- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
ครบกำหนดเนาป่าแห่งห้าเจ้า | พอย่างเข้าถึงปีที่สิบสาม |
ทุรโยธน์ส่งคนเที่ยวค้นตาม | ทุกเขตต์คามค้นจบไม่พบพาน |
ซ้ำส่งผู้ลาดตระเวนซึ่งเจนป่า | เที่ยวค้นหาทั่วไปในไพรสาณฑ์ |
เที่ยวดั้นด้นค้นคว้าอยู่ช้านาน | ทุกสถานถิ่นที่ไม่วี่แวว |
เชื่อแน่ว่าภ๎ราดาทั้งห้านั้น | คงพากันวายปราณเสียนานแล้ว |
ด้วยเดิรด้นดงชัฏพนัสแนว | คงไม่แคล้วสัตว์ร้ายทำลายชนม์ |
เมื่อเธอหลงปลงเห็นไปเช่นนี้ | เชื่อเป็นที่แน่ใจไม่ฉงน |
ว่าปาณฑพมิได้อยู่เปนผู้คน | สมกมลมุ่งไว้ดีใจครัน |
พราหมณ์โท๎รณะพระภิษม์บัณฑิตแก่ | ผมขาวแลดุจฝ้ายไม่หมายมั่น |
อาฆาตใคร, ใจมุ่งผดุงธรรม์ | ไม่พักผันผ่อนเห็นว่าเป็นดี |
ซ้ำไม่เชื่อเหตุการณ์เรื่องปาณฑพ | จะเป็นศพลงเป็นเหยื่อแห่งเสือสีห์ |
นักรบผู้ศักดิ์สิทธิ์เรืองฤทธี | ท้าวเธอมีศัสตราทั้งห้าองค์ |
จักให้สัตว์กัดกินจนสิ้นไซร้ | ถึงใครๆ ก็ต้องคิดพิศวง |
พระชนม์แปดสิบพรรษ์อันมั่นคง | สอนพระภิษม์ให้ทรงพิจารณ์การณ์ |
มีข้อหนึ่งสอนให้ ‘อย่าใหลหลง | รีบจบลงเร็วนักไร้หลักฐาน’ |
เธอสำคัญมั่นจิตต์คิดวิจารณ์ | ว่าห้าปาณฑพนั้นไม่บรรลัย |
อรชุนชายชาญในการศร | หรือจะนอนให้เขาฆ่าน่าสงสัย |
เธอคงเที่ยวสัญจรซุกซ่อนไป | กว่าจะได้พ้นปีที่สัญญา |
เกรงว่าพระทุรโยธน์ผู้โฉดเขลา | พระทัยเฝ้าใฝ่ฝันคิดหรรษา |
หลงว่าปาณฑพตายคลายสงกา | ศึกจะมาโจมจู่ไม่รู้ตน |
ท่าน ‘กฤปาจารย’ ผู้รอบรู้เหตุ | ได้สังเกตกิจการวิจารณ์ผล |
ก็เห็นพ้องต้องกันมั่นกมล | ทั้งสามคนมิได้งำเฝ้าอำพราง |
เมื่อทุรโยธน์ตรัสถามข้อความนี้ | ต่างทูลชี้เหตุผลจนกระจ่าง |
ที่สุดทูลแนะนำเป็นคำกลาง | ให้สองข้างพี่น้องปรองดองกัน |
“ความจริงข้าครุ่นคิดพิศวง | ห่วงพระองค์ว่าจะได้ภัยมหันต์ |
ซึ่งจะเกิดภายหลังตั้งอนันต์ | ยังมิทันเตรียมตนผจญภัย |
ส่วนปาณฑพห้าไท้ข้าไม่ห่วง | เธอทั้งปวงยังคงไม่สงสัย |
พอบขวบปีที่สิบสามพ้นข้ามไป | คงจะได้พบกันเป็นมั่นคง |
บัดนี้ก็เกือบหมดกำหนดแล้ว | ข้าบาทแน่วแน่จิตต์คิดประสงค์ |
ให้ไมตรีมีคืนอยู่ยืนยง | ร่วมเป็นวงศ์เดียวกันนิรันดร |
รีบสมานไมตรีศรีสวัสดิ์ | เพื่อพิพัฒน์ภีย์โยสโมสร |
ช้าไม่ได้, ภัยแท้เป็นแน่นอน | จะเกิดร้อนรนราษฎร์และญาติไท” |
อำมาตย์ผู้สืบการณ์เรื่องปาณฑพ | ได้ฟังจบสามท่านทูลขานไข |
ไม่กล้าขัดทัดทานประการใด | เพราะสืบไม่ทราบข่าวเรื่องราวมา |
จึงเอาข่าวคราวเรื่องเมืองวิราฎ | เป็นโอกาสผันแปรทูลแก้หน้า |
“ขอเดชะ, พระราชอาชญา | ไม่พ้นข้าบาทมูลขอทูลไท |
เจ้าปาณฑพภ๎ราดาอย่าฉงน | คงวายชนม์มั่นคงสิ้นสงสัย |
ข้าบาทได้ข่าวดีกว่านี้ไป | คือข่าวในกรุงวิราฎ, ฆาตกรรม |
กิจกะมิตรท่านเจ้าปาณฑพ | ผู้นักรบเรืองชื่อฝีมือล้ำ |
ถูกทำลายชีวาตม์อุบาทว์นำ | สิ้นผู้สำคัญจักพิทักษ์เมือง |
บุญพระองค์ทรงภพเการพรัฐ | จักพิพัฒน์แผ่เขตต์เดชกระเดื่อง |
ธงเการพจักตั้งมลังเมลือง | ปลิวอยู่เบื้องบนราชปราสาทชัย |
แห่งวิราฎกรุงไกรในมิช้า | เกียรติจักปรากฏจบสบสมัย” |
ทุรโยธน์ฟังคำร่ำพิไร | ปลื้มพระทัยอย่างดรุณรุ่นคะนอง |
ลืมเหตุการณ์ปาณฑพปรารภอยู่ | ไม่ฟังผู้สอนสั่งสิ้นทั้งผอง |
ตรัสประภาษขาดคำด้วยลำพอง | ให้เตรียมกองพลรบจงครบครัน |
เพื่อโจมเข้ารบพุ่งกรุงวิราฎ | ในโอกาสทันทีขมีขมัน |
ฝ่ายนายทัพรับบัญชาไม่ช้าพลัน | มาเกณฑ์กันอลหม่านทุกด้านไป |
ในไม่ช้าทัพเหล่าพวกเการพ | ก็เตรียมครบครันดังรับสั่งไข |
ถึงวันดีกรีธาพลคลาไคล | มุ่งตรงไปกรุงวิราฎรีบคลาดคลา |
แม่ทัพใหญ่นำพหลพลขันธ์ | สุศรมัน นามขนาน, ซึ่งหาญกล้า |
พร้อมแม่ทัพนายกองรองลงมา | ล้วนลือชาเชี่ยวชาญการสงคราม |
ทัพเการพครั้งนี้เป็นที่เยี่ยม | เพราะตระเตรียมแต่ทหารชาญสนาม |
พร้อมสรรพสี่เสนาสง่างาม | เป็นเหล่าหลามแลหลากมากอนันต์ |
เสนาม้าขี่ม้าสง่าเลิศ | ถือทวนเชิดชูทวนล้วนแข็งขัน |
เสนาช้างขี่ช้างสำอางครัน | ถือของ้าวชูชันของ้าวงอน |
เสนารถขับรถงามชดช้อย | ถือศรง่าบ่าห้อยแล่งลูกศร |
เสนาเดิรเท้าเร้าเดิรเท้าจร | ถือศัสตราร่าร่อนรำศัสตรา |
ทุกเสนาร่าเริงบันเทิงถ้วน | เดิรขบวนพลขันธ์ด้วยหรรษา |
ยกทัพกรุงหัสดินสิ้นทุกครา | ไม่เคยร่าเริงล้นเหมือนหนนี้ |
เพราะต่างเห็นเป็นแท้แน่ชะนะ | ทุกคนกระหยิ่มเอมเกษมศรี |
พอทัพชัยใกล้แดนแคว้นบุรี | ข่าวทัพนี้ทราบสิ้นถิ่นนคร |
ฝ่ายข้างท้าวเจ้าวิราฎประกาศให้ | เตรียมกรุงไกรตรวจการด่านขนอน |
ขมักเขม้นเกณฑ์พหลพลนิกร | เพื่อราญรอนต้านทานทุกด้านทาง |
พระองค์ทรงปรึกษาเสนามาตย์ | เห็นเด็ดขาดควรจัดรีบขัดขวาง |
ชิงต้านทานราญรณแต่ต้นทาง | อย่าให้ย่างเหยียบแดนแคว้นบุรี |
ทรงเตรียมทัพสรรพเสร็จเสด็จยาตร | ขึ้นทรงราชรถทองอันผ่องศรี |
เคลื่อนพหลพลขันธ์ในทันที | พร้อมด้วยสี่เสนารีบคลาไคล |
ประทะทัพหัสดินณถิ่นกว้าง | เป็นทุ่งห่างเขาเขินเนินไศล |
ทั้งสองฝ่ายหยุดพหลพลไกร | เพื่อตรวจไตรเตรียมรบให้ครบครัน |
ต่างชะงักพักอยู่เพื่อดูท่า | ดังพญาเสือสองผยองผัน |
เมื่อยามมาพบปะประทะกัน | ต่างคุมชั้นเชิงเฝ้าเข้าประจญ |
ลงท้ายสุศรมันไม่งันอยู่ | กะเกณฑ์หมู่เสนาโกลาหล |
ครั้นพร้อมพรั่งสั่งให้ครรไลพล | เข้ารุกรณรำบาญทุกด้านไป |
ข้างฝ่ายทัพกรุงวิราฎอันอาจหาญ | เข้าต้านทานทัพขันธ์สนั่นไหว |
เสียงฝีเท้าม้ารถคชไกร | เสียงกลองชัยเภรีตีระดม |
เสียงทหารโห่อึกทึกลั่น | ก้องสนั่นทุ่งกว้างปางถล่ม |
ต่างเหยียบย่ำคาแฝกล้มแหลกจม | ลงประสมฝุ่นกลบตลบไป |
พอสองทัพใกล้กันประชันหน้า | ก็โปรยห่าฝนลูกศรว่อนไสว |
เสียงหวือหวู ! ดูประหนึ่งฝูงผึ้งไพร | ซึ่งบินในเวหาสดาษดา |
เสียงสายศรผางผึงอึงสนั่น | เสียงลูกศรโดนกันลั่นเวหา |
ที่บางลูกแล่นถูกจมูกตา | ถูกแขนขาร่างกายพวกฝ่ายบร |
บางลูกแล่นหวือไปโดยไร้ผล | ตกดินกล่นกลาดไปในสมร |
ทั้งสองทัพขับพลเข้ารณรอน | ดูพลจรดุจคลื่นดาษดื่นไป |
ไม่ช้าสองทัพขันธ์ประจันหน้า | ม้าต่อม้าเข้าประจัญสนั่นไหว |
มือถือทวนเทิดจ้องต่างว่องไว | ควบม้าไล่รำทวนเข้าสวนแทง |
พลช้างเชิดของ้าวคมขาววับ | ต่างก็ขับช้างชนไม่ย่นแหยง |
ช้างเข้าเสยงางัดคัดตะแบง | ผู้ขี่แกว่งขอฟาดเสียงฉาดฉับ |
เสนารถเร่งรถไม่ลดละ | เข้าปะทะไพรีซึ่งรี่รับ |
กุมศรแสงแผลงขนาบเสียงขวาบขวับ | ต่างกลอกกลับแกล้วกล้าดูน่าชม |
พลเดิรเท้าเข้าประเชิญพลเดิรเท้า | สำเนียงเหล่าทวยหาญขานขรม |
เสียศัสตราประกันลั่นระงม | ต่างเกลียวกลมกลาดกลุ้มตะลุมบอน |
ทันใดท้าวเจ้าวิราฎผู้อาจหาญ | กรรมบันดาลไท้ถูกซึ่งลูกศร |
แต่แผลไม่สาหัสถึงตัดรอน | พระภูธรฝืนองค์ดำรงกาย |
เข้ารบรุกเรื่อยไปมิได้ยอ | เพื่อให้ก่อหาญกล้าเสนาหลาย |
ต่างเข้าโถมโจมใส่ทั้งไพร่นาย | ทั้งสองฝ่ายฝ่ารุกต่างบุกบัน |
ที่สุดทัพชาววิราฎขยาดย่น | ด้วยอ่อนรณอ่อนแรงไม่แข็งขัน |
เหลือจักยั้งตั้งอยู่สู้ประจัญ | ก็พากันถอยร่นไม่ทนทาน |
‘สุศรมัน’ ขับรถสะกดไล่ | พอเข้าใกล้เจ้าวิราฎผ้อาจหาญ |
ขว้างบ่วงบาศมัดไท้มิได้นาน | จับภูบาลไปได้จากไพร่พล |
ฝ่ายกองกัพกรุงวิราฎเห็นขาดเจ้า | โทษะเร้าแรงกล้าโกลาหล |
ไม่คิดตายหมายเข้าแย่งเจ้าตน | ต่างรุกร้นเร่งทหารเข้าราญรอน |
ผู้ใดยั่นฟันศีรษะไม่ละเว้น | ระดมเผ่นโผนยุทธ์ไม่หยุดหย่อน |
พวกไพรีมีขวัญประชันกร | กลับตีต้อนแตกมาทุกคราไป |
ในที่สุดสับสนอลหม่าน | ต่างทะยานแย้งสู้อยู่ไสว |
เข้าแทรกแซงแทงฟันสนั่นไป | จนพวกไพรีร่นอย่฿ลนลาน |
มีชายดำล่ำสันชื่อ ‘พัลลภ’ | คือภิมหลบรับใช้ในสถาน |
เข้าอาสาโรมรันประจันบาน | เห็นทหารเกลื่อนกลาดโอกาสมี |
รีบเข้าแก้องค์ท้าวเจ้าวิราฎ | ตัดบ่วงบาศโดยพลันขมันขมี |
แย่งพระองค์มาได้จากไพรี | ต่างยินดีโห่ร้องกึกก้องไป |
ทำให้ทัพหัสดินสิ้นทั้งหมด | ต่างสยดแหยงอยู่ไม่สู้ไหว |
ทัพวิราฎได้ทีก็มีใจ | เข้ารุกไร่เการพอยู่ครบครัน |
ฝ่ายเการพร่นพ่ายกระจายหนี | กลับบุรีหัสดินสิ้นทั้งนั้น |
ทั้งศัสตราอาวุธยุทธภัณฑ์ | สุศรมันแม่ทัพถูกจับไป |
ท้าววิราฏครั้นได้ชัยชะนะ | ทรงมีพระกรุณาบัญชาไข |
ให้ปล่อยสุศรมันเสียทันใด | และส่งไปเมืองตนพ้นภยันต์ |
ฝ่ายว่าพระทุรโยธน์ลิงโลดล้น | เพื่อหวังผลโชคชัยซึ่งใฝ่ฝัน |
พอทราบผลแพ้พ้ายอับอายครัน | พิโรธลั่นเหลือแค้นแน่นกมล |
ให้เตรียมทัพนับทวีขมีขมัน | อเนกอนันต์เสนาโกลาหล |
พระองค์เป็นแม่ทัพบังคับพล | เคลื่อนพหลเสนาเร่งคลาไคล |
ป่างพระจอมนครินทร์ปิ่นวิราฎ | เผอิญคลาดแคล้วออกนอกวิสัย |
ด้วยคิดว่าไพรีป่นปี้ไป | คงจะไม่อาจหาญมาราญรอน |
ฝ่ายเสนาบดีเมื่อมีข่าว | จะทูลท้าวก็ไม่ทันสุดผันผ่อน |
จำปรึกษากันสู้กู้นคร | เกณฑ์นิกรโยธารักษาการ |
เชิงเทินป้อมพร้อมพรักพลรักษา | ส่งเสือป่าแมวเซาสืบข่าวสาส์น |
เร่งระดมพลขันธ์มิทันนาน | เพื่อต้านทานต่อแย้งแย่งประจัญ |
รัชชทายาทรับบังคับหมด | ถึงกำหนดเคลื่อนพหลพลขันธ์ |
ดำเนิรพลจตุรงค์อันยงยัน | จนประชันทัพหน้าปัจจามิตร |
ฝ่ายทัพหน้ากรุงวิราฎผู้อาจหาญ | หน่วงรบราญรับรองคอยป้องปิด |
จนทัพหลวงล่วงไปเข้าใกล้ชิด | ต่างเข้าติดพันกันประจันบาน |
ต่างต้อนพลรณรุกทั่วทุกเหล่า | เสียงฝีเท้าม้ารถคชสาร |
เสียงเป่าศังข์สัญญาบัญชาการ | เสียงทหารโห่ร้องเสียงกลองชัย |
ดังดั่งแสนขวานฟ้ามาผ่าด้าว | แผ่นดินราวจะเขยื้อนกระเทือนไหว |
ต่างรบรับขับเคี่ยวเป็นเกลียวไป | บัดเดี๋ยวไล่บัดเดี๋ยวร่นอยู่วนเวียน |
แลดูพลกล่นเกลื่อนเหมือนกับคลื่น | ล้วนดาษดื่นพลขันธ์ต่างหันเหียน |
เปนกลุ่ม ๆ เกลื่อนกลาดดาษเดียร | ดูอาเกียรณ์เกลื่อนกลาดดาษดา |
ทัพวิราฎมีข่าวกล่าวขยาย | เรื่องเจ้าชายหนึ่งนั้นชันษา |
ยังเป็นหนุ่มคุมซึ่งทัพหนึ่งมา | ตามบัญชาแม่ทัพบังคับการ |
ขับรถไปใกล้สนามขามขยาด | เห็นเลือดดาษแดงตนพลทหาร |
เห็นศพคนศพม้าคชาธาร | ล้มกลิ้งแผ่แลลานพระเนตรไป |
แสยงยั่นพรั่นจิตต์คิดสลด | เผ่นจากรถเร็วพลันจิตต์หวั่นไหว |
รีบผันผายหมายมุ่งกลับกรุงไกร | ไม่มีใครล่วงรู้ทุกหมู่กอง |
เพราะต่างตาต่างมุ่งรบพุ่งอยู่ | พอสักครู่สารถีอึงมี่ร้อง |
เห็นรถเปล่าแปลกจิตต์พินิศมอง | พากันจ้องหานายซึ่งหายไป |
เดิมมั่นหมายนายถูกซึ่งลูกศร | แล้วม้วยมรณ์มั่นคงแต่สงสัย |
เพราะไม่เห็นศพอยู่ดูกระไร | เลือดก็ไม่มีหยดปรากฏตา |
จึงหยุดพลค้นนายวุ่นวายอยู่ | ทหารหมู่หนึ่งด้นเที่ยวค้นหา |
พบเจ้าชายเชิญให้ครรไลมา | ประหนึ่งว่าผู้คุมกุมชะเลย |
ครั้นถึงกองทัพขันธ์พากันว่า | “พระเจ้าข้า ! ดูเถิดช่างเปิดเผย |
ซึ่งความขลาดอวดไพร่ข้าไม่เคย | ต่างก็เอ่ยอรรถเอื้อนตักเตือนนาย |
ทันใดนั้นสารถีผู้มีจิตต์ | ภักดีคิดเกื้อกูลทูลขยาย |
ให้เธอมีท่าทางอย่างผู้ชาย | อธิบายบอกกลรณรำบาญ |
ประเพณีมีมาสารถี | แต่ล้วนมีนิสสัยผู้ใจหาญ |
อย่างผู้นั่งรถศึกฝึกชำนาญ | รอบรู้การรณรงค์เชิงสงคราม |
ครั้งนี้เห็นเจ้าชายผู้นายทัพ | ใจขยับแหยงย่อท้อสนาม |
“เธอทอดทิ้งวิ่งเตลิดอีกเกิดความ | ข้าศึกตามจับได้ล้วนไม่ดี |
ถึงไม่แพ้ก็ไม่พ้นผู้คนติ | ต่างดำหนินินทาสารถี” |
คิดตกลงใจพลันในทันที | ว่าควรมีอาวุธยุทธภัณฑ์ |
จงขับรถเร็วไปมิได้ช้า | นำพลากรไปข้างไพรสัณฑ์ |
พอใกล้ต้นไม้ใหญ่ในอรัญ | รีบผายผันเผ่นตรงเข้าดงดอน |
ปีนขึ้นบนต้นไม้ด้วยไวว่อง | หยิบเอาของคู่มือกล่าวคือศร |
พร้อมแล่งลูกแลคร่ำรีบนำจร | มายังรถรีบต้อนนิกรพล |
ถึงสนามรบพลันจึงผันหน้า | บอกนาย “อย่าคิดขลาดขยาดย่น” |
ทิ้งบังเหียนก่งศรไม่ร้อนรน | ปากก็บ่นอธิบายให้นายฟัง |
“ม้าจะพารถไปทางไหนนั้น | ไม่ว่ามันปล่อยไปตามใจหวัง |
เพราะไพรีร่นถอยน้อยกำลัง | ล้วนพ่ายพังแพ้ทั่วกลัวอะไร ? |
ดูข้าเจ้าจะแสดงการแผลงศร | จำไว้รอนราณศึกฝึกให้ได้!” |
หยิบลูกศรขึ้นพาดแผลงกราดไป | ด้วยว่องไวแลลานตระการตา |
ศรถูกหนึ่งตกลงตรงพระพักตร์ | พระภิษม์นักรบอันสูงชันษา |
ลูกหนึ่งตกแทบเท้าเฒ่าชรา | คือโท๎รณาจารย์ผู้ครูโบราณ |
ทั้งสองท่านตกใจรีบไขว่คว้า | ลูกศรมาดูพลันสันนิษฐาน |
ตระหนักจิตต์คิดรู้ว่าผู้ชาญ | แผลงประหารเศียรท่านก็ลาญชนม์ |
ทั้งนี้เขาแผลงมาสักการะ | สองท่านกะสังเกตในเหตุผล |
จึงรีบทูลชี้แจงแจ้งยุบล | แก่จอมพลทุรโยธน์ “จงโปรดตรอง |
เดิมเราคิดมุ่งมาดคาดชะนะ | ครั้งนี้จะหมดหวังสิ้นทั้งผอง |
ลูกศรนี้ข้าได้สนใจมอง | เห็นเป็นของอรชุนด้วยคุ้นกัน |
เขาแผลงมาหาเราข้าเดาจิตต์ | คงไม่คิดปองฆ่าให้อาสัญ |
เปนแต่แผลงมานบอภิวันทน์ | จึงให้มันตกมาข้างหน้าครู” |
ทุรโยธน์ฟังคำแสร้งทำสรวล | จิตต์ใคร่ครวญเหตุผลชอบกลอยู่ |
นึกอิ่มใจได้ประสพพบศัตรู | จักได้ขู่คาดคั้นตามสัญญา |
เพื่อเพิ่มโทษเนรเทศจากเขตต์ขัณฑ์ | สิบสองพรรษาซ้ำสมน้ำหน้า |
จึงนำข้อใคร่ครวญทั้งมวลมา | สนทนากับพระภิษม์คิดทะยาน |
พระภิษม์เฝ้าฟังตรัสสมบัติบ้า | นึกระอาอัดอั้นใคร่บรรหาร |
พออ้าโอษฐ์ทูลพลันก็บันดาล | ได้ยินขานโห่ลั่นกระชั้นมา |
ด้วยรถศึกฝ่ายวิราฎผู้อาจหาญ | ขับทะยานบุกบั่นประชันหน้า |
พร้อมไพร่พลกล่นกลาดดาษดา | แผลงศรซ่าสาดไปยังไพร่พล |
รถแม่ทัพขับมาหน้าทาหาร | เข้ารำบาญบุกไร่มิได้ย่น |
ทัพเการพวุ่นว้าจลาจล | กระจายร่นเร่หนีป่นปี้ไป |
พอข้าศึกแตกพ่ายกระจายหนี | สารถีผู้หาญจึงขานไข |
แก่เจ้าชายนายตน “จงสนใจ | รบให้ได้ดังนี้” พลางชี้แจง |
“ดูเถิดทัพไพรีแตกปี้ป่น | แต่พวกพลเราราญหาญกำแหง |
เพราะนายทัพโดยแท้เป็นแม่แรง | ได้แสดงเดชไว้แก่ไพร่พล |
จงฟังเสียงแซ่ซร้องกองหหาร | สาธุการทั่วหน้าโกลาหล |
เขาชมท่านหาญกล้าเข้าฝ่ารณ | สู้ประจญไพรีจนมีชัย” |
เจ้าชายฟังสารถีชี้แถลง | พระพักตร์แดงยินดีจะมีไหน |
ฟังประชาสาธุการเบิกบานใจ | ต้อนพหลพลไกรกลับนคร |
พลทหารโห่ลั่นสนั่นเสียง | ฝ่าสำเนียงครวญครางกลางสมร |
แห่งผู้บาดเจ็บกลาดอนาถนอน | อยู่ซับซ้อนเลือดฝาดแดงดาษไป |
เดิรทัพเข้ากรุงไกรด้วยใจชื่น | ชาวเมืองดื่นดาษดูอยู่ไสว |
เจ้าชายกับสารถีผู้มีชัย | ต่างปราศรัยสนทนามาหน้าพล |
เมื่อถึงที่พักทัพก็ยับยั้ง | ชาวเมืองพรั่งพร้อมหน้าโกลาหล |
ต่างกระหยิ่มอิ่มเอมเปรมกมล | ด้วยฝ่ายตนมีชัยแก่ไพรี |