- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
เมื่อพระกรรณสิ้นชนม์พลทหาร | ต่างพลุกพล่านพากันคิดหวั่นไหว |
ต่างหลบหลีกปลีกตนให้พ้นภัย | ทั้งนายไพร่มิได้อยู่เป็นหมู่กอง |
จึงท่านกฤปาจารย์ชาญฉลาด | เห็นพลขาดนายพลย่นสยอง |
ควรจักมีนายคุมช่วยคุ้มครอง | หาไม่ผองเการพจักสบภัย |
จึงเข้าไปทูลพระทุรโยธน์ | “ประทานโทษข้านี้ขอชี้ไข |
เวลานี้พระกรรณก็บรรลัย | กองทัพให้ขัดสนคนสำคัญ |
ธรรมดารี้พลพหลหาญ | ถึงชำนาญยุทธ์แย้งแข็งขยัน |
ถ้าขาดนายควบคุมคอยคุ้มกัน | ก็เป็นฉันโจรในไพรพนม |
เปนช่องให้อรชุนเข้ารนรุก | ไม่มีขลุกขลักจิตต์สนิทสนม |
จะถางเล่นเช่นหญ้าด้วยพร้าคม | เราต้องล้มแหลกแท้เป็นแน่นอน |
เลือดเนื้อก็พอการประมาณหมาย | ที่สองฝ่ายเสียไปในสมร |
ถ้าสู้ไปวงศ์ญาติคงขาดรอน | ควรผันผ่อนยอมแพ้เห็นแก่วงศ์ |
ยุธิษเฐียรคงให้อภัยโทษ | และคงโปรดปรานตามความประสงค์ |
ด้วยท้าวเธอทรงธรรม์อันมั่นคง | พระทัยทรงเมตตาและการุณย์” |
ทุรโยธน์ฟังว่าบัญชาตอบ | ท่านกล่าวกอบด้วยธรรม์ไม่หันหุน |
ถูกทำนองคลองชอบขอขอบคุณ | เพื่ออุดหนุนให้มีไมตรีกัน |
ท่านได้ไกล่เกลี่ยเรามาเก่าแก่ | แต่เหลือแก้ไขคิดให้บิดผัน |
เพราะเป็นการเลยล้ำจะจำนรรจ์ | ให้เราหันเหหาสามัคคี |
ยุธิษเฐียรหรือจะคิดเปนมิตรด้วย | มีแต่ช่วยฉุดคร่าห์ไปหาผี |
ภีมผู้ลั่นวาจาจะฆ่าตี | หรือจะมีจิตต์อ่อนกลับถอนคืน |
อรชุนครุ่นแค้นทดแทนบุตร | ไหนจะหยุดยั้งโกรธอันโหดหืน |
เขาอาฆาตแค้นจิตต์ดังพิษปืน | ซึ่งจะขืนข่มได้เห็นไม่มี |
ถึงเขายอมหยุดรบสงบศึก | เรายังนึกข้องขัดด้วยบัดสี |
ข้าเจ้าไม่ด้านไปไขวจี | โดยมิได้ใยดีแก่ญาติเรา |
ซึ่งได้พามาตายมากมายนัก | แล้วไม่พักแก้แค้นทดแทนเขา |
หรือจะนั่งนิ่งขรึมทำซึมเซา | ไม่ฟังเขาร้องแซ่ให้แก้แค้น |
ประการหนึ่งข้าเจ้าเผ่ากษัตริย์ | จะยกหัตถ์อัญชลีบัดสีแสน |
ชนทั้งปวงล่วงรู้จะดูแคลน | ร้ายกว่าต้องแตกแตนหรือวายปราณ |
คนนำทัพต่อไปให้พระศัลย์ | ผู้ราชันมัทรราษฎร์ซึ่งอาจหาญ |
เป็นนายทัพแทนพระกรรณประจัญบาน | ไม่ยอมกรานกราบก้มประณมกร |
ทหารเราเหลืออยู่แม้ผู้หนึ่ง | อย่าคะนึงว่าจะพ่ายลดสายศร |
ขอสู้จนชีวาตม์จะขาดรอน | เพื่อไว้เกียรติกำจรทั่วแดนไตร” |
เมื่อพระกรรณบรรลัยในสนาม | บังเกิดความหม่นหมองไม่ผ่องใส |
แก่เการพทั่วหน้าไม่ว่าใคร | ทั้งนายไพร่พรั่นท้อย่อกมล |
แต่ปาณฑพครบครันต่างหรรษา | เหมือนผักหญ้าชื่นฉ่ำด้วยน้ำฝน |
ไม่หลับนอนผ่อนพักเลยสักคน | โกลาหลเหิมหรรษ์สนั่นไป |
แต่นายทัพทั่วผู้ไม่ดูหมิ่น | เกรงไพรินซึ่งแพ้จักแก้ไข |
เข้ารบรับกลับฟื้นเพื่อคืนชัย | ถึงวันใหม่เตรียมรบเสร็จครบครัน |
ได้เวลาคลาพลพหลหาญ | ไม่ช้านานพบกับทัพพระศัลย์ |
นำเการพแก้แค้นแทนพระกรรณ | เข้าประจัญโจมตีทวีคูณ |
ถึงปาณฑพใฝ่ใจไม่ประมาท | เห็นอาฆาตไพรินไม่สิ้นศูนย์ |
แต่ยังคิดผิดพลาดขาดคำนูณ | เรื่องไพรีเพิ่มพูนพลไกร |
แต่พอเห็นศัตรูเข้าสู้รบ | ดังน้ำถั่งหลั่งลบเหลือวิษัย |
เจ้าปาณฑพสี่องค์พะวงใจ | กลัวศึกใหญ่โจมตีพระพี่ยา |
จึงล้อมองค์ทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร | ป้องกันเสี้ยนศึกอยู่ดูรักษา |
มิให้ทัพพระศัลย์บุกบั่นมา | เข้ารบรารุมองค์พระทรงธรรม |
ยุธิษเฐียรเห็นน้องคุ้มครองไท้ | เพราะเกรงไพรีบุกรุกถลำ |
จึงตรัสขอให้พระองค์ได้ทรงนำ | พลเข้ารำบาญแก้ที่แพ้มา |
“พระน้องเอ๋ย ! ฟังคำพี่ร่ำขาน | น้องทำการสมมาดปรารถนา |
ต่างชิงชัยได้ชื่อเลื่องลือชา | แต่พี่หาสมไม่, น่าใคร่อาย |
ทีนี้พี่ขอรับทัพพระศัลย์ | เพื่อแก้กันเกียรติยศที่หดหาย |
‘สาต๎ยกี’ |
กองทัพฝ่ายปีกขวารักษาการ |
ปีกซ้ายธฤษฎทยุมน์ควบคุมทัพ | ให้ภีมรับทัพหน้าโยธาหาญ |
ทัพหลังให้อรชุนหนุนรำบาญ | ทัพหลวงพี่ว่าขานเป็นกองกลาง |
จัดดังนี้แม้ว่าอุตสาหะ | คงชะนะแน่ชัดไม่ขัดขวาง |
จงพวกเราเอาธุระอย่าละวาง | จะสมอย่างปรารถนาในครานี้” |
ต่างรับราชบัญชารีบมาจัด | ตามดำรัสเร็วพลันขมันขมี |
ครั้นครบเสร็จพร้อมกันประจัญตี | รุกไพรีรามรุมตะลุมบอน |
เสียงสนั่นหวั่นไหวมิได้ว่าง | ทั้งสองต่างห้าวหาญชาญสมร |
เข้ายุทธิ์แย้งแข่งขันประชันกร | แลสลอนล้นหลามสนามรณ |
ธรรมราชรักษาวาจาไท้ | ซึ่งตรัสไว้แน่นอนในตอนต้น |
ทรงรบรากล้าหาญและทานทน | ก็สบผลดังตรัสในบัดใจ |
คือพระองค์นำหน้าโดยกล้าหาญ | พาจิตต์ปาณฑพมั่นไม่หวั่นไหว |
ต่างตั้งพักตร์หักเข้าเพื่อเอาชัย | ทั้งนายไพร่พร้อมพรั่งประดังตี |
การรบกันวันนี้เป็นที่สุด | วิธียุทธิ์สับสนก้นป่นปี้ |
ต่างประจัญบั่นบุกเข้าคลุกคลี | เท่าธุลีฟุ้งกลบตลบไป |
ท่านแม่ทัพขับพลประจญสู้ | ดังลมกล้าบ้าหมูสนั่นไหว |
ข้างหน้าทัพสับสนพลไกร | เข้าชิงชัยชุลมุนอย่างรุนแรง |
พระศัลย์กับบพิตรยุธิษเฐียร | ต่างพากเพียรรบร้าด้วยกล้าแข็ง |
ต่างยรรยงองอาจไม่พลาดแพลง | ทั้งสองแผลงศรสาดพิฆาตกัน |
ศรแห่งองค์ธรรมราชสาดดังฝน | ต้องรี้พลไพร่นายฝ่ายพระศัลย์ |
ต่างล้มตายพ่ายหนีอยู่นี่นัน | ปาณฑพพลันได้ทีตีระดม |
ธงชัยแห่งพระศัลย์สะบั้นหัก | องครักษ์ถูกศรลงนอนล้ม |
พลเการพแตกพล่านเที่ยวซานซม | ไม่ประสมกันได้ทั้งไพร่นาย |
ฝ่ายพระศัลย์ขันสู้อยู่ครู่หนึ่ง | ต้องศรถึงชีวาตม์ขาดสลาย |
ข้างปาณฑพได้ทีตีกระจาย | สังหารฝ่ายไพรีไม่มีละ |
สนามรณกลว่าโรงฆ่าเนื้อ | อนาถเหลือแลพบศพระกะ |
ทั้งม้าช้างต่างล้มจมปะทะ | รถทำลายรายระสนามรณ |
พลทหารปาณฑพเข้ารบรุด | อุตลุดฟันฝ่าโกลาหล |
พระภ๎ราดาห้าไท้นำไพร่พล | ไล่ประจญศัตรูอยู่เป็นควัน |
เข้าหวดซ้ายป้ายขวาฆ่าพิฆาต | แขนขาขาดคอขาดน่าหวาดหวั่น |
สหเทพโถมปราดเข้าฟาดฟัน | ศกุนิโกงพะนันถึงวายปราณ |
พระภีมผู้ทรงตระบองจ้องพิฆาต | ตีทุศศาสน์ล้มผางลงกลางย่าน |
ตัดศีรษะดื่มเลือดแก้เดือดดาล | ร้องว่า “หวานนี่กระไร,สมใจกู” |
พลเการพตายยับไม่นับได้ | ที่เหลือใจจิตต์ฝ่อไม่ต่อสู้ |
ทุรโยธน์รู้ชัดว่าศัตรู | จักเข้าจู่จับคร่าไปฆ่าฟัน |
พระองค์เดียวโดดออกนอกสนาม | พยายามหลบลี้ขมีขมัน |
ทรงบั่นบุกซุกซ่อนจรจรัล | พระหัตถ์นั้นทรงคทารีบคลาไคล |
ถึงหนองน้ำใหญ่กว้างอยู่ขวางหน้า | ไม่รู้ว่าจักด้นไปหนไหน |
เกรงศัตรูตามทันหวั่นพระทัย | ด้วยไม่ไกลกับสนามสงครามนัก |
จึงลงซ่อนศัตรูอยู่ในน้ำ | แล้วทรงดำเข้าหาพุ่มหญ้าผัก |
ด้วยคิดว่าข้าศึกหายคึกคัก | แล้วจึงจักหลบลี้ค่อยหนีภัย |
ต่อนี้เหล่าเการพสยบย่น | ยอมจำนนศัตรูไม่สู้ไหว |
ปาณฑพตีแตกยับทุกทัพไป | ทั้งนายไพร่ล้มตายลงก่ายกัน |
เการพรณหนนี้เป็นที่สุด | ต่างยงยุทธ์ยิ่งยวดอย่างกวดขัน |
จนเสียหายนายทัพนับอนันต์ | เหลืออัศวัตถามันกับสองนาย |
คือท่าน ‘กฤปาจารย์’ ชาญวุฑฒิ | และ ‘เกียรติวรมัน’ สามสหาย |
เห็นสู้ไปไม่รอดคงวอดวาย | จึงยอมพ่ายปาณฑพไม่รบรา |
ฝ่ายทหารปาณฑพสิ้นรบแล้ว | ต่างผ่องแผ้วพร้อมกันเพิ่มหรรษา |
ต่างกลับค่ายสรวลเสเสียงเฮฮา | แต่ราชาธรรมบุตรสุดระทม |
ด้วยพระองค์ทรงคิดชีวิตญาติ | น่าอนาถนึกไปดูไม่สม |
ที่มีชัยน้อยหนึ่งไม่พึงชม | เพราะญาติล้มแทบศูนย์ประยูรวงศ์ |
ระหว่างเขาเบิกบานโองการว่า | “เออ ! ตูข้าเจ้าคิดพิศวง |
ด้วยมีชัยไร้เหล่าพวกเผ่าพงศ์ | เป็นราชันย์ยรรยงแห่งผีตาย” |
มีผู้ทูลข่าวพระทุรโยธน์ | ซึ่งได้โลดหลบลี้แล้วหนีหาย |
ว่าอยู่ในหนองน้ำงำพระกาย, | ทรงฟังคลายทุกข์ถมระทมทรวง |
แต่มิได้หมายจับมาสับฆ่า | ปรารถนาตัดศึกสิ้นนึกห่วง, |
หมายขอคืนอินทรปรัสถ์ดำรัสทวง | ไม่หมายล่วงโลภรัฐหัสดิน |
ตั้งพระทัยเผื่อแผ่เห็นแก่ญาติ | เพื่อให้ราชตระกลไม่ศูนย์สิ้น |
พาสี่น้องคลาไคลดังใจจินต์ | ไปยังถิ่นหนองนั้นในทันใด |
เที่ยวค้นรอบสอบสวนทวนตลบ | ก็ไม่พบพานองค์ให้สงสัย |
ยุธิษเฐียรเรียกร้องกึกก้องไป | ตะโกนให้ทราบความแต่ตามตรง |
ทุรโยชน์ฟังว่าไม่กล้าขาน | เกรงเป็นการลวงล่อแต่พอหลง |
ครั้นได้ฟังวาจาท้าพระองค์, | ให้ประจญรณรงค์ตัวต่อตัว |
จึงร้องบอกออกมาว่า “ข้านี้ | มอบบุรีหัสดินทุกถิ่นทั่ว |
ข้าขอไปไพรสัณฑ์ไม่พันพัว | ถือศีลชั่วชีวิตนิจจกาล |
ธรรมบุตรบอกว่า “ตัวข้าเจ้า | จักไม่เอาสมบัติพัสถาน |
โดยไม่มีโชคชัยได้รำบาญ | ให้เจ้าของแหลกลาญในสงคราม” |
ทุรโยธน์ตอบว่า “ถ้าฉะนั้น | จงให้สัญญาเราเข้าสนาม |
ตัวต่อตัวแล้วข้าพยายาม | ท่านยอมตามสัญญาหรือว่าไร?” |
ธรรมบุตรรับพลันด้วยพรรษา | ยืนคอยข้าศึกอยู่เป็นครู่ใหญ่ |
ทุรโยธน์รีรอด้วยท้อใจ | ไม่ขึ้นไปรบกันตานสัญญา |
พระภีมเห็นช้านานบันดาลโกรธ | จึงร้องเร่งทุรโยธน์ออกไปว่า |
“ถ้ายังทำบึกบึนไม่ขึ้นมา | จะไปคร่าห์คอคุมเช่นกุมภีล์” |
ทุรโยธน์โกรธแค้นแน่นอุระ | ขึ้นจากสระเร็วพลันขมันขมี |
ภีมหัวร่ององันในทันที | ด้วยเห็นพักตร์ภูบดีเปื้อนโคลนตม |
พระทุรโยธน์โกรธจัดตรัสแถลง | “กูจะแปลงดวงหน้าให้สาสม |
หน้าหัวร่อนั้นจักชักระทม | เป็นหน้าตรมตรอมใจในมิช้า” |
ภีมผู้ตั้งปฏิญญาณศาบานไว้ | ขอตีให้สมมาดปรารถนา |
แกว่งตระบองจ้องเพ่งเขม็งตา | ทั้งสองรารบรุกอย่างคลุกคลี |
ยงต่อยงยุทธ์แย้งกำแหงหาญ | ชาญต่อชาญเชิงรณไม่ร่นหนี |
โกรธต่อโกรธเกรี้ยวกราดเข้าฟาดตี | พระพักตร์มีเลือดฝาดออกดาษแดง |
ต่างต่อยุทธ์รุทรร้ายดังควายป่า | มีดวงตาโพลงพราววะวาวแสง |
ทันใดภีมตีพลั้งกำลังแรง | เลยพลาดแพลงพล้ำลงพระองค์เซ |
ทุรโยธน์ฟาดผางลงกลางเศียร | พระภีมเจียนล้มหงายพระกายเห |
แต่ยั้งได้ไม่ซวนถึงปรวนเปร | สมคะเนได้ทีกลับตีปึง ! |
ถูกทุรโยธน์ที่ขาสะบ้าหลุด | พอกายซุดตีซ้ำลงต้ำผึง |
พระทุรโยธน์ล้มคว่ำขะมำตึง | ครั้งนี้ถึงที่สุดยุทธการ |
พระภีมพิศเพ่งดูศัตรูล้ม | เป็นการสมปฏิญญาที่ว่าขาน |
พลางรำรอบทุรโยธน์โลดทะยาน | ออกอุทานวาจาแกว่งอาวุธ |
นี่แหละคือบาดแผลที่แก้แค้น | เพื่อทดแทนเท๎ราปทีถึงที่สุด |
ยุธิษเฐียรเห็นน้องลำพองยุทธ์ | ตรัสให้ฉุดภีมไปเสียไกลกัน |
เพื่อมิให้ทุรโยธน์พิโรธแค้น | ด้วยภีมแค่นไค้เคาะพูดเยาะหยัน |
พอภีมออกนอกวง, จึงทรงธรรม์ | คุกเข่าลงทรงบรรยายความ |
ท่านเป็นนายข้าเจ้าขอเคารพ | ที่ปาณฑพจ้วงจาบทำหยาบหยาม |
เพราะท่านไม่เมตตาพาสงคราม | ให้ลุกลามแหลกลงทั้งวงศ์วาน |
แต่พระวาจาไท้ไร้ประโยชน์, | ทุรโยธน์เนตรหลับดับสังขาร |
หมดทราบถ้อยมธุรสพจมาน | หมดเห็นการคุกเข่าด้วยเคารพ |
หมดรู้สึกนึกชอบหรือขอบจิตต์ | หมดชีวิตทั้งร่างเป็นอย่างศพ |
กลิ้งอยู่กลางปฐพีในที่รบ | นับว่าจบแข่งขันประจัญบาน |
พอถึงยามสนธยาเวลาพลบ | ฝ่ายเการพนายทัพกับทหาร |
ที่ยังไม่สิ้นชนม์ก็ลนลาน | มาทำการเคารพพระศพนาย |
ต่างมีความโศกเศร้าให้เหงาหงอย | น้ำเนตรย้อยหยดอยู่ไม่รู้หาย |
ต่างเซาซบนพไหว้อยู่ใกล้กาย | บรรยายทูลลาด้วยอาลัย |
ในราตรีที่สุดการยุทธ์นั้น | อัศวัตถามันแสนหม่นไหม้ |
แค้นพระธฤษฏทยุมน์กลุ้มพระทัย | ที่เธอได้เข่นฆ่าบิดาตน |
ชวนเกียรติวรมะ, |
ยังเหลืออยู่สามนายคิดขวายขวน |
พอยามดึกกองทัพต่างหลับกรน | เข้าค่ายค้นไพรีที่จำนง |
ฆ่าพระธฤษฏทยุมน์ด้วยคุมแค้น | ตายคาแท่นบรรทมสมประสงค์ |
ศิขัณฑิน |
ก็เข้าปลงชีพไท้เมื่อไสยา |
แล้วฆ่าห้าพระกุมาร |
ผู้สมภพจากวนิตกฤษณา |
หิ้วเศียรห้าพระกุมารทะยานมา | วางไว้หน้าร่างกายศพนายตน |
ฆ่ารี้พลมากมาย |
เที่ยวหลบลี้ซ่อนเร้นไม่เห็นหน |
ฝ่ายปาณฑพ, เช้าตรู่เห็นผู้คน | ล้มตายกล่นเกลื่อนอยู่จึงรู้ความ |
สงสารเจ้าเท๎ราปทีทวีทุกข์ | นางแสนขุกแค้นเจ็บดังเหน็บหนาม |
พระปาณฑพภัสดาพยายาม | ตรัสห้ามปรามโลมเล้าเอาพระทัย |
นางไม่คลายหายแค้นด้วยแสนเศร้า | เหลือบรรเทาทุกข์ทนพ้นวิษัย |
พระภีมกับอรชุนต่างขุ่นใจ | ออกตามไพรีทั่วได้ตัวมา |
แต่เห็นเป็นบุตรครูจึงสู้อด- | พระทัยงดโทษไว้มิได้ฆ่า |
แต่ริบแก้ว |
ให้นางคลาคลายโกรธยกโทษทัณฑ์ |
ครั้นเสร็จการรณรงค์จึงปลงศพ | แห่งนักรบไพร่นายทำลายขันธ์ |
ทั้งสองข้างต่างกลุ้มประชุมกัน | ล้วนโศกศัลย์ทั่วหน้าต่างอาลัย |
ยกศพสู่เชิงตะกอนสลอนสลับ | ตามลำดับเจ้านายรายไสว |
จัดตามยศลดหลั่นเรียงกันไป | ถึงศพไพร่รวมสุมเปนกลุ่มกัน |
ศพที่หนึ่งศพพระทุรโยธน์ | ตบแต่งโชติช่วงเชิดงามเฉิดฉัน |
ครั้นจัดแจงแต่งศพขึ้นครบครัน | คอยทรงธรรม์ธฤตราษฎร์ลีลาศจร |
ป่างพระจอบหัสดินปิ่นสถาน | กับนางคานธารี |
ทราบข่าวนี้ชีวิตแทบปลิดรอน | ทรวงสะท้อนทุกข์ถมตรมพระทัย |
สงสารบุตรร้อยองค์ทรงพินาศ | สงสารราชนารีศรีสะใภ้ |
ซึ่งพลัดพรากภัสดาผู้ยาใจ | ต่างร่ำไห้โหยหาถึงสามี |
อีกทั้งเหล่าภรรยาเสนามาตย์ | และเหล่าราชตระกูลเศร้าศูนย์ศรี |
ต่างกำสรดโศกศัลย์พันทวี | ประหนึ่งชีวิตพรากออกจากกาย |
จึงสมเด็จภูบดี, เทวีนาถ | พร้อมด้วยราชบริพารประมาณหลาย |
ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในพร้อมไพร่นาย | รีบผันผายมายังที่ตั้งศพ |
พระทรงธรรมนำหน้าพาสนม | เดิรระทมตรงข้ามสนามรบ |
เสด็จขึ้นเบื้องบนพระมณฑป | ข้าเฝ้าครบครันล้อมอยู่พร้อมเพรียง |
เมื่อประทานเพลิงศพนักรบนั้น | สังคีตครั่นครื้นโครมประโคมเสียง |
เหล่าพระญาติร่ำร้องซร้องสำเนียง | สนั่นเพียงแผ่นดินจะภินท์พัง |
แสนสงสารมารศรีสตรีม่าย | ต่างฟูมฟายชลนัยน์พิไรสั่ง |
ด้วยสำเนียงอื้ออึงคะนึงดัง | สยายผมรุงรังร่ำโอดครวญ |
พระพักตร์เคยผ่องเหมือนกับเดือนผ่อง | มาเศร้าหมองมัวคล้ำด้วยกำสรวล |
ปรางเคยปลั่งดังมะปรางสำอางนวล | บัดนี้ล้วนเลอะน้ำตาทุกหน้านาง |
เนตรเคยขำดำนิลก็สิ้นแสง | บัดนี้แดงด้วยช้ำดังน้ำฝาง |
เกศเคยมุ่นโมฬีสีสำอาง | บัดนี้สิ้นเสยสางสยายยาว |
เคยเคียงคู่สู่สมภิรมย์รัก | บัดนี้จักจำนิราศอนาถหนาว |
เคยแต่งกายพรายแพรวงามแวววาว | มาถึงคราวตรมตรอมดูมอมแมม |
ไม่ห่างศพสามีทวีเทวษ | ชลเนตรนองซาบลงอาบแก้ม |
พระพักตร์คล้ำดำเหมือนกับเดือนแรม | หมดความแช่มชื่นทั่วทุกตัวนาง |
ผลสงครามครั้งนี้ทวีโศก | ให้วิโยคจากญาตินิราสร้าง |
ทิ้งนารีแร่รวยสวยสำอาง | เป็นม่ายต่างเศร้าสร้อยตั้งร้อยพัน |
ที่พรากลูกพรากหลานประมาณหลาย | พรากลุงอาน้าชายและเขยขวัญ |
เสียงกำสรดพาองค์พระทรงธรรม์ | พระทัยหวั่นว้าเหว่อยู่เรรวน |
พระนางคานธารี |
จูงภูธรคลาไคลพลางไห้หวล |
มาที่ศพทุรโยธน์ทรงโอดครวญ | เศร้ากำสรวลโศกศัลย์พันทวี |
พระบิดาทรงกลั้นซึ่งกันแสง | ก้มพักตร์แฝงกำสรดสลดศรี |
แต่ฝ่ายพระมารดาคานธารี | เหลือจะมีอารมณ์ข่มพระทัย |
กันแสงไห้โฮ ๆ ! เรียกโอรส | แล้วกล่าวพจน์พร่ำว่าทรงปราศรัย |
เหมือนโอรสนางนั้นไม่บรรลัย | กล่าวต้อนรับบุตรให้ประเวศวัง |
แล้วพระนางนิ่งอยู่สักครู่หนึ่ง | ไม่กล่าวถึงทุกข์ทนในหนหลัง |
ซึ่งทรงขุ่นมุ่นหมกเพียงอกพัง | ที่สุดพลั้งเผลอพร่ำทรงรำพรรณ |
“นี่ทุรโยธน์ลูกยาหรือหาไม่ | โอ้! ลูกรักหรือมิใช่ที่เหิ่มหรรษ์ |
เมื่อลูกพรากจากวังหวังประจัญ | ลำพองผันเพียงว่าม้าคะนอง |
เจ้าขอพรมารดาในครานั้น | แม่รำพรรณอวยชัยไขสนอง |
ให้ลูกรักมีชัยสมใจปอง | ให้เทพเจ้าคุ้มครองพระลูกยา |
คำที่แม่พร้องพร่ำยังจำได้ | ‘จงยึดธรรม์มั่นไว้หนาลูกหนา ! |
แม้ธรรมมีที่ไหนชัยก็มา | ให้เจ้าสมปรารถนาเป็นแน่นอน’ |
อนิจจา ! ผู้ใดจะได้คาด | ว่าโอวาทแม่ได้พิไรสอน |
เป็นโอวาทอวสานแห่งมารดร | คำอวยพรแม่นั้นช่างผันแปร |
แม่สงสารลูกแล, แต่ไม่เท่า | แม่สงสารผ่านเกล้าสามีแม่ |
จักเปลี่ยวเปล่าหฤทัยอาลัยแล | พระยิ่งแก่ไหนจะฝ่าทุกข์ครานี้ |
โอ้ ! ทุรโยชน์ลูกแม่, เคยแซ่ซ้อง | ด้วยเกียรติก้องเกริกคุณวิบุลศรี |
เป็นกษัตริย์ศักดิ์สง่าในธาตรี | โอ้ ! บัดนี้ลูกนับจะลับไป |
เจ้าฝากชื่อเสียงฝากซึ่งซากศพ | ซึ่งสงบนิ่งนอนดังท่อนไม้ |
แต่วิญญาณลูกยาเจ้าคลาไคล | สถิตในถิ่นสถานพิมานแมน |
แม่สงสารสุณิสา-ชายาเจ้า | ตั้งแต่เร้ารรรทดกำสรดแสน |
ประหนึ่งทรวงนางแยกต้องแตกแตน | แม่สุดเศร้าโศกแทนอรทัย |
เจ้าจากผัวจากบุตรสุดที่รัก | เหลือจะหักเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
รรรทดถึงภัสดาผู้ยาใจ | และอาลัยลูกรักลักษมัน |
เหมือนไม่แน่แก่ใจว่าใครจัก | เป็นที่รักกว่าใครตั้งใฝ่ฝัน- |
ถึงทั้งบุตรภัสดาเฝ้าจาบัลย์ | เหลือจะกลั้นตรอมตรมถมทวี |
‘อนิจจา! ทุรโยธน์ผู้โรจน์รุ่ง | พระเกียรติฟุ้งเฟื่องหล้าสง่าศรี |
เสวยราชย์เรืองนามสิบสามปี | พระมาหนีน้องรักให้หนักทรวง |
อนิจจา ! ทุรโยธน์ไยโกรธน้อง | ทรงห่างห้องเหิรเห็จเสด็จสรวง |
พระสละละทิ้งสิ่งทั้งปวง | ให้น้องห่วงโหยหาโศกาลัย |
พระคงสบสุขสันติ์อันวิเศษ | ตามพระเวทชี้แจงแถลงไข |
ถ้าทวยเทพทั้งหมดไม่ปดไซร้ | พระคงไปสู่สวรรค์เป็นมั่นคง’ |
เมียเจ้าร้องดังๆ ฟังหรือเปล่า? | แม่ฟังเขาร่ำไห้อาลัยหลง |
ฟังซิ! เมียน้องเจ้าเฝ้าพะวง | กันแสงส่งเสียงหาภรรดาตน” |
พระนางจูงราชาไปหน้าศพ | ประทานเพลิงนักรบทุกแห่งหน |
เสียงกันแสงแซ่ซ้องข้องระคน | กับเสียงก้องกาหลแห่งดนตรี |
เสียงโหยหาอาลัยเสียงไห้หวน | เสียงโอดครวญครื้นครั่นสนั่นแซ่ |
ผองพระญาติต่างก็จรลี | เดิรเสียดสีกันเข้าเผาพระศพ |
ประชาชนอลหม่านอยู่นานช้า | จนการฌาปนกิจสัมฤทธิ์ครบ |
ประชุมเพลิงพร้อมกันควันตลบ | ต่างเคารพร่ำไห้อาลัยลา |
ผู้ไว้ทุกข์ทั่วกันต่างผันผาย | ชำระกายล้างบาปเครื่องหยาบช้า |
ในแม่น้ำนับถือชื่อคงคา | เสร็จแล้วมากอบกิจทำพิธี |
ให้แก่ศพครบในไสยศาสตร์ | ขณะญาติพร้อมกันขมันขมี |
ทำบุญตามอุปเท่ห์ประเพณี | พระเทวี ‘ปฤถา’ |
ไปหาบุตรปาณฑพครบทั้งห้า | ซึ่งโศกาดูรช้ำด้วยร่ำไห้ |
นางเล่าถึงพระกรรณผู้บรรลัย | ให้เธอได้ทราบเรื่องแต่เบื้องบรรพ์ |
พระกรรณกับอรชุนต่างครุ่นแค้น | ต่างคนแสนมุ่งมาดพิฆาตคั้น |
จึงพระภิษม์เผยแผ่แก่พระกรรณ | เมื่อทรงธรรม์ใกล้กาลลาญพระชนม์ |
ถึงพระกรรณทราบดีเรื่องพี่น้อง | เธอยังจองเวรกรรมยิ่งล้ำล้น |
เธอมิให้ใครรู้สักผู้คน | ตราบเท่าจนพระกรรณถึงบรรลัย |
พระนางเจ้าเล่าขานเหตุการณ์ครบ | ให้ปาณฑพขอขมาเชษฐาใหญ่ |
ให้ทำบุญแผ่ผลกุศลไป | ตามคัมภีร์ชี้ไขจงครบครัน |
เสร็จการศพ, ธฤตราษฎร์ประกาศศาส์น | ให้จัดการต้อนรับซึ่งทัพขันธ์ |
เข้ายังกรุงหัสดินสิ้นด้วยกัน | พระทรงธรรม์ให้มีพิธีการ |
อภิเษกบพิตรยุธิษเฐียร | ขึ้นมนเทียรโอภาสราชฐาน |
แทนทุรโยธน์ซึ่งได้บรรลัยลาญ | เป็นราชาว่าขานการแผ่นดิน |
สมเด็จไท้ธรรมบุตรมกุฎราษฎร์ | ทรงประศาสน์สองรัฐจรัสสิ้น |
คือ นครอินทรปรัสถ์, หัสดิน | พิพัฒน์ภิญโยยิ่งทุกสิ่งไป |
ถึงท้าวเธอทรงราชย์โอภาสเพิ่ม | ยศศักดิ์เสริมสารพันดังนั้นไซร้ |
ท้าวมิทรงเปรมปรีด์ดีพระทัย | คุ้มที่ได้เนรเทศเทวษมา |
ซ้ำยังทรงโศกเศร้าถึงเหล่าญาติ | ต่างอาฆาตเคี่ยวเข็ญเข้าเข่นฆ่า |
อย่างโหดร้าย, ตายกลาดดาษดา | เหล่านี้พาให้พระองค์ทรงระทม |
จึงวยาสมุนี |
ผู้เปนเจ้าไคลคลาจากอาศรม |
เข้าเฝ้าไท้เทศนาปลุกอารมณ์ | ให้เริงรื่นชื่นชมชูพระทัย |
ที่สุดสอนพระองค์ให้ทรงจัด | พิธีอัศวเมธ |
เพื่อบำบัดอกุศลให้พ้นไป | ทั้งจะได้เกียรติคุณจรุญเรือง |
ธรรมบุตรโสมนัสส์ให้จัดสรร | ม้าสีจันทร์ขาวเจือเรื่อ ๆ เหลือง |
ใบหูดำข้างหนึ่ง, ถึงจะเปลือง- | ทรัพย์ด้วยเรื่องเสาะหาไม่ว่าไร |
ด้วยบุญญาภินิหารไม่นานช้า | ก็ได้ม้าสมที่คัมภีร์ไข |
ให้ทำแผ่นทองคำงามอำไพ | เขียนนามาภิไธยพระภูบาล |
ประดับเป็นครอบหน้าแห่งม้านี้ | ทำพิธีเสี่ยงสัตย์อัธิษฐาน |
ให้อรชุนนำพลด้นทะยาน | ตามม้าแก้วอุปการ |
ราตรีวันเพ็ญเขตต์เจตรมาส | ก็เริ่มราชพิธีคัมภีร์ไสย |
คือเดือนเมษายน, จุมพลไท | ดำรัสให้ปล่อยม้าจากธานี |
ส่วนกองทัพอรชุนก็หนุนเนื่อง | ออกจากเมืองแรมทางกลางวิถี |
ได้รบรกบุกบันประจัญตี | กับเมืองที่มุ่งร้ายระคายเคือง |
ครั้งแรกรบราชามาลวะ | ซึ่งปะทะขัดขวางกระด้างกระเดื่อง |
ที่สุดต้องแพ้พ่ายถวายเมือง | ยกทัพเนื่องหนุนกำลังประดังตาม |
เธอรบรับขับสู้ศัตรูพ่าย | ทั่วทุกรายส่งพลช่วยล้นหลาม |
จัดสะเบียงมอบส่งช่วยสงคราม | จนม้าข้ามเขตต์บุรีมณีบูร |
กษัตริย์ซึ่งครองเขตต์ประเทศนี้ | ตัดไมตรีธรรมราชให้ขาดศูนย์ |
ไล่กองทัพขับม้าให้อาดูร | ต่างเพิ่มพูลพลขันธ์ประจัญบาน |
แต่รบไปไม่นานก็ลาญยับ | ด้วยกองทัพอรชุนรุนประหาร |
จนสมัครพรักพร้อมน้อมสักการ | ถวายพระภูบาลธรรมบุตร |
เมื่อม้าแก้วอุปการเข้าผ่านเขตต์ | ทุกประเทศทั่วหล้าวางอาวุธ |
ได้ประมาณขวบปีเป็นที่สุด | ม้าจึงรุดเร่มายังธานี |
ระหร่างนั้นบพิตรยุธิษเฐียร | ทรงพากเพียรบำเพ็ญเช่นฤษี |
จนเวลาม้าถึงซึ่งบุรี | พร้อมด้วยแสนเสนีพลากร |
ปวงประชามารับกองทัพขันธ์ | ประดังกันอัดแอแลสลอน |
เสียงอำนวยอวยชัยเสียงให้พร | โห่ร้องรับซับซ้อนด้วยปรีดี |
ถึงวันเพ็ญมาฆมาสประกาศจัด | พิธีอัศวเมธพิเศษศรี |
ให้จัดแจงแต่งเมืองเรืองรูจี | เชิญพราหมณ์ชีราชาท้าวสามนต์ |
ปลูกมณฑปกลางย่านตระการล้ำ | สำหรับทำการพิธีศรีกุศล |
ปลูกสุวรรณพลับพลาอ่าอำพน | ปะรำรอบมณฑลโรงพิธี |
กลางมณฑปตั้งราชอาสน์สอง | อาสน์ต้นของธฤตราษฎร์โอภาสศรี |
ธรรมบุตรอาสน์รองอ่องรุจี | อาสน์พราหมณ์ชีผู้ใหญ่อยู่ใกล้เคียง |
ครั้นบรรลุลัคนา |
สังคีตเอิกอึงลั่นสนั่นเสียง |
พราหมณ์ก็พร่ำมนตร์ถวายอยู่รายเรียง | แซ่สำเนียงซู่ซ่าไม่คลาคลาย |
ยุธิษเฐียรทรงฤทธิ์, กฤษณา | ผูกชายผ้าติดกันแล้วผันผาย |
เสด็จสรงคงคาอ่าพระกาย | ทรงเครื่องเลิศเพริศพรายทั้งสองไท |
ทรงเริ่มแรกนาขวัญอันกำหนด- | เขตต์ปรากฏตามที่คัมภีร์ไข |
ชีพ่อพราหมณ์ตามองค์พระทรงชัย | กับทรามวัยเท๎ราปทีศรีอนงค์ |
เสด็จทรงไถทองอันอ่องโอ่ | เที่ยมพระโคขาวปลั่งสีดังหงส์ |
กฤษณานงรามตามพระองค์ | หว่านพืชลงตามพิธีคัมภีร์พราหมณ์ |
เสียงสวดฉันท์บรรเลงอยู่เครงครื้น | สตรีดื่นดาษไปในสนาม |
ต่างร้องเพลงอวยชัยครรไลตาม | ด้วยมีความจงรักและภักดี |
ณที่ว่างกลางแดนสร้างแท่นหลวง | สำแดงดวงชาตา |
ซึ่งดาวเคราะห์มาประจำตามคัมภีร์ | บอกนาฑีลัคนาบูชายัญญ์ |
กสางแท่นใหญ่นี้มีเตาสี่เหลี่ยม | จึงตระเตรียมพร้อมหมดมีกลดกั้น |
ครั้นได้ฤกษ์ก่อไฟด้วยไม้จันทน์ | เอาน้ำมันและเอาเข้าสาลี |
และสิ่งของศักดิ์สิทธิ์บูชิตใส่ | ในกองไฟโพลงแจ้งด้วยแสงสี |
หอมตลบกลบสิ้นถิ่นพิธี | พวกพราหมณ์ชีบรรยายถวายพร |
จึงกษัตริย์ทั่วหน้าที่มานี้ | หกสิบสี่เดิรเรียงเคียงสลอน |
ตักน้ำในคงคาพากันจร | มาพรมเศียรภูธรธรรมบุตร |
เสียงสวดมนตร์เสียงโหมประโคมครื้น | ลั่นดังพื้นดินล่มถล่มทรุด |
พอเสร็จกิจพิธีถึงที่สุด | จึงทรงหยุดแจกจ่ายถวายทาน |
แจกรางวัลราชาที่มาช่วย | ทรงแจกทวยข้าเฝ้าเหล่าทหาร |
เลือกแต่นายครบถ้วนพอควรกาล | แล้วเริ่มงานนำม้าบูชายัญญ์ |
เอาม้าไปอาบน้ำล้างชำระ | น้ำมนตร์ประพรมกายนำผายผัน |
มายังที่เตรียมไว้ใกล้ ๆ กัน | ยืนรอฤกษ์เรียงรันตามพิธี |
พระภีมถือดาพยาวคมขาวปลาบ | พอได้ฤกษ์ลงดาพขมันขมี |
พร้อมด้วยเสียงกาหลเหล่าดนตรี | ส่วนพาชีคอขาดเลือดสาดนอง |
แต่หัวม้าหายไปสงสัยสิ้น | ต่อหน้าคนคอยดูอยู่ทั้งผอง |
อัศจรรย์จิตต์ใจเหลือไตร่ตรอง | ต่างแซ่ซ้องโมทนาสาธุการ |
แล้วชำแหละเนื้อม้าบูชาใส่ | ณกองไฟ,ทำกิจอธิษฐาน |
ถวายองค์ทรงศักดิ์ภัควาน | เพื่อประทานศุภผลมงคลชัย |
ท้ายพิธีนี้องค์พระทรงฤทธิ์ | บำเพ็ญกิจตามที่คัมภีร์ไข |
จนครบกิจพิธีซึ่งมีใน | พระเวทชี้แจงไว้ทุกประการ |
แล้วเลี้ยงดูชีพราหมณ์ออกหลามล้น | บำเพ็ญผลทักษิณามหาสาร |
ให้พระภีมเป็นผู้คอยดูงาน | ถวายทานพราหมณ์ชีทีละคน |
เมื่อเวลาเสร็จการทำทานนี้ | เสียงอึงมี่โมทนาโกลาหล |
พร้อมทั้งเสียงอวยชัยแห่งไพร่พล | ดังเสียงคลื่นคำรนในสาคร |
ต่อนี้ไปหัสดินบุรินทร์รัฐ | เพิ่มพิพัฒน์ภิญโญสโมสร |
เกียรติคุณธรรมบุตรสุดขจร | ราษฎรร่มเย็นเป็นนิรันดร์ |
ความเมตตากรุณารักษาสัตย์ | ความเคร่งครัดยุตติธรรมประจำมั่น |
ความแผ่เผื่อเจือจุนอุดหนุนกัน | ทุกสิ่งพลันเพิ่มพูลจรูญเรือง |
มนเทียรรัตน์ในบุรินทร์อินทรปรัสถ์ | ซึ่งรกชัฏ, กลับงามอร่ามเรื้อง |
บำรุงเรี่ยมเอี่ยมอ่องทั้งสองเมือง | งามประเทืองเทียมด้าวดาวดึงส์ |
ตั้งแต่ท้าวธฤตราษฎร์คลาดโอรส | ตั้งระทดหฤทัยอาลัยถึง- |
พระลูกเธอทุกพระองค์ทรงคะนึง | นึกรำพึงพูนเศร้าเปล่าพระทัย |
ยุธิษเฐียรเพียรปลอบให้ชอบชื่น | ก็ไม่คืนคลายหมองกลับผ่องใส |
ไม่มีทรัพย์ศฤงคารประการใด | จะจูงให้ท้าวสิ้นถวิลตรม |
เห็นสมบัติฉัตรชัยไอศวรรย์ | พระกำนัลนารีศรีสนม |
ประหนึ่งเงาคราวฝันเมื่อบรรทม | ไม่ควรงมงายปองเป็นของตน |
ผู้ปกครองของนี้เห็นมีสุข | ที่แท้ทุกข์แทรกแซงทุกแห่งหน |
สุขแท้ไม่ใช่สุขมีทุกข์ปน | ไม่ระคนกามคุณเครื่องหมุนเวียน |
ที่สุดทรงเบื่อหน่ายมอบหมายราชย์ | แก่พระบาทบพิตรยุธิษเฐียร |
จึงเข้าป่าหาเย็นบำเพ็ญเพียร | เจริญเรียนอบรมพรหมจรรย์ |
กับนางคานธารีศรีสมร | วิทูรน้องภูธรผู้ร่วมฉันท์ |
ยุธิษเฐียรตามส่งพระทรงธรรม์ | กับพงศ์พันธุ์บริพารพลุกพล่านตาม |
ครั้นเสด็จคลาไคลถึงไพรสัณฑ์ | พวะทรงธรรม์ธฤตราษฎร์ประภาษห้าม |
มิให้ผู้ตั้งหน้าพยายาม | เข้าบุกป่าฝ่าหนามติดตามไป |
ทรงตรัสขอบหฤทัยผู้ไปส่ง | อวยพรองค์ธรรมราชประภาษไข |
โอ้!ปาณฑพบุตร |
เจ้าจงได้รู้จิตต์ของบิดร |
ทุรโยธน์น้องเจ้าบุตรเก่าพ่อ | เขาผู้ก่อทุกข์สุมให้รุ่มร้อน |
บัดนี้เขาทิ้งทอดด้วยมอดมรณ์ | เหมือนพาก้อนทุกข์พรากไปจากทรวง |
แต่ทุกข์ใหม่ที่พรากไปจากบุตร | เข้ามาอุดอกใจเป็นใหญ่หลวง |
ทุกข์ถึงราษฎร์ไร้เจ้าเฝ้าระลวง | ทั้งเป็นห่วงหัสดินจะสิ้นวงศ์ |
บัดนี้ได้หลานขวัญเป็นฉันบุตร | รับมกุฎสืบตระกูลประยูรหงส์ |
พ่อเลื่อมใสในธรรม์อันยรรยง | ที่เจ้าทรงปกป้องครองนคร |
บัดนี้พ่อมีใจอันใสสด | เพราะเจ้าปลดเปลื้องปลิดซึ่งพิษร้อน |
ขอลาเจ้าเนาสงัดตัดนิวรณ์ | ขออวยพรให้เจ้าเนาสราญ |
ธรรมบุตร, บริวารฟังสารไท้ | น้ำเนตรไหลหลั่งลงด้วยสงสาร |
ต่างน้อมเศียรลงประณตบทมาล | ลาภูบาลกลับหลังยังนคร |
ธรรมบุตรบำรุงผะดุงรัฐ | พูนพิพัฒน์ภิญโญสโมสร |
ได้สองปีมีผู้ทูลภูธร | ว่าธฤตราษฎร์, มิ่งสมรคานธารี |
กับนักบวชบริวารวายปราณสิ้น | ไฟไหม้ถิ่นโดยพลันไม่ทันหนี |
พระภูธรร้อนเร่าเศร้าทวี | ซ้ำยังมีทุกข์ทนมาปนปะ |
ทูตทวาราวดี |
นำข่าวศาส์นบพิตรกฤษณะ |
เรื่องพระญาติบาดหมางเหลือสางสระ | ขอเชิญพระอรชุนไปห้ามปราม |
เกิดเหตุจากทรงฤทธิ์พระกฤษณ์ไท้ | มิให้ใครเสพสุราบัญชาห้าม |
นักเลงเหล้าในประเทศทุกเขตต์คาม | ต่างมีความร้อนรนกะวนกะวาย |
ครั้นถึงนักขัตตฤกษ์เกริกประเทศ | พระภูเบศร์เห็นชนรนกระหาย |
ยอมให้กินเหล้าจนเมามาย | เกิดวุ่นวายทั่วไปในนคร |
พระญาติท้าวร้าวราญรำคาญขุ่น | จึงขอแรงอรชุนไปสั่งสอน |
ความวุ่นวายยิ่งทวีจึงหนีจร | เข้าดงดอนด้วยแค้นแสนระทด |
พระองค์เดียวเที่ยวซุ่มตามพุ่มไม้ | มิให้ใครสังเกตแจ้งเหตุหมด |
จนถูกพรานยิงพระองค์ทิวงคต | เพราะกำหนดนึกเห็นว่าเป็นกวาง |
เมื่ออรชุนไปถึงซึ่งบุเรศ | ก็พบเหตุสวรรคตปรากฏขวาง |
พระพลรามพี่ชายก็วายวาง- | พระชนม์ไปไม่ห่างเวลากัน |
ครั้นต่อไปไม่ช้าบิดาไท้- | พระกฤษณ์ได้ลาลับทรงดับขันธ์ |
ต่อไปทวาราวดีก็มีอัน- | จะเป็นพลันจมหายในสายชล |
อรชุนนำข่าวกล่าวถวาย | พระพี่ชายทราบเรื่องแต่เบื้องต้น |
ทรงกันแสงโศกเศร้าเปล่ากมล | พระจุมพลสังเวชในเหตุการณ์ |
ที่สุดทรงปลงเห็นว่าเป็นทุกข์ | ที่มัวคลุกคลีคลั่งหลงสังขาร |
ทรงเบื่อราชสมบัติชัชวาล | มุ่งสราญร่มเย็นบำเพ็ญพรต |
ทรงปรึกษาปรองดองกับน้องสี่ | มเหสีพร้อมใจเลื่อมใสหมด |
ต่างยินดีที่จะละศักดิ์ยศ | ไปบวชเป็นดาบสบำเพ็ญธรรม |
ครั้นแล้วไท้ธรรมบุตรมกุฎหล้า | มีบัญชาแบ่งประเทศสองเขตต์ขัณฑ์ |
ให้ทายาทสององค์สืบพงศ์พันธุ์ | คือบุตรองค์อภิมันยุนัดดา |
ซึ่งทรงนามว่าพระ ‘ปริกษิต’ |
เป็นทายาทอันสนิทเสน่หา |
สืบกษัตริย์หัสดินปิ่นประชา | ส่วนพาราอินทรปรัสถ์ทรงจัดปัน |
ให้น้องต่างมารดาพระทุรโยธน์ | ‘ยุยุตสุ’ |
เสร็จพิธีฐาปนาสองราชัน | พระทรงธรรม์ให้โอวาทประสาทพร |
ให้กษัตริย์สององค์ทรงสวัสดิ์ | เพื่อพิพัฒน์ภิญโญสโมสร |
ปกครองเขตต์เมตตาประชากร | สองนครร่วมรักสมัครกัน |
แล้วหกองค์ทรงเปลื้องเครื่องกษัตริย์ | ดังสลัดน้ำลายแล้วผายผัน |
มีสุนัขคู่ม้วยไปด้วยกัน | ตามหกองค์ทรงธรรม์ไม่ห่างไกล |
มีพระญาติถ้วนหน้าเสนามาตย์ | ประชาราษฎร์อัดแอแซ่ไสว |
มาส่งถึงแนวป่าด้วยอาลัย | น้ำเนตรไหลอาบหน้าต่างจาบัลย์ |
ต่อไปนี้หกองค์ทรงประเวศน์ | เข้าสู่เขตต์เขาไม้ในไพรสัณฑ์ |
ตั้งพักตร์สู่บูรพาฝ่าจรัล | สุนัขภักดีดั้นคระไลตาม |
ฝ่าพงหญ้าฝ่าแดดอันแผดเผา | ฝ่าภูเขาคดเคี้ยวฝ่าเรียวหนาม |
ฝ่าหมู่ไม้ในป่าพยายาม | และฝ่าข้ามโขดคันแสนกันดาร |
บัดนี้ทรงเนรเทศจากเขตต์ขัณฑ์ | ด้วยทรงธรรม์มุ่งหมายหน่ายสังขาร |
หาใช่ทรงเนรเทศด้วยเหตุการณ์ | แห่งคนพาลริษยาด้วยอาธรรม |
เธอระทมทุกข์ยากลำบากหลาย | ไหนกระหายหิวหอบไหนบอบช้ำ |
น่าจะทรงป่วยไข้ได้ระกำ | แต่ด้วยน้ำหฤทัยเลื่อมใสจริง |
ทรงอุททิศจิตต์กายถวายสวรรค์ | พาจิตต์บันเทิงทวีเป็นที่ยิ่ง |
ทุกข์สามเท่าคราวก่อนไม่ค้อนติง | ซ้ำเป็นสิ่งสมถวิลทรงยินดี |
มุ่งสลัดตัดห่วงเป็นบ่วงรัด | หวังสวัสดิ์วายทุกข์เป็นสุขศรี |
แม้พระกายยากยับทับทวี | แต่จิตต์มีโสมนัสส์ตัดลำเค็ญ |
ไม่กี่วันต่อมาเธอคลาคลาด | ระบมบาทบั่นบุกแสนขุกเข็ญ |
มนัสน้อมบริกรรมทรงบำเพ็ญ- | ตบะเป็นอารมณ์ข่มนิวรณ์ |
จนพระนางกฤษณาไม่สามารถ | ก้าวพระบาทตามองค์พระทรงศร |
หมดกำลังล้มลงในดงดอน | พระแรงอ่อนเหลือรั้งประทังชนม์ |
ลมอัสสาสปัสสาสพลันขาดผอย | ทั้งร่างน้อยนางไว้ในไพรสณฑ์ |
ส่วนภ๎ราดาห้าองค์ปลงกมล | อุททิศตนต่อสวรรค์มั่นพระทัย |
ไม่กรรแสงโศกศัลย์ไม่หวั่นหวาด | พ้นจากทาสแห่งชีวิตน้ำจิตต์ใส |
มัจจุราชซึ่งเห็นว่าเป็นภัย | บัดนี้ไม่หวั่นเศร้าทุกเช้าเย็น |
เมื่อพระนางกฤษณาถึงอาสัญ | พระภีมพลันทูลถามขอความเห็น |
นางควรไปสวรรค์ทั้งยังเป็นๆ | ไฉนได้ลำเค็ญถึงม้วยมรณ์ |
ธรรมบุตรฟังน้อง,สนองไข | ว่าจิตต์ใจเท๎ราปทีศรีสมร |
เป็นจิตต์ใจอรชุนร่วมทุนรอน | ถ้าอรชุนทำร้อนบาปเรื่องใด |
นางเป็นดังอรชุนรับขุ่นหมอง | ไปตามคลองโลกธรรมที่นำให้ |
นี้เป็นคำธรรมบุตรวุฑฒิไกร | ตอบภีมให้ตรึกตราปัญหาธรรม |
ครั้นต่อไปภ๎ราดาผู้ฝาแฝด | เธอตรำแดดตรำฝนทุกข์ทนล้ำ |
ต่างล้มนิ่งทิ้งซากด้วยตรากตรำ | ไม่ช้าบำราศปราณลาญสกนธ์ |
สหเทพและนกุลดับศูนย์ขันธ์ | เหลือสามองค์ทรงดั้นเดิรไพรสณฑ์ |
ไม่กรรแสงโศกศัลย์มั่นกมล | แล้วอรชุนสิ้นชนม์มิช้านาน |
พระภีมทรงวาบหวาม, ถามบพิตร | เป็นความผิดข้อไหน ? โปรดไขขาน |
จึงทำให้อรชุนคุณอุฬาร | “ถึงวายปราณก่อนยึดประพฤติธรรม” |
ทรงตอบว่า “อรชุนมีขุ่นหมอง | ครั้งหนึ่งพร้องโอหังพลั้งถลำ |
อวดว่าตีศึกแหลกแตกระยำ | โดยเข้ารำบาญสู้เพียงครู่เดียว |
เธอทำไปไม่สมกับลมปาก | ผลวิบากนั้นต้องมาข้องเกี่ยว |
เวลานั้นองอาจด้วยปราชญ์เปรียว | ไม่แลเหลียวสับปลับจึงรับทัณฑ์” |
เหลือแต่ภีม, ธรรมบุตรไม่หยุดยั้ง | พระทัยตั้งมั่นคงตรงสวรรค์ |
สุนัขซื่อตามไปไม่ไกลกัน | พระภีมพลันล้มทับอยู่กับทาง |
หมดกำลัง, รู้องค์ว่าคงม้วย | ชีพจรอ่อนรวยระริกร่าง |
ทูลถามด้วยเสียงเบากระเส่าพลาง | “น้องได้สร้างกรรมไว้อย่างไรมา |
จึงประสพมัจจุราชคลาดประสงค์ | ซึ่งได้ปลงจิตต์ปองครองสิกขา |
น้องเชื่อใจได้นึกด้วยตรึกตรา | ไม่มีบาปหยาบช้าสิ่งไรเลย” |
ธรรมบุตรตอบน้องจ้องเขม้น | “เราไม่เห็นหน้าเราดอกเจ้าเอ๋ย |
ใจน้องซื่อสัตย์สมควรชมเชย | น้องไม่เคยมีผิดทางจิตต์ใจ |
แต่ทางกายและวจีน้องมีบาป | พูดก้าวร้าวกล่าวหยาบเป็นนิสสัย |
ทั้งกินอยู่หยาบคายไม่อายใคร | มรรยาทไม่เรียบราบด้วยหยาบคาย |
พระภีมฟังเชษฐาบัญชาไข | ฟัง ๆ ไปจนผอยลงม่อยหาย |
ชีพจรอ่อนลดจนหมดกาย | พระพี่ชายจ้องอยู่ดูพระทัย |
เห็นหมดลมหายใจพระทัยท้าว | ทรงหน่วงน้าวในธรรม์ไม่หวั่นไหว |
อำลาศพพาสุวาณซมซานไป | ไม่อาลัยเหนื่อยยากตรำตรากจร |
จนข้ามเขตต์หิมวันต์ด้นดั้นเต้า | ถึงเชิงเขาเมรุไกรพระทัยถอน |
พอแว่วเสียงอมรินทร์ปิ่นอมร | ร้องอัญเชิญภูธรด้วยยินดี |
“มา! กษัตริย์ทรงธรรมเรานำท่าน | ไปวิมานเมืองฟ้าสง่าศรี” |
ยุธิษเฐียรฟังไท้, ไขวจี | “ข้าเจ้านี้ยังไปมิได้เลย |
เมียและน้องของข้าที่มาด้วย | ต่างก็ม้วยกลางย่านหมด, ท่านเอ๋ย! |
ข้าไม่อาจหนีผละทำละเลย- | ผู้ที่เคยน้อมใจมุ่งในธรรม์ |
เมียและน้องของข้ารักษาพรต | ล้วนหมดจดสุจริตไม่บิดผัน |
อุททิศชีพร่วมม้วยมาด้วยกัน | จะให้ผันผายห่างเขาอย่างไร” |
สมเด็จองค์อมรินทร์ปิ่นสวรรค์ | บันลือลั่นสุรนาทประภาษไข |
“เมียและน้องท่านนั้นที่บรรลัย | มาอยู่ในเมืองฟ้าทั่วหน้ากัน” |
ธรรมบุตรตอบว่า “หมาตัวนี้ | มันภักดี,ขอให้ไปสวรรค์” |
จึงองค์ท้าวเทวราชประภาษพลัน | “พวกสัตว์ชั้นดิรัจฉานขอทานทัด |
เพราะไม่ควรขึ้นสวรรค์ทุกชั้นฟ้า | สิ้นชีพมาเกิดใหม่แล้วไม่ขัด |
เพราะสวรรค์ใช่ว่าเป็นป่าชัฏ | ให้ฝูงสัตว์ต่ำช้าขึ้นมาปน” |
พระภูธรวอนว่า “หมาตัวนี้ | จิตต์ภักดีน้อมไปในกุศล |
ไม่ให้ตามผันผายคงวายชนม์ | ให้กมลข้าช้ำสิ้นสำราญ” |
โกสีย์ตอบทรงฤทธิ์ว่า “ผิดอย่าง | น้องและนางกฤษณาชายาท่าน |
ซึ่งท่านรักมากมาย, ได้วายปราณ | ท่านละด้วยใจบาน, ไม่ห่วงใย |
แต่สุนัขต่ำช้าไม่กล้าจาก | เกิดลำบากขุกเข็ญเป็นไฉน?” |
ธรรมบุตรบรรยายถวายไท | “เมียและน้องข้าได้บรรลัยชนม์ |
หมดชีวิตจิตต์ใจเหมือนไม้ขอน | จะว่าวอนอย่างไรก็ไร้ผล |
แต่หมานี้ชีวิตยังติดตน | จะพรากพ้นมันไปอย่างไรกัน?” |
ดำรัสพลางแลมาหาสุนัข | ไม่ประจักษ์หมามีอยู่ที่นั่น |
รูปสุนัขกลายกลับโดยฉับพลัน | เปนรูปองค์ทรงธรรม์พญายม |
ทรงปราศรัยทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร | “เจ้าผู้เพียรเพ็ญคุณวิบุลสม |
พ่อ |
เจ้าอบรมจรรยาอยู่ช้านาน |
เจ้าไม่ยอมทิ้งสุนัขซึ่งรักเจ้า | นี้เป็นเค้ากรุณาอันกล้าหาญ |
เจ้าผู้บุตรทรงธรรมล้ำอุฬาร | จักพิบุลคุณสารสุดรำพรรณ” |
เทพเจ้าจึงนำธรรมบุตร | เหาะรีบรุดเร็วไปในสวรรค์ |
ซึ่งรื่นรมย์รุจิเรขอเนกอนันต์ | ทุกสิ่งสรรพ์โสภณเป็นพ้นไป |
ได้เห็นพระทุรโยธน์งามโชติช่วง | พร้อมด้วยปวงเการพครบทุกไท้ |
บันดาที่รบกันถึงบรรลัย | แต่ไม่ได้พบพานเหล่าปาณฑพ |
ไม่เห็นเจ้าเท๎ราปทีและสี่น้อง | ทรงมุ่นมองเท่าไรก็ไม่พบ |
ทรงประหลาดหฤทัยได้ประสพ | แต่เการพฝ่ายเดียวเหี่ยวกมล |
จึงสมเด็จอมรินทร์ปิ่นสวรรค์ | ทรงรู้ทันท่วงทีที่ฉงน |
จึงดำรัสชี้แจงแจ้งยุบล | เปลื้องกมลพิศวงแห่งทรงธรรม์ |
“มเหสีสี่น้องท่านต้องบาป | ไม่มีลาภที่จะมาหาสวรรค์ |
เขาอยู่ภพอื่นไปห่างไกลกัน | ท่านเท่านั้นควรอยู่ในหมู่เรา |
ในสวรรค์นี้ขาดญาติมนุษย์ | ท่านก็หลุดพ้นพรากออกจากเขา |
ผู้ทำบาป ๆ ติดไม่ผิดเงา | ไม่ควรเอาเป็นญาติ, ต่างชาติกัน” |
ยุธิษเฐียรฟังไท้พระทัยท้อ | ไม่ทรงพอหฤทัยในสวรรค์ |
ไม่เห็นด้วยเทวราชประภาษพลัน | “ข้าแต่องค์ทรงธรรม์เทพไท |
ซึ่งจะให้ข้าเจ้ากับเการพ | อยู่ในภพร่วมกันนั้นมิได้ |
เมียและน้องปาณฑพอยู่ภพใด | ขอตามไปสิงสู่อยู่ด้วยกัน |
ไม่ขอพรากเมียน้องผู้ต้องทุกข์ | มาเสพสุขแต่ตนบนสวรรค์ |
เห็นแก่ตัวชั่วช้าใจอาธรรม์ | ข้าเจ้านั้นทำไปมิได้เลย” |
อมรินทร์กริ้วกราดประภาษไข | ท่านอยากไปนรกานต์หรือท่านเอ๋ย! |
ขึ้นสวรรค์ว่าไม่ได้สะเบย | อยากจะเชยชมไฟในนรก |
ยุธิษเฐียรบรรยายถวายไท้ | ไฟใดๆ ก็ไม่เท่าไฟเผาอก |
หนักภูเขาเบากว่าถ้าจะยก | หนักวิตกพรากรักนั้นหนักจริง |
ครามรักที่เทียงแท้จะแก้ให้ | ทุกข์ใดๆ กลับเป็นสุขขึ้นทุกสิ่ง |
ถิ่นใดมีที่รักขอพักพิง | จะให้ทิ้งรักมา, ทรวงข้าทรุด” |
จุงองค์ท้าวเทวราชประภาษให้ | เทพไทหนึ่งนำธรรมบุตร |
เหาะทะยานผ่าฟ้าดังมารุต | แล้วแหวกมุดพสุธาลงบาดาล |
ทางยาวยืดมืดมนถึงก้นบึ้ง | ก็เห็นซึ่งไฟแดงส่องแสงฉาน |
ร้อนตลบอบตนพ้นประมาณ | ตามทางถ่านเพลิงโชติรุ่งโรจน์ตา |
เห็นกะโหลกหัวผีอัคคีโชติ | เสียงร้องโอดโอยอยู่ออกซู่ซ่า |
เสียงไห้หวนครวญครางตามทางมา | ดังจะพาจิตต์ให้บรรลัยลาญ |
จนมาถึงเตาไฟใหญ่พิลึก | อัคคีคึก ๆ แดงส่องแสงฉาน |
กองไฟอื่นหมื่นเตาไม่เท่าทาน | อยู่กลางย่านน่าแสยงด้วยแรงไฟ |
เธอเห็นเจ้าเท๎ราปทีและสี่น้อง | อยู่กลางกองเพลิงนี้อัคคีไหม้ |
นอนกลิ้งเกลือกเสือกสนซุกชนไป | พลางร่ำไห้โหยหวนและครวญคราง |
เมื่อแรกไท้ธรรมบุตรหยุดชะงัก | ตกพระทัยใคร่จักถอยออกห่าง |
พอเหลียวแลซ้ายขวาเพื่อหาทาง | ก็ได้ยินเสียงนางเท๎ราปที |
กับเสียงน้องร้องให้ท้าวไทอยู่ | มิให้ภูธรพรากทรงบากหนี |
เพราะท้าวอยู่ดูเห็นร่มเย็นดี | มิได้มีทุกข์ร้อนเหมือนก่อนกาล |
ยุธิษเฐียรทรงฟังแสนสังเวช | พระทรงเดชน้อมจิตต์อธิษฐาน |
จะอยู่กับกฤษณายุพาพาล | และน้องปาณฑพสี่ไม่หนีจร |
ทรงขับทูตเทวดาที่มานั้น | “ข้าเจ้ามั่นหฤทัยมิได้ถอน |
จะอยู่กับชายาสี่ภ๎ราดร | ถึงระทบทุกข์ร้อนจะสู้ทน” |
ทันใดนั้นผันแปรแลประหลาด | ด้วยอำนาจเทวดาน่าฉงน |
ทางนรกยาวยืดและมืดมน | ตลอดก้นห้องใหญ่ล้วนไฟกาฬ |
ก็กลายวับกลับเห็นเป็นสวรรค์ | สารพันผ่องใสแผ่ไพศาล |
งามแสงแก้วแวววามตามวิมาน | ชัชวาลยิ่งกว่าแสงอาทิตย์ |
งามสวนแก้วอุทยานสราญรื่น | รุกขชาติดาษดื่นดูวิจิตร |
งามสระศรีโศภาน่าพินิศ | ล้วนแต่อิฏฐารมณ์น่าชมเชย |
งามต้นปาริกชาติดอกดาษดื่น | ส่งกลิ่นรื่นรอบไปไม่ระเหย |
ทุกสิ่งสรรพ์โศภาน่าสะเบย | แปลกจากเคยเห็นอยู่เพียงครู่เดียว |
ท้าวเธอทรงอัศจรรย์เหมือนฝันเห็น | พระทัยเต้นตั้งแต่เฝ้าแลเหลียว |
โลมชาติชันชูอย่กรูเกรียว | จึงเฉลียวหฤทัยทรงไตร่ตรอง |
ก็ประจักษ์แจ้งเล่ห์เทวฤทธิ์ | แสร้งประดิษฐ์บันดาลการทั้งผอง |
พิสูจน์ให้ปรากฏด้วยทดลอง | ว่าท้าวครองสัทธรรม์มั่นเพียงไร |
เมื่อ ‘สัจจะ’ ‘เมตตา’ อันกล้าหาญ | แห่งภูบาลธรรมราชไม่หวาดไหว |
การพิสูจน์แพ้พ่ายละลายไป | เทพไทโกสีย์ยินดีครัน |
จึงอัญเชิญราชาให้มาสรง | น้ำพระคงคาใหญ่ในสวรรค์ |
น้ำศักดิ์สิทธิ์แปลงองค์พระทรงธรรม์ | ให้ผิวพรรณบริสุทธิ์ดุจอมร |
ทรงสภาพเทวดาสง่าศรี | รัศมีจำรัสปภัสสร |
ทรงประดับภูษาเทพาภรณ์ | พร้อมนิกรบริวารตระการตา |
เธอประสพบพิตรพระกฤษณ์เทพ | ซึ่งทรงเสพสมบัติจรัสฟ้า |
มีรัศมีรุ่งโรจน์โชตินภา | เทวดามากหลายเรียงรายไป |
ล้วนทรงอาภรณ์พราววาววะวับ | มาต้อนรับราชาต่างปราศรัย |
เชิญเสด็จยังสถานพิมานไชย | อันอำไพผ่องฟ้าสง่างาม |
เธอประสพเท๎ราปทีและสี่น้อง | รังสีผ่องพวยพุ่งรุ่งอร่าม |
อาภรณ์เพริศพราวแพรววะแวววาม | ต่างมีความยินดีเป็นที่สุด |
ท้าวพานพบพวกสหายทั้งหลายสิ้น | ที่เคยชินรักไท้ในมนุษย์ |
ต่างมีกายกุก่องงามผ่องผุด | ล้วนเสพอุตดมสุขทั่วทุกคน |
ธรรมราชบพิตรยุธิษเฐียร | ทรงพากเพียรเพ็ญคุณบุญกุศล |
ฝ่าลำบากตรากตรำซ้ำสกนธ์ | มั่นกมลมุ่งธรรมอันอำไพ |
จนปรากฏเกียรติเลิศประเสริฐสุด | ว่าทรง ‘ยุตติธรรม์’ มั่นนิสสัย |
เผยพระนาม’ธรรมราช’ ประกาศไกล | แม้ถิ่นไทยก็นิยมชมพระคุณ |
จึงมีไท้แห่งสยามทรงนามว่า | ‘ธรรมราชา’ เชิดประเสริฐสุนทร์ |
เทียบนามองค์ทรงธรรม์อันอดุล | ระบือบุญบพิตรนิจจกาล |
ถึงทรงธรรม์ครรไลไปสวรรค์ | คุณธรรม์ท้าวไทยังไพศาล |
ให้ชาวชนบูชาอยู่ช้านาน | ตราบเท่าโลกแหลกลาญประลัย เอย. |
ศึกภารต นี้จิตรสัมฤทธิ์สรรพ์ | กุมภาพันธ์ยี่สิบสี่ชี้เฉลย |
ศกสองพันสี่ร้อยมีสร้อยเลย | เจ็ดสิบเผยกาลนิยมอุตดมวาร |
พร้อมพระฤกษ์แรกเริ่มเฉลิมรัฐ | พิธีฉัตรมงคลกุศลสาร |
พระบาทพระปกเกล้าพระเจ้าปราณ | พระผู้ผ่านสยามรัฐฉัตรนคร |
ข้า ‘พระยาอุปกิตศิลปสาร’ | เป็นข้าเบื้องบทมาลย์นริศร |
ตั้งมนัสน้อมนำซึ่งคำกลอน | นี้, บูชาภูธรเปนสักการ |
แต่เพราะมีอุปสรรคให้ชักช้า | ต้องรอมาถึงพิธีศรีพิศาล |
ฉลองกรุงเทพ ฯ ตั้งจิรังกาล | ร้อยห้าสิบปีผ่าน พิพัฒน์มา |
จึงตั้งหน้าสาทรพิมพ์กลอนนี้ | เป็นพลีตามมาดปรารถนา |
ดังบัวทองรองบาทนาถประชา | แทนตูข้าอยู่สิ้นฟ้าดิน เทอญ. |
- สิทฺธิรสฺตุ -
-
๓๐. สาต๎ยกี ท่านผู้นี้เปนญาติกับพระกฤษณ์ และเป็นสารถีของพระกฤษณ์ด้วย ในการสงครามคราวนี้จึงได้เข้าข้างปาณฑพตามพระกฤษณ์. ↩
-
๓๑. คำนี้ศัพท์เดิมเป็น กีรฺติวรมนฺ มี นฺ การันต์ อย่างเดียวกับ ราชนฺ พฺรหฺมนฺ หสฺดินฺ ฯ ล ฯ ซึ่งท่านนิยมใช้ในภาษาไทยเป็น ๓ รูป คือ
(๑) ใช้ตามภาษาเดิมว่าราชัน, พรหมัน (หรือพรหมาน), หัสดิน
(๒) ตัด น. ทิ้ง เป็น ราช, พรหม, หัสดิ (ถ้านำหน้าคำสมาสต้องใช้รูปนี้อย่างเดียว, รูปอื่นใช้ไม่ได้)
(๓) ตัด น. ทิ้งและฑีฆะ เป็นราชา, พรหมา, หัสดี, เพราะฉะนั้นจึงใช้ศัพท์นี้ตาม เป็น เกียรติวรมัน, เกียรติวรมะ และเกียรติวรมา. ↩ -
๓๒. ศิขัณฑิน เป็นบุตรท้าวท๎รุบท เป็นพี่น้องกับธฤษฏทยุมน์ ดูอธิบายท้ายหน้า ๑๘๕ ↩
-
๓๓. กุมาร ๕ องค์นี้ เป็นบุตรนางเท๎ราปที กับปาณฑพทั้ง ๕ องค์ องค์ละองค์มีชื่อดังนี้ คือ บุตรยุธิษเฐียร ชื่อ ประติวินธยะ บุตรภีมะ ชื่อ ศ๎รุตโสม, บุตรอรชุน ชื่อ ศ๎รุตเกียรติ์, บุตรนกุล ชื่อ ศตานึก, บุตรสหเทพ ชื่อ ศ๎รุตกรรม. ↩
-
๓๔. นอกจากฆ่ารี้พลมากมายแล้ว ในเรื่องพิสดารยังได้กล่าวไว้ว่า ฆ่าพระปริกษิต บุตรอภิมันยุ ซึ่งยังอยู่ในท้องนางอุตตราผู้มารดา ด้วยอาวุธทิพย์ แต่พระกฤษณ์ช่วยไว้ จึงได้รอดมาจนได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อพระยุธิษเฐียร ผู้เป็นพระเจ้าปู่ใหญ่. อรชุนเป็นปู่ตัว. ↩
-
๓๕. อัศววัตถามัน มีแก้ววิเศษอยู่ดวงหนึ่ง, เมื่ออรชุนจับตัวมาได้จึงบังคับให้ถวายแก้วนี้แก่นางเท๎ราปที แล้วปล่อยตัวไป นางเท๎ราปทีได้เอาแก้วนี้ถวายยุธิษเฐียร. ↩
-
๓๖. พระนางคานธารี, (มคธเป็นคันธารี, อย่าง ส. มาทรี, ม. มัทรี) มหิษีท้าวธฤตราษฎร์. นางเป็นธิดาแห่งพระราชประเทศคันธาระ, นางขอบุตรต่อพระฤๅษีวยาส, และพระวยาสก็ให้พรเพื่อให้ได้บุตร, ต่อมานางทรงครรภ์อยู่ ๒ ปี แล้วคลอดก้อนเนื้อออกมา, พระฤๅษีวยาสแบ่งก้อนเนื้อนี้ออกเป็น ๑๐๑ ก้อนขึ้นใส่ในผอบ ชิ้นแรกเกิดเป็นพระทุรโยธน์ และชิ้นต่อๆ ไปก็เกิดราชบุตรในเวลาห่างกัน ๑ เดือนจนครบ ๑๐๐ องค์ และบังเกิดพระธิดาองค์ ๑ ชื่อ ทุศศลา (ทุศลา) บุตรท้าวธฤตราษฎร์ทั้ง ๑๐๐ องค์นี้เรียกรวมว่าเการพ, แต่ที่ปรากฏชื่อเฉพาะตัวอยู่ก็คือทุรโยธน์ และ ทุศศาสน์ ๒ องค์เท่านั้น. ↩
-
๓๗. ศัพท์นี้ในมคธใช้ คันธารี. ในที่นี้ใช้อย่างสันสกฤต. ท้าวธฤตราษฎร์ (ม. ธตรฎฺฐ เรามักใช้ ธตรฐ) เป็นกษัตริย์บอด จะเสด็จไปไหนพระนางคานธารีต้องจูงพระองค์ไปเสมอ แต่อยู่ในพระราชวัง พระนางเอาผ้าปิดพระพักตร์ไม่ให้เห็นสิ่งใดอย่างพระราชสวามีด้วยความจงรักภักดี. ↩
-
๓๘. อ่าน ‘ป๎ริถา’ คือนางกุนตี มเหสีที่ ๑ ท้าวปาณฑุ เป็นมารดายุธิษเฐียร ภีมและอรชุน, คู่กับนางมัทรี มเหสีที่ ๒ มารดานกุล และสหเทพ. นางกุนตี เมื่ออยู่ในตระกูลมีบุตรกับพระอาทิตย์คนหนึ่งชื่อพระกรรณ ตามปรากฏข้างต้น นางเล่าเรื่องนี้ให้ปาณฑพฟังในที่นี้. ↩
-
๓๙. คือ พระฤษีวยาส ซึ่งมีนามว่า กฤษณไท๎วปายน์ ซึ่งได้แสดงไว้หน้า ๗ แล้ว. ↩
-
๔๐. อัศวเมธ แปลว่า บูชาม้า เป็นพิธีที่พระราชาธิราชกระทำเพื่อประกาศเกียรติยศ คือ ปล่อยม้าอุปการและมีกองทัพตามไปด้วยอย่างที่พระรามทำ, เมื่อม้าอุปการเที่ยวไปทุกบ้านเมืองจนกลับมาเมืองตัวโดยไม่มีเมืองใดขัดขวางม้านั้น ก็เป็นอันว่าเมืองนั้นๆ กลัวอำนาจยอมให้เป็นราชาธิราช แล้วฆ่าม้านั้นบูชายัญถวายพระเป็นเจ้า. ↩
-
๔๑. คำนี้เรียกตามเรื่องรามเกียรติ์ของเรา คือ พระรามทำพิธีปล่อยม้าอุปการให้หนุมานคุมม้านั้นไป. ↩
-
๔๒. ลัคนา (ควรอ่าน ลัก-- นา) คือเวลากำหนดที่จะทำกิจการใด ๆ ซึ่งโหรได้คำนวณตามวิธีโหราศาสตร์แล้วเขียนลงใน ดวงชาตา ซึ่งทำเปนวงกลมแล้วแบ่งเป็น ๑๒ ราศี, และเวลานั้นดาวพระเคราะห์ใดสถิตอยู่ราศีใดก็จดลงไว้ด้วย. ดาวพระเคราะห์นั้นใช้เลขแทน คือ อาทิตย์เลข ๑ เป็นลำดับไปจนถึงราหู ๘, พระเกต ๙, ดาวมฤตยู ๐, และลัคนาเขียนเป็นตัว ส. (ซึ่งหวัดมาจากตัว ล, มีไม้ผัด) คำลัคนานี้ เราอ่านและเขียนเพี้ยนไปเป็น ลักขณา ซึ่งผิด, ที่ถูกเป็นลัคนา. ↩
-
๔๓. ลัคนา (ควรอ่าน ลัก-- นา) คือเวลากำหนดที่จะทำกิจการใด ๆ ซึ่งโหรได้คำนวณตามวิธีโหราศาสตร์แล้วเขียนลงใน ดวงชาตา ซึ่งทำเปนวงกลมแล้วแบ่งเป็น ๑๒ ราศี, และเวลานั้นดาวพระเคราะห์ใดสถิตอยู่ราศีใดก็จดลงไว้ด้วย. ดาวพระเคราะห์นั้นใช้เลขแทน คือ อาทิตย์เลข ๑ เป็นลำดับไปจนถึงราหู ๘, พระเกต ๙, ดาวมฤตยู ๐, และลัคนาเขียนเป็นตัว ส. (ซึ่งหวัดมาจากตัว ล, มีไม้ผัด) คำลัคนานี้ เราอ่านและเขียนเพี้ยนไปเป็น ลักขณา ซึ่งผิด, ที่ถูกเป็นลัคนา. ↩
-
๔๔. ที่จริงเป็นลุงและหลานกัน ที่เรียกเช่นนี้ คงเป็นด้วยรักกันสนิทอย่างบิดากับบุตร. ↩
-
๔๕. ที่จริงเป็นลุงและหลานกัน ที่เรียกเช่นนี้ คงเป็นด้วยรักกันสนิทอย่างบิดากับบุตร. ↩
-
๔๖. ประยูรหงส์ แปลว่าวงศ์หงส์ ไทยเราหมายความว่าวงศ์ประเสริฐด้วยถือตามไสยศาสตร์ว่า หงส์เป็นสัตว์ประเสริฐ คือ เปนพาหนะของพระพรหม, อย่างเดียวกับโคซึ่งเป็นพาหนะของพระอิศวร, ซึ่งได้เปรียบกับผู้ประเสริฐ เช่นเรียกพระพุทธเจ้าว่า มุนิปุงควะ เป็นโคผู้ของนักปราชญ์ ‘นราสภ’ เป็นโคผู้ของคน ฯลฯ คำว่าโคนี้ท่านเอาความว่าประเสริฐ. ↩
-
๔๗. ทวาราวดี กับ ทวารกา เป็นเมืองเดียวกัน เรียกได้ทั้ง ๒ อย่าง. ↩
-
๔๘. อ่าน ‘ปะริก-สิต’ พระปริกษิตเป็นหลานพระอรชุน คือ เป็นบุตรอภิมันยุกับนางอุตตรา, เมื่อคืนวันเการพแพ้สงคราม อัศวัตถามันบุตรโท๎รณพราหมณ์กับเพื่อน ๓ คน คิดอาฆาตลอบเข้าไปในค่ายปาณฑพ ฆ่าธฤษฎทยุมน์, ศิขัณฑิน กับนายทหารซึ่งกำลังหลับอยู่ตายเป็นอันมาก ปริกษิตยังอยู่ในครรภ์ก็ถูกฆ่าด้วยเวทมนตร์ด้วย แต่พระกฤษณ์ช่วยไว้ได้ เธอคลอดภายหลังอภิมันยุผู้บิดาตาย. เธอรับราชสมบัติแทนพระเจ้าปู่ใหญ่ (พี่ชายของปู่) แล้วทิวงคตด้วยงูกัด. ↩
-
๔๙. อ่าน ‘ยุ-ยุด-สุ’ พระยุยุตสุ เป็นบุตรท้าวธฤตราษฎร์มารดาเป็นหญิงสาวใช้ตระกูลแพสย์, จึงเปนน้องต่างมารดากับพระทุรโยธน์, เมื่อจวนเกิดสงครามเธอหนีมาเข้าข้างฝ่ายปาณฑพ. ↩
-
๕๐. พระยมเป็นบิดายุธิษเฐียร จึงกล่าวว่า ‘พ่อ.’ ↩