๑๗. เรื่องให้เจ้านายกำกับราชการ

เมื่อเสร็จการศึกพม่าแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดให้เจ้านายมีน่าที่กำกับราชการกระทรวง[๑]ต่างๆ หลายพระองค์ การเรื่องนี้ตามที่แสดงไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ว่าโปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เปนผู้สำเร็จราชการ แลพระราชทานพระราชวังเดิมข้างฝั่งตวันตกให้เปนที่ประทับ ให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์สำเร็จราชการมหาดไทย ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ สำเร็จราชการกลาโหม แลให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร (คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) สำเร็จราชการกรมพระคลัง (คือ กรมท่า) ดังนี้ แต่ตามความที่ข้าพเจ้าได้สดับมา แลที่ได้พบในหนังสือเก่าครั้งรัชกาลที่ ๒ ที่ได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราชเปนต้น เข้าใจว่าความที่กล่าวไว้ในพระราชพงษาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ เคลื่อนคลาศอยู่บ้าง

เรื่องเจ้านายกำกับกระทรวงราชการ ไม่ปรากฎว่ามีมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ จึงยุติว่าพึ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๒ เปนปฐม แลเปนแบบอย่างต่อมา เหตุใดจึงโปรดให้เจ้านายมีน่าที่กำกับกระทรวงราชการ ความข้อนี้ไม่พบจดหมายเหตุที่จะถือเปนหลักฐาน ได้แต่สันนิฐาน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเปนด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ จะเปนด้วยเมื่อจัดกองทัพไปรบพม่า เมื่อปีมเสงเอกศก จะมีการบางอย่างไม่เปนไปได้ดังพระราชประสงค์ ด้วยข้าราชการซึ่งเปนเจ้ากระทรวงต่างๆ หย่อนความสามารถ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ต้องการกำลังช่วยคิดอ่านอุดหนุนราชการในกระทรวงนั้นๆ จึงทรงเลือกสรรเจ้านายซึ่งมีความสามารถ แลเปนที่ไว้วางพระราชหฤไทยไปช่วยราชการต่างกระทรวง หรือมิฉนั้นประการที่ ๒ ในเวลานั้นเจ้านายที่เจริญพระชนมายุแลความสามารถมีหลายพระองค์ จะทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ให้มีน่าที่ประจำราชการอย่างใดเสียบ้าง ดีกว่าทิ้งไว้ให้อยู่เปล่า จึงทรงเลือกสรรเจ้านายซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤไทยในความสามารถให้ไปช่วยราชการต่างกระทรวง ข้าพเจ้าสันนิฐานว่ามูลเหตุที่โปรดให้เจ้านายไปกำกับราชการต่างกระทรวง งามจะเปนด้วยเหตุ ๒ ประการดังกล่าวมานี้ ลักษณที่เจ้านายกำกับราชการเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ นั้น พิเคราะห์ดูตามความที่ปรากฎในหนังสือเก่า ดูเปนทำนองที่ปฤกษาของเสนาบดีหรือผู้เปนหัวน่าในกระทรวงทบวงการนั้นๆ คือ ถ้าเจ้ากระทรวงจะทำการอันใด ต้องทูลปฤกษาหารือเจ้านายซึ่งทรงกำกับราชการกระทรวงนั้นก่อน ส่วนกระแสพระราชดำริห์ ก็ทรงปฤกษาเจ้านายผู้กำกับกระทรวงนั้นด้วยเหมือนกัน เข้าใจว่าลักษณการกำกับเปนเช่นกล่าวนี้

อนึ่งราชการต่างๆ เมื่อในรัชกาลที่ ๒ นั้น ตามความที่ข้าพเจ้าได้สดับจากผู้หลักผู้ใหญ่เล่าหลายปาก ยุติต้องกันว่า เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลยังมีพระชนม์อยู่ เสด็จลงมาช่วยดูแลราชการต่างพระเนตรพระกรรณเสมอ เวลาเสด็จลงมาประทับที่โรงลครข้างด้านตวันตกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[๒] เพราะฉนั้นจึงเห็นว่า ถ้าหากว่ามีตำแหน่งซึ่งควรเรียกว่าผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณ อย่างเรียกในพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ก็คือ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงบัญชาการในตำแหน่งนั้น มิใช่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ๆ จะได้ทรงบัญชาก็ต่อเมื่อกรมพระราชวังบวรสวรรคตแล้ว ส่วนเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีนั้น ตามที่ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้พระราชทานพระราชวังเดิมให้เปนที่ประทับจริง แต่ราชการที่ได้ทรงกำกับนั้น คือ ราชการมหาดไทย แลกรมวัง ต่อเมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์แล้ว เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์จึงได้ทรงกำกับราชการมหาดไทย ราชการกลาโหมนั้น ตามความที่ปรากฎในหนังสือเก่าครั้งรัชกาลที่ ๒ ที่ได้พบที่เมืองนครศรีธรรมราช ทำให้เข้าใจว่า ทั้งเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ แลกรมหมื่นศักดิพลเสพได้ทรงกำกับเกี่ยวข้องราชการกลาโหมในตอนแรกด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ ส่วนกรมพระคลังนั้น ความที่ได้ทราบยุติต้องกับในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกำกับมาแต่แรก ตั้งแต่ยังไม่ได้รับกรม[๓] ยังมีเจ้านายพระองค์อื่นอิก ที่ทราบว่าได้กำกับราชการ แต่หาได้ลงไว้ในพระราชพงษาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ไม่ คือ กรมหมื่นเทพพลภักดิ กับ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ แต่ยังไม่ได้รับกรม (ในหนังสือเก่าครั้งนั้นเขียนว่าเจ้าครอกไกรสร) ได้กำกับกรมพระคชบาลด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทรได้กำกับกรมเมือง นอกจากเจ้านายที่ได้ออกพระนามมานี้ เห็นจะมีเจ้านายพระองค์อื่นอิก ที่ได้กำกับราชการเมื่อในรัชกาลที่ ๒ แต่ข้าพเจ้าไม่พบหลักฐานที่จะแสดงได้



[๑] ในพระราชพงษาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ว่าเมื่อปีมเมียโทศก จุลศักราช ๑๑๗๒ พ.ศ. ๒๓๕๓ แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเปนปีมแมตรีศก ภายหลังงานพระบรมศพ

[๒] โรงลครนี้อยู่มาจนรัชกาลที่ ๕ พึ่งรื้อเอาที่ทำสนามหญ้าไม่ช้านัก

[๓] มีจดหมายเหตุอาลักษณชัดเจน ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับกรมต่อเมื่อปีรกาเบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ