- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
ธฤตราษฎร์หวาดวาบเมื่อทราบเหตุ | เนรเทศหลานขวัญทรงหวั่นไหว |
ยินสำเนียงหลานมาอำลาไป | พระชลนัยน์คลอเนตรเทวษครวญ |
“โอ้! หลานผู้เพ็ญธรรม์และมรรยาท | บำรุงราษฎร์สุจริตไม่ผิดผวน |
มาลุ่มหลงการพะนันอันมิควร | ทำให้ป่วนปั่นจิตต์คิดทะยาน |
ลุงห้ามหวงท้วงทักก็หนักหนา | หมดปัญญาห้ามหยุดทั้งบุตรหลาน |
กรรมของลุงแม่นมั่นจึงบันดาล | ให้เกิดการอันตรายทำลายพงศ์ |
พลางอำนวยพรแล้วทรงแคล้วคลาด | พร้อมพระญาติถ้วนหน้าตามมาส่ง |
ต่างโศกเศร้าเหงาใจให้พะวง | เว้นแต่องค์ทุรโยธน์โหดกมล |
กับพวกที่ทุจจริตคิดประจบ | ต่างยืนหลบยิ้มย่องไม่หมองหม่น |
ฝูงประชาราษฎรต่างร้อนรน | มาส่งกล่นเกลื่อนกลาดดาษดา |
แสนสงสารภ๎ราดาทั้งห้าเจ้า | กับนงเยาว์ยอดมิตรกฤษณา |
เตรียมพระองค์ยงยันจรัลคลา | มุ่งออกป่ามิได้ย่อท้อพระทัย |
ชื่อว่าการทุจจริตถึงปิดปก | ไม่ช้าผกเผ่นออกข้างนอกได้ |
กลสะกานี้เล่าไม่เท่าไร | ก็ทราบไปซ่าซู่ถึงหูคน |
ไม่ทันปาณฑพออกไปนอกเขตต์ | ก็ทราบเหตุการณ์แพร่ตั้งแต่ต้น |
โดยได้ยินพูดจาประชาชน | ต่างยิ่งหม่นหมองแค้นแสนระกำ |
ข้ามเขตต์กรุงมุ่งไปสู่ไพรกว้าง | เข้านอนข้างมรคาเวลาค่ำ |
พักตร์สลดอดอยากทรงตรากตรำ | พระผิวคล้ำลมแดดแผดสกนธ์ |
ผู้เดิรทางพบปะเห็นอนาถ | น้ำเนตรหยาดคลอเนตรสมเพชล้น |
มีสะเบียงแบ่งให้ตามไร้จน | หมดเขตต์คนเข้าป่าพนาลัย |
พระโอษฐ์แห้งแสงเนตรอาเภทพร่า | ไม่พูดจาจรดลด้วยหม่นไหม้ |
ประหนึ่งเสียงสนทนาผ่าหทัย | ให้ป่นไปดังฟ้าผ่าทำลาย |
ที่สุดมีเสียงหนึ่งเต็มขึ้งขุ่น | “อรชุน ! ทุกข์หนักข้าจักหาย |
ต้องได้เศียรทุรโยธน์ผู้โหดชาย | มาเสียบปลายทวนข้าจึงสาใจ” |
สหเทพคล้อยขานศาบานมั่น | “ขอศรอันศักดิ์สิทธิ์วินิจฉัย |
ถ้าลูกศรแทรกเนื้อมันเมื่อไร | จึงจะได้ทิ้งศรผ่อนสราญ” |
องค์ที่สามขบทนต์บ่นสบถ | น้ำเนตรหยดหยาดไหลพลางไขขาน |
“มันหมิ่นเจ้าเท๎ราปทีศรีสคราญ | ขอประหารด้วยกระบี่แก้ฝีมือ |
กระบี่นี้ฝังตัวพวกชั่วร้าย | จึงจะคลายเกี่ยวข้องไม่ต้องถือ” |
องค์ที่สี่แค้นใจดังไฟฮือ | เธอฮึดฮือกำหมัดตรัสศาบาน |
“หัตถ์ข้านี้จะไม่หาความผาสุก | สิ่งสนุกทั่วไปจนได้ผลาญ |
อ้ายพวกใจอำมหิดน้ำจิตต์พาล | ให้มันผ่านพ้นสิ้นจากดินแดน” |
ยุธิษเฐียรทรงฤทธิ์น้ำจิตต์เศร้า | ฟังสี่เจ้าศาบานสงสารแสน |
เอาขันตีตั้งหน้าเข้ามาแทน | นาน ๆ แหงนพักตร์ขึ้นแก้มึนมัว |
ทรงนิ่งอึ้งขึงพักตร์เหลือจักช้ำ | เหลือจะทำเอมอิ่มแสร้งยิ้มหัว |
พระอาการปานดูไม่รู้ตัว | พักตร์สลัวเนตรหยัดอัสสุชล |
สงสารเจ้ากฤษณาฝ่าลำบาก | ทรงตรำตรากแดดกล้าลมฟ้าฝน |
ผ้าฝ้ายเป็นภูษิตปิดสกนธ์ | ซึ่งแต่ต้นทรงไหมอยู่ในวัง |
พระพักตร์ดำคล้ำเนื้อด้วยเหงื่อซับ | พระเกศยับยุ่งรกลงปกหลัง |
ก้มพระพักตร์เดิรมาละล้าละลัง | ดุจดังความอายได้คลายไป |
ฉวีวรรณเคยแข่งแสงสว่าง | บัดนี้ด่างดำหมดไม่สดใส |
พระเนตรดำล้ำนิลเจียรไน | ก็หม่นไหม้แดงก่ำคลอน้ำตา |
เวลาเช้าชื่นฉ่ำด้วยน้ำค้าง | เวลากลางวันแดดยิ่งแผดกล้า |
ร้อนแผ่นดินสิ้นไปจำไคลคลา | ตามพระสามีนางไม่ห่างกัน |
ข้ามลำเนาเขาเขินข้ามเนินลาด | มิได้หวาด, มุ่งหมายแต่ผายผัน |
เธอครรไลล่วงมาก็ช้าครัน | จึงมาบรรลุป่าพนาลัย |
ชื่อว่าป่า ‘กนกวัน’ อันอธึก | ด้วยหมู่พฤกษ์พรั่งพรูอยู่ไสว |
ขึ้นยัดเยียดเบียดกันเป็นหลั่นไป | กิ่งก้านใบบังแสงแห่งตะวัน |
ต่างจำทนด้นมาในป่ามืด | ด้วยพงพืชเขาไม้ในไพรสัณฑ์ |
ด้วยความมืดหนักหนาจนพากัน | คิดสำคัญไปว่าถึงราตรี |
คะนึงนึกอัศจรรย์กลางวันน้อย | รีบเคลื่อนคล้อยจรดลด้นวิถี |
ถกหนามเหนี่ยวเกี่ยวสิ้นทั้งอินทรีย์ | จรลีซอกซนด้นดำเนิร |
หนทางจรดอนลุ่มล้วนปุ่มป่ำ | เดิรถลำวนวกระหกระเหิน |
ชนต้นไม้ซึ่งขวางหนทางเดิร | บัดเดี๋ยวเพลินพลัดหล่มล้มคะมำ |
บาทระบมบุกป่าฝ่าลำบาก | ถลำถลากหนามยอกแสนชอกช้ำ |
ด้วยความกลัวอันตรายเป็นนายนำ | ให้เธอคลำจรดลเพื่อพ้นไป |
ในป่านี้ร่มเย็นอยู่เป็นนิตย์ | แต่มืดมิดเหลือล้นจะทนไหว |
ไม่ต้องแดดแผดเผาพอเบาใจ | แต่ก็ได้ฟกช้ำที่คลำทาง |
เดิรๆ มาตาชินในถิ่นป่า | รู้สึกเห็นเป็นเวลาเมื่อฟ้าสาง |
พอแลเห็นมรรคามาราง ๆ | เห็นเป็นกลางวันอยู่รีบจู่จร |
แต่เหลือที่พยายามจะข้ามพ้น | ด้วยมืดมนทั่วไปใจสะท้อน |
สำเนียงสัตว์ร้องแซ่นึกแน่นอน | ว่าถึงตอนเวลาเข้าราตรี |
เรไรหริ่งร้องรุ่มตามพุ่มไม้ | วังเวงใจจิตต์หวั่นแทบขวัญหนี |
ยิ่งเย็นชืดมืดลงทั่วพงพี | จนเหลือที่สามารถจะคลาดคลา |
ต่างจัดแจงที่นอนเพื่อผ่อนพัก | ในสำนักแนวถิ่นไร้หินผา |
มีใบไม้กลบกลาดดาษดา | เปบเนินหนาน่วมนุ่มต่างซุ่มนอน |
ผลัดกันนั่งผลัดกันนอนถึงตอนเช้า | เสียงสัตว์เร้าร้องซ่าหมาป่าหอน |
มืดบรรเทาเบาลงทั่วดงดอน | ลุกขึ้นจรตามกันด้นดั้นไป |
เจ้าปาณฑพเดิรฝ่าข้ามป่านี้ | ถึงราตรีต่างหาที่อาศัย |
เข้าพักนอนตอนวันก็ครรไล | ดุจนัยนี้มาหลายราตรี |
เหลือจะจ้องมองหาท้องฟ้าได้ | ด้วยยอดไม้ปกปิดดำมิดหมี |
ความเมื่อยล้าพาเลือนวันเดือนปี | ขึ้นแรมมีกลใดไม่คำนึง |
มุ่งแต่เดิรด้นมาในป่าใหญ่ | สรรพภัยทั่วทิศไม่คิดถึง |
มุ่งอย่างเดียวจะให้พ้นด้นตะบึง | มาวันหนึ่งสมคิดดังจิตต์จง |
อันความหมั่นนี้หนอขอให้หมั่น | คงจะบรรลุดังตั้งประสงค์ |
หมั่นแปรธาตุมาดทองจ้องพะวง | ผิดยังคงรู้การที่ผ่านไป |
เธอเดิรพลางต่างเขม้นเห็นข้างหน้า | มีขอบฟ้าขาวขวางสว่างไสว |
อยู่ลิบลิ่วทิวทางที่ห่างไกล | เหมือนมองไปเห็นทรัพย์นับอนันต์ |
ดูเหมือนค่อยคลายเหนื่อยและเมื่อยล้า | ต่างตั้งหน้าจรลีขมีขมัน |
มุ่งขอบฟ้าที่เห็นเป็นสำคัญ | จนมาบรรลุหมายถึงชายไพร |
เห็นที่ราบเรี่ยรายด้วยทรายล้วน | เหลือคำนวณที่ทางอันกว้างใหญ่ |
แสงแดดส่องต้องทรายแพรวพรายไป | กระทำให้ร้อนอ้าวเมื่อก้าวเดิร |
เธอกัดฟันดั้นทางไปข้างเหนือ | ลำบากเหลืองันงกระหกระเหิน |
กระหายหอบบอบช้ำต้องดำเนิร | ลำบากเกินกว่าเก่าสิบเท่าคูณ |
มีลมพัดปัดเป่าพอเบาร้อน | แต่ไม่ผ่อนให้กระหายนั้นคลายศูนย์ |
แทบล้มจมมรรคาด้วยอาดูร | ยิ่งเพิ่มพูลอ่อนเพลียละเหี่ยใจ |
เห็นต้นไม้ในทางห่าง ๆ ต้น | อุตส่าห์ด้นดั้นมาเข้าอาศัย |
ด้วยกระหายหมายหาชลาลัย | หาไม่ได้ดังมาดรีบคลาดคลา |
พอตะวันบ่ายคล้อยลงหน่อยหนึ่ง | ต่างตะลึงแลดูเห็นภูผา |
มีทิวไม้รายรอบขอบนภา | อยู่ข้างหน้าราง ๆ ทางอุดร |
ด้วยความอยากบากบั่นไม่ยั่นย่อ | ในจิตต์จ่อจรลีมุ่งศีขร |
กระหายน้ำช้ำบาทอนาถจร | ครั้นเหลือร้อนพักหาฉายาพฤกษ์ |
ไม่ร่มเย็นเช่นป่าเคยอาศัย | ลมพาไอร้อนอู้ให้รู้สึก- |
กระหายล้นด้นไปใฝ่ระลึก | ตั้งหน้านึกหาน้ำกระหน่ำไป |
พอเพลาสายัณห์ตะวันอ่อน | พื้นอัมพรพร่าแดงเป็นแสงใส |
ต่างบากบั่นผันผายถึงชายไพร | ทำให้ใจชุ่นชื้นต่างฝืนเดิร |
พากันดั้นด้นฝ่าเข้าป่านี้ | จรลีเรื่อยมาข้ามผาเผิน |
ถึงอาศรมซึ่งตั้งอยู่หลังเนิน | มีโขดเขินล้อมรอบเป็นขอบคัน |
มีสระน้ำอยู่หน้าแห่งอาศรม | หมู่ไม้ร่มหน้าเปรมเกษมสันติ์ |
ด้วยล้าเมื่อยเหนื่อยยากลำบากครัน | จึงพากันอาบกินด้วยยินดี |
อาศรมนี้อยู่กลางระหว่างผา | เป็นที่มาบวชถือเป็นฤาษี |
อยู่หุบเขาหิมพานชานคีรี | ปรากฏมีนามว่า ‘หิมาลัย’ |
บริเวณหลังหน้าแห่งอาศรม | ล้วนรื่นร่มรุกขชาติดาษไสว |
มีหลายหลากมากพรรณขึ้นหลั่นไป | แตกช่อใบดอกผลอำพนตา |
ยามพายุใหญ่พัดสะบัดโบก | เขยื้อนโยกหวั่นรัวทั่วสาขา |
ใบดอกผลหล่นกลาดดาษดา | ถึงเวลายามรุ่งฟุ้งสุคนธ์- |
แห่งเกสรบุปผชาติประหลาดสี | ขาวเหลืองมีแดงช่วงและม่วงหม่น |
เสียงหึ่ง ๆ ! ผึ้งภู่บินวู่วน | อยู่บนต้นรุกขชาติเกลื่อนกลาดไป |
ฝูงนกร้องเซ็งแซ่กระแตกระรอก | ลิงข้างออกพัลวันสนั่นไหว |
เพราะมีผลพฤกษชาติดื่นดาษไพร | พาสัตว์ในแนวป่ามาระดม |
ข้างพื้นดินหินทรายอยู่ภายใต้ | แต่ใบไม้เหลือนับหล่นทับถม |
บ้างเป็นแท่นแผ่นผาดูน่าชม | แลดูร่มราบรื่นน่าชื่นบาน |
มีฝูงสัตว์จัตุบาทออกดาษดื่น | บ้างหยุดยืนบ้างหาผลาหาร |
ซึ่งเกลื่อนกล่นหล่นอยู่ดูตระการ | บ้างวิ่งพล่านหยอกกันสนั่นไป |
ณสระศรีมีน้ำถ้ำสะอาด | ชลชาติขึ้นชูอยู่ไสว |
บัวมีดอกฝักแซงขึ้นแข่งใบ | ปลาน้อยใหญ่แหวกว่ายตามสายชล |
บางแห่งมีน้ำตื้นดื่นผักตบ | ฝูงเขียดกบร้องซ่าเมื่อหน้าฝน |
บางแห่งดูเกลื่อนกลาดดาษอุตบล | ดอกผุดพ้นวารีสีตระการ |
ณถิ่นนี้ดินฟ้าและอากาศ | ย่อมสะอาดอวยสุขทุกสถาน |
ทุกฤดูตรูตาน่าสราญ | แต่เป็นย่านไกลหมู่แห่งผู้คน |
ถึงหน้าร้อนก็ไม่ร้อนในตอนเที่ยง | ตะวันเลี่ยงลงใต้บังไพรสณฑ์ |
ถึงหน้าหนาวหนาวก็แต่พอทน | ถึงหน้าฝนดินฟ้ายิ่งน่าชม |
มีก้อนเมฆมืดคลุ้มชะอุ่มฟ้า | ร่มเย็นทั่วหุบผาถิ่นอาศรม |
พายุพัดพาฝนปนกับลม | ลงพร่างพรมพฤกษชาติสาดกะเซ็น |
พื้นนภาฟ้าแลบอยู่แปลบปลาบ | เป็นแสงวาบแวววาวแพรวพราวเห็น |
ใต้ต้นไม้เม็ดฝนหล่นกะเด็น | แล้วไหลเป็นแนวน้ำลงลำธาร |
เสียงฟ้าร้องก้องกึกอยู่ครึกครื้น | กระเทือนพื้นทั่วไปทั้งไพรสาณฑ์ |
พฤกษชาติดาษดื่นล้วนชี่นบาน | ต่างชูก้านแตกช่ออรชร |
พสุธาชื้นฉ่ำด้วยน้ำฟ้า | มีผักหญ้าขึ้นงามหลามสลอน |
ดังพรมเขียวลาดสิ้นแผ่นดินดอน | ทั้งศีขรเขาคูดำรูตา |
มีน้ำตกซกพลั่งแล้วหลั่งไหล | เป็นเกลียวไปตามทางระหว่างผา |
เซาะแผ่นดินหินซุดหลุดลงมา | เสียงซู่ซ่าครืนครั่นสนั่นไป |
บ้างไหลชอนก้อนผาแล้วมาผุด | เป็นฟองปุด ๆ อยู่ดูไสว |
บางพุพ่นพุ่งเพียงพะเนียงไฟ | ดังกลไกช่างคิดประดิษฐ์ทำ |
ดูประหนึ่งป่านี้เป็นที่พัก | เทพารักษ์เรืองอิทธิฤทธิ์ล้ำ |
บันดาลให้เห็นเล่ห์เทวกรรม | เป็นที่นำจิตต์ใจให้สราญ |
หรือบางทีพาใจให้วิตก | เห็นนรกทั่วสิ้นทุกถิ่นฐาน |
ซึ่งภูตผีปิศาจอาจบันดาล | ล้วนเป็นการพาใจให้ระทม |
เจ้าปาณฑพหยุดพักสำนักนี้ | อาศัยที่ศาลาวนาศรม |
ครบสิบสองพรรษาผ่อนอารมณ์ | สำเร็จสมกติกาสัญญากัน |
เที่ยวเสาะสอยผลไม้ที่ในป่า | เที่ยวเสาะล่าสัตว์ไปในไพรสัณฑ์ |
เสาะไม่เลือกเผือกคูณทั้งมูลมัน | มากินกันตามแกนด้วยแค่นจน |
เวลาว่างถางหญ้าถิ่นอาวาส | ช่วยกันกวาดใบไม้ที่ได้หล่น |
ตะล่อมเป็นกองใหญ่เอาไฟลน | เผาเสียจนเตียนสิ้นทุกถิ่นทาง |
ถึงยามร้อนผ่อนสนานสำราญรื่น | ในสระชื่นชูใจใสสว่าง |
เพราะมีเจ้าเท๎ราปทีศรีสุรางค์ | พาให้บางเบาช้ำระกำใจ |
พิศดูจันทร์เพ็ญอัญเด่นช่วง | ไม่เหมือนดวงพักตร์น้องอันผ่องใส |
พิศยิ่งยวนชวนเล่ห์เสน่ห์ใน | ทุกข์เท่าไรก็ต้องซาเห็นหน้านาง |
พิศดูดอกบัวอันยั่วแย้ม | งามชื่นแช่มรับฟ้าเวลาสาง |
ไม่เท่าเทียมแย้มยิ้มจิ้มลิ้มปราง | ทั้งสองข้างจอมขวัญกัลยา |
เจ้าแย้มนอกบอกให้เห็นในแย้ม | อันแฉล้มล่อเล่ห์เสน่หา |
พังเสียงนกคูขันจำนรรจา | ไม่เทียมภาษิตเจ้าเท๎ราปที |
ยามมึนเมื่อยเหนื่อยมาจากป่าเถื่อน | ได้ฟังเอื้อนวาจามารศรี |
สงบทุกข์พลุกพล่านดาลฤดี | ฟังยิ่งยียวนเล่ห์เสน่ห์ชม |
บรรเทาทุกข์ที่พรากจากนิเวศน์ | มาอยู่เขตต์หุบผาวนาศรม |
อาศัยความพร้อมจิตต์คิดนิยม | ดับระทมทุกข์ยากที่จากมา |
บางเวลาสายัณห์ตะวันอ่อน | อยู่รอน ๆ หรุบรู่ลับภูผา |
ฝูงนกหกเหิรกลาดดาษนภา | บินเข้าหาถิ่นพักสำนักนอน |
แซสำเนียงสัตว์ไพรเมื่อใกล้ค่ำ | หมาป่าร่ำเริ่มเร้าแต่เห่าหอน |
ชะนีโหยหวนหาทิพากร | ชวนภ๎ราดรห้าเจ้าเศร้าฤทัย |
หวนระลึกนึกตามเนื้อความเก่า | ต่างโศกเศร้าสังเวชน์น้ำเนตรไหล |
อรชุนงุ่นง่านทะยานใจ | รำพันไขข้อความตามคะนึง |
“ข้าพเจ้าสงสัยในใจนัก | ว่าใครจักทุกข์ถมระทมถึง |
ทุกข์ในอกข้าเจ้าอันเร้ารึง | ด้วยโศกตรึงจิตต์ช้ำระกำใจ |
โอ้! พลัดพรากจากถิ่นบุรินทร์ราษฎร์ | พลัดพรากญาติมิตรมาป่าไศล |
เหมือนมาเพิ่มทุกข์ถมตรมฤทัย | ทุกสมัยทุกเวลาทิวากาล |
คะนึงเห็นเท๎ราปทีเจ้าลีลาศ | ยังคฤหาสน์ห้องใหญ่อันไพศาล |
ถูกปลดเปลื้องเครื่องทรงอลงการ | เขาประจานน้องรักเจ้าหนักครัน |
ภายในผ้าน้องเจ้าเฝ้าสงวน | ไว้เพื่อชวนชมชั่วแต่ผัวขวัญ |
ถึงกระนั้นนวลน้องยังป้องกัน | มิใคร่ผันผ่อนให้ผัวได้เชย |
เขายื้อผ้าหน้าคนออกกล่นกลาด | สบประมาทต่อหน้าเจ้าข้าเอ๋ย ! |
เพิ่มความอายอรทัยกระไรเลย | เจ้าไม่เคยขายหน้าประชาชน |
ชิชะ! เราก็กระไรไม่ประหาร | อ้ายพวกพาลผู้ไร้ใจกุศล |
ในเวลานั้นหนอรออยู่จน | ได้ทุกข์ทนเนรเทศทุเรศมา” |
พระภีมผู้อยู่ใกล้ได้สดับ | พระพักตร์กลับแดงก่ำพลางร่ำว่า |
“ไม่เท่านั้นมันล่อก่อสัญญา | เล่นสะกาแข่งขันพะนันเมือง |
ศกุนิล่อลวงถ่วงลูกบาศก์ | เราประมาทมุ่งท้าจนหน้าเหลือง |
มันล่อลวงปวงเราให้เปล่าเปลือง- | ความคิดเรื่องราวความยามพะนัน |
เราก็เห็นเหตุร้ายในภายหน้า | จิตต์ยังกล้าต่อสู้ดูก็ขัน |
เพราะหน้ามืดมัวเมาเร้าประชัน | จึงได้บรรลัยยับเหลืออับอาย |
หมดโอกาสแก้ไขสมัยนี้ | เหมือนนมที่หกเรี่ยได้เสียหาย |
ถึงร้องไห้ร้องห่มเสียดมเสียดาย | ก็แทรกทรายดินหมดต้องอดนม |
เมื่อราชาข้าเจ้าเฝ้าประสงค์ | เหยียดพระองค์ต่ำศักดิ์ลงหมักหมม |
อยู่ในกิจผิดพลาดราชนิยม | ชื่อว่าล้มเลิกเป็นราเชนทร |
ผลกรรมนำให้ไท้พินาศ | สมบัติราชย์ดินแดนแผ่นผงอน |
เพราะถูกริบฉิบหายต้องผายจร | สู่ดงดอนแดนไกรได้ระทม |
ผลพะนันนี้หนาท่านว่ากล่าว | ยิ่งกว่าคราวเพลิงไหม้ก็ได้สม |
มันพาให้มัวเมาเฝ้านิยม | เอาทรัพย์ถมทับท้ากล้าพะนัน |
อันไฟไหม้เรือนชานสักล้านหน | สมบัติป่นปี้จริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ยังเหลือเนื้อเงินทองของสำคัญ | ไม่เปนควันศูนย์ไปด้วยไฟฟอน |
การพะนันมันเอาเราพินาศ | เหลือแต่อาตม์ออกเตร่เที่ยวเร่ร่อน |
หมดสมบัติแล้วมิหนำต้องซ้ำจร | จากนครเนรเทศนิเวศน์เวียง |
หมดอำนาจวาสนาบรรดาศักดิ์ | หมดผู้จักนับถือหมดชื่อเสียง |
ซ้ำถูกมัดรัดไว้มิให้เมียง | มาดูเชียงดูหน้าประชาชน |
ทั้งนี้เขามุ่งมาดพิฆาตฆ่า | โดยให้มาอาศัยอยู่ไพรสณฑ์ |
ให้ลำบากยากแค้นด้วยแสนจน | คงจะทนอยู่ไปมิได้นาน” |
พระนกุลฟังคำทรงกำสรด | น้ำตาหยดคลอตาน่าสงสาร |
พระพักตร์เศร้าเฝ้านึกระลึกการณ์ | ที่ได้ผ่านพ้นมาสรรพัน |
“อนิจจา ! เคราะห์กรรมทำไฉน ? | เหมือนเรือใกล้อับปางก็อย่างนั้น |
มีสติแล้วต้องช่วยป้องกัน | แก้ไขมันก่อนอื่นให้คืนคง |
แต่ก็หมดปัญญาแห่งข้าเจ้า | ที่จะเข้าแก้ตามความประสงค์ |
ยังมีแต่เนื้อเลือดจะเชือดปลง | จิตต์จำนงแก้กันเป็นชันยา” |
พระสหเทพยืนยันรำพันไข | “โอ้! เสียงใสมิ่งมิตรกฤษณา |
เขาฉุดคร่าผ้านางกลางสภา | เสียงเจ้ามาก้องกรรณสนั่นดัง |
โอ้! สำนวนน้ำคำยังจำได้ | ซึ่งเจ้าให้ทูลทัดขัดรับสั่ง |
ต่อสามีกัลยาล้วนน่าฟัง | ข้าเข้ายังใฝ่นึกเฝ้าตรึกตรา |
ใจความว่าสามีตกที่ทาส | หมดอำนาจนำมิตรกฤษณา |
ซึ่งเป็นเจ้าเหล่าราษฎร์ชาติประชา | ทาสจะมาขายเจ้าผิดเค้าความ |
โอ้ ! ยามนั้นฉันใดจึงไม่ค้าน | ให้พวกพาลจ้วงจาบทำหยาบหยาม |
เพลินสดับวาจาพงางาม | พากันหวามวาบใจไม่ไตร่ตรอง |
ทุกๆ ท่านถ้วนหน้าน้ำหยด | ต่างกำศรดตามเจ้าแสนเศร้าหมอง |
เว้นแต่ท่านทุรโยธน์โลดลำพอง | โอ้! จิตต์ของเขาผิดจากจิตต์คน” |
ยุธิษเฐียรเธอฟังน้องทั้งสี่ | ไขคดีเผยแผ่มาแต่ต้น |
เฝ้าโลมเล้าเอาใจไขยุบล | “เจ้าอย่าบ่นเลยน้องไม่ต้องการ |
เรากษัตริย์กัดฟันอย่ายั่นย่อ | คะนึงข้อสุจริตอธิษฐาน |
บำเพ็ญตามกติกาที่ศาบาน | ดังที่ขานวาจามาทุกคำ |
ตั้งแต่เราเนาไพรฤทัยหมอง | ครบสิบสองขวบสอบรอบฉนำ |
ต้องระทมทุกข์ยากแสนตรากตรำ | เพราะด้วยกรรมก่อสร้างแต่ปางบรรพ์ |
การใดจักเกิดแล้วไม่แคล้วได้ | คงเกิดให้เห็นจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ที่เกิดแล้วแล้วไปอย่าใฝ่มัน | และอย่าฝันใฝ่หาข้างหน้าไกล |
จงกอบการบัดนี้ให้ดีเถิด | ผลจะเกิดภายหน้าอย่าสงสัย |
บัดนี้เราเนาป่าพนาลัย | ครบสิบสองปีได้ดังสัญญา |
อีกปีหนึ่งไม่ให้มีใครเห็น | ต้องซ่อนเร้นหลบลี้ต่างหนีหน้า |
นี้เป็นข้อคำมั่นจำนรรจา | เราต้องฝ่าฝืนจิตต์ไม่คิดแปร” |
ต่างเชื่อฟังภาษิตยุธิษเฐียร | พากันเปลี่ยนที่ทางไปห่างแห |
เที่ยวซุกซอนซ่อนอยู่เฝ้าดูแล | ระวังแต่เการพจะพบตน |
เธอเตร็จเตร่เร่ร่อนเที่ยวผ่อนพัก | ในสำนักแนวไม้ณไพรสณฑ์ |
ต้องลำบากตรากตรำช้ำสกนธ์ | ซึ่งเดิรด้นดั้นพงในดงแดน |
ไหนจะเหนื่อยเมื่อยกายอย่างร้ายกาจ | ไหนพระบาทจะระบมระทมแสน |
ต้องกินใบพฤกษชาติยามขาดแคลน | เคี้ยวยิ่งแค้นคอผากยิ่งอยากชล |
พบหนองน้ำแห่งใดฤทัยปลื้ม | พากันดื่มมิได้เลือกกะเสือกกะสน |
เห็นเทียมเทพธาราเวลาจน | แต่เธอด้นดั้นมาก็ช้านาน |
ที่สุดถึงชายไพรเข้าในแคว้น | แห่งดินแดนกรุงไกรอันไพศาล |
นาม ‘วิราฎบุรี’ ที่สราญ | ยินดีปานปะแคว้นแดนอมร |
เข้าในร่มไม้ใหญ่อาศัยหยุด | ซ่อนอาวุธมีดพร้าคทาศร |
ออกเดิรตัดลัดทุ่งมุ่งนคร | เพื่อเร้นซ่อนตัวไปตามใจปอง |
เพราะถ้าเหล่าเการพไปพบหน้า | เธอทั้งห้าต้องกลับได้รับหมอง |
คืออยู่ป่าทวนต้นน่าขนพอง | ครบสิบสองขวบปีพอดีตาย |
-
๑๑. ตอนอยู่ป่านี้ เรื่องเดิมของเขามีพิศดารกว่านี้มาก, เรื่องพระนลก็ออกจากตอนนี้ แต่ต้นฉะบับเขาย่อ จึงย่อตาม เพราะไม่มีเวลาค้น. ↩