บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ

ต่อจากการมีชัยฝ่ายวิราฎ หมู่อำมาตย์ปรีดิ์เปรมเกษมศรี
ประกาศชัยแก่ประชาทั่วธานี ทำพิธีส่งเสริมเฉลิมชัย
ถึงกำหนดวันงานตระการแต่ง ทุกหนแห่งธงทิวปลิวไสว
ประชาราษฎร์กลาดเกลื่อนเคลื่อนคระไล สู่วังไท้เพื่อหมายถวายพร
พระลานหลวงปวงราษฎร์ออกดาษดื่น เยียดยัดยืนอัดแอแลสลอน
ท้องพระโรงแลล้วนมวลนิกร ผู้สูงฐานันดรซับซ้อนกัน
ณทันใดมีแขกแปลกประหลาด มารยาทยิ่งเลิศงามเฉิดฉัน
ตรงขึ้นนั่งยังราชอาสน์พลัน สี่คนยืนรายกันรอบบัลลังก์
แต่งตัวอย่างเจ้านายดูฉายฉัน คนพากันมองดูอยู่สะพรั่ง
บางพวกคิดพิศวงงงจังงัง บางพวกบังคมคัลในทันใด
ด้วยไม่เคยเห็นท้าวเจ้าวิราฎ ก็เลยคาดว่าพระองค์ไม่สงสัย
แต่เสนามาตยมวลปั่นป่วนใจ รู้ว่าไม่ใช่เจ้าเฝ้าวิจารณ์
“ผู้แปลกหน้านี้ไซร้คือใครหนอ ดูๆ ก็จะรู้จักซึ่งหลักฐาน
เหมือนได้เคยเห็นหน้ามาช้านาน นามขนานเป็นไฉนนึกไม่ทัน
ทำเช่นนี้เพื่ออะไรก็ไม่แจ้ง คงไม่แย่งเวียงชัยไอศวรรย์”
ทุกคนคิดพิศวงต่างงงงัน พากันอั้นนิ่งอึ้งตะลึงแล
ทันใดนั้นท่านท้าวเจ้าวิราฎ ยุรยาตรมาพลันงันชะแง้
ด้วยมีคนกลบ้าสาระแน ขึ้นนั่งแผ่สีหนาทเหนืออาสน์ทรง
เข้าพระทัยไปว่าเสนามาตย์ เล่นประหลาดเลยเหลิงละเลิงหลง
ด้วยมีชัยใจเหิมเหิ่มทะนง เอาพระองค์มาเล่นเป็นละคร
พระพักตร์นิ่วกริ้วมหาเสนามาตย์ ว่าประมาทบพิตรอดิศร
ให้ขี้ข้าขึ้นสู่อาสน์ภูธร ต่อหน้าหมู่ราษฎรสลอนไป
พระทรงธรรมรำพึงคะนึงว่า “อ้ายขี้ข้าเหิมจิตต์ผิดวิสัย
ความล้อเล่นของมันอย่างจัญไร คงบั่นเกล้าเราได้สักเวลา”
ทรงพิโรธแรงร้ายรีบผายผัน มาใกล้บัลลังก์ทองทรงจ้องหน้า
ทรงจำได้แน่นอนผู้จรมา ซึ่งอาสารับใช้ในพระองค์
เพิ่มพระโกรธกริ้วกราดตวาดว่า “อย่างไรหวา! ตัวมึงจึงประสงค์
เล่นอุบาทว์ชาติไพร่ใฝ่ทะนง ไม่กลัวลงอาชญาหรือว่าไร?”
ขณะนั้น ‘ตันตรบาล’ ผู้หาญกล้า เป็นเสนาบดีหน้าที่ใหญ่
เห็นท้าวเธอกริ้วจัดขัดพระทัย จึงทูลให้พระสติเพื่อตริตรอง
“ขอพระองค์ทรงหายคลายพระโกรธ ประทานโทษขอชี้คดีสนอง
ผู้แปลกหน้าซึ่งนั่งบัลลังก์ทอง ข้าบาทจ้องจับดูอยู่เปนนาน
ใช่อื่นคือบพิตรยุธิษเฐียร ไม่ผิดเพี้ยนแผกคำข้าร่ำขาน
บุญของเรามั่นคงจงวิจารณ์ ที่ภูบาลไคลคลามานคร
เป็นมงคลแก่แว่นแคว้นวิราฎ ได้พระบาทบพิตรอดิศร
มาประชุมเชิดชาติราษฎร จักขจรเกียรติยศปรากฏไกล”
ท้าววิราฎฟังคำทรงอ้ำอึ้ง ตั้งตะลึงแลดูเป็นครู่ใหญ่
ให้วาบ ๆ ไหวหวั่นพรั่นฤทัย ภูวไนยงวยงงด้วยสงกา
พอความจริงแจ้งในพระทัยแท้ เปล่งกระแสเสียงสั่นด้วยหรรษา
“ถูกของท่าน! ถูกของท่าน! พระผ่านฟ้า โอ! ตูข้านี้ฉงนคิดวนเวียน”
ย่อพระองค์บังคมบรมบาท มหาราชบพิตรยุธิษเฐียร
ทูลว่า “โทษตูข้าน่าติเตียน จดจำเจียนจะไม่ได้เจ็บใจจริง
ประทานโทษข้าผู้หลู่พระบาท หมิ่นประมาทภูบดีเป็นที่ยิ่ง
ผิดด้วยงมซมซานสุดค้านติง มิใช่สิ่งผู้ที่ภักดีทำ
ขอพระองค์กรุณาเมตตาโปรด ประทานโทษข้าบาทซึ่งพลาดพล้ำ
ขอเป็นข้าบาทบงสุ้คงประจำ เพื่อกระทำการสนองประคองคุณ”
ตรัสเท่านั้นอั้นอัดไม่ตรัสได้ ชลนัยน์นองอาบกระหนาบหนุน
คิดถึงข้อหยาบช้าทำทารุณ ให้เคืองขุ่นแก่เธอด้วยเซ่อเซอะ
ยิ่งคิดยิ่งขวยอายระคายเขิน ด้วยหลงเลินเล่อทำออกต้ำเปรอะ
ไม่ควรจะงวยงงก็หลงเลอะ ท้าวเธอเงอะงันงงทรงระทม
ยุธิษเฐียรเห็นท้าวเจ้าวิราฎ พระพักตร์ปราศจากสุขมีทุกข์ถม
เพื่อจะบรรเทาถอนผ่อนอารมณ์ ให้หายตรมตรอมใจจึงไคลคลา
จากแท่นรัตน์เร็วพลันถลันเข้า ส้วมกอดเจ้าวิราฎประภาษว่า
“ที่พระองค์เห็นผิดระอิดระอา นั้นตูข้ามิได้เห็นเช่นพระองค์
กลับคิดเห็นเป็นคุณการุญข้า ได้พึ่งพาพักร่มสมประสงค์
ตูข้าขอบคุณธรรม์อันยรรยง ที่ได้ทรงป้องกันอันตราย”
“หามิได้พระเจ้าข้า! เมตตาโปรด ประทานโทษข้าบาทพลั้งพลาดหลาย
กรุงวิราฎเรืองชัยเพราะได้นาย เสด็จผายผันสู่ยังบูรี
น้อยใจที่งมงายน่าขายหน้า ทิ่งมหาราชเจ้าให้เศร้าศรี
แต่น้ำใจจงรักคิดภักดี ยังคงมีมั่นอยู่ในภูธร”
ยุธิษเฐียรทรงฟังรับสั่งว่า “การเจรจาเยินยอขอรอก่อน
เมื่อยามท่านคลาไคลไกลนคร เราตีต้อนไพรีป่นปี้ไป
ทั้งนี้เป็นปฏิการแก่ท่านผู้ ได้เลี้ยงดูตัวข้าผู้อาศัย
เรื่องนี้ทรงทราบบ้างหรืออย่างไร ว่าผู้ใดต้านทานผลาญไพรี”
ท้าววิราฎนบนอบตอบแถลง “ข้าพึ่งแจ้งเรื่องราวในคราวนี้
ขอประคองคุณวางกลางโมฬี ขอพึ่งพาบารมีจนม้วยมรณ์
ไว้พระทัยข้าพระองค์เถิดทรงเดช โปรดเล่าเหตุเทวีศรีสมร
และพระน้องสี่องค์ทรงสัญจร ไปพักผ่อนอยู่หนตำบลใด”
พระทรงฟังท้าววิราฎประภาษถาม จึงนำความลับลี้ออกชี้ไข
“มเหสีสี่น้องไม่หมองใจ ได้อาศัยบารมีอยู่นี่ครบ
แต่แปลงกายย้ายชื่อกันอื้อฉาว ปกปิดข่าวไม่ให้ใครประสพ
ชื่อ ‘ค๎รันถิก’ ที่พระองค์เคยทรงพบ คือนกูลเกลื่อนกลบจำแลงแปลง
สหเทพอนุชาแห่งข้าบาท คืออำมาตย์ ‘ตันตรบาล’ ซึ่งท่านแจ้ง
ผู้เป็นนายสารถีที่สำแดง ฝีมือแผลงศรก็คืออรชุน
‘พัลลภ’ ผู้เผ่นจ้วงตัดบ่วงบาศ พาท่านผาดเผ่นกลับยังทัพหนุน
จนทัพท่านได้ทีตีเป็นจุณ ข้าศึกวุ่นวายแตกแหลกกระจาย
นั่นภีมะน้องข้าผู้กล้าหาญ แต่มีการเกี่ยวเนื่องถึงเรื่องร้าย
โปรดประทานโทษทัณฑ์ขอบรรยาย เขาทำลายกิจกะชีพประลัย
เป็นเหตุด้วยกฤษณามารศรี ราชินีกรุณาให้อาศัย
ทรงชุบเลี้ยงเยี่ยงอย่างพวกนางใน มีนาม ‘ไศรินธรี’ เป็นที่รัก
กิจกะลุ่มหลงตรงเข้าปล้ำ จึงก่อกรรมคิดสู้เพื่อกู้ศักดิ์
ภีมะเข้าช่วยองค์นางนงลักษณ์ จึงโหมหักห้ำหั่นเธอบรรลัย”
ท้าววิราฎจ้องฟังรับสั่งเล่า พอทราบเค้ามูลที่ทรงชี้ไข
ท้าวเธอทรงอัศจรรย์งันพระทัย ความห่วงใยกิจกะค่อยละลาย
ความโศกเศร้าเบาบางจางพิโรธ ด้วยเห็นโทษกิจกะเหลือจะร้าย
ข้อที่เขาหยาบช้าก็น่าตาย เหมือนมุ่งหมายล้างธรรมอันอำพน
แห่งสตรีศรีเมืองผู้เรืองศรี ทรงความดีเด่นหล้าเวหาหน
ทรงคะนึงถึงโทษโฉดกมล ที่ให้คนมัดเจ้าไปเผาไฟ
เพราะฟังคำมหิษีชี้แถลง เห็นแจ่มแจ้งจิตต์ปลงไม่สงสัย
ด้วยความโกรธกลุ้มกลัดในหัทัย กระทำไปโดยพลันมิทันตรอง
ท่านว่าไว้ไฟมาต้องหาน้ำ อย่าเสริมซ้ำหาไฟใส่เป็นสอง
ที่ทำนี้ผิดแยบแบบละบอง จึงจำต้องโศกซ้ำระกำทรวง
ยิ่งคะนึงยิ่งมีทวีเศร้า ความทุกข์เร้าหฤทัยเป็นใหญ่หลวง
ชลนัยน์คลอนัยน์ให้ระลวง พระผิวดวงพักตร์เศร้ากำเดาดาล
ยุธิษเฐียรเพียรกล่าวปลอบท้าวให้ มีพระทัยปลื้มเปรมเกษมศานต์
ทรงผ่อนผันบรรยายหลายประการ พระภูบาลมิได้คลายหายระทด
ยิ่งพูลเพิ่มเสริมให้พระทัยท้าว ยิ่งรานร้าวรำลึกนึกสลด
จึงลาไปไสยาดับลาลศ เป็นโอสถดับเศร้าให้เบาคลาย
ทรงตรัสว่า “ข้าเจ้าไม่เล่าละ! เพราะเกรงจะยั่วให้ท่านใจหาย
น้ำตาท่านคลอตาไม่คลาคลาย เพราะข้าเจ้าเล่าขยายแก่ทรงธรรม์
ข้าแต่ท่าน, เรื่องใดเป็นไปแล้ว ให้มันแคล้วคลาดไปอย่าใฝ่ฝัน
ถึงจะนำมานึกระลึกมัน ก็ไร้ธรรม์สาระควรละเลย
ความเป็นไปแห่งชีวิตสุดคิดคาด ไม่สมมาดทุกประการดอกท่านเอ๋ย!
ถึงบุญเร่งรถฟ้าลงมาเกย รถอาจเฉยเสียก็ได้ไม่ไคลคลา
เล่นสะกามีแต่พ่ายแพ้เขา ก็ไม่เร้าความสนุกปลุกหรรษา
ถ้าผลัดกันแพ้ชะนะคนละครา สนุกปรากฏแท้เป็นแน่นอน
ชีวิตชนเช่นกันย่อมหันเหียน ทุกข์แล้วเวียนมาสุขความทุกข์ถอน
ย่อมสับเปลี่ยนเวียนเช่นเล่นละคร ผิชาตาถาวรไม่ขึ้นลง
ชีพก็ไม่ปรากฏมีรสชาติ ให้ประหลาดล่อจิตต์พิศวง
ผู้สูงกว่าข้าไปยังได้ทรง ทุกข์ยากลงเลวกว่าข้าก็มี
น้ำตาท่านนั้นดอกพาชอกช้ำ ยิ่งกว่าคำขึ้งเคียดพูดเสียดสี
ยิ่งกว่าบอบช้ำสิ้นทั่วอินทรีย์ เพราะเหตุที่ตรำตรากลำบากกาย
ท่านก็ผู้เปรื่องปราชญ์และอาจหาญ จงเอาญาณดับเดือดให้เหือดหาย
ไม่เพื่อท่าน, จงบรรเทาให้เบาคลาย เพื่อมุ่งหมายเห็นแก่ข้าเถิดราชัน”
ท้าววิราฎทรงฟังรับสั่งสอน พระทัยอ่อนฝืนอดกำสรดศัลย์
ด้วยรู้สึกแน่ว่าความจาบัลย์ พาทรงธรรม์ธรรมบุตรสุดระทม
ขอย้อนกล่าวถึงถิ่นอินทรปรัสถ์ ไร้กษัตริย์เสื่อมสุขมีทุกข์ถม
ยุธิษเฐียรผู้ศรีบุรีรมย์ ต้องตรอมตรมเนรเทศประเวศน์วัน
ราษฎรร้อนใจดังไฟเผา คิดถึงเจ้าซึ่งวิโยคแสนโศกศัลย์
การปกปักรักษาก็อาธรรม์ ล้วนแปรผันแผกผิดนิติธรรม
ราชวังเคยงามอร่ามฉาย ได้เสื่อมคลายชูชุบอุปถัมภ์
ย่อมร้างรกนกเค้าเข้าประจำ ประหนึ่งสำนักป่าน่าสลด
โจรผู้ร้ายชุกชุมเดี๋ยวรุมปล้น จลาจลทั่วแดนแสนระทด
ผู้พวกมากลากพากันปรากฏ เกียรติยศเพราะที่ข่มขี่เอา
ผู้พวกน้อยย่อยยับอัปลักษณ์ ถึงแม้จักยุกติธรรม์ก็งันเขา
พูดไม่ได้ใจสยบต้องซบเซา แสนกำเดาเดือดใจดังไฟฟอน
ต่างคำนึงทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร ซึ่งจากเจียรครบนัดสมพัตสร
หวังเธอกลับปกป้องครองนคร ราษฎรพากันนับวันคืน
พอทราบข่าวท้าวอาศัยในวิราฎ พร้อมนางนาฎและอนุชสุดจะชื่น
ข่าวระบือดุจไฟที่ไหม้ฟืน ต่างแตกตื่นโจษกันลั่นนคร
เหล่ากษัตริย์และมหาเสนามาตย์ ต่างคลาคลาดเยี่ยมองค์พระทรงศร
กรุงวิราฎดาษดาประชากร ผู้สัญจรต่างด้าวเยี่ยมท้าวไท
บ้างเดิรไปใจปลื้มจนลืมเหนื่อย ไม่รู้เมื่อยรู้ล้ามาจนได้
บ้างริษยาท้าววิราฎประหลาดใจ ที่ท้าวไทมาพักสำนักเธอ
ต่างเข้าเฝ้าท้าวไทพิไรว่า ด้วยวาจาแนะนำพร่ำเสนอ
ด้วยไม่รู้เค้ามูลทูลละเมอ ให้ท้าวเธอกลับหลังยังบูรี
ยุธิษเฐียรเพียรพร่ำร่ำสนอง เรื่องขัดข้องที่จะมุ่งไปกรุงศรี
จะต้องรุกรบใหญ่สู้ไพรี ทุกๆ ฝีก้าวไปจนได้เมือง
ทรงปรึกษาท้าววิราฎดังมาดหมาย ตรัสบรรยายเหตุผลแต่ต้นเรื่อง
“ท่านทราบเค้ามูลชัดคงขัดเคือง โปรดช่วยเปลื้องขัดแค้นแสนระทม
เราพี่น้องต้องเร่เนรเทศ ก็เพราะเหตุโมหะเป็นประถม
การพะนันขันต่อล่อให้จม ถึงแก่งมงายใหญ่ไร้วิจารณ์
เสียเดิมพันธุ์ปั่นป่วนกวนโทษะ ถึงสละสมบัติพัสถาน
ออกพะนันขันสู้ไม่รู้การณ์ จนเสียบ้านเมืองยังไม่ยั้งคิด
เสียตัวกับอนุชาเป็นข้าเขา ซ้ำเสียเท๎ราปทีศรีสนิท
ถึงแม้เสียเมียรักอัครมิตร แต่ดวงจิตต์ข้าเจ้าไม่เศร้าเลย
พอทุศศาสน์เปลื้องผ้ามารศรี เท๎ราปทีในสภา, เจ้าข้าเอ๋ย!
ข้าเหลือช้ำน้ำใจไม่สะเบย เหลือจะเอ่ยโอษฐ์เล่าเรื่องเศร้าใจ
เป็นพระคุณกรุณาเมตตาจิตต์ แห่งพระภิษม์อัยยกาปรึกษาให้
เนรเทศพวกเราไปเนาไพร สิบสามปีมีในข้อสัญญา
พวกข้าเจ้ายินยอมพร้อมมนัส ต้องเที่ยวซัดเซไปอยู่ในป่า
ครบกำหนดแล้วจึงมาพึ่งพา- ท่าน, ได้ผาสุกสิ้นต่างยินดี
พวกข้าเจ้าปฏิบติเคร่งครัดหมด ครบกำหนดกติกาซึ่งว่านี้
ใคร่จะคิดกลับหลังยังบุรี ตามข้อที่กติกาสัญญากัน”
ท้าววิราฎทูลองค์พระทรงฤทธิ์ “ข้าบาทคิดหนักใจเฝ้าใฝ่ฝัน
ถึงข้อที่จะประเวศน์เข้าเขตต์คัน ต้องรบกันโดยแท้เป็นแน่นอน
จักเสด็จโดยสวัสดิ์เห็นขัดข้อง คงจะต้องออกแรงด้วยแสงศร
ของสิ่งใดที่พรากตกจากกร มันจะย้อนคืนกลับเห็นอับจน
อย่างน้อยต้องออกแรงแสวงหา หรือโดดคว้าทันทีจึงมีผล”
ข้อนี้เจ้าเท๎ราปทีนีรมล ถึงแม้ตนเป็นสตรี, เห็นดีตาม
ด้วยนางเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ จึงทูลทัดภูวไนยมิได้ขาม
“ข้าพระบาทใคร่ครวญเห็นลวนลาม ถึงสงครามแน่แท้ไม่แปรปรวน
ความไกล่เกลี่ยเช่นนี้ถึงพี่น้อง ก็ทำนองความฝันคงผันผวน
อันพี่น้องปองชีวิตคิดเรรวน รางวัลควร ‘มรณะ’ อย่าละเลย
พระตรองเถิดทุรโยธน์คิดโหดร้าย เอาเปรียบหลายทางท่าเจ้าข้าเอ๋ย !
ทำมารยาการุณย์อย่างคุ้นเคย ลวงเฉลยล่อใจให้พะนัน
กระทำกลจนคร่าห์อาณาจักร ให้ทรงศักดิ์เนรเทศจากเขตต์ขัณฑ์
ถึงฉะนี้แล้วไฉนไม่สำคัญ ถ้าทรงธรรม์เกรงพิรุธยุตติธรรม
ก็จงให้สงครามงามสง่า เป็นตุลาการเลิศประเสริฐล้ำ
สงครามจักตัดสินให้สิ้นกรรม ที่ตรากตรำเตรียมตรมระทมมา”
พระทรงฟังเท๎ราปทีทูลชี้ไข มีพระทัยตื้นตันด้วยหรรษา
ดำรัสตอบจอมขวัญกัลยา “น้องร่ำว่าถูกถ้วนกระบวนความ
พี่กล่าวนั้นเพื่อใคร่ลองใจน้อง จะตรึกตรองกู้ศักดิ์หรือจักขาม
ถูกของน้องแล้วน้องต้องสงคราม จึงจะข้ามอุปสรรคซึ่งหนักใจ
พี่จะรีบบอกเหตุประเทศราช ป่าวประกาศชี้แจงแถลงไข
ให้ราชาทราบสิ้นทุกถิ่นไป เสียแต่ในเนิ่นวันจึงทันการณ์
ให้ทูตไป ‘ท๎วารกา’๑๒ พาราใหญ่ จำทูลไท้ ‘กฤษณะ’ เพื่อสมาน
ให้เธอช่วยฝ่ายเราเข้ารำบาญ ทูตผู้ชาญนั้นก็อรชุน”
ดำรัสพลางพาองค์อนงค์นาถ สู่ปราสาทยิ่งเลิศประเสริฐสุนทร์
ประทับบนบรรจัตถรณ์อ่อนละมุน ด้วยใบบุญท้าววิราฎนาถประชา
ซึ่งเคารพนบนอบมอบอำนาจ ถวายอาสน์ราชันด้วยหรรษา
มอบเสนามาตย์ไท้ในสภา เพื่อปรึกษากิจการงานสงคราม
ครั้นรุ่งเช้าบพิตรยุธิษเฐียร จากมนเทียรสู่สภาเสนาหลาม
ทรงปรึกษาเสร็จสิ้นระบิลความ สำเร็จตามหฤทัยทรงไตร่ตรอง
ให้อรชุนน้องยาผู้กล้าหาญ จำทุกศาส์นทรงธรรมนำสนอง
เธออำลาคลาไคลดังใจปอง สู่แคว้นของกฤษณะปิยมิตร
อยู่ทางหนปรัศจิมริมสมุทร นามสมมุติ ‘ท๎วารกา’ ตามภาษิต
ซึ่งเคยไปเยี่ยมองค์พระทรงฤทธิ์ ครั้งบพิตรเนรเทศระเวศน์วัน
จนกลมเกลียวเดี่ยวดองเป็นน้องเขย๑๓ และคุ้นเคยผ่อนพักสำนักนั้น
ร่วมไมตรีกับพระกฤษณ์สนิทกัน เกี่ยวข้องฉันปิยญาติราชวงศ์
เมื่อเธอมาถึงประตูพระบูเรศ ก็พบแขกแปลกเพศน่าพิศวง
เป็นเจ้าชายทราบแจ้งด้วยแต่งองค์ มุ่งเดิรตรงไปข้างหน้าไม่รารอ
สังเกตท่ามาไกลได้ลำบาก ธุระมากมุ่งไคลมิได้ท้อ
ทหารยามแหยงกลัวจนตัวงอ ปล่อยให้พ่อคลาไคลไปสบาย
ดังพระญาติราชันอันสนิท หรือใกล้ชิดเชิงเช่นเป็นสหาย
อรชุนครุ่นจิตต์คิดมิวาย “เอ! เจ้าชายนี้จะไปที่ไหนกัน?”
ด้วยเธอมุ่งราชการเป็นงานร้อน บทจรเร็วไวไม่ใฝ่ฝัน
ถึงทวารชั้นในเธอไปทัน เจ้าชายนั้นเข้าไปได้สบาย
นายประตูรู้จักไม่ทักถาม เธอมุ่งตามจะให้ทันรีบผันผาย
เข้าสู่พระโรงคัลพรรณราย ไม่สมหมาย, กฤษณะยังประทม
จึงเลยเข้าห้องมหาไสยาอาสน์ ถือมารยาทอย่างมิตรสนิทสนม
พระกฤษณ์ตื่นจากมหานิทรารมย์ แต่บรรทมอยู่กับที่ศรีไสยา
ก็พอพระอรชุนผู้ครุ่นจิตต์ มายืนชิดแท่นสุวรรณด้วยหรรษา
พร้อมกับเจ้าชายแขกผู้แปลกมา ซึ่งยืนปรากฏตัวอยู่หัวนอน
อรชุนยืนทางข้างพระบาท พระกฤษณ์ราชลืมเนตรสังเกตก่อน
ทรงปราศรัยมิได้ช้าด้วยอาทร “อรชุน! เธอจรมาเมื่อไร?
ข้าเจ้าอยากพบเธอนักเกลอเอ๋ย ! ยังสะเบยหรือเข็ญเป็นไฉน?”
“หม่อมฉันมาเดี๋ยวนี้ด้วยดิใจ ล่วงเข้าในห้องหอขอขมา”
เจ้าชายนั้นคือพระทุรโยธน์ ทรงลิงโลดทูลไท้มิได้ช้า
“หม่อมฉันเข้ามาในห้องไสยา เป็นเวลาก่อนใครอย่าได้แคลง”
พระกฤษณ์เงยพักตร์ปะทุรโยธน์ ตรัสขอโทษภูวไนยมิให้แหนง
“เป็นมงคลพ้นที่จะชี้แจง ที่แสดงเมตตามาบุรี”
เมื่อทรงทราบข้อความตามประสงค์ ที่สององค์หมายมุ่งมากรุงศรี
พยายามเกลี่ยไกล่ด้วยไมตรี แต่พ้นที่จะบรรเทาให้เบาลง
ทุรโยธน์ถือว่าได้มาก่อน ทรงรีบร้อนทูลความตามประสงค์
เชิญพระกฤษณ์ช่วยตนรณรงค์ ด้วยถือตรงตำรับฉะบับบรรพ์
ประเพณีมีว่าถ้าสหาย ทั้งสองฝ่ายแก่งแย่งเข้าแข่งขัน
ใครขอร้องก่อนเขาเข้าประจัญ ช่วยผู้นั้น, ถูกแยบแบบโบราณ
อรชุนยืนรอไม่ขอร้อง ไม่สนองพจน์แย้งแข่งขนาน
พระกฤษณ์จ้องมองดูอยู่เป็นนาน แล้วบรรหารตอบสนองแก่สององค์
“ข้าเจ้าต้องเอออวยช่วยสหาย ทั้งสองฝ่ายเต็มตามความประสงค์
ขอรักษาตราชูให้อยู่ตรง ไม่ขึ้นลงลำเอียงเป็นเที่ยงธรรม์
ข้าขอมอบพลนิกายแก่ฝ่ายหนึ่ง ทั้งทรัพย์ซึ่งเลี้ยงพหลพลขันธ์
พร้อมด้วยศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ ฝ่ายหนึ่งนั้นข้านี้ขอพลีตน
ไม่สรวมเกราะและไม่ใช้อาวุธ และไม่อุดหนุนช่วยด้วยพหล
แต่ขอช่วยคิดอ่านในการรณ ลำพังคนเดียวข้ากว่าจะตาย
จงเลือกเอาคนละอย่างตามอ้างนี้ ข้ายินดีอนุญาตตามมาดหมาย
แต่ไม่ยินดีเท่าบรรเทาคลาย จากปองร้าย,กลับรักพร้อมพรักกัน”
ทุรโยธน์ฟังแถลงรับแจ้งว่า “ฝ่ายพวกข้าขอพหลพลขันธ์
กับทรัพย์สินศัสตราสารพัน เอาเป็นอันตกลงปลงหทัย”
อรชุนฟังพระทุรโยธน์ ซึ่งเอื้อนโอษฐ์รีบแจ้งแถลงไข
ไม่โต้แย้งแข่งขานประการใด ด้วยพอใจบพิตรกฤษณะ
จึงกล่าวว่า “ข้านี้ยินดีนัก ได้เพื่อนรักร่วมใจมิได้ผละ
มีค่ายอดมิตรภาพอาบอุระ เสมอกะกฤษณาผู้ยาใจ
ข้าเจ้าได้ท่านไปพอใจล้น ยิ่งกว่าพลจตุรงค์ซึ่งปลงให้”
ทั้งสองฝ่ายต่างก็พอพระทัย ลาครรไลออกมาผ่อนอารมณ์
พระกฤษณ์ทรงรับรองสองสหาย ให้สบายบานจิตต์สนิทสนม
ทรงกะเกณฑ์พลนิกรร้อนระดม สำเร็จสมหฤทัยให้ไคลคลา
พระทุรโยธน์นำทัพกลับบุเรศ บรรลุเขตต์สมคาดปรารถนา
อรชุนชวนมิตรพระกฤษณ์มา ในเวลาเดียวกันรีบผันจร
ถึงวิราฎเร็วไวเพราะไม่หยุด ธรรมบุตร์บพิตรอดิศร
เจ้าวิราฎเสนาสามภ๎ราดร ออกมาต้อนรับไท้พาไปวัง
จัดปราสาททรงพักอัครฐาน พนักงานแวดล้อมอยู่พร้อมพรั่ง
พักสำราญบานชื่นคืนกำลัง เชิญท้าวยังห้องสภาทรงหารือ
พระกฤษณ์ทรงเป็นประธานบรรหารไข นี่เธอใครฆ่าฟันกันละหรือ?
ถ้าปล่อยให้ไฟสงครามลุกลามฮือ นั่นแหละคือความวินาศญาติทั้งปวง
ความเงียบเหงาเปล่าจิตต์คิดสลด ความระทดทุกข์ใจเป็นใหญ่หลวง
ความกำพร้าพรากพลัดกลัดระลวง ท่านคิดล่วงลุบ้างหรืออย่างไร ?
ใช้ข้าเจ้านี้หวังตั้งสงบ แม้ไม่สบขัดสนพ้นวิสัย
ก็ควรจะออมอดสะกดใจ เห็นอย่างไร ? ว่ามาอย่าช้าที”
ที่ประชุมปรึกษาเห็นว่าชอบ ตามระบอบบพิตรพระกฤษณ์ชี้
ตกลงส่งทูตไปไขคดี ให้เป็นที่ปรองดองพี่น้องกัน
  1. ๑๒. อีกชื่อหนึ่งว่า ‘ท๎วาราวดี’ บัดนี้เรียกว่า มณฑลคูชราต.

  2. ๑๓. อรชุนไปเยี่ยมพระกฤษณะที่กรุงท๎วารกา และได้นางสุภัทรา น้องสาวพระกฤษณะเป็นภรรยามีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง ชื่ออภิมันยุ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ