปให้จัดการฝึกหัดบำรุงวิชาช่างถม ช่างถมเมืองนครฯ จึงมีฝีมือขึ้น ความที่ว่าข้อนี้ ถ้าพิเคราะห์ดูลวดลายเครื่องถมเมืองนครฯ ก็จะเห็นได้ด้วยลวดลายเครื่องถมนครฯ เปนอย่างใหม่อันมีขึ้นในรัชกาลที่ ๒ เปนต้นมา

เมื่อว่าด้วยแบบอย่างการช่างที่บำรุงขึ้นในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ ถ้าสังเกตก็จะแลเห็นได้ว่าของทำในครั้งรัชกาลที่ ๑ ลวดลายแลทรงสัณฐานถ่ายแบบมาแต่ของครั้งกรุงเก่าทั้งนั้นก็ว่าได้ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ มา ความนิยมจึงกว้างขวางออกไปใช้แบบอย่างฝรั่งแลจีนเข้ามาปะปน แผลงให้แปลกออกไปกว่าแต่ก่อน

สิ่งของซึ่งจะพึงเห็นได้ในเวลานี้ว่า เปนแบบอย่างครั้งรัชกาลไหน ข้าพเจ้าได้ทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ฯ ทรงจดประทานมาดังนี้

“การก่อสร้างซึ่งเปนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่มีอยู่ แต่ได้ซ่อมแปลงเปลี่ยนรูปไปเสียแล้วมาก ที่ยังคงเหลือแบบอย่างของเดิมปรากฎอยู่น้อย แลที่เหลืออยู่นั้นดีบ้างไม่สู้ดีบ้าง จะกล่าวถึงแต่ที่ดีพึงชมฤๅที่ควรกำหนดใจรู้ไว้ ฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ มีอยู่ดังนี้

ที่ ๑ พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง ไม่เห็นมีองค์ไหน ซึ่งคงเปนฝีมือในรัชกาลที่ ๑ นอกไปจากพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ถึงกระนั้นรูปนอกก็เปนแบบรัชกาลที่ ๓ คงได้ซ่อมแปลงในรัชกาลนั้น เหลือแต่พนักสลักลาย กับเสาไม้ในประธาน ยังคงเปนฝีมือในรัชกาลที่ ๑ แต่มิได้เปนฝีมือวิจิตรพึงชม

ที่ ๒ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสิ่งที่เปนฝีมือในรัชกาลที่ ๑ คือ:-

ก พระอุโบสถ รูปทรงเปนอย่างรัชกาลที่ ๑ แต่ลวดลายนั้นปะปนกัน เปนอันได้ซ่อมแปลงหลายคราว ลวดลายชั้นรัชกาลที่ ๑ ซึ่งยังปรากฎอยู่ก็ คือ:-

๑ ลายฐานบัทม์ ทำแต่พอดูได้

๒ ซุ้มทวารแลบัญชร ทำทรงงาม แต่ลวดลายนั้นพอประมาณ (ลายขาดในช่องนั้นทำเติมในรัชกาลที่ ๔)

๓ บานทวารประดับมุกด์ เปนฝีมือที่น่าชมอย่างยิ่ง เห็นว่าตั้งใจทำแข่งขันกับบานที่ทำครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกฐ ซึ่งอยู่ที่วิหารยอดในวัดนี้เองคู่ ๑ อยู่ที่วัดพระมหาธาตุเมืองพิษณุโลกอิกคู่ ๑

๔ ฐานชุกชีพนักทองคำ ทำแต่พอดูได้

๕ บุษบกทองคำทรงพระแก้วมรกต ทำด้วยความตั้งใจ เปนทรงงามที่หนึ่ง ซึ่งเห็นในกรุงรัตนโกสินทร

ข พระมณฑป เปนสิ่งที่ตั้งใจทำอย่างดีที่ชุดควรชมทุกอย่าง ทั้งฝีมือก็ยังมีคงอยู่มาก คือ:-

๑ นาคพลสิงห์กได เปนแบบเก่าที่สุด

๒ ยักษบนปลายพลสิงห์ งามที่สุด

๓ ฐานบัทม์ ตลอดถึงผนัง ลายงามที่สุด

๔ ซุ้มทวาร งามพอตัว

๕ บานทวารประดับมุกด์ ดีเสมอกับพระอุโบสถ

๖ ตู้พระไตรปิฎก ทรงมณฑป ประดับมุกด์งามอย่างยิ่ง

ฃ หอพระมณเฑียรธรรม ไมได้ตั้งใจทำอย่างประณีต แต่กระนั้นรูปทรงก็งามอย่างยิ่ง สิ่งซึ่งอยู่ในนั้นมีดีหลายอย่าง คือ:-

๑ ตู้พระไตรปิฎกประดับมุกด์คู่ ๑ งามหนักหนา เห็นว่าจะไม่ได้ทำสำหรับตั้งในหอนั้น เดิมจะอยู่ที่อื่น

๒ พระแท่นที่บันธมประดับมุกด์ ลวดลายอย่างพระแท่นเศวตฉัตร ซึ่งตั้งอยู่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแต่ก่อน เดิมจะใช้ตั้งในพระที่นั่งแห่งใดแห่งหนึ่ง งามมากอยู่

๓ ตู้พระไตรปิฎกลายทองใบใหญ่ ๆ นั่นทำสำหรับหอแน่ งามมากทีเดียว

ที่ ๓ วัดมหาธาตุ ได้ทำในรัชกาลที่ ๑ เหมือนกัน แต่ได้ซ่อมแปลงเสียใหม่ เปนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๓ ไปหมดแล้ว แต่ควรกำหนดใจได้อย่างหนึ่ง ว่าพระอุโบสถเปนทรงโรงมีรเบียงรอบผนังอยู่นอกเช่นนี้ เปนแบบโบราณ มีพระอุโบสถวัดชนะสงครามอิกหลังหนึ่งเปนแบบเดียวกัน ต่อมาชั้นหลังไม่ได้ทำอิกเลย

ที่ ๔ พระที่นั่งในพระราชวังบวร มีหลายองค์ที่เห็นปรากฎว่าทำในรัชกาลที่ ๑ คือ:-

ก พระวิมานสามหลัง นั่นเปนเก่าที่สุด แต่ฝีมือทำไม่ประณีต มีแต่หน้าบรรพ์แลเปนงามมาก แต่น่าดูที่ทำเปนแบบกรุงเก่าทุกสิ่งทุกอย่าง

ข พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ดูท่วงทีไม่เปนฝีมือในรัชกาลที่ ๑ เสียเลย เพราะมีเสารเบียงสี่เหลี่ยมโต ๆ ก่ออิฐทับหลังบนตพานไม้ ไว้คอสองที่หลังคาต่อ ช่างเหมือนวัดบวรสถานเสียจริง ๆ แต่ปรากฎฝีมือแน่อยู่ที่เขียนข้างใน เปนฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ แทั แลเปนฝีมืออย่างเอก น่าชมอย่างยิ่ง (มีซ่อมใหม่เสียแล้วหลายห้อง แต่ผู้ซ่อมก็เปนช่าง่ฝีมือดี ๆ พอดูได้) ถ้าไม่มีรูปเขียนข้างในนั้นเปนพยานอยู่แล้ว อยากจะดันว่าทำรัชกาลที่ ๓ ถ้าจะมีใครมาบอกว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงทำรเบียงต่อออกมาแล้ว จะต้องร้องเออยาวทีเดียวด้วยความโล่งใจ

ฃ พระที่นั่งศิวโมข ว่าทำในรัชกาลที่ ๑ เรียกพระที่นั่งทรงปืน เอาอย่างกรุงเก่า แต่เห็นวิธีทำเปนอย่างรัชกาลที่ ๓ เสียอิก รูปร่างก็เลวเต็มที คงจะได้ทำเสียใหม่แล้วในรัชกาลที่ ๓

ที่ ๕ วัดราชบุรณะ พระอุโบสถมีหนังสือเขียนไว้ที่ตัวไม้เหนือเพดาล บอกปีสร้าง บอกนามผู้เปนแม่การ คือเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ รูปทรงก็เปนโรงกลาย แบบรัชกาลที่ ๑ งามพอดูได้ ข้างในผนังแลหลังบานเขียนภาพเรื่องทั้งนั้น เปนฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ มีหนังสือจดชื่อคนเขียนแลปีเขียนทุกห้อง ดูเหมือนจะประกวดประชันฝีมือกันมาก น่าชมมาก แต่เปนรองที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์

ที่ ๖ วัดพระเชตุพน ยังมีสิ่งที่สร้างในรัชกาลที่ ๑ เหลืออยู่ดูได้ คือ:-

ก พระวิหารทิศทั้งสี่ มีลายน่าบรรพ์เปนเอก กับฐานพระพุทธรูปประจำพระวิหาร แต่ละทิศก็คิดทำอย่างงามปลาดไม่มีเสมอสอง สมกับองค์พระพุทธรูปอันงาม ซึ่งเลือกคัดเชิญมาแต่หัวเมืองเหนือ แต่ก่อนรูปเขียนมารประจญในพระวิหารเบื้องบุรพทิศ เปนฝีมือดีล้ำเลิศประเสริฐยิ่งกว่าที่ไหนหมดในพระราชอาณาจักร มีความเสียใจที่ไม่ได้รักษา ปล่อยให้หลังคารั่วจนฝนชะลอกเสียเปนอันมาก เหลืออยู่ดูได้เปนหย่อมๆ ครั้นซ่อมใหม่ก็เลยถูกลบซ้ำ ฝีมืออันประเสริฐนั้นก็สูญสิ้น น่าเสียดายเปนอย่างยิ่ง ผู้เขียนนั้นได้ทราบว่าชื่อพระอาจารย์นาค (ภิกษุ) ฝีมือยังมีอยู่อิกที่ด้านอุดหลังพระอุโบสถวัดราชบุรณะ แลที่หอพระไตรปิฎกวัดรฆัง แต่ไม่ได้ตั้งใจทำจนสุดฝีมือเหมือนมารประจญที่นี้

ข พระวิหารคดทั้งสี่ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ จึงมิได้ทำอย่างวิจิตรพิสดาร แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีแปลกปลาดที่น่าบรรพ์ ทำเปนภาพจับเรื่องรามเกียรดิแกมกับลาย ซึ่งยังไม่เคยเห็นทำน่าบรรพ์ที่ไหนมาก่อนเลย

ฃ พระระเบียง ดูประหนึ่งว่าเปนฝีมือในรัชกาลที่ ๓ แต่เข้าใจว่าทำซ่อมแปลงตามทำนองเดิม ซึ่งทำไว้แต่รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเปนความคิดอย่างวิเศษ เหตุว่าคิดวางท่าทางดี มีพระรเบียงใหญ่อยู่ชั้นใน มีพระรเบียงเล็กซ้อนชั้นนอก แต่ไม่วงอ้อมไปรอบ เลี้ยวย่อเข้าหาพระรเบียงใหญ่เสียที่ใกล้มุม เมื่อดูภายนอกทำให้เห็นมุมพระรเบียงชั้นนอกชั้นในผสมกันหลั่นลดเปนไม้สิบสอง ไม่จืดตา แต่เมื่อดูภายในเปนวงสี่เหลี่ยมเข้ากับพระอุโบสถ ไม่มีที่ไหนได้ทำเหมือนดังนี้ เปนความคิดอันดีสมควรจะสรเสริญยิ่งนัก

ที่ ๗ จัดรฆังโฆสิตาราม มีสิ่งซึ่งเปนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ ทำปรากฎอยู่ คือ:-

ก พระอุโบสถ เปนทรงแบบรัชกาลที่ ๑ รูปงามดีแต่ไม่มีลวดลายที่ประณีต

ข พระปราง ทำอย่างถูกแบบแผน ซึ่งมีในเมืองเหนือแลกรุงเก่า ไม่มีพระปรางองค์อื่นในกรุงรัตนโกสินทรที่ทำถูกต้องเหมือนพระปรางองค์นี้อิกเลย จึงเปนที่สงไสยอยู่ ว่าจะทำในรัชกาลที่ ๑ ฤๅทำไว้แล้วแต่ครั้งกรุงเก่า เอาแน่ไม่ได้ เพราะไม่มีพระปรางในกรุงรัตนโกสินทร ซึ่งทำก่อนรัชกาลที่ ๓ จะดูเทียบเคียง ถ้าจะคาดดูตามฐานที่ น่าจะว่าทำครั้งกรุงเก่า เพราะเปนของดีควรชม แต่ไปซุกอยู่ที่มุมไม่เปนที่ชวนชม ซ้ำตรงน่าโบสถ์เก่าด้วย เปนทางนำไปให้เห็นว่าทำสำหรับมากับโบสถ์เก่า แต่ถ้าจะคิดไปอิกที โบสถ์เก่าซึ่งทำอย่างเลวตามธรรมดาวัดเล็ก ๆ แถวบ้านนอกจะมีพระปรางงามถึงปานนี้ดูก็มิควรกัน ต้องเปนทำในรัชกาลที่ ๑ แต่อย่างไรก็ดี พระปรางองค์นี้เปนแบบอย่างอันดี ซึ่งมีจะดูได้ในกรุงรัตนโกสินทรแต่องค์เดียว

ฃ หอพระไตรปิฎก จับได้แน่ว่าทำในรัชกาลที่ ๑ ท่วงทีปลาดกว่าหอไตรที่ไหนหมด เปนหอฝากระดานมุงกระเบื้อง สามหลังแฝดมีชาลน่า ปลูกอยู่กลางสระ ดูเหมือนหนึ่งว่าหลังซ้ายขวา จะเปนที่ไว้คัมภีร์พระปริญัติธรรม หลังกลางจะเปนที่บอกหนังสือ ฤๅดูหนังสือ ฝีมือที่ทำหอนี้อย่างประณีตแบบกรุงเก่า มีสิ่งซึ่งควรชมอยู่หลายอย่าง คือ

๑ ชายคามีกระเบื้องกระจังเทพประนมอย่างกรุงเก่า ถ้าผู้ใดไม่เคยเห็นจะดูที่นี่ได้

๒ ประตูแลซุ้มซึ่งจะเข้าในชาลา สลักลายอย่างเก่างามปลาดตาทีเดียว

๓ ประตูหอกลางก็สลักงามอิก ต่างลายกับประตูนอก

๔ ฝาในหอกลางเขียนเรื่องรามเกียรดิ ฝีมือพระอาจารย์นาค ผู้ที่เขียนมารประจญในพระวิหารวัดพระเชตุพน ท่วงทีขึงขังนัก

๕ บานประตูหอขวาเขียนรดน้ำ ลายผูกโดยตั้งใจจะพลิกแพลงมาก แต่ดูหาสู้ดีไม่

๖ ฝาในหอขวา เขียนภาพเรื่อง เห็นจะเปนชาดก ฝีมือเรียบๆ

๗ ตู้สำหรับไว้พระไตรปิฎก ตั้งอยู่ในหอทั้งซ้ายขวามีมากมาย ใหญ่จนออกประตูไม่ได้ก็มี เขียนลายรดน้ำหลายฝีมือด้วยกันแต่ล้วนดีๆ มีฝีมือคนที่ผูกลายบานมุกด์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็หลายใบ ผู้ใดที่รักการช่างได้ไปชมที่นั้นแล้ว จะไม่อยากกลับบ้าน เปนเคราะห์ดีมากที่หอพระไตรปิฎกนี้ยังอยู่ให้ดูได้ดี ๆ ไม่พังเสีย จะต้องขอบคุณความดีของพระครูวินัยธรชม ซึ่งท่านอาไศรยอยู่ในหอนั้น คงจะได้เอาใจใส่รวังซ่อมแซมอยู่เสมอ

ที่ ๘ วัดดุสิดาราม ก็ยังคงปรากฎฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ อยู่เหมือนกัน คือทรงพระอุโบสถแลรูปเขียนภายใน แต่เปนฝีมือปานกลางทำแต่พอดูได้ไม่สู้จะประณีต

ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ การก่อสร้างซึ่งประกอบด้วยฝีมือช่างอย่างวิจิตร อยู่ข้างจะมีน้อย ด้วยสิ่งใดซึ่งควรทำก็ได้ทำเสียเสร็จแล้วแต่รัชกาลก่อน ถึงกระนั้นสิ่งที่ดีก็ยังมีชี้ให้เห็นได้อยู่บ้าง ดังนี้

ที่ ๑ วัดอรุณราชวราราม มีสิ่งที่พึงสังเกตแลพึงชม คือ:-

ก พระอุโบสถ ทำทรงคล้ายรัชกาลที่ ๑ แต่แฉล้มขึ้นกว่าสักหน่อย ยังมีเหลืออยู่ดูได้แต่สิ่งที่ทำด้วยอิฐปูน เครื่องไม้นั้นเพลิงไหม้เสียหมดแล้ว

ข พระประธานในพระอุโบสถ ลักษณะแลทรวดทรงเปนอย่างใหม่ ซึ่งพึ่งประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๒ นั้นเองเปนต้นมา

ค พระรเบียง มีอยู่ให้ดูได้บริบูรณ ทรวดทรงงามกว่าพระรเบียงที่ไหนหมด เปนศรีแห่งฝีมือในรัชกาลที่ ๒ ควรชมอย่างยิ่ง แต่ลายเขียนผนังนั้น เปนฝีมือในรัชกาลที่ ๓ ทำเพิ่มเติม

ที่ ๒ บานทวารวิหารพระศรีสากยมุนี เปนลายสลักซับซ้อนกันหลายชั้น งามวิจิตรน่าพิศวงอย่างยิ่ง เคยได้ยินพูดกันว่าเดิมได้มาแต่เมืองเหนือคู่หนึ่ง ต้องพระราชหฤทัยว่าเปนของงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำเติมขึ้นใหม่อิก ๒ คู่ ประดิษฐานขึ้นไว้ประจำพระวิหาร ภายหลังมาปรากฎขึ้น ว่าทรงจำลักด้วยฝีพระหัถแห่งพระองค์เอง แจ้งอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ เห็นจะฟังสันนิฐานผสมกันได้ ว่าเดิมได้มาแต่เหนือคู่หนึ่งจริง เพราะบานที่เรียกว่าแกะทำนองนี้ เห็นมีข้างเมืองเหนืออยู่บ้าง เช่นที่วิหารพระแท่นศิลาอาศน์ (ที่ไฟไหม้เสียแล้ว) แลเมืองฝางเปนต้น ในยุคนั้นคงจะทำประกวดประชันกันมาก ที่เรียกว่าแกะนั้นก็เปนคำควร เพราะคว้านปรุซับช้อนกันลงไปหลายชั้น ซึ่งจะใช้สิ่วอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาไศรยคมมีดมาก เมื่อได้ลายแกะอันงามมาเช่นนั้น เปนเหตุเตือนพระราชหฤไทยให้ทรงแกะสู้ เพราะพระองค์ทรงชำนาญการแกะยิ่งนัก หน้าหุ่นซึ่งทรงแกะด้วยฝีพระหัถก็มีหน้าพระใหญ่กับพระน้อยอยู่คู่หนึ่งเรียกกันว่าพระยารักใหญ่พระยารักน้อย (รักนั้นหมายความว่าแกะด้วยไม้รัก) งามไม่มีหน้าพระอื่นเสมอสอง ถ้าจะตามดู จงรวังสังเกตหน้าที่สรวมชฎานั้นแลเปนฝีพระหัถ บรรจุไว้ลุ้งเดียวกันทั้งคู่ มีอยู่อิกคู่หนึ่งซึ่งสรวมมงกุฎ นั่นไม่ใช่ฝีพระหัถ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงฤทธิทรงจัดการให้ทำขึ้นใหม่ เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดสรวมชฎา ด้วยทรงพระราชดำริห์ว่าเปนพระราชา ควรจะทรงมงกุฎ”

ผู้อ่านหนังสือพระราชพงษาวดาร เมื่ออ่านเรื่องสร้างสวนขวาควรเข้าใจความอันประกอบด้วยเหตุผลเนื่องในพงษาวดาร ดังแสดงมานี้

การสร้างสวนขวาครั้งนั้น[๓] สร้างพระมหามณเฑียรที่ประทับในสวน มีมุขสามด้านเปนที่ประทับองค์ ๑ แลให้ขุดสระใหญ่ในสวนนั้นยาว ๓ เส้น ๔ วา กว้าง ๒ เส้น ๘ วา ข้างสระนั้นลงเขื่อนแล้วก่ออิฐบังน่าเขื่อน พื้นสระนั้นให้ปูอิฐถือปูนทั่วไป ทำเหมือนอ่างแก้ว ให้ขุดท่อน้ำเปน ๓ สาย ปิดเปิดน้ำถ่ายไปได้ให้น้ำใสสอาดเปนอันดี ไม่มีเลนตม ในสระนั้นมีเกาะน้อยแลเกาะใหญ่รายเรียงไปเปนหลายเกาะ ชักตะพานถึงกัน ทำเก๋งแลก่อภูเขาไว้ริมเกาะ ๆ ละ ๒ เก๋งบ้าง ๓ เก๋งบ้าง ขอบสระใหญ่นั้นให้ก่อภูเขาทำเก๋งลงที่ลาด ๆ ท่วงทีเหมือนอย่างแพจอดไว้รอบสระ เรียกว่าแพ หลังเก๋งแพให้ปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ มีผลต่าง ๆ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพเปนแม่กองก่อภูเขาแลปลูกต้นไม้ น่าเขื่อนเพ็ชรชั้นในมีกำแพงล้อมรอบพระราชอุทยาน ริมกำแพงด้านตวันออกโปรดให้ทำเก๋งน่าถังยึดเนื่องกันไป ตั้งแต่ประตูราชสำราญลงมาด้านใต้ต้านตวันตกตลอดถึงประตูกลม แลให้ทำพระที่นั่งอย่างฝรั่งพื้นสองชั้นขึ้นองค์หนึ่งเปนที่ทรงฟังมโหรี แลทำป้อมที่ริมน้ำเปนที่จอดประทับเรือพระที่นั่งสำปั้นเก๋งใหญ่ ทำเรือเท้งเปนที่ประทับอิกแห่งหนึ่ง แลทำป้อมสูงสำหร้บทอดพระเนตรแข่งเรือ แลทอดพระเนตรในจังหวัดพระราชอุทยานนั้น แลเก๋งใหญ่ที่เสวยอิก ๓ เก๋ง แล้วโปรดให้พระยาสุริวงษ์มนตรี[๔] พระยาศรีสุริยวงษ์[๕] ทำเก๋งโรงลครขึ้นเก๋งหนึ่ง แบ่งน่าที่กันทำคนละครึ่ง ๑๕ วันก็แล้ว แล้วมอบให้พระราชวงษานุวงษ์ฝ่ายน่าฝ่ายใน แลท้าวนางผู้ใหญ่ในพระราชวังที่สมควรจะแต่งเก๋งแต่งแพได้ ให้เปนเจ้าของแต่งแพพระองค์ละแพ ฝ่ายน่าเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ๑ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ๑ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ๑ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ๑ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ๑ ให้แต่งเก๋งที่เกาะเปนส่วนของหลวง ฝ่ายในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี ๑ พระองค์เจ้าชี ๑[๖] พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านุ่ม ๑ พระองค์เจ้าพลับ ๑ พระองค์เจ้าจงกล ๑ พระองค์เจ้ามณฑา ๑ พระองค์เจ้ามณี ๑ พระองค์เจ้าดวงสุดา ๑ พระองค์เจ้าฉิมพลี ๑ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑล ๑ พระองค์เจ้าหญิงสุด ๑ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าลำภู ๑ พระองค์เจ้าไย ๑ พระองค์เจ้ายี่สุ่น ๑ พระองค์เจ้าวงษ์ ๑ พระองค์เจ้าบุบผา ๑ พระองค์เจ้าปุก ๑ พระองค์เจ้าส้มจีน ๑ พระองค์เจ้าสังวาล ๑ พระองค์เจ้าประภา ๑ พระองค์เจ้าดุสิดาอับศร ๑ พระองค์เจ้าดวงจันทร์ ๑ สองพระองค์นี้ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระองค์เจ้าประชุมวงษ์ ๑ พระองค์เจ้านัดดา ๑ สองพระองค์นี้ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ รวมพระองค์เจ้ายี่สิบเจ็ดหลัง ข้าราชการฝ่ายในเจ้าคุณนุ่น ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าคุณวังหลวง ๑ เจ้าคุณคุ้ม ซึ่งเรียกกันว่า เจ้าคุณวังน่า ๑ เจ้าคุณต่าย ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าคุณปราสาท ๑[๗] ท้าวทรงกันดาลศรี ๑ เจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งภายหลังได้เปนสมเด็จพระศรีสุลาไลย ๑[๘] เจ้าจอมมารดาศรี ที่เขาเรียกว่าเจ้าคุณพี ๑[๙] เจ้าจอมมารดาอัมพา ๑[๑๐] เจ้าจอมหงษ์บุตรเจ้าพระยาโกษฐา (สังข์) ๑ เจ้าจอมทองคำบุตรเจ้าพระยาธรรมา ๑ เจ้าจอมทับบุตรเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ๑ เจ้าจอมน้อยพระแสงบุตรพระยาสุรเสนา (ฉิม) ๑ เจ้าจอมน้อยบุตรเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ๑ เจ้าจอมน้อยใหญ่บุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) ๑ เจ้าจอมพลับบุตรพระยาศรีราชอากร ๑ เจ้าจอมหงษ์บุตรพระยาจุฬาราชมนตรี ๑ เจ้าจอมอิ่มบุตรพระยาโชฎึก ๑ เจ้าจอมบัวบุตรพระศรีสมบัติ (เลี้ยง) ๑ รวมข้าราชการฝ่ายใน ๑๘ หลัง แลเก๋งแถวร้านน่าถังก็มอบให้มีเจ้าของต่างกัน ตั้งเครื่องแก้วแขวนโคม แลตั้งโต๊ะเครื่องบูชา ตั้งตุ๊กกะตาเท่าคนนั่งบ้างยืนบ้าง ปั้นเปนลม้ายคล้ายรูปคนจริง ๆ มีชื่อต่าง ๆ นุ่งห่มแต่งตัวด้วยเครื่องทองจริง ๆ แลที่เก๋งที่แพนั้นท่านผู้เจ้าของตกแต่งประกวดประขันกันยิ่งนัก อนึ่งโปรดให้หาสัตวจัตุบาทวิบาทต่าง ๆ ควรปล่อยก็ปล่อยไว้ ควรขังก็ทำกรงถักด้วยลวดขังไว้ นกแก้ว,นกขุนทอง,นกโนรี,สัตวา นกที่จับคอนก็ห้อยแขวนไว้กุกแห่งทุกตำบล เสียงพลอดแลพูดเซงแซ่ไปในพระราชอุทยาน การทำครั้งนั้นสนุกสนานยิ่งนัก

ครั้นถึงน่าฤดูน้ำก็ให้ไขน้ำเข้ามาเต็มเปี่ยมสระ แลโปรดให้มีการฉลองสมโภชพระที่นั่งในกลางระหว่างการยังไม่สำเร็จ ให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระวันรัตน์แลพระราชาคณะอื่น ๆ สวดพระปริตพุทธมนต์ณพระที่นั่งเก๋งใหญ่ รุ่งขึ้นเช้าจึงโปรดให้แยกย้ายไปเลี้ยงตามเก๋งตามแพทุกแห่ง เก๋งละสองรูป แพละสองรูป มีลครข้างในสองโรงเล่นประชันกัน เมื่อทำเก๋งที่ประทับในพระราชอุทยานเสร็จแล้ว เชิญพระบรมสารีริกธาตุไปสมโภชบนเก๋งสูงที่ประทับเก่า เลี้ยงพระแล้วมีงานสมโภชเวียนเทียน การครั้งนั้นทำสามวัน ภายหลังมาโปรดให้ข้าราชการนิมนต์พระมาเลี้ยงทุก ๆ ปี การในสระแลเก๋งนั้น ก็ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไขทำมาโดยลำดับ เวลากลางวันเสด็จออกทอดพระเนตรพวกช่างทำการ ครั้นเวลาพลบค่ำสิ้นราชการแล้ว ก็เสด็จประพาสลงเรือพระที่นั่งสำปั้นน้อย เจ้าจอมพายนุ่งยกไหมบ้างแพรบ้าง สวมเสื้อแลผ้าห่มแพรสลับสีต่าง ๆ คาดเข็มขัด ลงเรือสำปั้นลำละหกคน เรือเจ้าคุณวังหลวงลำ ๑ เจ้าคุณวังน่าลำ ๑ เปนเรือตำรวจไปน่า เรือปี่พาทย์สองลำ เรือดั้งสี่ลำ เรือพระที่นั่งรองลำ ๑ เรือมหาดเล็ก เจ้าจอมแลคนรำพายลำละหกคน ๑๒ ลำ เรือพระองค์เจ้าบ้าง เรือเจ้าจอมมารดาเปนเจ้าของบ้าง ข้าราชการฝ่ายในที่เปนญาติพวกพ้องเปนคนพาย เรียกว่าเรือต่างกรม ๒๐ ลำ เรือข้าราชการ ๘ ลำ คือ เรือเจ้าคุณปราสาทลำ ๑ เจ้าคุณพีลำ ๑ ท้าวสมศักดิมณีลำ ๑ เจ้าจอมมารดาเรียมลำ ๑ เจ้าจอมมารดาตานี[๑๑]ลำ ๑ เจ้าจอมมารดาอู่ลำ ๑ เจ้าจอมมารดานิ่มลำ ๑ เจ้าจอมทองคำบุตรเจ้าพระยาธรรมา ๑ พายตามเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรเก่งแลแพที่เจ้านายข้าราชการแต่งไว้ทั่วทุกแห่ง แลลดเลี้ยวไปตามเกาะใหญ่น้อยนั้น ๆ ครั้นเสด็จขึ้นที่ประทับแล้ว เสด็จประทับเก๋งแพใหญ่นาฦกกว่าทุกแห่ง มีปี่พาทย์มโหรีทำด้วย มีพระราชดำรัสสั่งให้ข้าราชการฝ่ายในพายเรือแข่งกัน แลแล่นไล่กันตามหว่างเกาะ ถ้าเรือที่อยู่โยงออกไล่จับได้ลำหนึ่ง ผู้แพ้ต้องเสียเงินให้ผู้ชนะสามสลึง แล้วเรือลำที่แพ้นั้นออกไล่ต่อไป จับเรือลำอื่นได้ก็ได้เงินสามสลึงเหมือนกัน เมื่อจับกันได้พามาที่เสาโยง มีรับสั่งให้คนรำเล็ก ๆ ที่ยังพายเรือไม่ได้ร้องเปนลำ ๆ ต่าง ๆ ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ว่าเยาะเย้ยถึงคนถือท้ายแลเจ้าของเรือลำนั้น ถ้าจับกันไม่ได้เรือหนีเข้าโยงหมดสามเที่ยว เรือไล่นั้นก็ต้องถูกปรับโทษให้รำบ้าง ให้ออกลิงออกยักษ์บ้าง ให้สวมเทริดโมงครุ่มแลสวมงอบบ้าง สวมหน้ากากข้างหลังบ้าง สวมหน้าโขนบ้าง เปนหน้าเนื้อบ้าง ให้พายเรือไล่จับกันต่อไป เรือลำใดพายไม่สู้แขงแรงเขาจับได้หลายหนก็ต้องปรับโทษให้เต็มลำเหมือนที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่บรรดาเรือทั้งปวง จำสำคัญโคมกันได้ทุกลำ ด้วยว่าโคมไม่เหมือนกันสักลำเดียว เล่นอยู่จนเวลาเจ็ดทุ่มเคษ แปดทุ่มจึงเลิก แล้วโปรดให้จ่ายเงินหลวงให้ผู้จับลำละสามสลึงทุกลำ

ครั้งนั้นโปรดพระราชทานเงินให้เจ้าคุณวังหลวง เจ้าคุณวังน่า เจ้าคุณปราสาท เจ้าคุณพี เจ้าคุณตานีที่เขาเรียกว่าเจ้าคุณวัง แลท้าวนางผู้ใหญ่ทำของนั่งร้านขายหมี่หมูแนมไส้กรอก ลูกบัวถั่วริสง ขนมต่างๆ วางขายอยู่ที่ร้าน่าถึงบ้างที่แพบ้าง พวกที่ไปเล่นเรือพากันซื้อมาเลี้ยงกันเปนหมู่ๆ ดูสนุกสนานชื่นบานสำราญใจทุกคน พระองค์เจ้าท้าวนางเจ้าจอมมารดาที่เปนเจ้าของเรือ ที่ไม่พอใจซื้อ ก็จัดหาของกินมาเลี้ยงคนพายเรือของตัว ถ้าเรือล่มก็ให้ผ้าผลัด แล้วกลับลงพายเรือเล่นใหม่ เสด็จอยู่บนพระที่นั่งเก๋งทอดพระเนตรลครบ้าง มโหรีบ้าง ศักรวาดอกสร้อยบ้าง เสียงร้องแลเสียงขับไพเราะเปนที่เพลิดเพลินบรรเทิงพระราชหฤไทยเนืองๆ

ถึงฤดูเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เสด็จลงทรงลอยพระประทีปที่พระตำหนักแพแล้วเสด็จกลับขึ้นมามีการแห่ผ้าป่าที่ในสระ พระองค์เจ้าที่มีแพต้องเกณฑ์เรือผ้าป่าองค์ละลำ เครื่องเล่นแห่ผ้าป่ามีเรือแห่ ครูลครแต่งเปนขุนนางสวมเสื้อเข้มขาบลงเรือกันยาจำอวดพายคนละลำ เรือจำอวดแต่งเปนพม่าเลี้ยงลิง พวกจำอวดเล็กๆ เปนลิงตีกระบี่กระบองสองลำ เรือลครปันโยจำอวดลำ ๑ ทวายผู้หญิงลำ ๑ เรือศักรวาวังหลวงบัวพระสมุดลำ ๑ วังน่าครูลครลำ ๑ เรือศักรวาท่านผู้หญิงอู่ภรรยาเจ้าพระยาอภัยภูธรลำ ๑ ท่านผู้หญิงเพียนภรรยาเจ้าพระยาโกษา(สังข์) ลำ ๑ เรือเพลงอำแดงเสมลำ ๑ อำแดงมาลำ ๑ เรือพระองค์เจ้ากุ[๑๒]ขายขนมลำ ๑ เมื่อเสร็จการเล่นในเวลากลางคืน เวลาเช้าก็ให้ส่งกระจาดผ้าป่าออกไปถวายพระสงฆ์

ครั้ง ๑ ทรงพระราชศรัทธาให้นิมนต์พระราชาคณะหลายรูป เข้าไปลงเรือสำปั้นลำละสองรูปบ้างสามรูปบ้าง ให้ฝีพายเข้าไปพายน่าคนหนึ่งท้ายคนหนึ่ง พายเที่ยวรับบิณฑบาต เจ้าของแพออกนั่งถวายบิณฑบาตทุกแพ รับบิณฑบาตแล้วพระสงฆ์นั่งฉันไปในเรือ ฝีพาย ๆ เรือเที่ยวลดเลี้ยวไปให้ดุตามเกาะตามเก๋งแพทุกเกาะ เพื่อให้เจริญอาหารกิจแก่พระภิกษุสงฆ์ การที่ประพาสเล่นนั้นก็เสด็จเสมอมา ครั้นทำเก๋งแลสระเสร็จแล้ว ถึงวันตรุษก็แต่งเก๋งแต่งแพ ข้างในแต่งตัวเสร็จแล้วสวมมงคลย่นพายเรือเล่นไล่แต่เวลาบ่าย ๓ โมงไปเสมอทุกวัน โปรดให้เจ้าต่างกรมฝ่ายน่าบางพระองค์ กับขุนนางที่เปนคนคุ้นเคยสนิทในพระองค์เข้าไปเฝ้าในเก๋งเนือง ๆ แลในเวลานักขัตฤกษ์พระราชทานอนุญาตให้ราษฎรผู้หญิงเข้าไปดูได้ตามสบายไม่ห้าม แต่งเก๋งคราวหนึ่งก็ประพาศไปหลายๆ วันจึงเลิก ปีหนึ่งแต่งเก๋งคราวหนึ่งสองคราวบ้าง ถ้าชาวต่างประเทศแลหัวเมืองประเทศราชใหญ่น้อยเข้ามาเฝ้า ก็โปรดให้เจ้าพนักงานพาเข้าไปชม ความงดงามของสวนขวา ซึ่งสร้างขึ้นในครั้งนั้น เปนที่สรรเสริญพระเกียรติยศเลื่องฦๅปรากฎไปในนานาประเทศ

การที่พรรณนาด้วยเรื่องแบ่งน่าที่สร้างแลแต่งสวนขวา ตลอดจนลักษณเสด็จประพาศ ดังกล่าวมานี้ ที่จริง ไม่เปนข้อสำคัญในทางพงษาวดาร ใจความก็เพียงแต่ว่า โปรดให้ผู้นั้น ๆ ช่วยกันสร้างแลแต่งสวนขวา แลเมื่อสร้างสวนขวาแล้วเวลาว่างราชการ เสด็จลงประพาศเปนวัน ๆ บ้าง บางทีเวลาเทศกาลนักขัตฤกษ์ ก็มีการบำเพ็ญพระราชกุศล แลมีการเล่นให้เปนที่รื่นเริงในสวนขวานั้นบ้าง แต่เรื่องนี้เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯ ท่านอุส่าห์สืบสวนมาเรียบเรียงเล่าไว้ถ้วนถี่มาก เมื่อข้าพเจ้าแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ คราวนี้ มีผู้ซึ่งได้เคยอ่านพระราชพงษาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯ หลายคนอยากจะให้คงความตอนนี้ไว้ ด้วยเสียดายเกรงเรื่องจะสูญเสีย ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย จึงคงไว้ เปนแต่แก้ไขถ้อยคำบ้างเล็กน้อย กับเพิ่มเติมความซึ่งปรากฎในหนังสือพระราชวิจารณ์เข้าบ้าง



[๑] สำเนาท้องตราฉบับนี้ ได้พิมพ์ไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ น่า ๔๓๐

[๒] มีเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ทราบเอง จะนำมาสาธกไว้เปนอุทาหรณ์ คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาวัดเบญจมบพิตร ต้องพระราชประสงค์พระพุทธรูป อันเปนฝีมือช่างต่างชาติต่างสมัย มาตั้งเปนพระรเบียง ข้าพเจ้าอยู่ในผู้ซึ่งมีหนัาที่เสาะหาพระพุทธรูปคน ๑ คิดอยากจะได้พระพุทธรูปฝีมือพม่ามาถวาย จึงวานห้างบอมเบพม่า ซึ่งเปนห้างทำป่าไม้สักอยู่ทั้งที่เมืองพม่าแลในกรุงสยามนี้ ให้ช่วยเสาะหาพระพุทธรูปหล่อ ตามขนาดที่ต้องพระราชประสงค์ในเมืองพม่า เขาพยายามหามาถวายได้ แลแจ้งว่าพระพุทธรูปนั้นพม่าบอกว่าเปนฝีมือช่างไทย ซึ่งพม่าได้ไปครั้งตีกรุงเก่า หล่อตามแบบอย่างพระพุทธรูปพม่า พระพุทธรูปองค์นี้ ยังตั้งอยู่ที่พระรเบียงวัดเบญจมบพิตรจนทุกวันนี้ ข้อที่กล่าวว่าเปนฝีมือช่างไทย ข้าพเจ้าไม่มีหลักฐานทั้งที่จะเห็นชอบด้วย หรือจะคัดค้าน จนได้อ่านหนังสือจดหมายเหตุของครอเฟิด ซึ่งเปนทูตอังกฤษไปเมืองพม่าเมื่อตรงสมัยในรัชกาลที่ ๓ แต่งไว้ ได้ความว่า พระพุทธรูปในเมืองพม่า โดยมากสลักด้วยศิลาทั้งแท่ง หรือปั้น หรือมิฉนั้นก็แกะด้วยไม้ ด้วยพม่าไม่สันทัดวิชาหล่อพระพุทธรูปเหมือนกับไทย เมื่อได้ความดังนี้ จึงแลเห็นว่า พระพุทธรูปที่ได้มาจากเมืองพม่า เห็นจะเปนฝีมือช่างไทยจริง ด้วยเปนพระขนาดใหญ่ มีน้อยองค์ คงจะเปนของซึ่งแปลกประหลาดของพวกพม่า จึงได้จำเรื่องราวเล่าสืบต่อกันมาได้

[๓] เรียกว่าสวนขวา เพราะอยู่ฝ่ายขวาพระราชมณเฑียร สวนนั้นทุกวันนี้รื้อเสียหมดแล้ว เรื่องสวนขวานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายถึงการเมื่อแรกสร้างแลที่แก้ไขเมื่อในรัชกาลที่ ๔ มีแจ้งอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์ น่า ๔๒๖ เขตรสวนขวาจะพึงสังเกตได้ในทุกวันนี้กำหนดตั้งแต่ถนนตรงประตูราชสำราญขึ้นมาข้างเหนือถึงเขื่อนเพ็ชรโรงแสง ซึ่งเดี๋ยวนี้อยู่หลังพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญด้านตวันออก แนวประตูแถลงราชกิจ ไปหาพระที่นั่งศิวาไลย ด้านตวันตกแนวประตูกลม ซึ่งยังเปนขอบเขตรอยู่จนทุกวันนี้

[๔] คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์ แต่ยังเปนจางวางมหาดเล็ก

[๕] คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ แต่ยังเปนจางวางมหาดเล็ก

[๖] พระองค์เจ้าชีนี้ เปนธิดาพระเจ้าขุนรามณรงค์ ซึ่งเปนพระเชษฐาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาพระเกียรติยศพระอัฐิพระองค์เจ้าชีให้มีพระนามว่า กรมขุนรามินทรสุดา

[๗] เจ้าคุณทั้ง ๓ นี้เปนเจ้าคุณชั้นสัมพันธวงษ์ พี่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์

[๘] คือสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

[๙] เจ้าคุณพีนี้ เปนธิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด บุณยรัตพันธุ์)

[๑๐] เจ้าจอมมารดาอัมพานี้ เปนเจ้าจอมมารดากรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ

[๑๑] เจ้าจอมมารดาตานีนี้ เปนธิดาเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ต่างมารดากับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์ แลเปนเจ้าจอมมารดากรมหมื่นสุรินทรรักษ์

[๑๒] พระองค์เจ้ากุนี้ ที่เรียกกันว่าเจ้าครอกวัดโพ เปนพระเจ้าบรมวงษ์ในรัชกาลที่ ๒ แลปรากฎพระนามทรงสถาปนาในรัชกาลที่ ๔ ว่ากรมหลวงนรินทรเทวี

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ