- คำนำ
- คำปรารภ
- ประณามคาถา
- บทที่ ๑ ความริษยาแห่งญาติ
- บทที่ ๒ การสยมพร นางเท๎ราปที
- บทที่ ๓ ที่ประชุมรัฏฐมนตรีกรุงหัสดิน
- บทที่ ๔ กรุงอินทรปรัสถ์ แห่งเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๕ การพะนันน่าสยดสยอง
- บทที่ ๖ เจ้าปาณฑพต้องเนรเทศ
- บทที่ ๗ กรุงวิราฎ
- บทที่ ๘ พวกเการพยกทัพเข้าเหยียบแดนกรุงวิราฎ
- บทที่ ๙ พวกเการพทราบข่าวเจ้าปาณฑพ
- บทที่ ๑๐ หารือสงบศึกไม่สำเร็จต่างเตรียมรบ
- บทที่ ๑๑ สงครามกุรุเกษตร
- บทที่ ๑๒ ความวิตกของทุรโยธน์
- บทที่ ๑๓ โท๎รณาจารย์จอมทัพใหม่ฝ่ายเการพ
- บทที่ ๑๔ มรณะของอภิมันยุ
- บทที่ ๑๕ ท้ายสงคราม
- บทที่ ๑๖ อวสานแห่งสงคราม
คำปรารภ
เรื่องมหาภารตยทธ์ กับเรื่องรามายณะ (รามเกียรติ์) เป็นพงศาวดารเก่าแก่ของกษัตริย์อินเดียโบราณ พวกพราหมณ์ถือว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวด้วยศาสนา เพราะนิยมว่าเป็นเรื่องอวตารแห่งพระเป็นเจ้า (คือพระเป็นเจ้าแบ่งภาคลงมาเกิด) ประเทศสยามเรานับถือพุทธศาสนาเจือกับไสยศาสตร์ จึงนับถือเรื่องทั้ง ๒ นี้อนุโลมตามพราหมณ์ด้วย ยิ่งในสมัยโบราณแล้ว น่าจะนิยมกันแพร่หลายมากกว่าปัจจุบันนี้ เพราะสังเกตตามหนังสือโบราณ เช่นยวนพ่ายและอื่น ๆ ในยุคนั้น มีคำยกย่องกษัตริย์ปาณฑพและพระรามไว้เปนอเนก ดังจะยกคำในยวนพ่ายบางแห่งมาเป็นตัวอย่าง ต่อไปนี้ :-
๑ พระทรงปรตยาดพ้ยง | พระ กรรณ |
พระหฤทัยทยมสินธุ์ | เชี่ยวซึ้ง |
พระทรงเสวฌ |
พระ พิศม์ (ภิษม์) ฯ ล ฯ. |
๒. พระฤทธิ์พ่างพระราม | รอนราพ (ราพณ์) ฯ ล ฯ. |
๓. พระทรงทัณฑ์ทาสพ้ยง | ยมยุทธ ยิ่งแฮ |
ทรงคธา (ทา) ทยมภิม (ภีม) | เลอศล้น |
กลทรงสราวุธ | ราเมศ พ้ยงพ่อ ฯ ล ฯ. |
๔. การยุทธช่ยวชาญกล | กลแกว่น |
ไกรกว่า อรชุน แก้ว | ก่อนบรรพ |
๕. กลริรณแม่นพ้ยง | พระกฤษณ ฯ ล ฯ. |
๖. แถลงปางเมื่อลาวลง | ชยนาท นั้นฤา |
เพราะ ยุทธิษฐิร (ยุธิษ-) ได้ | ย่างยาว ฯ ล ฯ. |
๗. เสด็จมาผ่าผลาญลาว | ลักโลภ |
ที่ ยุทธิษฐิร (ยุธิษ-) แล้ว | สู่บร ฯ ล ฯ. |
๘. จึงชักช้างม้าค่อย | ลีลา |
ยงงนครไคลคลืน | เทศไท้ |
พยง บานทพาธัก (บาณฑ-) | ทรงเดช |
ที่คนเคารพไข้ | ข่าวขยรร (ขยัน) |
ฯ ล ฯ ฯ ล ฯ ฯ ล ฯ
ตามตัวอย่างข้างบนนี้ ท่านอ้างเป็นแต่ชื่อเท่านั้น มิได้แสดงเรื่องไว้เลย เข้าใจว่าในครั้งนั้น คงจะทราบเรื่องราวกันอยู่ดีแล้ว ใช่แต่เท่านั้นยังนิยมนามกษัตริย์ในเรื่องทั้งสองนี้ว่า เป็นมงคลนามแห่งประเทศเราด้วย เช่น พระนาม ‘ธรรมราชา’ ซึ่งนิยมใช้เป็นพระนามาภิไธยพระเจ้าแผ่นดิน เช่น พระมหาธรรมราชาลิไท กรุงสุโขทัย เป็นต้น, และนามอรชุน, นกุล, สหเทพ ฯ ล ฯ ก็ใช้เป็นนามขุนนาง คือ พระยาเทพอรชุน ฯ พระยาราชนกุล ฯ พระยาศรีสหเทพ ฯ เป็นต้น และนาม ‘ราม’ ก็นิยมใช้เป็นพระนามาภิไธยพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน เช่น พ่อขุนรามกำแหง, และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นต้น.
แต่นามพระรามนี้ปรากฏตามทำเนียบกฎหมายเก่า ใช้เป็นนามราชตระกูลก็มี แต่เปลี่ยนใช้ว่า ‘รามราฆพ’ (ราฆพเชื้อรฆุซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพระราม) มีตัวปรากฏในแผ่นดินพระนเรศวร น่าจะเป็นด้วยยุคนี้นับถือพระพุทธศาสนามาก เพราะพระนามาภิไธยพระนเรศวรนั้นใช้ว่า สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ ซึ่งเป็นนามพระพุทธเจ้า ตามทางพระพุทธศาสนาต้องนิยมว่าเป็นมงคลนามอันสูงสุด นามพระรามต้องนับว่าเปนรอง เพราะพระรามเป็นแต่พระโพธิสัตว์ซึ่งจะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปข้างหน้า ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อนาคตวงศ์ว่า โพธิสัตว์ที่จะมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปข้างหน้านั้น คือ “เมตฺเตยฺโย อุตฺตโร ราโม ฯ ล ฯ พระเมตไตรย, อุตตรมาณพ, และพระราม ฯ ล ฯ”
ครั้นต่อมาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ปรากฏแต่เรื่องรามเกียรติ์ตามพระราชนิพนธ์รัชชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งราษฎรได้ยึดเป็นหลักในการเล่นโขนและได้อ่านทราบเรื่องแพร่หลายต่อมา เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ฯ แต่เรื่องมหาภารตนั้น หาได้มีใครทราบเรื่องราวแจ่มแจ้งอย่างเรื่องรามเกียรติ์นั้นไม่ พึ่งมาปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์พระนลคำหลวงขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นสาขา (อุปาขยาน) ของเรื่องนี้ ด้วยทรงพระมหากรุณาธิคุณเพื่อจะเพาะปลูกการกวีให้มีแพร่หลายขึ้น คือเมื่อกุลบุตรได้อ่านพระราชนิพนธ์นั้นแล้ว จะได้มีความใฝ่ฝันยึดเอาเป็นแบบฉะบับประพันธ์ เรื่องกวีนิพนธ์อื่น ๆ ให้แพร่หลายในประเทศเรา, ต่อนี้ไปท่าน น. ร. ได้แปลเรื่องมหาภารตยุทธ์จากต้นฉะบับย่อในภาษาอังกฤษขึ้นจำหน่าย นับว่าเป็นการเปิดเผยเรื่องมหาภารตยุทธ์นี้ให้กว้างขวางออกไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังหามีใครแต่งเป็นคำกลอนให้ประชาชนได้อ่านกันแพร่หลายอย่างเรื่องรามเกียรตินั้นไม่ ด้วยชาวเมืองที่มีความรู้น้อยมักไม่นิยมอ่านเรื่องร้อยแก้ว, ถ้าเป็นคำกลอนอย่างอิเหนา พระอภัยมณี เป็นต้นแล้ว มักจะชอบอ่านกันทั่วไปตลอดจนชาวนาชาวสวนในประเทศบ้านนอก
ครั้นมาถึงรัชชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อจะทรงทะนุบำรุงวรรณคดีให้ไพบูลย์ยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งราชบัณฑิตยสภา ให้มีหน้าที่วินิจฉัยวรรณคดีของนักประพันธ์ทั้งหลาย และโปรดเกล้า ฯ พระราชทานรางวัลส่วนพระองค์ให้แก่ผู้สมควรจะได้
ด้วยโอกาสนี้ ข้าพเจ้าจึงได้พยายามประพันธ์เรื่องมหาภารตยุทธ์ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างเรื่องรานเกียรตี้ขึ้นเป็นคำกลอนตามต้นฉะบับร้อยแก้วของ น ร. แต่ได้ดัดแปลงและเพิ่มเติมบ้างตามเห็นสมควร เพิ่มจำนวนคำประพันธ์ซึ่งอุบัติขึ้นในแผ่นดิแพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระราชศรัทธาที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ทะนุบำรุงวิชชาแผนกนี้. แต่ข้าพเจ้าไม่ตั้งใจจะเอาไปเทียบเคียงกับพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์นั้นเลย. เพราะพระราชนิพนธ์นั้น มีคุณสมบัติและจำนวนเนื้อเรื่องห่างไกลกับเรื่องที่ข้าพเจ้าประพันธ์นี้มากมายนัก ไม่ต้องป่วยกล่าวถึงคุณสมบัติ, เพียงแต่จะแต่งเนื้อเรื่องให้พิสดารตามคัมภีร์เขา อย่างพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์เท่านั้น ก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะมีความสามารถพอจะทำไปได้ ไซร้ แต่อายุของข้าพเจ้าผู้มีอาชีพไม่ใช่อย่างนี้ ก็มีไม่พอที่จะทำให้จบเรื่องได้, ข้อที่ข้าพเจ้าภูมิใจอยู่บัดนี้ก็มีเพียงว่า ได้พยายามแต่งคำกลอนซึ่งยังไม่เคยมีนี้ให้มีขึ้นได้ในรัชชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังอธิบายมาแล้วเท่านั้น.
พระยาอุปกิตศิลปสาร
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐
-
๑. คำนี้ไม่ทราบว่าอะไร จึงขอเดาว่าน่าระเป็น “เสจจ” หรือ “เส็จ คือ ‘สัจจ’ หรือ ‘สัจ’ นั้นเอง เพราะตามเรื่องพระภิษม์มีสัจจ์สมด้วย ที่เดาเช่นนี้เพราะสังเกตตามเสียงเขมร เขาอ่านคำสระ อะ ที่มีตัวสะกดเป็นวรรค จ. เช่น วัจจ, พัชร, พัชฌฆาต, สรรพัชญ ฯ ล ฯ เป็นเสียง จ ช สะกดจริง ๆ ฟังคล้ายกับเสียง “ige” ในคำ “oblige” อังกฤษ ซึ่งต่างกับเสียง ด สะกดมาก ไทยเราฟังเป็นเสียงสระ เอะ ไปหมด. คือเป็น ‘เว็จจ์’ ‘เพ็ชร’ ‘เพ็ชรฆาต’ ‘สรรเพ็ชญ์’ ฯ ล ฯ คำ คัจฉ = ไป ในมหาชาติคำหลวงก็ใช้ว่า เค็จฉ. ↩