๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ สวรรคต

ปีมเสงเอกศก จุล ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก[๑] เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งสิบเอ็ดห้อง ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่าพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อณวันพฤหัศบดีที่ ๗ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ ตรงกับวันทางจันทรคติ เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมเสงเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ (คฤสตศักราช ๑๘๐๙) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย) ได้สำเร็จราชการแผ่นดิน โดยสมเด็จพระบรมชนกนารถได้ทรงประดิษฐานไว้ในที่พระมหาอุปราชผู้รับรัชทายาท

ครั้นรุ่งขึ้นวันศุกรแรม ๑๔ ค่ำเวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กับสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ซึ่งได้ดำรงพระยศเปนพระบัณฑูรน้อยมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ พร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ์ เสด็จเข้าไปสรงสการทรงเครื่องพระบรมศพเสร็จแล้ว เชิญพระบรมศพลงสู่พระลองเงิน ตำรวจแห่ออกประตูสนามราชกิจ เชิญขึ้นพระยานุมาศประกอบพระโกษฐทอง[๒] ตั้งกระบวนแห่เชิญไปประดิษฐานไว้ณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านมุขตวันตก ภายใต้พระมหาเสวตรฉัตร ตั้งเครื่องสูงแลเครื่องราชูประโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมทั้งกลางวันกลางคืน แลมีนางร้องไห้ ประโคมกลองชนะตามเวลา เหมือนอย่างพระศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าทุกประการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จเข้ามาประทับแรมอยู่ณพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน[๓] เวลาเช้าเย็นเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณทุกวันมา

ครั้นจัดการพระบรมศพแล้ว พระราชวงษานุวงษ์ เสนามาตย์ราชเสวก ประชุมพร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะมีสมเด็จพระสังฆราชเปนประธาน ให้อาลักษณ์เขียนคำกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นผ่านพิภพ อ่านคำกราบทูลนี้แล้ว พระสงฆ์เจริญไชยปริตถวายพระพรไชยมงคล แต่นั้นพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการ จึงกระทำสัตย์ถวายต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทต่อมาโดยลำดับ ทั้งในกรุงแลหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั่วกัน



[๑] พระนามนี้ ถวายต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๓ จะปรากฎคำอธิบายต่อไปข้างน่า ในตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเศก

[๒] เรื่องพระโกษฐทององค์นี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเดิม เรียกว่าพระโกษฐทองจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยเนาวรัตน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์น่า ๓๕๘ ดังนี้ “ในพงษาวดารพยายามที่จะกล่าวถึงเรื่องพระโกษฐอย่างหลงๆ ว่า (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรด) ให้รื้อทองหุ้มพระโกษฐ ๆ อะไรไม่รู้ มาเติมทองขึ้นอิก ทำเปนพระโกษฐทองคำกุดันแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎขึ้นไว้องค์ ๑ สำหรับพระองค์ดังนี้ ความที่ถูกต้องนั้นคือ รับสั่งให้รื้อทองที่หุ้มพระโกษฐกุดั่น ทรงพระศพพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์นั้น มารวมกันทำพระโกษฐทองใหญ่ ไม่ใช่มาทำโกษฐกุดั่น ผู้เขียนพงษาวดารหมายว่ากุดั่น แปลว่าลวดลาย ลวดลายอย่างเช่นพระโกษฐทองใหญ่นั้น ควรจะเรียกว่ากุดั่น แต่ภาษาในราชการเขาเรียกพระโกษฐสมเด็จพระพี่นางนั้นว่า กุดั่นน้อยกุดั่นใหญ่ พระโกษฐแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎ เขาเรียกว่าพระโกษฐทองใหญ่ พระโกษฐทองใหญ่นี้ทำแล้วเสร็จในปีมโรง (สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๕๑) นั้น ทั้งพระลองเงินด้วย รับสั่งให้เชิญเข้ามาตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเสด็จพระทับอยู่ คุณเสือพระสนมเอก ทูลห้ามปรามว่าทรงอะไรเช่นนั้น น่ากลัวเปนลาง เห็นพระโกษฐเข้าก็ร้องไห้ล่วงน่าเสียก่อน รับสั่งว่ากูไม่ถือ ไม่เอามาตั้งดูทำไมกูจะได้เห็น ตั้งถวายทอดพระเนตรอยู่เปนหลายวัน ครั้นทูลกระหม่อมใหญ่ (คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ) สิ้นพระชนม์ลง ทรงพระโทมนัศมาก จึงรับสั่งว่าให้เอาพระโกษฐทองใหญ่ไปประกอบถวายทอดพระเนตร ยกไว้เสียแต่พระลองเงิน ด้วยเหตุที่พระราชทานครั้งนั้นเปนตัวอย่างต่อมา เจ้านายใหญ่ๆ ที่สำคัญจึงได้พระราชทานตั้งแต่กรมหลวงศรีสุนทรเทพเปนต้นติดต่อกันมา เรื่องราวที่ถูกต้องนั้น ดังนี้”

[๓] ที่เรียกว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานตรงนี้ เข้าใจว่าว่าที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในเวลานั้นพระมหามณเฑียรหมู่นั้นยังเรียกรวมกันว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทั้งหมด

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ