บัดนี้การรบราน่าสยด |
ยิ่งปรากฏร้ายกาจน่าหวาดหวั่น |
เพราะที่สุดแห่งกิจคิดประจัญ |
จวนจะบรรลุเสร็จสำเร็จลง |
พินิศดูแดนดินถิ่นสมร |
มีหญ้าบอนแหลกลุ่ยเป็นผุยผง |
ดื่นด้วยศพนักประจัญผู้ยรรยง |
ม้าช้างลงล้มกลาดปราศวิญญาณ |
มีรถปรักหักจมบ้างล้มคว่ำ |
เห็นกงกำหักกระเด็นอยู่เพ่นพ่าน |
ร่างนักรบหรุบดิ้นจวนสิ้นปราณ |
โลหิตซ่านโซมสาดดังชาดทา |
ที่ล้มตายกายกลาดดื่นดาษทุ่ง |
ส่งกลิ่นฟุ้งเฟื่องกลบตลบหล้า |
ดูยิ่งแสนสมเพชเวทนา |
ดังป่าช้าศพกลาดอนาถนอน |
บ้างบาดแผลเหวอะหวะระดะดาษ |
มือเท้าขาดครวญครางกลางสมร |
ต้องหามกลับจับจุงพะยุงจร |
แลสลอนล้นหลามสนามรณ |
พอรุ่งสางแสงทองขึ้นผ่องฉัน |
ต่อจากวันเการพประสพผล |
คือฆ่าท้าวท๎รุบทปลิดปลดชนม์ |
และรี้พลปาณฑพต้องหลบลาญ |
ธฤษฎทยุมน์โอรสท๎รุบทราช |
คิดอาฆาตศัตรูผู้ประหาร |
พระบิดาภูบดินทร์ถึงสิ้นปราณ |
เธอเตรียมการแก้แค้นแทนบิดร |
พอเสร็จสรรพขับพลเที่ยวค้นคว้า |
ผู้ที่ฆ่าบิตุรงค์ผู้ทรงศร๒๗ |
หวังจะฆ่าให้ม้วยด้วยพระกร |
หรือไม่ก็ม้วยมรณ์ตามบิดา |
พระภีมทราบความหมายจึงผายผัน |
ยึดพระหัตถ์ตรัสบรรยายว่า |
เธอเป็นเด็กอ่อนข้างทางปัญญา |
จักสู้อาจารย์เฒ่าเขาอย่างไร |
โท๎รณาจารย์ปานว่าภักษาหาร |
อันแข็งกร้านหนืดเหนียวสุดเคี้ยวไหว |
เขี้ยวเธอยังอ่อนนักจะหักไป |
จงปล่อยให้ข้าเคี้ยวเพราะเขี้ยวทน |
คือให้เราเข้าแทนแก้แค้นท่าน |
เพื่อรำบาญให้ประจักษ์อีกสักหน |
ผลักเจ้าชายให้กลับแล้วขับพล |
บุกเข้ารณรบรากับอาจารย์ |
ทั้งสองข้างต่างชาญในการยุทธ์ |
เข้ารีบรุดรบร้าด้วยกล้าหาญ |
ตะลุมบอนบุกบันประจันบาญ |
เปนช้านานก็ไม่แพ้ลงแก่กัน |
พระกฤษณ์เห็นรบไปก็ไร้ผล |
เสียรี้พลเสียแรงผู้แข่งขัน |
สองฝีมือยอดเยี่ยมต่างเทียมกัน |
จำต้องหันหาเล่ห์เพทุบาย |
จึงแนะนำทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร |
ให้ผลัดเปลี่ยนเชิงรณคิดขวนขวาย |
ใช้ปัญญาอิงแอบเป็นแยบคาย |
แทนกำลังพลนิกายดังก่อนมา |
ยุธิษเฐียรฟังคำแนะนำนี้ |
ภูบดีมิได้เห็นเช่นปรึกษา |
ทรงเห็นเป็นอธรรม์ผิดจรรยา |
ซึ่งจะพาเกียรติยศให้หมดไป |
ที่ปรึกษาทั้งนั้นฟังบรรหาร |
ทูลทัดทานชี้แจงแถลงไข |
“เล่ห์กลการราญรอนแต่ก่อนไกล |
ไม่มีใครถือว่าเป็นอาธรรม |
นายทัพดีปรีชาย่อมสามารถ |
เฉลียวฉลาดเล่ห์ลมล้วนคมขำ |
รี้พลเป็นเพียงทุนหนุนประจำ |
เพื่อให้ดำเนิรคล่องตามคลองการ |
ข้าบาทขอรับประกันด้วยมั่นจิตต์ |
ว่าไม่ผิดคลองธรรม์อย่างบรรหาร |
ขอพระองค์จงได้ใฝ่พิจารณ์ |
ถึงความผิดคิดพาลแห่งไพรี |
ล้วนกลโกงร้ายกาจอุบาทว์เหลือ |
ไม่เอื้อเฟื้อใฝ่รักซึ่งศักดิ์ศรี |
ให้เรารับยากแค้นแสนทวี |
เรารบนี้เพื่อจักกู้ศักดิ์เรา |
เพียงแต่ใช้เล่ห์กลประจญศึก |
ก็ให้นึกบาปกรรมไม่ทำเขา |
ถ้านึกเกรงศัตรูจักดูเบา |
จะรบเอาอันใดเสียไพร่พล |
ควรอ่อนน้อมไพรีเสียดีกว่า |
ไม่ต้องพร่าชีพไพร่โดยไร้ผล |
พระองค์ลืมแล้วกระมัง, เราหวังรณ |
เพื่อดำกลกู้ธรรมให้ดำรง |
การอธรรมซึ่งเขาเผาปราสาท |
ถ่วงลูกบาศก์ด้วยจิตต์คิดประสงค์ |
ริบสมบัติให้สิ้น, หมิ่นพระองค์ |
กับอนงค์กฤษณาต่อหน้าคน” |
ยุธิษเฐียรฟังคำที่ร่ำไข |
รู้สึกให้ร้อนรุ่มทุกขุมขน |
ด้วยความแค้นแน่นอัดกลัดกมล |
อัสสุชลชุ่มเนตรเทวษทรวง |
ทรงยืนงันนิ่งชะงักพระพักตร์ก้ม |
กลั้นระทมหฤทัยอันใหญ่หลวง |
ที่ปรึกษาภูบดินทร์สิ้นทั้งปวง |
ต่างนึกล่วงรู้ประสงค์ว่าทรงยอม |
จึงพร้อมกันใช้กลประจญศึก |
ด้วยเลศลึกลับลี้วิธีอ้อม |
เพื่อเอาชัยแก่ท่านอาจารย์จอม- |
นักรบเลิศเพริศพร้อมวิชชาการ |
ทันใดนั้นจึงพระภีมราช |
เข้าพิฆาตเข่นฆ่าพญาสาร |
ชื่อ ‘อัสวัตถามัน’ หากบันดาล |
พ้องชื่อบุตรอาจารย์ผู้ร่วมใจ |
พอช้างล้มเสียงร้องก้องสนั่น |
ว่า “อัศวัตถามันชีพกษัย” |
ต่างโจษกันลั่นอึงคะนึงไป |
พอพวกไพรีทราบวาบกมล |
วิตกว่าบุตรชายท่านนายทัพ |
ชีวิตดับหรือไฉนให้ฉงน |
ต่างไปหาอาจารย์ออกลานลน |
เล่ายุบลตามนัยที่ได้ยิน |
โท๎รณาจารย์ฟังไขสงสัยล้น |
ด้วยบุตรคนเดียวให้ใฝ่ถวิล |
หวั่นวิตกอกดังจะพังภินท์ |
ถึงแก่สิ้นคิดอ่านการประจญ |
เพื่อทราบแน่เนื้อความเที่ยวถามไต่ |
ไม่มีใครทราบแจ้งทุกแห่งหน |
วางอาวุธวิ่งข้ามสนามรณ |
มายังค่ายนายพลแห่งไพรี |
ด้วยเชื่อว่าบพิตรยุธันเฐียร |
ไม่พูดเพี้ยนผิดผวนสงวนศรี |
ครั้นมาถึงท้าวไทไขวจี |
ถามเรื่องที่พิศวงกะทรงธรรม์ |
“ข้าแต่ท่านผู้ทรงดำรงสัตย์ |
ไม่เคยตรัสเบี่ยงบิดให้ผิดผัน |
ด้วยมีเสียงอึงอื้อเล่าลือกัน |
ว่าอัศวัตถามันถูกฆ่าตาย |
จะเป็นจริงหรือไฉนข้าใคร่รู้ |
โปรดเอ็นดูข้าเจ้า, เล่าขยาย |
ข้าหวังว่าทรงธรรม์จะบรรยาย |
ให้คลี่คลายสงกาข้าพระองค์” |
ยุธิษเฐียรฟังความให้หวามหวั่น |
เพราะถ้าบรรยายตามความประสงค์ |
ก็เสียข้างทางกลรณรงค์ |
พระจึงทรงตอบไปแต่ใจความ |
ว่า “อัศวัตถามันดับขันธ์แน่” |
โท๎รณะฟังพระกระแสร์ฤทัยหวาม |
ไม่พักหวังตั้งหน้าพยายาม |
จะซักถามเรื่องราวกะท้าวโท |
คิดว่าบุตรตายแน่ไม่แปรผัน |
ลาทรงธรรม์กลับมาหาช้าไม่ |
โทมนัสส์รัดรึงตรึงหัวใจ |
หมดอาลัยที่จะอยู่เป็นผู้คน |
ธฤษฎทยุมน์หนุ่มน่อยซึ่งคอยท่า |
เห็นโท๎รณาจารย์ซบสยบย่น |
ยืนดังหุ่นขุ่นใจไม่ใฝ่รณ |
สมกมลแก้แค้นแทนบิดา |
จึงแผลงศรปราด ๆ สาดประหาร |
ถูกอาจารย์ม้วนคว่ำคะมำหน้า |
ดับสติดับขันธ์ดับปัญญา |
ดับวิชชาเชี่ยวชาญการสงคราม |
ดังดวงไฟไหววับแล้วดับวูบ |
ศรีรรูปนอนพับทับสนาม |
เสียงโยธีนี่นันก็พลันทราม |
เหมือนทำความคารวะผู้ละชนม์ |
บัดนี้ทัพเการพสยบย่อ |
ต่างรีรอเร่รับอยู่สับสน |
ด้วยเสียผู้นายทัพบังคับพล |
แต่ละคนเชี่ยวชาญการประจัญ |
ลำดับนั้นองค์พระทุรโยธน์ |
มิได้โปรดนำพหลพลขันธ์ |
พลางเสด็จรีบมาหาพระกรรณ |
แล้วทรงบัญชาให้นำไพร่พล |
“พระกรรณเอ๋ย ! สงครามณยามนี้ |
ย่อมเข้าที่ใกล้วิบัติถึงขัดสน |
ท่านผู้เดียวเชี่ยวชาญในการรณ |
อาจประจญแก้กันอันตราย |
พระภิษม์ผู้เลิศลือฝีมือรบ |
อาจสังหาญปาณฑพแหลกสลาย |
แต่ลำเอียงรักเขามือเท้าตาย |
ไม่มุ่งหมายชิงชัยด้วยใจจริง |
โท๎รณาจารย์การยุทธ์สุดประเสริฐ |
ก็มาเกิดเห็นแก่ศิษย์ให้คิดกริ่ง |
ด้วยรักศิษย์จิตต์ใจให้ประวิง |
ไม่กล้าชิงชัย, กลับประคับประคอง |
เป็นโชคดีนี่กระไรที่ได้ท่าน |
ไม่มีการขาดตกข้อบกพร่อง |
มีแต่สัตย์สุจริตน้ำจิตต์ปอง |
กุ้เกียรติของเราคืนอยู่ยืนยง |
จงนำทัพขับพลเข้ารณรบ |
ตีปาณฑพให้กระจุยเป็นผุยผง |
เพื่อเชิดชื่อวีรชาติผู้อาจอง |
กู้เกียรติวงศ์เการพตลบไป” |
พระกรรณฟังวาจาบัญชาตรัส |
โสมนัสยินดีจะมีไหน |
กราบลงแทบบาทมูลแล้วทูลไท |
“ข้าแต่พระภูวไนยนเรนทร |
ข้าขอน้อมจิตต์กายถวายสัตย์ |
ปฏิบัติชิงชัยในสมร |
ด้วยจงรักหนักแน่นไม่แคลนคลอน |
จนชีวาตม์ขาดรอน, ในถิ่นรณ” |
แล้วน้อมเกล้าลาพระทุรโยธน์ |
พระพักตร์โชติช่วงสียินดีล้น |
ขับรถคึกฮึกใจนำไพร่พล |
เจ้าประจญโจมตีไม่รีรอ |
ชักรถรุนฝุ่นกลบตลบฟุ้ง |
สะท้านทุ่งเปรี้ยง ๆ ด้วยเสียงล้อ |
พร้อมรี้พลรนรุนหนุนชะลอ |
เป็นที่ย่อแหยงสิ้นทั่วดินแดน |
จิตต์พระกรรณนั้นมาดอาฆาตคิด |
เอาชีวิตอรชุนด้วยครุ่นแค้น |
ตั้งพระทัยใคร่ขยี้ให้บี้แบน |
นี้เป็นแผนภาคต้นรณรงค์ |
อรชุนนั้นไซร้ก็ใฝ่ฝัน |
ล้างพระกรรณเป็นวิธีที่ประสงค์ |
“เการพสิ้นวีรชาติผู้อาจอง |
พระกรรณคงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว |
ถ้าพิฆาตฆ่าฟันพระกรรณได้ |
เการพไร้วีรชาติคงหวาดเสียว |
ดังด้ายสี่เกลียวซึ่งเหลือหนึ่งเกลียว |
ค่อย ๆ เหนี่ยวก็จะขาดพินาศลง” |
ทั้งสองฝ่ายหมายขวัญกันฉะนี้ |
ต่างเข้าตีตามจิตต์คิดประสงค์ |
เมื่อนายทัพขับพลรณรงค์ |
ไม่ช้าตรงมาประจบกระทบกัน |
ต่างสมมาดปราดใส่มิได้ละ |
เสียงเอะอะอึกทึกพิลึกลั่น |
ทหารดาพจาบจ้วงทะลวงฟัน |
พวกหอกผันเผ่นโผนกะโจนแทง |
พวกง้าวเงื้อง้าวฟาดเสียงฉาดฉับ |
เสียงขวับๆ!หวือว่อน,พวกศรแผลง |
ตะลุมบอนบุกบันประชันแรง |
ต่างกำแหงต่อกำแหงแข่งประจัญ |
พระกรรณโถมโหมหักดังจักรหมุน |
อรชุนโหมหักดังจักรผัน |
ต่างบันดาลโทษะไม่ละกัน |
ตัวต่อตัวพัวพันเพ่งผจญ |
ต่างหันเหียนเปลี่ยนท่าเปลี่ยนอาวุธ |
อุดตลุดรุกรับอยู่สับสน |
จนสายัณห์ย่ำพลบสงบรณ |
ด้วยฆ้องกลองกาหลบอกสัญญา |
ทั้งสองข้างต่างขับพลกลับค่าย |
คิดมุ่งหมายรบกันในวันหน้า |
เพราะไม่เสร็จสมมาดตอาตมา |
ยิ่งเพิ่มอาฆาตแค้นแสนทวี |
พระทุรโยธน์ร้อนใจดังไฟสุม |
นัดประชุมพร้อมกันขมันขมี |
พอนายทัพนั่งครบสงบดี |
ท้าวจึงมีบัญชาทรงหารือ |
“ท่านเอ๋ย ! เรารบรับอย่างคับขัน |
สิบหกวันล่วงไปมิใช่หรือ |
เสียรี้พลกลศึกออกลึกลือ |
ผู้มีชื่อเชี่ยวชาญก็ลาญชนม์ |
ดูเถิดเสียย่อยยับนับไม่ถ้วน |
ทั้งนี้ล้วนเสียไปด้วยไร้ผล |
มีแต่บ้าเลือดใส่เสียไพร่พล |
จะมีชัยได้สักหน, ไม่เห็นเลย” |
ทุรโยธน์รับสั่งมาทั้งนี้ |
เพราะว่ามีความในมิได้เผย |
สิบสี่วันล่วงไปไม่สะเบย |
มิได้เคยปลอดโปรงโล่งพระทัย |
ถึงแม้ทัพเธอได้ชัยชะนะ |
ก็ไม่ละล่มพรั่นคิดหวั่นไหว |
ทรงร้อนตัวกลัวศัตรูจักกู้ชัย |
เฝ้าฝักใฝ่ตรึกตรองคิดป้องกัน |
ถ้าเกิดทุกข์ขลุกขลักขึ้นสักหน |
พระกมลหมกมุ่นคิดหุนหัน |
ว่านายทัพลำเอียงไม่เที่ยงธรรม์ |
ทรงแกล้งกลั่นกล่าวว่าสารพัตร |
ติพระภิษม์โท๎รณะไม่ละลด |
ว่ากบฏบากหนีไม่มีสัตย์ |
พอพระทัยในพระกรรณมั่นมนัส |
มุ่งจะผลัดเปลี่ยนให้นำไพร่พล |
อันที่แท้หฤทัยเธอไม่มั่น |
ให้คิดหวั่นแต่ระแวงทุกแห่งหน |
เห็นผู้อื่นเหลวใหลดังใจตน |
จึงร้อนรนรวนเรคิดเปรปรวน |
พระองค์เป็นเช่นฉันไม้บรรทัด |
สำหรับวัดเครื่องประกอบการสอบสวน |
เมื่อบรรทัดไม่จริง, สิ่งทั้งมวล |
ก็ผิดผวนไปทั้งนั้นไม่มั่นคง |
แม้ของแท้แน่นอนไม่คลอนเคลื่อน |
แต่เครื่องวัดเลื่อนเปื้อนก็พาหลง |
ผู้สมัครรักธรรมควรจำนง |
เสาะประสงค์เครื่องวัดที่ชัดจริง |
พระกรรณฟังคำพระทุรโยธน์ |
ซึ่งได้โปรดตรัสถ้อยอย่างอ้อยอิ่ง |
คงเห็นว่านายไพร่ใฝ่ประวิง |
ไม่เข้าชิงชัยดังตั้งพระทัย |
ซึ่งตรัสนี้มุ่งหมายให้นายทัพ |
กราบทูลรับปฏิญญาณศาบานให้ |
เพื่อมิให้หนักหน่วงด้วยห่วงใย |
เธอจึงไขวาจาทูลศาบาน |
“ถ้าพรุ่งนี้อรชุนเข้ารุนรบ |
จักเป็นศพแม่นมั่นอย่างบรรหาร |
ไม่เช่นนั้นข้าบาทก็ขาดปราณ |
อย่างอาจารย์โท๎รณะและพระภิษม์” |
ทุรโยธน์ฟังคำที่ว่าขาน |
ยินดีปานเธอได้ไปดุษิต |
มั่นพระทัยในพระกรรณสำคัญคิด |
ว่าจักสิทธิ์สมหวังดังกมล |
ทรงอวยชัยให้พรแล้วจรกลับ |
ด้วยหมดคับแคบคิดจิตต์ฉงน |
เข้าประทมหลับสนิทปลิดกังวล |
ตลอดจนรุ่งแจ้งแสงตะวัน |
หมอกตลบกลบฟ้าเวลาเช้า |
เสียงดุเหว่าวู้, ! จ้าไก่ป่าขัน |
หอมดอกไม้ในป่าสารพัน |
ส่งกลิ่นรัญจวนใจพวกไพร่พล |
ทุรโยธน์ฟื้นองค์สรงสนาน |
สุคนธ์ธารโปรยปรอยเป็นฝอยฝน |
เสวยเสร็จทรงเครื่องเรืองสกนธ์ |
ขันรถรณยาตราพลากร |
รถพระกรรณลั่นก้องท้องสนาม |
รี้พลหลามล้วนหาญชาญูสมร |
พระศัลย์เป็นสารถีขับรี่จร |
มีธงทิวปลิวสลอนเป็นหลั่นมา |
มุ่งชิงชัยอรชุนด้วยครุ่นแค้น |
ขับรถแล่นแลเล็งเที่ยวเพ่งหา |
มาจนไกลไม่พบประสพตา |
นึกไปว่าไพรีหลบลี้กาย |
จึงกล่าวกับสารถี ดูซี! ศัลย์ |
ข้าศึกยั่นแหยงกลัวมุดหัวหาย |
สารถียืนยันบรรยาย |
ว่า “อรชุนชาติชายผู้ชาตรี |
ยอมสามารถอาจหาญในการรบ |
คงไม่หลบหลีกกายคิดหน่ายหนี |
ท่านแหละควรเตรียมองค์ให้จงดี |
ไม่นานกี่อึดใจคงได้พบ” |
พระกรรณฟังทานทัดสะบัดพักตร์ |
เร่งให้ชักรถรุนฝุ่นตลบ |
โกรธพระศัลย์บั่นบุกเข้ารุกรบ |
ไม่ประสพอรชุนขุ่นพระทัย |
ยุธิษเฐียรเห็นเหล่าพวกเการพ |
ตีตลบล้ำหน้าเข้ามาใกล้ |
ทรงรถรบเร่งขับกองทัพชัย |
ต้านทานไว้มิให้ล้ำรุกรำบาญ |
พลนิษัท๒๘ขัดขวางเข้ากางกั้น |
แต่พระกรรณตีพ่ายกระจ่ายพล่าน |
พ้นนิษัท, พลขันธ์พวกบัญจาล,๒๙ |
พระกรรณราญรบพ่ายกระจายเตียน |
เลยบั่นบุกรุกรุดไม่หยุดหย่อน |
ปะทะทัพภูธรยุธิษเฐียร |
ขับพลพุ่งมุ่งรณไม่วนเวียน |
ดังเสือร้ายหมายเพียรตะครุบวัว |
ทั้งสองทัพขับพลเข้ารณรบ |
ฝุ่นตลบแหล่งหล้าสีฟ้าหลัว |
ต่างยุทธ์แย้งแทงฟันอยู่พันพัว |
สะท้านทั่วถิ่นรณกลทำลาย |
ยุธิษเฐียรแผลงศรสะท้อนลั่น |
ถูกพระกรรณถากไปทางไหล่ซ้าย |
พระกรรณแผลงศรสนองมาต้องกาย |
ธรรมบุตรเกราะกระจายจากพระองค์ |
ถึงกระนั้นบพิตรยุธิษเฐียร |
ทรงพากเพียรต่อสู้ไม่ยู่ย่น |
ม้าพระองค์ล้มดินลงสิ้นชนม์ |
ธงชัยป่นปี้ลงกลางสงคราม |
รถพระองค์กงแยกแตกสลาย |
เลยทะลายแหลกล้มจมสนาม |
ทรงเผ่นลงพสุธาพยายาม |
รบด้วยความบากบั่นไม่พรั่นภัย |
จนต้องศรสำคัญพระกรรณแผลง |
โลหิตแดงดาษโซมชะโลมไหล |
พระกายสั่นรัวริ้วหวิวพระทัย |
ถึงแก่ไพร่พลหลามเข้าหามมา |
ถึงค่ายต่างวางองค์ลงบนแท่น |
ต่างเผ้าแหนฟูมฟักรีบรักษา |
ชำระแผลแก้กันน้ำมันทา |
จนราชาฟื้นองค์ทรงสบาย |
แต่พระองค์ทรงแค้นแน่นมนัส |
ให้ทรงอัดอั้นอยู่ไม่รู้หาย |
ประทมแผ่แน่นิ่งไม่ติงกาย |
ด้วยระคายขัดข้องหมองพระทัย |
พระองค์พ่ายไพรีคราวนี้นั้น |
เป็นสำคัญยิ่งล้นกว่าหนไหน |
ไม่ใช่ท้าวอ้อยอิ่งเรื่องชิงชัย |
และไม่ใช่ท้าวขลาดหวาดกมล |
ไม่ใช่เจ็บบาดแผลถึงแน่นิ่ง |
เป็นเพราะยิ่งตรึกตรองยิ่งหมองหม่น |
ความแค้นกับความเศร้าเข้าระคน |
ให้จุมพลหลับเนตรเทวษตรม |
อรชุนรบราญอยู่ด้านหนึ่ง |
พอทราบซึ่งข่าวศาส์นปานจะล้ม |
รีบผละจากชิงชัยใจระทม |
ให้ผู้รองอยู่ระดมรบไพรี |
เดิรตัวสั่นหวั่นใจเข้าในค่าย |
รีบผันผายเร็วพลันขมันขมี |
เข้าเฝ้าองค์เชฎฐาไม่ช้าที |
พอถึงทำอัญชลีตะลึงลาน |
ยุธิษเฐียรทรงถามด้วยความขุ่น |
“อรชุนหรือใครไฉนท่าน |
ฆ่าอ้ายกรรณแล้วหรือยังขอฟังการณ์ |
เร็ว! จงขานบอกฉันให้ทันที” |
อรชุนคลาไคลเข้าไปชิด |
และพระกฤษณ์ตามไปถึงในที่ |
อรชุนพลันทูลมูลคดี |
“ข้าบาทนี้คือพระอรชุน |
อันพระกรรณนั้นไซร้มิได้ฆ่า” |
ฝ่ายพระกฤษณ์เกรงว่าจะเฉียวฉุน |
ครั้นเห็นว่าพระองค์ยังงงงุน |
พระทัยขุ่นแค้นอย่มิรู้วาย |
จึงบอกใบ้อรชุนกระตุ้นหลัง |
เพื่อให้ยั้งหยุดคำพร่ำถวาย |
แล้วชิงทูลทรงธรรม์บรรยาย |
หวังให้คลายขุ่นแค้นแน่นกมล |
“อรชุนวุ่นราญอยู่ด้านหนึ่ง |
ไม่ทราบซึ่งท้าวไทเพราะไกลล้น |
ครั้นทราบเรื่องภูธรจึงร้อนรน |
รีบมาเฝ้าจุมพลเพราะห่วงใย” |
ยุธิษเฐียรทรงฟังยิ่งคั่งขุ่น |
ทรงเฉียวฉุนพ้อว่าไม่ปราศรัย |
“อรชุน! เธอเป็นไปเช่นไร |
จึงมีใจขลาดเป็นเช่นสตรี |
เธอแต่งกายโอ่อ่าถืออาวุธ |
เป็นนักยุทธ์สารพัตร, แต่บัดสี |
ที่ย่นย่อท้อใจเกรงไพรี |
มิควรที่แต่งกายเป็นฝ่ายรณ |
จงวางศรทิพย์เธออย่าเห่อถือ |
อยู่กับมือท่านไปก็ไร้ผล |
จงมอบให้ใครเขาเข้าประจญ |
แล้วจงด้นหนีให้พ้นภัยพาล |
ไปซุกซอนนอนหลับระงับขลาด |
ให้อ้ายชาติชั่วช้ามันมาผลาญ |
ซึ่งมิตรญาติย่อยยับอัประมาณ |
ปล่อยอ้ายพวกอันธพาลมันมีชัย” |
อรชุนฟังคำธร่ำตรัส |
สารพัตร์พ้อว่าไม่ปราศรัย |
เหยียดเธอเป็นเช่นอย่างคนห่างไกล |
ซึ่งมิใช่พี่น้องร่วมท้องกัน |
แสนพิโรธร้อนใจดังไฟสุม |
เอามือกุมด้ามกระบี่ขมีขมัน |
ลืมสังเกตเชฏฐาตาเปนมัน |
พระองค์สั่นชักกระบี่ต่อพี่ชาย |
พระกฤษณ์เห็นอรชุนโกรธงุ่นง่าน |
มีอาการวิปลาสเกินคาดหมาย |
เกรงจะก่อเกิดเรื่องเคืองระคาย |
จึงยุดกายอรชึนกระตุ้นองค์ |
กระซิบให้เอากระบี่สวมที่ฝัก |
แล้วทรงตักเตือนใจที่ใหลหลง |
ทันใดจึงอรชุนหายงุนงง |
พักตร์ซีดทรงอับอายบรรยายทูล |
“ขอพระองค์ทรงโปรดยกโทษข้า |
ซึ่งหยาบช้าดูหมิ่นนรินทร์สูร |
ด้วยบันดาลโทษะเพิ่มประมูล |
เข้าพอกพูนพาหลงงุนงงไป” |
ธรรมบุตรยุดหัตถ์ตระหวัดสอด- |
พระกรกอดน้องชายบรรยายไข |
“พี่ไม่เอาโทษน้องอย่าหมองใจ |
ลองพระทัยน้องดอกจะบอกตรง |
น้องมิได้มีผิดสักนิดหนึ่ง |
พี่แหละขึ้งขุ่นจิตต์คิดประสงค์ |
จะแก้แค้นไพรีมีจำนง |
เพื่อยุยงยั่วให้ชิงชัยแทน |
ขอโทษพี่ที่หยาบจ้วงจาบเจ้า |
ด้วยร้อนเร่าอารมณ์ระทมแสน |
เจ้าจงออกต่อตีให้บี้แบน |
เพื่อแก้แค้นพี่ยาในครานี้ |
พี่ขออวยพรให้ได้สวัสดิ์ |
เพิ่มพิพัฒน์ไพบูลย์จรูญศรี |
จงพิฆาตฆ่าฟันประจัญตี |
พวกไพรีราบสิ้นทุกถิ่นทาง” |
อรชุนฟังไท้พิไรตรัส |
น้ำเนตรหยัดหยดย้อยอยู่พร้อยพร่าง |
ทูลด้วยเสียงสั่น, แสนแค้นระคาง |
“ข้าขออ้างปฏิญาณศาบานตน |
ข้าขอสวมเกราะนี้ไม่มีปลด |
กว่าจะหมดสิ้นกิจสัมฤทธิผล |
คือฆ่าอ้ายกรรณให้บรรลัยชนม์ |
พระจุมพลจงเห็นเปนพะยาน” |
พลางอำลาไท้ออกมานอกค่าย |
ขึ้นรถร่ายรี่ไปด้วยใจหาญ |
ขับพลเข้าตีฝ่าหน้ากะดาน |
เสียงสะท้านถิ่นยุทธ์เพียงทรุดโทรม |
พระกรรณเห็นอรชุนเข้ารุนรุก |
ขับรถบุกบันฝ่าเข้าถาโถม |
พลสองข้างต่างกรูเข้าจู่โจม |
ต่างหักโหมห้ำหั่นประจัญบาน |
สองนักยุทธ์, ยุทธ์ปะทะไม่ละลด |
สองเผยยศ, ยศอย่างทางทหาร |
สองนักรบ, รบร้ากันมานาน |
สองนักรณ, รณการต่างเทียมกัน |
ครั้งนี้ต่างหมายยุทธ์อย่างสุดฤทธิ์ |
มิได้คิดชีวาตม์ขยาดยั่น |
ต่างแผลงศรสาดส่งดูยงยรร |
ต่างป้องกันศรแสงแผลงประจญ |
ลูกศรแห่งอรชุนหนุนสะพรั่ง |
ส่งเสียงดังหวือ! มาเป็นห่าฝน |
ถูกเการพนายไพร่บรรลัยชนม์ |
ล้มกลิ้งกล่นกลาดพื้นออกดื่นไป |
ศรพระกรรณพรูพรั่งเข้าสังหาร |
ปาณฑพลาญชีพยับไม่นับได้ |
สำเนียงศรศักดิ์สิทธิ์ฤทธิไกร |
สนั่นไหวว่อนหวือ! อยู่อื้ออึง |
อรชุนวุ่นแผลงซึ่งแสงศร |
จนสายกร่อนแผลงปราดก็ขาดผึง |
พัลวันงันงกตกตะลึง |
ทันใดจึงร้องขอต่อพระกรรณ |
เพื่อหยุดรอพอผ่อนซ่อมศรได้ |
ตามแบบในกาลก่อนเคยผ่อนผัน |
คือต่างไม่หักโหมโจมประจัญ |
ข้าศึกอันเสียท่าไร้อาวุธ |
แต่พระกรรณนั้นจ้องปองพิฆาต |
ได้โอกาสแผลงศรไม่หย่อนหยุด |
ไม่ต้องพักฝักใฝ่วินัยยุทธ์ |
ใฝ่แต่รุดรีบราญเพื่อผลาญชนม์ |
อรชุนเชี่ยวชาญการสมร |
หลบลูกศรวุ่นว้าโกลาหล |
พระกฤษณ์ก็ไวว่องทำนองรณ |
ขับรถวนเวียนหันป้องกันนาย |
ต่างหลีกหลบไพรีซึ่งตีต้อน |
จนซ่อมศรเสร็จสมอารมณ์หมาย |
ก็ขับรถรี่รุกบุกตะกาย |
ดังลมร้ายพัดวู่เข้าจู่โจม |
ต่างบันดาลโทษะเข้าประชิด |
สำแดงฤทธิ์แรงกล้าเข้าถาโถม |
สำเนียงขับรถศึกดังครึกโครม |
สำเนียงโทรมศรศรีดังนี่นัน |
ทั้งสองข้างต่างชาญในการรบ |
ทั้งหลีกหลบล่อลองผยองผัน |
จนอ่อนใจไม่แพ้ลงแก่กัน |
ขับรถหันหาช่องจ้องประจญ |
รถพระกรรณเกิดพล้ำถลำหล่ม |
ลูกล้อจมเอียงข้างอยู่กลางหน |
พระกรรณจึงร้องขอให้รอรณ |
ตามยุบลแบบบทกฎสงคราม |
พระกฤษณ์เห็นเป็นท่าจึงว่าขาน |
“โอ้! ผู้ชาญชิงชัยในสนาม |
ท่านก็มีเกียรติยศปรากฏนาม |
ท่านเห็นงามอย่างไรไฉนกัน |
อรชุนขอผ่อนซ่อมศรเขา |
ท่านกลับเข้าราญรอนไม่ผ่อนผัน |
มุ่งประหารด้านดื้อไม่ถือธรรม์ |
เอาเป็นอันเลิกธรรมทางรำบาญ |
ยามท่านพลาดพลั้งเพลียลงเสียท่า |
กลับยื่นหน้าพื้นธรรมมาร่ำขาน |
ท่านถือธรรมยามเพลียจะเสียการณ์ |
ยามโอฬารละธรรม์ไม่ผันยล |
โกงสะการิบทรัพย์ขับเจ้าของ |
นั่นหรือคลองธรรมเลิศประเสริฐผล |
ประจานเจ้ากฤษณาต่อหน้าชน |
นั่นหรือคนมีธรรมอันอำไพ |
อภิมันยุตาย, อุบายท่าน |
รุมกันผลาญเด็กผู้เดียวน่าเสียวไส้ |
โดยไม่มีบาดหมางแต่อย่างไร |
นั่นหรือใฝ่รบอย่างหนทางธรรม์” |
พระกรรณฟังทรงฤทธิ์พระกฤษณ์ไข |
ละอายใจจนงงพระองค์สั่น |
โจนจากรถรี่รุกบุกประจัญ |
โทษะบันดาลกลุ้มเข้ารุมจิตต์ |
อรชุนได้ช่องดังปองหมาย |
ชักศรทิพย์พาดสายหมายชีวิต |
แล้วแผลงลงตรงเศียรไม่เพี้ยนผิด |
ถูกอมิตรล้มผางลงกลางแดน |
พระกายสั่นริกอยู่สักครู่หนึ่ง |
แล้วทะลึ่งเลยชักพระพักตร์แหงน |
สิ้นชีวิต, สิ้นกอบการตอบแทน |
หมดเคืองแค้นคิดหมายทำร้ายใคร |