๗๐. ลักษณการที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ

ในที่นี้ควรจะกล่าวถึงลักษณที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ ตามการที่เปนอยู่ เมื่อครั้งครอเฟิดเข้ามา อันมีข้อความปรากฎอยู่ในหนังสือต่าง ๆ ที่รู้ได้ในเวลานี้ การค้าขายกับต่างประเทศที่เปนชาวตวันออกด้วยกันเอง เช่นจีนแลแขกชาวอินเดีย ได้มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่การค้าขายกับต่างประเทศมาเจริญมากขึ้น เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองกรุงศรีอยุทธยา พ่อค้าฝรั่งต่างชาติก็เริ่มไปมาค้าขายมากขึ้นแต่ครั้งนั้น

รัฐบาลไทยได้ผลประโยชน์จากการค้าขายกับต่างประเทศ ในการ ๕ อย่าง คือ:-

๑. ภาษีเบิกร่อง หรือค่าปากเรือ

๒. ภาษีสินค้าขาเข้า

๓. ภาษีสินค้าขาออก

๔. กำไรได้จากคลังสินค้าของหลวง

๕. อำนาจเลือกซื้อของหลวงสำหรับใช้ราชการ

อย่างที่ ๑ ที่เรียกค่าเบิกร่องนั้น เปนค่าอนุญาตให้เรือเข้ามาค้าขาย เก็บภาษีนี้มากน้อยตามขนาดเรือ ตามความที่ปรากฎในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ว่าอัตราภาษีปากเรือครั้งกรุงเก่า เรือปากกว้างแต่ ๔ วาขึ้นไป ถ้าเปนเรือเมืองไมตรีที่ไปมาค้าขายอยู่เสมอ เก็บค่าปากเรือเที่ยวหนึ่งตามขนาดปากเรือกว้างวาละ ๑๒ บาท ถ้าเปนเรือที่นานไปนานมาไม่คุ้นเคยกันเก็บวาละ ๒๐ บาท ได้ตามความใบบอกของครอเฟิด ว่าเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร เรือสามเสาเก็บค่าปากเรือวาละ ๘๐ บาท เรือสองเสาครึ่ง วาละ ๔๐ บาท

อย่างที่ ๒ เก็บภาษีสินค้าขาเข้านั้น อัตราเก็บครั้งกรุงเก่าปรากฎว่าเรือที่ไปมาเสมอเก็บร้อยชัก ๓ เรือที่นานไปนานมาเก็บร้อยชัก ๕ ครั้งรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทรเก็บร้อยชัก ๘

อย่างที่ ๓ คือ ภาษีสินค้าขาออกนั้น ครั้งกรุงเก่าจะเก็บเท่าไรยังค้นอัตราไม่พบ แม้ในกรุงรัตนโกสินทร เมื่อรัชกาลที่ ๒ ก็ยังไม่พบอัตรา ได้ความแต่ว่าเก็บเปนอย่าง ๆ ตามสินค้า เปนต้นว่า น้ำตาลทรายเก็บภาษีขาออกหาบละ ๕๐ สตางค์

อย่างที่ ๔ ที่เรียกว่ากำไรคลังสินค้านั้น คือ ตั้งคลังสินค้าเปนของหลวง แลมีหมายประกาศบังคับว่า สินค้าบางอย่างค้าขายได้แต่เปนของหลวง ราษฎรผู้เสาะหาได้สินค้านั้น ๆ ต้องนำมาขายให้พระคลังสินค้าแห่งเดียว จะไปขายให้ผู้อื่นไม่ได้ ส่วนผู้ค้าขายไปต่างประเทศ ก็ต้องมารับซื้อสินค้านั้น ๆ จากพระคลังสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศ จึงเกิดกำไรแก่พระคลังสินค้า การตั้งพระคลังสินค้านี้ ได้ความในหนังสือเรื่องอังกฤษสมาคมกับไทย ที่หมอยอนแอนเดอสันแต่ง ว่าแรกมีขึ้นเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่ข้าพเจ้าได้พบในหนังสือที่แอนเวอส์แต่ง ว่าด้วยโปตุเกตออกมาค้าขายทางประเทศตวันออก ว่าเปนประเพณีที่พวกเจ้าเมืองแขกในอินเดียมาทำก่อนนั้นช้านาน จึงเข้าใจว่าเรื่องตั้งคลังสินค้านี้ ไทยจะได้แบบมาจากแขก สินค้าพระคลังสินค้านั้น ปรากฎในหนังสือที่หมอยอนแอนเดอสันแต่ง ว่าเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช สินค้าเหล่านี้ที่ค้าขายได้แต่พระคลังสินค้า คือ:-

๑ เนื้อไม้

๒ หมากสง

๓ ดีบุก

๔ ฝาง

๕ ดินประสิว

๖ ตะกั่ว

๗ ช้าง

๘ งาช้าง

สินค้าอย่างอื่นนอกจากนี้ ยอมอนุญาตให้ผู้อื่นซื้อค้าขายได้ตามอำเภอใจ

เมื่อในรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร สินค้าซึ่งค้าขายได้แต่พระคลังสินค้า ปรากฎในใบบอกของครอเฟิด ๙ สิ่ง คือ:-

๑. รังนก

๒. ฝาง

๓. ดีบุก

๔. พริกไทย

๕. เนื้อไม้

๖. ผลเร่ว

๗. ตะกั่ว

๘. งา

๙. รง

เข้าใจว่าการค้าช้างส่งไปขายต่างประเทศก็ยังเปนของหลวง อิกอย่าง ๑ แต่เพราะส่งไปจากเมืองตรัง บรรทุกเรือออกไปขายตามเมืองในอินเดีย ไม่ได้บรรทุกเรือไปจากกรุงเทพฯ ครอเฟิดจึงไม่ได้จด

อย่างที่ ๕ การซื้อของหลวงนั้น คือ เมื่อรัฐบาลต้องการสิ่งของใช้ราชการ เช่นเครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์สำหรับป้องกันพระนคร เปนต้น ก็สั่งให้พวกพ่อค้าต่างประเทศเที่ยวหาซื้อมาส่ง หรือถ้าหากว่าเรือที่มาจากเมืองต่างประเทศบรรทุกสินค้าซึ่งต้องการใช้ในราชการเข้ามา รัฐบาลต้องซื้อได้ก่อน จึงเกิดเปนธรรมเนียมในเวลาเมื่อเรือเข้ามาจากเมืองต่างประเทศ เจ้าพนักงานต้องลงไปตรวจดูสินค้าที่รัฐบาลต้องการก่อน เมื่อพบแล้วก็คัดไว้ ห้ามมิให้ขายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต่อสินค้าที่รัฐบาลไม่ต้องการ จึงยอมให้จำหน่าย เข้าใจว่าข้อนี้เปนมูลเหตุที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารเนืองๆ ว่าเมืองนั้นเอาปืนเข้ามาถวายเท่านั้นบอก เมืองนี้เอาปืนเข้ามาถวายเท่านั้นบอก เพราะปืนเปนของต้องการใช้ในราชการ แลจะยอมให้ผู้อื่นสะสมไม่ได้ เมื่อมีเข้ามารัฐบาลต้องบังคับซื้อ การถูกบังคับซื้อเจ้าของมักจะได้ราคาต่ำ ถ้าเปนของถวายเจ้าของได้รับสิ่งสินค้าตอบแทนคุ้มราคาปืน แลยังจำหน่ายสินค้าอื่นได้สดวก เพราะเหตุที่ยกความชอบของเจ้าของในข้อที่ถวายปืนนั้นด้วย เข้าใจว่าอันนี้เปนวิธีที่ไทยหาเครื่องสาตราวุธจากต่างประเทศ มาใช้ในการป้องกันพระนครตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าตลอดมา มีตัวอย่างปรากฎในรัชกาลที่ ๒ นี้ เมื่อปีมเสงตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ พ.ศ. ๒๓๖๔ มีลูกค้าอเมริกันคนหนึ่งชื่อกับตันแฮนเข้ามาค้าขาย มีปืนคาบศิลาเข้ามาจำหน่ายด้วย เมื่อกับตันแฮนทราบว่าไทยกำลังต้องการปืน ได้ถวายปืนคาบศิลาถึง ๕๐๐ บอก ในจดหมายเหตุกล่าวว่า ทรงพระราชดำริห์ว่า กับตันแฮนได้เอาปืนเข้ามาขายให้เปนกำลังแผ่นดินถึง ๒ ครั้ง มีความชอบโปรดตั้งให้กับตันแฮนเปนหลวงภักดีราช พระราชทานถาดหมากคนโทกาไหล่เปนเครื่องยศ ส่วนปืนที่กับตันแฮนถวาย ๕๐๐ บอกนั้น ก็พระราชทานสิ่งของตอบแทนคุ้มราคาปืน แลยกเงินภาษีจังกอบพระราชทานด้วยอิกส่วน ๑ เห็นจะมีพ่อค้าต่างประเทศที่บรรทุกปืนเข้ามาอย่างกับตันแฮนนี้หลายราย

ส่วนพวกชาวต่างประเทศที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยนั้น ฝรั่งกับจีนแลแขกผิดกันในข้อสำคัญมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ด้วยพวกฝรั่งต่างชาติที่ไปมาค้าขาย มักใช้อำนาจข่มเหงชนชาติอื่น ตลอดจนฝรั่งด้วยกันเอง ในการแย่งชิงผลประโยชน์กัน บางทีถึงเกิดรบราฆ่าฟันกันก็มี แลมักจะเอิบเอื้อมหาอำนาจเข้ามาบังคับบัญชาการบ้านเมือง เช่นขอที่ทำสถานีไว้สินค้า แล้วเลยทำสถานีนั้นเปนป้อมเปนต้น แต่พวกจีนและพวกแขกที่ไปมาค้าขายนั้น ยอมอยู่ในบังคับเจ้าของเมืองราบคาบ แสวงหาแต่ประโยชน์ในทางค้าขายอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ไทยจึงพอใจค้าขายกับพวกพ่อค้าจีนแลพ่อค้าแขกยิ่งกว่าฝรั่ง ความอันนี้เข้าใจว่าจะเปนมาแต่ครั้งกรุงเก่า เห็นได้ด้วยมีทำเนียบตำแหน่งขุนนางจีนเปนกรมท่าซ้าย ขุนนางแขกเปนกรมท่าขวานี้เปนพยาน เมื่อมีการค้าขายกับต่างประเทศเจริญขึ้น ความปรากฎแก่ไทยขึ้น ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ ว่าในเมืองไทยมีไม้ที่สำหรับต่อเรือกำปั่น ต่อได้ย่อมเยาว์เบาราคาแลดีกว่าเรือที่ต่อตามประเทศเหล่านั้น ด้วยมีชาวต่างประเทศเข้ามาขออนุญาตต่อเรือในกรุงเทพฯ ปีละหลาย ๆ ลำ อิกข้อ ๑ ได้ความรู้ว่าการใช้เรือไปมาค้าขายกับต่างประเทศมีกำไรมาก จึงเกิดการสร้างเรือกำปั่นหลวงสำหรับค้าขายขึ้นบ้าง เจ้านายแลขุนนางไทยที่มีทุนทรัพย์ ต่างก็ต่อเรือกำปั่นไปค้าขายถึงเมืองต่างประเทศ มีเรือไทยไปค้าขายทางตวันตกจนถึงอินเดีย ทางใต้ลงไปจนถึงเกาะชวาแลมคะสัน ทางตวันออกไปจนถึงเมืองญวนเมืองจีนแลเมืองยี่ปุ่น เปนดังนี้ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า เมื่อกรุงเสียแก่พม่าข้าศึก ในเวลาเมืองไทยกำลังยับเยิน แลกำลังทำศึกสงครามกู้อิศรภาพ ในครั้งกรุงธนบุรีแลในรัชกาลที่ ๑ ข้างฝ่ายฝรั่งก็ติดทำศึกสงคราม ครั้งพระเจ้านะโปเลียนที่ ๑ จึงไม่มีพ่อค้าฝรั่งไปมาค้าขาย แต่ฝ่ายข้างไทยเมื่อตั้งเปนอิศรภาพได้มั่นคงแล้ว แม้ในเวลาที่ยังต้องทำศึกสงครามกับพม่าอยู่บ้าง ก็ได้เริ่มต้นลงมือทำการค้าขายกับเมืองต่างประเทศ หาผลประโยชน์เปนกำลังบำรุงบ้านเมือง ด้วยเหตุเหล่านี้ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มา เรือที่ไปมาค้าขายกับต่างประเทศโดยมากจึงเปนเรือไทยเรือจีนแลเรือแขก

ในเวลาเมื่อครอเฟิดเข้ามา เปนเวลากำลังฤดูสำเภาเข้า ว่ามีเรือสำเภาจอดอยู่ในแม่น้ำประมาณ ๗๐ ลำ ขนาดตั้งแต่บรรทุกได้ ๑๖๐๐ หาบขึ้นไปจนถึง ๑๕,๐๐๐ หาบ แลสืบสวนได้ความว่าเปนเรือหลวง ๒ ลำ[๑] เปนเรือของเจ้านายแลข้าราชการไทยประมาณ ๒๐ ลำ นอกจากนั้นเปนเรือของพ่อค้า ครอเฟิดได้สืบจำนวนเรือที่ไปค้าขายแลจำนวนสินค้าลงไว้ในรายงาน ดังนี้ คือ:-

ไปค้าขายที่เมืองกึงตั๋ง ปีหนึ่ง ๘ ลำ สินค้ารวมหนักประมาณ ๘๗๐๐๐ หาบ

ไปค้าขายเมืองไหหลำ เรือขนาดย่อม ๔๐ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๑๑๒๐๐๐ หาบ

ไปค้าขายที่เมืองฮกเกี้ยน เมืองเสเกี๋ยง เมืองกวางหนำ ๓๒ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๓๐๔๐๐๐ หาบ

ไปค้าขายเมืองปเตเวีย ๓ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๒๒,๕๐๐ หาบ

ไปค้าขายเมืองมละกา แลเกาะหมาก ๕ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๒๕๐๐๐ หาบ

ไปค้าขายเมืองสิงคโปร์ เรือขนาดย่อม ๒๗ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๔๕๐๐ หาบ

เรือเมืองนครศรีธรรมราช ไปค้าขายเมืองจีน ๒ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๑๓๐๐๐ หาบ

เรือเมืองจันทบุรี ไปค้าขายเมืองจีนลำ ๑ สินค้าหนักประมาณ ๔๐๐๐ หาบ

เรือจากกรุงเทพฯ ไปค้าขายที่เมืองไซ่ง่อน แลเมืองญวน ๑๘ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๑๕๓๐๐ หาบ

ส่วนวิธีการค้าขายของหลวงนั้น ข้าพเจ้าพบต้นท้องตราที่เมืองนครศรีธรรมราชหลายฉบับ ได้คัดสำเนามาลงไว้ต่อไปนี้ฉบับ ๑ เพื่อจะให้ผู้อ่านเข้าใจวิธีการค้าขายทำกันอย่างไรในครั้งนั้น

[๑] เรือหลวง ๒ ลำนี้ ครั้งรัชกาลที่ ๑ ชื่อเรือหูสง เรือทรงพระราชสาสน สำหรับไปค้าขายเมืองจีน แต่เมื่อครอเฟิดเข้ามา ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ชื่อเรือมาลาพระนครลำ ๑ เรือเหราข้ามสมุทลำ ๑

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ