- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
คำนำ
หนังสือ สงครามภารต คำกลอน นี้ ข้าพเจ้าแต่งด้วยประสงค์อะไรมีแจ้งอยู่ในคำปรารภเรื่องนี้ต่อไปแล้ว ในที่นี้จะขอกล่าวเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า เมื่อได้แต่งหนังสือนี้เสร็จแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ก็ได้นำเสนอราชบัณฑิตยสภา เพื่อจะได้รับพระราชทานรางวัลบ้าง แต่ก็เป็นเคราะห์ร้าย เพราะในศกนั้น ไม่มีผู้ใดได้รับพระราชทานรางวัลเลย จึงตั้งใจไว้ว่าจะพิมพ์หนังสือนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลปัจจุบันนี้ ในข้อที่ว่า มหาภารตยุทธ์ คำกลอน นี้ ได้บังเกิดขึ้นในรัชชกาลของพระองค์ ในโอกาสอันสมควรต่อไป
ต่อมาได้ทราบข่าวว่าโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองกรุงเทพ ฯ ครบ ๑๕๐ ปีจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะยิ่งนัก เพราะเรื่องรามเกียรติ์ อุบัติเมื่อรัชชกาลที่ ๑ เรื่องของข้าพเจ้านี้ ถึงแม้ว่าเป็นเรืองเล็กน้อยไม่ควรจะเปรียบเทียบกันก็จริง แต่ต้องการเพียงให้มีขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเท่านั้น ตามที่ชี้แจงไว้ในคำปรารภนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ไปตกลงทำสัญญากับโรงพิมพ์ศรีหงส์ให้จัดการพิมพ์ขึ้นจำหน่าย ให้ทันงานพระราชพิธีนั้น
เผอิญในระหว่างที่จัดการพิมพ์อยู่นี้, ท่าน น. ร. จะคิดเห็นประโยชน์เช่นเดียวกับข้าพเจ้าหรืออย่างไรไม่ทราบ ท่านได้พิมพ์เรื่องนี้เป็นคำกลอนขึ้นบ้างเหมือนกัน แต่พิมพ์จำหน่ายเป็นเล่มเล็ก ๆ ซ้ำให้ชื่อเหมือนกันเสียด้วย ทั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องชะงัก (ซึ่งเป็นเหตุให้หนังสือออกล่าช้าไปกว่าเวลาที่กำหนดไว้) ต่อเมื่อได้พิจารณาคำกลอนของท่าน น. ร. (ตอนต้น ๆ ที่กำลังออกอยู่) จึงเห็นได้ว่าต่างกันกับคำกลอนของข้าพเจ้ามากทีเดียว คือ คำกลอนของท่าน น. ร. ท่านแต่งตามสำนวนร้อยแก้วฉะบับเดิมของท่านโดยมาก แต่ฉะบับของข้าพเจ้าได้รวบรวมตามความรู้ความเห็นเพิ่มเติมอีกมาก ทั้งสำนวนโวหารที่แต่งก็ต่างกันไปคนละทาง หวังว่าท่านผู้อ่านหนังสือทั้งสองฉะบับนี้ จักไม่รู้สึกว่าซ้ำกันเลย จึงได้ตกลงกับโรงพิมพ์ว่าควรจะพิมพ์ต่อไปจนสำเร็จ แต่ข้าพเจ้าขอให้ชื่อหนังสือของข้าพเจ้าเสียใหม่ว่า “สงครามภารต คำกลอน ของพระยาอุปกิตศิลปสาร” เพื่อกันความเข้าใจผิดของผู้ต้องการ.
พระยาอุปกิตศิลปสาร
วันที่ ๑๓ เมษายน ศก ๒๔๗๕