ต่อจากการมีชัยฝ่ายวิราฎ |
หมู่อำมาตย์ปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
ประกาศชัยแก่ประชาทั่วธานี |
ทำพิธีส่งเสริมเฉลิมชัย |
ถึงกำหนดวันงานตระการแต่ง |
ทุกหนแห่งธงทิวปลิวไสว |
ประชาราษฎร์กลาดเกลื่อนเคลื่อนคระไล |
สู่วังไท้เพื่อหมายถวายพร |
พระลานหลวงปวงราษฎร์ออกดาษดื่น |
เยียดยัดยืนอัดแอแลสลอน |
ท้องพระโรงแลล้วนมวลนิกร |
ผู้สูงฐานันดรซับซ้อนกัน |
ณทันใดมีแขกแปลกประหลาด |
มารยาทยิ่งเลิศงามเฉิดฉัน |
ตรงขึ้นนั่งยังราชอาสน์พลัน |
สี่คนยืนรายกันรอบบัลลังก์ |
แต่งตัวอย่างเจ้านายดูฉายฉัน |
คนพากันมองดูอยู่สะพรั่ง |
บางพวกคิดพิศวงงงจังงัง |
บางพวกบังคมคัลในทันใด |
ด้วยไม่เคยเห็นท้าวเจ้าวิราฎ |
ก็เลยคาดว่าพระองค์ไม่สงสัย |
แต่เสนามาตยมวลปั่นป่วนใจ |
รู้ว่าไม่ใช่เจ้าเฝ้าวิจารณ์ |
“ผู้แปลกหน้านี้ไซร้คือใครหนอ |
ดูๆ ก็จะรู้จักซึ่งหลักฐาน |
เหมือนได้เคยเห็นหน้ามาช้านาน |
นามขนานเป็นไฉนนึกไม่ทัน |
ทำเช่นนี้เพื่ออะไรก็ไม่แจ้ง |
คงไม่แย่งเวียงชัยไอศวรรย์” |
ทุกคนคิดพิศวงต่างงงงัน |
พากันอั้นนิ่งอึ้งตะลึงแล |
ทันใดนั้นท่านท้าวเจ้าวิราฎ |
ยุรยาตรมาพลันงันชะแง้ |
ด้วยมีคนกลบ้าสาระแน |
ขึ้นนั่งแผ่สีหนาทเหนืออาสน์ทรง |
เข้าพระทัยไปว่าเสนามาตย์ |
เล่นประหลาดเลยเหลิงละเลิงหลง |
ด้วยมีชัยใจเหิมเหิ่มทะนง |
เอาพระองค์มาเล่นเป็นละคร |
พระพักตร์นิ่วกริ้วมหาเสนามาตย์ |
ว่าประมาทบพิตรอดิศร |
ให้ขี้ข้าขึ้นสู่อาสน์ภูธร |
ต่อหน้าหมู่ราษฎรสลอนไป |
พระทรงธรรมรำพึงคะนึงว่า |
“อ้ายขี้ข้าเหิมจิตต์ผิดวิสัย |
ความล้อเล่นของมันอย่างจัญไร |
คงบั่นเกล้าเราได้สักเวลา” |
ทรงพิโรธแรงร้ายรีบผายผัน |
มาใกล้บัลลังก์ทองทรงจ้องหน้า |
ทรงจำได้แน่นอนผู้จรมา |
ซึ่งอาสารับใช้ในพระองค์ |
เพิ่มพระโกรธกริ้วกราดตวาดว่า |
“อย่างไรหวา! ตัวมึงจึงประสงค์ |
เล่นอุบาทว์ชาติไพร่ใฝ่ทะนง |
ไม่กลัวลงอาชญาหรือว่าไร?” |
ขณะนั้น ‘ตันตรบาล’ ผู้หาญกล้า |
เป็นเสนาบดีหน้าที่ใหญ่ |
เห็นท้าวเธอกริ้วจัดขัดพระทัย |
จึงทูลให้พระสติเพื่อตริตรอง |
“ขอพระองค์ทรงหายคลายพระโกรธ |
ประทานโทษขอชี้คดีสนอง |
ผู้แปลกหน้าซึ่งนั่งบัลลังก์ทอง |
ข้าบาทจ้องจับดูอยู่เปนนาน |
ใช่อื่นคือบพิตรยุธิษเฐียร |
ไม่ผิดเพี้ยนแผกคำข้าร่ำขาน |
บุญของเรามั่นคงจงวิจารณ์ |
ที่ภูบาลไคลคลามานคร |
เป็นมงคลแก่แว่นแคว้นวิราฎ |
ได้พระบาทบพิตรอดิศร |
มาประชุมเชิดชาติราษฎร |
จักขจรเกียรติยศปรากฏไกล” |
ท้าววิราฎฟังคำทรงอ้ำอึ้ง |
ตั้งตะลึงแลดูเป็นครู่ใหญ่ |
ให้วาบ ๆ ไหวหวั่นพรั่นฤทัย |
ภูวไนยงวยงงด้วยสงกา |
พอความจริงแจ้งในพระทัยแท้ |
เปล่งกระแสเสียงสั่นด้วยหรรษา |
“ถูกของท่าน! ถูกของท่าน! พระผ่านฟ้า |
โอ! ตูข้านี้ฉงนคิดวนเวียน” |
ย่อพระองค์บังคมบรมบาท |
มหาราชบพิตรยุธิษเฐียร |
ทูลว่า “โทษตูข้าน่าติเตียน |
จดจำเจียนจะไม่ได้เจ็บใจจริง |
ประทานโทษข้าผู้หลู่พระบาท |
หมิ่นประมาทภูบดีเป็นที่ยิ่ง |
ผิดด้วยงมซมซานสุดค้านติง |
มิใช่สิ่งผู้ที่ภักดีทำ |
ขอพระองค์กรุณาเมตตาโปรด |
ประทานโทษข้าบาทซึ่งพลาดพล้ำ |
ขอเป็นข้าบาทบงสุ้คงประจำ |
เพื่อกระทำการสนองประคองคุณ” |
ตรัสเท่านั้นอั้นอัดไม่ตรัสได้ |
ชลนัยน์นองอาบกระหนาบหนุน |
คิดถึงข้อหยาบช้าทำทารุณ |
ให้เคืองขุ่นแก่เธอด้วยเซ่อเซอะ |
ยิ่งคิดยิ่งขวยอายระคายเขิน |
ด้วยหลงเลินเล่อทำออกต้ำเปรอะ |
ไม่ควรจะงวยงงก็หลงเลอะ |
ท้าวเธอเงอะงันงงทรงระทม |
ยุธิษเฐียรเห็นท้าวเจ้าวิราฎ |
พระพักตร์ปราศจากสุขมีทุกข์ถม |
เพื่อจะบรรเทาถอนผ่อนอารมณ์ |
ให้หายตรมตรอมใจจึงไคลคลา |
จากแท่นรัตน์เร็วพลันถลันเข้า |
ส้วมกอดเจ้าวิราฎประภาษว่า |
“ที่พระองค์เห็นผิดระอิดระอา |
นั้นตูข้ามิได้เห็นเช่นพระองค์ |
กลับคิดเห็นเป็นคุณการุญข้า |
ได้พึ่งพาพักร่มสมประสงค์ |
ตูข้าขอบคุณธรรม์อันยรรยง |
ที่ได้ทรงป้องกันอันตราย” |
“หามิได้พระเจ้าข้า! เมตตาโปรด |
ประทานโทษข้าบาทพลั้งพลาดหลาย |
กรุงวิราฎเรืองชัยเพราะได้นาย |
เสด็จผายผันสู่ยังบูรี |
น้อยใจที่งมงายน่าขายหน้า |
ทิ่งมหาราชเจ้าให้เศร้าศรี |
แต่น้ำใจจงรักคิดภักดี |
ยังคงมีมั่นอยู่ในภูธร” |
ยุธิษเฐียรทรงฟังรับสั่งว่า |
“การเจรจาเยินยอขอรอก่อน |
เมื่อยามท่านคลาไคลไกลนคร |
เราตีต้อนไพรีป่นปี้ไป |
ทั้งนี้เป็นปฏิการแก่ท่านผู้ |
ได้เลี้ยงดูตัวข้าผู้อาศัย |
เรื่องนี้ทรงทราบบ้างหรืออย่างไร |
ว่าผู้ใดต้านทานผลาญไพรี” |
ท้าววิราฎนบนอบตอบแถลง |
“ข้าพึ่งแจ้งเรื่องราวในคราวนี้ |
ขอประคองคุณวางกลางโมฬี |
ขอพึ่งพาบารมีจนม้วยมรณ์ |
ไว้พระทัยข้าพระองค์เถิดทรงเดช |
โปรดเล่าเหตุเทวีศรีสมร |
และพระน้องสี่องค์ทรงสัญจร |
ไปพักผ่อนอยู่หนตำบลใด” |
พระทรงฟังท้าววิราฎประภาษถาม |
จึงนำความลับลี้ออกชี้ไข |
“มเหสีสี่น้องไม่หมองใจ |
ได้อาศัยบารมีอยู่นี่ครบ |
แต่แปลงกายย้ายชื่อกันอื้อฉาว |
ปกปิดข่าวไม่ให้ใครประสพ |
ชื่อ ‘ค๎รันถิก’ ที่พระองค์เคยทรงพบ |
คือนกูลเกลื่อนกลบจำแลงแปลง |
สหเทพอนุชาแห่งข้าบาท |
คืออำมาตย์ ‘ตันตรบาล’ ซึ่งท่านแจ้ง |
ผู้เป็นนายสารถีที่สำแดง |
ฝีมือแผลงศรก็คืออรชุน |
‘พัลลภ’ ผู้เผ่นจ้วงตัดบ่วงบาศ |
พาท่านผาดเผ่นกลับยังทัพหนุน |
จนทัพท่านได้ทีตีเป็นจุณ |
ข้าศึกวุ่นวายแตกแหลกกระจาย |
นั่นภีมะน้องข้าผู้กล้าหาญ |
แต่มีการเกี่ยวเนื่องถึงเรื่องร้าย |
โปรดประทานโทษทัณฑ์ขอบรรยาย |
เขาทำลายกิจกะชีพประลัย |
เป็นเหตุด้วยกฤษณามารศรี |
ราชินีกรุณาให้อาศัย |
ทรงชุบเลี้ยงเยี่ยงอย่างพวกนางใน |
มีนาม ‘ไศรินธรี’ เป็นที่รัก |
กิจกะลุ่มหลงตรงเข้าปล้ำ |
จึงก่อกรรมคิดสู้เพื่อกู้ศักดิ์ |
ภีมะเข้าช่วยองค์นางนงลักษณ์ |
จึงโหมหักห้ำหั่นเธอบรรลัย” |
ท้าววิราฎจ้องฟังรับสั่งเล่า |
พอทราบเค้ามูลที่ทรงชี้ไข |
ท้าวเธอทรงอัศจรรย์งันพระทัย |
ความห่วงใยกิจกะค่อยละลาย |
ความโศกเศร้าเบาบางจางพิโรธ |
ด้วยเห็นโทษกิจกะเหลือจะร้าย |
ข้อที่เขาหยาบช้าก็น่าตาย |
เหมือนมุ่งหมายล้างธรรมอันอำพน |
แห่งสตรีศรีเมืองผู้เรืองศรี |
ทรงความดีเด่นหล้าเวหาหน |
ทรงคะนึงถึงโทษโฉดกมล |
ที่ให้คนมัดเจ้าไปเผาไฟ |
เพราะฟังคำมหิษีชี้แถลง |
เห็นแจ่มแจ้งจิตต์ปลงไม่สงสัย |
ด้วยความโกรธกลุ้มกลัดในหัทัย |
กระทำไปโดยพลันมิทันตรอง |
ท่านว่าไว้ไฟมาต้องหาน้ำ |
อย่าเสริมซ้ำหาไฟใส่เป็นสอง |
ที่ทำนี้ผิดแยบแบบละบอง |
จึงจำต้องโศกซ้ำระกำทรวง |
ยิ่งคะนึงยิ่งมีทวีเศร้า |
ความทุกข์เร้าหฤทัยเป็นใหญ่หลวง |
ชลนัยน์คลอนัยน์ให้ระลวง |
พระผิวดวงพักตร์เศร้ากำเดาดาล |
ยุธิษเฐียรเพียรกล่าวปลอบท้าวให้ |
มีพระทัยปลื้มเปรมเกษมศานต์ |
ทรงผ่อนผันบรรยายหลายประการ |
พระภูบาลมิได้คลายหายระทด |
ยิ่งพูลเพิ่มเสริมให้พระทัยท้าว |
ยิ่งรานร้าวรำลึกนึกสลด |
จึงลาไปไสยาดับลาลศ |
เป็นโอสถดับเศร้าให้เบาคลาย |
ทรงตรัสว่า “ข้าเจ้าไม่เล่าละ! |
เพราะเกรงจะยั่วให้ท่านใจหาย |
น้ำตาท่านคลอตาไม่คลาคลาย |
เพราะข้าเจ้าเล่าขยายแก่ทรงธรรม์ |
ข้าแต่ท่าน, เรื่องใดเป็นไปแล้ว |
ให้มันแคล้วคลาดไปอย่าใฝ่ฝัน |
ถึงจะนำมานึกระลึกมัน |
ก็ไร้ธรรม์สาระควรละเลย |
ความเป็นไปแห่งชีวิตสุดคิดคาด |
ไม่สมมาดทุกประการดอกท่านเอ๋ย! |
ถึงบุญเร่งรถฟ้าลงมาเกย |
รถอาจเฉยเสียก็ได้ไม่ไคลคลา |
เล่นสะกามีแต่พ่ายแพ้เขา |
ก็ไม่เร้าความสนุกปลุกหรรษา |
ถ้าผลัดกันแพ้ชะนะคนละครา |
สนุกปรากฏแท้เป็นแน่นอน |
ชีวิตชนเช่นกันย่อมหันเหียน |
ทุกข์แล้วเวียนมาสุขความทุกข์ถอน |
ย่อมสับเปลี่ยนเวียนเช่นเล่นละคร |
ผิชาตาถาวรไม่ขึ้นลง |
ชีพก็ไม่ปรากฏมีรสชาติ |
ให้ประหลาดล่อจิตต์พิศวง |
ผู้สูงกว่าข้าไปยังได้ทรง |
ทุกข์ยากลงเลวกว่าข้าก็มี |
น้ำตาท่านนั้นดอกพาชอกช้ำ |
ยิ่งกว่าคำขึ้งเคียดพูดเสียดสี |
ยิ่งกว่าบอบช้ำสิ้นทั่วอินทรีย์ |
เพราะเหตุที่ตรำตรากลำบากกาย |
ท่านก็ผู้เปรื่องปราชญ์และอาจหาญ |
จงเอาญาณดับเดือดให้เหือดหาย |
ไม่เพื่อท่าน, จงบรรเทาให้เบาคลาย |
เพื่อมุ่งหมายเห็นแก่ข้าเถิดราชัน” |
ท้าววิราฎทรงฟังรับสั่งสอน |
พระทัยอ่อนฝืนอดกำสรดศัลย์ |
ด้วยรู้สึกแน่ว่าความจาบัลย์ |
พาทรงธรรม์ธรรมบุตรสุดระทม |
ขอย้อนกล่าวถึงถิ่นอินทรปรัสถ์ |
ไร้กษัตริย์เสื่อมสุขมีทุกข์ถม |
ยุธิษเฐียรผู้ศรีบุรีรมย์ |
ต้องตรอมตรมเนรเทศประเวศน์วัน |
ราษฎรร้อนใจดังไฟเผา |
คิดถึงเจ้าซึ่งวิโยคแสนโศกศัลย์ |
การปกปักรักษาก็อาธรรม์ |
ล้วนแปรผันแผกผิดนิติธรรม |
ราชวังเคยงามอร่ามฉาย |
ได้เสื่อมคลายชูชุบอุปถัมภ์ |
ย่อมร้างรกนกเค้าเข้าประจำ |
ประหนึ่งสำนักป่าน่าสลด |
โจรผู้ร้ายชุกชุมเดี๋ยวรุมปล้น |
จลาจลทั่วแดนแสนระทด |
ผู้พวกมากลากพากันปรากฏ |
เกียรติยศเพราะที่ข่มขี่เอา |
ผู้พวกน้อยย่อยยับอัปลักษณ์ |
ถึงแม้จักยุกติธรรม์ก็งันเขา |
พูดไม่ได้ใจสยบต้องซบเซา |
แสนกำเดาเดือดใจดังไฟฟอน |
ต่างคำนึงทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร |
ซึ่งจากเจียรครบนัดสมพัตสร |
หวังเธอกลับปกป้องครองนคร |
ราษฎรพากันนับวันคืน |
พอทราบข่าวท้าวอาศัยในวิราฎ |
พร้อมนางนาฎและอนุชสุดจะชื่น |
ข่าวระบือดุจไฟที่ไหม้ฟืน |
ต่างแตกตื่นโจษกันลั่นนคร |
เหล่ากษัตริย์และมหาเสนามาตย์ |
ต่างคลาคลาดเยี่ยมองค์พระทรงศร |
กรุงวิราฎดาษดาประชากร |
ผู้สัญจรต่างด้าวเยี่ยมท้าวไท |
บ้างเดิรไปใจปลื้มจนลืมเหนื่อย |
ไม่รู้เมื่อยรู้ล้ามาจนได้ |
บ้างริษยาท้าววิราฎประหลาดใจ |
ที่ท้าวไทมาพักสำนักเธอ |
ต่างเข้าเฝ้าท้าวไทพิไรว่า |
ด้วยวาจาแนะนำพร่ำเสนอ |
ด้วยไม่รู้เค้ามูลทูลละเมอ |
ให้ท้าวเธอกลับหลังยังบูรี |
ยุธิษเฐียรเพียรพร่ำร่ำสนอง |
เรื่องขัดข้องที่จะมุ่งไปกรุงศรี |
จะต้องรุกรบใหญ่สู้ไพรี |
ทุกๆ ฝีก้าวไปจนได้เมือง |
ทรงปรึกษาท้าววิราฎดังมาดหมาย |
ตรัสบรรยายเหตุผลแต่ต้นเรื่อง |
“ท่านทราบเค้ามูลชัดคงขัดเคือง |
โปรดช่วยเปลื้องขัดแค้นแสนระทม |
เราพี่น้องต้องเร่เนรเทศ |
ก็เพราะเหตุโมหะเป็นประถม |
การพะนันขันต่อล่อให้จม |
ถึงแก่งมงายใหญ่ไร้วิจารณ์ |
เสียเดิมพันธุ์ปั่นป่วนกวนโทษะ |
ถึงสละสมบัติพัสถาน |
ออกพะนันขันสู้ไม่รู้การณ์ |
จนเสียบ้านเมืองยังไม่ยั้งคิด |
เสียตัวกับอนุชาเป็นข้าเขา |
ซ้ำเสียเท๎ราปทีศรีสนิท |
ถึงแม้เสียเมียรักอัครมิตร |
แต่ดวงจิตต์ข้าเจ้าไม่เศร้าเลย |
พอทุศศาสน์เปลื้องผ้ามารศรี |
เท๎ราปทีในสภา, เจ้าข้าเอ๋ย! |
ข้าเหลือช้ำน้ำใจไม่สะเบย |
เหลือจะเอ่ยโอษฐ์เล่าเรื่องเศร้าใจ |
เป็นพระคุณกรุณาเมตตาจิตต์ |
แห่งพระภิษม์อัยยกาปรึกษาให้ |
เนรเทศพวกเราไปเนาไพร |
สิบสามปีมีในข้อสัญญา |
พวกข้าเจ้ายินยอมพร้อมมนัส |
ต้องเที่ยวซัดเซไปอยู่ในป่า |
ครบกำหนดแล้วจึงมาพึ่งพา- |
ท่าน, ได้ผาสุกสิ้นต่างยินดี |
พวกข้าเจ้าปฏิบติเคร่งครัดหมด |
ครบกำหนดกติกาซึ่งว่านี้ |
ใคร่จะคิดกลับหลังยังบุรี |
ตามข้อที่กติกาสัญญากัน” |
ท้าววิราฎทูลองค์พระทรงฤทธิ์ |
“ข้าบาทคิดหนักใจเฝ้าใฝ่ฝัน |
ถึงข้อที่จะประเวศน์เข้าเขตต์คัน |
ต้องรบกันโดยแท้เป็นแน่นอน |
จักเสด็จโดยสวัสดิ์เห็นขัดข้อง |
คงจะต้องออกแรงด้วยแสงศร |
ของสิ่งใดที่พรากตกจากกร |
มันจะย้อนคืนกลับเห็นอับจน |
อย่างน้อยต้องออกแรงแสวงหา |
หรือโดดคว้าทันทีจึงมีผล” |
ข้อนี้เจ้าเท๎ราปทีนีรมล |
ถึงแม้ตนเป็นสตรี, เห็นดีตาม |
ด้วยนางเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ |
จึงทูลทัดภูวไนยมิได้ขาม |
“ข้าพระบาทใคร่ครวญเห็นลวนลาม |
ถึงสงครามแน่แท้ไม่แปรปรวน |
ความไกล่เกลี่ยเช่นนี้ถึงพี่น้อง |
ก็ทำนองความฝันคงผันผวน |
อันพี่น้องปองชีวิตคิดเรรวน |
รางวัลควร ‘มรณะ’ อย่าละเลย |
พระตรองเถิดทุรโยธน์คิดโหดร้าย |
เอาเปรียบหลายทางท่าเจ้าข้าเอ๋ย ! |
ทำมารยาการุณย์อย่างคุ้นเคย |
ลวงเฉลยล่อใจให้พะนัน |
กระทำกลจนคร่าห์อาณาจักร |
ให้ทรงศักดิ์เนรเทศจากเขตต์ขัณฑ์ |
ถึงฉะนี้แล้วไฉนไม่สำคัญ |
ถ้าทรงธรรม์เกรงพิรุธยุตติธรรม |
ก็จงให้สงครามงามสง่า |
เป็นตุลาการเลิศประเสริฐล้ำ |
สงครามจักตัดสินให้สิ้นกรรม |
ที่ตรากตรำเตรียมตรมระทมมา” |
พระทรงฟังเท๎ราปทีทูลชี้ไข |
มีพระทัยตื้นตันด้วยหรรษา |
ดำรัสตอบจอมขวัญกัลยา |
“น้องร่ำว่าถูกถ้วนกระบวนความ |
พี่กล่าวนั้นเพื่อใคร่ลองใจน้อง |
จะตรึกตรองกู้ศักดิ์หรือจักขาม |
ถูกของน้องแล้วน้องต้องสงคราม |
จึงจะข้ามอุปสรรคซึ่งหนักใจ |
พี่จะรีบบอกเหตุประเทศราช |
ป่าวประกาศชี้แจงแถลงไข |
ให้ราชาทราบสิ้นทุกถิ่นไป |
เสียแต่ในเนิ่นวันจึงทันการณ์ |
ให้ทูตไป ‘ท๎วารกา’๑๒ พาราใหญ่ |
จำทูลไท้ ‘กฤษณะ’ เพื่อสมาน |
ให้เธอช่วยฝ่ายเราเข้ารำบาญ |
ทูตผู้ชาญนั้นก็อรชุน” |
ดำรัสพลางพาองค์อนงค์นาถ |
สู่ปราสาทยิ่งเลิศประเสริฐสุนทร์ |
ประทับบนบรรจัตถรณ์อ่อนละมุน |
ด้วยใบบุญท้าววิราฎนาถประชา |
ซึ่งเคารพนบนอบมอบอำนาจ |
ถวายอาสน์ราชันด้วยหรรษา |
มอบเสนามาตย์ไท้ในสภา |
เพื่อปรึกษากิจการงานสงคราม |
ครั้นรุ่งเช้าบพิตรยุธิษเฐียร |
จากมนเทียรสู่สภาเสนาหลาม |
ทรงปรึกษาเสร็จสิ้นระบิลความ |
สำเร็จตามหฤทัยทรงไตร่ตรอง |
ให้อรชุนน้องยาผู้กล้าหาญ |
จำทุกศาส์นทรงธรรมนำสนอง |
เธออำลาคลาไคลดังใจปอง |
สู่แคว้นของกฤษณะปิยมิตร |
อยู่ทางหนปรัศจิมริมสมุทร |
นามสมมุติ ‘ท๎วารกา’ ตามภาษิต |
ซึ่งเคยไปเยี่ยมองค์พระทรงฤทธิ์ |
ครั้งบพิตรเนรเทศระเวศน์วัน |
จนกลมเกลียวเดี่ยวดองเป็นน้องเขย๑๓ |
และคุ้นเคยผ่อนพักสำนักนั้น |
ร่วมไมตรีกับพระกฤษณ์สนิทกัน |
เกี่ยวข้องฉันปิยญาติราชวงศ์ |
เมื่อเธอมาถึงประตูพระบูเรศ |
ก็พบแขกแปลกเพศน่าพิศวง |
เป็นเจ้าชายทราบแจ้งด้วยแต่งองค์ |
มุ่งเดิรตรงไปข้างหน้าไม่รารอ |
สังเกตท่ามาไกลได้ลำบาก |
ธุระมากมุ่งไคลมิได้ท้อ |
ทหารยามแหยงกลัวจนตัวงอ |
ปล่อยให้พ่อคลาไคลไปสบาย |
ดังพระญาติราชันอันสนิท |
หรือใกล้ชิดเชิงเช่นเป็นสหาย |
อรชุนครุ่นจิตต์คิดมิวาย |
“เอ! เจ้าชายนี้จะไปที่ไหนกัน?” |
ด้วยเธอมุ่งราชการเป็นงานร้อน |
บทจรเร็วไวไม่ใฝ่ฝัน |
ถึงทวารชั้นในเธอไปทัน |
เจ้าชายนั้นเข้าไปได้สบาย |
นายประตูรู้จักไม่ทักถาม |
เธอมุ่งตามจะให้ทันรีบผันผาย |
เข้าสู่พระโรงคัลพรรณราย |
ไม่สมหมาย, กฤษณะยังประทม |
จึงเลยเข้าห้องมหาไสยาอาสน์ |
ถือมารยาทอย่างมิตรสนิทสนม |
พระกฤษณ์ตื่นจากมหานิทรารมย์ |
แต่บรรทมอยู่กับที่ศรีไสยา |
ก็พอพระอรชุนผู้ครุ่นจิตต์ |
มายืนชิดแท่นสุวรรณด้วยหรรษา |
พร้อมกับเจ้าชายแขกผู้แปลกมา |
ซึ่งยืนปรากฏตัวอยู่หัวนอน |
อรชุนยืนทางข้างพระบาท |
พระกฤษณ์ราชลืมเนตรสังเกตก่อน |
ทรงปราศรัยมิได้ช้าด้วยอาทร |
“อรชุน! เธอจรมาเมื่อไร? |
ข้าเจ้าอยากพบเธอนักเกลอเอ๋ย ! |
ยังสะเบยหรือเข็ญเป็นไฉน?” |
“หม่อมฉันมาเดี๋ยวนี้ด้วยดิใจ |
ล่วงเข้าในห้องหอขอขมา” |
เจ้าชายนั้นคือพระทุรโยธน์ |
ทรงลิงโลดทูลไท้มิได้ช้า |
“หม่อมฉันเข้ามาในห้องไสยา |
เป็นเวลาก่อนใครอย่าได้แคลง” |
พระกฤษณ์เงยพักตร์ปะทุรโยธน์ |
ตรัสขอโทษภูวไนยมิให้แหนง |
“เป็นมงคลพ้นที่จะชี้แจง |
ที่แสดงเมตตามาบุรี” |
เมื่อทรงทราบข้อความตามประสงค์ |
ที่สององค์หมายมุ่งมากรุงศรี |
พยายามเกลี่ยไกล่ด้วยไมตรี |
แต่พ้นที่จะบรรเทาให้เบาลง |
ทุรโยธน์ถือว่าได้มาก่อน |
ทรงรีบร้อนทูลความตามประสงค์ |
เชิญพระกฤษณ์ช่วยตนรณรงค์ |
ด้วยถือตรงตำรับฉะบับบรรพ์ |
ประเพณีมีว่าถ้าสหาย |
ทั้งสองฝ่ายแก่งแย่งเข้าแข่งขัน |
ใครขอร้องก่อนเขาเข้าประจัญ |
ช่วยผู้นั้น, ถูกแยบแบบโบราณ |
อรชุนยืนรอไม่ขอร้อง |
ไม่สนองพจน์แย้งแข่งขนาน |
พระกฤษณ์จ้องมองดูอยู่เป็นนาน |
แล้วบรรหารตอบสนองแก่สององค์ |
“ข้าเจ้าต้องเอออวยช่วยสหาย |
ทั้งสองฝ่ายเต็มตามความประสงค์ |
ขอรักษาตราชูให้อยู่ตรง |
ไม่ขึ้นลงลำเอียงเป็นเที่ยงธรรม์ |
ข้าขอมอบพลนิกายแก่ฝ่ายหนึ่ง |
ทั้งทรัพย์ซึ่งเลี้ยงพหลพลขันธ์ |
พร้อมด้วยศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ |
ฝ่ายหนึ่งนั้นข้านี้ขอพลีตน |
ไม่สรวมเกราะและไม่ใช้อาวุธ |
และไม่อุดหนุนช่วยด้วยพหล |
แต่ขอช่วยคิดอ่านในการรณ |
ลำพังคนเดียวข้ากว่าจะตาย |
จงเลือกเอาคนละอย่างตามอ้างนี้ |
ข้ายินดีอนุญาตตามมาดหมาย |
แต่ไม่ยินดีเท่าบรรเทาคลาย |
จากปองร้าย,กลับรักพร้อมพรักกัน” |
ทุรโยธน์ฟังแถลงรับแจ้งว่า |
“ฝ่ายพวกข้าขอพหลพลขันธ์ |
กับทรัพย์สินศัสตราสารพัน |
เอาเป็นอันตกลงปลงหทัย” |
อรชุนฟังพระทุรโยธน์ |
ซึ่งเอื้อนโอษฐ์รีบแจ้งแถลงไข |
ไม่โต้แย้งแข่งขานประการใด |
ด้วยพอใจบพิตรกฤษณะ |
จึงกล่าวว่า “ข้านี้ยินดีนัก |
ได้เพื่อนรักร่วมใจมิได้ผละ |
มีค่ายอดมิตรภาพอาบอุระ |
เสมอกะกฤษณาผู้ยาใจ |
ข้าเจ้าได้ท่านไปพอใจล้น |
ยิ่งกว่าพลจตุรงค์ซึ่งปลงให้” |
ทั้งสองฝ่ายต่างก็พอพระทัย |
ลาครรไลออกมาผ่อนอารมณ์ |
พระกฤษณ์ทรงรับรองสองสหาย |
ให้สบายบานจิตต์สนิทสนม |
ทรงกะเกณฑ์พลนิกรร้อนระดม |
สำเร็จสมหฤทัยให้ไคลคลา |
พระทุรโยธน์นำทัพกลับบุเรศ |
บรรลุเขตต์สมคาดปรารถนา |
อรชุนชวนมิตรพระกฤษณ์มา |
ในเวลาเดียวกันรีบผันจร |
ถึงวิราฎเร็วไวเพราะไม่หยุด |
ธรรมบุตร์บพิตรอดิศร |
เจ้าวิราฎเสนาสามภ๎ราดร |
ออกมาต้อนรับไท้พาไปวัง |
จัดปราสาททรงพักอัครฐาน |
พนักงานแวดล้อมอยู่พร้อมพรั่ง |
พักสำราญบานชื่นคืนกำลัง |
เชิญท้าวยังห้องสภาทรงหารือ |
พระกฤษณ์ทรงเป็นประธานบรรหารไข |
นี่เธอใครฆ่าฟันกันละหรือ? |
ถ้าปล่อยให้ไฟสงครามลุกลามฮือ |
นั่นแหละคือความวินาศญาติทั้งปวง |
ความเงียบเหงาเปล่าจิตต์คิดสลด |
ความระทดทุกข์ใจเป็นใหญ่หลวง |
ความกำพร้าพรากพลัดกลัดระลวง |
ท่านคิดล่วงลุบ้างหรืออย่างไร ? |
ใช้ข้าเจ้านี้หวังตั้งสงบ |
แม้ไม่สบขัดสนพ้นวิสัย |
ก็ควรจะออมอดสะกดใจ |
เห็นอย่างไร ? ว่ามาอย่าช้าที” |
ที่ประชุมปรึกษาเห็นว่าชอบ |
ตามระบอบบพิตรพระกฤษณ์ชี้ |
ตกลงส่งทูตไปไขคดี |
ให้เป็นที่ปรองดองพี่น้องกัน |