บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง

ครั้นเตรียมเสร็จสมหมายอุบายลับ เตรียมต้อนรับเตรียมนิวาสราชฐาน
พระหน่อไททุรโยธน์แสนโปรดปราน จึงเข้าเฝ้าภูบาลพระบิดร
พลางประณตจดนลาตแทบบาทไท้ ร่ำพิไรทูลกิจอดิศร
แสร้งกันแสงโศกศัลย์รำพันวอน เนตรภูธรเยิ้มหยัดอัสสุชล
“ข้าแต่องค์พระชนกผู้ปกเกล้า ข้าบาทเศร้าโศกแสนคับแค้นล้น
ด้วยปาณฑพหลานยาทั้งห้าคน ซึ่งจุมพลปราณีแบ่งที่ทาง
แสนโอหังตั้งแข็งเหมือนแมงป่อง ซึ่งลำพองผันผกกะดกหาง
เห็นผู้คนยกยอทำข้อกาง บัดนี้สร้างกรุงไกรออกใหญ่โต
หัสดินบุรีเคยมีชื่อ บัดนี้หรือย่อมเยาว์ว่าเขาโข
ทั้งปราสาทราชฐานตระการโอ! ล้วนแต่โสภายิ่งทุกสิ่งไป
ท้องพระคลังคั่งคับด้วยทรัพย์สิน ดังเมืองอินทร์ลอยมาก็ว่าได้
ข้ามหน้าเราเหลือแสนน่าแค้นใจ ข้าบาทไม่อยากอยู่ให้ดูแคลน
สู้วอดวายตายหนีเสียดีกว่า ในอกข้าบาทช้ำระกำแสน
นี่หากลุงศกุนิช่วยตริแทน บรรเทาแค้นขุ่นลงจึงคงชนม์
ท่านชี้แจงแยบคายอุบายให้ ข้าบาทไตร่ตรองเห็นว่าเป็นผล
อาจหักราญคู่แข่งด้วยแต่งกล ให้มัวมนท์เมาข้างทางพะนัน
จักเชิญองค์พระกนิษฐ์ยุธิษเฐียร มามนเทียรที่แต่งไว้แข่งขัน
เล่นสะกาท้าเติมซึ่งเดิมพันธุ์ ซึ่งหมายมั่นว่าชะนะทุกกะดาน
เอาด้วยกลจนกว่าข้าพระบาท ได้คืนราชสมบัติพัสถาน
ซึ่งตบแต่งแบ่งขาดพระราชทาน มาสู่ร่มสมภารดังเดิมมา
แม้ข้าบาทขาดโชคโฉลกลาภ จะรับบาปโดยดีสู้หนีหน้า
ให้เขาได้ปกป้องครองสีมา เป็นราชาเชิดอยู่แต่ผู้เดียว
มิฉะนั้นข้าต้องปกครองครบ ไม่ควรลบหักอีกเป็นซีกเสี้ยว
แคว้นหนึ่งมีสองไท้ไม่ได้เจียว ต้องขับเคี่ยวแข่งกันนิรันดร์ไป
ราศีหนึ่งดาราคู่ราศี จะต้องมีหมู่หนึ่งจึงจะได้
จะให้มีหลายหม่ดูกระไร ภูวไนยจงคิดพินิจตรอง”
ธฤตราษฎร์ฟังพจน์โอรสรัก ดำรัสตักเตือนไปมิให้หมอง
“ลูกเอ๋ย! กลีบตาเจ้า, เจ้าก็มอง ไม่เห็น, ผองชนเห็นได้เด่นชัด
ความเศร้าใจใหญ่โตด้วยโทษะ ชั่วขณะคลั่งไคล้ใจวิบัติ
ด้วยไฟคือโทษะเผามนัส ไม่เป่าปัดหรือไฉนอย่างไรกัน
โทษัคนีมีอยู่ครู่ขณะ ควรหรือจะผลาญญาติคิดคาดคั้น
เขาได้ทนทุกข์ยากลำบากครัน ควรผ่อนผันให้เขาเนาสราญ
ก่อร้ายต่อไพรีมีอำนาจ เหมือนปลุกราชไกรสรมาย้อนผลาญ
อนึ่งเรื่องการพะนันอันธพาล อย่ามาขานชื่อให้พ่อได้ยิน
มันมีแต่แส่เพาะความเคราะห์ร้าย พาฉิบหายย่อยยับแห่งทรัพย์สิน
ฟังแสยงเยี่ยงตนเปื้อนมลทิน เหมือนกลากกินหูเหืองฟังเรื่องมัน
พ่อแสนเบื่อเหลือจะอนุญาต เพราะขยาดแหยงจิตต์ให้คิดพรั่น
ถามวิทูรดูบ้างเห็นต่างกัน หรือเป็นอันเห็นพ้องลองบรรยาย”
พระวิทูรทูลพลันเพราะคันโอษฐ์ “ประทานโทษข้านี้ขอชี้ถวาย
แต่โดยสิ่งจริงใจใช่อุบาย ด้วยมุ่งหมายสัทธรรมนำเจริญ
ไม่เท็จทูลสอพลอแต่พอให้ นายพอใจพอกรรณได้สรรเสริญ
เหตุนี้คำหม่อมฉันมักพันเอิญ จะก้ำเกินก่อให้ผิดใจนาย
ครั้งนี้เห็นค่อนข้างเป็นอย่างนั้น ขอทรงธรรม์ตรองความให้งามหลาย
กระหม่อมฉันเห็นว่าน่าละอาย ที่มุ่งหมายแย่งสินและดินแดน
จากพี่น้องของไท้ด้วยใจคด อัปยศอัปลักษณ์เสียศักดิ์แสน
ภายหน้าผลป่นปี้ถึงบี้แบน จักมาแทนที่ผลซึ่งตนปอง
ข้าพระบาทเห็นว่าเป็นหน้าที่ ซึ่งจะชี้แจงการณ์สารสนอง
เตือนพระองค์ทรงชัยโปรดไตร่ตรอง ความคิดของข้าเห็นเป็นฉะนี้”
ความไม่พอหฤทัยในพระบาท ธฤตราษฎร์บิตุรงค์ผู้ทรงศรี
ซ้ำวิทูรค้านต่อข้อคดี ทำให้มีริษยาขึ้นกว่าเดิม
ให้บังเกิดมานะไม่ละลด กิจกำหนดเตรียมไว้ก็ได้เริ่ม
ส่งทูตไปลวงล่อคิดต่อเติม เฝ้าผูกเพิ่มไมตรีทุกวี่วัน
แล้วจึงเชิญปาณฑพครบทั้งห้า เสด็จมายังนิเวศน์ณเขตต์ขัณฑ์
เล่นสะการ่าเริงเชิงพะนัน ตามเยี่ยงฉันญาติเชื้อเพื่อสำราญ
ยุธิษเฐียรบพิตรอดิศร เกียรติกำจรโจษแจแผ่พิศาล
ประชาราษฎร์รื่นร่มพระสมภาร ด้วยภูบาลทรงธรรมอันอำไพ
พระทรงโปรดเล่นสะกากีฬาหลวง นี้เป็นบ่วงคล้องบาทไม่คลาดได้
ทรงรับเชิญทุรโยธน์โปรดกระไร มอบกรุงไกรแก่มหาเสนาบดี
ชวนมารดามหิษีและสี่น้อง พร้อมด้วยผองเสนาสง่าศรี
เสด็จจากอินทรปรัสถ์สวัสดี ถึงบุรีหัสดินดังจินดา
สมเด็จไท้ธฤตราษฎร์พระญาติพร้อม มาแห่ห้อมทรงธรรม์ด้วยหรรษา
พาเสด็จสู่วังอลังการ์ รับรองผาสุกใจทั้งไพร่นาย
ครั้นเสร็จการต้อนรับประทับพัก ณตำหนักโอฬารตระการหลาย
ก็เริ่มต้นเล่นสะกาตามท้าทาย กับเจ้าชายทุรโยธน์ด้วยโปรดปราน
แสนสงสารบพิตรยุธิษเฐียร ไม่ทราบเสี้ยนศึกร้ายหมายประหาร
เขาถ่วงลูกบาศก็ไว้ด้วยใจพาล ทุกกะดานภูบดีไม่มีชัย
ปรึกษาพี่น้องกันว่าวันร้าย จึงฉิบหายปี้ป่นทนไม่ไหว
จึงหยุดพักพ้นวันเปนจัญไร เล่นวันใหม่ก็ไม่สมอารมถ์เปอง
ยิ่งทรงแพ้พาให้ใจกระหาย หมดเสียดายทรัพย์สินสิ้นทั้งผอง
มีเท่าใดใฝ่หาเอามากอง จนเงินทองสิ้นองค์ทรงเดือดดาล
พระพักตร์มืดหมดอายหมายชะนะ ไม่เลือกละม้ารถคชสาร
ทรงปลดเปลื้องเครื่องทรงอลงการ ตีประมาณค่าเติมเป็นเดิมพันธุ์
ก็แพ้เขาเบาองค์แทบทรงคลั่ง ไม่หยุดยั้งหฤทัยคิดใฝ่ฝัน
เอาสมบัติในพระคลังตั้งพะนัน ที่สุดขัณฑาสีมาอาณาจักร
ก็แพ้รุดหลุดหัตถ์ให้อัดอั้น ถึงกระนั้นยังกระหายสิ้นขายพักตร์
เอาสี่น้องและองค์พระทรงศักดิ์ ที่สุดองค์นงลักษณ์เท๎ราปที
เข้าขันสู้กู้ชัยก็ไม่สม กลับล่มจมสารพัตรน่าบัดสี
เสียพระน้องปองรักด้วยภักดี เสียเทวีร่วมใจอาลัยลาน
พระภิษม์, พราหมณ์โท๎รณะ, พระวิทูร ต่างอาดูรด้วยพระองค์คิดสงสาร
ฝ่ายพระกรรณยิ้มละไมด้วยใจพาล กับกุมารทุศศาสน์ราชกนิษฐ์
แห่งองค์พระทุรโยธน์ปราโมทย์นัก ต่างพะยักเย้ยเยาะด้วยเหมาะจิตต์
พระทุรโยธน์ชื่นชมด้วยสมคิด ประกาศิตสั่งวิทูรพูลฤดี
“ไปนำนางกฤษณามาในห้อง ข้าอยากมองดูหน้านางทาสี
ซึ่งเดิมเด่นเป็นมหาราชินี ยังจะมีหยิ่งยศหรือลดลง”
พระวิทูรทานทัดขัดบรรหาร “ขอประทานโทษข้าฝ่าประสงค์
ข้าบาทเห็นเป็นโทษโปรดอย่าทรง กระทำ, คงเกิดมีกลีภัย
เหมือนยั่วปาณฑพให้ผูกใจแค้น ดังเพลิงแล่นลุกฮือกระพือไหม้
เอานางมาว่าเย้ยเห็นเลยไป เหมือนหมิ่นต่ออรทัยด้วยใจจินต์
หมิ่นอย่างยั่วโทโษให้โตเติบ จะกำเริบลามลุกไปทุกถิ่น
ตลอดเม็ดกรวดทรายรายแผ่นดิน นครอินทรปรัสถ์เป็นศัตรู
ทุรโยธน์ฟังขัดทรงตรัสพ้อ พลางด่าทอกริ้วกราดตวาดขู่
โกรธวิทูรฉุนเฉียวไม่เหลียวดู “เฮ้ย ! ใครอยู่นั่นหวาอย่าช้าที
ไปเกาะนางกฤษณามาให้ได้ เร็วเข้า ! ไปเร็วพลันขมันขมี”
ราชบุรุษจึงพลันอัญชลี รีบไปที่พระตำหนักห้องพักนาง
วิทูรผู้ซื่อสัตย์เหลือขัดไท้ ถอนใจใหญ่นึกบ่นด้วยหม่นหมาง
“โอ้ ! ทุรโยธน์หยาบใหญ่น้ำใจวาง ทอดทิ้งทางธรรมสิ้นไม่ยินดี
นิยมทางทุจจริตคิดสมคบ มุ่งประสพแต่อบายไม่หน่ายหนี
เมื่อหว่านพืชใดลงก็คงมี ผลตามที่หว่านไว้มิได้แปร”
สงสารเจ้าเท๎ราปทีผู้มีศักดิ์ ไม่ประจักษ์ภัยพ้องโดยถ่องแท้
ประทับแท่นแสนห่วงในดวงแด อยากทราบแพ้และชะนะตกกะใคร
พอบุรุษรับสั่งมายังห้อง ดูทำนองอาจองค์น่าสงสัย
มาถึงทูลข้อความแก่ทรามวัย ตามที่ไท้ทุรโยธน์โปรดบัญชา
ตกพระทัยไหวหวั่นสั่นสะท้าน ทรงห้ามการเศร้าไว้แต่ในหน้า
แข็งพระทัยไต่ถามตามสงกา “พนายจ๋า ! ฉันฟังดูยังแคลง
โสตฉันฟังถูกแท้แน่ละหรือ? ท่านผู้ถือเที่ยงตรงจงแถลง
หรือสามีดีฉันท่านแสดง ว่าแพ้แข่งขันสิ้นยังกินใจ
หรือทรงเสียพระสติดำริหลง เอาเมียลงเล่นสะกาว่าไฉน?
หรือหมดทรัพย์สิ้นท่าว่ากระไร? โปรดบอกให้ชัดหน่อยจะคอยฟัง”
ราชบุรุษทูลว่า “หามิได้ สติให้ดังเดิมไม่เคลิ้มคลั่ง
แต่ทรงเสียทรัพย์สินสิ้นพระคลัง และเสียทั้งแดนดินถิ่นนคร
เสียพระน้องเสียองค์ผู้ทรงราชย์ เสียพระนาฏราชินีศรีสมร
แก่ท้าวไททุรโยธน์, โปรดให้จร มาตามองค์บังอรเสด็จไป”
พระนางฟังคั่งแค้นด้วยแสนเศร้า แข็งบรรเทาโศกศัลย์ไม่หวั่นไหว
ขยับองค์ทรงยืนฝืนพระทัย แถลงไขด้วยแค้นแน่นกมล
ถ้าราชาสามีของดีฉัน เอาพระองค์ลงพะนันเป็นชั้นต้น
เมื่อแพ้เขาก็เป็นทาสอนาถจน ก็หลุดพ้นภูมิเก่าเป็นเจ้านาย
จึงหมดสิทธิ์จะเอาฉันพะนันเขา เพราะทาสเปล่าทรัพย์สินสิ้นทั้งหลาย
ฉันยังเปนราชินีน๋ะ! พี่ชาย ทาสจะขายฉันได้อย่างไรกัน?
ไปบอกแก่ภัสดาดังว่านี้ ว่า ‘ไม่มีผู้ใดเคยได้ฉัน’
ราชบุรุษฟังคำนางรำพัน ครั้นจบผันจรดลสู่มนเทียร
จึงนำคำราชินีขึ้นชี้ไข แก่ท้าวไททรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร
พระทุรโยธน์ด่าทอว่าล้อเลียน เกาพระเศียรแสนโกรธพิโรธแรง
ดำรัสใช้ทุศศาสน์ราชอนุช “เร็ว! ไปฉุดโฉมนางแม่คางแข็ง
มาเฝ้าเราที่นี่มาชี้แจง ให้แจ่มแจ้งต่อหน้าประชาชน”
ฝ่ายว่าองค์อนุชพระทุศศาสน์ หินชาติจิตต์ใจไร้กุศล
ถือรับสั่งรีบรัดมาบัดดล กรากเข้าห้องนฤมลเท๎ราปที
ครั้นถึงทูลนงเยาว์ “โอ้! เจ้าหญิง ผู้ยอดมิ่งบัญจาลพิศาลศรี
เธอไม่รู้หรือว่าท่านสามี เอาเธอตีเป็นทรัพย์นับพะนัน
บัดนี้เธอตกลงคงเป็นสิทธิ์ แก่บพิตรทุรโยธน์,โปรดให้ฉัน-
พาเธอไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ ตามอย่างฉันที่เป็นนายข้างฝ่ายเธอ
บัดนี้เธอตกไปในฐานะ เป็นบาทบริจาริกาเหนอ!
แม่ตาแจ๋วจัดจ้านการบำเรอ คงโปรดเลอเลิศลอยอย่าน้อยใจ”
นางสดับวาจาปรามาส หมิ่นประมาทเหลือล้นพ้นวิสัย
พระกายสั่นริกรัวด้วยกลัวภัย ดาลพระทัยขึ้งแค้นแน่นพระทรวง
พระหัตถ์สองป้องพักตร์ทรงลักเศร้า มิให้เจ้าทุศศาสน์เอื้อมอาจล่วง
ดูถูกนาง, ปรางเผือดเดือดระลวง บัดเดี๋ยวช่วงโชติเลือดด้วยเดือดดาล
หทัยเต้นเช่นตีเภรีย่ำ ให้ทรงอ้ำอึ้งอกสะทกสะท้าน
นางกะโดดโลดออกนอกทวาร ให้พ้นการจับต้องในห้องใน
พลันทุศศาสน์ผาดโผนกระโจนเข้า ไปจิกเกล้ากัลยาไม่ปราศรัย
สงสารเจ้าเท๎ราปทีไม่มีใจ พักตร์ทรามวัยเผือดสีฉวีวรรณ
อ่อนพระกายบ่ายเกล้าตามเขาคร่า ดังต้นไม้เมื่อพายุพัดผัน
ย่อมออนเอนเบนลู่ไม่ชูชัน พระนางยันย่อเข่าลงเฝ้าวอน
“โปรดอย่าต้องอินทรีย์ให้มีหม่น ด้วยมือมลทินมัวเหมือนตัวหนอน
ท่านสุภาพทราบแท้เป็นแน่นอน ผมบังอรสตรีนี้ศักดิ์สิทธิ์
ธรรมดานารีที่สุภาพ แต่งกายหยาบน่าอายระคายคิด
จักให้เฝ้าท้าวไทไม่สนิท จงมีจิตต์กรุณาโปรดปราณี”
ทุศศาสน์ผู้ใจดำอำมหิด ไม่พินิจฟังว่ามารศรี
จักวิงวอนสักเท่าไรไม่ไยดี ตอบวจีนางไปด้วยใจพาล
“ไมว่ามีผ้าทรงหรือองค์เปล่า ต้องไปเฝ้าทรงธรรม์ตามบรรหาร
จงเดิรตามข้าพเจ้าอย่าเนานาน แม้นดื้อด้านก็จะลากกระชากไป”
ฝ่ายนงเยาว์เท๎ราปทีหมดที่หวัง ต้องเซซังผายผันจิตต์หวั่นไหว
ภูษาทรงย่อยยับคับฤทัย ชลนัยน์นองเนตรทุเรศครัน
พระเกศยุ่งเหยิงยับด้วยจับคร่า ถึงสภาออมอดกำสรดศัลย์
เห็นผู้คนกล่นกลุ้มชุมนุมกัน นางจึงบรรยายข้อขออภัย
“ข้าแต่ท่านผู้ประธานสถานนี้ โปรดปราณีตูข้าอัชฌาสัย
ที่แต่งตนกลนี้บัดสีใจ ยกโทษให้ข้าเจ้าผู้เข้ามา”
พระภิษม์ผู้อาวุโสพราหมณ์โท๎รณะ อีกหมู่อมาตย์นั่งประดังหน้า
เหลือบเห็นองค์อัคเรศเวทนา ต่างไม่กล้ามองดูอดสูใจ
แต่องค์พระทุรโยธน์ผู้โหดเหี้ยม สันดานเปี่ยมทุจจริตเป็นนิสสัย
ประภาษสั่งดังลั่นสนั่นไป “ทุศศาสน์ ! ไวเข้าน้องเปิดของดี
เปลื้องภูษาผ้าสะไบอย่าให้เหลือ ชมผิวเนื้อนวลนางสำอางศรี
ให้เห็นเต็มดวงตาพี่ยาที ! เร็วหน่อยพี่อยากชมให้สมปอง”
พอวาจาลามกตกจากโอษฐ์ แสยงโสตผู้ฟังสิ้นทั้งผอง
ต่างตะลึงลานลนชักขนพอง เพราะเป็นของอุกอาจอุจาดครัน
เกิดเรรวนป่วนปั่นไหวหวั่นวุ่น บางท่านขุ่นแค้นเหลือตัวเนื้อสั่น
เอามือคลำด้ามกะบี่ยักยี่ยักยัน ทำดังนั้นโกรธเหมือนค่อยเคลื่อนคลาย
ทุศศาสน์ผู้ใจพาลปานพระพี่ ฟังวจีทุรโยธน์ผู้โหดร้าย
ตรงเข้ายึดเยื้อแย่งเครื่องแต่งกาย ตามพี่ชายบัญชาไม่ช้าที
แสนสงสารเท๎ราปทีนารีนาถ ให้หวั่นหวาดพระกมลเสือกสนหนี
นางขอความช่วยเหลือเอื้ออารี จากท่านที่นั่งดูทุกผู้ไป
“ข้าแต่ท่านหัวหน้าเจ้าขา ! ท่าน โปรดสงสารข้าน้อย, ปล่อยไฉน
ท่านก็มีภรรยาธิดา, ไย จึงปล่อยให้สตรีผู้มีธรรม
ถูกข่มเหงหยาบช้าต่อหน้าท่าน ด้วยอาการหินชาติอุบาทว์ล้ำ
จะนิ่งอยู่ดูใจให้เขาทำ ทรกรรมแก่สตรีนี้หรือไร?
ประทานโทษกรุณาตูข้าด้วย พระเจ้าช่วยเถิดเจ้าข้า ! ขออย่าให้
ข้าเจ้ารับอับอายร้ายสุดใจ ท่านนิ่งได้หรือเจ้าขา ? โปรดปราณี”
ต่อนี้เงียบเหงาอยู่สักครู่หนึ่ง พระนางจึงกล่าวซ้ำคำฉะนี้
“โอ้! ไฉนนิ่งอยู่, ท่านผู้ดี หรือไม่มีท่านผู้ใดใครสักคน
จะเอ็นดูชูหัตถ์ขึนปัดป้อง เพื่อคุ้มครองกิตติศักดิ์อัครผล
แห่งสตรีอาภัพผู้อับจน ซึ่งหามลทินใดมิได้เลย
โอ้! อำนาจชาติกุรุที่กุก่อง โอ้! เกียรติของภารตปรากฏเผย
ตลอดหล้าปรารมภ์แต่ชมเชย ยังไม่เคยขาดลือระบือนาม
บัดนี้ศูนย์สิ้นแท้แน่ละหรือ? กษัตริย์ผู้ตรูชื่อลือสนาม
เลิกเป็นนักรบร่นย่นสงคราม ปล่อยให้ทรามเสื่อมชื่อหมดหรือไร”
จึงพากันนิ่งได้ไม่อุจาด หรืออยากมองของประหลาด, ไม่หวาดไหว-
ต่ออธรรมทุจจริต โอ้! จิตต์ใจ จักนิ่งได้หรือท่านวิจารณ์ดู”
พระภิษม์ฟังคั่งแค้นด้วยแสนโกรธ เหลือพิโรธรั้งใจแทบไม่อยู่
โท๎รณพราหมณ์ฮึดฮัดกำหมัดชู ดังจะจู่หยักรั้งเข้าสังเวียน
วิทูรโอดครวญช่วยงงงวยอยู่, พระภิมผู้พระกนิษฐ์ยุธิษเฐียร
แกว่งคทาด่าก้องห้องมนเทียร ศาบานตั้งหวังเพียรมิเว้นวาย
ขอกินเลือดทุศศาสน์ผู้ชาติเขลา ขอตีเข่าทุรโยธน์ผู้โหดร้าย
ให้ย่อยยับด้วยคทาก่อนหน้าตาย เพื่อแก้อายแห่งเจ้าเท๎ราปที
ทุรโยธน์เห็นคนอลหม่าน ต่างรำคาญเคืองขัดเรื่องบัดสี
กลับเหิมฮึกคึกใจไขวจี แก่ธรรมบุตรโดยที่ตนมีชัย
“เธอผู้ซื่อถือสัตย์จงตรัสชี้ ให้ผู้ที่พิศวงสิ้นสงสัย
เธอเสียทรัพย์ทุกสิ่งจริงหรือไร? เสียเวียงชัย, เสียน้อง, ตัวของเธอ
เสียทั้งพระมหิษีผู้มียศ แก่เราหมดหรือไฉนอย่าไพล่เผลอ
บอกเขาหน่อยเพื่อกันฝันละเมอ แห่งผู้เซ่อเซอะสิ้นซึ่งคำนินทา”
ยุธิษเฐียรก้มหน้าไม่กล้าตอบ พระกรรณชอบชูคอหัวร่อร่า
แต่พระภิษม์เนตรช้ำหล่อน้ำตา ไม่พูดจาทัดทานประการใด
เป็นเวลาสายัณห์ตะวันอ่อน รังสีรอนโรยแรมไม่แจ่มใส
วิหคเหิรหารังสะพรั่งไป นภาลัยแดงดีดังสีคำ
พราหมณ์ทั้งหลายร่ายเวทตามเพศไสย เมื่อสมัยสนธยาเวลาค่ำ
ธฤตราษฎร์บิตุรงค์ผู้ทรงธรรม พระทัยสำราญรื่นชื่นกมล
ทรงสดับลางร้ายข้างภายนอก หมาจิ้งจอกหอนร้องน่าพองขน
ตกพระทัยไหวหวั่นพรั่นสกนธ์ ณบัดดลภูบดินทร์ยินวิทูร
กะหืดกะหอบทูลคดีที่สลด เรื่องโอรสภูเบนทร์นเรนทร์สูร
ได้ก่อบาปหยาบช้าเกิดอาดูร ตามเค้ามูลมีมาสารพัน
กษัตรย์บอดทอดถอนฤทัยท่าน พระโองการเสียงเบากะเส่าสั่น
“อ้ายลูกบาปหยาบช้าใจอาธรรม์ มันทำฉันให้ตรมระทมทรวง
ดูเถิดก่อความอายให้ขายหน้า ถึงราชาบัญจาลและหลานหลวง
มันแกล้งทำอรทัยให้ระลวง เป็นการล่วงเกินเจ้าเท๎ราปที
ผู้ทรงคุณบริสุทธิ์งามผุดผ่อง ทำให้ต้องลางร้ายทำลายศรี
ขอไหว้ไท้เทวดาอย่าให้มี ความกลีลุกลามขึ้นตามลาง”
โปรดให้นำกฤษณาเข้ามาเฝ้า พระตรัสเล้าโลมใจให้ใสสร่าง
“โอ้! พระหลานรักยิ่งผู้มิ่งนาง จงเบาบางเดือดดาลสงสารลุง
บุตรของลุงเลวทรามทำหยามหยาบ พอลุงทราบสงสารดาลสะดุ้ง
ลุงจักเข้าช่วยเหลือเอื้ออำรุง พระหลานจุ่งยกให้อภัยมัน
ขออย่าให้เทวทัณฑ์ฉกรรจ์กาจ ด้วยอำนาจพระเป็นเจ้าเนาสวรรค์
ลงกระหม่อมมันผู้ลบหลู่ธรรม์ จงถือขันตีเถิดประเสริฐดี
ปรารถนาสิ่งไร ? ลุงใคร่ถาม จะให้ตามปรารถนามารศรี
ฝ่ายว่าองค์นงเยาว์เท๎ราปที น้อมโมฬีบรรยายถวายชัย
“ขอพระองค์ทรงคุณการุณย์เลิศ จงกอบเกิดความสุขทุกสมัย
จงโปรดให้ภัสดาข้าเป็นไทย” สมเด็จไท้ธฤตราษฎร์ประสาทพลัน
ทรงให้พรเท๎ราปทีครั้งที่สอง นางสนองทรงเดชขอเขตต์ขัณฑ์
พร้อมเสนาอาวุธยุทธภัณฑ์ พระทรงธรรม์อนุญาตประสาทพร
“โอ้! ที่หลานร้องขอไม่พอโทษ ที่ทุรโยธน์ทำไว้ไม่หลุดถอน
ลุงให้พรครั้งที่สามแก่งามงอน เชิญบังอรเลือกขอให้พอใจ”
นางฟังราชโองการพระผ่านเผ้า จึงน้อมเกล้าชี้แจงแถลงไข
‘ข้าแต่องค์ภูบดินทร์ปิ่นไผท ข้าเกิดในวงศ์กษัตริย์จรัสนาม
จักไม่ขอเกินควรรบกวนไท้ ตามที่ได้กรุณาคราที่สาม
เป็นการขอจู้จี้ดังชีพราหมณ์ จะเกินงามเกินร่มพระสมภาร”
จงโปรดให้ภ๎ราดาทั้งห้าเจ้า ได้คืนเข้าแดนดินถิ่นสถาน
พร้อมพหลพลนิกรดังก่อนกาล พระภูบาลค่อยเบาเศร้าพระทัย
พอปาณฑพจากไปมิได้ช้า พระภ๎ราดาทุรโยธน์โหดนิสสัย
ไม่ผาสุกทุกข์ถมระทมใจ ขึ้นเฝ้าไทบิตุเรศเทวษครวญ
ทูลตัดพ้อบิตุรงค์ผู้ทรงศักดิ์ สะอื้นฮัก! โหยร่ำทรงกำสรวล
“โอ้! พระองค์ทรงชัยพระไม่ควร ที่จะด่วนเสือกไสพวกไพรี
เหมือนปล่อยเสือเข้าป่าน่าวิตก คงเวียนวกรบพุ่งถึงกรุงศรี
เขาเกรียงไกรในวุฒิยุทธวิธี เราคงปี้ป่นแท้เป็นแน่นอน
ฉะนั้นจึงเลี่ยงท้าสะกาเขา ใครแพ้เอาเมืองกันไม่ผันผ่อน
เขาแพ้, แต่ภูบาลประทานพร คืนนครให้เขาน่าเศร้าใจ
ถ้าฝ่ายเราแพ้ลงคงพินาศ ใครจะอาจหยิบยื่นมาคืนให้
เขาก็จักข่มขี่เพราะมีชัย ครองกรุงไกรหัสดินนั่งกินเมือง
ซึ่งเขากล้าแข่งขันพะนันนี้ เพราะหวังมีอำนาจได้ปราชญ์เปรื่อง
อยากได้รัฐหัสดินบุรินทร์เรือง ไม่ต้องเปลืองรี้พลประจญชัย
แม้ไม่รบด้วยสกาในครานี้ ก็ต้องมีสงครามลุกลามใหญ่
กำลังเราอ่อนแอมาแต่ไร จะสู้ได้ก็สะกาท้าพะนัน
จงโปรดเกล้าอนุญาตข้าบาทอีก เพื่อเลี่ยงหลีกยุทธภัยน่าไหวหวั่น
เอาฝีมือเชิงสะกาเข้าว่ากัน เล่นแข่งขันเอาสีมาอาณาจักร
ใครแพ้ต้องจรไปอยู่ไพรสัณฑ์ สิบสองพรรษาออกนอกสำนัก
แล้วจะต้องส้อนเร้นไม่เปนหลัก มิให้ใครพบพักตร์อีกหนึ่งปี
แม้ข้าบาทแพ้เขาจะเข้าป่า ภาวนาธรรมถือเป็นฤๅษี
ไม่ต้องรบร้อนราษฎร์ขาดไมตรี ด้วยจิตต์มีกรุณาประชากร”
ธฤตราษฎร์ฟังพจน์โอรสรัก ทูลชี้ชักชวนให้พระทัยอ่อน
ตรัสว่า “กรรมๆ! แท้ เป็นแน่นอน เหลือจะสอนเหลือจะสั่งน่าคลั่งใจ
ลูกก็หาญหลานก็หันเข้าขันแข่ง เหลือจะแบ่งจิตต์ผันตามมันได้
ทำเนาเถิดตัวข้าไม่ว่าใคร ภวไนยเยื้องย่างเข้าปรางทอง
ทุรโยธน์พร้อมพระศกุนิ ปรึกษาตริตรึกไตรเห็นได้ช่อง
จึงส่งทูตคลาไคลด้วยใจปอง ชวนพระน้องภ๎ราดาท้าพะนัน
ฝ่ายพระองค์ทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร พระทัยเพียรผูกแค้นแสนกระสัน
จะกู้ชัยฝ่ายเดียวขับเคี่ยวกัน พระทรงธรรม์มิได้แคลงระแวงกล
พระมารดามหิษีและพี่น้อง อำมาตย์ผองทูลทัดก็ขัดสน
จำเห็นพร้อมยอมอ่อนตามผ่อนปรน เป็นด้วยผลกรรมสร้างแต่ปางบรรพ์
เสด็จยังหัสดินบุรินทร์รัตน์ ตามอาณัติสัญญาที่ว่านั้น
พร้อมอำมาตย์กลาดกลุ้มประชุมกัน ดูสององค์ทรงธรรม์พะนันเมือง
ศกุนิแทนพระทุรโยธน์ โสดต่อโสดฝีมือล้วนลือเลื่อง
ยุธิษเฐียรโชคร้ายระคายเคือง ไม่กระเตื้องขึ้นหน้ามาแต่ไร
เพราะถูกลูกบาศก์ลวงถ่วงโลหะ หมดที่จะผันแปรคิดแก้ไข
เธอไม่ทราบเหตุการณ์สถานใด ยิ่งทอดไปก็ยิ่งยับอัประมาณ
ที่สุดทรงพ่ายแพ้เหลือแก้ไข พวกที่ใจซื่อตรงก็สงสาร
น้ำเนตรหลั่งดังเลือดด้วยเดือดดาล เพราะรู้การณ์แต่ไม่กล้าพูดจาไป
พวกที่ใจอำมหิดคิดประจบ ต่างก็ตบหัตถ์ลั่นสนั่นไหว
ฝ่ายปาณฑพภ๎ราดาทั้งห้าไท ไม่หวาดไหวหวั่นคิดในกิจการณ์
จึงอำลาญาติวงศ์ทรงประเวศ เนรเทศจากบุรินทร์ถิ่นสถาน
พร้อมพระราชเทวีศรีสคราญ คือนงพาลกฤษณาผู้ยาใจ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ