- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
การที่องค์ทรงฤทธิ์พระกฤษณ์กลับ | จากระงับสงครามตามถวิล |
กลับเปนการยั่วใจผู้ไพริน | ให้เธอผินพักตร์จ้องปองประจัญ |
ไม่ช้าพระทุรโยธน์ผู้โกรธกล้า | ส่งศาส์นท้าทันทีขมีขมัน |
ทรงใช้คำหมิ่นประมาทกาจฉกรรจ์ | มากกว่าบรรหารส่วนชวนสงคราม |
ในคำท้าว่า “ท่านสาบานไว้ | จะชิงชัยแก้เผ็ดให้เข็ดขาม |
เวลานี้เหมาะล้ำจงทำตาม | ให้สมความปรารถนาที่สาบาน |
เราเป็นโจรแย่งชิงทุกสิ่งสิ้น | แย่งชิงถิ่นแว่นแคว้นแดนสถาน |
มเหสีท่านเล่า, เราประจาน | ซ้ำโกงท่านเนรเทศจากเขตต์คัน |
ไหนภีมผู้อวดโอ้กินโลหิต | แห่งกนิษฐ์ทุศศาสน์น่าหวาดหวั่น |
ทุศศาสน์รอคอตกกลัวงกงัน | เชิญมาพลันมาชิมให้อิ่มใจ |
อรชุนอวดเก่งในเพลงศร | ไปซุกซ่อนอยู่หนตำบลไหน |
เชิญสำแดงแสงศรซ่อนทำไม | เพื่อขู่ให้ฝูงเด็กเล็ก ๆ เกรง” |
และอะไรต่ออะไรล้วนไค้แค่น | พูดดูแคลนทับถมเชิงข่มเหง |
ความอาฆาตคิดชังตั้งแต่เพรง | อวดมาเองอื้อฉาวในคราวนี้ |
ยุธิษเฐียรฟังคำทีพร่ำท้า | ไปปรึกษาพร้อมกันขมันขมี |
ตกลงต้องตัดญาติขาดไมตรี | แล้วจึงมีราชศาสน์ประกาศรบ |
ส่งไปยังหัสดินถิ่นอมิตร | เพื่อแจ้งกิจการรณพ้นจะหลบ |
ใช้ถ้อยคำเรียบราบสุภาพครบ | ด้วยอ่อนนบพระเจ้าลุงผะดุงเวียง |
ทุรโยธน์รับศาส์นไม่นานช้า | เกณฑ์พลากรเอิกเกริกเสียง |
เกณฑ์พลพลฉกรรจ์สรรทุกเชียง | เกณฑ์สะเบียงอาวุธยุทธภัณฑ์ |
ฝ่ายเมืองออกนอกในมิได้ช้า | เกณฑ์ผลากรสรรพยกทัพขันธ์ |
มายังกรุงหัสดินสิ้นด้วยกัน | ไม่นานวันพลรบก็ครบสรรพ |
ทุรโยธน์บัญชาประกาศิต | ตั้งพระภิษม์แก่หง่อมเป็นจอมทัพ |
ตั้งโท๎รณาจารย์เฒ่าเข้ากำกับ | ให้บังคับปีกขวาเสนาพล |
ตั้งพระลุศกุนิริพิฆาต | ถ่วงลูกบาศก์บอกข้อคิดฉ้อฉล |
ให้ช่วยโท๎รณาจารย์คิดการรณ | และให้พลพารา ‘คันธารี’ |
มือถือทวนล้วนขี่พาชีครบ | เข้าสมทบปีกขวามอบหน้าที่ |
ตั้งทุศศาสน์น้องรักผู้ภักดี | คุมโยธีปีกซ้ายเปนนายพล |
ธฤตราษฎร์ราชาละล้าละลัง | ยกตามหลังเพื่อสังเกตซึ่งเหตุผล |
ให้สญชัยสารถีชี้ยุบล | ทูลรายงานการรณแก่ทรงธรรม์ |
ลุเวลารุ่งรางสว่างหล้า | สั่งให้คลาเคลื่อนพหลพลขันธ์ |
เป็นกระบวนจตุรงค์อังยงยรร | ออกจากคันเขตต์รัฐหัสดิน |
แซ่สำเนียงพลไกรครรไลเลื่อน | ก้องกระเทือนทั่วเขตต์ประเทศถิ่น |
เสียงเท้าม้าคลาคล่ำย่ำแผ่นดิน | เสียงพลสิ้นด้วยกันสนั่นไป |
เสียงม้าช้างร้องลั่นสนั่นหล้า | เสียงรถคลาเคลื่อนลั่นสนั่นไหว |
ผงคลีมืดมรคาที่คลาไคล | หญ้าและไม้ปี้ป่นด้วยคนเดิร |
เร่งขับพลด้นไคลต่างใจกล้า | ทหารม้าวิ่งเหยาะดังเหาะเหิร |
เปนเหล่า ๆ แต่ล้วนด่วนดำเนิร | ข้ามโขดเขินเขาไม้ไม่ระอา |
ทหารช้างเชิดขอไม่ย่อย่น | ไสช้างด้นดั้นไคลมิได้ช้า |
พวกนายทัพขับรถไม่ลดลา | เทียมด้วยม้าพ่วงพีมีกำลัง |
สารถีกำกับนั่งขับรถ | ให้เลี้ยวลดสมหมายดังนายสั่ง |
ทหารราบแน่นหนาดาประดัง | เป็นเหล่าๆ แลสะพรั่งคับคั่งไป |
ล้วนแต่งตนตามเหล่าดูเพราเพริศ | สวมเสื้อเทริดงามงดสีสดใส |
ถือศัสตราตามเหล่าเต้าคระไล | เหล่าหน้าไม้ดาพโล่ห์เหล่าโตมร |
เหล่าถือทวนเชิดชูดูยะยาบ | เหล่าถือดาพสองมือเหล่าถือศร |
ดูดังคลื่นดื่นมาเต็มสาคร | เป็นตอนๆ ตามกันเต็มมรรคา |
ฝ่ายข้างเจ้าปาณฑพเตรียมครบสรรพ | ล้วนกองทัพโยธีที่อาสา |
ยุธิษเฐียรจัดสรรทรงบัญชา | ‘ธฤษฏทยุมน์’ |
เปนจอมทัพนำทหารฝ่ายปาณฑพ | ตั้งแต่งครบเสนาตามหน้าที่ |
อนึ่งชายหนุ่มกล้ายอดชาตรี | ก็คือศรี ‘อภิมันยุ’ ยรรยง |
ผู้บุตรพระอรชุนอดุลศักดิ์ | กับนงลักษณ์ ‘สุภัทรา’ นวลหงส์ |
ผู้พระน้องของพระกฤษณ์ฤทธิรงค์ | เป็นเอกองค์อาจหาญการสงคราม |
เทียบจำนวนแห่งพหลพลรบ | พลปาณฑพยังเป็นรองสองกับสาม |
ครั้นได้ฤกษ์เรืองรณมงคลยาม | เดิรพลหลามเลื่อนออกนอกบุรี |
เสียงฆ้องกลองก้องกึกพิลึกลั่น | ประดังกันแซ่ซ้องก้องวิถี |
ฝุ่นตลบกลบดงเป็นผงคลี | ด้วยฤทธิ์ฝีเท้าพลด้นครรไล |
พลขันธ์บรรลุ ‘กุรุเกษตร’ | เป็นประเทศที่ทางทุ่งกว้างใหญ่ |
พอปะทะรี้พลสกลไกร | แห่งพวกไพรีรัฐหัสดิน |
ทั้งสองฝ่ายหมายมุ่งเอาทุ่งนี้ | เป็นแดนกรีฑาเทิดล้ำเลิศถิ่น |
ดังสภาโรงธรรมอัมรินทร์ | ที่ตัดสินยุกติธรรมนักรำบาญ |
ทั้งสองทัพยับยั้งต่างตั้งค่าย | ทั้งสองฝ่ายเกณฑ์พลอลหม่าน |
ปันหน้าที่ถี่ถ้วนกระบวนการ | ด้วยเชี่ยวชาญเชิงรณกลวิธี |
ผู้นำทัพสองข้างต่างสันทัด | ต่างฝ่ายจัดพลขันธ์ขมันขมี |
ด้วยใจชื้นชื่นบานดาลฤดี | ดังผู้ที่ชื่นบานการกีฬา |
‘กุรุเกษตร’ ทุ่งกว้างเคยว่างเปล่า | มีแต่เหล่าติณชาติขึ้นดาษหนา |
บัดนี้แลโอฬารตระการตา | ดาษดาค่ายคูดูวิไล |
แสนยากรแต่งกายดูพรายเพริศ | มีธงเทิดฟ้าลิ่วปลิวไสว |
พลม้าพลรถคชไกร | เดิรขวักไขว่ทั่วทิศผิดโบราณ |
แต่ก่อนเคยแซ่ซ้องเสียงผองสัตว์ | เสียงลมพัดฮือๆ! อื้อสะท้าน |
บัดนี้ช้างม้าร้องก้องกังวาน | เสียงทหารโห่ร้องเสียงกลองชัย |
เสียงกงรถกึงกัง ! เสียงศังข์เป่า | เสียงฝีเท้าทวยหาญสะท้านไหว |
เสียงพูดจาจอแจเซ็งแซ่ไป | แสงคบไต้แจ่มจ้าในราตรี |
ต่างตั้งค่ายคูสมอารมณ์หมาย | ทั้งสองฝ่ายจัดกระบวนโดยถ้วนถี่ |
เสร็จแล้วต่างยับยั้งฟังคดี | จอมโยธีตรวจตราบัญชาการ |
เมื่อสองทัพจ้องดูกันอยู่นั้น | อัศจรรย์เผยแผ่แก่ทหาร |
ยุธิษเฐียรมาหยุดยุทธยาน | หน้าค่ายปาณฑพตั้งยับยั้งพล |
ลงจากรถปลดเกราะเดิรเหยาะยาตร | ไม่มีศาสตราวุธสุดฉงน |
ไม่มีราชองครักษ์แต่สักคน | จรดลเข้าในค่ายพวกไพรี |
ฝ่ายนายทัพทั่วไปได้พินิศ | เห็นบพิตรหัตถ์เปล่าเศร้าฉวี |
เชื่อแน่ว่าเธอมาขอปราณี | เข้าภักดีต่อฝ่ายมูลนายตัว |
ธรรมเนียมว่าผู้ใดไร้อาวุธ | ใครประทุษฐ์ต่อท่านเป็นการชั่ว |
จึงไม่มีใครกั้นเข้าพันพัว | ตลอดทั่วทุกชั้นเป็นหลั่นไป |
เหล่าทหารแห่งไท้ฤทัยหวั่น | ต่างแลงันงวยงงด้วยสงสัย |
ฝ่ายทหารไพรีต่างดีใจ | นึกว่าไท้ยอมแพ้เป็นแน่นอน |
พลนิกายก่ายกองทั้งสองฝ่าย | ต่างมุ่งหมายมององค์พระทรงศร |
ยุธิษเฐียรเศร้าใจคระไลจร | จนถึงตอนเจ้านายอยู่ภายใน |
เข้าเฝ้าองค์ทรงฤทธิ์พระภิษม์เฒ่า | ทรงน้อมเกล้าแทบบาทประภาษไข |
ขอขมาโทษองค์พระทรงชัย | ผู้พระญาติยิ่งใหญ่ในตระกูล |
ประเพณีวีรชาติญาติผู้ใหญ่ | ผู้น้อยไปหาญหักยศศักดิ์ศูนย์ |
ต้องขอโทษญาติใหญ่ในประยูร | ต่อจากทูลทรงฤทธิ์พระภิษม์ไป |
ขอโทษท่านโท๎รณพราหมณ์ประณามนบ | อาจารย์อบรมมาศึกษาไสย |
ตลอดลุเล่ห์กลรณชัย | ด้วยจำใจรบรากับอาจารย์ |
ฝ่ายนักรบสองเฒ่าเศร้าสลด | รับประณตทรงธรรม์ต่างบรรหาร |
อนุญาตตามแยบแบบโบราณ | ด้วยเหลือการขัดขืนให้คืนดี |
เสร็จขมาโทษทัณฑ์ทรงผันผาย | กลับยังค่ายโดยพลันขมันขมี |
ต่างประกาศขาดกันบั่นไมตรี | ตามวิธีรณรงค์เริ่มสงคราม |
ว่า “สนามงามปานทวารฟ้า | ความเมตตาคลาดแคล้วแล้วสนาม!” |
ทั้งสองฝ่ายบ่ายหน้าพยายาม | เพื่อหาความยุกติธรรมด้วยรำบาญ |
ณค่ายฝ่ายปาณฑพเตรียมครบสรรพ | ผู้นายทัพนายหมวดตรวจทุกด้าน |
อรชุนได้มิตรพระกฤษณ์ปาน | ดังอาจารย์เชิดชี้วิธียุทธ์ |
แต่พระกฤษณ์สัญญารับหน้าที่ | สารถีขับรถของดหยุด |
ไม่เข้ารบเพราะไม่ใช้อาวุธ | แต่ขออุดหนุนกันด้วยปัญญา |
อรชุนนั่งยลอยู่บนรถ | เห็นนายทัพทั่วหมดแทบทุกหน้า |
ล้วนแต่ญาติ,บ้างเยาว์,เฒ่าชรา | ทรงระอาอ่อนหาญในการรณ |
จึงตรัสแก่บพิตรกฤษณะ | “ใจข้าละหลีกท้อคิดย่อย่น |
ผู้ที่เราใฝ่จิตต์คิดประจญ | เพื่อหวังผลพึงหมายณฝ่ายเรา |
ใช่อื่นไกลไหนเล่าคือเหล่าญาติ | ผู้เกี่ยวพาดพงศ์เผ่าทั้งเราเขา |
ถ้ารบราฆ่าญาติประมาทเมา | แล้วจะเอาสุขอะไรที่ไหนกัน” |
พระกฤษณ์ทรงพร่ำพร้องสนองถ้อย | “โปรดฟังหน่อยอรชุนอย่าผลุนผลัน |
อันนักรบรบราถึงฆ่าฟัน | ไม่หมายมั่นเกียรติ์ตนหรือผลดี |
ไม่ใช่โลกไม่ใช่ธรรมมากำชับ | ไม่สำหรับเห็นข้างคนห่างถี่ |
เขาจะรบหรือจะรอไม่ต่อตี | เพราะทำตามหน้าที่วีรชน |
โดยมิได้ไหวหวั่นคิดครั่นคร้าม | ไม่คิดข้ามคาคคะนึงไปถึงผล |
ท่านก็เป็นชาติกษัตริย์จรัสรณ | เปนหน้าที่ท่านประจญแทนราชา |
ไม่คะนึงถึงตนและคนอื่น | ไม่ต้องยื่นหน้าหมายผลภายหน้า |
โปรดวิจารณ์จงดีด้วยปรีชา | อย่าถือว่าขู่ขานให้ท่านกลัว |
เกียรติ์นักรบใดจะปานเท่าการรบ | กำจรจบหล้าลือระบือทั่ว |
ความตายอันอุตดมโลกชมชัว | ชูศักดิ์ชั่วกัปป์กัลป์นิรันดร |
ก็คือตายในสนามเมื่อยามยุทธ์ | ประเสริฐสุดศักดิ์เลิศเชิดกระฉ่อน |
น่าประหลาด ! ญาติท่านคิดราญรอน | จนเหลือผ่อนพูดจาให้รามือ |
ยังจะมีผู้กล้ามาว่าขาน | จับผิดท่านผู้เดียวได้เจียวหรือ? |
ไฟสงครามถึงอย่างไรก็ไหม้ฮือ | ท่านจะดื้อดับไฟไม่ได้เลย |
คะนึงธรรมศักดิ์สิทธิ์คิดประพฤติ | เป็นหลักยึดยั้งจิตต์เถิดมิตรเอ๋ย! |
สนามยุทธ์เป็นไฉนก็ได้เคย | สหายเอ่ย ! อ่อนแอมีแต่ทราม |
ทรามไฉน ? ข้าเจ้าไม่เล่าต่อ | เพราะท่านก็เชี่ยวชาญการสนาม |
แต่ว่าความรักใคร่พาให้ความ- | โลเลลามปัวเปียมักเสียการ” |
อรชุนฟังมิตรพระกฤษณ์สอน | น้ำใจอ่อนค่อยหายกลายเป็นหาญ |
ได้สติเตรียมครบเพื่อรบราญ | ด้วยเชี่ยวชาญเชิงกลรณรงค์ |
ต่อนั้นไปไม่ช้าโกลาหล | อุบัติดลดาลจิตต์พิศวง |
กึกก้องดังแดนยุทธ์จะทรุดลง | ยิ่งกว่าสงครามใดที่ได้มี |
สำเนียงศังข์หวู ! หวู่ ! ดังอยู่ทั่ว | เสียงกลองรัวตึง ๆ ! อยู่อึงมี่ |
เสียงประสานขานโห่แห่งโยธี | และเสียงฝีเท้าคนลุกลนจร |
ทั้งนี้ทัพเการพครบทุกเหล่า | ขับพลเข้าชิงชัยในสมร |
พลพาชีขี่ห้อเข้าต่อกร | พลราบต้อนพลบุกเข้ารุกราน |
เหล่าพลรถเรียงรายล้วนนายทัพ | สารถีขี่ขับล้วนกล้าหาญ |
แล้วพลช้างย่างบุกรุกรำบาญ | ล้วนชำนาญเชิงรบอยู่ครบครัน |
ฝ่ายปาณฑพครบสรรพเตรียมรับอยู่ | พินิศดูดังกำแพงล้วนแข็งขัน |
พร้อมสะพรั่งตั้งชิดติดๆ กัน | คอยตั้งมั่นมุ่งรับทัพศัตรู |
ซึ่งถาโถมโจมผจญทุกหนแห่ง | จนโรยแรงรี้พลต้องย่นยู่ |
ดังคลื่นที่ตีฝั่งอยู่พรั่งพรู | ครั้นมาสู่ฝั่งกลับยับกระจาย |
ทั่วทหารปาณฑพไม่หลบเลี่ยง | ไม่มีเบี่ยงบิดเบือนเคลื่อนขยาย |
พู่ขนนกก็ไม่ช้ำถูกทำลาย | แม้สักรายหนึ่งไปก็ไม่มี |
ได้โอกาสกองทหารแห่งปาณฑพ | เริ่มเข้ารบพร้อมกันขมันขมี |
เสียงศังข์กลองก้องลั่นขึ้นทันที | ต่างก็รี่เดิรพหลพลไกร |
พุ่งเข้าตีเการพสยบย่น | เคลื่อนที่ร่นรวนกันอยู่หวั่นไหว |
ราวกับลมบ้าหมูพัดวู่ไป | ฝุ่นตลบกลบในสนามรณ |
เกิดลางร้ายให้มัวไปทั่วทิศ | มีโลหิตโปรยปรอยเป็นฝอยฝน |
หมาป่าหอนกลางวันลั่นอรญ | ฝูงเหยี่ยวแร้งร่อนวนบนนภา |
แผ่นดินลั่นหวั่นไหวไปทุกแห่ง | บังเกิดแสงฟ้าแลบแวบเวหา |
ไม่มีเมฆหมอกตั้งแต่หลังมา | แต่ท้องฟ้ามืดมัวอยู่ทั่วไป |
เสียงฟ้าร้องก้องลั่นสนั่นทุ่ง | สายฟ้ารุ่งโรจน์กระจ่างสว่างไสว |
เหนือดวงอาทิตย์ซึ่งพึ่งอุทัย | แล้วแตกย่อยน้อยใหญ่อยู่เรียงราย |
สว่างข้ามขอบฟ้าน่าพินิศ | อยู่ทางทิศบูรพาพร่าเป็นสาย |
บอกนิมิตรผิดผันอันตราย | น่าใจหายหวาดหวั่นพรั่นกมล |
แต่นักรบเหล่านี้ไม่มีหวาด | ไม่ขยาดลางร้ายเท่าปลายขน |
ท้าทายกันกึกก้องร้องคำรณ | เข้าประจญหวังชะนะไม่ละกัน |
พลพาชีขี่ขับเข้ารับรบ | ทวนกระทบทวนดังฟังสนั่น |
ดาพปะทะประดาพกระหนาบฟัน | หอกซัดผันพุ่งหอกอยู่กลอกกลับ |
เสียงลูกศรว่อนหวู ! ไม่รู้หยุด | ศัสตราวุธประกันลั่นทุกทัพ |
แซ่ประดังฟังอะไรมิได้ศัพท์ | ชะอุ่มอับค่อยจางสว่างตา |
ทั้งสองข้างต่างฝ่ายหมายพิฆาต | พระภิษม์อาจหาญโหมเข้าโถมถา |
ตีประดังหวังชัยมิได้รา | จนสุดสามารถไท้มิได้ผละ |
ทุรโยธน์นำทัพเข้ารับรบ | โถมกระทบโยธีพระภีมะ |
ทุศศาสน์ส่งโยธีเข้าตีดะ | รุกทัพนกุลราชประกาศเกียรติ์ |
‘ศัลยราช’ ผู้กษัตริย์แคว้น ‘มัทระ’ | เข้าปะทะบพิตรยุธิษเฐียร |
โท๎รณาจารย์ขับพลอยู่วนเวียน | ตั้งหน้าเพียรเพื่อยึดธฤษฏทยุมษ์ |
‘เจ้าสินธุ’ นามบัญญัติ ‘ชยัทรถ’ | เข้าตีทัพท้าวท๎รุบทอยู่เกลื่อนกลุ้ม |
เป็นคู่ ๆ ขับพลเข้ารณรุม | เป็นตะลุมบอนใหญ่ทั้งไพร่นาย |
ทั้งสองทัพขับเคี่ยวด้วยเกรี้ยวกราด | ต่างไม่อาจเอาชัยดังใจหมาย |
จนเวลาสายัณห์ตะวันชาย | ยังไม่คลายเคลื่อนคลารบรากัน |
ต่อมาองค์ ‘อภิมันยุ’ ขันแข็ง | ผู้บตรแห่งอรชุนคิดหุนหัน |
เห็นเสียเปรียบเการพก็ขบฟัน | เข้าประจัญกับพระภิษม์ฤทธิรณ |
ชูกระบี่ขี่รถไม่ลดละ | เข้าฟันฉะธงชัยบรรลัยป่น |
พระภิษม์ผู้ฤทธีวีรชน | ไม่เคยถูกใครประจญเหมือนหนนี้ |
จึงคุมทัพเข้ารบเปนครบสอง | เสียงรถก้องกึงกังอยู่อึงมี่ |
เข้ารบรุกบุกบันประจันตี | จนเลือดนองธรณีอนาถใจ |
อรชุนเห็นพลย่นสยบ | ไพรีรบล่วงล้ำดังน้ำไหล |
จึงขับรถเร่งพลรบร้นไป | ต้านทานไพรีหยุดไม่รุดรณ |
เกิดตะลุมบอนบุกรุกสะอึก | มิได้นึกเป็นตายเท่าปลายขน |
เข้าระดมก้มหน้าฝ่าประจญ | มิช้าพลเการพหลบกระจาย |
อรชุนรุนรุกเร่งบุกบั่น | เข้าฆ่าฟันรี้พลปี้ป่นหลาย |
ถึงแนวในแน่นล้นพลนิกาย | ถูกฆ่าตายเกลื่อนกลาดดาษดา |
พอบรรจบพลบค่ำต้องจำเลิก | ศังข์กลองเอิกอึงลั่นสนั่นจ้า |
บอกให้เลิกรบกันเป็นสัญญา | ต่างก็รารบผ้ายสู่ค่ายตน |
นี้เป็นวันแรกรบกระทบหัตถ์ | ไม่ถนัดฝ่ายไหนจะได้ผล |
ยุธิษเฐียรจอมทัพคับกมล | เพราะเธอยลยุทธกิจติดจะขัด |
เธอมิได้ผ่อนพักแต่สักนิด | ด้วยทรงคิดขุ่นข้องหมองมนัส |
พอกองทัพหลับเรียบเงียบสงัด | จึงเลาะลัดลอบมาหาพระกฤษณ์ |
ทรงเล่าความมุ่นหมกวิตกถึง | พระกฤษณ์จึงเตือนองค์พระทรงฤทธิ์ |
ให้ทรงตั้งพระสติดำริกิจ | มิให้คิดย่นย่อท้อพระทัย |
ครั้นดาวเคลื่อนเดือนดับลงลับฟ้า | ยามอุษาแสงสูรย์จรญใส |
เสียงศังข์กลองก้องลั่นขึ้นทันใด | พลสองข้างต่างไคลเคลื่อนกระบวน |
ธงพระภิษม์จอมพลยลตระหง่าน | ดังต้นตาล, พลไกรเห็นได้ถ้วน |
กลับเป็นเป้าอรชุนหนุนคำนวณ | ลูกศรถ้วนแล่นตรงไปธงชัย |
ทั้งสองทัพขับพลประจญศึก | เสียงโครมครึกครื้นครั่นสนั่นไหว |
ราชบุตรท้าวท๎รุบทยศไกร | เข้าชิงชัยครูชราโท๎รณาจารย์ |
ฝ่ายพระภีมขับพลเข้ารณรบ | แล่นตลบไล่ล้างพลช้างสาร |
ซึ่งจะเข้าเหยียบย่ำรุกรำบาญ | จนช้างลานแหลกพ่ายกระจายไป |
ทุรโยธน์ทรงยลพลรบ | บางเหล่าหลบหลีกร่นให้หม่นไหม้ |
ละอายจิตต์คิดแค้นแน่นพระทัย | จึงพิไรร่ำพ้อต่อพระภิษม์ |
“พระภิษม์เอ๋ย ! ข้าเจ้าเฝ้าฉงน | ท่านจอมพลรับบัญชาอาชญาสิทธิ์ |
ผู้นำทัพขับสู้หมู่อมิตร | มุ่งแต่คิดพึ่งโล่ห์โท๎รณพราหมณ์ |
โอ้! แม่ทัพเการพน่านบนอบ | ไฉนยอบย่ออยู่ดูเป็นขาม |
หรือรักปาณฑพห้าพยายาม | กำบังความอาดูรอยู่มูลมอง |
เช่นนี้ควรขอถอนคิดผ่อนผัน | ให้พระกรรณนำทัพรับสนอง |
ดีกว่าทำออดอิดผิดทำนอง | จงโปรดตรองหน่อยนะปู่ครูตระกูล” |
พระภิษม์ฟังเสียดสีทวีโกรธ | พระพักตร์โชติช่วงแดงดังแสงสูรย์ |
แต่ทรงมีปรีชากลั้นอาดูร | คิดถึงมูลเหตุให้ชิงชัยกัน |
“ทุรโยธน์โฉดปานกุมารน้อย | มุ่งแต่คอยจะให้ได้ดังใฝ่ฝัน |
รบก็อยากมีชัยภายในวัน | ไม่ได้ทันใจหมายระคายเคือง |
กลับแค้นขัดตัดพ้อหาข้อผิด | เหมาพระภิษม์เหลวใหลมิได้เรื่อง |
คบเด็กคบหัวล้านสร้างบ้านเมือง | คบยิ่งเปลืองปรีชาพาให้ทราม |
เรานักรบเรียนรู้เป็นผู้ใหญ่ | เด็กไฉนจ้วงจาบพูดหยาบหยาม” |
พลางตอบด้วยเสียงสั่นรำพรรณความ | สัตย์จริงตามตริไตรมิได้กลัว |
“ภิษม์, โท๎รณะ, มิฉะนั้นก็กรรณะ | ไม่อาจจะกลบกลิ่นมลทินชั่ว |
คืออยุตติธรรม์ท่านพันพัว | คิดตั้งตัวเหนือกฎหมายไม่อายธรรม์ |
ท่านผู้กอบทุจจริตจิตต์จะกละ | หมายชะนะสุจริตจิตต์กระสัน |
ตามทีเถิด, แต่ว่าตัวข้าอัน | ไม่บิดผันพ่ายหนีหน้าที่ตน |
เป็นนักรบก็จะรบไม่หลบเลี่ยง | มิได้เบี่ยงเบนบ่ายเท่าปลายขน |
จะสู้พลีชีวิตจนปลิดชนม์ | ด้วยสัตย์ธรรม์มั่นกมลไม่มีคลาย |
ตรัสแล้วขับรถชัยมิได้พรั่น | ต้นพหลพลขันธ์ให้ผันผาย |
เข้าบุกรุกคลุกคลีตีกระจาย | เหล่าม้าพ่ายเผ่นแยกแตกกระบวน |
เหล่ารถแหลกแตกไปมิใช่น้อย | เหล่าช้างถอยพัลวันชักปั่นป่วน |
และเหล่าราบร่ายเร่อยู่เรรวน | ทัพทั้งมวลไหวหวั่นสนั่นไป |
อรชุนดูฤทธิ์พระภิษม์รบ | ให้สยบแหยงอยู่เป็นครู่ใหญ่ |
ต่อพระกฤษณ์สอนสั่งจึงตั้งใจ | ขับม้าไล่เหล่าทหารเข้าราญรณ |
ตีศัตรูยู่แยกแตกกะฉ่อน | เป็นตอนๆ วุ่นว้าโกลาหล |
กระจัดกระจายซ้ายขวาจลาจล | ดูเกลื่อนกล่นกลาดกลุ้มตะลุมบอน |
ตกเวลาสายัณห์ตะวันบ่าย | มีสองชายหนุ่มหาญชาญสมร |
เข้ารบรุกบุกบั่นประชันกร | ต่างไม่หย่อนหยุดยั้งเพราะหวังชัย |
ฝ่ายหนึ่งบุตรทุรโยธน์รุ่งโรจน์ยศ | นามปรากฏ ‘ลักษมัณ’ ไม่หวั่นไหว |
ฝ่ายหนึ่งบุตรอรชุนดรุณวัย | ‘อภิมันยุ’ ไกรเกียรติกำจร |
ลักษมัณนั้นเพลียจนเสียท่า | ให้พวกข้าศึกกลุ้มรุมสลอน |
ทุรโยธน์เห็นทัพรีบผันจร | มาแก้กันราญรอนจึงรอดตน |
แล้วกลุ้มรุมอภิมันยุกั้นล้อม | เข้าแห่ห้อมหลังหน้าโกลาหล |
อภิมันยุอยู่กลางหมู่พล | ลำพังตนต่อสู้แต่ผู้เดียว |
อรชุนฟังพลคำรนเร้า | ร้องให้เข้ารบแก้จึงแลเหลียว |
แลเห็นลูกถูกระดมรบกลมเกลียว | ขับรถเลี้ยวลัดไปมิได้รอ |
ตีปะดังพังพลแตกป่นปี้ | ดังกวางลี้หลบเสือไม่เหลือหลอ |
บ้างเห็นหน้าจึ่งโทงแล้วโก่งคอ | ร้องว่า ‘อรชุน’! หนีวุ่นวาย |
อรชุนรุนยุทธ์ช่วยบุตรได้ | ยังซ้ำไล่เการพหลบสลาย |
บั่นศีรษะฉะเชือดเลือดกระจาย | พวกพลพ่ายเผ่นตะพือแตกฮือมา |
ถึงหน้าทัพทุรโยธน์อุทโฆษลั่น | พอตะวันด้อยดับลงลับหล้า |
เสียงศังข์กลองก้องลั่นบอกสัญญา | จึงต้องล่าเลิกกลับกองทัพตน |
ครั้นรุ่งแจ้งแสงทองจับท้องฟ้า | สีแดงพร่าแพรวพราวในหาวหน |
ต้องโลหิตติดตามสนามรณ | สีระคนดังสีมณีแดง |
ดูระยับจับทุ่งเปนรุ้งรอบ | จดถึงขอบนภดลอำพนแสง |
เมื่อสองทัพหลับนอนพักผ่อนแรง | ครั้นรุ่งแจ้งจัดพลเข้ารณรงค์ |
ฝ่ายปาณฑพจัดพหลพลขันธ์ | เป็นรูปจันทร์แรม,จิตต์คิดประสงค์ |
โอบข้าศึกเข้าไว้อยู่ในวง | ขับพลตรงห่อหุ้มตะลุมบอน |
ทั้งสองข้างต่างรบไม่หลบละ | เข้าปะทะโถมสู้อย่สลอน |
พลนิกายตายกลาดอนาถนอน | เลือดแดงดอนดงดาษดังชาดทา |
ช้างม้าล้มถมดินดิ้นกระเดือก | บ้างนอนเสือกกายแข็งเหยียดแข้งขา |
เสียงคำรนปนร้องก้องนภา | เกิดลางน่าหวั่นหวาดอนาถครัน |
เห็นนักรบดาษดาบนอากาศ | แต่หัวขาดเหลือแต่กายเที่ยวผายผัน |
ก้อนเมฆเห็นเป็นปิศาจเข้าฟาดฟัน | รุกรบกันในอากาศประหลาดใจ |
ทุรโยธน์ยลตามสนามรบ | ได้เห็นครบคิดพรั่นนึกหวั่นไหว |
เห็นรถฟังช้างม้ามาบรรลัย | พลไกรตายกลาดหวาดกมล |
จึงปราศรัยทรงฤทธิ์พระภิษม์แก่ | “ท่านมีแต่โชคร้ายทำลายผล |
ให้พระกรรณ์ชายหนุ่มควบคุมพล | เข้าผจญไพรีคงมีชัย |
จิตต์และมือเท้าท่านวิการแน่ | ดูอ่อนแอเอนเอียงเลี่ยงไถล |
จักสงสารหลานยาหรือว่าไร | ข้าสงสัยสุดแสนแน่นกมล” |
พระภิษม์ตอบด้วยแค้นแสนพิโรธ | “ทุรโยชน์เอ๋ย ! ไยใจฉงน |
อานุภาพเสนาพลาพล | หรือจะรณรบรุกยุกติธรรม์ |
การชะนะนั้นไซร้มิได้อยู่ | ที่มากผู้พวกพหลพลขันธ์ |
ความหนุ่มแน่นมีกำลังตั้งอนันต์ | หรือมีปัญญาเลิศประเสริฐชาย |
ย่อมสู้เดชยุกติธรรม์นั้นไม่ได้ | ท่านอย่าใฝ่ฝันเพลินจนเกินหมาย |
คนดัง ‘กรรณ’ ดาษดื่นตั้งหมื่นนาย | ไม่ทำลายยุกติธรรมให้ชำนะ |
ตรัสแล้วขับรถศึกสะอึกเข้า | ต้อนพลเร้ารุกใหญ่มิได้ผละ |
เข้าตีอย่างทรหดไม่ลดละ | ปาณฑพด้อยถอยฉะพัลวัน |
พวกเการพได้ทีตีกระหน่ำ | พระภิษม์นำพลไกรไล่ถลัน |
ปาณฑพจวนจะกระจายวุ่นวายกัน | พอสายัณห์ย่ำฆ้องกลองสัญญา |
ต่างเลิกทัพกลับค่ายทั้งนายไพร่ | เตรียมตัวไว้รบกันในวันหน้า |
ผู้บาดเจ็บเกลื่อนกลาดดาษดา | หามพะยุงจูงมาอเนกอนันต์ |
วันที่สี่แสงสูรย์จำรูญฉาย | ทั้งสองฝ่ายจัดพหลพลขันธ์ |
เร่งกระบวนพลทหารรำบาญกัน | แซ่สนั่นแน่นหลามสนามรณ |
ต่างรบรุกบุกบันฉกรรจ์กาจ | ไม่ขยาดย่นพ่ายเท่าปลายขน |
จนเลือดหลั่งแหล่หลายดังสายชล | ต่างเสียพลล้มตายลงก่ายกอง |
ผลัดกันร่นผลัดกันรุกเฝ้าบุกบั่น | ถึงสี่วันยังมิได้ชัยสนอง |
นอกจากพลตายกลาดเลือดฝาดนอง | ม้าช้างต้องล้มตายลงก่ายกัน |
สนามรบบัดนี้มีทหาร | ต่างทะยานยุทธ์แย้งด้วยแข็งขัน |
พระภิษม์กับอรชุนวุ่นประจัญ | ต้อนพลขันธ์เข้ากลุ้มตะลุมบอน |
บัดเดี๋ยวราบัดเดี๋ยวแรงเข้าแย้งยุทธ์ | อุดตลุดลั่นไปในสมร |
ต่างกำแหงแข็งข้อเข้าต่อกร | ไม่ย่อหย่อนย่นแพ้ลงแก่กัน |
มีกำลังดังเช่นพระเป็นเจ้า | ประทานเท่ากันแกล้งให้แข่งขัน |
บัดพระภิษม์รบรุกเข้าบุกบัน | บัดอรชุนผลุนผลันเข้ารุกราญ |
ผลัดกันรุกผลัดกันร่นอยู่จนเที่ยง | ต่างไม่เพลี่ยงพล้ำพลาดด้วยอาจหาญ |
ฝ่ายพระภีมเพ่งดูอยู่เป็นนาน | คิดรำคาญขับพลประจญตี |
เข้าแย้งยุทธ์ดุจว่าลมบ้าหมู | พัดวู่ ๆ หอบฝุ่นขึ้นหมุนจี๋ |
พระภิษม์ต้อนเสนาเข้าราวี | รบไพรีรุนแรงแข็งประจญ |
แต่พระภีมขับพลเข้ารณรบ | กลับสยบย่นพ่ายเป็นหลายหน |
ด้วยไพรีรี่กลุ้มเข้ารุมรณ | เห็นเหลือทนจึงให้ถอยเฝ้าคอยที |
ยังฝากแผลแก่ ‘ศัลย์’ ‘ทุรโยธน์’ | ทั้งสองโกรธกริ้วใหญ่ดังไฟจี้ |
คือเมื่อภีมบุกบันประจัญตี | ทุรโยธน์จึงมีพระโองการ |
ให้สิบสองน้องไท้ไล่รบร้า | ถูกภีมฆ่าแปดองค์น่าสงสาร |
นอกนั้นต่างหนีร่นอยู่ลนลาน | ภีมประหารหักลงเป็นผงคลี |
สนามรบภาคหนึ่งเอิกอึงลั่น | ด้วยรบกันต่างฝ่ายไม่หน่ายหนี |
กฤปาจารย์, โท๎รณะ, พระษาลี | รุมเข้าตีอรชุนอยู่วุ่นวาย |
การรบกันวันนี้มีขนบ | พวกเการพรวมพลกมลหมาย |
จัดกำลังพลใหญ่ไล่ทำลาย | ปาณฑพรายกันอยู่ไม่รู้ตน |
แต่ก็ถูกตีแหกแตกสะบั้น | พัลวันวุ่นว้าโกลาหล |
ทั้งสองข้างต่างหาญเข้าราญรณ | ผลัดกันร่นผลัดกันรุกอยู่คลุกคลี |
จนเวลาสายัณห์ตะวันดับ | ต่างถอยทัพเลิกกันในวันนี้ |
ปาณฑพถูกหักโหมเข้าโจมตี | เขย่าที่มั่นอยู่ไม่รู้วาย |
แต่ก็เข้ายุทธ์แย้งด้วยแข็งกล้า | จึงรักษาไว้ได้ไม่สลาย |
แต่ค่อนข้างอ่อนใจทั้งไพร่นาย | ซึ่งรับฝ่ายไพรีมีกำลัง |
ครั้นรุ่งแสงสูรย์ฉันวันที่ห้า | แสนเสนาสองฝ่ายรายสะพรั่ง |
กระหายรบรีบร้นพลประดัง | แซ่เสียงศังข์เสียงกลองกึกก้องไป |
ท้องสนามหลามล้นพลทหาร | แลตระการธงทิวปลิวไสว |
ต่างยาตราร่าเริงบันเทิงใจ | ดังจะไปฟากฟ้าสง่างาม |
การรวมพลหมู่ใหญ่เข้าไล่รบ- | พวกปาณฑพทั่วไปในสนาม |
ซึ่งเการพอุตส่าห์พยายาม | ไม่สมความปรารถนามาแล้วนั้น |
ฝ่ายปาณฑพนำไปคิดใช้บ้าง | นายทัพต่างรวมแรงแข็งขยัน |
ภีมกับพระอรชุนอุดหนุนกัน | รวมพหลพลขันธ์เข้าราวี |
ทุรโยธน์มีเชาว์อันเคล่าคล่อง | เห็นพี่น้องรวมรบก็หลบหนี |
ปล่อยให้โท๎รณาจารย์เข้าต้านตี | สองทัพพี่น้องนั้นประชันกร |
โท๎รณะเป็นอาจารย์สองปาณฑพ | ซึ่งเข้ารบกับครูเป็นผู้สอน |
ถึงแม้จักแค้นใจดังไฟฟอน | ก็ต้องผ่อนผันตามความนิยม |
คือไม่ฆ่าครูม้วยด้วยกระบี่ | ประเพณีเผยแผ่แต่ประถม |
พวกเการพรู้ท่าจึงปรารมภ์ | อาศัยร่มครูเฒ่าแฝงเงาฟัน |
เป็นอุบายดีอยู่จับครูเชิด | ถึงจะเกิดเดือดร้อน, พอผ่อนผัน |
ทั้งสองข้างต่างโถมโจมประจัญ | มิได้ยั่นย่อท้อต่างต่อกร |
นักรบหนุ่มคู่เก่าผู้เคล่าคล่อง | ซึ่งทั้งสองสู้กันในวันก่อน |
ผลัดกันเสียทีรณคนละตอน | มีผู้ช่วยราญรอนจึงรอดมา |
ฝ่ายปาณฑพอภิมันยุขันแข็ง | เข้ายุทธ์แย้งลักษมันประจันหน้า |
หาญต่อหาญทรหดไม่ลดลา | อยู่เป็นช้านาน, แต่ไม่แพ้กัน |
จนทุรโยธน์เสียท่าต้องอาวุธ | จำยั้งหยุดย่อย่นพลขันธ์ |
ให้ทรงเปลหามกลับโดยฉับพลัน | พัลวันแห่ห้อมแวดล้อมไป |
อภิมันยุได้มีชัยศึก | พระทัยนึกยินดีจะมีไหน |
กลับมาทูลธรรมบุตรวุฑฒิไกร | แล้วคุมไพร่พลเข้าเร้ารำบาญ |
ด้วยความฮึกเหิมใจมิได้ย่น | เข้าประจญกับพระภิษม์ด้วยจิตต์หาญ |
หวังตีแม่ทัพให้ประลัยลาญ | ปวงทหารคงพ่ายกระจายไป |
พระภิษม์เห็นอภิมันยุขันแข็ง | ทรงยิ้มแฉ่งเจรจาเชิงปราศรัย |
“เสียใจนักหน้าเจ้ายังเยาว์วัย | ปากยังไม่ศูนย์สิ้นกลิ่นน้ำนม |
เจ้าจากอกแม่มาไม่ช้านัก | ข้าเจ้าจักชิงชัยดูไม่สม |
ยกให้เจ้าเยาว์วัยไม่นิยม | ไปอบรมอีกสักหน่อยจึงค่อยมา” |
ก็พอดีศังข์กลองกึกก้องลั่น | ด้วยตะวันด้อยดับลงลับฟ้า |
ต่างสงบรบกันตามสัญญา | เหล่าเสนาเคลื่อนคลายเข้าค่ายตน |
ครั้นอรุณเรื่อฟ้าเวลาเช้า | ต่างเร่งเร้าเสนาโกลาหล |
เดิรกระบวนล้วนหลามสนามรณ | เข้าประจญรบรุกกันคลุกคลี |
ทั้งสองฝ่ายไม่ย่อต่างต่อสู้ | นักรบผู้แข็งขันในวันนี |
ฝ่ายปาณฑพภีมผู้เข้าจู่ตี | สองเสนีเการพสมทบรวม |
คือท่าน ‘สุศรมัน’ ผู้สันทัด | ‘อัสวัตถามัน’ ประจัญร่วม |
จะว่าใครเพลี่ยงพล้ำก็กำกวม | จนเลือดท่วมร่างกายไม่พ่ายกัน |
กองโจรของทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร | ได้พากเพียรไล่ล้างอย่างมหันต์ |
แล่นไล่กองโจมตีไพรีอัน | เข้าประจัญโจมตี, ถอยหนีไป |
ต่อนี้การราญรณทุกหนแห่ง | ต่างเชื่อแรงรบกันสนั่นไหว |
พระภีมตีรี่รุกบุกเข้าไป | ถึงชั้นในแนวหนาหน้ากะดาน |
ถูกพลเหล่าเการพตลบล้อม | เข้าแห่ห้อมโหมรุกอยู่ทุกด้าน |
ภีมมิได้ย่อหย่อนเฝ้ารอนราญ | ไม่สะท้านจิตต์ท้อเข้าต่อตี |
ทั้งมือเท้าเคล่าคล่องทำนองรบ | ตีตลบข้าศึกไม่นึกหนี |
แผลงศรสาดกราดไปถูกไพรี | บ้างถึงชีวิตดับล้มทับกัน |
บ้างถูกบาดเจ็บล้มจมสนาม | บ้างหนีข้ามเขตต์รณพลขันธ์ |
บ้างเข้ารุกคลุกคลีตีประจัญ | ภีมรบรับคับขันอยู่กลางแปลง |
กำลังภีมสิบเท่าเหล่าทหาร | ถูกรุมราญยิ่งซ้ำกลับกำแหง |
ด้งเพิ่มอีกสิบเท่าเร้าให้แรง | เข้ายุทธิ์แย่งอย่างกล้าดูน่ากลัว |
ด้วยมุ่งหมายฆ่าพระทุรโยธน์ | ด้วยความโกรธเกรี้ยวจัดใคร่ตัดหัว |
ให้สมดังปฏิญญาวาจาตัว | ครั้งถูกยั่วหยามเจ้าเท๎ราปที |
ได้สมหมายแต่ไม่มากเพียงฝากแผล | ให้ไว้แก่ทุรโยธน์ซึ่งโลดหนี |
ถูกเจ็บไปใจท้อไม่ต่อตี | รีบหลีกลี้หลบกายเข้าค่ายตน |
ฝ่ายกองทัพปาณฑพซึ่งรบรับ | เห็นภีมลับลี้ไปให้ฉงน |
ยุธิษเฐียรภูธรทรงร้อนรน | เกรงถูกพลไพรีรุมตีเอา |
สั่งให้ธฤษฎทยุมน์คุมทหาร | เข้ารบราญรุกฝ่าตามหาเขา |
เจ้าชายหนุ่มคุมพลเที่ยวด้นเดา | รบไต่เต้าตามไปไม่ไกลนัก |
เห็นรถภีมจอดขวางอยู่กลางหน | ในเขตต์รณด้านหนึ่งซึ่งประจักษ์- |
แต่สารถีเป็นผู้อยู่พิทักษ์ | ทหารสักคนไซร้ก็ไม่มี |
รีบคลาไคลไปที่รถสลดยิ่ง | ไต่ถามสิ่งสงกาสารถี |
เมื่อได้ทราบเหตุการณ์ดาลฤดี | ว่าภีมมีชีพอยู่เข้าสู้รบ |
สารถีบรรยายถวายว่า | มีเหล่าม้าไพรีตีตลบ |
ล้อมพระภีมพัลวันอยู่ครันครบ | ต่างสมทบทับถมระดมตี |
พระภีมเผ่นจากรถไม่ลดละ | เข้าฟันฉะเหล่าม้าไม่ล่าหนี |
ฟันทหารตกม้าแย่งพาชี | เผ่นขึ้นขี่ม้าได้ไล่กระจุย |
พวกเหล่าม้าไพรีต่างลี้หลบ | พลเการพร่นแตกต้องแหลกลุ่ย |
แยกกระจายผายกว้างเหมือนทางกรุย | ฝ่าตะลุยมากระทั่งถึงหลังทัพ |
ธฤษฏทยุมน์นั่งยลอยู่บนรถ | เห็นปรากฏการรบนั้นครบสรรพ |
ภีมมิได้หลีกหลบเข้ารบรับ | เการพขับพลห้อมเข้าล้อมตี |
ภีมหวดซ้ายป่ายขวาด้วยสามารถ | แต่ไม่อาจตีแตกให้แหลกหนี |
เการพยิงบุกรุกเข้าคลุกคลี | น่าเป็นที่หวาดหวั่นอันตราย |
ธฤษฎทยุมน์จึงร้องประคองขวัญ | “จงประจัญให้สมอารมณ์หมาย |
พวกข้าเจ้ามาใกล้ทั้งไพร่นาย” | พลางขับพลเข้าทำลายตะลุมบอน |
ต่างตีฝ่าข้าศึกสะอึกอ้อม | จนที่ล้อมลุ่ยแหลกแตกสลอน |
ฝุ่นตลบกลบทุ่งฟุ้งขจร | ตะวันรอนเร่ต่ำอยู่รำไร |
บอกสัญญาอย่ารบสงบเลิก | ศังข์กลองเอิกอึงลั่นสนั่นไหว |
ทั้งสองทัพกลับค่ายผ้ายคระไล | เพื่อจะได้พักผ่อนดังก่อนกาล |
-
๑๔. อ่าน ‘ท๎รึดตะท๎ยุม’ ↩