- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
เสร็จการศพทรงฤทธิ์พระภิษม์เฒ่า | พอรุ่งเช้าแจ่มแจ้งแสงไถง |
พวกเการพรวมพลสกลไกร | โบกธงชัยโท๎รณพราหนณ์งามตระการ |
เพื่อประกาศชาติเพศพิเศษเลิศ | ผู้บรรเจิดจรรยามหาศาล |
มีตระกูลอันอุตดมจากพรหมาน |
เป็นอาจารย์แห่งกษัตริย์จรัสคุณ |
ทหารเหล่าเการพเตรียมครบสรรพ | กระบวนทัพหน้าหลังกองรั้งหนุน |
สำเร็จเตรียมพลนิกรก่อนอรุณ | ชุลมุนมั่วสุมประชุมกัน |
ทั้งนี้โดยบังคับแม่ทัพใหม่ | ถือวินัยเข้มงวดยิ่งกวดขัน |
เพราะท่านโท๎รณาจารย์ขานจำนรรจ์ | ก่อนรับสัญญายอมเป็นจอมพล |
ว่าจะจับทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร | พร้อมด้วยเสี้ยนศัตรูหมู่พหล |
มาให้เการพดังตั้งกมล | จึงเตรียมรณวิธีทวีคูณ |
อรชุนทราบชัดรหัสเหตุ | จึงทูลเชษฐนรินทร์บดินทร์สูร |
“คำของท่านครูเฒ่ามีเค้ามูล | เพิ่มอาดูรโดยแท้ให้แก่เรา |
ญาติต่อญาติรบร้าฆ่ากันได้ | นี่ครู, ใครจะบังอาจพิฆาตเขา |
คำอาจารย์ขานไว้นั้นไม่เบา | สยองเกล้าหนักอยู่แก่หมู่ศิษย์ |
ข้าเจ้าขอปฏิญญาต่อหน้าท่าน | เพื่อเป็นการภักดีมอบชีวิต |
เลือดในกายข้านี้ยังมีติด | แม้สักนิดจะอุตส่าห์พยายาม |
เพื่อรักษาทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร | ป้องกันเสี้ยนศึกไว้มิได้ขาม |
เว้นไว้แต่ท่านครูจักวู่วาม | เหยียบย่ำข้ามข้าไปเมื่อไร้ชนม์” |
ครั้นเสร็จเตรียมเสนาโยธาหาญ | โท๎รณาจารย์รีบมาหน้าพหล |
ก่อนจะขึ้นรถชัยต้อนไพร่พล | จึงร่ายมนตร์บูชามหาพรหม |
เสร็จแล้วจึงอวยพรสอนทหาร | เพื่อเป็นการน้อมใจในประถม |
ให้นบนอบยอบยำในคำคม | ยึดนิยมนายใหม่ทั้งไพร่นาย |
“ทหารเอ๋ย ! ข้าเจ้าได้เข้ารับ | เปนจอมทัพนำพลกมลหมาย |
เข้าสู้รบป้องกันอันตราย | กู้เกียรติฝ่ายเการพโดยครบครัน |
การรับผิดชอบนั้นเป็นอันรู้ | ตกแก่ผู้นำพหลพลขันธ์ |
แต่นายพลใดเล่าเข้าประจัญ | ให้ศึกผันพ่ายแพ้แต่ลำพัง |
ต้องอาศัยไพร่พลทุกคนน้อม | มนัสพร้อมเกลียวกลมจึงสมหวัง |
เพราะเหตุนี้ขอให้ตั้งใจฟัง | ที่เราสั่งสอนไว้ด้วยใฝ่ดี |
จงคะนึงถึงเขตต์ประเทศชาติ | กษัตริย์ราชเรืองคุณวิบุลศรี |
ทรงอำนาจอาชญาบารมี | ได้เป็นที่สุขสวัสดิ์ขจัดภัย |
ย่อมอาศัยสามารถอันอาจหาญ | แห่งพวกท่านบากบั่นไม่หวั่นไหว |
ที่จะรบไพรินจนสิ้นใจ | ภักดีใต้บทรัชช์กษัตริย์ตน |
จงกระทำหน้าที่วีรชาติ | สุดสามารถที่ผู้ชายจักขวายขวน” |
เสร็จโอวาทบัญชาให้คลาพล | ขึ้นสู่รถรีบร้นเข้ารำบาญ |
ในวันรบเริ่มต้นจอมพลใหม่ | ปาณฑพได้รบราอย่างกล้าหาญ |
ผู้รบรับขับเคี่ยวอย่างเชี่ยวชาญ | คือกุมารอภิมันยุยรรยง |
ได้สำแดงเดชเด่นเห็นประจักษ์ | เป็นหลายพักน่าคิดพิศวง |
เป็นยอดเยี่ยมวีรชาติอันอาจองค์ | ซึ่งดำรงวัยราวคราว ๆ กัน |
ครั้งแรกเธอรุกฝ่าเข้ามาพบ | พระ ‘เปารพ’ กุรุราช,ปราดถลัน |
เข้าจิกเกล้า, เปารพหลบไม่ทัน | ฟาดกับดินดิ้นยันยับย่อยไป |
เจ้าสินธูนามบัญญัติ ‘ชยัทรถ’ | เห็นเปารพสุรคตเข้าแก้ไข |
ชูกระบี่รี่รุกบุกคระไล | เข้าชิงชัยอภิมันยุทันที |
ทั้งสองข้างทางกระบี่ดีขยัน | ต่างถลันโลดใส่มิได้หนี |
เสียงฉับฉาดฟาดฟันประจัญตี | แสงกระบี่แปลบปลาบวะวาบตา |
ทั้งสองข้างต่างไวมิได้พลาด | ข้างหนึ่งฟาดข้างหนึ่งรับสลับท่า |
ชยัทรถได้ช่องจ้องศัสตรา | แทงปราดมาราวนมอย่างสมรัก |
อภิมันยุจ้องคอยมองจับ | เอาโล่ห์รับทันทีกระบี่หัก |
ชยัทรถหมดอาวุธทรุดชะงัก | รีบผินพักตร์เผ่นหนีจากที่รณ |
ขึ้นรถรีบพยายามขับข้ามออก | ไปภายนอกแนวทัพอันสับสน |
จึงพระ ‘ศัลย์’ กุรุราชรีบกวาดพล | เข้าประจญอภิมันยุทันใด |
พลันพระภีมมาทันผันผยอง | เงื้อตระบองปลายปุ่มเป็นตุ้มใหญ่ |
พบพระศัลย์กั้นสะกัดในบัดใจ | ทั้งสองไท้ต่างเก่งเพลงตระบอง |
ตัวต่อตัวรบร้าสง่ายิ่ง | ทั้งสองสิงห์สู้กันผันผยอง |
แกว่งคทาร่ารำเป็นทำนอง | ต่างปิดป้องป่ายตีดูทีกัน |
เสียงกระทบแห่งตระบองปัดป้องรับ | โปกเปกปับปึงปังดังสนั่น |
ต่างคลุกคลีถี่เข้าเร้าประจัญ | ดังจักรผันโผใส่มิได้ผละ |
ต่างพิโรธโกรธเกรี้ยวเคี่ยวพิฆาต | ต่างหวดฟาดซ้ายขวาด้วยมานะ |
ต่างบั่นบุกคลุกคลีต่างตีดะ | ต่างปะทะกันล้มลงจมคว่ำ |
แต่พระภีมว่องไวลุกได้คล่อง | เงื้อตระบองทันทีจะตีซ้ำ |
แต่กลับคิดเวทนาไม่กล้าทำ | ด้วยข้าศึกสิ้นสัมฤดีตน |
เห็นสลบเลือดไหล, พระทัยเศร้า | ปล่อยให้เขาหามกลับอยู่สับสน |
เพื่อนำไปเยียวยารักษาชนม์ | ที่ค่ายตนตามแต่จะแก้กัน |
ฝ่ายข้างกองทัพหลวงปวงทหาร | ต่างเข้าราญรุกรับอย่างคับขัน |
โท๎รณาจารย์นำทัพขับประจัญ | เห็นทรงธรรม์ธรามบุตรหลุดจากกอง |
จึงขับรถรี่ไปเพื่อใคร่จับ | ให้สมกับถ้อยคำที่ร่ำพร้อง |
ทหารเห็นไพรีจึงตีกลอง | บันลือก้องพร้อมกันบอกสัญญา |
อรชุนทราบชัดอุบัติเหตุ | ด้วยสังเกตกลองดังรีบตั้งหน้า |
ขับรถสู่ธรรมบุตรรีบรุดมา | ก่อนโท๎รณาจารย์ได้ใกล้พระกาย |
หมดโอกาสแห่งท่านอาจารย์เฒ่า | ไม่กล้าเข้าโรมรันดังมั่นหมาย |
พลันขับรถเร่ไปต้อนไพร่นาย | เข้ารบฝ่ายไพรีอยู่นี่นัน |
สนามรบครานี้อึงมี่ก้อง | เสียงฆ้องกลองอื้ออึงคะนึงลั่น |
เสี่ยงกระบี่พลรบกระทบกัน | ลูกเกากัณฑ์ว่อนหวือ! อึงอื้อไป |
หอกกระทบโล่ห์รับเสียงฉับฉาด | เสียงขวานฟาดฟันกันสนั่นไหว |
แลทุกทัพสับสนพลไกร | โลหิตไหลแดงฉาดดั้งชาดทา |
แลดูพลโยธาน่าอนาถ | บ้างหัวขาดล้มเอนเบนถลา |
บ้างแขนขาดขาขาดดาษดา | คนและม้าล้มกลาดดื่นดาษไป |
รถทะลายล้อพรากออกจากรถ | พลคชสู้กันอยู่หวั่นไหว |
ร้องแปร๋แปร้นแล่นแทงงวงแกว่งไกว | บ้างไส้ไหลล้มผางลงกลางคัน |
บ้างงาหักงวงขาดเลือดสาดพุ่ง | บ้างพะยุงกายเร่วิ่งเหหัน |
อลหม่านราญรุกต่างบุกบัน | บ้างผลัดกันรุกรับไม่นับครา |
เสียงโห่ร้องก้องกึกพิลึกลั่น | เสียง ‘เอามัน, เอาเข้า, เอาสิหวา!’ |
จนศังข์กลองก้องลั่นบอกสัญญา | ถึงเพลาพลบค่ำเลิกรำบาญ |
รบวันนี้สองข้างต่างกำแหง | เข้าแสดงสามารถด้วยอาจหาญ |
ไม่มีใครเสียเปรียบพอเทียบทาน | ผลแห่งการเข้ารณยังวนเวียน |
ครั้นรุ่งแจ้งจึงท่านอาจารย์เฒ่า | มุ่งคร่าห์เอาทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร |
ให้ได้ดังจิตต์ปองตามร้องเรียน | อุตส่าห์เพียรจัดทัพรีบขับพล |
ครั้นเห็นองค์อรชุนหนุนรักษา | จะจับคร่าห์ไม่ถนัดล้วนขัดสน |
จึงให้สุศรมันท้าขันรณ | กับอรชุนเป็นกลให้ห่างนาย |
อรชุนรู้ทียินดีรับ | เข้ารบกับผู้ท้าแต่ตาหมาย |
คอยชำเลืองราชาไม่คลาคลาย | เร่งผันผายเข้ายุทธ์รุดระดม |
ไม่ช้าฆ่าไพรินถึงสิ้นชีพ | แล้วกลับรีบมาระวังดังประถม |
ปล่อยให้พลขับเคี่ยวกันเกลียวกลม | ไพรีเห็นนายล้มก็แหลกลาญ |
ฝ่ายท่านพราหมณ์โท๎รณะเห็นฉะนั้น | รีบจัดสรรส่งพหลพลทหาร |
เข้ารบรกบุกบันประจัญบาน | เพื่อคิดการจับกุมพระจุมพล |
เจ้ากุรุหลายองค์ถูกส่งให้ | แยกกันไปรบรับอยู่สับสน |
ให้ไพรีแยกย้ายจากนายตน | แล้วรวมรณจับนายเมื่อปลายมือ |
ทุรโยธน์ยกตีพระภีมะ | เข้าปะทะโทรมศรออกว่อนหวือ! |
ต่างรุกรุมทุ่มเทเสียงเฮฮือ! | ผะผางผึง!อึงอื้อพัลวัน |
พอทุรโยธน์เสียท่าต้องอาวุธ | ต้องเลิกยุทธ์กลับค่ายรีบผายผัน |
อรชุนเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ | เห็นไพรีรวมกันประดังมา |
ไม่ทันให้ไพรีทวีหนัก | เข้าตีหักพังแนวเหล่าแถวหน้า |
ก็แตกย่อยถอยท้อไม่รอรา | ตีแนวขวาซ้ายย่นร่นทุกราย |
ไม่ช้านานทัพหน้าก็ล่าหนี | แตกปู้ยี่ปู้ยำระส่ำระสาย |
พระกรรณ์เห็นเช่นนั้นพลันตะกาย | ขับรถผายต้อนพลเข้ารณรับ |
เพลิงพิโรธริษยามาแต่ก่อน | กำเริบร้อนแรงอยู่ไม่รู้ดับ |
ยิ่งเคืองแค้นแม้นเสือเหลือระงับ | เข้ารบกับอรชุนอย่างรุนแรง |
ต่างฟันฟาดฉาดฉับต่างรับเฉียะ | เสียงเปรื่องเปรียะ!แปลบปลาบวะวาบแสง |
ข้างหนึ่งแกว่งดาพลวงแล้วจ้วงแทง | ข้างหนึ่งแกว่งดาพรับดูฉับไว |
รบไม่คิดตายเป็นจนเย็นค่ำ | ตะวันต่ำต้อยดับลับไศล |
เสียงศังข์กลองก้องลั่นขึ้นทันใด | สัญญาให้พักผ่อนเลิกรอนราญ |
สองนักรบภูมิจิตต์ในกิจยุทธ์ | เพราะต่างรุดรบราด้วยกล้าหาญ |
ผลัดกันรับผลัดกันบุกรกรำบาญ | ไม่เป็นการแพ้ชะนะจนผละกัน |
-
๒๓. ส. เป็น ‘พฺรหฺมนฺ’ เรานำมาใช้ยาวออกไปเปน ‘พรหมาน’ อย่างเดียวกับ ‘โวฺยมนฺ’ เป็น ‘โพยมมาน,’ ยุวนฺ เป็น ‘ยุพาน’ และแผลงต่อไปเป็น ‘เยาวพาน’ (คือเอา ยุ เป็น เยาว, อย่างเดียวกับ สุ เป็น เสาว เช่น สุคนธ์ เป็น เสาวคนธ์) ↩