- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
ขอกลับกล่าวข่าวพระทุรโยธน์ | ซึ่งพิโรธร้อนใจดังไฟผลาญ |
ถือพระองค์เป็นอัครนักรำบาญ | เป็นชายชาญเชิดหล้าเลิศชาตรี |
เมื่อศรภีมต้ององค์ให้ทรงหวั่น | บาดแผลนั้นเล็กน้อยก็ถอยหนี |
พระเสโทโทรมสิ้นทั้งอินทรีย์ | ประหนึ่งชีวิตพรากออกจากกาย |
ความจริงเจ็บปวดไม่เท่าไรนัก | ถ้าแม้นจักเช็ดล้างก็ห่างหาย |
เจ็บที่ลูกศรนั้นพลันทำลาย | ความเลิศชายที่พระองค์ทะนงตัว |
แม้นว่าไท้ถูกตัดหัตถ์หรือบาท | ข้างหนังขาดก็ประทังค่อยยังชั่ว |
ทรงกลุ้มกลัดขัดข้องให้หมองมัว | กายสั่นรัวไร้ข่มสมฤดี |
ทหารห้อมล้อมไท้เข้าในค่าย | เอนพระกายล้มทับกับพระที่ |
โทมนัสส์ขัดแค้นแสนทวี | ภูบดีเดือดร้อนไม่ผ่อนคลาย |
ทรงละห้อยคอยท่าหาพระภิษม์ | ร้อนรนจิตต์เจียนอกฟกสลาย |
เมื่อพระภิษม์มาถึงจึงบรรยาย | ข้อระคายขุ่นใจนั้นให้ฟัง |
“พระภิษม์เอ๋ย! ชีพข้าถึงวาระ | หมดที่จะแก้ไขดังใจหวัง |
พวกปาณฑพรบดีมีกำลัง | ตีเราพังแพ้พ่ายทุกรายไป” |
พระภิษม์ฟังพจนารถ, ประภาษตอบ | ดังระบอบบิดาตรัสปราศรัย |
“ช้าพ่อ! ช้า! อย่าเป็นเด็กเล็ก ๆ ไป | บาดแผลพ่อไม่กระไรกับเด็กซน |
มันลิงโลดล้มพลาดเป็นบาดแผล | ดังเป็นแก่พ่อนั้นสักพันหน |
มันยังไม่โวยวายให้อายคน | พ่ออย่าบ่นดีกว่าเพราะน่าอาย |
เอาน้ำชะแผลนั้นพันด้วยผ้า | สักไม่ช้าแผลนั้นก็พลันหาย |
เอาผ้าโพกท่านก็ได้ไยเสียดาย | ไม่มากมายก็อย่ามากให้ยากไป” |
ทุรโยธน์ตอบว่า “ตัวข้าเจ้า | บาดแผลเท่านี้นั้นไม่หวั่นไหว |
แต่มีความเจ็บช้ำระกำใจ | ด้วยปาณฑพได้ชัยแก่พวกเรา” |
พระภิษม์ฟังพจนารถ, ประภาษไข | “นั่นเห็นไกลเกินจริงเป็นสิ่งเขลา |
ดังที่ท่านคิดคาดดูลาดเลา | เห็นทัพเจ้าปาณฑพแรกรบกัน |
ว่าน้อยไปไม่ครือฝีมือท่าน | ก็เป็นการผิดไกลกับใฝ่ฝัน |
บัดนี้ก็ผิดพลั้งตั้งอนันต์ | เห็นเรานั้นเสียหายมากมายเกิน |
เฝ้าตรมตรอมยอมตายไม่หมายสู้ | ไม่เข้าลู่เข้าทางยังห่างเหิน |
ถึงปาณฑพกว้างขวางทางดำเนิร | การเผชิญชิงชัยเกรียงไกรจริง |
ถึงกระนั้นใคร่ครวญคำนวณเทียบ | ไม่ได้เปรียบเราแม้แต่สักสิ่ง |
ข้าเจ้ารับรองได้ไม่ประวิง | อย่าอ้อยอิ่งอ่อนแอท้อแท้เลย |
การร้อนตัวกลัวภัยไม่พิเคราะห์ | นั่นแหละเพาะภัยพาลเจียวหลานเอ๋ย! |
โทษจะมาปรากฏเพิ่มชดเชย | ภัยซึ่งเกิดเปิดเผยไม่เทียมทัน” |
ทุรโยธน์ฟังว่าอุตส่าห์ข่ม | จิตต์บรรทม, แต่ใจยังใฝ่ฝัน- |
ถึงระบมบาดแผลมาแต่วัน | ซ้ำป่วนปั่นดวงจิตต์ถึงกิจการ |
ตลอดล่วงราตรีไม่มีหลับ | จนกองทัพหุงหาซึ่งอาหาร |
เลี้ยงดูกันอิ่มหนำเตรียมรำบาญ | ศังข์กลองขานก้องลั่นสนั่นแซ่ |
ทุรโยธน์อ่อนใจมิได้หลับ | เอาผ้าซับพันคาดที่บาดแผล |
สรงเสวยท้าวไทมิได้แล | คะนึงแต่กิจการงานสงคราม |
แต่งพระองค์เร็วรี่ขมีขมัน | นำพหลพลขันธ์สู่สนาม |
ทุกกระบวนถ้วนหน้าพยายาม | สำเร็จตามบัญชาต่างคลาไคล |
พระภิษม์จอมทัพเหล่าพวกเการพ | จัดขนบแนวยุทธ์เป็นชุดใหม่ |
เพื่อแก้แค้นไพรีซึ่งมีชัย | เมื่อครั้งได้รบกันในวันวาน |
เอาพลช้างวางรอบเป็นขอบค่าย | ประหนึ่งข่ายเพ็ชร์ห้อมล้อมทหาร |
พลม้า, ราบ, รถ ทั่วถึงยั่วยาน | อยู่ณย่านหย่อมกลางถัดช้างมา |
รถแม่ทัพแต่ละคันจัดสรรเสร็จ | เหล่าม้าเจ็ดจัดไว้ให้รักษา |
พลเกาทัณฑ์สันทัดให้จัดมา | คุมเหล่าพาชีรบอยู่ครบครัน |
พลเกาทัณฑ์แต่ละคน, พลทหาร | ผู้ชำนาญหอกซัดได้จัดสรร |
ไว้เจ็ดคนคอยจ้องช่วยป้องกัน | แล้วเคลื่อนครรไลเข้าเร้ารำบาญ |
อรชุนแลมาเห็นข้าศึก | จัดกองทัพลับลึกล้อมทหาร |
เป็นปึกแผ่นแน่นหนาหน้ากะดาน | เห็นเป็นการซ่อนตัวด้วยกลัวตาย |
จึงปราศรัยทรงฤทธิ์พระกฤษณ์ให้ | “ข้าศึกได้จัดทัพซ้อนซับหลาย |
ยิ่งหนาแน่นก็ยิงดีตีสบาย | เหมือนกับดายหญ้าบอนไม่ร้อนรน |
ที่จัดพลแห่ห้อมให้ล้อมรอบ | เป็นคันขอบคับคั่งก็หวังผล |
เพื่อเป็นที่บังกายท่านนายพล | ช่างเป็นคนแสนขลาดอุบาทว์จริง |
ระวังลมหายใจคอยใฝ่จิตต์ | กลัวโลหิตหลั่งใหลเหมือนใจหญิง” |
พลางขับรถรี่ไปไม่ประวิง | เตรียมเข้าชิงชัยฝ่าหน้ากะดาน |
โท๎รณพราหมณ์นำทัพออกรับหน้า | ขับรถมานอกแนวแถวทหาร |
ท้ารบตัวต่อตัวยั่วรำบาญ | อรชุนวงศ์วานวีรชน |
จึงต้องรับต่อสู้กับครูเฒ่า | ทั้งสองเข้ารบร้าโกลาหล |
ด้วยปรีชากล้าหาญในการรณ | ความอดทนท่วงทีและฝีมือ |
ทั้งสองข้างต่างเลิศประเสริฐสุด | ต่างแย้งยุทธ์ยรรยงดำรงชื่อ |
สงครามใดใหม่เก่าไม่เล่าลือ | เลื่องระบือดุจการรำบาญนั้น |
ทุกคนใครได้เห็น,เหมือนเช่นพบ- | มหรสพเมืองแมนแดนสวรรค์ |
ครั้งนี้เป็นฝีหัตถ์อัศจรรย์ | แห่งทหารเอกอันอุตดมชาย |
โท๎รณาจารย์ต้องศรที่ตอนหลัง | เมื่อกำลังมุ่งรณกมลหมาย |
เข้าต่อสู้อรชุนอยู่วุ่นวาย | รู้สึกกายเหลียวดูหาผู้ทำ |
เห็นราชา ‘ศังข์’ มิตรยุธิษเฐียร | ซึ่งพากเพียรอย่างขลาดอุบาทว์ล้ำ |
แกโกรธยิ่งยิงปราดไม่พลาดพลำ | ราชาศังข์ล้มขะมำมลายชนม์ |
อรชุนเห็นดังนั้นยิ่งพลันแค้น | จะตอบแทนไม่ถนัดเห็นขัดสน |
โท๎รณาจารย์นั้นผู้เปนครูตน | ทำลายชนม์ท่านไม่ได้วินัยมี |
ผละจากท่านโท๎รณะด้วยมะมุ | เข้ารบสุศรมันขมันขมี |
ซึ่งเคยคุมเสนาเข้าราวี | ถึงบูรีกรุงวิราฎอาฆาตกัน |
เข้าบุกรุกคลุกคลีตีกระหนาบ | ทหารราบร่นร่ายต่างผายผัน |
เห็นนายทัพโถมปราดเข้าฟาดฟัน | สุศรมันเศียรขาดเลือดสาดนอง |
พลทหารเห็นนายมลายชีพ | ตกใจรีบร้อนรนย่นสยอง |
อรชุนรุนรณป่นทั้งกอง | แล้วมุ่งจ้องเข้าชิดพระภิษม์ไท |
ทัพปาณฑพได้ชะนะถึงฉะนี้ | ก็ไม่ตีแม่ทัพให้ยับได้ |
กลับต้องย่นร่นถอยย่อย ๆ ไป | จนอ่อนใจเหลือจักเข้าหักราณ |
ทัพพระภิษม์จัดตั้งในครั้งนี้ | ปาณฑพตีจะให้แหลกกลับแตกฉาน |
ภีมกับพระอรชุนรุนรำบาญ | ก็ซ้ำลาญแหลกร่นหนีวนเวียน |
ทัพเการพหักโหมกระโจมไล่ | จนธงชัยบพิตรยุธิษเฐียร |
ถูกฆ่าศึกฟันฟาดลงขาดเตียน | ปาณฑพล่าอาเกียรติ์จนหมดวัน |
ทุรโยธน์มีชัยพระทัยชื่น | มีการรื่นเริงร่าเฮฮาลั่น |
พวกเการพทั่วไปดีใจครัน | เลี้ยงดูกันเอิกเกริกต่างเบิกบาน |
ราตรสิ้นสุดไปจะใกล้รุ่ง | รพีฟุ้งแสงทองขึ้นส่องฉาน |
ทั้งสองทัพขับพลอยู่ลนลาน | เข้ารำบาญแน่นหลามสนามรณ |
วันนี้ภีมสำแดงกำแหงหาญ | ด้วยเห็นปาณฑพพ่ายเป็นหลายหน |
เพิ่มให้ภีมแค้นใจใฝ่ประจญ | ดังกมลพระภิษม์ไม่ผิดกัน |
ครั้งใดฝ่ายปาณฑพรบชะนะ | เพิ่มโทษะให้พระภิษม์คิดกระสัน |
เข้าแก้แค้นคืนชัยใฝ่ประจัญ | เหมือนน้ำอันขึ้นล่องในท้องธาร |
เป็นดังนี้เนื่องแต่สองแม่ทัพ | ภีมและภิษม์เคี่ยวขับแข่งประหาร |
ปาณฑพเสียเชิงชั้นเมื่อวันวาน | ภีมจึงพล่านพลุ่งใจดังไฟฟอน |
ยามเธอใจเย็นอยู่เข้าสู้รบ | ยังน่าพรั่นยั่นสยบแสยงหยอน |
ครั้งนี้โกรธงุ่นง่านเข้าราญรอน | กำลังล้นพลนิกรตั้งร้อยพัน |
เข้าตีกองร้อยเหล่าพวกเการพ | ต่างแหลกหลบหลีกลี้ไม่มีขวัญ |
เธอผู้เดียวเกรี้ยวกราดเข้าฟาดฟัน | เการพผันผายแยกแตกกระบวน |
พระภิษม์เห็นไพรพลอลหม่าน | ขับพลต้านต่อไว้มิให้ป่วน |
ถนอมขวัญกล่อมใจไพร่ทั้งมวล | ร้องโอดครวญก้องดังเสียงกังวาน |
“โอ้! เการพเรืองฤทธิ์กิตติศักดิ์ | นี้หรือรักษาเหล่าเผ่าทหาร |
นี้หรือเการพแข็งแรงรำบาญ | เป็นวงศ์วานกุรราชผู้อาจองค์ |
นี้หรือเกียรติ์เการพตระหลบหล้า | นี่หรือคือความกล้าอันสูงส่ง |
นี่หรือจารีตรธรรม์อันยรรยง | เนื่องจากวงศ์ขัตติยะต้นสกุล |
ทำอย่างนี้หรือสมัครจะรักษา | ความลือชาชื่อเชิดประเสริฐสุนทร์ |
แห่งท่านบรรพบุรุษวุฑฒิคุณ | ให้พิบุลเบิกบานเนิ่นนานไป |
ดูเถิด! ข้าเจ้านี้เสี่ยงชีวิต | แก่อมิตรมากล้นพ้นพิษัย |
ถ้าไม่ได้ค้ำชูจากผู้ใด | คงบรรลัยแน่แล้วไม่แคล้วเลย |
ต่อให้ขนข้ากลายเป็นชายกล้า | ช่วยรบราก็ยังลาญนะท่านเอ๋ย ! |
ขืนพากันหันห่างเหมือนอย่างเคย | เการพเอ่ย ! คงไม่รอดตลอดไป” |
ถ้อยคำนี้น้าวหน่วงซึ่งดวงจิตต์ | ให้กองทัพกลับคิดระลึกได้ |
ต่างกรูกันผันวิ่งเข้าชิงชัย | สู้รบไพรีกลุ้มตะลุมบอน |
เจ้า ‘คันธารี’ หกยกทหาร | เข้าตีปาณฑพด้อยต้องถอยถอน |
หกองค์ทรงม้าขาวพราวอาภรณ์ | ดังหงส์ร่อนร่ายยามข้ามนที |
ต่างประกาศคาดฆ่า ‘อิราวัต’ |
บุตรกษัตริย์อรชุนวิบุลศรี |
แม่นั้นเป็นธิดาวาสุกี | นามนาง ‘อุลูปี’ |
อิธาวัตผู้เดียวขับเคี่ยวสู้ | ตีศัตรูแหลกลุ่ยเป็นผุยผง |
เจ้าคันธารีพลาดพินาศลง | ถึงห้าองค์วอดวายทำลายชนม์ |
เหลือเจ้าคันธารีผู้พี่ใหญ่ | บ้าเลือดไล่แล่นคว้างอยู่กลางหน |
เข้าโจมตีอิราวัตล้มบัดดล | ดับชีพก่อนรี้พลเข้าแก้กัน |
อรชุนบิดาทราบว่าบุตร | เข้าต่อยุทธ์กลางทัพถึงดับขันธ์ |
พิโรธร้ายแรงใหญ่ดังไฟกัลป์ | ศาบานลั่นแหล่งสนามน่าคร้ามกลัว |
ขับรถบุกรุกระดมดังลมกรด | ตีไม่ลดละกรกระฉ่อนทั่ว |
เข้าตะลุมบอนกันอยู่พันพัว | ข้าศึกมั่วสุมกายลงวายปราณ |
‘ฆโฏตกจ’ |
กับนางนาฎ ‘หิฑิมพา’ |
เชื้อรากษสยศยงสืบวงศ์วาน | มีทหารผู้สหายผันผายตาม |
เข้าช่วยพระอรชุนรบรุนหลัง | ไพรีพังเพิกพ่ายกระจายหลาม |
อิราวัตตายลงในสงคราม | จงเกิดความแก้แค้นทดแทนกัน |
ทุรโยธน์แย่งเข้าขับเหล่าช้าง | เพื่อกั้นกางยุทธ์แย้งด้วยแข็งขัน |
ฆโฏตกจรบร้าฝ่าตะบัน | เหล่าช้างผันพ่ายแตกแหลกกระจาย |
มีราชามิตรพระทุรโยธน์ | ไสช้างโลดแล่นขวางหนทางผาย |
ฆโฏตกจก่งศรขึ้นร่อนกราย | คิดมุ่งหมายแผลงให้เป็นไฟฟอน |
พระภิษม์เห็น,ขับพลช่วยรณรุก | ฉุกละหุกกันใหญ่ในสมร |
ทุรโยธน์จึงรอดไม่มอดมรณ์ | แค้นใจต้อนพลห้อมล้อมประจัญ |
ฆโฏตกจถูกล้อมอยู่พร้อมพรัก | น่ากลัวจักลูกจับยิ่งคับขัน |
ทัพปัญจาลหนุนไปช่วยไว้ทัน | จึงเป็นอันรอดได้จากไพรี |
วันที่แปดนี้ผลรณยุทธ์ | ดูประดุจเมฆมัวทั่ววิถี |
ต่างไม่แน่ว่าใครโชคชัยดี | ก็พอมีสัญญาหยุดอย่ารณ |
ทุรโยธน์ยิ่งยลรณกิจ | เธอยิ่งคิดขุ่นใจเห็นไร้ผล |
ชั่วเวลาแปดวันขันประจญ | น้ำหนักพลพอคะนึงก้ำกึ่งกัน |
ข้างฝ่ายเธอเสียหายทั้งหลายแหล่ | เธอทราบแน่นำใจให้ไหวหวั่น |
เห็นทหารพลนายล้มตายครัน | ยิ่งมากวันดูยิงบางเห็นห่างตา |
เดิมมั่นใจไม่นานทัพปาณฑพ | คงสยบย่นย่อไม่รอหน้า |
ด้วยนึกเห็นน้อยพลคณนา | บัดนี้มาผิดหวังยิ่งคลั่งใจ |
ทรงระทมหฤทัยให้ระทด | ทรงสลดเหลือนับไม่หลับใหล |
คะนึงถึงวันพรุ่งยุ่งพระทัย | ให้หนักทรวงห่วงไยมิได้ซา |
ขณะนั้นกรรณะผู้ฉลาด | ได้โอกาสเหมาะใจจึงไปหา |
เข้านั่งแนบแอบใกล้แท่นไสยา | กล่าววาจาโลมเล้าเอาพระทัย |
ตั้งต้นวางยาเมาเป่าพระโสต | ทูรโยธน์ให้งงคิดสงสัย- |
ในความรักภักดีซึ่งมีใน | พระภิษม์ให้แตกร้าวกับท้าวเธอ |
“เป็นความสัตย์ข้าเจ้าไม่เอาผิด | บ้ายพระภิษม์เพิ่มเติมเสริมเสนอ |
ถึงพระองค์อุปถัมภ์ทรงบำเรอ | พระภิษม์เลอเลิศยิ่งเป็นมิ่งชาย |
แต่มีข้อควรคิดพินิจอยู่ | ทรงตรองดูคงไม่ผิดข้าคิดหมาย |
บ้านเมืองที่มีพหลพลนิกาย | แม้นมากหลายโอฬารประการใด |
ถ้านายทัพท้อแท้อ่อนแออยู่ | คงไม่สู้ศึกสมอารมณ์ได้ |
นับวันจักเสื่อมซาปราชัย | นายทัพใหญ่ก็คือหัวแห่งตัวคน |
เขาต้องมีปรีชาและกล้าหาญ | รู้พิจารณ์สังเกตในเหตุผล |
รู้โลมเล้าเอาใจพวกไพร่พล | ปลุกใจให้หาญรณไม่โรยรา |
ทรงพิจารณ์ดูจริตพระภิษม์บ้าง | จะเหมือนอย่างทูลไท้หรือไรหนา |
ข้าบาทเฝ้าใฝ่ใจนึกไตรตรา | จนถึงกล้าทูลด้วยไม่ขวยใจ |
คือเกรงว่าน้ำจิตต์พระภิษม์นี้ | ไม่เป็นที่มั่นคงน่าสงสัย |
คงจะส้อนกลอุบายไว้ภายใน | เหลือวิสัยทราบเหตุสังเกตการณ์ |
แม่ทัพไร้สัตย์ธรรม์คิดปั่นป่วน | เป็นชะนวนนำไฟให้ไหม้ผลาญ |
เผาอาณาจักรให้ประลัยลาญ | ไม่ช้านานเขตต์ขัณฑ์ย่อมบรรลัย” |
ทุรโยธน์ฟังคำร่ำแถลง | ยิ่งคลางแคลงเคลิ้มองค์คิดสงสัย |
ให้อั้นอ้นสนเท่ห์ลังเลใจ | ระแวงในแม่ทัพคับกมล |
ด้วยพระกรรณเชี่ยวชาญในการรบ | อาจรู้ครบในเลศมีเหตุผล |
ทั้งนับถือเป็นสหายร่วมตายตน | ยิ่งเพิ่มสนเท่ห์ใหญ่ในพระภิษม์ |
พระกรรณพักครู่หนึ่งแล้วจึงเล่า | “พระภิษม์เฒ่าเป็นพระปู่ผู้สนิท |
คงรักหลานว่านเครือผู้เชื้อชิด | ไม่มีจิตต์จองผลาญพระหลานยา |
แต่ปาณฑพนั้นเล่าเขาก็หลาน | จึงเป็นการชั่งรักยากหนักหนา |
พระภิษม์ก็ทุรพลชนม์ชรา | ธรรมดาคนแก่ไม่แน่นอน |
คงลำเอียงรักหลานเจ้าปาณฑพ | เพราะเคยรบเร่งร้องทำนองสอน |
ให้คืนเขตต์แก่ห้าเจ้าภ๎ราดร | ตั้งแต่ตอนต้นมาสารพัน” |
ทุรโยชน์ฟัง ๆ ให้คลั่งไคล้ | พระหทัยงวยงงเหมือนทรงฝัน |
ตรัสแสดงขอบใจให้พระกรรณ | “ว่าตัวฉันขอบใจ,เล่าให้ฟัง |
ครั้นพระกรรณลาลับกลับสถาน | พระทัยดาลเดือดกลุ้มแทบคลุ้มคลั่ง |
ออกจากห้องย่องมาละล้าละลัง | ตรงไปยังที่สถิตพระภิษม์ไท |
ถึงปะรำร้องขาน’ประทานโทน | ทุรโยธน์เข้าไปได้หรือไม่ ?” |
พระพิษม์พลันตอบรับโดยฉับไว | เชิญเข้าในที่พักซักยุบล |
“นี่ก็ดึกนักหนาไยมานี่ | สิ่งไรที่พาใจให้ฉงน |
ถึงแก่ขับไล่ท่านให้ลานลน | จากที่นอนร้อนรนเสด็จมา” |
ทุรโยธน์เสียงสั่นรำพรรณไข | “ข้าเสียใจที่กวนด่วนมาหา |
ขณะเมื่อท้าวไทเข้าไสยา | เพราะตัวข้าทุกข์นักแสนหนักใจ” |
พระภิษม์ตรัสโดยพลันไม่ทันเล่า | “ความคิดเก่าสารเลวซึ่งเหลวใหล |
ทำให้ท่านง่านมาหรือว่าไร | หรือทุกข์ใหญ่ยิ่งร้อนนอนไม่หลับ |
เชิญเล่ามา, ข้าระงับให้หลับได้” | ทุรโยธน์พลางไขข้อแค้นคับ |
“ไม่เห็นหรือหัวอกเราตกอับ | ต้องย่อยยับเขามาทุกสายัณห์” |
พระภิษม์เอ๋ย! ความตั้งหวังชะนะ | หรือเราจะปี้ป่นพลขันธ์ |
อาศัยสามารถท่านชาญประจัญ | ประหนึ่งขวัญพวกเราเฝ้าระวัง |
พวกปาณฑพกล้าหาญในการรบ | ต้องหลีกหลบท่านสิ้นต่างผินหลัง |
แต่ไฉนให้เขาเข้าประดัง | ตีเราพังพ่ายหนีทุกทีไป |
โอ้! ท่านได้ปฏิญญาไว้ว่าจัก | ช่วยพิทักษ์เการพสบสมัย |
เกื้อกษัตริย์หัสดินจนสิ้นใจ | เหตุไฉนเป็นฉะนี้เหลือที่ตรอง |
ข้าเจ้าพูดหยาบช้าขมาโทษ | ถ้าท่านโปรดปราณีห้าพี่น้อง |
มีเมตตาการุณย์หนุนประคอง | ปาณฑพดองดวงใจให้ประวิง |
ก็ให้กรรณแทนเถิดประเสริฐกว่า | เพื่อตั้งหน้าต่อตีให้ดียิ่ง |
การณคงจักมีชัยเร็วไวจริง | เพราะไร้สิ่งสงสารท่านผู้ใด” |
พระภิษม์ทรงรันทดตอบพจน์ว่า | “อนิจจา ! ทุรโยธน์โกรธไฉน |
ความหวังท่านหมันแท้ปรวนแปรไป | รบก็ไม่มีผลอย่าบ่นเลย |
รี้พลท่านก่ายกองเป็นของเล่น | ไร้ค่าเป็นตุ๊กตานิจจาเอ๋ย ! |
เพราะเวรกรรมกดไว้มิให้เงย | ได้เฉลยให้ฟังกี่ครั้งมา |
อันรบเพื่อธรรมได้ชัยผล |
เหมือนมีพลเพิ่มเข้าสองเท่าหนา |
รบเพื่ออธรรมนั้นพลันปรา- | ชัย, เช่นว่าเพิกถอนทอนพละ |
ท่านลืมแล้วหรือเรายกเข้าปล้น | สัตวพาหนจังหวัดมัตสยะ |
หวังตีแคว้นแดนวิราฎคาดชะนะ | อรชุนหนุนประทะแต่ผู้เดียว |
พวกเรามีรี้พลออกกล่นกลาด | ต้องพินาศหนีไปในประเดี๋ยว |
ท่านลืมเสียทุกสิ่งจริง ๆ เจียว | ช่างไม่เหลียวดูครั้งหลัง ๆ มา |
เมื่อครั้งพวกคนธรรพ์ประจัญเข้า | โจมจับเอาตัวท่านด้วยหาญกล้า |
อรชุนเข้ารื้อหักขื่อคา | และรบฝ่าแก้กันอันตราย |
บัดนี้ตัวอรชุนหนุนสมทบ | สี่ปาณฑพพร้อมพรั่งกำลังหลาย |
ซ้ำยังได้พระกฤษณ์ฤทธิ์กำจาย | ไปเป็นนายสารถีคอยชี้แจง |
ท่านก็ได้ทราบมาว่าพระกฤษณ์ | มีบุญฤทธิ์เรืองญาณชาญกำแหง |
เทพเจ้าเข้าช่วยอำนวยแรง | ดังกำแพงเพ็ชรกั้นสรรพภัย |
ย่อมประจักษ์ราง ๆ อยู่บ้างแล้ว | จะสอดแคล้วดื้อดึงไปถึงไหน |
พิจารณ์ดูลู่ทางบ้างเป็นไร | เอาแต่ใจแล้วก็เห็นไม่เป็นการ |
ท่านชาตาอาภัพเข้าทับถม | ก็ตามพรหมลิขิตประดิษฐาน |
พระภิษม์ยังทรงกายไม่วายปราณ | จะรบราญตามมีหน้าที่ตน |
ขณะนี้ชีวิตพระภิษม์นั้น | ชิดกระชั้นมรณะอย่าฉงน |
เมื่อพระภิษม์ตายไปจงให้คน | ผู้เรืองรณฤทธิ์ล้ำมาทำแทน |
แต่ขอทูลท่านซ้ำโปรดจำไว้ | การชิงชัยครั้งนี้ถึงดีแสน |
ผลจะถึงพ่ายแหลกต้องแตกแตน | ให้พลแน่นนับล้านไม่ทานธรรม์ |
ครั้นแสงทองส่องใสจะใกล้รุ่ง | ในท้องทุ่งเกลื่อนกล่นพลขันธ์ |
พระภิษม์เร่งจัดทัพโดยฉับพลัน | พระพักตร์นั้นบูดบึ้งน่าพึงกลัว |
พระเนตรแดงดังเพลิงดำเกิงโกรธ | ด้วยถ้อยคำทุรโยธน์รำพรรณยั่ว |
ต้อนพหลพลขันธ์อยู่พันพัว | กมลมัวหมองแค้นแสนระทม |
ขับรถนำผลทหารรำบาญบุก | เข้ารบรุกฝ่าฝันด้วยขื่นขม |
ทั้งสองข้างคลุกคลีตีระดม | รี้พลล้มตายกลาดดาษดา |
เช้าจนเที่ยงเที่ยงจนบ่ายไม่หน่ายหนี | ขับรถรี่เข้าทำลายทั้งซ้ายขวา |
ปาณฑพด้อยถอยท้อไม่รอรา | ดังเนื้อล่าหนีเสือเหลือจะคุม |
รถพระภิษม์ขับมาดังพายุ | ซึ่งพัดดุเกิดก่อมรสุม |
เข้าถาโถมโรมรุกทั่วทุกมุม | ตีตะลุมบอนทั่วไม่กลัวตาย |
ขับรถรุกรบราฝ่าทหาร | ซึ่งเพ่นพ่านพ่ายแยกแตกสลาย |
ข้ามศพซึ่งกลาดกลิ้งไม่ติงกาย | บ้างจวนวายชนม์เกลือกเสือกสกนธ์ |
พอบรรจบพลบค่ำต้องจำยั้ง | ด้วยกลองศังข์สัญญาก้องกาหล |
ขับรถกลับคืนค่ายเสียดายรณ | พอมืดมนมัวฟ้าเข้าราตรี |
แซ่สำเนียงม้ารถคชสาร | เสียงทหารอื้ออึงคะนึงมี่ |
เสียงโหยหวนครวญคร่ำพร่ำวจี | แห่งผู้มีบาดแผลเซ็งแซ่ไป |
บ้างก็หามบ้างพะยุงกันยุ่งเหยิง | จุดคบเพลิงนำทางสว่างไสว |
ต่างเข้าค่ายรายกันเป็นหลั่นไป | ทิ้งทุ่งให้อ้างว้างในกลางคืน |
ทิ้งซากศพม้าช้างอยู่กลางหน | ศพรี้พลกลิ้งกลาดอย่ดาษดื่น |
พายุคึกฮึกโหมอยู่โครมครืน | พัดกลิ่นศพกลบพื้นกระพือไป |
ธรรมบุตรบพิตรยุธิษเฐียร | ให้วนเวียนพระกมลพ้นวิสัย |
เห็นศพญาติกลาดหลามสนามชัย | โลหิตไหลแดงดาษดังชาดทา |
ทรงสังเวชน์หฤทัยให้ละห้อย | พอดึกหน่อยภูวไนยรีบไปหา |
พระกฤษณ์ผู้ทรงธรรม์เรืองปัญญา | พรรณนาข้อสลดระทดใจ |
“สงครามครั้งนี้หนาน่าระทด | ข้าสลดใจล้นไม่ทนไหว |
ญาติต่อญาติมาดหมายกระหายชัย | จนเลือดไหลแดงหลามสนามรณ |
จักเหิมฮึกลึกซึ้งไปถึงไหน | โอ้ ! กรรมใหญ่ข้าหนอมาก่อผล |
ญาติและมิตรแท้ ๆ แปรกมล | เข้าประจญข้านี้ไม่มีลด |
ข้าเจ้าฆ่ามิตรญาติพินาศนั้น | เหมือนฆ่าฟันตัวข้าน่าสลด |
ต่างเชือดเนื้อเถือหนังไม่หวังงด | จะปรากฏโชคชัยเมื่อไรกัน? |
พวกเการพยังชะนะไม่ละลด | พวกเราถดถอยเร่อยู่เหหัน |
ไม่มีกำลังใดใฝ่ประจัญ | เข้ากางกั้นแก้ฤทธิ์พระภิษม์เลย |
โอ้!เหน็ดเหนื่อย,เหนือยเปล่าเฝ้าลำบาก | โอ้! ยุ่งยาก, ยากเปล่าพวกเราเอ๋ย |
โอ้ ! ชีพเสีย, เสียเปล่าเราไม่เคย | โอ้ ! เสวยกรรมเปล่าน่าเศร้าใจ |
โอ้!เสียเลือด, เสียเปล่าเหล่าพหล | โอ้! มอบชนม์ช่วยเรา, มอบเปล่าไซร้ |
พระกฤษณ์เอ๋ยข้าเจ้าเศร้าฤทัย | ที่ญาติใฝ่ฟันฟาดพิฆาตกัน |
จงหยุดการฆ่าฟันกันไม่เถือก | ว่าใครเทือกเถาใคร, กลุ้มใจฉัน |
เราขอกลับคืนไปสู่ไพรวัน | บำเพ็ญธรรม์อีกสักครั้งไม่หวังชัย” |
พระกฤษณ์ทูลทัดทานอยู่นานช้า | หมดปัญญาผันแปรคิดแก้ไข |
ยุธิษเฐียรภูธรทรงร้อนใจ | บรรหารให้หัวหน้ามาประชุม |
จนเที่ยงคืนดื่นดึกทรงปรึกษา | ด้วยวาจารำพรรณอันสุขุม |
พวกนายทัพบรรดามาประชุม | สุดจะทุ่มเถียงองค์พระทรงธรรม์ |
ตกลงส่งหัวหน้าล้วนกล้าหาญ | ไปว่าขานอ้อนวอนพูดผ่อนผัน |
ต่อพระภิษม์จอมทัพโดยฉับพลัน | ในคืนนั้นมิได้ช้าเวลาไป |
ฝ่ายพระภิษม์ต้อนรับนายทัพผอง | ทรงยิ้มย่องสนทนาเชิงปราศรัย |
ฟังวาจาว่าวอนถอนฤทัย | ที่สุดไท้ตอบมาว่าฉะนี้ |
“ถ้าชีวิตข้าคงดำรงไซร้ | ขอรบให้ทุรโยธน์ไม่โลดหนี |
ตามความสัตย์สมดังตั้งวจี | ด้วยเกียรติวีรชาติไม่คลาดคลาย |
ท่านก็รู้อยู่ว่าข้าพเจ้า | อายุเข้าเขตต์จวนด่วนสลาย |
ขอรักษาสัตย์ไว้ไม่ทำลาย | แทนร่างกายข้าเจ้าได้เนานาน |
จึงขอรบตามมีวจีสัตย์ | ตามเยี่ยงขัตติยราชชาติทหาร |
ด้วยรักธรรมตัวข้าขอศาบาน | ไม่รังควานชิงชัยแก่ไพรี |
ผู้พลาดท่าซานซมลงล้มกลิ้ง | หรือผู้ทิ้งศัสตราหรือล่าหนี |
หรือขอความกรุณาให้ปราณี | หรือผู้ที่ยอมแพ้โดยแท้จริง |
หรือหมดแรง, หรือว่าต้องอาวุธ | และไม่ยุทธ์แย้งสู้กับผู้หญิง |
จักดำรงสัตย์ไว้ไม่ไหวติง | ไม่ขอทิ้งสัตย์ธรรม์จนวันตาย” |
หัวหน้าปาณฑพนั่งฟังประภาษ | หมดโอกาสวอนไหว้ดังใจหมาย |
ต่างกราบลามาเฝ้าผู้เจ้านาย | ทูลบรรยายข้อความตามยุบล |
ซึ่งได้ทูลอ้อนวอนของอนง้อ | พระภิษม์พ้อพูดตัดเห็นขัดสน |
ไม่ยอมรับอ้อนวอนไม่ผ่อนปรน | จะขอรณตามสัตย์ไม่ดัดแปลง |
หัวหน้าปาณฑพหนึ่งคะนึงคิด | ตามพระภิษม์ศาบานขานแถลง |
เห็นอุบายหนึ่งดีควรชี้แจง | จึงแสดงแก่พระอรชุน |
“ฟังข้าเจ้า ! เราได้โชคชัยแท้ | เป็นบุญแน่นำปรุงพะยุงหนุน |
พระภิษม์ผู้ซื่อตรงดำรงคุณ | ไม่รบกุลสตรี, ดีกระไร |
ศิขัณฑิน |
กำเนิดเก่าเป็นหญิงจริงหรือไม่ |
ภายหลังเปลี่ยนรูปลักษณ์กับยักษ์ไพร | เพศจึงได้กลับกลายเป็นชายมา |
ถ้าศิขัณฑินนำส่ำทหาร | เข้าต้านทานรบรับเป็นทัพหน้า |
พระภิษม์เห็นคงหลบไม่รบรา | เพราะถือว่าเป็นหญิงไม่ชิงชัย |
ด้วยเธอถือสัตย์มั่นคงผันผละ | เราชะนะมั่นคงไม่สงสัย |
ต้องจัดแจงแต่งทัพโดยฉับไว | ไม่ควรให้ศัตรูล่วงรู้กล” |
อรชุนฟังไขให้พิโรธ | ร้องอุโฆษออกมาก้องกาหล |
“ขายหน้านักศักดิ์ศรีวีรชน | มาเหยียดตนต่ำช้าน่าละอาย |
นักรบผู้สุจริตใครคิดบ้าง | จะแอบข้างหลังกัดอยางสัตว์ร้าย |
เอาผู้หญิงออกหน้าหาอุบาย | ซ่อนความกล้าไว้ภายหลังสตรี |
ข้าเจ้าไม่ขอยลกลอุบาทว์ | แห่งคนขลาดอัปลักษณ์เสียศักดิ์ศรี |
พระภิษม์ผู้ทรงธรรม์เป็นอันดี | ไม่ควรที่ทุจจริตผิดวินัย” |
พระกฤษณ์เห็นอรชุนโกรธงุ่นง่าน | จึงบรรหารเหตุชี้คดีไข |
“ถึงยุคมิคสัญญีแต่นี้ไป | ตามสมัยพระบรมพรหมลิขิต |
ย่อมไม่มีใครแก้ให้แปรผัน | พรุ่งนี้วันมรณะแห่งพระภิษม์ |
เธอซื่อตรงยงยุทธสุจริต | ญาติสนิทรักใครก็ไม่แล |
ท่านจำต้องต่อสู่ผู้พระญาติ | ประเพณีวีรชาติฉะนั้นแน่ |
ใจพระภิษม์คิดประจัญไม่ผันแปร | เพื่อตายแผ่ศักดิ์ศรีวีรชน |
ท่านก็ซึมทราบแน่อยู่แก่จิตต์ | ไฉนคิดเฟือนไปให้ไร้ผล |
ชาตินักรบผู้มีหน้าที่รณ | เข้าประจญกันไฉนจงไตร่ตรอง |
ข้าศึกผู้มุ่งร้ายหมายชีวิต | จะห่างชิดรักชังสิ้นทั้งผอง |
มันก็คือข้าศึกผู้นึกปอง | เพื่อหาช่องฆ่าเราเท่า ๆ กัน |
ข้อซึ่งท่านทานทัด, ข้าตัดสิน | ศิขัณฑินนำพหลพลขันธ์ |
ไม่เห็นเป็นทุจจริตผิดแผกธรรม์ | ถึงเขานั้นเกิดมาเป็นนารี |
บัดนี้เขาก็เป็นชายนายทหาร | เหมือนกับท่านสารพัตร, ไม่บัดสี |
ไม่ใช่กลสับปลับอย่างอัปรีย์ | เหมือนอย่างที่คิดดอกขอบอกทาง” |
อรชุนฟังคำแนะนำนี้ | ก็คลายคลี่กลุ้มกลัดไม่ขัดขวาง |
วันที่สิบรุ่งเช้า, เหล่าเสนางค์ | ก็จัดอย่างปรึกษาเมื่อราตรี |
ศิขัณฑินนำทัพออกรับหน้า | ให้ยาตราพลขันธ์ขมันขมี |
อรชุนหนุนชะลอจรลี | พร้อมเสนีแน่นหลามสนามรณ |
ทุรโยธน์เห็นทหารฝ่ายปาณฑพ | เปลี่ยนนักรบนำทัพขับพหล |
ให้ระแวงหวาดหวั่นพรั่นกมล | บอกยุบลแก่พระภิษม์ด้วยคิดเกรง |
“เปลี่ยนให้ ‘กรรณ’ นำพหลพลทหาร | เขาเชี่ยวชาญเชิงทัพกะฉับกะเฉง |
ท่านเมื่อยล้ามานานแต่กาลเพรง | ตัวท่านเองก็คงรู้อยู่กับใจ |
ประการหนึ่งข้าศึกจะนึกหมิ่น | ว่าเราสิ้นแม่ทัพจึงขับไส |
ให้คนแก่เข้าประจำอยู่ร่ำไป | ถ้าเปลี่ยนใหม่ข้าศึกคงนึกกลัว |
ด้วยเห็นเราเการพมีครบสรรพ | เปลี่ยนนายทัพได้เหมือนกันคงสั่นหัว |
ไม่หมิ่นว่าเราด้อยน้อยกว่าตัว | ขออย่ามัวร่ำไร,เปลี่ยนให้ ‘กรรณ’” |
พระภิษม์ตอบด้วยแค้นแสนพิโรธ | “ทุรโยธน์ฟังหน่อยฟังถ้อยฉัน |
วันนี้ขอรบรุกเข้าบุกบัน | ให้ทัพขันธ์ไพรีหนีกระจาย |
หรือไม่ก็ชีวิตพระภิษม์นี้ | ดับอยู่ที่ท้องทุ่งสมมุ่งหมาย |
ที่จะให้ใครเขาเข้าเป็นนาย | อย่าวุ่นวายเลยพระองค์คงไม่นาน” |
พลางขับรถรี่ไปด้วยใจขุ่น | ร้องท้ารบอรชุนชวนประหาร |
สองนักรบเริ่มเข้าเร้ารำบาญ | ด้วยเชี่ยวชาญเชิงรณพ้นรำพรรณ |
ต่างถาโถมโจมใส่มิได้ผละ | ด้วยมานะเรี่ยวแรงยิ่งแข็งขัน |
นักรบเฒ่าเคล่าคล่องจ้องประจัญ | ดังจักรผันเผ่นเข้าเร้ารำบาญ |
นักรบหนุ่มทุ่มตนผจญรับ | ทั้งคู่ขับเคี่ยวรณกมลหาญ |
อันว่าการชิงชัยในบุราณ | จะเปรียบปานครั้งนี้ไม่มีเลย |
พวกพลอื่นยืนดูอยู่ไสว | ชมชิงชัยสองราอันผ่าเผย |
เสี่ยงซู่ซ่าปรารมภ์กล่าวชมเชย | ด้วยไม่เคยได้พบประสพตา |
เมื่อสองนักรบรณอลหม่าน | ต่างบันดาลโทษะไม่ละหน้า |
ศิขัณฑินได้ทีก็รี่มา | เข้ารบราเบื้องหลังไม่รั้งรอ |
พระภิษม์เหลียวหลังดูก็รู้สิ้น | ศิขัณฑินชาติหญิงยิ่งระย่อ |
จ้องจะยิงยิงไม่ลงทรงชะลอ | พระทัยท้อทอดถอนจนศรพลัด |
อรชุนได้ช่องจ้องพิฆาต | แผลงศรปราดปราดไปด้วยไวหัตถ์ |
ศิขัณฑินช่วยระดมดังลมพัด | รุมกันซัดศรส่งตรงพระภิษม์ |
ลูกศรเสียบพระสกนธ์ทุกหนแห่ง | พระกายแดงด้วยดาษหยาดโลหิต |
จนพระพักตร์มืดมัวไปทั่วทิศ | เพราะด้วยฤทธิ์ศรตรึงรึงพระกาย |
นักรบเฒ่ายืนงันไม่หวั่นจิตต์ | รู้สึกกิจแข่งขันทรงมั่นหมาย |
เป็นแข่งขันเสร็จสรรพสำหรับชาย | ผู้สืบสายศักดิ์ศรีวีรชน |
การประกาศเกียรติศักดิ์แห่งนักยุทธ์ | ถึงที่สุดสมศักดิ์อัครผล |
อ่อนกำลังล้มเอนเบนสกนธ์ | ลงเหนือภาคภูวดลด้วยอาจองค์ |
ล้มเช่นชาติชาตรีถึงที่สุด | แห่งการยุทธ์ยอมล้มไม่งมหลง |
ใฝ่ชีวิตจิตต์เศร้าเฝ้าพะวง | กำสรดทรงเสียใจมิได้มี |
ซ้ำมิให้ใครถอนลูกศรออก | ปล่อยให้ยอกวรองค์อยู่คงที่ |
ลูกศรสักปักสิ้นทั่วอินทรีย์ | ประหนึ่งยี่ภู่ทองรองประทม |
จนตะวันลับฟ้าต่างอย่าทัพ | รี้พลกลับค่ายตนกลประถม |
พระภิษม์ทรงไสยาอย่างน่าชม | เหนือบรมปัจจัตถรณ์ลูกศรรอง |
สิ้นแสงสูรย์ส่องฟ้าดาราดาษ | วิปัลลาสแลหลัวสีมัวหมอง |
เงียบสำเนียงสัตว์ไพรไม่คะนอง | สิ่งทั้งผองดุจว่าเฝ้าอาลัย |
แสงดาราหรุบรู่ดูสลด | รังสีสดแลหมองไม่ผ่องใส |
เห็นพระกายทรงฤทธิ์พระภิษม์ไท | พักตรประไพพรรณ์แข่งกับแสงดาว |
ผะทมทับลูกธนูดูอนาถ | ตากอากาศกลางย่านสะท้านหนาว |
แสงดาราเรื่อรางน้ำค้างพราว | เปนแสงวาวแววตามสนามรณ |
ท่านแม่ทัพเฒ่าชราผู้สามารถ | ไม่หวั่นหวาดอันตรายเท่าปลายขน |
ทรงร่าเริงเชิงชวนยวนกมล | กับฝูงชนแวดล้อมอยู่พร้อมกัน |
แม่ทัพทั้งสองฝ่ายนายและไพร่ | ต่างก็ไปแวดล้อมอยู่พร้อมสรรพ์ |
ธรรมบุตรอรชุนคิดครุ่นครัน | รีบผายผันมาเฝ้าด้วยเศร้าใจ |
ทุรโยธน์พร้อมเหล่าพระเจ้าน้อง | มาประคองค้ำชูอยู่ไสว |
ต่างพรั่งพร้อมล้อมข้างไม่ห่างไกล | ทั้งนายไพร่นั่งเจ่าเศร้ากมล |
ท่านนักรบผู้ชราอุตส่าห์ฝืน | พระพักตร์ชื่นปราศัยไพร่พหล |
บรรทมนึกตรึกไตรใฝ่กมล | เผ้ากังวลทุรโยธน์ผู้โฉดชาย |
ซึ่งอุตส่าห์สอนสั่งครั้งก่อน ๆ | ไม่โอนอ่อนตามคำพร่ำขยาย |
อุตส่าห์ฝืนรำพรรณบรรยาย | เป็นครั้งท้ายอนุศาสน์ญาติชรา |
“นี่แน่ะ!หลานทุรโยธน์ขอโทษหน่อย | โปรดฟังถ้อยอวสานหน่อยหลานจ๋า |
เปนโอวาทญาติบุราณของหลานยา | ก่อนขอลาตายไปด้วยใฝ่ดี |
จงกลับจิตต์ที่กระด้างเหมือนอย่างหิน | ตั้งพักตร์ผินผันรักซึ่งศักดิ์ศรี |
จงหยุดการฆ่าฟันเสียทันที | เหมือนปราณีญาติวงศ์สืบพงศ์พันธุ์ |
ญาติต่อญาติมาดฆ่าบรรดาญาติ | แสนอุบาทว์เหลือประมาณแล้วหลานขวัญ |
เการพเอ๋ยฟังคำเรารำพรรณ | อย่าหมายมั่นมุ่งมาดฆ่าญาติตน |
จงไว้ชีพญาติท่านผู้หาญศึก | ผู้ไม่นึกกลัวตายเท่าปลายขน |
อุตส่าห์ติดตามท่านในการรณ | อุตส่าห์ทนเวทนาแสนอาดูร |
จงไว้วงศ์กุรุราชชาติทหาร | อย่าให้ลานล้มหายละลายศูนย์ |
แม้เชื่อคำข้าเจ้าเป็นเค้ามูล | ต้องเพิ่มพูลความรักสมัครกัน |
ขอจงคืนถิ่นฐานแก่ปาณฑพ | จะประสพสุขเปรมเกษมสันติ์ |
ยุธิษเฐียรเพียรปองซึ่งคลองธรรม์ | คงจะผันผูกรักไม่พักรณ |
ขอจงเหล่าเการพประสพสันติ์ | เข้าผ่อนผันผูกรักอีกสักหน |
ข้าขอร้องสุดท้ายจวนวายชนม์ | ด้วยกมลมุ่งรักและภักดี” |
ทุรโยธน์ยินคำซึ่งร่ำไข | สมเพชน์ไท้ผู้เฒ่าจนเศร้าศรี |
แต่น้ำคำผู้เฒ่าเล่าคดี | ไม่เป็นที่ถูกใจให้ระทม |
เพราะเธอหมายมุ่งผลาญเจ้าปาณฑพ | จะคิดรบริบทรัพย์คอยทับถม |
ไปจนกว่ารี้พลรณระดม | จะแหลกล้มเหลืออยู่แต่ผู้เดียว |
ตามบรรดามานั่งฟังพระภิษม์ | รู้สึกจิตต์วับวาบให้ซาบเสียว |
นั่งน้ำตาคลอตาต่างหน้าเซียว | ฤทัยเหี่ยวนิ่งนั่งฟังคดี |
ฝ่ายพระกรรณผู้คิดริษยา | รีบเข้ามาเยี่ยบพลันขมันขมื |
พระทัยเธอเห่อเหิมในเดิมที | มุ่งแข่งฝีมือรณแต่ต้นมา |
เห็นพระภิษม์เป็นใหญ่ใฝ่อาฆาต | พยาบาทคอยคิดริษยา |
ครั้นเห็นท่านแม่ทัพนอนหลับตา | ประหนึ่งท่าไกรสรนอนสงบ |
สลดใจไม่มาดอาฆาตข้อง | ค่อยเดิรย่องย่างเข้าด้วยเคารพ |
ฝ่ายพระภิษม์ลืมตามาประสพ | ด้วยอยากพบเชิญให้นั่งใกล้องค์ |
ทรงปราศรัยเสียงสั่นว่า “กรรณเอ๋ย! | เราได้เคยแข่งฤทธิ์คิดประสงค์ |
เอาชะนะคะคานการณรงค์ | เฝ้าพะวงริษยากันมานาน |
บัดนี้ถึงที่สุดขอยุตติ | อโหสิกรรมกันพลันสมาน |
ผูกรักใคร่ในกันฉันบุราณ | ก่อนเราลาญชีพไปขอไขความ |
ซึ่งเราปกปิดไว้ไม่ขยาย | ถ้าเราตายจะลำบากเป็นขวากหนาม |
พี่น้องจักต่อสู้กันวู่วาม | พยายามรบกันจนบรรลัย |
อรชุนชาญรบตลบชื่อ | นั่นแหละคือน้องท่านขอขานไข |
ร่วมบิดามารดามาแต่ไร | เทพไทอาทิตย์เป็นบิดา |
นางกุนตีคลอดท่านเป็นการซ่อน | ทิ้งท่านนอนกลิ้งอยู่ซอกภูผา |
เกรงทราบถึงบิตุราชลงอาชญา | เกรงขายหน้าชาวเมืองรู้เรื่องราว |
สารถีพบท่านสงสารสุด | นำไปเลี้ยงเยี่ยงบุตรไม่อื้อฉาว |
กำเนิดท่านจึงมืดมายืดยาว | ผู้รู้ข่าวข้อนี้มีแต่เรา |
อรชุนซึ่งท่านปองหาญหัก | คือน้องรักร่วมท้องอย่าปองเขา |
หวังว่าท่านทราบเหตุรู้เลศเลา | คงบรรเทาความกระหายทำร้ายกัน |
สงครามญาติอย่างนี้กลีแท้ | เป็นการแพ้กับตัวชั่วมหันต์ |
ชื่อว่าทำวงศ์ตระกูลให้ศูนย์พันธุ์ | โปรดผ่อนผันคืนดีเถิดพี่น้อง |
พระกรรณฟังนั่งขึ้งตลึงนึก | ทรงรู้สึกพูมศักดิ์พระพักตร์ผ่อง |
หมดขายหน้าอาดูรอันมูนมอง | ในการต้องถูกประมาทว่าชาติทราม |
แต่ทราบเรื่องอรชุนคู่ขุ่นหมอง | ว่าเป็นน้องร่วมไส้พระทัยหวาม |
ด้วยเกลียดชังตั้งหน้าพยายาม | ทำสงครามฆ่าฟันให้บรรลัย |
เพราะเช่นนี้คำร้องของพระภิษม์ | ไม่น้อมจิตต์แห่งพระกรรณให้ผันได้ |
อ่อนอยู่ครู่เดียวกลับคืนฉับไว | ดังหทัยทุรโยธน์พิโรธแรง |
พอสิ้นพจน์ผู้ชรานัยน์ตาหลับ | นิ่งระงับเวทนาอันกล้าแข็ง |
อยู่บนอาสน์ศรสักสลักแทง | รอกาลแห่งมัจจุราชด้วยอาจอง |
ในระหว่างบริวารทหารห้อม | ต่างนึกน้อมหนักใจอาลัยหลง |
ทุกสายตาจ้องพักตร์นักณรงค์ |
ด้วยพะวงเวทนาน้ำตานอง |
ดูเดือนดาวพราวพร้อยลงน้อยแสง | ไม่เรืองแรงหรุบรู่แลดูหมอง |
เงียบสงัดสัตว์ไพรไม่คะนอง | ตลอดท้องถิ่นรณทุกหนไป |
ท่านนักรบผู้ชรารอวาระ | จวบกาละจันทร์ช่วงเต็มดวงใส |
ท่านผู้ไร้บาปสิ้นมลทินภัย | สงบใจแน่นิ่งไม่ติงตน |
ลมอัสสาสปัสสาสก็ขาดหาย | เหลือแต่กายทอดร้างอยู่กลางหน |
หมดบัญญัติสัตว์มนุษย์เป็นบุทคล | ทิ้งสกนธ์ไว้กับพื้นเหมือนฟืนตอง |
ทิ้งวิโยคโศกเศร้าให้เการพ | จัดการศพจอมพลกมลหมอง |
ด้วยอาดูรพูนเทวษน้ำเนตรนอง | ทุกหมู่กองทั่วหน้าโศกาลัย |
แล้วประชุมนายทัพมาคับคั่ง | หารือตั้งจอมพลเลือกคนใหม่ |
ที่ประชุมตกลงปลงฤทัย | พร้อมกันให้ท่านมหาโท๎รณาจารย์ |
รับหน้าที่แทนพระภิษม์อันสิทธิ์ขาด | มีอำนาจบัญชาโยธาหาญ |
ฝ่ายปาณฑพทราบเรื่องเคืองรำคาญ | ด้วยเป็นการอัปลักษณ์นักประจัญ |
เพราะโท๎รณะเป็นอาจารย์เจ้าปาณฑพ | จำต้องรบครูตัวชั่วมหันต์ |
ด้วยเปนพระกรณีย์ที่สำคัญ | เพื่อป้องกันกู้ธรรมอันอำไพ |
-
๑๕. พระอรชุนมีชายาที่ปรากฏบุตร คือ ๑. นางเท๎ราปที มีบุตร ๕ องค์ (สามีละองค์) ที่เป็นบุตรอรชุนชื่อ ศ๎รุตเกียรติ์. ๒. นางอุลูปี ธิดาพญานาค ชื่อเการพย์ มีบุตรชื่ออิราวัต. ๓. นางจิต๎รางคทา ธิดากษัตริย์มณีปุระ มีบุตรชื่อ พัภ๎รุวาหน. ๕. นางสุภัท๎รา น้องสาวพระกฤษณ์ มีบุตรชื่อ อภิมันยุ. ↩
-
๑๖. ↩
-
๑๗. พระภีมมีชายาที่ปรากฏบุตร ๒ คือ ๑. นางหิฑิมพา ลูกรากษส มีบุตรชื่อฆโฏตกจ (อ่าน คะโตดฺ-กดฺ) ๒. นางพลันธรา ลูกกษัตริย์เมืองกาศี มีบุตรชื่อ สรรพตรัค หรือ สรพัค. ↩
-
๑๘. ↩
-
๑๙. อ่าน ‘ไชยะผล’ แปลว่าผลคือชะนะ ↩
-
๒๐. อ่าน ‘มัตสะหยะ’ แต่เสียง สะ ให้สั้นอย่างอักษรนำ เช่น สมอ. แสม ฯ ล ฯ ↩
-
๒๑. อ่านว่า ‘สิขันดิน’ ที่นี้กล่าวย่อไว้ดังนี้, แต่ที่อื่นกล่าวว่า กำเนิดก่อนเป็นธิดาท้าวกาศีชื่อนางอัมพา ถูกพระภิษม์พามาให้เป็นชายาพระวิจิตรวีรัยผู้น้องชายพร้อมกับนางอัมพิกาและนางอัมพาลิกา น้องสาวนาง. แต่นางได้มั่นไว้อับราชาสัลวะแล้ว พระภิษม์จึงส่งนางไปให้คู่มั่น แต่คู่มั่นไม่รับ รังเกียจว่าไปอยู่กับชายอื่นแล้ว นางแค้นใจเข้าป่าบำเพ็ญตบะอธิษฐานขอแก้แค้นพระภิษม์ พระอิศวรโปรดให้แก้แค้นได้ในชาติหน้า นางจึงเข้ากองไฟตาย ไปเกิดเป็นบุตรท้าวท๎รุบท มีนามว่า ‘ศิขัณฑิน’ และเข้าอยู่ในกองทัพปาณฑพ. ↩
-
๒๒. ‘ณรงค์’ คำนี้ละจาก ‘รณรงค์’ แปลว่าสนามรบ เราใช้ละเช่นนี้ทั่วถึงกันแล้ว เช่นพระยาพิชิตณรงค์ จึงควรใช้ตาม นักณรงค์ คือผู้เชี่ยวชาญในสนามรบ ↩