๓๕. เรื่องตั้งเมืองประเทศราชมณฑลพายัพ

[๑]ในปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๗ นี้ โปรดให้ตั้งเมืองลำพูนไชย ซึ่งร้างมาแต่ครั้งพม่ามาได้เมืองเชียงใหม่นั้น กลับขึ้นเปนบ้านเมืองตามเดิม แลโปรดให้เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย เปนเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ แต่นั้นมา

เหตุที่จะตั้งเมืองทั้ง ๓ ให้เปนเมืองประเทศราชมีศักดิเสมอกันเกี่ยวด้วยเจ้า ๗ ตน ซึ่งเปนต้นวงษ์สกูลของเจ้านายทั้ง ๓ เมืองสืบมาจนทุกวันนี้ จำต้องอธิบายความในเรื่องพระราชพงษาวดารย้อนถอยหลังขึ้นไปสักน่อย จึงจะเข้าใจได้ชัดเจน คือ เมื่อครั้งกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนไชย แลเมืองนครลำปาง ก็ตกอยู่ในอำนาจพม่า ในสมัยนั้นในพวกชาวเมืองเชียงใหม่มีหัวน่า ๒ คน เรียกว่าพระยาจ่าบ้านคน ๑ เรียกว่าฟ้าชายแก้วเปนหลานพระยาจ่าบ้านคน ๑ ทั้ง ๒ คนนี้ต้องจำใจอยู่ในอำนาจพม่า ๆ ตั้งพระยาจ่าบ้านเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่ ตั้งฟ้าชายแก้วเปนอุปราช ฟ้าชายแก้วถึงแก่กรรม มีบุตร ๗ คน คือ ๑ ชื่อกาวิละ, ๒ ชื่อคำโสม, ๓ ชื่อน้อย[๒]ธรรม, ๔ ชื่อดวงทิพ, ๕ ชื่อหมูล่า, ๖ ชื่อคำฟั่น, ๗ชื่อบุญมา, ธิดามี ๓ คน ๑ ชื่อนางศิริรดจา,[๓] ๒ ชื่อนางศิริวรรณา, ๓ ชื่อศิริบุญธรรม, เมื่อพระยาอุปราช (ฟ้าชายแก้ว) ถึงแก่กรรมแล้ว พม่าจึงตั้งนายกาวิละบุตรใหญ่ให้เปนพระยาอุปราชต่อมา ครั้นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เปนใหญ่ ยกกองทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พม่าแต่งให้พระยาเชียงใหม่ (จ่าบ้าน) พระยาอุปราช (กาวิละ) คุมกองทัพชาวเชียงใหม่มาต่อสู้ไทย พระยาจ่าบ้านพระยากาวิละไม่เต็มใจอยู่ในบังคับพม่าอยู่แล้ว เมื่อเห็นไทยด้วยกันกลับมีกำลังขึ้นไปปราบปรามพม่า ก็พาพรรคพวกมาสวามิภักดิต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีช่วยรบพุ่งพม่าแตกไปจากเมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงตั้งพระยาจ่าบ้านเปนพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้พระยากาวิละเปนพระยานครลำปาง ต่อมาในครั้งกรุงธนบุรีนั้นเองพม่ากลับมาตีเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปางอิก พระยาจ่าบ้านที่เปนพระยาวิเชียรปราการรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้ไม่ได้ ต้องอพยพหนีเข้ามาอยู่หัวเมืองชั้นใน แต่พระยากาวิละเปนคนเข้มแขงในการศึกสงคราม รักษาเมืองนครลำปางไว้ได้ พวกตระกูลเจ้า ๗ ตนจึงตั้งอยู่เมืองนครลำปางต่อมา แต่เมืองเชียงใหม่นั้นต้องทิ้งร้างอยู่จนรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมแมนพศก จุลศักราช ๑๑๔๙ พ.ศ. ๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จขึ้นไปตั้งเมืองเชียงใหม่ให้เปนเมืองใหญ่ สำหรับรักษาราชการข้างปลายแดนพระราชอาณาจักร โปรดให้ย้ายพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางไปเปนพระยาเชียงใหม่ ให้นายคำโสมผู้น้องรองลงมาเปนพระยานครลำปาง แบ่งเจ้านาย ๗ ตนไปช่วยราชการเมืองเชียงใหม่บ้าง เอาไว้เมืองนครลำปางบ้าง แต่เมืองลำพูนไชยนั้นยังต้องทิ้งให้ร้างอยู่ ด้วยยังรวบรวมราษฎรไม่ได้พอจะตั้งเปนบ้านเปนเมือง มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๗ ทรงพระราชดำริห์ว่าเมืองนครเชียงใหม่แลเมืองนครลำปาง ก็ได้ตั้งมั่นคง ผู้คนพลเมืองค่อยบริบูรณ์แล้ว สมควรจะตั้งเมืองลำพูนไชยที่ยังร้างอยู่กลับเปนบ้านเมืองตามเดิมได้ แลในเวลานั้นพระยานครลำปาง (คำโสม) ซึ่งเปนน้องรองแต่พระยากาวิละถึงอนิจกรรมลง ตำแหน่งพระยาว่าราชการเมืองนครลำปางว่างอยู่ จึงทรงตั้งให้พระยาอุปราช ดวงทิพซึ่งเปนน้องที่ ๔ เปนพระยานครลำปาง ตั้งนายคำฟั่นน้องที่ ๖ เปนพระยานครลำพูน ส่วนพระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้นทรงพระราชดำริห์ว่าเปนผู้ใหญ่ แลมีบำเหน็จความชอบมามาก จึงทรงพระกรุณาโปรดยกเกียรติยศขึ้นเปนพระเจ้าเชียงใหม่ ให้พระเจ้าเชียงใหม่แลพระยานครลำปางแบ่งราษฎรมาตั้งภูมิลำเนาที่เมืองนครลำพูน แลยกทั้ง ๓ เมืองนั้นเปนประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ เหมือนอย่างเมืองน่านแต่นั้นมา



[๑] ความตอนนี้ กล่าวตามเนื้อความในหนังสือพงษาวดารเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน ที่พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น) เรียบเรียงไว้

[๒] ตามประเพณีถือกันในมณฑลพายัพ ใครได้บวชเปนสามเณรแล้ว ใช้คำว่า น้อย เติมเข้าน่าชื่อ ถ้าได้บวชเปนพระภิกษุ ใช้คำว่าหนาน เติมเข้าน่าชื่อ

[๓] นางศิริรดจานี้ คือเจ้าจอมมารดาเจ้าฟ้าพิกุลทอง ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ