- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
ครั้นต่อมาห้าหลานพระปาณฑพ | อพยพย้ายไปในสถาน |
ตำบลปาณฑพปรัสถ์ทรงจัดการ | ให้เริ่มงานแผ้วถางสร้างนคร |
สร้างมหาปราสาทราชฐาน | ป้อมปราการเวียงวังตั้งสลอน |
ตัดถนนก่นสร้างหนทางจร | ทีใดดอนไขน้ำขุดลำคลอง |
แปลงแดนดินถิ่นป่าเป็นนาไร่ | มีน้ำไหลเอิบอาบจากมาบหนอง |
ให้ชาวชนกินใช้ดังใจปอง | ตั้งบ้านช่องหากินเพิ่มภิญโย |
ทำเรือกสวนไร่นาขึ้นหนาแน่น | เป็นปึกแผ่นคึกคักขึ้นอักโข |
นับวันแต่แผ่ไปยิ่งใหญ่โต | เป็นที่โอฬารสิ้นทั่วดินแดน |
สำเร็จเป็นกรุงไกรวิไลล้ำ | อยู่ริมน้ำยมนาสง่าแสน |
พินิศกรุงรุ่งเรืองดังเมืองแมน | งามปราสาทมาตรแม้นไพชยนต์ |
มนเทียรล้อมพร้อมพรั่งตั้งติด ๆ | งามวิจิตรแจ่มฟ้าเวหาหน |
มีพลับพลาท่าน้ำผ่องอำพน | อยู่ริมชลชูตาประชากร |
มีสวนแก้วคู่ควรสวนสวรรค์ | พิพิธพรรณ์พฤกษชาติดาษสลอน |
อุตดมดอกออกช่ออรชร | เสียงภมรหวี่หวู่ ! ชูหทัย |
มีสระโบกขรณีศรีสง่า | เห็นฝูงปลาว่ายคล่ำด้วยน้ำใส |
ประดับบัวเบ็ญจพรรณอันอำไพ | ดัง ‘สุนันทา’ ในชั้นตรัยตรึงส์ |
มีลำธารผ่านเลี้ยวแลเคี้ยวคด | เป็นหลั่นลดล้วนให้น้ำไหลถึง |
มีห่านหงส์ว่ายเรียงส่งเสียงอึง | เป็นที่พึงพอตาสารพัน |
มีสนามงามตาหญ้าระบัด | มีฝูงสัตว์เนื้อทรายเที่ยวผายผัน |
นกยูงฟ้อนรำอยู่เป็นหมู่กัน | บนกิ่งพรรณพฤกษชาติกลาดสกุณี |
เสียงจอแจ! แซ่ร้องคะนองขัน | บ้างโผผันไปมาอยู่ว้าวุ่น |
ทุกสิ่งเพลิดเพลินใจยิ่งไพบุลย์ | งามอดุลชวนชมนิยมยิน |
สำเร็จสร้างพระนครบวรศรี | ดังบุรีมัฆวานตระการสิ้น |
ขนานนามกรุงไกรดังใจจินต์ | นคร ‘อินทรปรัสถ์’ จังหวัดชัย |
เจ้าปาณฑพห้าองค์จึงทรงโปรด | ให้สมโภชพระบุรีพิธีไสย |
มวลอำมาตย์ราษฎร์สิ้นถิ่นไผท | ต่างพร้อมใจเริ่มมีพิธีการ |
อภิเษกบพิตรยุธิษเฐียร | เฉลิมราชมนเทียรเปลี่ยนสถาน |
ขึ้นครองราชสมบัติชัชวาล | พระน้องปาณฑพล้อมพรั่งพร้อมกัน |
ต่างประทับยับยั้งณวังใหม่ | ทุกวังไพโรจน์ปานวิมานสวรรค์ |
ล้อมพระมนเทียรไทไม่ไกลกัน | ดังดาวห้อมล้อมจันทร์พรรณราย |
ทรงแต่งตั้งเสนีมนตรีมุข | อำมาตย์ทุกตำแหน่งแบ่งขยาย |
การปกครองท้องที่ให้มีนาย | เพื่อขวนขวายเสาะสร้างทางเจริญ |
ประชาราษฎร์รื่นเริงบันเทิงทั่ว | ทุกครอบครัวครื้นครั่นด้วยสรรเสริญ |
การพาณิชย์หัตถกรรมยิ่งดำเนิร | ขึ้นสูงเกินคาคคิดทุกกิจการ |
ทั่วดินแดนแน่นหนาประชาชาติ | มาจากราษฎร์อื่นเข้าเนาสถาน |
อินทรปรัสถ์พึ่งร่มพระสมภาร | เป็นข้าเบื้องบทมาลย์พระภูธร |
อินทรปรัสถ์แน่นหนาเป็นฝาฝั่ง | ด้วยกำลังภีย์โยสโมสร |
คือดินแดนดื่นดาษราษฎร | เป็นกำลังราญรอนอรินทร์ภัย |
กำลังทรัพย์คับคั่งพระคลังหลวง | และราษฎร์ปวงมั่งมีทวีใหญ่ |
กำลังพระปัญญาราชาไท | และปัญญาข้าใต้บทมาลย์ |
เพราะปรีชาทรงฤทธิ์ยุธิษเฐียร | ทรงพากเพียรดำกลผลพิศาล |
ดำเนิรรัฐประศาสน์เปรื่องปราชญ์ญาณ | พระสมภารแผ่ผายกำจายจร |
เมื่อพระราชมหาอาณาจักร์ | ล้วนพร้อมพรักภีย์โยสโมสร |
เพื่อเผยเกียรติเกริกหล้าสถาพร | พระภูธรเริ่มงานการมงคล |
ตั้งพระราชพิธีศรีสวัสดิ์ | ‘ราชสูยยัชน์ |
โองการให้น้องยากรีธาพล | เข้าเหยียบแดนสามนตราชา |
เพื่อประกาศราชฤทธิ์ทุกทิศเทศ | ย่อพระเดชอ่อนน้อมอยู่พร้อมหน้า |
รับอัญเชิญท้าวไทต่างไคลคลา | นำบรรณาการน้อมพร้อมทุกเมือง |
พิธีราชสูยยัชน์จรัสผล | ท้าวสามนต์เฝ้าแหนออกแน่นเนื่อง |
มหาพราหมณ์พรหมบุตรวุฑฒิเรือง | บำเพ็ญเรื่องไสยกิจทำพิธี |
เฉลิมยศสมญา ‘มหาราช’ | ทรงอำนาจทรงคุณวิบุลศรี |
ดำเกิงเกียรติก่องหล้าทั่วธาตรี | พระบุรีผาสุกสนุกสบาย |
ภายหลังกิจพิธีศรีสง่า | มีข่าวซ่าเซ็งแซ่ออกแพร่หลาย |
บ้างชมเชียงเฉิดฉันพรรณราย | ชมอุบายปกป้องครองนคร |
บ้างชมวัตรจริยาประชาราษฎร์ | ชมพระบาทบพิตรอดิศร |
ลือถึงกรุงหัสดินยินขจร | ถึงภูธรทุรโยธน์ด้วยโจษกัน- |
ถึงความงามพระบุรีศรีพิพัฒน์ | อินทปรัสถ์กรุงไกรไอศวรรย์ |
จึงลาองค์พระบิดรจรจรัล | มาเยี่ยมขัณฑสีมาพระภ๎ราดร |
พระเจ้าลุงนามพระ ‘ศกุนิ’ | กับบริวารหลามตามสลอน |
ครั้นถึงอินทรปรัสถ์ฉัตรนคร | มีการต้อนรับไท้ด้วยไมตรี |
มีทหารแห่แหนแสนสง่า | อัญเชิญมาชมเมืองอันเรืองศรี |
ทอดพระเนตรถิ่นฐานตระการมี | จนถึงที่วังราชปราสาทชัย |
พระปาณฑพภ๎ราดาพาพระเชษฐ์ | ชมนิเวศเวียงทองอันผ่องใส |
ล้วนโอฬารเลิศยิ่งทุกสิ่งไป | ดังเวียงไทเทพท้าวดาวดึงส์ |
พระทุรโยธน์เยื้องย่างพลางพินิศ | สิ่งวิจิตรเหลือการประมาณถึง |
ทุกสิ่งล้วนแลเพลินเดิรตะลึง | พลางรำพึงริษยาพระภ๎ราดร |
ด้วยฝีมือจิตรกรรมที่ทำไว้ | ทำให้ไท้ลนลานเหมือนการหลอน |
เห็นผนังดังว่างเป็นทางจร | พระภูธรชนกักชะงักงัน |
บางแห่งไท้ทรงเพลินดำเนิรนาด | น้ำพุสาดฝอยกลฝนสวรรค์ |
เปียกภูษาโซกกายละอายครัน | บางแห่งพลันถกผ้าภูษาทรง |
เห็นเป็นน้ำลำรางเป็นอ่างแก้ว | หยักรั้งแคล้วคลาดคิดพิศวง |
ด้วยไม่มีน้ำท่า, พาพระองค์ | ตะลึงหลงจิตรกรรมซึ่งทำลวง |
ทั้งนี้ทรงขวยเขินสะเทิ้นจิตต์ | คะนึงคิดแค้นใจเป็นใหญ่หลวง |
เธอตกลงปวงจิตต์ว่ากิจปวง | ล้วนเป็นบ่วงคล้องบาทให้พลาดแพลง |
บางครั้งเจ้าปาณฑพเห็นขบขัน | ทรงสรวลสันต์ล้อเล่นกลับเป็นแหนง |
ทรงคิดแค้นต่าง ๆ ด้วยคลางแคลง | เห็นว่าแกล้งทำไว้ให้ได้อาย |
กลับจากอินทรปรัสถ์ยังกลัดกลุ้ม | ดังเพลิงสุมอกอยู่ไม่รู้หาย |
จึงเผยแผ่ความลับที่อับอาย | ออกบรรยายแก่พระศกุนิ |
“พระลุงจงทรงทราบความหยาบช้า | แห่งภ๎ราดาปาณฑพให้ครบสิ ! |
พิษมันชาบปลาบใจกระไรชิ ! | มันคงตริเตรียมการไว้นานครัน |
เพื่อจงหวังตั้งหน้าคิดอาฆาต | หมิ่นประมาทหมายมอมกระหม่อมฉัน |
ด้วยกิจการมารยาสารพัน | มันพากันตามมาเหมือนหมาใน |
ดูหม่อมฉันดั้นด้นเข้าชนฝา | แล้วเฮฮา ! สรวลสันต์สนั่นไหว |
ดูหม่อมฉันล้มหงายสบายใจ | และอะไรต่ออะไรเชิญไตร่ตรอง |
หน้าหม่อมฉันอ่อนกว่าฝาผนัง | เมื่อชนปั๋งเข้าไปดังใครถอง |
โนทันควันมันยังแสร้งแกล้งประคอง | แล้วยิ้มย่องเย้ยให้ด้วยใจมาร |
อนิจจา ! ขาแข้งไม่แกล้งบอก | มีเปิกปอกมากอยู่โปรดดูหลาน |
มันหัวเราะเยาะซ้ำเล่นสำราญ | เหลือจะดาลเดือดใจดังไฟลน |
ทูลกระหม่อบบิดาก็ชาเฉื่อย | พระทัยเนือยไม่สังเกตในเหตุผล |
เพราะเข้ายามความชรามาระคน | มิได้สนหฤทัยจะใคร่ครวญ |
ได้แต่ฟังมนตรีที่ปรึกษา | ซึ่งเหมือนอาศิรพิษ |
อ้ายเหล่าร้ายขายเจ้าเฝ้าแต่กวน | ทูลชักชวนท้าวให้พระทัยเบา |
แบ่งเขตต์แดนหม่อมฉันให้มันกึ่ง | ไม่ควรซึ่งเขาจะได้ก็ให้เขา |
ไม่ช้าพระบิตุราชผู้ปราศเชาวน์ | จะต้องเต้าเนรเทศถูกเฉดไป |
นั่นแหละจักทรงรู้ว่างูพิษ | แต่หมดคิดผันแปรเข้าแก้ไข |
เพราะมันสายล้นพ้นต้องจนใจ | ทั้งนี้ได้พูดพร่ำเพราะจำเป็น |
มันสอพลอออเออเสนอกิจ | ล้วนคายพิษอันธพาลท่านก็เห็น |
ยิ่งคิดไปใจช้ำแสนลำเค็ญ | แทบเลือดตาจะกะเด็นไม่เว้นวัน |
มันโกยทรัพย์นับล้านให้ปาณฑพ | เพราะมันคบคิดคดกบฎฉัน |
มิใช่เยาว์วัยอยู่ไม่รู้ทัน | จะได้ดันเสียงร้องทวงของมา |
หม่อมฉันจดจำไว้ด้วยใจป้ำ | จะขอทำสงครามให้งามหน้า |
ขอจับอ้ายไพรีผู้บีฑา | เอามาฆ่าเสียให้หมดไม่ลดกร |
แล้วจะตายก็ไม่ว่าจริงหนาท่าน | ขอสมการปรารถนาแห่งข้าก่อน |
ที่จริงกองทวยหาญจะราญรอน | ของเราอ่อนแออยู่เพราะดูดาย |
ไม่เพียงพอต่อสู้หมู่อมิตร | ยิ่งคิดคิดแล้วให้ฤทัยหาย |
ส่วนไพรีมีพหลพลนิกาย | เป็นหลายรายรวมกันล้วนมั่นคง |
ทั้งม้ารถคชพลมีล้นหลาม | เข้าสงครามได้ดังตั้งประสงค์ |
ล้วนสง่ากล้าหาญชาญณรงค์ | ประหนึ่งผงตำตาพาระคาย |
โอ! ชีวิตหม่อมฉันเหมือนจันทร์ดับ | มีแต่อับอายอยู่ไม่รู้หาย |
ชีวิตศูนย์เสียเมื่อไรไม่เสียดาย | เหมือนร่างกายนกกาไม่ว่าเลย” |
ศกุนิฟังไขใจกระหาย | พอลงท้ายถ้อยคำร่ำเฉลย |
ด้วยสันดานหยาบหยามอยู่ตามเคย | คอยจ้องเอ่ยสอพลอทูลต่อเติม |
เมื่อเห็นพระทุรโยธน์พิโรธร้าย | จึงบรรยายยุยงทูลส่งเสริม |
ให้เคืองแค้นแน่นหนาขึ้นกว่าเดิม | แล้วจึงเริ่มบรรยายขยายกล |
“ซึ่งรับสั่งทั้งนี้ไม่มีผิด | เพราะเหลือคิดจะประจัญให้ยั่นย่น |
ด้วยปาณฑพครบถ้วนกระบวนพล | มีสามนตกษัตริย์จรัสฤทธิ์ |
ถึงแม้เราเบาบางในทางยุทธ์ | ไม่ควรหยุดยั่นท้อระย่อจิตต์ |
ซึ่งตรัสว่า ‘อยากตายวายชีวิต’ | นี้ยังผิดท่วงทีวีรชน |
เหมือนปลาหมอต่อสู้ฤดูแล้ง | จนเกล็ดแห้งก็ยังเกลือกเฝ้าเสือกสน |
หมดแรงกายหมายแสวงทางแรงกล | ไม่ควรย่นย่อใจคิดใคร่ตาย |
ความขายหน้าอาภัพเหมือนกับแผล | มียาแก้เหมาะกันก็พลันหาย |
ความชะนะจะเป็นยาพาทำลาย | ให้ความอายแห้งเหือดไม่เดือดแด |
ก่อนความอายอัปยศจะหมดศูนย์ | ขอทำนูลแนะยารักษาแผล |
คืออุบายการพะนันคิดผันแปร | เปนกลแก้แค้นเขาอย่างเบาใจ |
ยุธิษเฐียร, พระองค์ก็ทรงเห็น | เธอชอบเล่นสะกามาแต่ไหน |
เชิงสะกาข้าบาทขยาดใคร | อาจเอาชัยด้วยอุบายเป็นก่ายกอง |
เอาโลหะถ่วงไว้ในลูกบาศก์ | ถึงสามารถมือดีไม่มีสอง |
ก็แพ้ขาดอาจล่อต่อให้รอง | ยั่วให้กองเดิมพันธุ์ขันทวี |
เจ้าปาณฑพมือดีแต่ทีเซ่อ | ถึงแม้เธอดีอย่างไรเราไม่หนี |
ล่อให้เธอมีชัยจนได้ที | แล้วขยี้เสียให้แย่เหลือแต่ตัว |
จักให้ถึงถือกะลาเป็นยาจก | บ้านเมืองตกเป็นของเราเอาให้ทั่ว |
เมื่อเห็นความโง่เขลายิ่งเมามัว | จึงค่อยยั่วเย้าใจให้พะนัน |
ถ้ามีชัยคืนถิ่นทั้งสินทรัพย์ | ถ้าแพ้ขับเนรเทศจากเขตต์ขัณฑ์ |
ให้ซัดเซเตร่ไปในอรัญ | สิบสองพรรษากาลคงลาญชนม์ |
ขอพระองค์จงตรองให้ถ่องแท้ | ข้าบาทแน่ใจเห็นว่าเป็นผล |
ไม่อาจผลาญไพรีด้วยรี้พล | แต่ผจญด้วยอุบายคงพ่ายเรา” |
พระทุรโยธน์ฟังลุงปรุงประจบ | ยินดีลบล้นเหลือทรงเชื่อเขา |
คิดอาฆาตญาติตัวจนมัวเมา | สั่งให้เจ้าศกุนิเริ่มริการ |
-
๙. อ่าน ‘ราดชะสูยะยัด’ (ยัชน์ คือ ยัญญ์ในภาษาบาลี) พิธีราชสูยะนี้ เป็นพิธีประกาศความเป็นราชาธิราชของกษัตริย์อินเดียโบราณ นับว่าใหญ่กว่าพิธีอัศวเมธ (ปล่อยม้าอุปการ) คือต้องเชิญกษัตริย์ผู้อ่อนน้อมแล้วมาประชุมด้วย แต่พิธีอัศวเมธนั้นไม่ต้องเชิญกษัตริย์นั้นๆมาประชุมด้วย ↩
-
๑๐. เป็นคำสันสกฤตว่า งู ที่เราใช้เพี้ยนเป็น อศรพิษ, ↩