- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
หกกษัตริย์บรรทมใต้ร่มรุกข์ | บรรเทาทุกข์บอบร่างในกลางหน |
น้ำค้างพรมพฤกษ์พรูชูกมล | ดุเหว่ารนร่ำร้องอยู่ก้องไพร |
เสียงไก่ป่าจ้าขันสนั่นแจ้ว | อยู่ตามแนวเนินผาริมป่าไผ่ |
เสียงหึ่ง ๆ ! ผึ้งพรูกันคลาไคล | บินไสววู่ว่อนในดอนดง |
ฝูงนกเนื้อเมื่อสางสว่างหล้า | ก็เคลื่อนคลาจากที่มีประสงค์ |
ซึ่งภักษาซ่าไปในไพรพง | อาทิตย์ส่งแสงฉันพรรณราย |
ดอกไม้ดงส่งกลิ่นประทิ่นฉม | ปลุกบรรทมหกองค์ค่อยทรงหาย |
จากหิวหอบบอบช้ำระกำกาย | ออกผันผายด้นเดาลำเนาไพร |
เปนช้านานผ่านมาตามป่ากว้าง | จึงพบทางจรดลถนนใหญ่ |
ไม่ทราบแจ้งแห่งหนตำบลใด | เกรงพวกไพรีร้ายจักหมายปอง |
จึงแปลงองค์ทรงเพศทุเรศรูป | เอาฝุ่นลูบไล้ตัวให้มัวหมอง |
นุ่งห่มผ้าเปื้อนเปรอะเลอะละออง | ตามทำนองผู้อนาถต่างคลาดคลา |
สงสารองค์ชนนีเทวีเจ้า | เป็นยายเฒ่าถ่อมชาติวาสนา |
ทั้งหกต่างผายผันตามมรรคา | ไม่รู้ว่าเป็นเขตต์ประเทศใด |
เดิรมาพบพวกพรามณ์จึงถามทัก | ว่า “ท่านจักจรดลไปหนไหน ?” |
เข้าเดิรชิดติดตามพวกพราหมณ์ไป | เพื่อถามไต่ถิ่นฐานและบ้านเมือง |
พวกพราหมณ์ฟังทั้งหกงันงกถาม | จึงเล่าความแต่ต้นยุบลเรื่อง |
“มีพิธีศรีกรุงอันรุ่งเรือง | เขาลือเลื่องทั่วเทศเขตต์นคร |
สมเด็จพระภูบาลบัญจาลราช | ให้โอกาสพระบุตรีศรีสมร |
ทรงเลือกคู่อภิรมสยมพร | พวกเราจรไปยังที่พิธีการ” |
ทั้งหกองค์ทรงฟังตั้งวิตก | ด้วยตนวกเวียนมาหาสถาน |
แห่งศัตรูคู่ขันประจัญบาน | แต่สุดซานเซไปให้ไกลแดน |
เหมือนหนีเสือหานทีเดิรรี่เร่ | จรเข้ขึ้นรับอาภัพแสน |
หนีขึ้นต้นไม้ก็ พบต่อแตน | จำพำนักพักแคว้นเป็นแดนภัย |
ปางบดินทร์ถิ่นฐานบัญจาลรัฐ | องค์กษัตริย์ท๎รุบทมียศใหญ่ |
เคยรบกับภ๎ราดาทั้งห้าไท | เมื่ออยู่ในจังหวัดหัสดิน |
รบกันมาช้านานบัญจาลราช | ได้พลั้งพลาดแพ้ห้าภ๎ราดาสิ้น |
โท๎รณพราหมณ์เป็นใหญ่ในโยธิน | ยกโทษให้ภูบดินทร์ให้คืนแดน |
จึงจอมภพภูบาลบัญจาลรัฐ | เห็นฝีหัตอรชุนอดุลแสน |
ชาญธนูดูคือฝีมือแมน | ชายในแคว้นธานีไม่มีปาน |
ท้าวเธอปลงหฤทัยใคร่ประสงค์ | อยากได้องค์อรชุนคุณพิศาล |
เปนบุตรเขยคุ้มกันเขตต์บัญจาล | หวังสมานเจ้าห้าพระภ๎ราดา |
ทั้งนี้ทรงคิดไว้มิได้แพร่ | เพราะแล้วแต่พระบุตรีศรีสมร |
จักพิเคราะห์คู่ชมสยมพร | พระภูธรไร้สิทธิ์ดังคิดปลง |
แต่ทรงมั่นพระกมลคิดกลไว้ | กันมิให้สมหวังชายทั้งผอง |
สร้างธนูแข็งใหญ่พระทัยปอง | เพื่อจะลองผู้ยงก่งธนู |
สร้างปลาทองห้อยสายอยู่ปลายหลัก | มuกงจักรหมุนกั้นปลานั้นอยู่ |
ทรงประกาศราษฎร์สิ้นถิ่นชมพู | ใครเป็นคู่พระธิดาผู้ลาวัณย์ |
ก่งธนูได้คล่องไม่ต้องพัก | ยิงลอดจักรต้องตาแห่งปลานั้น |
พอหมดห้าลูกธนูเปนรู้กัน | ทั้งนี้มั่นพระกมลในกลการ |
ว่านักรบทั่วหล้าไม่สามารถ | หมดโอกาสทั่วสิ้นทุกถิ่นฐาน |
พระอรชุนองค์เดียวผู้เชี่ยวชาญ | จักทำการลุสมอารมณ์ปอง |
ทรงตระหนักแน่ในพระทัยมาด | จึงประกาศทั่วเทศแจ้งเหตุผอง |
สยมพรแห่งธิดาหาคู่ครอง | ทั่วถิ่นท้องชมพูรู้ระบิล |
ให้ตบแต่งพระนิเวศน์เขตต์สถาน | ป้อมปราการก่องตาโศภาสิ้น |
สร้างมณฑปพลับพลาหน้าบุรินทร์ | ถางที่ดินปรับพื้นระรื่นตา |
สร้างสนามยิงธนูดำรูล้ำ | สร้างปะรำเรียงรายทั้งซ้ายขวา |
สร้างตำหนักพักเหล่าเจ้านานา- | ประเทศมาแข่งขันประชันกร |
สร้างศาลาอาศัยผู้ไกลถิ่น | ซึ่งถวิลหวังชิงมิ่งสมร |
สองสัปดาห์หน้าบรมสยมพร | พระภูธรเริ่มมีพิธีการ |
แต่งพาราดาดาษราชวัติ์ | ปักธงฉัตรรอบราชนิวาสสถาน |
แต่งมณฑปงามแม้นแมนวิมาน | พื้นเพดานดาษดาวดูพราวพราย |
พวงมะโหดใหญ่น้อยห้อยสลับ | เสาประดับพระวิสูตรัดรูดสาย |
ระยับด้วยสีสันพรรณราย | สลับลายเงินทองผ่องประไพ |
มโหรสพครบครันประชันก้อง | ด้วยฆ้องกลองครื้นครั่นสนั่นไหว |
ราษฎรดื่นดาษเกลื่อนกลาดไป | ผู้ดีไพร่พรั่งพรูมาดูงาน |
ครั้นถึงวันพระพิธีศรีสวัสดิ์ | พราหมณ์กษัตริย์มาสิ้นทุกถิ่นฐาน |
ประชันแต่งอินทรีย์ศรีสคราญ | บริวารแวดล้อมพรั่งพร้อมมา |
เจ้าหน้าที่เชิญนั่งออกคั่งคับ | ตามลำดับยศใครน้อยใหญ่กว่า |
ดูหลามล้นกล่นกลาดดาษดา | มิทันช้าแน่นไปในประรำ |
หน้ามณฑปดื่นดาษทวยราษฎร์รอบ | เป็นคันขอบกันไว้ไม่ถลำ |
พนักงานยืนดูอยู่ประจำ | มิให้ล้ำเลยมาหน้าพระลาน |
ต่างเยียดยัดอัดแอแซ่สนั่น | เบียดเสียดกันเข้ามาล้อมหน้าฉาน |
ชะเง้อแหงนแน่นอยู่คอยดูงาน | บ้างคิดการต่อขาเอาม้ารอง |
บ้างตะกายขวายขวนขึ้นต้นไม้ | เพื่อให้ได้เห็นการงานทั้งผอง |
บ้างเถียงกันอึงมี่แย่งที่มอง | ออกเต็มท้องที่ฐานการพิธี |
ลุเวลากำหนดท๎รุบทราช | ประทับอาสน์โอ่อ่าสง่าศรี |
พระมารดาพาเจ้าเท๎ราปที | ประทับที่แท่นรัตน์ถัดภูธร |
พระหัตถ์ทรงมาลัยประไพพักตร์ | นางพนักงานเคียงเรียงสลอน |
พระญาติล้อมพร้อมหน้าทรงอาภรณ์ | งามบวรแวดวงเป็นกงกำ |
ต่อออกไปเสนาพฤฑฒามาตย์ | กับทวยราชบริวารสคราญล้ำ |
พร้อมด้วยพราหมณ์พฤฑฒ์ครูผู้ประจำ | เพื่อกระทำพิธีศรีสักการ |
เบื้องปะรำซ้ายขวาล้วนดาดาษ | กษัตริย์ชาติเชิดพักตร์อัครฐาน |
ทุรโยธน์โดดเด่นเป็นประธาน | พระกรรณปาณฑพพร้อมซึ่งปลอมมา |
พระกฤษณาวตารชาญสนาม | พระพลรามเรืองเดชผู้เชษฐา |
เจ้ายาทพหลายองค์ก็ทรงมา | อีกราชาสินธูหมู่โอรส |
พระราชาเจดีศรีกษัตริย์ | อีกจอมรัฐโกศลชนบท |
พระราชามัทรราษฎร์พิลาสยศ | นอกกำหนดจากนี้ยังมีมาก |
ทั้งกษัตริย์ทั้งพราหมณ์ออกหลามล้น | ล้วนแต่งตนเต็มที่มีหลาก ๆ |
แน่นปะรำสำรองทั้งสองฟาก | ต่างคนพากภูมิอิ่มกระหยิ่มใจ |
เจ้าปาณฑพมารดาเมื่อมาถึง | ได้ที่พึ่งศาลาพักอาศัย |
ของช่างหม้อพอผ่อนหย่อนฤทัย | เมื่อทราบในเหตุการณ์งานพิธี |
จึงแต่งร่างอย่างพราหมณ์ตามตำรับ | ครั้นเสร็จสรรพมาประณตบทศรี |
พระมารดาลาไปในพิธี | เข้านั่งที่แทรกอยู่ในหมู่พราหมณ์ |
ทุกดวงตาต่างพิศ ‘กฤษณา’ | คือกันยา ‘เท๎ราปที’ ศรีสนาม |
ประหนึ่งจันทร์แจ่มฟ้าสง่างาม | ล้วนมีความหมายมั่นกัลยา |
พอองค์ ‘ธฤษฏทยุมน์ |
น้องพระสร้อยเท๎ราปทีมีสง่า |
ยืนประกาศข้อความตามสัญญา | ต่างตั้งหน้านิ่งฟังสิ้นทั้งปวง |
คำประกาศนั้นว่า “ธิดาเจ้า | พระนางเท๎ราปทีบุตรีหลวง |
พระหัตถ์ทรงมาลาพกาพวง | พระทัยหน่วงหาผู้เป็นคู่รัก |
ก่งธะนูนี้ได้ดังใจมุ่ง | แล้วยิงพุ่งตรงไปลอดใบจักร |
ที่หมุนอยู่ร่ำไปมิได้พัก | ไปถูกจักษุปลาสัญญากัน |
ถ้าเป็นเผ่าผู้ดีศรีสง่า | นางจักเป็นชายาตุนาหงัน” |
แล้วแจ้งนามท้าวพระยาทั่วหน้ากัน | ชี้แจงบรรยายคุณสกุลวงศ์ |
ให้นางฟังโดยย่อแต่พอรู้ | แม้นเจ้าผู้ใดสิทธิ์กิจประสงค์ |
ให้นางนำมาลัยไปสวมลง | ที่ศอองค์เจ้านั้นตามสัญญา |
ต่อนี้เริ่มแข่งขันประชันศิลป์ | แขกทั้งสิ้นล้วนคิดแต่อิดหนา- |
ระอาใจไม่ค่อยจะคล้อยคลา | กลัวขายหน้าแข็งใจเข้าไปลอง |
บางพระองค์ก่งธนูอยู่เป็นพัก | แต่ไม่ยักก่งไหวหทัยหมอง |
บางพระองค์เข้าไปได้แต่มอง | คิดสยองขนกลับมาฉับพลัน |
บางพระองค์คึกคักใจหักหาญ | เผ่นทะยานเร็วรี่ขมีขมัน |
เกร็งพระองค์ก่งธนูใบหูชัน | พัลวันล้มลุกอยู่คลุกคลี |
จนเหงื่อตกงกงันสั่นศีรษะ | เดิรเปะปะเซซังมายังที่ |
สะทกสะเทินเขินใจใช่พอดี | แสร้งทำสีพักตร์ชื่นเหมือนรื่นเริง |
พินิศพักตร์ท้าวพระยาที่มาแขก | เมื่อครั้งแรกดังอุตบลเมื่อชลเจิ่ง |
บัดนี้เหมือนอุตบลที่ลนเพลิง | ต่างนั่งเบิ่งบ่มแค้นแสนทวี |
เห็นเพื่อนเข้าขันแข่งแสร้งยิ้มช่วย | เห็นเพื่อนขวยเขินมาทำตาหยี |
บ้างกระซิบติการงานพิธี | เสียงอู้อี้พึมพำงึมงำไป |
มิช้าถึงพระกรรณเข้าขันแข่ง | เดิรแสดงยิ้มย่องดูผ่องใส |
ยกธนูชูคันก่งทันใด | ก็ขึ้นได้เสร็จสมอารมณ์ปลง |
พระราชาท๎รุบทโอรสราช | ต่างทรงหวาดหวั่นจิตต์พิศวง |
ด้วยพระกรรณต่ำชาติไร้ญาติวงศ์ | เกรงจะทรงสมจิตต์ได้ธิดา |
พอพระนางเท๎ราปทีมีดำรัส | ขอทานทัดทางชาติวาสนา |
พระกรรณบุตรสารถีมีสัญญา | ไม่ควรมาขันสู้เปนคู่ครอง |
พระกรรณปลดลดธนูอดสูจิตต์ | ไปสถิตที่ตนกมลหมอง |
ต่อนี้ไปหลายองค์ได้ทรงลอง | ไม่สมปองสักพระองค์ทรงระอา |
ที่ลองแล้วนั่งดูหดหู่จิตต์ | ไม่สมคิดสมมาดปรารถนา |
แสร้งสำรวลสรวลเสอยู่เฮฮา! | ท้าวพระยาทั่วกันประชันกร |
ฝ่ายพวกพราหมณ์หลามหลากไม่อยากเข้า | เพียงดูเขาคิดแหนงแสยงหยอน |
มีพราหมณ์หนุ่มหนึ่งนายอยู่ท้ายตอน | บทจรรีมาท่าทะนง |
ผู้นั่งใกล้เตือนลั่นสนั่นจ้า | “เราเป็นกาหรือจะสู้กับหมู่หงส์ |
ท่องพระเวทดีกว่าอย่าพะวง | กษัตริย์ทรงชาญรณยังจนใจ” |
บางพวกเห็นขบขันพากันยุ | ว่า “พราหมณ์ลุเลิศดีคัมภีร์ไสย |
ชำนาญจบครบทั่วไม่กลัวใคร | ไป! พ่อไปลองดูให้รู้กัน” |
บ้างคะนึงนิ่งคิดพิศวง | บ้างก็ลงเนื้อเห็นว่าเล่นขัน |
เจ้าพราหมณ์เปลื้องเครื่องห่มพรหมจรรย์ | แล้วผายผันยังที่พิธีการ |
ประทักษิณรอบธนูดูสง่า | ภาวนาน้อมจิตต์อธิษฐาน |
ทุกดวงตาต่างมองจ้องพิจารณ์ | ดูพราหมณ์หาญนั้นว่าทำท่าไร |
เจ้าพราหมณ์หนุ่มกุมธนูขึ้นชูอวด | แล้วก่งพรวดเดียวเสร็จสำเร็จได้ |
ต่างตบมือลือชาออกซ่าไป | และตั้งใจจ้องดูอยู่มิวาย |
เจ้าพราหมณ์ชักลูกธนูขึ้นดูดัด | เห็นสันทัดสมมาดจึงพาดสาย |
ตาเขม็งเกร็งเหนี่ยวยืนเอี้ยวกาย | พอเหมาะหมายลั่นถูกตรงลูกตา- |
แห่งปลาทอง, ตกผางลงกลางพื้น | ต่างฮาครืนตบมือบันลือซ่า |
ท้าวท๎รุบทพร้อมด้วยทวยเสนา- | มาตยากรขึงตลึงแล |
ฝ่ายว่าเจ้าเท๎ราปทีศรีพิลาส | สถิตอาสน์โฉมช่วงดังดวงแข |
ถือมาลัยใจเพ่งเฝ้าเล็งแล | เพื่อรู้แน่ว่าใครจักได้ครอง |
ลอบชมโฉมท้าวพญาทุกหน้าไท้ | ไม่เหมาะใจเลยสักคนกมลหมอง |
เห็นกษัตริย์องค์ใดเข้าไปลอง | สยดสยองยั่นอยู่มิรู้วาย |
ไม่อยากให้ท้าวพญาที่มานั้น | เข้าแข่งขันเสร็จสมอารมณ์หมาย |
จนเห็นหน้าพราหมณ์น้อยจึงค่อยคลาย | หวนกระหายประติพัทธ์กลัดกมล |
เห็นพราหมณ์เพ่งเล็งเป้าเฝ้าประหวัด | น้อมมนัสนึกช่วยอำนวยผล |
พอถูกเบ้าสมหวังพลั้งสกนธ์ | ลืมอายคนทั่วไปลุกไคลคลา |
ถึงพราหมณ์น้อยน้อมก้มประณมไหว้ | นำมาลัยสวมกัณฐ์ด้วยหรรษา |
แซ่สำเนียงเสียงเหล่าชาวประชา | ต่างซู่ซ่าอื้ออึงคะนึงไป |
จะกล่าวถึงท้าวพญาที่มาแขก | อายแทบแทรกดินพ้นจะทนได้ |
เห็นพราหมณ์ป่ากล้าวิ่งมาชิงชัย | ได้มาลัยสวมคอยืนล่อตา |
ด้วยความอายคลายธรรมประจำอาตม์ | มุ่งอาฆาตแค้นคิดริษยา |
ต่างฮัดฮืออื้อฉาวกล่าววาจา | “พวกเรามานั่งดูมันอยู่ไย |
หรือปล่อยให้อ้ายกาเข้าคร่าหงส์ | ให้เสื่อมวงศ์วีรชาติประดาษไร้” |
ชักศัสตราวิ่งพรูกรูเข้าไป | ด้วยหมายใจชิงเอาเท๎ราปที |
ท้าวท๎รุบทพรอบด้วยทวยพระญาติ | ทั้งอำมาตย์เสนาเจ้าหน้าที่ |
หมดสามารถจะระงับดับคดี | ยืนขวางรีอยู่สะพรั่งจังงังงัน |
เจ้าพราหมณ์น้อยชักกะบี่รี่เข้ารับ | ย่างขยับเวียนวกอยู่ผกผัน |
เหล่ากษัตริย์อัดแอแร่เข้าฟัน | พราหมณ์ที่ไปด้วยกันขันชะนะ |
พวกพรามณ์โลดโดดรับขยับท่า | แกว่งศัสตราขวักไขว่มิได้ผละ |
เสียงฉาดฉับรับรองป้องปะทะ | เสียงเอะอะคุกคามคำรามรณ |
ถิ่นสยมพรดูหรูอร่าม | เป็นสนามรบร้าโกลาหล |
เสียงดนตรีเงียบสงัดลงบัดดล | เหลือเสียงคนขู่ตวาดเสียงศาสตรา |
เหล่ากษัตริย์ทั่วหน้าที่มาแขก | ในชั้นแรกหลงเล่ห์เสน่หา |
ที่แก่กายหมายปลื้มลืมชรา | อนิจจา ! นอนตายเรียงรายไป |
มัจจุราชช่างกระไรไม่สมเพช | จะแจ้งเหตุล่วงหน้าก็หาไม่ |
ท่านคงนึกโกรธว่าชะล่าใจ | เดิมมิได้เชิญมาปรึกษาการ |
ขอปวงปราชญ์เมื่อคิดกิจธุระ | จงเชิญพระมัจจุราชผู้อาจหาญ |
มาปรึกษาร่วมด้วยช่วยพิจารณ์ | ยกสังขารขึ้นเสนออย่าเผลอตัว |
มัจจุราชคงมีไมตรีโปรด | ยกคุณโทษชี้แจงให้แจ้งทั่ว |
คงไม่ตายโดยเขลาฤทธิ์เมามัว | อย่างควายวัววอดวายน่าอายคน |
ฝ่ายพระกรรณขันสู้เปนครู่ใหญ่ | ด้วยว่องไวรบรับอยู่สับสน |
ยิ่งเฉียวฉุนหมุนจี๋รี่ประจญ | ลมบ้าหมูวู่วนก็ปานกัน |
ข้างพวกพราหมณ์ก็ชำนาญและหาญกล้า | ที่แขนขาถูกธนูไม่รู้พรั่น |
เลี้ยวตลบรบรุกเฝ้าบุกบัน | พลวันวกเวียนเปลี่ยนอุบาย |
สงสารเจ้าเท๎ราปทีไม่มีขวัญ | พระองค์สั่นเทาอยู่ไม่รู้หาย |
ทุกข์ระทมแทบว่าประดาตาย | นางฟูมฟายอัสสุชลบ่นรำพัน |
“โอ้! อนาถวาสนาของข้าหนอ | เกิดมาก่อทุกข์โทษโหดมหันต์ |
ทำลายเกียรติบิตุรงค์ผู้ทรงธรรม์ | พร้อมด้วยสรรพ์ส่ำญาติอนาถใจ |
สตรีงามทรามกว่าผกาสวย | เพราะฆ่าทวยชายคิดพิสมัย |
อันความงามแห่งผกาไม่ฆ่าใคร | ซ้ำล่อให้ผึ้งชมประสมพันธุ์” |
ต่อรู้สึกปลอดภัยจึงไร้เศร้า | ค่อยบางเบาทุกข์ใจที่ใฝ่ฝัน |
เพราะนางเห็นนักรบสงบกัน | พราหมณ์หนุ่มนั้นอยู่ดีไม่มีภัย |
ด้วยพระกรรณอันชาญในการยุทธ์ | ชะงักหยุดยั้งอยู่สู้ไม่ไหว |
เห็นพราหมณ์เก่งเพลงรณเป็นพ้นใจ | พวกกษัตริย์สู้ไปคงได้ตาย |
จึงถามพราหมณ์เชิงว่าสารภาพ | ว่าตนหลาบเลิกมาดอาฆาตหมาย |
“ดูก่อนท่านผู้เลิศประเสริฐชาย | ท่านเชื้อสายพราหมณ์แท้หรือแปรปลอม |
เราเห็นว่าผิดพราหมณ์ตามพินิศ | ทั้งจริตกิริยาสง่าพร้อม |
ฝีมือรบเก่งกล้านับว่าจอม | พวกเรายอมรับว่าปราชัย |
‘ปรศุราม’ พราหมณ์เดียวผู้เชี่ยวรบ | ฆ่ากษัตริย์ทั่วภพเพรงสมัย |
นอกจากนี้แล้วพรามหณ์มีนามใด | ที่เกรียงไกรการรบไม่พบพาน |
พราหมณ์อนาถวนิพพกระหกระเห็น | เที่ยวดุ่มเดิรด้นหาภิกขาหาร |
รู้แต่พล่ามพูดยอเที่ยวขอทาน | จะเชี่ยวชาญเชิงรณฉงนนัก |
อันนักรบฝีมือที่ลือแซ่ | ก็มีแต่อรชุนอดุลศักดิ์ |
เดี๋ยวนี้ใครไหนมีขอชี้ชัก | ที่หาญหักแข่งขันประจัญเรา |
อรชุนชายเดียวซึ่งเชี่ยวยุทธ์ | ฤทธิรุทรแรงกว่าสู้ข้าเจ้า |
เราพินิจแน่ใจมิได้เดา | นอกจากเขาผู้นี้ไม่มีใคร” |
พราหมณ์หนุ่มผู้มีชัยได้สดับ | พลางยิ้มรับในหน้าแทนปราศรัย |
ต่างพาเจ้ากฤษณาลาครรไล | มุ่งตรงไปที่พักสำนักตน |
สงสารเจ้าเท๎ราปทีเมื่อลีลาศ | พระทัยหวาดว้าเหว่ระเหระหน |
ทั้งสองเนตรย้อยหยัดอัสสุชล | ด้วยจำจนจำใจครรไลจร |
ทรงกระทำอัญชลีเหนือศีรษะ | อาลาพระบิตุรงค์ผู้ทรงศร |
ลาพระราชมารดาด้วยอาวรณ์ | ทรวงสะท้อนเดิรตามเจ้าพราหมณ์ไป |
ฝ่ายพระนางกุนตีศรีวิลาส | ซึ่งประพาสศาลาที่อาศัย |
ตั้งหน้าห่วงหาลูกผูกพระทัย | ซึ่งปลอมไปเที่ยวชมสยมพร |
แห่งนงเยาว์เท๎ราปทีศรีประเทศ | อันทรงเดชบิตุรงค์ผู้ทรงศร |
ก็เคยเป็นไพรีตีนคร | แพ้ลูกยาภ๎ราดรแต่ก่อนมา |
แม้นข้าศึกพานพบประสพพักตร์ | ก็คงจักแค้นคิดริษยา |
เข้ากลุ้มรุมราวีเฝ้าบีฑา | โอ้! ลูกข้าไปดีหรือมีภัย |
พระนางพร่ำรำพันด้วยหวั่นหวาด | จนมิอาจงีบหลับระงับได้ |
พอแว่วเสียงลูกยามาข้างใน | ปลื้มพระทัยถามถึงซึ่งคดี |
ฝ่ายพระลูกทูลคำละล่ำละลัก | “ลูกได้ ‘อัครลาภ’ เลิศประเสริฐศรี |
มาสิ่งหนึ่งจึงมอบพระชนนี | แล้วแต่มีบัญชาประกาศิต |
ด้วยความอิ่มเอิบใจยังไม่ทราบ | ว่า ‘อัครลาภ’ เป็นไฉนไม่พินิจ |
จึงตอบบุตรด้วยมีไมตรีจิตต์ | “เจ้าจงคิดเอออวยใช้ด้วยกัน” |
ภายหลังนางเห็นบุตรสุดที่รัก | พานงลักษณ์ล้วนเลิศงามเฉิดฉัน |
ด้วยจริตกิริยาสารพัน | ประดับสรรพาภรณ์ฉะอ้อนองค์ |
สร้อยสังวาลแวววามอร่ามรัตน์ | นางกษัตริย์แลขึงตะลึงหลง |
ถามพระลูกเรื่องไปได้อนงค์ | ตามที่ทรงกังขาคิดอาวรณ์ |
พระลูกจึงเล่าเรื่องแต่เบื้องต้น | ตลอดจนได้นางกลางสมร |
ทรงยินดีรี่รับจับพระกร | จูงบังอรกฤษณามาข้างใน |
พลางปลดเปลื้องเครื่องทรงอลงกต | พลางพร่ำพจน์ปลอบนางทางปราศรัย |
ให้นงลักษณ์พักผ่อนหย่อนฤทัย | ร่วมณไสยาสน์นางอย่างกันดาร |
ขอย้อนกล่าวข่าวหลังถึงวังราช | เมื่อแขกขาดเสร็จสิ้นกลับถิ่นฐาน |
พระจอมราษฎร์ราชันท้าวบัญจาล | ทรงเดือดดาลอาดูรพูนทวี |
ประทับนั่งนึกหาธิดาราช | อยู่กับอาสน์เปลี่ยวเปล่าเศร้าฉวี |
ให้หงุดหงิดพระหทัยถึงไล่ตี | เจ้าหน้าที่พระกำนัลสนั่นวัง |
ทันใดนั้นทรงยศโอรสราช | ยุรยาตรเข้ามาหน้าที่นั่ง |
บังคมบาทบิตุรงค์พระทรงวัง | พระพักตร์ปลั่งเปล่งศรีฉวีวรรณ |
ทอดพระเนตรพักตร์บุตรเห็นผุดผ่อง | พาขุ่นข้องหฤทัยที่ใฝ่ฝัน |
ให้บรรเทาเบาลงทรงจำนรรจ์ | “ธิดาฉันอยู่ไหนใครได้นาง” |
พระสุรเสียงสั่นเบากระเส่าพร่ำ | “โอ้กรรม ๆ ลูกเอ๋ย ! ไม่เคยร้าง |
เคยสะอาดอรองค์ทรงสะอาง | จะระคางขุ่นแค้นแสนทวี |
แต่นี้เจ้าจักตกระหกระเหิน | ต้องดุ่มเดิรด้นซอกตรอกวิถี |
เที่ยวขอทานเดิรตามพวกพราหมณ์ชี | จะหมดศรีโสภาคย์ผากสลด |
ทานที่เขาการุณย์ทำบุณย์ให้ | เจ้าจักได้ไปเป็นเช่นสมรส |
ภาชนะใส่ภิกขาจะปรากฏ | เป็นเครื่องยศอย่างมงกุฎสุดละอาย |
อนิจจา ! กรรมจริงยิ่งเทวษ | จักสมเพชลูกนางไม่ห่างหาย |
เมื่อยามเห็นลูกเจ้าเผือดเศร้ากาย | เดิรสะพายย่ามอยู่ในหมู่พราหมณ์ |
พ่อได้สร้างบาปไว้ปางไรหนอ | จึงให้พ่อพบบาปอันหยาบหยาม |
โอ้! อับอายขายพักตร์ยศศักดิ์ทราม | ซ้ำได้ความวิประโยคโศกฤทัย |
เหลือระงับดับแล้วลูกแก้วข้า | เหลือปัญญาผันแปรคิดแก้ไข |
ร่างกายจักซูบผอมเพราะตรอมใจ | คงบรรลัยแน่แล้วไม่แคล้วเลย |
พ่อตั้งใจให้เจ้าลำเพาพักตร์ | เป็นคู่รักอรชุน โอ้!บุญเอ๋ย |
ไม่ส่งผลดลให้เจ้าได้เชย | เพราะไม่เคยคู่กันจึงผันแปร |
ความรัญจวญครวญคร่ำร่ำพิลาป | พ่อก็ทราบแต่ต้นไร้ผลแน่ |
โอ้! ครั้งนี้เหลือดับระงับแด | ก็มีแต่ชีวาตมี?จักขาดรอน” |
‘ธฤษฏทยุมน์’ ผู้หนุ่มน้อย | น้องพระสร้อยเท๎ราปทีศรีสมร |
ตั้งพระทัยทูลกิจพระบิดร | พอขาดตอนพระจำนรรจ์ลงทันใด |
ก็ชิงทูลโดยด่วนสวนพระโอษฐ์ | ด้วยปราโมทย์ยิ้มย่องพักตร์ผ่องใส |
‘ข้าแต่พระบิตุรงค์ผู้ทรงชัย | ขอจงได้ดับเศร้าเบากมล |
พราหมณ์ผู้ได้พระพี่มีสกุล | อรชุนปลอมมาอย่าฉงน’ |
พระเนตรอันย้อยหยัดอัสสุชล | แห่งจุมพลโพลงพลันในทันที |
ทรงปลื้มปลาบวาบว่างสร่างพระโศก | พลางชะโงกพักตร์พลันขมันขมี |
“จริงหรือเจ้าจงได้ไขคดี | ให้พ่อนี้ฟังบ้างเป็นอย่างไร” |
พระโอรสกราบทูลซึ่งมลเหตุ | ว่า “พราหมณ์เทศผู้แขกแปลกวิษัย |
เสร็จต่อสู้ไพรีเธอมีชัย | พาพระพี่หนีไปห่างไกลเรา |
ลูกติดตามพราหมณ์ไปมิได้ช้า | ถึงศาลาที่พักสำนักเขา |
เข้าข้างในจำนรรจ์กันเบา ๆ | ลูกจึงเอาหูแอบแนบทวาร |
ฟังตระหนักแน่ชัดรหัสเหตุ | ซึ่งพราหมณ์เทศพากันเฝ้าบรรหาร |
ให้แม่ฟังทั้งสิ้นระบิลการณ์ | ครั้นทราบสารเสร็จสรรพจึงกลับมา |
ห้าพราหณ์หนุ่มคลุมบังด้วยหนังเสือ | พระโปรดเชื่อ,-ปาณฑพครบทั้งห้า |
ปลอมเป็นพราหมณนักสิทธิ์ อนิจจา! | พามารดาดั้นเตร่พเนจร |
ทุรโยธน์ทรยศคิดคดเขา | แกล้งคลอกเผาด้วยไฟให้ไหม้หมอน |
เธอหนีได้ทางอุมงค์ออกดงดอน | พากันจรบากบั่นถึง ปัญจาล” |
สมเด็จท้าวท๎รุบทค่อยหมดเศร้า | ด้วยสำเนาศุภพจน์โอรสขาน |
พระพักตร์อิ่มยิ้มเยื้อนเอื้อนโองการ | ไปบอกท่านมหาเสนาบดี |
ให้สืบความลูกรักประจักษ์แจ้ง | มาแถลงเร็วพลันขมันขมี |
เวลาเช้าเหล่าราชเสวี | ไปยังที่ศาลาแห่งภ๎ราดร |
ต่างหมอบราบกราบกรานเจ้าปาณฑพ | เริ่มปรารกชมชัยในสมร |
แห่งการเลือกคู่ชมสยมพร | แห่งบังอรโฉมเฉลาเท๎ราปที |
“พวกข้าเจ้ามาแจ้งแถลงถ้อย | ในการพลอยปลื้มเปรมเกษมศรี |
ที่ท่านล่วงลุชัยแก่ไพรี | เป็นยอดฝีหัตถ์ทั้งกำลังกาย |
ปรากฏแก่บริษัทขนัดแน่น | ประจำแม่นมั่นอยู่มิรู้หาย |
ไปภายหน้าท่านกวีจะคลี่คลาย | บรรยายยอยกดิลกคุณ |
นักขับร้องก็จะร้องผยองยศ | ให้ปรากฏเกียรติ์เลิศประเสริฐสุนทร์ |
เป็นประวัติยืนอยู่ชูสกุล | เมื่อทวยขุนแข่งขันประชันกร |
พระราชาข้าเจ้าทรงเศร้าจิตต์ | ถึงพระธิดาหลวงทรวงสะท้อน |
เกรงจักไร้คู่ชมสยมพร | นี่แหละก้อนเมฆดำเขากำบัง |
บัดนี้ก้อนเมฆนั้นท่านกำจัด | ให้กษัตริย์ข้าสมอารมณ์หวัง |
ผู้ซึ่งได้พระธิดาสง่าวัง | คืออรชุนจริงจังหรือยังแคลง |
โองการตรัสให้ข้ามาทั้งนี้ | เพื่อสืบเค้าคดีที่กินแหนง |
ชาติสกุลถิ่นที่โปรดชี้แจง | ข้าเจ้าแจ้งอย่างไรจักไปทูล” |
เจ้าปาณฑพตอบคำเหล่าอำมาตย์ | “ท่านประกาศคำไว้ยังไม่ศูนย์ |
ตระหนักแน่แก่เราเปนเค้ามูล | ผู้สมบูรณ์ปฏิบัติกัติกา |
ก็ควรได้พระธิดาดังว่าไว้ | จะอรชุนหรือใครมิได้ว่า” |
อำมาตย์นั่งฟังอยู่ต่างดูตา | ชักสีหน้าขวยเขินสะเทิ้นอาย |
ลำดับนั้นบพิตรยุธิษเฐียร | แก้ฉงนวนเวียนอมาตย์หลาย |
แถลงความเป็นไปเพื่อให้คลาย | จากหมกมุ่นวุ่นวายวิตกใจ |
“เจ้านายท่านทำกลล้นลำบาก | เป็นยอดยากยิ่งล้ำจะทำได้ |
หวังจะยกธิดาผู้ยาใจ | ประทานให้อรชุนพระคุณครัน |
ก็สมหวังดังทรงประสงค์แล้ว | ผู้ได้แก้วกฤษณาตุนาหงัน |
ท่านจงกราบทูลองค์พระทรงธรรม์ | ว่าเขานั้นคือพระอรชุน” |
หมู่อำมาตย์ฟังคำที่ร่ำไข | ต่างดีใจพ้นวิตกที่หมกมุ่น |
ลาปาณฑพนบนอบขอบพระคุณ | ชุลมุนมาทูลมูลคดี |
ท้าวท๎รุบทบดินทร์ปิ่นประเทศ | สดับเหตุปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
รับมารดาห้าเจ้าเข้าบุรี | ให้อยู่ที่วังรัตน์จัดผจง |
ทรงปรารภพระพิธีศรีสมรส | ให้ปรากฏเกียรติ์ดังตั้งประสงค์ |
ระหว่างเจ้าเท๎ราปทีศรีอนงค์ | กับด้วยองค์อรชุนอดุลชาย |
ด้วยความซื่อบริสุทธ์แห่งบุตรห้า | ต่อวาจาชนนีเป็นที่หมาย |
ไม่ยอมคิดบิดเบือนให้เคลื่อนคลาย | เพื่อทำลายคำขานของมารดา |
เธอตรัสให้เอออวยใช้ด้วยกัน | ห้าบุตรมั่นใจแม่นอยู่แน่นหนา |
หากเป็นของอื่นที่มีราคา | ใช้กันห้าองค์เห็นไม่เปนไร |
แต่นี่เป็นโฉมยงเพียงองค์หนึ่ง | ห้าบุตรซึ่งซื่อสัตย์จัดไฉน |
อรชุนก็ไม่ลงปลงพระทัย | รับนางไปเป็นคู่แต่ผู้เดียว |
พระทัยเธอสัตย์ซื่อถือพระเวท | ไม่มีเหตุอื่นหมดให้คดเคี้ยว |
พระพักตร์ไท้ท้าวท๎รุบทสลดเชียว | พระทัยเหี่ยวห่วงเจ้าเท๎ราปที |
ได้เขยผู้ปาณฑพสงบเศร้า | ยิ่งเป็นเจ้าอรชุนพิบุลศรี |
ยิ่งสมมุ่งมาดไว้แต่ไรมี | มาบัดนี้ผลกรรมไม่อำนวย |
จึงตรัสให้มนตรี่ที่ปรึกษา | กับเจ้าห้าปาณฑพสมทบด้วย |
เพื่อแจ้งข้อพิศวงที่งงงวย | ต่างพร้อมด้วยเสนาพลากร |
ไปหาพรหมฤษีมุนีนาถ | พระวยาส |
ได้รับคำบรรยายถวายพร | พยากรณ์พระวยาสเด็ดขาดมา |
“มารดาขานความใด, ไสยเวท | ว่าวิเศษสิทธิ์ศักดิ์ควรรักษา |
เป็นมงคลล้นจะคณนา | ข้อนินทาสิ่งไรมิได้มี |
ให้ปาณฑพห้าองค์ผู้ทรงยศ | ร่วมสมรสพระธิดามารศรี |
องค์หนึ่งครองสองทิวาและราตรี | อย่าได้มีขึ้งเคียดรังเกียจกัน” |
แสนสงสารเท๎ราปทีนารีรัตน์ | เหลือจะขัดพระวยาสทรงหวาดหวั่น |
ด้วยอับอายขายหน้าเฝ้าจาบัลย์ | ไม่เป็นอันสรงเสวยสะเบยองค์ |
พระบิตุราชมาตุรงค์ต่างทรงเศร้า | ด้วยผิดเค้าข้อที่มีประสงค์ |
แต่เคารพพระวยาสผู้อาจองค์ | กับหวังทรงพึ่งห้าพระภ๎ราดร |
จึงตัดเศร้าเบาลงต่างทรงกล่าว | เพื่อโน้มน้าวพระบุตรีศรีสมร |
ให้เบาบางสร่างซาอนาทร | ซึ่งรุ่มร้อนอยู่ในพระทัยนาง |
เจ้าเกรงพระวยาสนาถฤษี | เกรงชนกชนนีจะมีหมาง |
เกรงทวยราษฎร์ญาติมิตรคิดระคาง | จึงหมดทางคัดค้านประการใด |
ท้าวท๎รุบทเห็นว่าธิดานาฏ | ไม่ขัดราชโองการบรรหารไข |
ทรงสร่างทุกข์ยุคยากลำบากใจ | ประกาศให้เริ่มมีพิธีการ |
อภิเศกปาณฑพครบทั้งห้า | กับธิดาท้าวไทในสถาน |
ตามภาษิตพระฤษีผู้มีญาณ | เมื่อเสร็จงาพพระพิธีศรีวิวาห์ |
สมเด็จนางชนนีศรีวิลาส | พาพระราชบุตรีศรีสง่า |
พร้อมพระญาติแห่ห้อมแวดล้อมมา | ยังตำหนักเชษฐาธิบดี |
ครั้นถึงจึงฝากฝังและสั่งสอน | อำนวยพรเสร็จลากันมาที่ |
ยุธิษเฐียรเชิญเจ้าเท๎ราปที | ขึ้นสู่ที่แท่นทองประคองกาย |
แต่พระนางหมางหม่นกมลเศร้า | น้ำเนตรเคล้าคลออยู่มิรู้หาย |
ทรงประณตบทศรีพระพี่ชาย | พลางฟูมฟายชลนัยน์พิไรทูล |
“โอ้! พระพี่พระผู้ดำรูเกล้า | น้องขอเคารพอยู่มิรู้ศูนย์ |
ขอเป็นน้องรองราชบาทมูล | เพื่อเสื่อมซาอาดูรที่อับอาย |
อรชุนมีชัยผู้ได้น้อง | จึงขอรองบาทไท้ดังใจหมาย |
เธอจะเลี้ยงเพียงไหนไม่ละอาย | น้องถวายชีวาตม์เป็นทาสเธอ” |
ยุธิษเฐียรเพียรซับชลเนตร | พลางฟังเหตุนางร่ำพร่ำเสนอ |
ทรงเพ่งพักตร์เพราเพริศอันเลิศเลอ | งานเสมอดวงจันทร์เมื่อวันเพ็ญ |
“โอ้! น้องเอ๋ยมารดาประกาศิต | มิใช่พี่มีจิตต์คิดขู่เข็ญ |
บุตรต้องเคารพทำเพราะจำเป็น | น้องก็เห็นจริงแท้อยู่แก่ใจ |
อรชุนซื่อตรงดำรงสัตย์ | ไม่กล้าขัดวาจามารดาได้ |
ประชาราษฎร์ปราชญ์รู้ทุกผู้ไป | ตามถ้อยไท้พระวยาสประกาศมา” |
พลางอุ้มองค์นุชนาฏสู่อาสน์รัตน์ | ปฏิพัทธ์ในเล่ห์เสน่หา |
หัตถ์ประคองสองถันกัลยา | พระนาสาสูดปรางไม่วางวาย |
สองสนิทพิสมัยพระทัยชื่น | ทุกข์สักหมื่นแสนอย่างก็ห่างหาย |
แรงฤดีดาลปลื้มลืมพระกาย | พระเนตรพรายแพรวพราวเห็นดาวเดือน |
เห็นก้อนเมฆลอยล่องในท้องฟ้า | ผ่านดาราเวียนวนอยู่กล่นเกลื่อน |
มีฟ้าแลบแปลบปลาบวาบสะเทือน | โสตฟังเหมือนฟ้าลั่นอยู่ครั่นครืน |
รู้สึกในนาสาหอมมาเลศ | หอมวิเศษส่งกลิ่นระรินรื่น |
หอมผกาสารพันทุกวันคืน | ไม่หอมชื่นเช่นชู้ฟูหทัย |
สองสราญเริงจิตต์สนิทสนม | ในเชิงชมชูชิดพิสมัย |
เหมือนภมรร่อนร่ายกระหายใจ | พบดอกไม้มัวเฝ้าแต่เคล้าชม |
ผจงแหวกแทรกกลีบผกามาศ | ซึ่งเยิ้มหยาดน้ำหวานตระการฉม |
ลงเกลือกกลั้วเรณูชูอารมณ์ | เฝ้าดูดดมรสกลิ่นด้วยยินดี |
จนรุ่งแจ้งแสงสูรย์จรูญฟ้า | เสียงไก่จ้า! แจ้ว! ขันประชันถี่ |
หอมสายหยุดยามเช้าเร้าฤดี | ทั้งสองศรีฟื้นองค์ร่วมสรงชล |
ร่วมเสวยพระกระยาร่วมปราศรัย | ร่วมครรไลทั่วแหล่งทุกแห่งหน |
ต่างร่วมสุขทุกประการบานกมล | ประจวบจนสองทิวาและราตรี |
ต่อนี้ไปใครบ้างจะอย่างนั้น | ด้วยสองพรากจากกันขมันขมี |
เพราะว่าองค์นงค์เยาว์เท๎ราปที | เป็นของ ‘ภีมเสน’ เช่นสัญญา |
นี่แหละเป็นตำรับฉะบับสอน | แห่งนิกรชนสิ้นในถิ่นหล้า |
สิ่งในโลกปรวนเปรทุกเวลา | ไม่มีสามารถใดจัดให้คง |
ผู้มีลาภหลามล้อมพรั่งพร้อมทรัพย์ | บัดเดียวกลับยากไร้อาลัยหลง |
ผู้ลือชาปรากฏมียศยง | บัดเดียวลงเลวทรามไปตามกัน |
ผู้ได้สุขสำราญเบิกบานจิตต์ | บัดเดียวบิดเบือนโชคกลับโศกศัลย์ |
ผู้ได้รับสรรเสรญเพลิดเพลินครัน | บัดเดียวผันแปรสิ้นถูกนินทา |
นี่แหละคือโลกธรรมประจำสัตว์ | ผู้อุบัติทั่วไปณใต้หล้า |
ย่อมพบเห็นเปนประจำธรรมดา | จะคลาดคลาแคล้วไปเป็นไม่มี |
อาศัยจิตต์คิดยั้งตั้งสติ | ไม่ดำริเป็นอารมณ์คิดข่มขี่ |
นี้เปนธรรมนำเจ้าเท๎ราปที | ให้ปลงชีวาตม์อยู่กับคู่ครอง |
นางจงรักภักดีภีมเสน | จนหมดเวรวายชมประสมสอง |
ถึงเวรองค์อรชุนซึ่งครุ่นปอง | นางกลับนองชลเนตรเทวษครวญ |
สะอึกสะอื้นฝืนหักหนักสะอื้น | เหลือจะฝืนข้อช้ำยิ่งกำสรวล |
แค้นความเก่าเฝ้าช้ำทำกระบวน | ซึ่งรัญจวนจงรักด้วยภักดี |
ฝ่ายองค์พระอรชุนให้ขุ่นข้อง | เห็นพระน้องกำสรดสลดศรี |
ทรงโลมเล้าเอาใจด้วยไมตรี | เท๎ราปทีถอยห่างพลางรำพัน |
“สตรีใดใหนเล่าจะเท่าข้า | ต้องขายหน้าทั่วโลกเฝ้าโศกศัลย์ |
จะมีคู่ดูแปลกผิดแผกธรรม์ | เขาแบ่งกันชมเล่นเป็นกลี |
ต้องหน้าด้านปานว่าแม่ค้าขาย | ขนมร่ายเร่แผ่แลบัดสี |
ผู้ได้เราเขาถือฝีมือดี | ประกวดฝีมือใหม่ก็ได้นาง” |
พ้อให้สมแค้นใจก็ไม่สม | ทรวงระทมโหยไห้มิได้สร่าง |
อรชุนชิดน้องตระกองกาง | พระกรพลางรับขวัญกัลยา |
พระนางยิ่งหยิกข่วนกำสรวลไห้ | ชลนัยน์ฟูมฟายทั้งซ้ายขวา |
ทรงค้อนควักผลักไสอยู่ไปมา | ให้สมสาใจรักซึ่งภักดี |
อรชุนครุ่นจิตต์คิดสงสาร | ที่นงคราญกำสรดสลดศรี |
พระเนตรคลอน้ำเนตรเทวษทวี | กล่าววจีเสียงสั่นรำพันความ |
“ขอน้องรักพักพ้อพอเท่านี้ | ในอกพี่ยอกเจ็บดังเหน็บหนาม |
ที่ทำให้วนิดาพงางาม | ได้รับความอัปยศเหลืออดอาย |
ถึงอย่างไรใจพี่ทวีรัก | ไม่รู้จักจืดจางและห่างหาย |
ถ้าน้องไม่กรุณาก็ท่าตาย | เพราะสุขคลายคลาดสิ้นถวิลครวญ |
บุรพกรรมนำเป็นไปเช่นนี้ | มิใช่พี่บิดผันคิดหันหวน |
ไม่มีสิ่งใดแก้ให้แปรปรวน | น้องไม่ควรแค้นใจตัดไมตรี” |
พลางอิงแอบแนบองค์พระนงลักษณ์ | นางยิ่งผลักเพลาหัตถ์สะบัดหนี |
ด้วยแยบยลมารยาแห่งนารี | เพราะนางมีเสน่หามาแต่เดิม |
อรชุนทราบเล่ห์เสน่ห์นุช | ทำประดุจหน่ายแหนงกันแสงเสริม |
แสร้งแค้นขัดตัดพ้อพูดต่อเติม | มีเนตรเยิ้มย้อยหยัดอัสสุชล |
“อนิจจา ! ความรักอันหนักแน่น | มาคลอนแคลนคลาคลาดนิราศผล |
ข้าเฝ้ารักอรทัยดังไฟลน | เหลือจะทนอยู่แล้วต้องแคล้วจร |
จงยกโทษโปรดให้ที่ได้ผิด | ซึ่งเหิมคิดพันผูกร่วมฟูกหมอน |
ขอฝากองค์มารดาสี่ภ๎ราดร | ขอลาจรจากไปให้ไกลตา” |
พลางจัดแจงแต่งองค์ทรงสะอื้น | พระนางตื่นตกใจรีบไขว่คว้า |
เข้าแย่งยื้อยุดไว้มิให้คลา | ลืมโศกาดูรเฝ้าพะเน้าพะนึง |
“นี่อย่างไร ใกล้ก็จักเฝ้าผลักไส | ครั้นออกไกลกลับยุดเฝ้าฉุดทึ้ง |
ดูสิยังแย่งยื้อทำดื้อดึง | ไฉนจึงหยุดพร่ำ,ไม่รำพัน” |
พระอุ้มองค์นฤมลขึ้นบนแท่น | งามเงื่อนแม้นอมรินทร์ปิ่นสวรรค์ |
เมื่ออุ้มองค์สุชาดาวิลาวัณย์ | ทรงรับขวัญน้องนางพลางประโลม |
เออ!หยุดโกรธเสียบ้างเหมือนอย่างนี้ | เพื่อใหพี่อภิรมย์ได้ชมโฉม” |
หัตถ์ประคองสองเต้าเฝ้าตระโบม | ด้วยแสนโสมนัสกำหนัดใน |
สัพยอกยวนยีทรงซี้ซิก | “โอ๊ย!เอ้า ! หยิกพี่ยาไม่ปราศรัย” |
นางก้มหน้านิ่งอั้นตันฤทัย | ยั่วเท่าไรก็ไม่เอื้อนเยื้อนยุบล |
เพลินอารมณ์สมพาสสวาทชิด | กามฤทธิ์ร้อนรุ่มทุกขุมขน |
รู้สึกว่าจักรวาลบันดาลดล | จลาจลทั่วหล้านภาลัย |
ฟ้ากระหึมครึมครวญป่วนพายุ | ทะเลดุดังลั่นสนั่นไหว |
ต้นไม้ใหญ่โยกเอนระเนนไป | ฝูงสัตว์ไพรพรูวิ่งเป็นสิงคลี |
พระกอดน้องสองหัตถ์กระหวัดแน่น | นึกว่าแท่นโคลงดูไม่อยู่ที่ |
ต่อถูกหยิกเข้าจึงรู้ว่าอยู่ดี | เฝ้าจู๋จี๋จุมพิตเพลินชิดชม |
มิจืดจางจนพรากไปจากห้อง | ‘นกูล’ รองร่วมชิดสนิทสนม |
ต่อไปถึง ‘สหเทพ’ เสพภิรมย์ | สมาคมมิให้หมางระคางใจ |
พระนางทรงจงรักสมัครมาด | ในห้าราชปาณฑพสบสมัย |
ปฏิบัติภรรดาทั้งห้าไท | ต้องตามในวาจาพระอาจารย์ |
พระมารดาปราโมทย์โปรดสะใภ้ | มีพระทัยปลื้มเปรมเกษมศานติ์ |
ค่อยห่างหายคลายเศร้าเนาสราญ | ณเขตต์ขัณฑ์ปัญจาลบุรีรมย์ |
-
๕. อ่าน “ท๎ริยฏะทะยุม” ↩
-
๖. อ่านว่า ‘ว๎ยาด’ คือผู้ร้อยกรองพระเวท, ถ้าเรียกว่าพระวยาสโดด ๆ เช่นนี้ ย่อมหมายถึงพระพรหมฤษี ผู้มีนามว่า กฤษณไท๎วปายน์ (กฤษณ แปลว่าดำ ไท๎วปายน์; แปลว่าชาวเกาะ, เพราะท่านเกิดที่เกาะ) ที่จริงพระวยาสองค์นี้เป็นกษัตริย์ เการพ และปาณฑพโดยตรงทีเดียว เพราะท่านเป็นบุตรหัวปีของนางสัตยวดี ผู้ย่าแห่งกษัตริย์ เการพ และปาณฑพ และท่านเปนบิดาของท้าวธฤตรามฎร์ และ ปาณฑุ โดยตรงด้วย (ดูหมายเหตุท้ายหน้า ๗). ↩