แต่นั้นมาห้าเจ้าค่อยเบาโศก |
คลายวิโยคยากยับซึ่งทับถม |
ปลื้มพระทัยในเล่ห์เสน่ห์ชม |
สนิทสนมในเจ้าเท๎ราปที |
พึ่งบรมสมภารบัญจาลราช |
อยู่ปราสาทสุขเสริมเฉลิมศรี |
หมดวิตกห่วงใยกลัวไพรี |
ซึ่งต่างมีมุ่งมาดอาฆาตเคือง |
จะขอกล่าวข่าวพระทุรโยธน์ |
ประจักษ์โสตเนตรสิ้นระบิลเรื่อง |
ว่าปาณฑพหนีได้จากในเมือง |
จักก่อเรื่องร้อนจิตต์บิตุรงค์ |
ตั้งคะนึงพรึงพรั่นคิดหวั่นไหว |
ด้วยกลไม่สำเร็จเสร็จประสงค์ |
จักระบือลือลั่นเป็นมั่นคง |
เพราะภ๎ราดาห้าองค์ทรงแพร่งพราย |
ซ้ำไปได้พระธิดาปัจจามิตร |
คงร่วมคิดแก้แค้นเป็นแม่นหมาย |
ด้วยความคิดริษยาไม่คลาคลาย |
หวังทำลายล้างเหล่าเจ้าภ๎ราดา |
ทราบถึงพระบิตุรงค์ทรงประกาศ |
ประชุมราชมนตรีที่ปรึกษา |
ในพระโรงรัตนาสน์ราชสภา |
มนตรีมาพร้อมสรรพด้วยฉับพลัน |
ธฤตราษฎร์บพิตรสถิตนั่ง |
เหนีอบัลลังก์ราชรัตน์พระฉัตรกั้น |
บริวารแวดล้อมอยู่พร้อมกัน |
สมเด็จองค์ทรงธรรม์ก็บรรยาย |
“ดูก่อนท่านมนตรีที่ปรึกษา |
ผู้ตั้งหน้าจงรักสมัครหมาย |
มุ่งประกอบราชการไม่คร้านกาย |
ดังแขนซ้ายขวาเราเจ้าแผ่นดิน |
บ้านเมื่องเราบัดนี้ก็มีท่าน |
เป็นหลักฐานแห่งเราดังเสาหิน |
จะเสื่อมทรามหรือจะงามดังเมืองอินทร์ |
ก็อาศัยท่านสิ้นทุกสิ่งไป |
ความรุ่งเรืองเริงร่าด้วยผาสุก |
แห่งราษฎร์ทุกถิ่นจบสบสมัย |
ก็เพราะท่านมนตรีมีแก่ใจ |
ฝักใฝ่ในราชกิจไม่บิดเบือน |
ความสัตย์ซื่อถือมั่นแห่งท่านสิ้น |
ต่อแผ่นดินต่างดีไม่มีเหมือน |
เราเห็นใจจงรักไม่ชักเชือน |
ในเราเหมือนจิตต์แท้ไม่แปรปรวน |
น้ำจิตต์ท่านบริสุทธิ์ประดุจมาศ |
ธรรมชาตินพคุณพิบุลล้วน |
ปราศจากมลทินสิ้นทั้งมวล |
มีคุณควรบูชาทุกหน้าไป |
“เราให้เชิญท่านมาณครานี้ |
ด้วยคดีเหลือคิดวินิจฉัย |
ลำพังเราเล่าก็แหนงระแวงใจ |
กลัวจะไม่หมดสิ้นคำนินทา |
ท่านผู้มีสามารถฉลาดเลิศ |
เร็วเข้าเถิดช่วยกันขบปัญหา |
อย่าหน่ายแหนงแคลงจิตต์คิดระอา |
เห็นแก่ราชสีมาอีกสักคราว |
“ท่านคงทราบเรื่องหลานเจ้าปาณฑพ |
อพยพจากบุรีเกิดมี่ฉาว |
ไปผูกมิตรปฏิพัทธ์กษัตริย์ชาว |
บัญจาลด้าวแดนผู้ศัตรูเดิม |
จักเป็นเหตุอันตรายณภายหน้า |
แก่อาณาจักรนี้ทวีเสริม |
ท้าวบัญจาลได้หลานเราเพิ่มเติม |
จะเห่อเหิมหักหาญรำบาญเรา |
อันความแตกสามัคคีนี้เป็นต้น |
ให้เกิดผลร้อนใจดังไฟเผา |
จะคิดแก้แปรผันผ่อนบรรเทา |
ให้หมดเค้าเงื่อนภัยฉันใดดี” |
พระทุรโยธน์ลุกยืนอื้นพระโอษฐ์ |
“ประทานโทษข้าเห็นเป็นฉะนี้ |
ติดสินบนพวกมหาเสนาบดี |
แห่งไพรีเพื่อให้ผิดใจกัน |
เมื่อเขาแตกสามัคคีป่นปี้แล้ว |
เราก็แคล้วอันตรายดังหมายมั่น |
นี้อุบายธรรมดาเป็นสามัญ |
ยังอุบายสำคัญนั้นยังมี |
คือใส่ร้ายบ้ายผิดกฤษณา |
ให้หมดท่าแก้ตัวจนผัวหนี |
คงบำราศขาดรักสามัคคี |
ต่อไปนี้เมืองเราจักเบาใจ |
เบื่อยาพิษตัวดีภีมเสน |
อ้ายตัวเวรฮึกฮักคือยักษ์ใหญ่ |
ให้มันตายวายชนม์จักพ้นภัย |
หมดลำบากยากใจเป็นแน่นอน” |
ทุรโยธน์ทรุดนั่งยังพระที่ |
พระกรรณ์ยืนทูลคดีอดิสร |
“ขอเดชะ พระนรินทร์ปิ่นนคร |
ขออุทธรณ์แย้งคำที่รำพัน |
ข้าพระบาทเห็นมีวิธีแก้ |
อย่างเดียวแต่แรงรณพลขันธ์ |
จงโปรดส่งพลไกรไปประจัญ |
อย่าให้ทันศัตรูได้รู้ตน |
เข้ารุกรบไพรีซึ่งมีน้อย |
ให้แตกย่อยยอมแพ้เสียแต่ต้น |
อย่าให้ทันเมืองเพื่อนได้เคลื่อนพล |
มาช่วยรณรุกรบสมทบกัน |
เช่นราชากฤษณะ, คุชราต |
ไม่ทันได้โอกาสเข้ากางกั้น |
ข้าบาทเห็นอย่างนี้แหละดีครัน |
แล้วแต่องค์ทรงธรรม์จะโปรดปราน” |
ต่อนี้ไท้ธฤตราษฎร์ประภาษให้ |
พระภิษม์เฒ่าเจ้าใหญ่ทรงไขขาน |
พระภิษม์จึงทูลชี้คดีการณ์ |
“ขอประทานโทษทูลมูลคดี |
เมื่อมีพระโองการบรรหารให้ |
ข้าบาทไขความเห็นมาเช่นนี้ |
ต้องกราบทูลตามสัตย์อรรถคดี |
ซึ่งบางทีจักแคลงแหนงกมล |
ปาณฑุราชครองรัฐหัสดิน |
ประชาสิ้นรู้แพร่มาแต่ต้น |
ปาณฑุราชล่วงลับดับพระชนม์ |
สมบัติดลบุตรห้าพระภ๎ราดร |
ยุธิษเฐียรควรได้ไอศวรรย์ |
เพื่อสืบสันตติวงศ์พระทรงศร |
ย่อมประจักษ์ทั่วหน้าประชากร |
พระภูธรโปรดจงทรงวิจารณ์ |
แม้พระองค์อาลัยมิให้หมด |
ก็ควรลดกึ่งเท่าให้เจ้าหลาน |
เพื่อพะยุงยุกติธรรมจำประทาน |
ให้จัดการตามคำข้ารำพัน |
แม้ไม่แบ่งปันส่วนหลานควรได้ |
ผูกพระทัยขึ้งเคียดเฝ้าเดียดฉันท์ |
คงเกิดความย่อยยับขึ้นฉับพลัน |
กระหม่อมฉันท้วงทักด้วยภักดี |
ความลโมภเกินไปพาให้ชาติ |
และเหล่าญาติขุ่นข้องได้หมองศรี |
เรื่องบุตรไท้ทุจจริตคิดมิดี |
หวังคลอกพี่น้องให้บรรลัยลาญ |
ข่าวขจายพรายแพร่งทุกแห่งหน |
ประชาชนทราบสิ้นทุกถิ่นฐาน |
ว่าทุรโยธน์หยาบช้าแสนสามานย์ |
เอาไฟผลาญพี่น้องปองสมบัติ” |
พระกรรณยืนขึ้นกล่าวเป็นคราวสอง |
ตอบสนองโวหารพูดค้านคัด |
“คำพระภิษม์เพ้อพร้องเห็นข้องขัด |
ฟังน่าบัดสีหูแก่ผู้คน |
ใจพระภิษม์บิดผันด้วยฉันทะ |
จักษุเซอะเงอะงะอกุศล |
ไม่เห็นทางยุกติธรรมนำกมล |
ให้ดื้อด้นเดาคิดที่ผิดธรรม์ |
คงจะมีโรคภัยอย่างไรแน่ |
มาปรวนแปรปรุงจิตต์ให้บิดผัน |
เป็นหน้าที่ที่ปรึกษาทั่วหน้ากัน |
ช่วยแก้ปัญหาให้ด้วยใจเย็น |
ไม่ควรหวั่นพรั่นในสิ่งใดหมด |
แถลงพจน์ตามการพิจารณ์เห็น |
ผู้พูดเพ้อเผลอพล้ำมักลำเค็ญ |
เพราะว่างเว้นหว่านล้อมโดยพร้อมมูล |
ย่อมทำให้บ้านเมืองได้เคืองแค้น |
ความปึกแผ่นโค่นหักยศศักดิ์ศูนย์” |
โท๎รณพราหมณ์ฟัง ‘กรรณ์’ จึงพลันทูล |
เพราะเห็นมูลเพิ่มให้ผิดใจกัน |
จึงห้ามว่า “หยุดพลันเถิดกรรณ์เอ๋ย ! |
หยุดเฉลยลิ้นลมอันคมสัน |
ลิ้นที่หยิ่งโยโสโอ้จำนรรจ์ |
กระดิกมันเมื่อยเปล่าไม่เข้าการ |
หรือจักให้ราชวงศ์ดำรงราชย์ |
แห่งเราขาดศูนย์สิ้นเพราะลิ้นท่าน |
สิ่งทิ่ทำด้วยปากไม่ยากนาน |
ยากอยู่ที่ทำการให้สมคำ” |
วิทูรพลันค้านพระทุรโยธน์ |
“ประทานโทษข้าขอค้านข้อขำ |
เพราะหน้าที่ข้าพเจ้าเร้าให้ทำ |
เสนอนำแจ้งสิ่งที่จริงใจ |
ผลจะเป็นเช่นไรณภายหลัง |
เหลือกำลังจักคิดวินิจฉัย |
เรื่องนี้จัดตามเห็นให้เป็นไป |
โดยรุนแรงแล้วไซร้, ข้าไตรตรอง |
วงศ์กษัตริย์เรานี้จักปี้ป่น |
ที่สุดจนแผ่นดินสิ้นทั้งผอง |
เหตุฉะนี้น้ำจิตต์ข้าคิดปอง |
ควรปรองดองคืนมีไมตรีเธอ |
ด้วยอุบายตามจิตต์พินิจเห็น |
ควรให้เป็นยุกติธรรมสม่ำเสมอ |
ศานติสุขจักขาดจากญาติเกลอ |
เพราะไม่เอออวยรักสมัครกัน” |
พอสิ้นถ้อยโต้เถียงกันเพียงนี้ |
ภูบดีเห็นจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
จึงมีพระสีหนาทเด็ดขาดพลัน |
ให้เปนอันปรองดองโดยคลองธรรม |
รับพระหลานผ่านซึ่งกึ่งประเทศ |
พระทรงเดชจักชุบอุปถัมภ์ |
ให้หมดความทุกข์ยากที่ตรากตรำ |
ให้ต่างบำรุงรักสามัคคี |
ต่อไปนี้ไม่นานโองการสั่ง |
ให้แต่งตั้งทูตพลันขมันขมี |
คุมบรรณาการไปผูกไมตรี |
กับบุรีบัญจาลรับหลานยา |
เมือเหล่าทูตถึงด่านบัญจารัฐ |
ก็แจ้งอรรถแก่ตัวท่านหัวหน้า |
นายด่านทราบส่งทอดตลอดมา |
จนถึงพาเข้าเฝ้าเจ้าบัญจาล |
ขณะนั้นปาณฑพครบทั้งห้า |
เผ้าราชาธิบดินทร์ปิ่นสถาน |
อยู่ในราชสำนักอัครอุฬาร |
เกษมศานต์สนทนากันร่าเริง |
ท้าวท๎รูบทตรัสถ้อยด้วยพลอยโศก |
“ยุธิษเฐียรเอ๋ย ! โลกนี้ยุ่งเหยิง |
มีวิโยคโศกศัลย์มีบรรเทิง |
อาศัยเพลิงแห่งกิเลสเป็นเหตุการณ์ |
ไม่มีเรื่องแห่งใครในปวัตติ์ |
สารพัตรขุ่นข้องเช่นของท่าน |
อนิจจา ! ญาติชิดกลับคิดพาล |
น่าสงสารท่านนักน่าหนักใจ” |
ยุธิษเฐียรทูลว่า “อานุภาพ |
กับทั้งลาภ,สองนี้กลีใหญ่ |
มันทำพี่กับน้องให้หมองใจ |
มันทำให้พ่อลูกไม่ถูกกัน |
อนึ่ง ทรัพย์, อำนาจ, ชาติผู้หญิง |
ของสามสิ่งนี้ใครเฝ้าใฝ่ฝัน |
ย่อมเสื่อมถอยย่อยยับโดยฉับพลัน |
เพราะว่ามันเป็นมารผลาญประชา” |
ท้าวท๎รุบทฟังคำ ‘ธรรมบุตร’ |
พระพักตร์ผุดผ่องพรรณด้วยหรรษา |
“ข้าเจ้ากล่าวยิงยันให้สัญญา |
ถึงแม้ว่าท่านไซร้ไม่ไยดี |
ในยศศักดิ์ศฤงคารตามท่านแจ้ง |
แต่ควรได้ส่วนแบ่งบุรีศรี |
แม้ไม่แบ่งปันให้ด้วยไมตรี |
พวกเรานี้ช่วยแบ่งด้วยแรงรณ” |
พอประภาษขาดคำมีอำมาตย์ |
บังคมบาททูลเรื่องแต่เบื้องต้น |
เพื่อนำทูตเฝ้าราชบาทยุคล |
พระจุมพลให้หามาข้างใน |
ทูตเข้าไปบังคมบรมบาท |
มีพระราชดำรัสทรงปรัศรัย |
ทูตก็ทูลตอบองค์พระทรงชัย |
ที่สุดได้กราบทูลมูลคดี |
“พระราชาข้าบาทประภาษสั่ง |
ให้ข้าทั้งมวลมาณครานี้ |
เพื่อนำข่าวพระพิพัฒน์สวัสดี |
ซึ่งทรงมีปราโมทย์แสนโปรดปราน |
ทรงทราบความเกี่ยวดองสองประเทศ |
พระทรงเดชห่วงใยในพระหลาน |
พร้อมด้วยองค์เทวีศรีสคราญ |
พระวงศ์วานไพรฟ้าประชากร |
ต่างยินดีเตรียมสรรพรับเสด็จ |
กษัตริย์เจ็ดคืนวังดังแต่ก่อน |
ท้าวท๎รุบททรงฟังดังจะรอน |
เอาพระกรขาดวิ่นเป็นสินไป |
เสียดายเขยปาณฑพครบทั้งห้า |
ทั้งธิดาดวงจิตต์พิสมัย |
ไม่รู้ที่ห้ามปรามต้องตามใจ |
ตัดพระทัยอนุญาตให้คลาดคลา |
ให้เตรียมพลจตุรงค์ส่งเสด็จ |
ให้สรรพเสร็จสมมาดปรารถนา |
เสนามาตย์จัดสรรดังบัญชา |
ต่างคอยท่าเจ้าเจ็ดเสด็จจร |
ฝ่ายปาณฑพภ๎ราดามารดานาถ |
ทั้งพระราชบุตรีศรีสมร |
ขึ้นเฝ้าองค์ภูบดีศรีนคร |
เพื่อลาจรจากด้าวแห่งท้าวไท |
พระราชาราชินีศรีสลด |
แถลงพจน์โอวาทประภาษไป |
อำนวยพรเจ็ดองค์ให้ทรงชัย |
บำราศภัยผาสุกทุกพระองค์ |
แต่พระราชชนนีนารีนาถ |
ทรงวาบหวาดหฤทัยแทบใหลหลง |
พร่ำสั่งสอนเท๎ราปทีศรีอนงค์ |
เพราะเหตุทรงห่วงใยในพระนาง |
แต่นี้เจ้าจำพรากจากชนก |
และจากอกแม่คลาดนิราศร้าง |
จงถือพระภรรดาอย่าระคาง |
เสมือนต่างพระชนกผู้ปกครอง |
จงถือพระแม่ผัวดังตัวแม่ |
จงดูแลปฏิบัติอย่าขัดข้อง |
จงถือธรรมสุจริตจิตต์ประคอง |
เสมอของเครื่องทรงอลงกรณ์ |
อันโอวาทภัสดาเป็นภาระ |
ที่เจ้าจะเชื่อฟังเขาสั่งสอน |
คำติชมบรรดาประชากร |
ให้บังอรเลือกเชื่อที่เนื้อธรรม |
อันว่าการติชมเป็นลมปาก |
แม้เชื่อมากเกินควรชวนถลำ |
ทุกสิ่งในสากลไม่พ้นคำ |
แห่งชนตำนิชี้หาที่ทราม |
ดอกกุหลาบกลิ่นสีเป็นที่รัก |
มีผู้ทักท้วงที่กิ่งมีหนาม |
การถนอมสามัคคีให้ดีงาม |
เป็นยอดความสุขใหญ่ในครอบครัว” |
ถึงเวลาจวนเสด็จเจ็ดกษัตริย์ |
ก็ลาขัตติยวงศ์ทุกองค์ทั่ว |
เสด็จจากโรงคัลคิดพันพัว |
ให้หมองมัวหฤทัยจำไคลคลา |
ขึ้นทรงช้างสัปคับระยับย้อย |
ทหารคอยแห่แหนออกแน่นหนา |
ท๎รุบทราชราชินีทรงลีลา |
พร้อมเสนาอำมาตย์ญาติวงศ์ |
ทั้งประชาชาวราษฎร์ออกดาษดื่น |
ยัดเยียดยืนพร้อมหน้ามุ่งมาส่ง |
ครั้นได้ฤกษ์รีบรัดจัตุรงค์ |
เคลื่อนพลตรงมารัฐหัสดิน |
จากบุรีแรมพักสำนักป่า |
นอกสีมาบัญจาลสถานถิ่น |
ดำเนิรตามมัคคุเทศก์สังเกตชิน |
ข้ามโขดหินหุบผาในป่าดง |
ชมลำเนาเขาไม้ในพนัส |
เป็นขนัดแน่นหนาป่าระหง |
พฤกษชาติสดชุ่มเปนพุ่มพง |
ฝูงนกส่งเสียงแซ่อยู่แจจัน |
เสียงผู้คนช้างม้าที่คลาคลาด |
กัมปนาททั่วไปทั้งไพรสัณฑ์ |
ฝูงสัตว์ป่าแตกตื่นตั้งหมื่นพัน |
แล่นถลันโลดโผนโจนทะยาน |
ฝูงลิงค่างต่างวิ่งบนกิ่งไม้ |
ด้วยตกใจซ่อนซุกอยู่พลุกพล่าน |
ชะนีโหนโยนตนหนีลนลาน |
ตัวบ่างผ่านโผซุ่มตามพุ่มพง |
ดำเนิรพลผ่านมาในป่าชัฏ |
พ้นพนัสแนวไม้ไพรระหง |
ลุหัสดินกรุงไกรดังใจจง |
ทราบถึงองค์บพิตรบิตุลา |
โองการให้เตรียมสรรพรับพระหลาน |
แต่งสถานที่ทางอย่างสง่า |
ปักธงฉัตรเฉิดฉันริมมรรคา |
และตามปราการพร้อมป้อมทวาร |
เหล่าพระญาติและมหาเสนามาตย์ |
ประชาราษฎร์ปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
มาคอยรับรอท่าหน้าพระลาน |
ต่างเบิกบานในกมลทุกคนไป |
เมื่อปาณฑพภ๎ราดาเธอมาถึง |
อึงคะนึงนี่นันสนั่นไหว |
ด้วยสำเนียงราษฎรอวยพรชัย |
หมอช้างไสช้างประทับเทียบกับเกย |
ต่างลงจากช้างทรงอลงกต |
งามพระยศโอ่อ่าดูผ่าเผย |
เสียงประชาปรารมภ์แต่ชมเชย |
จนล่วงเลยครรไลเข้าในวัง |
อำมาตย์ใหญ่ต้อนรับคำนับน้อม |
นำครรไลแวดล้อมอยู่พร้อมพรั่ง |
ผ่านผู้คนเรื่อยมาดาประดัง |
จนเข้ายังโรงคัลพรรณราย |
พระราชายุรยาตรจากอาสน์รัตน์ |
มาจงหัตถ์หลานขวัญให้ผันผาย |
พระเทพีศรีนาฏทรงยาตรกราย |
จูงสองนางย่างย้ายเสด็จจร |
พระราชาส้วมสอดกอดพระหลาน |
ทั้งห้ากรานกราบองค์พระทรงศร |
มีพระราชโองการประทานพร |
ให้ภ๎ราดรหลานไท้ด้วยไมตรี |
สมเด็จไท้เทพีกุนตีนาถ |
นำพระราชสุณิสามารศรี |
บังคมบาทราชาราชินี |
สองไท้มีพจนารถประสาทพร |
พระญาติหญิงยินดีศรีสะใภ้ |
ต่างปราศรัยรับรองสองสมร |
ในพระยศยอดชั้นฐานันดร |
ร่วมอาสน์องค์บังอรราชินี |
ธฤตราษฎร์ทรงธรรม์ตรัสบรรหาร |
เพื่อสมานมัวหมองแห่งน้องพี่ |
ซึ่งอาฆาตแค้นใจเป็นไพรี |
ให้ตั้งหน้าปราณีประนอมกัน |
จึงตรัสแก่ทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร |
“ลุงนี้เพียรผูกรักสมัครมั่น |
เพื่อไมตรีหลานลูกได้ผูกพัน |
สนิทฉันก่อนเก่าให้เนานาน |
ลุงหวังให้วงศ์เราคือเการพ |
กับปาณฑพพี่น้องปองสมาน |
ผูกสมัครรักกันนิรันดร์กาล |
ให้พระหลานครองซึ่งกึ่งสีมา |
หลานจงตั้งกรุงใหม่ในจังหวัด |
‘ปาณฑพปรัสถ์’ หรือที่ไหนตามใจหา |
ตั้งเป็นเมืองพี่น้องสองภารา |
เพื่อรักษาเกียรติคุณสกุลวงศ์ |
ต่อนี้ไปหัสดินบูรินทร์รัฐ |
ก็ได้จัดแบ่งตามความประสงค์ |
ยุธิษเฐียรได้รัฐอัสดง |
เป็นป่าพงว้าเหว่ทะเลทราย |
ตะวันออกของพระทุรโยธน์ |
ธัญญโภชชาหารตระการหลาย |
มีบ้านเมืองคับคั่งตั้งกระจาย |
กันเรียงรายเรื่อยไปไม่กันดาร |