๘๔. เหตุการณ์เบ็ดเตล็ดในรัชกาลที่ ๒

ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ยังมีจดหมายเหตุเบ็ดเตล็คลงไว้ตามระยะปีอิกหลายเรื่อง ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนแต่เรื่องละเล็กละน้อย จึงไม่ได้แต่งลงในเนื้อเรื่อง แต่ไม่ควรจะยกเสีย จึงรวมมาลงไว้เปนหมวด ๑ ต่อไปนี้คือ:-

ปีมเมียโทศก จุลศักราช ๑๑๗๒ พ.ศ. ๒๓๕๓

๑) เดือน ๓ น้ำในแม่น้ำเค็มขึ้นไปถึงบางพูด เหนือปากเกร็ด

๒) เจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร สิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทรนี้ เปนพระธิดากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เจ้าศิริรจจาน้องพระเจ้าเชียงใหม่ (กาวิละ) เปนเจ้าจอมมารดา จึงโปรดให้เปนเจ้าฟ้า แลได้เปนกรมมาแต่ในรัชกาลที่ ๑

ปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ. ๒๓๕๔

๑) วันพุฒ เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ เห็นดาวหางทางทิศพายัพ เห็นอยู่จนเดือน ๒ แรม ๗ ค่ำ จึงหายไป ดาวหางที่เห็นคราวนั้น ผู้ที่จำได้ว่าใหญ่ผิดกว่าดาวหางซึ่งเห็นมาแต่ก่อน สังเกตเหตุการณ์ว่ามีแต่โคกระบือเกิดเปนไข้รบาด

๒) เมื่อณเดือน ๑๑ นั้น มีการแห่พระกฐินเปนการใหญ่ โปรดให้จัดเรือกระบวนแห่ผ้าไตรที่จะพระราชทานพระกฐินแลไตรปีรอบพระนคร ให้แต่งเรือกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่ เรือเอกไชยเรือกิ่งพระที่นั่งเรือประกอบ ทรงไตรพระกฐินบ้างไตรปีบ้าง เรือกราบแลเรือต่าง ๆ ฝีพายสวมเสื้อแดงหมวกแดงกางเกงสีต่าง ๆ ทุกลำ เกณฑ์ข้าราชการให้ทำเรือแห่ ก็คิดประดิษฐ์ทำต่าง ๆ กัน เปนเรือจรเข้ เรือปลา เหรา เรือมังกรรูปสัตวน้ำต่าง ๆ มีเครื่องเล่นไปในลำเรือประกวดประขันกัน คนขี่จรเข้ คนขี่ปลา คนเกิดในหอย เปนการเอิกเกริกเหมือนอย่างครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานเงินหลวงแจกคนละสลึง สิ้นเงิน ๓๐ ชั่งเศษ

ปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๗๔ พ.ศ. ๒๓๕๕

๑) วันพฤหัศบดี เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ช้างพลายกระซึ่งเจ้านครเวียงจันท์ (อนุ) ถวายมาถึงกรุงเทพฯ โปรดให้ขึ้นระวางเปนพระบรมนาเคนทร์

๒) กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์สิ้นพระชนม์ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์นี้ พระนามเดิมเรียกว่าหม่อมมุก เปนบุตรเจ้าพระยามหาสมบัติครั้งกรุงเก่า ทรงสถาปนาพระเกียรติยศขึ้นเปนเจ้า แลรับพระสุพรรณบัตรเปนกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์แต่ในรัชกาลที่ ๑ เพราะเปนพระภัศดาพระองค์เจ้ากุ ซึ่งทรงสถาปนาพระนามเปนกรมหลวงนรินทรเทวี เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เปนพระเจ้าน้องนางเธอในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑

๓) เดือน ๔ เกิดความเรื่องพระอินทรอไภยเปนชู้กับเจ้าจอมในวัง ให้ประหารชีวิตร พระอินทรอไภยนี้ เปนลูกเธอเจ้ากรุงธนบุรีร่วมมารดากับพระพงษ์นรินทร์ มารดาเปนธิดาเจ้านครศรีธรรมราช เรียนวิชาเปนแพทย์ทั้ง ๒ คน โปรดให้มีเกียรติยศเปนพระพงษ์นรินทร์ คน ๑ พระอินทรอไภยคน ๑ ทำนองเปนตำแหน่งราชินีกูล ได้พระราชทานพานทองมีบันดาศักดิรองเสนาบดี แต่จะได้เปนในรัชกาลที่ ๑ หรือที่ ๒ ไม่ทราบแน่

มีในจดหมายเหตุทรงจำฯ เรื่องพระราชวิจารณ์ น่า ๒๔ ว่าพระพงษ์นรินทร์บวชในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ แห่ผนวชพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ นักพระองค์เอง แลพระพงษ์นรินทร์อยู่ท้าย ได้ใส่ชฎาเบี่ยง กรรเจียกทัด แลเห็นได้ว่าทรงยกย่องเปนอย่างเจ้า แต่เวลานั้นจะมียศเปนพระพงษ์นรินทร์แล้วหรือยัง สงไสยอยู่ ด้วยในหนังสือความทรงจำแต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พระพงษ์นรินทร์จได้เปนหมอหลวงตั้งพระโอสถถวายมาจนตลอดรัชกาลที่ ๒ ที่พระอินทรอไภยเปนชู้กับเจ้าจอมก็ด้วยเรื่องเปนหมอเข้าไปรักษาข้าราชการฝ่ายใน ครั้งนั้นยังละหลวม

๔) วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ช้างพลายกระรูปงาม พระยาเชียงใหม่ถวายลงมาถึงกรุงเทพฯ โปรดให้ขึ้นระวางเปนพระบรมหัศดินทร์ วรินทรราชพาหนะ พื้นขาวกระสมพงษ์ สารทรงประเสริฐศักดิ์ เฉลิมลักษณเลิศฟ้า

๕) ได้พบในบานแพนกหนังสือจุลพนคำหลวง ฉบับหลวง มีความว่า “อนึ่งมีในพระราชพงษาวดาร ในเรื่องพระเจ้าประทุมสุริวงษ์สมุด ๑๔ ว่าณปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๘๔๔ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ให้ประชุมพระสงฆ์สบสังวาศ แลนักปราชญ์ราชบัณฑิตยทั้งปวง ผูกพระมหาชาติคำหลวงเปนพิศดารจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ครั้นกรุงฯ เสียแก่พม่าข้าศึก หนังสือก็สูญหายอันตรธาน ของบุราณคงอยู่

ทศพร ๗ กัณฑ์
วนปเวศน
ชูชก
มหาพน
กุมาร
มหาราช
นครกัณฑ์

สูญขาดเสีย

หิมพานต์ ๖ กัณฑ์
ทานกัณฑ์
จุลพน
มัทรี
สักรบรรพ
ฉกระษัตร

ครั้นณปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออกณพระที่นั่งพระมหาจักรพรรดิ ทรงประฏิบัติพระสงฆ์ ครั้นภุกดากฤตย์แล้ว มีพระราชโองการมาณพระบัณฑูร ให้อ่านพระมหาชาติคำหลวงให้พระสงฆราชาคณะฟัง แล้วมีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระมหาชาติที่ขาดหายไปนั้น ให้พระราชาคณะแลนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์คิดตกแต่งขึ้นให้บริบูรณ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ไว้สำหรับจะได้สวดสรรเสริญบูชาพระพุทธคุณ ตามขนบบุราณราชประเพณีมาแต่ก่อน” ดังนี้ หนังสือมหาชาติคำหลวง ๑๓ กัณฑ์จึงมีขึ้นบริบูรณ์เมื่อในรัชกาลที่ ๒ แลให้พิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณแล้วทั้ง ๑๓ กัณฑ์

ปีชวดอัฐศก จุลศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ. ๒๓๕๙

๑) วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ช้างพลายเนียม เจ้านครเวียงจันท์ (อนุ) ถวายมาถึงกรุงเทพฯ โปรดให้ขึ้นระวางเปนพระบรมนาเคนทร์ คเชนทรธราธาร กำแหงหาญห้าวเหี้ยม ลักษณเนียมประทุมทันต์ เฉลิมขวัญพระนคร เกียรติขจรจบสกล มิ่งมงคลเลิศฟ้า

ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ พ.ศ. ๒๓๖๐

๑. นายนกเผาตัวตายที่วัดอรุณ เปนการเอาชีวิตรบูชาพระรัตนไตรย การที่คนมีความเลื่อมใสในสาสนาแก่กล้า จนถึงสละชีวิตรตน ด้วยเข้าใจว่าจะแลกเอามรรคผลในทางสาสนานั้น มีทุกลัทธิสาสนา ในส่วนคติพระพุทธสาสนา แม้มีสิกขาบทห้ามในพระวินัย ก็ยังมีหนังสืออื่นที่โบราณาจารย์แต่งยกย่องการสละชีวิตรให้เปนทาน เพื่อแลกเอาประโยชน์พระโพธิญาณ จึงทำให้คนแต่ก่อนโดยมากมีความนิยมว่า การสละชีวิตรเช่นนั้น เปนความประพฤติชอบ ในกรุงรัตนโกสินทรนี้ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ มีนายเรืองคน ๑ ได้เผาตัวเองเช่นนายนก ได้ทำรูปไว้ที่วัดอรุณทั้งนายเรืองแลนายนก แลมีศิลาจาฤก ไว้ ดังนี้

จาฤกที่รูปนายเรือง

“รูปนี้นายเรืองผู้เผาตัว ณวันศุกรเดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ เพลาทุ่มเศษ จุลศักราช ๑๑๕๒ ปีจอโทศก เมื่อแต่ก่อนเผาตัวประมาณ ๙ วัน ๑๐ วันนั้น มีความว่านายเรืองกับสหาย ๒ คน คือขุนศรีกัณฐัศว์กรมม้า แลนายทองรัก พากันไปในพระอุโบสถวัดครุธ ต่างปราถนาพุทธภูมิ เสี่ยงดอกบัวอ่อนคนละดอก ว่าถ้าใครจะสำเร็จแก่พระโพธิญาณแล้วขอดอกบัวผู้นั้นจงบาน ครั้นรุ่งขึ้นก็บานแต่ดอกบัวของนายเรือง ตั้งแต่นั้นนายเรืองก็มาอยู่ที่การบุเรียญเก่าวัดอรุณราชธาราม สมาทานอุโบสถศีล ฟังเทศนาเอานำมันชุบสำลีเปนเชี้อพาดแขนทั้ง ๒ จุดไฟบูชาต่างประทีปทุกวัน จนถึงวันเผาตัว นายเรืองฟังเทศนาจบแล้วก็นุ่งห่มผ้าชุบน้ำมันเดินออกมาน่าการบุเรียญ นั่งพับเพียบพนมมือรักษาอารมณ์สงัดดีแล้วก็จุดไฟเผาตัวเข้า เมื่อเปลวไฟวูบขึ้นท่วมตัวนั้น นายเรืองร้องว่าสำเร็จปราถนาแล้ว ขณะนั้นคนซึ่งดูอยู่ประมาณ ๕๐๐ - ๖๐๐ เศษ บ้างก็ร้องสาธุการเปลื้องผ้าห่มโยนบูชาเข้าไปในกองไฟ ชั้นแต่แขกภายนอกพระสาสนา ก็ถอดหมวกเอาคำนับโยนเข้าไปในกองไฟด้วย ครั้นไฟโทรมแล้ว คนที่มีศรัทธาช่วยกันยกศพใส่โลงไว้ในการบุเรียญ สวดพระอภิธรรม ๓ คืนแล้ว พาศพไปเผาที่ทุ่งนาวัดหงษ์ เมื่อเผาศพไฟชุมนั้นปลาในท้องนา ๑๑ ปลา ๑๒ ปลาโลดเข้ามาเข้าในกองไฟตายด้วย ครั้นไฟดับแล้วเห็นอัฐินายเรืองสีเขียว ขาว เหลือง ขาบ ดูปลาด ก็ชวนกันเก็บอัฐิใส่โกษฐดีบุกไว้ในการบุเรียญเก่าวัดอรุณราชธารามนี้”

จาฤกที่รูปนายนก

“รูปนี้รูปนายนกผู้เผาตัว เมื่อณวันพุฒเดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก ที่วัดอรุณราชธาราม วันนั้นฝนตกตั้งแต่เพลาพลบ จน ๑๑ ทุ่มจึงขาดเมล็ดแล้ง ครนเพลาเช้าขึ้นคนจึงมาเห็นนายนกนั่งสมาธิเผาตัวตายอยู่ใต้ต้นพระมหาโพธิ น่าพระวิหารเก่า แต่ไฟนั้นดับแล้ว อนึ่งเมื่อก่อนนี้ประมาณเดือนเศษ นายนกได้บอกญาติมิตรแลชาวบ้านที่ชอบใจกันว่า เราประพฤติสุจริตธรรม ทำบุญรักษาศีลตั้งจิตปราถนาพระนิพานธรรม แต่นั้นมานายนกก็ปรนิบัดิมักน้อยละบ้านเรือนญาติมิตรเสีย ออกไปสมาทานศีลเจริญภาวนารักษาจิตรอยู่ในการบุเรียญเก่า ณวัดอรุณราชธาราม จะได้เปนกังวลด้วยการซึ่งจะบำรุงกายแลกิจที่จะบริโภคนั้นหามิได้ เมื่อใครมีศรัทธาให้อาหารก็ได้บริโภค บางทีอดอาหารมื้อหนึ่งบ้าง วันหนึ่งบ้าง ทรมานตนมาจนวันเผาตัวตาย แต่เมื่อนายนกเผาตัวนั้น จะได้บอกกล่าวแก่ญาติมิตรผู้ใดผู้หนึ่งให้รู้หามิได้ คนทั้งปวงเมื่อเห็นศพนายนกเผาตัวตาย ก็มีศรัทธาพากันมาทำบุญบังสกุลสการศพนายนกเปนอันมาก”

ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๐ พ.ศ. ๒๓๖๑

๑) วันเสาร์เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาพลบ เกิดพายุใหญ่ที่กรุงเก่า ฟ้าผ่ายอดพระเจดีย์วัดภูเขาทอง วัดเจ้าขรัว แลพระปรางค์วัดกระษัตรายอดหัก พระเจดีย์วัดภูเขาทองแลวัดเจ้าขรัวใครจะปฏิสังขรณ์หาปรากฎไม่ ได้ความแต่ว่าวัดกระษัตรานั้น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม

๒) วันอาทิตย์เดือน ๑ ขึ้น ๕ ค่ำ ฟ้าผ่าถูกเสาชิงช้า

ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ พ.ศ. ๒๓๖๒

๑) ในครั้งเมื่อทำสวนขวานั้น เรือสำหรับข้างในพายในสระสวนขวา แต่แรกใช้เรือสำปั้นไม้ฉำฉาสั่งมาแต่เมืองจีน พระยาสุริยวงษ์มนตรี (ดิศ) เห็นว่ารูปเรือสำปั้นจีนเร่อร่านัก จึงคิดต่อเปนเรือสำปั้นแปลง แก้ไขรูปให้เพรียวกว่าเรือจีน ถวายสำหรับข้างในพายในสระสวนขวา ต่อนั้นพระยาสุริยวงษ์มนตรีจึงคิดอ่านเปนเรือสำปั้นยาว ๗ วา ๘ วา ครั้นช่างเรือชำนาญแล้ว จึงให้ทำเปนเรือสำปั้นขนาดใหญ่มีเก๋งสลักลวดลายเรียกว่า เรือเก๋งพั้ง ยาวถึง ๑๔ - ๑๕ วา ใช้เปนเรือพระที่นั่ง แลเรือที่นั่งเจ้านายเรือข้าราชการผู้ใหญ่[๑]  ส่วนเรือญวน ซึ่งเปนเรือต่อขนาดใหญ่ใช้แจวมีเก๋งสำหรับไปทางไกลนั้น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานรักษ์ทรงริทำขึ้นก่อน แล้วจึงเปนตัวอย่างทำใช้กันต่อไป มีทั้งของหลวง ของเจ้านาย แลข้าราชการผู้ใหญ่[๒]

๒) วันพฤหัศบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เกิดน้ำใหญ่ท่วมเข้าไปในกำแพงพระนคร น้ำท่วมคราวนี้ ไม่ใช่คราวท่วมใหญ่ ที่เรียกกันว่าปีเถาะน้ำมาก คราวนั้นในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีเถาะตรีศก จุลศักราช ๑๑๙๓ พ.ศ. ๒๓๗๔

๓) วันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ดาวพระอังคารเข้าในวงพระจันทร์

ปีมโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ พ.ศ. ๒๓๖๓

๑) วันพฤหัศบดี เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ฝนตกฟ้าฝ่าถูกยอดพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

๒) ณเดือน ๔ มีการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์น้อย (คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทำเขาไกรลาศแลมีการแห่อย่างโสกันต์เจ้าฟ้า แรมค่ำหนึ่ง ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ เจริญพระพุทธมนต์โสกันต์ แรม ๔ ค่ำโสกันต์แล้วสมโภชอิก ๓ เวลา

ปีมเสงตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ พ.ศ. ๒๓๖๔

๑) เดือน ๙ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เข้าแพงถึงเกวียนละชั่ง ๑

ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พ.ศ. ๒๓๖๗

๑) วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ เห็นดาวพฤหัศบดีเข้าในดวงพระจันทร์

ของซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๒ มีอิกอย่าง ๑ คือ เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ แลลายน้ำทอง เครื่องเบญจรงค์ครั้งกรุงเก่าที่ไทยให้อย่างลายให้ทำ มีแต่ลายเทพพนมนรสิงห์ พื้นนอกสีดำ ข้างในสีเขียว ครั้งรัชกาลที่ ๑ ได้เริ่มให้อย่างไปทำลายแลสีแปลกออกไปบ้าง แต่ของที่ดีเช่นถ้วยชามลายน้ำทอง ผูกลวดลายเปนดอกกุหลาบแลดอกไม้อื่น ๆ แลโถชามเบญจรงค์เปลี่ยนเปนสีต่าง ๆ เปนรูปต่าง ๆ คือ ราชสีห์และครุธ เปนต้น มามีขึ้นในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งนับว่าเปนของอย่างเอกที่พบอยู่ในเวลานี้ แต่จะเริ่มทำเมื่อปีไรไม่พบจดหมายเหตุ จึงไม่ได้ลงไว้ตามศักราช เครื่องลายน้ำทองแลเบญจรงค์ที่ทำต่อมา ลวดลายแลฝีมือทำสู้ครั้งรัชกาลที่ ๒ ไม่ได้



[๑] เรือเก๋งพั้งใช้กันมาจนในรัชกาลที่ ๕ พึ่งเลิกสูญหมดเมื่อมาเปลี่ยนใช้เรือกลไฟขนาดย่อม

[๒] เรือญวนที่กล่าวนี้มีตั้ง ๒๐ แจว ข้างท้ายเรือปักธงอาวุธแลหางนกยูง ยังมีใช้จนรัชกาลที่ ๕ เหมือนกัน แต่หมดไปก่อนเรือสำปั้นเก๋ง ที่เรียกว่าเรือญวนนั้น เรือชนิดนี้เดิมญวนใช้ แต่ตั้งเก๋งค่อนมาข้างท้ายมาก เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เห็นจะไปทอดพระเนตรเห็น เมื่อคราวเปนแม่ทัพลงไปเมืองพัตบอง ไปทรงจำอย่าง แก้ไขตั้งเก๋งให้ค่อนไปข้างกลางลำ จึงเรียกชื่อว่าเรือญวน เหมือนกับที่เรียกเรือสำปั้นตามศัพท์จีนฉนั้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ