- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
เสร็จสำนวนคำประณามตามขนบ | เสร็จปรารภกรณีย์ชี้เฉลย |
ขอจับบทบรรยายภิปรายเปรย | เพื่อสังเวยโสตเสริมเพิ่มสราญ |
สมัยก่อนพุทธุปบาทศาสนา | ในแหล่งหล้าชมพูอินดูสถาน |
ในภาคแคว้นแดนอุตดรแต่ก่อนกาล | เป็นถิ่นฐานกุรุรัฐพิพัฒน์พูน |
มีกรุงไกรไพศาลอุฬารล้ำ | เป็นราชสำนักปิ่นบดินทร์สูร |
นามนครหัสดินถิ่นพิบูล | อันจรูญรุ่งเรืองดังเมืองแมน |
มีมหาปราสาทราชฐาน | มีโรงธารข้าเจ้าเข้าเฝ้าแหน |
มียอดเด่นเห็นไปได้ไกลแดน | ดูงามแม้นตำหนักมัฆวาน |
กำแพงวังตั้งล้อมป้อมประดับ | ประตูสับแซงป้อมพร้อมทหาร |
มีสวนหลวงช่วงโชติวโนทยาน | อันตระการพฤกษชาติดาษดา |
มีโรงม้าโรงรถคชสาร | โรงทหารแหนวังตั้งรักษา |
โรงอาวุธยุทธพัสดุ์และศัสตรา | คลังมหาสมบัติชัชวาล |
ริมถนนใหญ่น้อยซอยสลับ | ล้วนคั่งคับคฤหาสน์นิวาสฐาน |
ท้องถนนคนกลาดไม่ขาดกาล | เสียงประสานแซ่อยู่มิรู้วาย |
กำแพงกั้นชั้นนอกดังคอกเพ็ชร์ | เป็นที่เข็ดขามหมู่ศัตรูหลาย |
ตั้งป้อมใหญ่ได้ระยะจังหวะราย | มีคูภายนอกกว้างเป็นทางชล |
ประตูเมืองมั่นคงตรงวิถี | สะพานมีข้ามคูอยู่ทกหน |
มีเรือกสวนไร่นาประชาชน | ตั้งอยู่กล่นเกลื่อนรอบขอบนคร |
อุตดมแดนแน่นหนาประชาราษฎร์ | ผลโอภาสภีย์โยสโมสร |
ศิลปศาสตร์วิทยาสถาพร | ข่าวขจรลือชาทั่วธาตรี |
องค์พระจอมหัสดินบุรินทร์ราช | กษัตริย์ชาติจันทรวงศ์ผู้ทรงศรี |
นามพระเจ้า ‘ศานดนู’ ภูบดี | ครองบุรีรุ่งเรืองกระเดื่องดิน |
เชื้อพระเจ้า ‘ภรต’ ยศมหันต์ | โอรสท้าว ‘ทุษยันต์’ อันเรืองศิลป์ |
กับนาง ‘สกุนตลา’ พระนารินทร์ | พระเกียรติ์ภิญโญใหญ่ในบุราณ |
สืบกษัตริย์หัสดินปิ่นประเทศ | ถึงภูเบศ ‘ศานดนู’ ผู้พิศาล |
ด้วยพระราชจรรยาสมาจาร | ตามโบราณจารีตอดีตมา |
ยิ่งพระญาณเยี่ยมยอดคอยสอดส่อง | ทุกข์สุขผองราษฎร์แจ้งทุกแหล่งหล้า |
พระการุณย์ร่มเกล้าชาวประชา | ดังบิดาคุ้มครองผองดนัย |
มิตรพระองค์จงรักสมัครมั่น | บูชาฉันเทวดามหาศัย |
ไพรีราบหลาบท้อไม่ก่อภัย | พระเกียรติไกรเกริกหล้าทั่วสากล |
พระทัยท้าวน้าวธรรม์เป็นบรรทัด | ปฏิบัติราชการอุฬารผล |
ไม่ถือองค์ทรงยึดประพฤติตน | เป็นเยี่ยงยลยุกติธรรมส่ำประชา |
สำนักท้าวข่าวคุณพิบุลเลิศ | ประชาเชิดบูชิตทุกทิศา |
สิ้นศัตรูดูหมิ่นและนินทา | พระเดชกล้ากลัวแกลนทุกแดนดิน |
ประชาราษฎร์ร่มเย็นอยู่เป็นนิตย์ | ประกอบกิจเกื้อกูลประมูลสิน |
ทำเรือกสวนไร่นาต่างหากิน | เจริญศิลปกิจวิทยา |
เจริญผลพาณิชย์พิพิธสรรพ์ | เจริญธรรม์มรรยาทศาสนา |
เจริญทรัพย์นับพ้นคณนา | เจริญผาสุกชาติบำราศภัย |
เจริญราชกวีศรีประเทศ | เจริญเนติบัณฑิตวินิจฉัย |
นับถือธรรม์มั่นคงเป็นธงชัย | นับถือในข้อปรึกษาสมาคม |
เจริญสามัคคีทวีวัฒน์ | สกลรัฏฐ์ราบรื่นไม่ขื่นขม |
ด้วยพิบัติขัดข้องหมองอารมณ์ | ต่างชื่นชมพระมหาบารมี |
พระจอมปราณศานดนูดำรูชาติ | เถลิงราชย์จิรกาลพิศาลศรี |
ยืนพระชนม์จนชราเข้ายายี | ภูบดีดับขันธ์สวรรคต |
จึง ‘วิจิตรวีรัย’ |
ผู้ทายาทยศยงอลงกต |
ขึ้นครองราชย์สืบวงศ์ดำรงยศ | ตามแบบบทอัยยการบูราณมา |
ไม่ช้าองค์ทรงธรรม์สวรรคต | ในกำหนดเร็วพลันชัณษา |
ยังไม่ถึงซึ่งวัยใกล้ชรา | ปวงประชาราษฎร์เศร้าเปล่าฤทัย |
พระมีสองราชบุตรบรุษรัตน์ | เพื่อสืบขัตติยวงศ์ทรงพิสัย |
พระพี่นาม ‘ธฤตราษฎร์’ ผู้นาศนัยน์ | เป็นเคราะห์ไท้ทรงบอดแต่คลอดมา |
เหลือพระน้องนามขนาน ‘ปาณฑุ |
มวลอมาตย์มนตร์ที่ปรึกษา |
ยกพระองค์ทรงราชย์นาถประชา | ครองสีมามิ่งรัฏฐ์หัสดิน |
รัชชกาลปาณฑุราชพิลาสเลิศ | ด้วยผลเพริศพร้อมสุขทั่วทุกถิ่น |
พอพระเกียรติรุ่งเรืองดังเมืองอินทร์ | ก็พอสิ้นวาสนาประชาชน |
ไม่ช้านานดาลให้พระทัยท้าว | ทรงหน่วงน้าวน้อมข้างทางกุศล |
เพื่ออยู่ป่าหาช่องครองพระชนม์ | ด้วยวิเวกหวังผลกุศลธรรม์ |
น้อมพระทัยไตรตรึกไม่ปรึกษา | เพราะเกรงข้าบาทบงสุ์ไม่ปลงฉันท์ |
รำพึงอยู่อย่างนี้ทุกวี่วัน | ไม่เป็นอันเบิกบานดาลฤดี |
ที่สุดทรงเบื่อหน่ายคลายพระสุข | อันปลอบปลุกปลื้มเปรมเกษมศรี |
ฟังสำเนียงกาหลเครื่องดนตรี | เสียงนารีขับกล่อมล้อมบัลลังก์ |
เหมือนเสียงซ้องร้องไห้พระทัยกลุ้ม | ให้ร้อนรุ่มเร่งสิ้นถวิลหวัง |
ซึ่งสุขราชสมบัติจังหวัดวัง | ยิ่งทรงสังเวชพ้นจะทนทาน |
จึงพาพระมหิษีออกลี้หลบ | อพยพอยู่ในไพรพิศาล |
ตั้งสำนักอยู่ในไพรพนานตร์ | ทรงสำราญรมย์รื่นทุกคืนวัน |
ครั้นนานมาราชันสวรรคต | มีโอรสห้าองค์วงศ์สวรรค์ |
ดิลกลักษณ์เลิศศรีฉวีวรรณ | เพราะเทพอันทรงฤทธิ์เป็นบิดา |
เพราะปาณฑุถูกศาปพระลาภขาด | ห้ามสมพาสลาเพเสน่หา |
จึงให้สองมหิษีมีสมญา | ที่หนึ่งว่า ‘กูนตี’ ศรีอนงค์ |
ที่สองนาม ‘มัทรี’ ศรีพิสุทธิ์ | ต่างขอบุตรเทพตามความประสงค์ |
นางจึงมีโอรสยศยง | เกิดจากองค์เทพไทผู้ไกรเกียรติ์ |
นางกุนตีมีบุตรบุรุษสาม | ที่หนึ่งนามบพิตร ‘ยุธิษเฐียร’ |
บุตรพระ ‘ยม’ ยรรยงคงแก่เรียน | เป็นจอมเธียรเสิศล้ำธรรมบาล |
ที่สองพระ ‘ภิมเสน’ นั้นเป็นบุตร | พระมารุตเรี่ยวแรงกำแหงหาญ |
โทษะร้ายกายใหญ่ไม่สคราญ | ที่สามชาญเชี่ยวยุทธ์บุตรพระอินทร์ |
มีนามว่า ‘อรชุน’ พิบุลลักษณ์ | เป็นยอดนักรบรู้ธนูศิลป์ |
อีกบุตรนางมัทรีศรียุพินทร์ | เทพอัศวินแฝดคู่ผู้บิดา |
คือ ‘นกูล’ เชี่ยวชาญชำนาญอัศว์ | ได้ฝึกหัดคล่องแคล่วทรงแกล้วกล้า |
‘สหเทพ’ ชำนาญการโหรา | เป็นบุตรฝาแฝดกันฉันบิดร |
ทั้งห้านี้ปาณฑุราชสวาทหวัง | รับเลี้ยงดังบุตรองค์พระทรงศร |
จึงเรียกขาน ‘ปาณฑพ’ จบขจร | กำหนดตามนามกรพระทรงชัย |
เวลาองค์ทรงธรรม์สวรรคต | ทั้งโอรสร่วมจิตต์พิสมัย |
ทั้งห้าองค์ทรงอ่อนยังหย่อนวัย | เนาณไพรหิมพานต์กับมารดา |
ไม่ช้าข่าวทรงธรรม์สวรรคต | ก็ปรากฏกำจรกระฉ่อนหล้า |
ทราบถึงไท้ธฤตราษฎร์นาถประชา | ผู้เชษฐาธิบดีที่นคร |
พร้อมด้วยประยูรญาติอำมาตย์มุข | ระทมทุกข์ท่วมจิตต์ดังพิษศร |
ตลอดจนไพร่ฟ้าประชากร | ในนครหัสดินสิ้นทั้งมวล |
สวมเครื่องทุกข์ทั่วไปฤทัยโศก | ดังวิโยคญาติตนก่นกำสรวล |
บางพวกเพ้อพูดพร่ำด้วยคร่ำครวญ | บางพวกกล่าวท้าวมิควรไปอรัญ |
บ้างว่าดวงชาตาพาราอับ | พระจึงลับหลีกไปเข้าไพรสัณฑ์ |
บ้างว่าพระอยู่ไพรยังใกล้กัน | นี่กระไรไปสวรรค์นับวันไกล |
พระญาติพร้อมเสนาพฤฒามาตย์ | กับทั้งราชบริพารทหารไพร่ |
ยกพหลพลนิกรสัญจรไป | ยังตำหนักภูวไนยไพรพนม |
อัญเชิญพระมหิษีนารีนาถ | กับพระราชบุตรห้าจากอาศรม |
คืนนครหัสดินบุรีนทร์รมย์ | โดยนิยมยศอย่างนางพระยา |
พระภูธรธฤตราษฎร์ประสาทให้ | พระนางไท้ทั้งกุมารพระหลานห้า |
ประทับในราชวังเช่นหลังมา | ทรงเมตตาชุบเลี้ยงโดยเที่ยงธรรม์ |
แต่เพราะพระภูบาลพิการเนตร์ | ต้องครองเขตต์แคว้นใหญ่ไอศวรรย์ |
มาสิ้นพระน้องยาผู้ราชัน | หมดที่ผันผัดผ่อนเช่นก่อนมา |
จึงทรงจัดคัดผู้ประยูรญาติ | พฤฒามาตย์มนตรีที่ปรึกษา |
ให้ประชุมว่าขานการพารา | เป็นสภาต่างองค์พระทรงชัย |
ฝ่ายห้าหลานผู้เยาว์เจ้าปาณฑพ | พระทรงภพเอื้อเฟื้อเป็นเนื้อไข |
พระทุรโยธน์ยิ่งยศโอรสไท | อีกดนัยลูกเธอเสมอกัน |
ทรงอบรมพระกุมารทั้งหลานบุตร | ให้เพิ่มพุฑฒิ์ปรีชากล้าขยัน |
ในศิลปศาสตร์วิทยาแห่งราชัน | มอบให้บัณฑิตผู้พระครูพราหมณ์ |
ชื่อ ‘โท๎รณะ’ อาจารย์ชาญฉลาด | ผู้เปรื่องปราชญ์ราชเนติและเวทสาม |
ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญการสงคราม | พยายามสอนสั่งด้วยตั้งใจ |
ฝ่ายกุมารหลานยาห้าปาณฑพ | ค่อยเคารพครูบาอัชฌาสัย |
เจียมพระองค์ทรงกำพร้าบิดาไท | เอาใจใส่ศึกษาวิชชาการ |
ค่อยฝากองค์ทรงถ่อมถนอมอาตม์ | หมู่อมาตย์ญาติวงศ์คิดสงสาร |
แม้ท่านพราหมณ์โท๎รณะพระอาจารย์ | ก็ชูชุบอุปการด้วยการุณย์ |
จนพระวัยใหญ่กล้าทั้งห้าเจ้า | พระรูปเพราพริ้งเพริศประเสริฐสุนทร์ |
สูงระหงทรงกลมสมสกุล | พร้อมด้วยคุณสมบัติกษัตริย์ชาย |
พระมรรยาทอ่อนโยนละโอนจิตต์ | นาครคิดภักดีทวีหลาย |
ประชาราษฎร์ทั่วไปทั้งไพร่นาย | ต่างมุ่งหมายพึ่งร่มพระสมภาร |
ด้วยหวังไท้ทั้งห้าเป็นทายาท | ปาณฑุราชสืบศักดิ์อัครฐาน |
นิยมพระภ๎ราดาห้ากุมาร | เสมอปาณฑุนริศร์พระบิดา |
พระทุรโยธน์พร้อมหมดโอรสนาถ | ธฤตราษฎร์ร่วมจิตต์ริษยา |
ในห้าเจ้าเหล่าอนุชบุตรพระอา | เหตุประชาชนชมนิยมเธอ |
ฝ่ายปาณฑพภ๎ราดาทั้งห้าเจ้า | อุตส่าห์เฝ้าใฝ่เรียนเพียรเสมอ |
เพลงอาวุธยุทธศาสตร์พิลาสเลอ | ยิ่งเผยอยศเฟื่องกระเดื่องดิน |
โท๎รณพราหมณ์อาจารย์ชาญฉลาด | สอนพระราชกุมารชำนาญสิ้น |
ให้ร่ำเรียนวิทยาเปนอาจิณ | ผูกหัดศิลปศาสตร์ไม่ขาดวัน |
หัดใช้ม้าใช้รถคชพ่าห์ | เพลงศัสตราโตมรศรพระขรรค์ |
ทวนดาพง้าวหลาวครบรบประจัญ | เพลงมวยปล้ำส่ำสรรพ์วิธีรณ |
เป็นส่วนหนึ่งในศาสตร์ราชวัตร | ซึ่งกษัตรย์ทั้งหลายต้องขวายขวน |
จ้าวปาณฑพฝึกหัดสันทัดจน | ประชาชนชมเชิดว่าเลิศชาย |
ฝ่ายโท๎รณะอาจารย์เห็นปาณฑพ | ฝึกการรบว่องไวดังใจหมาย |
แกภูมิใจใฝ่ฝันบรรยาย | อวดเจ้านายไพร่ฟ้าประชากร |
ด้วยพันผูกปลูกฝังตั้งประสงค์ | คิดตกลงกับพระ ‘ภิษม์’ นริสสร |
โอรสองค์ศานดนูพระภูธร | พระมารดรแห่งพระองค์ชื่อ ‘คงคา’ |
เป็นอาองค์ธฤตราษฎร์เป็นญาติใหญ่ | หัวหน้าในมนตรีที่ปรึกษา |
ทรงมั่นหมายพระกุมารผู้หลานยา | เมื่อใหญ่กล้าเชี่ยวชาญการประจัญ |
เป็นกำลังรอนราญ ‘ปัญจาลรัฐ’ | ‘ท๎รุบท’ ขัตติยวงศ์ดำรงขัณฑ์ |
ซึ่งเป็นเมืองมุ่งมาดอาฆาตกัน | กับราชันชาวรัฐหัสดิน |
ไม่ช้านานปาณฑพครบทั้งห้า | ต่างแกล้วกล้าการยุทธ์วุฒิศิลป์ |
โท๎รณะพราหมณ์ชื่นชมนิยมยิน | ปราณีสิ้นทั้งห้าพระภ๎ราดร |
อรชุนเชิดหน้ากว่าทั้งผอง | ด้วยช่ำชองความรู้ธนศร |
อุตส่าห์เรียนวิทยาสถาพร | มรรยาทอ่อนโยนยิ่งมิ่งกุมาร |
ทั้งว่านอนสอนง่ายไม่หน่ายหนี | ทำให้มีเมตตาน่าสงสาร |
ย่อมเป็นที่เสน่หาแห่งอาจารย์ | จนกุมารทุรโยธน์ยังโกรธเคือง |
ทวีความริษยาห้าปาณฑพ | ในเชิงรบฝีมือซึ่งลือเลือง |
ยิ่งเห็นเจ้าอรชุนจรูญเรือง | ด้วยคุณเฟื่องฟุ้งเลิศยิ่งเกิดชัง |
เมื่อผองศิษย์ศึกษาวิชชาครบ | ทั้งเพลงรบเสร็จสมนิยมหวัง |
จึงเริ่มการสำแดงแข่งกำลัง | นักเรียนทั้งกรุงไกรไปประลอง |
ปลูกพลับพลาหน้าฉานพระลานหลวง | ประดับพวงบุปผชาติสะอาดอ่อง |
ปะรำรายซ้ายขวาพลับพลาทอง | ธงทิวผ่องผุดผาดสะอาดตา |
สนามตั้งข้างหน้าพลับพลาราช | เพดานดาดกันแดดซึ่งแผดกล้า |
มีรั้วรอบขอบสนามห้ามประชา | ไม่ให้มาพลุกพล่านณย่านกลาง |
ถึงกำหนดวันกีฬา,ประชาราษฎร์ | ก็เกลื่อนกลาดกันมาแต่ฟ้าสาง |
ล้อมสนามหลามล้นปิดหนทาง | เจ้าขุนนางเฝ้าแหนแน่นปะรำ |
ได้เวลาธฤตราษฎร์พระบาทไท้ | เสด็จในพลับพลาสง่าล้ำ |
มหิษีเคียงองค์คงประจำ | ทูลถ้อยคำต่างเนตรในเหตุการณ์ |
ฝ่ายท่านพราหมณ์โท๎รณะกับพระภิษม์ | อำนวยกิจกีฬาอยู่หน้าฉาน |
ทูลถวายรายนามกรรมการ | แล้วทูลขานชื่อผู้คู่ประจัญ |
ถึงกำหนดปล่อยผู้เป็นคู่ต้น | ประชาชนอื้ออึงคะนึงลั่น |
ข้างฝ่ายไหนได้ท่าท้าพะนัน | มีรางวัลแก่ผู้สู้ชะนะ |
คู่ต้นเสร็จปล่อยผู้คู่ที่สอง | ที่สามรองเรียงตั้งเป็นจังหวะ |
สี่ห้าหกเจ็ดไปไว้ระยะ | ชั่วขณะตามควรขะบวนการ |
ถึงคู่ เจ้าภีมะ ทุรโยธน์ | เสียงอุทโฆษกึกก้องซ้องประสาน |
แข่งมวยปล้ำช่ำชองสองกุมาร | ต่างชำนาญยอดเยี่ยมทัดเทียมกัน |
ทุรโยธน์ว่องไวกำไรกว่า | ภิมะช้าแต่แรงแข็งขยัน |
ถูกกินเปล่าปับๆ รับไม่ทัน | ไม่ไหวหวั่นแต่สักน้อยเหมือนต่อยตอ |
เหวี่ยงเข้าไปแต่ละทีเหมือนผีทุ่ม | เป็นอันคุ้มกันได้ต่างไม่ย่อ |
กลายเป็นคู่ปรปักษ์คิดหักคอ | เพราะต่างก่อโทษะไม่ละลด |
กระหายเลือดเดือดดาลทะยานจิตต์ | ต่างไม่คิดย่อท้อทระหด |
จนมีพระโองการบรรหารงด | จึงจำถดถอยพรากออกจากกัน |
พระทุระโยธน์โกรธอยู่ไม่รู้หาย | คิดปองร้ายภ๎ราดาทั้งห้านั้น |
เขาตัดสินสองเธอเสมอกัน | แล้วแข่งขันคู่ใหม่มิได้รอ |
เจ้าปาณฑพโชคดีไม่มีแพ้ | มีแต่แซ่เสียงลั่นพะนันต่อ |
สนั่นเสียงสรรเสริญกล่าวเยินยอ | ได้ชมพอใจตัวทั่วด้วยกัน |
ยังเหลือองค์อรชุนอยู่รุ่นท้าย | ตกตอนบ่ายมีผู้เป็นคู่ขัน |
กับคนมีฝีมือชื่อว่า ‘กรรณ’ | เป็นชนชั้นต่ำชาติราษฎร |
พระกรรณ์นี้ที่จริงเธอยิ่งยศ | เปนโอรสพระอาทิตย์อดิสสร |
นางกุนตีนงคราญเป็นมารดร | ร่วมอุทรกับพระอรชุน |
พระอาทิตย์ชิดชมภิรมย์รัก | กับนงลักษณ์เมื่อครั้งกำลังรุ่น |
นางทรงครรภ์อายเหล่าเผ่าสกุล | ด้วยการุญพระอาทิตย์ช่วยปิดการณ์ |
พอคลอดบุตรคืนร่างเป็นนางสาว | กันอื้อฉาวทิ้งบุตรสุดสงสาร |
สารถีทุรโยธน์ผู้โปรดปราน | เก็บกุมารมาได้ให้ภรรยา |
ต่างเลี้ยงดูดังบุตรสุดที่รัก | ตั้งจิตต์ฝักใฝ่ฝึกการศึกษา |
ยุทธวิธีฝีมือเลื่องลือชา | แต่ไม่ปรากฏเหล่าเป็นเผ่าใคร |
เรื่องนี้พระภิษม์ผู้รู้ละเอียด | แต่กู้เกียรตินงคราญหลานสะใภ้ |
ไม่เฉลยเผยแผ่แก่ผู้ใด | จึงเข้าใจว่าพระกรรณสามัญชน |
ผู้แข่งขันคู่นี้ดีทั้งสอง | เข้าประลองรบรับอยู่สับสน |
ต่างประเปรียวเชี่ยวชาญในการรณ | ประชาชนซร้องซ่าสาธุการ |
สองฝีมือเทียมกันขันชะนะ | ไม่ลดละออมแรงกำแหงหาญ |
เป็นหลายอันขันเข้าเฝ้ารำบาญ | ไม่ล้มลาญล่าแพ้ลงแก่กัน |
กรรมการชี้ให้ได้เสมอ | ยกเป็นเลอเลิศแห่งผู้แข่งขัน |
พอสิ้นงานการกีฬาก็สายัณห์ | ต่างแซ่สรรเสริญห้าพระภราดร |
พระทุรโยธน์ยิ่งคิดริษยา | ในน้องห้าพระกุมารชาญสมร |
เห็นฝีมือพระกรรณประชันกร | ไม่ย่อหย่อนยั่นท้ออรชุน |
พอพระทัยให้หาเข้ามาเฝ้า | ตรัสโลมเล้าเอื้อเฟื้อทรงเกื้อหนุน |
และชุบเลี้ยงต่อมาด้วยการุญ | ยกย่องคุณยศศักดิ์อัครอุฬาร |
จนได้เป็นราชาอาณาเขตต์ | แห่งประเทศอังคราษฎร์ผู้อาจหาญ |
เป็นนักรบเรืองพลรณชาญ | พระทุรโยธน์โปรดปรานเปรียบกมล |
แสนสงสารปาณฑพครบทั้งห้า | ผู้กำพร้าปิตุราชอนาถล้น |
ได้พึ่งพักพระเจ้าลุงผะดุงตน | ได้ฝึกฝนศึกษาวิชชาการ |
พอสำเร็จเสร็จสมอารมณ์หวัง | มีผู้ตั้งริษยาน่าสงสาร |
คือพี่เธอทุรโยธน์ไม่โปรดปราน | คอยรังควานคิดร้ายมิวายวัน |
ตะคอกขู่หลู่ลบสบประมาท | ทั้งประภาษพ้อเพ้ยทั้งเย้ยหยัน |
ทั้งแสดงกิริยาสารพัน | ดูถูกฉันข้าทาสอนาถใจ |
ทุกแห่งหนกนแต่รับอัปยศ | แสนระทดแสนเทวษน้ำเนตรไหล |
ด้วยเจียมองค์ออมอดสะกดใจ | ทราบถึงไทธฤตราษฎร์นาถประชา |
ทรงสั่งสอนโอรสหมดทุกอย่าง | เพื่อให้จางจากจิตต์ริษยา |
ให้ปรุงเปรมปรองดองกับน้องยา | แต่สุดสามารถองค์พระทรงธรรม์ |
ด้วยพระราชปรีชามหากษัตริย์ | เพื่อบำบัดขึ้งเคียดด้วยเดียดฉันท์ |
ย้ายสถานหลานไท้ให้ไกลกัน | อยู่เขตต์อันชื่อ ‘วารณาวัต’ |
เป็นโอกาสให้พระทุรโยธน์ | ผู้รุ่งโรจน์ริษยาแสนสาหัส |
รับอาสาสร้างราชปราสาทรัตน์ | ให้กษัตริย์น้องยาห้ากุมาร |
บัญชาใช้นายช่างเป็นทางลับ | ให้ปรุงปรับปราสาทราชฐาน |
ใช้ขี้ผึ้งชันฉาบอาบกะดาน | ล้วนตระการก่อเกื้อเชื้ออัคคี |
ล่ามชะนวนล้วนชันน้ำมันชุ่ม | ประดิษฐ์สุ้มซ้อนซับอย่างลับลี้ |
จุดชะนวนเมื่อใดไหม้ทันที | เพราะว่ามีเชื้อไฟไว้ทั้งวัง |
เพื่อเผาผลาญปาณฑพครบทั้งห้า | เมื่อเวลาพร้อมสรรพมายับยั้ง |
ให้ข่าวเฟื่องเลื่องลือระบือดัง | ว่าเพลิงสังหารห้าภ๎ราดาหมด |
ยังมีท่านมนตรีที่ปรึกษา | มีนามว่า ‘วิทูร’ พิบูลยศ |
ทราบรหัสเหตุกาลดาลสลด | คิดระทดท้อใจในอธรรม์ |
จึงนำข่าวเล่าขานแก่ปาณฑพ | เพื่อหลีกหลบอันตรายร้ายมหันต์ |
ให้มีท่าหาช่องคิดป้องกัน | ต่อภยันต์อย่างบัดสีแห่งพี่ยา |
เจ้าปาณฑพฟังสิ้นระบิลเรื่อง | จึงคิดเปลื้องอันตรายณภายหน้า |
ให้ช่างขุดท่อใหญ่เพื่อไคลคลา | ออกจากปราสาทใหม่ทางใต้ดิน |
ทั้งนี้ปิดเหตุผลที่ตนสร้าง | ด้วยบนช่างผู้โลภละโมภสิน |
ครั้นเสร็จสร้างวังใหม่ด้วยใจจินต์ | สมถวิลทุรโยธน์โหดสันดาน |
ขึ้นกราบทูลทรงฤทธิ์บิตุราช | ทรงประสาทโสมนัสตรัสบรรหาร |
ให้หาฤกษ์เริ่มมีวิธีการ | แปรสถานหลานยาทั้งห้าองค์ |
มีแห่แหนแน่นหนา, ประชาราษฎร์ | และอำมาตย์เสนาตามมาส่ง |
สมเด็จท้าวธฤตราษฎร์ญาติวงศ์ | ต่างก็ทรงมาช่วยอำนวยพร |
ให้กษัตริย์ห้าองค์ทรงสวัสดิ์ | อยู่วังรัตน์ภีย์โยสโมสร |
พร้อมด้วยนางนงคราญพระมารดร | แล้วต่างจรกลับเขตต์นิเวศน์ตน |
แสนสงสารปาณฑพครบทั้งห้า | กับมารดาดาลจิตต์คิดฉงน |
ด้วยวิทูรมนตรีชี้ยุบล | ว่ามีกลควรตั้งระวังภัย |
ต่างตรองตรึกปรึกษาทั้งห้าเจ้า | แสนกำเดาเดือดแดคอยแก้ไข |
ไม่มียามเว้นว่างวางพระทัย | เพราะเกรงภัยดังแถลงแห่งวิทูร |
ราตรีหนึ่งถึงครากาลปักษ์ | อัปลักษณ์ทุรทินพอสิ้นสูรย์ |
ยิ่งมืดคลุ้มเข้าทุกทีทวีคูณ | แสงจรูญดาราก็ซาทราม |
ด้วยมีหมอกมืดมัวไปทั่วทิศ | ขึ้นปกปิดหาวหนออกล้นหลาม |
ประชากรนอนสิ้นทุกถิ่นคาม | ล่วงสามยามเย็นเยียบเงียบสำเนียง |
ปรากฏไฟใหม่วังเจ้าทั้งห้า | ฝูงประชาอื้ออึงคะนึงเสียง |
เพราะนายช่างสร้างสรรค์อาบชันเปรียง | เวลาเพียงไม่เท่าไรก็ไหม้โพลง |
แสนสงสารมารดาและห้าเจ้า | ต่างเก็บเอาสิ่งของมาห้องโถง |
เสร็จเตรียมกายผ้ายจู่ลงสู่โพรง | คืออุโมงค์เตรียมไว้หนีภัยพาล |
ค่อยยอบกายผายผันขมันขมี | มาออกที่นอกเขตต์นิเวศน์สถาน |
แปลงพระองค์ทรงจรัลทางกันดาร | ออกจากชานพระนครเข้าดอนดง |
ทิ้งวังให้ไหม้โพลงเสียงโผงผาง | ชาวเมืองต่างอึ้งอึงตะลึงหลง |
ต่างลนลานซานซนด้วยงุนงง | บ้างวิ่งวงเวียนวกด้วยตกใจ |
บ้างห่วงเหย้าเข้าของประคองลูก | บ้างหอบฟูกหมอนมุ้งออกยุ่งใหญ่ |
เสียงจอแจแซ่กันสนั่นไป | ผู้คนไหลหลั่งพากันมาดู |
เดชะบุญวังใหม่อยู่ในย่าน | เรือนโรงร้านผู้คนไม่ปนอยู่ |
ลูกไฟว่อนร่อนวนเที่ยวหล่นพรู | ไม่ถึงหมู่บ้านคนจึงพ้นภัย |
ทหารวังต่างพากันมาช่วย | อีกทั้งทวยราษฎร์แซ่เข้าแก้ไข |
แต่ไม่อาจที่จะดับระงับไฟ | เพราะเพลืงไหม้เร็วพลันสุดปัญญา |
ได้แต่จ้องมองเพลิงระเริงแสง | สยดแสยงยืนล้อมอยู่พร้อมหน้า |
ต่างระทมสมเพชเวทนา | ในเจ้าห้าปาณฑพประสพภัย |
เพลิงเผาผลาญปราสาทพินาศยับ | เป็นเท่าทับพสุธาหาช้าไม่ |
ประชาชนกนเศร้าด้วยเข้าใจ | ว่าปาณฑพสบไฟบรรลัยปราณ |
ฝ่ายองค์พระทุรโยธน์ปราโมทย์ล้น | เพราะอิ่มผลเผาผู้ศัตรูหาญ |
เห็นเพลิงโพลงโปร่งใจใครจะปาน | เป่าขลุ่ยแจ้วแว่วหวานสำราญใจ |
การอธรรมครั้งนี้ถึงลี้ลับ | ไม่ระงับเงียบหายดังหมายไว้ |
ค่อยรั่วออกทีละน้อยหย่อยๆ ไป | ไม่ทันไรรั่วแพร่แก่ประชา |
ต่างทราบนำจิตต์พระทุรโยธน์ | เห็นความโหดอำมหิตริษยา |
ด้วยหวังราชสมบัติกษัตริย์อา | จึงคลอกฆ่าบุตรท่านให้ลาญชนม์ |
ถึงแม้เธอปกปิดซึ่งกิจนี้ | มันเหมือนผีเผยแพร่งทุกแห่งหน |
ผู้ใดบ้างชอบชั่วสักตัวคน | ตนของตนทำผิดยังคิดชัง |
นับประษาคนอื่นจะชื่นชอบ | เขาคงลอบว่าร้ายเมื่อภายหลัง |
ชั้นแรกเพียงบุ้ยใบ้มิให้ดัง | ที่สุดสั่งสนทนากันซ่าไป |
สันดานผู้โง่เขลาเอาแต่จิตต์ | รู้สึกผิดก็ไม่วางเอาข้างไถ |
ชื่อว่าเขาทิ้งธรรมอันอำไพ | ที่ปราชญ์ได้อบรมนิยมมา |
ถึงมีทรัพย์สูงศักดิ์อัครฐาน | คนกราบกงานยอบย่อเพียงต่อหน้า |
แต่ใจชังทั้งสิ้นลอบนินทา | ไม่บูชาจริงใจเพราะไร้ธรรม |
ทุรโยธน์เป็นอย่างที่อ้างนี้ | คุณจะมีมาแต่ไหนแม้ใฝ่ฝัน |
การอื้อฉาวกล่าวโทษออกโจษจัล | จะป้องกันเท่าไรก็ไม่วาย |
ขอย้อนกลับจับเล่าถึงเจ้าห้า | กับมารดาเดิรดั้นรีบผันผาย |
ต่างตรำฝนทนแดดแผดพระกาย | เหลือกระหายหิวหอบบอบสกนธ์ |
แสนสงสารชนนีสตรีชาติ | ไม่เคยยาตรย่านไกลเข้าไพรสณฑ์ |
เมื่อยพระเพลาเข่าน้องจำต้องทน | พระลูกด้นดั้นพาฝ่ากันดาร |
เข้าดงแดนแสนเมื่อยเหน็ดเหนื่อยนัก | ชวนกันพักร่มไม้ในไพรสาณฑ์ |
พอซาเหนื่อยเมื่อยล้าไม่ช้านาน | ก็ทะยานยาตรเตร่ซัดเซไป |
เดิรเหนื่อยหนักพักคลายแล้วผายผัน | จนถึงคันเขตต์ลำแม่น้ำไหล |
มีชื่อว่าคงคาชลาลัย | อันกว้างใหญ่ยาวขวางหนทางจร |
หกกษัตรย์พักกายอยู่ชายหาด | สองฝั่งลาดล้วนทรายรายสลอน |
ฝูกปักษินบินคล่ำณอัมพร | ต่างเที่ยวร่อนลงยังฝั่งนที |
ส่งสำเนียงจอแจแซ่สนั่น | เธอเดิรดั้นเลียบเลาะเสาะวิถี |
ตามริมฝั่งตั้งหน้าข้ามวารี | ไม่เห็นมีเรือแพมีแต่นก |
ต่างปลงใจว่ายข้ามตามกุศล | เที่ยวเสาะค้นท่อนไม้หนุนใต้อก |
กะทุ่มว่ายบ่ายหน้าฝ่าอุทก | พร้อมทั้งหกว่ายคลอชะลอมา |
ผู้ใดเหนื่อยเกาะเพื่อนพาเคลื่อนคล้อย | น้ำพาลอยลิ่วไปไกลหนักหนา |
พอถึงฝั่งหยั่งได้ก็ไคลคลา | ขึ้นสู่ท่าทางลาดเป็นหาดทราย |
ต่างพักองค์ทรงพร่ำร่ำพิลาป | ถึงการบาปทุรโยธน์ผู้โหดร้าย |
คิดมานะลืมเหนื่อยเมื่อยพระกาย | ออกผันผายผ่าพงเข้าดงดอน |
เที่ยวลัดเลาะเสาะทางในกลางเถื่อน | ด้วยฟั่นเฟือนฝ่าเดิรเนินศิขร |
ที่ไหนมีทางไปก็ไคลจร | เหนื่อยก็ผ่อนพักข้างหนทางเดิร |
แล้วพากันครรไลต่อไปเล่า | ข้ามภูเขาโขดชันเป็นคันเขิน |
ข้ามประเทศทุ่งกว้างระหว่างเนิ | ระหกระเหินหักทนกระวนกระวาย |
ไม่พบที่พึ่งพาพักอาศัย | ต่างครรไลดั้นด้นกมลหมาย |
ให้ถึงย่านบ้านคนทนตะกาย | เหลือกระหายหิวหอบบอบสกนธ์ |
แสนสงสารมารดาชราภาพ | เสโทอาบองค์นางมากลางหน |
พระศอผากอยากน้ำแต่จำทน | มาจนพ้นพระกำลังประทังกาย |
ทอดพระองค์ลงนอนด้วยอ่อนจิตต์ | แทบชีวิตมอดม้วยด้วยกระหาย |
พระลูกเข้านวดไคลเพื่อให้คลาย | พระภีมผายผันหาซึ่งวารี |
ไปพบน้ำแต่ขาดภาชนะ | ทั้งไม่ปะสิ่งใดในที่นี้ |
เธอจึงจุ่มผ้าโพกพอโชกดี | รีบมาที่แม่นอนด้วยร้อนใจ |
บีบผ้าโพกหลั่งน้ำลงลำศอ | จนนางพอมีกำลังลุกนั่งได้ |
ช่วยชีวิตไว้ทันไม่บรรลัย | แต่น้ำเท่านั้นไซร้ไหนจะพอ |
อีกน้องพี่สี่องค์ก็ทรงอยาก | ดูดพอกลั้วทั่วปากแก้ผากศอ |
ทั้งหกองค์อาหารไม่ผ่านคอ | ทั้งเมื่อยข้อเข่าแข้งพระแรงโรย |
ยิ่งอยากน้ำซ้ำโศกวิโยคถิ่น | แทบจะสิ้นสมฤดีทวีโหย |
แสงแดดอ่อนตอนบ่ายพระพายโชย | วู่ ๆ โบยโบกใบไม้ทั้งปวง |
เข้าพักร่มรุกขชาติอนาถเหนื่อย | ระบมเมื่อยไปทั้งองค์ให้งงง่วง |
ตะวันรอนจรคล้อยลงด้อยดวง | นกทั้งปวงป่วนปั่นบินครรไล |
แซ่สำเนียงสัตว์ร้องก้องสนั่น | พัลวันเวียนหาที่อาศัย |
ขมุกขมัวมัวมนทุกหนไป | จันทร์รำไรเรื่อฟ้าขึ้นมาแทน |
หกกษัตริย์ทอดองค์ลงกับพื้น | ด้วยฝ่าฝืนบอบช้ำระกำแสน |
หลับอยู่ใต้รุกขชาติยามขาดแคลน | สิ้นกลัวแกลนเสือสางในกลางไพร |
สงสารเจ้าภีมะเฝ้าสลด | ความระทดถมทับไม่หลับใหล |
จนดวงเดือนเคลื่อนคล้อยลงด้อยไป | เสียงเรไรหริ่งรี่ ! อยู่นี่นั้น |
พินิศดูชนนีและพี่น้อง | มานอนหมองหม่นไหม้ณไพรสัณฑ์ |
“โอ้! ผลกรรมก่อสร้างแต่ปางบรรพ์ | ใครจะกันแก้ได้นั้นไม่มี |
ท่านว่าส่ำสัตว์สิ้นณถิ่นหล้า | ล้วนเกิดมาตามลิขิตไม่ผิดที่ |
จะลำบากยากไร้หรือได้ดี | แต่ล้วนมีข้อลิขิตไม่ผิดเลย |
กรรมเอ๋ยกรรม ! ลำเค็ญแทบเป็นผี | พระชนนีภ๎ราดาของข้าเอ๋ย ! |
มานอนดินถิ่นไพรไร้สะเบย | กรรมเจ้าเอ๋ย ! ปางใดจะไกลกรรม” |
หวนคิดถิงทุจจริตริษยา | แห่งเชษฐาทุรโยธน์ยิ่งโกรธล้ำ |
ชลนัยน์ไหลซึมบ่นพึมพำ | ด้วยความช้ำชอกใจดังไฟลน |
ยุธิษเฐียรเชษฐาผู้ทายาท | ควรรับราชสมบัติมาขัดสน |
ต้องนอนค้างกลางดินถิ่นอรญ | อดอยากจนชีวิตแทบปลิดปลง |
ฝ่ายทุรโยธน์โหดยิ่งผู้ชิงราชย์ | อิ่มอำนาจสมหวังดังประสงค์ |
นอนเหนือแท่นปัจจัตถรณ์อันอ่อนองค์ | ทุกสิ่งยงยั่วยวนควรภิรมย์ |
ทั้งนี้เป็นด้วยจิตต์ยุธิษเฐียร | เธอพากเพียรเพ็ญธรรมคิดส่ำสม |
ไม่ถือโทษโกรธใครใฝ่นิยม | ข้างคิดข่มแค้นขึ้งคะนึงธรรม์ |
หาไม่แล้วทุรโยธน์ผู้โหดเอ๋ย ! | อย่านึกเลยจะสบายดังหมายมั่น |
วิญญาณเธอกับร่างจะห่างกัน | บัดนี้ดั้นร่อนด้นอยู่หนใด” |
เธอนอนพูดพึมไปใจละห้อย | จนเดือนคล้อยคลายลับจึงหลับใหล |
อยู่กับเพื่อนเกลื่อนกลาดอนาถใจ | จนรำไพผ่องภพนภดล |
-
๓. พี่ชายวิจิตรวีรัยมีอีกองค์หนึ่งตามเรื่องพิสดารมีดังนี้ : -
พระเจ้าศานดนูมีมเหสีชื่อนางสัตยวดี พระนางนี้เมื่อรุ่นสาวได้ไปเที่ยวตามแถบแม่น้ำยมนา, พระมหาฤษีชื่อปราศร (ปะราสอน) มาพบเข้าสมพาสด้วยนาง, นางมีครรภ์ พระฤษีให้พรว่าเมื่อคลอดบุตรแล้วให้กลับเป็นนางสาวได้ใหม่, ภายหลังนางจึงคลอดบุตร คือ พระวยาสพรหมฤษีอยู่ที่เกาะในแม่น้ำนั้น แล้วนางก็เป็นนางสาวใหม่, ด้วยเหตุนี้พระวยาสจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า กฤษณไทวปายน์, ต่อมานางสัตยวดีได้เปนพระมเหสีท้าวศานดนูนี้ มีพระโอรส ๒ องค์ พี่ชื่อจิตรางคท, น้องชื่อวิจิตรวีรัย. เมื่อท้าวศานดูสวรรคต, จิตรางคทครองราชย์ แต่ถูกราชาแห่งคนธรรพ์ ชื่อจิตรางคท ชื่อพ้องกัน) ฆ่าสวรรคต แล้ววิจิตรวีรัยครองราชย์ต่อไปดังปรากฏณที่นี้. ↩ -
๔. ธฤตราษฎร์ กับปาณฑุ เป็นบุตรท้าววิจิตรวีรัยตามพิธีเท่านั้นที่จริงเป็นบุตรพระวยาสพรหมฤษี คือ วิจิตรวีรัย ไม่มีโอรสสืบกษัตริย์จันทรวงศ์ พระนางสัตยวดีผู้มารดากลัววงศ์ศูนย์ จึงไปนิมนต์พระฤษีวยาสบุตรหัวปีของนางให้มาสืบพันธุ์แทนวิจิตรวีรัยน้องชาย พระฤษีขัดไม่ได้จึงสมพาสด้วยมเหสีของวิจิตรวีรัยทั้ง ๒ นาง เกิดโอรสนางละองค์ คือ ธฤตราษฎร์ และปาณฑุ. ↩