- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
ที่สิบสองแห่งทิวามหายุทธ์ | รพีผุดโผล่แดงส่องแสงฉัน |
สนามมัวหมอกกลุ้มดังสุมควัน | ทั่วเขตต์คันเลือดฝาดแดงดาษไป |
โท๎รณาจารย์บานใจเหมือนไม่แก่ | ผิวพรรณ์แลเอี่ยมอ่องยังผ่องใส |
เข้าเร่งรัดจัดพหลพลไกร | เป็นรูปใยแมงมุมคิดซุ่มกล |
ตั้งเป็นแนวแน่นหนาตีฝ่ายาก | ถึงแม้หากตีได้ก็ไร้ผล |
ใครตีฝ่าพาหลงเข้าวงวน | ดังเสือรนหาจั่นถึงบรรลัย |
กลยุทธ์อย่างนี้ย่อนลี้ลับ | ผู้แม่ทัพชาญแท้จึงแก้ไหว |
เพราะเป็นยุทธ์วิธีซึ่งมีใน | แบบพิชัยสงครามตามโบราณ |
เป็นธรรมเนียมให้ใช้เมื่อไร้ช่อง | หมดทำนองอื่นจักคิดหักหาญ |
ทั้งนี้ด้วยเจตนาท่านอาจารย์ | เพื่อเป็นการลวงล่ออรชุน |
ครั้นเสร็จสมปรารถนาจึงท้ารบ | นิ่งสงบดูท่าไม่ว้าวุ่น |
ให้ไพรีตีก่อนแล้วต้อนรุน | กระหน่ำหนุนนำให้เข้าในกล |
อรชุนตรึกตราคำท้ารบ | พิจารณ์จบเลาเลศรู้เหตุผล |
เหมือนแมงมุมเชิญแมลงเข้าแหล่งตน | แต่ไม่ย่นรับทั้งท่านอาจารย์ |
จึงให้องค์อภิมันยุขันสู้ | ส่วนตนอยู่รักษาคุมหน้าฉาน |
นักรบหนุ่มคุมพลกมลบาน | เข้าทำการยุทธกิจแทนบิดา |
ขึ้นรถขับพลไกรด้วยใจผ่อง | ไม่แต่ปองเพียงกระทำตามคำท้า |
ซ้ำปองกวาดไพรีที่มีมา | ให้เป็นดังกวาดหญ้าย่อยยับไป |
ทุรโยธน์ดูท่าเห็นข้าศึก | ตีสะอึก, รี้พลไม่ทนไหว |
เข้ากระทบรบรับด้วยฉับไว | ไม่ทันไรก็ต้องแหลกแตกกระเจิง |
ด้วยพระองค์ทรงพลาดต้องบาดแผล | รี้พลแพร่พรายเพริดเตลิดเหลิง |
องครักษ์หรุบดิ้นตายสิ้นเชิง | ขับรถเริดเปิดเปิงรีบหนีไป |
จึงพระศัลย์ผู้กษัตริย์มัทรราษฎร์ | ขับพลดาษดื่นแซ่เข้าแก้ไข |
อภิมันยุรับโดยฉับไว | แผลงศรโทรมสาดใส่พวกศัตรู |
ถูกนายทัพพับล้มจมระดะ | รี้พลผละผันร่นต่างย่นอยู่ |
ในไม่ช้าแตกพ่ายกระจายพรู | ไม่คิดสู้ซ่อนตนอยู่ลนลาน |
ถัดนั้นมาทุศศาสน์จึงกวาดต้อน | พลนิกรรบราด้วยกล้าหาญ |
อภิมันยุเห็น, เผ่นทะยาน | มาหน้าฉาน, ยิ้มเย้ยเฉลยพจน์ |
“ท่านคิดกับ ‘ศกุนิ’ หรือมิใช่ | โกงเอาชัยพระเจ้าลุงมุ่งกบฎ |
ริบสมบัติบ้านเมืองด้วยเรื่องคด | อัปยศหยาบช้าอย่างน่าชัง |
ท่านหรือผู้จิกเกล้าแม่เจ้าข้า | ด้วยหยาบช้าโยโสคิดโอหัง |
ท่านด่าพระภีมเสนเล่นจัง ๆ | ว่าเป็นดังขี้ข้าต่อหน้าชน |
ท่านล่วงเกินพระบิดาแห่งข้าไซร้ | ท่านเป็นไพรีเหมาะข้าเสาะสน |
เพื่อใช้หนี้ปฏิญาณศาบานตน | มุ่งประจญท่านมาเป็นช้านาน |
เชิญประจัญขันสู้อย่าหู่หด” | พลางขับรถรี่ไปด้วยใจหาญ |
น้าวศรแสงแผลงกระหน่ำด้วยชำนาญ | ดังสะท้านพสุธาเหลือน่ากลัว |
ต้องทุศศาสน์เซล้มลงจมพื้น | เการพเห็นเต้นตื่นตกใจทั่ว |
กรูเข้าช่วยแก้กันออกพันพัว | แก้ไขตัวพระทุศศาสน์จนปราศภัย |
อุ้มพระองค์ลงเปลหามเร่หนี | พระกายมีเลือดฝาดเยิ้มหยาดไหล |
พอทุศศาสน์หายวับลี้ลับไป | ก็มีข้าศึกใหม่เข้ามาแทน |
คือพระเจ้ากุรุราชบปราดเข้ากั้น | อภิมันยุโกรธพิโรธแสน |
เข้าป่ายปัดซัดออกไปนอกแดน | เหมือนกับปัดต่อแตนก็ปานกัน |
แล้วบุกรุกต่อไปมิได้คร้าม | ทั่วสนามแนวรณพลขันธ์ |
ไม่มีใครต้านทานหาญประจัญ | ตีให้องค์อภิมันยุย่นไป |
จึงชยัทรถผู้สินธุราช | เห็นอำนาจศัตรูสุดสู้ไหว |
จึงชวนหกพาลราชคลาดครรไล | มีพลไพร่พรั่งพร้อมล้อมระดม |
แผลงศรรุมรอบข้างเหมือนอย่างฝน | ทั้งเจ็ดคนคั่งคับเข้าทับถม |
รุมรบรับขับเคี่ยวกันเกลียวกลม | คนหนึ่งล้มคนหนึ่งแล่นเข้าแทนกัน |
แสนสงสารอภิมันยุขันสู้ | กับศัตรูรอบทิศไม่คิดพรั่น |
ธงชัยรูปมยุเรศเกิดเหตุพลัน | ถูกศรสักหักสะบั้นลงบัดใจ |
ม้าก็ล้มจมดินลงดิ้นชัก | รถก็หักปี้ป่นไม่ทนไหว |
สารถีที่ขับถูกจับไป | พลไกรกรูวิ่งเป็นสิงคลี |
อภิมันยุใจไม่สลด | เผ่นจากรถรี่ใส่มิได้หนี |
เข้ารบรุกบุกบันประจัญตี | พวกไพรีตายกลาดดาษดา |
พระกายดาษบาดแผลแสสะพรั่ง | โลหิตหลั่งไหลโซมชะโลมหน้า |
กายทุกแห่งแดงดาษดังชาดทา | พระหัตถ์ขวาซ้ายเลอะเลือดเกรอะกรัง |
ถึงกระนั้นปาณฑพนักรบรุ่น | ยังคิดรุนรบรับไม่กลับหลัง |
จนรู้สึกอ่อนใจไร้กำลัง | เพราะเลือดหลั่งไหลมากออกจากกาย |
ให้มืดหน้าตามัวเนื้อตัวสั่น | ให้หวิวหวั่นเวียนวิงสวิงสวาย |
หมดรู้สึกป้องกันอันตราย | มัจจุราชยาตรกรายเข้าครอบงำ |
สิ้นกำลังล้มผางกลางสนาม | โลหิตซามโซมซาบดังอาบน้ำ |
หมดสติทั้งหมดความจดจำ | แต่ยังกำศัสตราอยู่คามือ |
ดับพระชนม์กลว่าพญาสาร | ซึ่งพวกพรานสาดศรมาว่อนหวือ! |
แล้วลัมพับดับจิตต์กิตติ์ระบือ | ดังไฟป่าโหมฮือแล้วดับไป |
ดับดังดวงทินกรในตอนพลบ | ค่อยเลื่อนลบลับแสงแฝงไศล |
ก็มืดมัวทั่วหล้านภาลัย | ดังสมัยจันทรคราสปราศประภา |
ก็พอได้เวลาเลิกอย่าทัพ | ตะวันดับดวงดาวขึ้นพราวฟ้า |
พวกไพร่พลกล่นกลาดดาษดา | ต่างก็มาที่พักสำนักกาย |
ร่างนักรบหนุ่มนอนดังท่อนไม้ | พักตร์ประไพผ่องขาวแสงดาวฉาย |
พร้อมพหลพลรบล้อมศพนาย | ต่างฟูมฟายชลเนตรเทวษครวญ |
อรชุนอยู่ไกลมิได้รู้ | กำลังสู้รบกันอยู่ปั่นป่วน |
พอถึงยามสนธยาเวลาควร | กลับกระบวนพลไกรรีบไคลคลา |
เห็นนิมิตร์ตามทางเป็นลางร้าย | อภิปรายเสียงสั่นหวั่นผวา |
“เอ! พระกฤษณ์เอ๋ย! ไยจึงนัยน์ตา | เห็นลางร้ายเรื่อยมาไม่เว้นวาย |
ค่ำวันนี้เป็นไฉนจิตต์ใจเศร้า | ให้ง่วงเหงางงอยู่มิรู้หาย |
เหตุไฉนท้องสนามเมื่อข้ามกราย | จึงเงียบคล้ายป่าชัฏอัศจรรย์” |
มาใกล้ค่ายทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร | ก็แปลกเปลี่ยนพิปริตยิ่งผิดผัน |
พระกฤษณ์เอ๋ย ! นี้ไฉนอย่างไรกัน | พลขันธ์เคยเริงบันเทิงใจ |
ก็จับเจ่าเหงาหงอยสร้อยสลด | หรือระทดทุกข์เข็ญเป็นไฉน |
เออ ! ไม่เห็นอภิมันยุครรไล | มารับหน้าปราศรัยเหมือนก่อนมา” |
ลงจากรถเยื้องย่างพลางวิตก | ให้อัดอกอึกอักเป็นหนักหนา |
เข้าปะรำธรรมบุตรสุดสงกา | เห็นราชากรรแสงยิ่งแคลงใจ |
จึงกราบบาททูลถามตามฉงน | พระจุมพลเล่าแจ้งแถลงไข |
“อันสาเหตุอภิมันยุบรรลัย | เพราะด้วยไพรีกลุ้มเข้ารุมราญ |
ชยัทรถร่วมคิดกับมิตรหก | พร้อมกันยกขึ้นกลุ้มรุมประหาร |
บุตรท่านผู้เดียวพ้นจะทนทาน | จึงต้องลาญชีวาตม์อย่างอาจอง” |
อรชุนขุ่นข้องพลางร้องว่า | “อ้ายเด็กกล้า” แล้วอึ้งตะลึงหลง |
ถึงวิสัญญีภาพล้มราบลง | มิได้ทรงพูดพ้ออีกต่อไป |
ธรรมบุตรเรียกหาบรรดาหมอ | เข้ามาอออัดแอช่วยแก้ไข |
ต่างเร่งรีบบีบเส้นค่อยเค้นไคล | สักครู่ใหญ่จึงคืนฟื้นพระกาย |
พะยุงองค์ทรงนั่งยังพระที่ | กมลมีโกรธอยู่ไม่รู้หาย |
พลางกราบทูลทรงธรรม์บรรยาย | บุตรข้าตายเพราะกลแห่งคนพาล |
ข้าศึกถึงเจ็ดคนเข้ารณรบ | อาวุธครบหัตถ์ห้อมล้อมประหาร |
เด็กผู้เดียวเคี่ยวขับจนดับปราณ | นี้เป็นการทุจจริตผิดวินัย |
พวกเการพลบธรรมใช้อำนาจ | หินชาติชั่วช้าจะหาไหน |
บุตรข้าสิ้นชีพแล้วก็แล้วไป | ข้าขอใฝ่พยาบาทพิฆาตมัน |
ขอพระองค์ทรงจำซึ่งคำข้า | ปฏิญญาแน่แท้ไม่แปรผัน |
ชยัทรถทุจจริตร่วมคิดกัน | ฆ่าลูกข้าในวันนี้วายปราณ |
ข้าขอฆ่าอ้ายสัตว์ชยัทรถ | ในกำหนดวันหน้าดังว่าขาน |
ให้มันวอดวายชนม์, ถ้าพ้นกาล | พรุ่งนี้ผ่านพ้นไปมันไม่ตาย |
ข้าจักไม่ขออยู่ให้ดูหน้า | จะขอลาโลกไปดังใจหมาย |
ให้วิญญาณข้าไปในอบาย | ทนทุกข์ร้ายกาจนับตั้งกัปปกัลป์” |
พอสิ้นคำอำลากลับมาค่าย | ไม่เว้นวายรันทดกำสรดศัลย์ |
เหล่าปาณฑพทั่วหน้าเฝ้าจาบัลย์ | ต่างพากันหงอยเหงาด้วยเศร้าใจ |
ครั้นรุ่งเช้าอรชุนผู้ครุ่นแค้น | ครรไลแล่นปลุกทัพที่หลับไหล |
เป่าศังข์เรียกรี้พลสกลไกร | ทั้งนายไพร่ล้วนพรั่นฟังสัญญา |
ต่างเตรียมทัพขับขันด้วยมั่นจิตต์ | ให้สมคิดตามคาดปรารถนา |
คือเข่นฆ่าไพรินดังจินตนา | ในเวลาเร็วพลันเพียงวันเดียว |
ฝ่ายเการพทราบข่าวหนาวสะท้าน | เรื่องศาบานอรชุนอันฉุนเฉียว |
ได้ยินศังข์เป่าปลุกขนลุกเกรียว | ต่างหวาดเสียวเตรียมรบอยู่ครบครัน |
พวกที่ฆ่าอภิมันยุครั่นคร้าม | ด้วมเกรงขามอันตรายจนกายสั่น |
ชยัทรถลมจับในฉับพลัน | ต้องแก้กันเป็นครู่จึงรู้ตน |
มาปะรำแห่งพระทุรโยธน์ | เผยพระโอษฐ์อธิบายเป็นหลายหน |
“อรชุนศาบานจักผลาญชนม์ | แห่งข้าคนเดียวนั้นด้วยอันใด |
ซึ่งคนอื่นได้พิฆาตพระญาติเขา | ก็มิเฝ้าผูกเวรเป็นไฉน |
อันบุตรเขาเข้าประจัญถึงบรรลัย | ก็เป็นไปตามการณ์รบราญกัน |
มิใช่ข้าคนเดียวขับเคี่ยวฆ่า | เหตุไรมามุ่งมาดอาฆาตคั้น |
เขาศาบานอย่างไรลงไปพลัน | ไม่เป็นอันสับปลี้อย่างขี้เมา |
ข้านี้ตรึกนักแคลงแหยงสยอง | ว่าจะต้องม้วยมรณ์ด้วยกรเขา” |
พอจำนรรจาจบก็ซบเซา | ดวงจิตต์เศร้าแสนพรั่นหวั่นกมล |
ทุรโยธน์ฟังว่าจึงปราศรัย | “อย่าทำใจขุ่นข้องสยองขน |
อัปลักษณ์ศักดิ์ศรีวีรชน | ให้ไพร่ยลเยี่ยงดูไม่สู้งาม |
ท่านก็รู้เรื่องตระหนักว่านักรบ | ต้องมอบศพตนไว้ในสนาม |
ถึงสามารถอาจองในสงคราม | ย่อมมียามย่อยยับถึงอับจน |
ซึ่งท่านคิดหวาดหวั่นในวันนี้ | ว่าถึงชีวิตดับอาภัพพ์ผล |
แต่ความคิดข้านั้นมั่นกมล | ว่าอรชุนสิ้นชนม์เป็นแน่นอน” |
ชยัทรถฟังคำที่ร่ำตรัส | ความอึดอัดอกใจมิได้ถอน |
“บัดนี้ภัยใกล้มาดังว่าวอน | จึงสังหรณ์จิตต์ใจให้รำคาญ” |
พระทุรโยธน์ตรัสว่า “เธออย่าพรั่น | ข้าเจ้าบัญชาถ้วนมวลทหาร |
ให้เตรียมตัวทั่วหน้ารักษาการ | ป้องกันท่านทั่วไปอย่าได้กลัว” |
พอแซ่เสียงศังข์กลองกึกก้องลั่น | เป็นเครื่องสัญญารบอยู่ครบทั่ว |
นายกองขับพลขันธ์อยู่พันพัว | ต่างเตรียมตัวตรงเข้าเร้ารำบาญ |
อรชุนครุ่นแค้นแสนพิโรธ | ขึ้นรถโลดแล่นมาอย่างกล้าหาญ |
เร่งพระกฤษณ์สารถีตะลีตะลาน | ขับรถราญรุกให้ทันใจตน |
‘พระกฤษณ์เอ๋ย ! อย่าช้าฟังข้าบอก | ขับสีหมอกของข้าอย่าฉงน |
ให้พารถเร็วรี่นำรี้พล | ไปล้างชนม์ชีพมันทันเวลา |
มันไม่ม้วยตูข้าขอลาม้วย | ทั้งนี้ด้วยมุ่งมาดปรารถนา |
เพื่อถนอมสัตย์ธรรม์ลั่นวาจา | เสียชีพอย่าเสียสัตย์สลัดรอน” |
รถศึกพระอรชุนเข้ารุนรุก | ตรงเข้าบุกบันยุทธ์ไม่หยุดหย่อน |
“แรก ‘ทุรมรรษัณ’ ประชันกร | แต่ราญรอนได้หน่อยถอยกระจาย |
จึงทุศศาสน์กวาดพหลพลช้าง | ขับเข้าขวางรถไว้มิให้ผาย |
เสียงรถศึกคึกครื้น, ตื่นกระจาย | ช้างแตกพ่ายเผ่นวิ่งเป็นสิงคลี |
อรชุนรุนรุกบุกประหาร | จนถึงท่านโท๎รณะไม่ผละหนี |
ท่านอาจารย์ขานท้าให้ราวี | เข้าต่อตีสู้ตัวต่อตัวกัน |
อรชุนพลางไหว้แล้วไขขาน | “ท่านอาจารย์โปรดให้อภัยฉัน |
ศิษย์ผู้ศาบานไว้ใคร่ประจัญ | กับผู้ฆ่าอภิมันยุคนเดียว” |
พลางให้รถหลีกทางไปข้างหนึ่ง | ขับตะบึงบุกไปมิได้เหลียว |
พวกเการพแตกพรูวิ่งกรูเกรียว | ข้าศึกเคี่ยวขับรณย่นทุกราย |
บุกรุกฝ่าหากษัตริย์ชยัทรถ | ทุกแห่งหมดก็ไม่สมอารมณ์หมาย |
เสียงล้อแล่นลั่นอยู่ไม่รู้วาย | จนถึงบ่ายถึงเย็นไม่เห็นตัว |
จึงพระกฤษณ์นายม้าสารถี | เห็นภาชีคอตกไม่ยกหัว |
ด้วยหิวเหนื่อยเมื่อยครั่นกายสั่นรัว | เหงื่อโซมทั่วสรรพางค์แทบปางตาย |
จึงขับรถเร่เข้าในเงาไม้ | ปลดม้าให้น้ำหญ้าจนซาหาย |
ที่หิวหอบบอบช้ำระกำกาย | พอสบายแล้วจึงเตรียมเข้าเทียมรถ |
ครั้นเสร็จสรรพขับเข้ารบเร้าอีก | มิได้หลีกหลบใครผู้ใดหมด |
เข้ารบรับขับเคี่ยวแล่นเลี้ยวลด | จนเกือบหมดแสงสีรพีพรรณ |
ไม่เห็นหน้าข้าศึกนึกประหลาด | กุรุราชพวกหนึ่งจึงถลัน |
เข้าขวางหน้าอรชุนหนุนประจัญ | ยังไม่ทันไรร่นย่นกระจาย |
อรชุนรุนรุกไปทุกด้าน | นัยน์ตากว้านหาคนที่ตนหมาย |
แสนสลดหมดหวังซังกะตาย | ขับรถร่ายเร่หาจนสายัณห์ |
อาทิตย์ทอแสงอ่อนรอน ๆ อยู่ | พินิจดูทั่วไปด้วยใฝ่ฝัน |
เห็นไพรีรวมอยู่เป็นหมู่กัน | ขับรถบั่นบุกไปใคร่ประจักษ์ |
เห็นชยัทรถอยู่ในหมู่นี้ | พวกโยธีแวดล้อมอยู่พร้อมพรัก |
ไม่รอท่าช้าการเข้าหาญหัก | เพราะจวนพักรบกันตามสัญญา |
แต่เข้าไปไม่ง่ายดังหมายมั่น | เพราะพระกรรณองครักษ์เข้าดักหน้า |
เพื่อเป็นการเหนี่ยวหน่วงถ่วงเวลา | เพราะมิช้าก็จะหมดกำหนดวัน |
อรชุนเสียการศาบานไว้ | ต้องฆ่าตนตามได้ศาบานนั้น |
เปนอุบายทางอ้อมละม่อมครัน | ไม่ต้องเข้าฆ่าฟันก็ตายเอง |
พระกฤษณ์รู้กลนั้นคิดหวั่นไหว | ขืนสู้ไปถึงเคราะห์ไม่เหมาะเหมง |
เธอเกรงหมดเวลายิ่งกว่าเกรง | จะพลาดเพลงศัสตราถูกฆ่าตาย |
ทั้งสองข้างต่างรณอลหม่าน | อีกไม่นานก็จะหมดกำหนดหมาย |
เผอิญมีเมฆมัวทั่วทุกภาย | ทั้งสองฝ่ายมืดมนจนจังงัง |
พระกฤษณ์เห็นได้ช่องเพราะจ้องอยู่ | ขับรถวู่แหวกแถวถึงแนวหลัง |
พอเมฆหมดสดใสก็ไปยัง | ที่ยับยั้งแห่งกษัตริย์ชยัทรถ |
อรชุนผลุนผลันเข้าฟันฟาด | พระศอขาดสิ้นชนม์ยลสลด |
เอาทวนเสียบเศียรเที่ยวขับเลี้ยวลด | ให้ปรากฏทั่วว่าสมศาบาน |
ฝ่ายพระกรรณกำลังรบรั้งหน้า | เมื่อเมฆมามืดสิ้นทุกถิ่นฐาน |
สำคัญว่าพลบค่ำเลิกรำบาญ | นึกว่าการคิดหวังสมดังใจ |
พอเมฆมืดจืดจางสว่างทั่ว | ไม่เหมือนตัวเจาะจงเฝ้าหลงใหล |
ยิ่งเคืองขุ่นครุ่นแค้นแน่นฤทัย | ทั้งไม่ได้เห็นพระอรชุน |
ครั้นทราบชัดศัตรูเข้าจู่ผลาญ | ชยัทรถหมดปราณก็เฉียวฉุน |
กลับรถผันบั่นบุกตามรุกรุน | เที่ยวค้นหาว้าวุ่นไม่พบพาน |
การเสียชีพแห่งกษัตริย์ชยัทรถ | ดังปรากฏกองไฟไหม้ประหาร |
ด้วยเการพแค้นใจใฝ่รำบาญ | จนถึงกาลราตรีไม่มีหยุด |
นับว่าเป็นครั้งแรกแปลกประหลาด | คบเพลิงดาษแดงตามสนามยุทธ์ |
แสงศัสตราพราวไปเมื่อไฟจุด | ดูประดุจฟ้าแลบวะแวบวาม |
ต่างบันดาลโทษะไม่ละลด | ทรหดชิงชัยในสนาม |
จนเวลาลั่นฆ้องได้สองยาม | ทั้งสองข้างต่างทรามเสื่อมกำลัง |
จึงสมัครพักรบสงบศึก | พอดื่นดึกเดือนดับก็กลับหลัง |
พระทุรโยธน์ตรึกตราพะว้าพะวัง | ทรงเซซังไปหาโท๎รณาจารย์ |
พลางปรับทุกข์แก่ท่านอาจารย์ว่า | “เราชาตาช่างกระไรดังไฟผลาญ |
ทหารเราเการพต้องหลบลาญ | ยิ่งรอนราญก็ยิงด้อยน้อยลงไป |
นายทัพผู้เชี่ยวชาญเห็นปานท่าน | ยังมีการวิปริตผิดวิสัย |
หรือมีเลศลึกลับบังคับใจ | จึงมิได้ต่อตีเต็มฝีมือ |
เป็นอย่างองค์ทรงฤทธิ์พระภิษม์เฒ่า | ให้มือเท้าอ่อนไปอย่างไรหรือ? |
หรือศิษย์ท่านปาณฑพนักรบลือ | เขามีชื่อเสียงนักจึงชักเกรง |
เพราะหวังพึ่งยศศักดิ์หรือรักเขา | หาว่าเราทับถมทำข่มเหง |
หรือชราพาให้เป็นไปเอง | ก็ตามเพลงเถิดข้าไม่ว่าไร |
แต่เพื่อความยุกติธรรมขอร่ำว่า | เอ็นดูข้าเถิดท่านอาจารย์ใหญ่ |
แม้อึดอัดขัดการสถานใด | จงมอบให้หน้าที่นี้แก่ ‘กรรณ’ |
ทุรโยธน์เสียท่าแก่ข้าศึก | ก็ให้นึกรวนเรคิดเหหัน |
ให้เห็นผิดคิดกริ่งทุกสิ่งอัน | ปรับโทษทัณฑ์นายพลทุกหนไป |
คลั่งคะนึงถึงพระกรรณอย่างมั่นจิตต์ | ว่าเขาคิดต่อสู้ศัตรูไหว |
พาลพระภิษม์ผู้เฒ่าว่าเอาใจ | คิดฝักใฝ่ปาณฑพไม่รบรา |
ครั้งนี้เห็นอรชุนเข้ารุนรบ | จนประสพสมมาดปรารถนา |
ก็โทษท่านโท๎รณะว่าระอา | ไม่รบข้าศึกจริงด้วยกริ่งเกรง |
ให้พะวงหฤทัยคิดใฝ่ฝัน | ว่าพระกรรณนำทัพกะฉับกะเฉง |
จักรบราไพรีดีกว่าเพรง | จึงเร้าเร่งโท๎รณะให้ละงาน |
เธอหวังชัยในพระกรรณเป็นมั่นแม่น | ซึ่งเหมือนแม่นหวังน้ำลำละหาน |
ซึ่งไหลลงวังวนชลธาร | ให้บันดาลไหลกลับขึ้นฉับไว |
โท๎รณะตอบตามนัยมิได้ผิด | กับพระภิษม์พร่ำแจ้งแถลงไข |
ที่สุดท่านทูลคำร่ำพิไร | ชี้แจงในทางธรรม์บรรยาย |
“ทุรโยธน์โปรดจำถ้อยคำข้า | ถ้าหากว่าทัพท่านลาญสลาย |
ใช่อื่นไกล, กองกรรมมาทำลาย | จะโทษนายทัพเขาไม่เข้าที |
นายพลผู้ผมหงอกจนออกทั่ว | เช่นกับตัวข้าเจ้าผู้เฒ่านี้ |
ควรหรือจักกลับจิตต์คิดกลี | ให้เสื่อมศรีเสื่อมศักนักณรงค์ |
ท่านยังเด็กเล็กอยู่ไม่รู้คิด | มัวตั้งจิตต์แต่จะได้เฝ้าใหลหลง |
อรชุนเชิงยุทธ์เขาสุดยง | ถ้าทะนงนักเห็นไม่เป็นการ |
จงทราบเถิดโท๎รณะไม่ผละถอย | ให้ต้องคอยตรวจตราเฝ้าว่าขาน |
โปรดจงฟังคำข้าขอศาบาน | จะเข้าราญรบกันจนบรรลัย |
คือพรุ่งนี้ชีวิตแห่งศิษย์รุ่น | อรชุนจักถึงซึ่งกษัย |
หรือไม่ก็ข้าบาทต้องขาดใจ | หลับตาไม่ลืมกลับชั่วกัปป์กัลป์” |
ครั้นรุ่งแจ้งแสงทองส่องสว่าง | ทั้งสองข้างขับพหลพลขันธ์ |
เข้าหักหาญราญรุกอุกฉกรรจ์ | เสียงครื้นครั่นทั่วสิ้นถิ่นรำบาญ |
วันนี้เชื้อรากโษส |
ผู้โอรสภีมราชผู้อาจหาร |
ขับพลเข้ารบราฝ่าทะยาน | เการพลาญล้มตายเป็นก่ายกอง |
ฤทธิ์รากษสส่งเสริมเพิ่มอำนาจ | ให้ข้าศึกนึกขลาดแสยงหยอง |
ไม่มีใครใกล้กรายคิดหมายปอง | เข้าไปลองแข่งขันประจัญบาน |
พวกนายทัพเการพครบทั้งนั้น | เชิญพระกรรณให้สู้ศัตรูหาญ |
ด้วยมีศรทรงศักดิ์มัฆวาน | สามารถผลาญรากษสจนหมดแดน |
อันที่จริงศรนั้นพระกรรณหมาย | จะทำลายอรชุนด้วยครุ่นแค้น |
ฆโฏตกจเก่งกล้าเข้ามาแทน | คงทนแสนศัสตราสารพัน |
จำแผลงศรเทพไทเจ้าไตรทศ | ฆโกฎตกจล้มแผ่ไม่แปรผัน |
ด้วยต้องศรโกสีย์ถึงชีวันต์ | ทันใดนั้นเงียบสิ้นทั่วถิ่นรณ |
ความสงบเงียบนั้นเหมือนกันกับ | ท้องฟ้าอับอบอ้าวเมื่อคราวฝน |
ในมิช้าพายุพัดขึ้นบัดดล | ฟ้าคำรนร้องลั่นสนั่นดัง |
ฉันใดปาณฑพสิ้นได้ยินข่าว | ก็เกรียวกราวกรูรณเหมือนหนหลัง |
กึกก้องแม้นแผ่นดินจะภินท์พัง | ด้วยกำลังความแค้นแน่นหทัย |
ฝ่ายพระกรรณขันสู้ไม่ยู่ย่น | ประจัญจนปาณฑพรบไม่ไหว |
พระราชาท๎รุบทยศไกร | ภูวไนยเจ้าวิราฎผู้อาจอง |
ทั้งสองท่านลาญชนม์ยลสยบ | พลรบแหลกลุ่ยเป็นผุยผง |
ด้วยฝีมือแห่งพระกรรณผู้ยรรยง | จนอาทิตย์อัสดงหยุดชิงชัย |
วันนี้เการพได้ชัยเฉลิม | ประสิทธิ์เสริมศักดิ์ศรีจะมีไหน |
ถึงจะผิดศาบานอาจารย์ไป | แต่ก็ได้แก้แค้นทดแทนกัน |
-
๒๔. คำนี้ออกจาก ‘ศิลา’ แปลว่าหิน แล้วแปลงรูปเห็นไศล (อ่าน ไสละ) มคธเป็น เสล แปลว่าประกอบด้วยหินคือ ภูเขา แต่ไทยเราอ่าน ‘สะไหล’ เป็นพื้น. ↩
-
๒๕. คำนี้ศัพท์เดิมเป็น ‘รากษส’ แต่ท่านใช้กันว่า รากโษส จนแพร่หลายแล้ว เช่น “พวกรากโษสโกรธร้องอยู่ก้องกึก” จึงขอใช้ทั้งรากษส และ รากโษส แล้วแต่จะเหมาะ อย่างเดียวกับ อุมงค์ และ อุโมงค์. ↩
-
๒๖. อ่าน คะโตดกต. ↩