ตอนสิบเอ็ด หารือสงบศึก-เตรียมรบ

ทูตของยุธิษฐิรมาถึงราชสำนักหัสตินาปุรก็ตรงเข้าไปเฝ้าในท้องพระโรงที่ออกมุขมนตรี ถวายบังคมก้มกราบลงที่ชานพระราชบัลลังก์ทรงตรงหน้า, กราบทูลมูลคดีดังต่อไปนี้:-

“ผู้เป็นเจ้านายของข้าพระเจ้ารับสั่งใช้ให้ข้าพระเจ้ามากราบทูลพระองค์ว่าดังนี้: ปาณฑุราชและธฤตราษฎร์เป็นภราดากัน: เหตุไฉนพระโอรสของธฤติราษฎร์นั้นจึงได้ราชอาณาจักรทั้งหมดไว้ในปกครอง. และพระโอรสของปาณฑุไม่ได้อะไรกับเขาแม้แต่เถ้าธุลีเพียงกำมือหนึ่ง? ทุรโยธน์โกรธขึ้งมุ่งร้ายหมายขวัญญาติเรียงพี่เรียงน้องอยู่ทุกวัน, ทุรโยธน์เชิญเขาเล่นการพนัน, นักสกาตัวกลั่นของทุรโยธนั้นเล่นด้วยลูกสกาปลอมหลอมธาตุหยอดถ่วงน้ำหนักไว้ด้วยใจคิดประทุษ, และผลในที่สุดยุธิษฐิรก็เสียหายพ่ายแพ้ทุกๆกระดาน เสียทรัพย์ศฤงคารของเขา ต้องเนรเทศไปเนาในแดนดงพงพนัส ยอมประติบัติตามข้อสัญญาอันร้ายนักร้ายหนา เหลือที่เลือดเนื้อจะพึงทนทานได้, ในบัดนี้เขาทั้งหลายได้ประติบัติลุล่วงข้อสัญญาเหล่านั้นแล้ว และทำใจไว้พรักพร้อมแล้วที่จะลืมเสีย ซึ่งเหตุการณ์อันเป็นไปแล้วในอดีตภาค, ถ้ามอบราชอาณาจักรของเขาคืนให้โดยดี จะมิต้องให้เกิดการกลีตีพล่าฆ่าฟันกัน. ถ้าคำขอร้องของเขาอันชอบด้วยธรรมถูกปัดไปไสส่ง, ก็จะต้องประกาศสงครามกัน, และกุรุทั้งผองจะต้องกระจัดกระจายย่อยยับเป็นภัสมธุลี, และแดนดินของเขานั้นเล่า เจ้าปาณฑพก็จะริบเอาเสียให้หมด”

พูดดังนั้นแล้ว, ทูตก็ก้มหน้านิ่งอยู่ในท่าหมอบ คอยฟังพระราชดำรัสตอบ.

ถ้อยคำของยุธิษฐิร ที่ใช้ให้ทูตไปพูดแทนนั้น ดูทีต้องใจภีษ๎มผู้ชรา จูงใจให้เห็นว่าเป็นคำขอร้องที่ชอบธรรมและพอสถานประมาณ แต่มันยังอาการเข้าไปกระทบดวงพระหฤทัยทุรโยธน์ตรงกันข้าม, ใจของเธอวู่วามลามฮือเป็นโทสะบ้าเลือดเดือดแรงใหญ่ ดูเจ็บใจเจ็บจิตด้วยปืนพิษแห่งลมปาก, และด้วยสุรเสียงสำเนียงโกรธ เธอตรัสสำรากว่า: “ไอ้คนระยำนี้บังอาจเข้ามาขวางหน้าพญาราชสีห์ในถ้ำถิ่นที่สำนัก. จงบอกแก่มันนะว่าคำขู่ข้าเล่นเช่นนี้ มีน้ำหนักไม่น่ากลัวตัวงอมากยิ่งกว่าไอ้ลิงจ๋อมันแยกเขี้ยวยิงฟันหลอกหลอนข้า. กล้าปากมิได้หมายถึงกล้ามือ, และฟุ้งกระพือโป้งปากอวดดีใหญ่ย่อมไปไม่ได้ไกลเท่าไรในคราวยุทธกิจโลหิตนอง. จงบอกยุธิษฐิรและลูกน้องของเขาว่า คำขู่กรรโชกลม ๆ จะไม่ทำให้ทุรโยธน์สะดุ้งตกใจถึงกับยอมคืนสิ่งที่มีชัยได้มาด้วยหัตถ์อันกอปรด้วยกำลัง. จงบอกพวกปาณฑพให้คืนหลังไปอยู่ไพรสณฑ์อีกหนหนึ่ง, แล้วจงถวายฎีกาหารือราชาทุรโยธน์ สุดแล้วแต่เธอจะทรงพระกรุณาโปรดอย่างไร.”

ท้าวธฤตราษฎร์ผู้แก่ชราเสียพระเนตรทั้งสองข้าง ขัดขวางห้ามปรามความจู่ลู่วู่วามของพระราชาโอรสเสีย, และด้วยพระสุรเสียงอ่อนหวานหว่านล้อม, ตรัสแก่ทูตว่า “ถ้อยคำรุนแรงแสลงโสตที่ทุรโยธน์ได้กล่าวแล้ว ท่านอย่าเอาเป็นอารมณ์เลย. ปากคำสามหาวของทุรโยธน์นั้นให้โทษมากกว่าหัตถ์ของเขาให้คุณ. ถ้อยคำของเรามีไปถึงยุธิษฐิรว่าดังนี้-เราจะส่งทูตของเราไปโดยพลัน ซึ่งจะได้จัดการไกล่เกลี่ยระหว่างเราทั้งสองฝ่ายให้ปรองดองกันด้วยดี”

ตามปฏิญญา, ธฤตราษฎร์ได้ส่งเสนาบดีและนายสารถีสัญชัยไปเฝ้าเจ้าปาณฑพให้ทูลความว่าดังนี้:- “ถ้าท่านปรารถนาหาความสงบศึกนิราสภัย, เชิญท่านมาหาฉัน, และฉันจะประกาศความยติธรรมให้”

เมื่อสัญชัยมาถึงราชสำนักวิราฏ, เขามีความตะลึงตะลานพิศวงที่มาได้เห็นเจ้าปาณฑพชุมพลทุกเหล่าไว้พรักพร้อมน่าสพึงกลัว. ถึงกระนั้น, เขามิได้มาในฐานแห่งจารบุรุษ, แต่มาในฐานะแห่งทูต, แลฉะนั้น, ไม่เปลืองเวลาเที่ยวตรวจกองทัพบกของเจ้าปาณฑพ, เขาก็เดินตรงเข้าท้องพระโรง, ครั้นเสร็จพิธีกิจต้อนรับปฏิสันถารแล้ว, เขาก็กราบทูลสารแด่ยุธิษฐิร.

ยุธิษฐิรออกจะรู้สึกไม่พอพระหฤทัยในราชสาสน์ ที่มาสั้นนักหนาท่าไม่เหมาะ, ตรัสตอบว่า: “เราเคารพท้าวธฤตราษฎร์, แต่เกรงว่าท้าวเธอหลงเชื่อถ้อยฟังคำเล่ห์กลของทุรโยชน์ผู้โอรสอีก, ความคิดของทุรโยธน์นั้นจะขยี้เราเสีย. มหาราชเจ้าทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานความคุ้มครองเราเสมอบิดามารดาคุ้มครองรักษา, แต่ว่าไม่พระราชทานให้ตามคำขอร้องของเราอันชอบด้วยกฎหมาย”

นิ่งอ้ำอึ้งอยู่ครู่หนึ่งแล้วท้าวเธอก็ตรัสต่อไป, ตรัสแก่ทูตบ้าง ตรัสเองเออเองบ้าง: “อย่างไรก็ต้องเกิดสงคราม- ไม่มีหนทางเลี่ยงเบี่ยงบ่าย. ยุติธรรมพอสู้ยุติธรรมได้, แต่ที่จะสู้อยุติธรรมนั้น ท่านต้องหันเข้าอาศัยกำลังอันบ้าร้าย, อนิจจา, น่าใจหายที่ญาติวงศ์ทั้งหลายจะต้องฆ่าฟันกันล้มตาย, เสียงโอดครวญโหยไห้ของวิธวา, เสียงร้องไห้ของเด็กกำพร้าไร้เคหาที่อาศัย; น่าเสียดายผลของความเจริญอันเป็นสิ่งเจริญนัยนาอยู่ทุกเวลาจะพินาศย่อยยับไป บรรพบุรุษของเราท่านได้เพียรก่อสร้างขึ้นไว้ด้วยเหนื่อยยากลำบากกายหลายชั่วยุคมาแล้ว น่าเสียดายนิกรราษฎรที่สมควรจะยินดีร่าเริงจุดประทีปตามเพลิงสมโภชการคืนหลังของเราเข้าสู่บ้านเมือง เขาจะได้ทัศนาฉายาน่ากลัวของการยุทธ์ เดินรีบรุดดุ่มๆ ข้ามแดนดินไป. กระทำความพินาศฉิบหายอันเกิดขันจากความกดขี่และปกครองมิชอบธรรมให้สำเร็จลุล่วงไป กักขฬะกรรมทั้งสองอย่างนี้ ได้เกิดมีขึ้นเมื่อข้าพเจ้าหันหลังให้แก่รัฐสิมาของข้าพเจ้า. กฤษณเองจะเป็นผู้ไปยังกรุงหัสตินาปุรเพื่อหารือไตรตรองกับพระผู้เป็นเจ้านายของเขา. ฝ่ายเราเล่าก็จะใช้ความพยายามให้เต็มที่ที่จะเลี่ยงหลีกการสงคราม: ขอผลสำเร็จจงมีอยู่ในหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าแก่ดินฟ้ามหาสถาน ผู้เป็นประธานแก่การสงบและการรบ”

สัญชัยถวายบังคมลากลับไปถึงกรุงหัสตินาปุร, เข้าเฝ้าท้าวธฤตราษฎร์และทูลแถลงกระแสพระราชดำรัสตอบของยุธิษฐิรว่าดังนี้:-

“ข้าแต่พระราชาผู้เจริญเจ้าข้า, -ดูเหมือนว่ามีอ่าวแห่งความแตกร้าวสามัคคีอยู่ระหว่างเการพและปาณฑพ, อ่าวซึ่งสะพานแห่งการไกล่เกลี่ยสงบสงครามจะพึงลอดข้ามไม่ถึงฝั่งได้. ใจของยุธิษฐิรนั้นมุ่งแต่อยากได้ราชอาณาจักรกึ่งหนึ่งสำหรับตัวของเขา ถ้าเราไม่ให้เขาก็จะต้องเกิดสงครามรบราฆ่าฟันกันโลหิตนอง หาหนทางเลี่ยงไม่ได้ ข้าพระเจ้าได้เห็นกองทหารมากมายที่เจ้าปาณฑพได้ระดมไว้ เพราะฉะนั้นที่เขาให้มาขู่เรานั้น มิใช่ถ้อยคำกรรโชกเล่นเปล่าๆ, เป็นคำขอร้องของเขาอันหนึ่ง, ชอบหรือมิชอบด้วยธรรมอย่างไรก็ตามที, มีกองทัพบกอันกอปรด้วยกำลังหนุนหลังอยู่ ถึงกระนั้น, ความเห็นชั้นต่ำ ๆ ของข้าพระเจ้า ว่าควรจะหลีกเลี่ยงการสงคราม อย่าต้องให้รบราฆ่าฟันกันเป็นดี”

ท้าวธฤตราษฎร์ตรัส “ท่านกล่าวชอบ เราไม่ชอบการตัดสินอย่างป่าเถื่อนคือการยุทธ์ผู้บุตรแห่งอเวจี, และจะพยายามให้เต็มที่ที่จะรักษาความสงบไว้” ตามปฏิญญาที่ยุธิษฐิรได้ให้ไว้แก่สัญชัย, ท้าวเธอได้ส่งกฤษณไปยังกรุงหัสตินาปุร เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพระญาติวงษ์ทั้งสองฝ่าย, เมื่อมาถึงกรุงหัสตินาปุร ท้าวธฤตราษฎร์เฒ่าบอดได้ต้อนรับและกล่าวคำปฏิสันถารเป็นอันดี มีทั้งคารวะและสิเนหาในวาจาที่ตรัสปราศรัย; เพราะเหตุว่ากฤษณไม่แต่เป็นกษัตริย์ทรงมหิทธิฤทธิ์ถ่ายเดียว, ยังเกี่ยวเป็นพระญาติที่นับถือผู้หนึ่งด้วย. ท้าวเธอปราศรัยกฤษณว่า: “เป็นเกียรติอย่างสูงที่ท่านมาเกริ่นกรายสำนักน้อยของข้าพระเจ้า, และข้าพระเจ้ายินดีที่โอกาสได้นำเท้าของท่านให้ก้าวมาสู่ที่นี้. ข้าพระเจ้ามิรู้ที่จะหาถ้อยคำอันใดมาแสดงความรู้สึกปลื้มใจของข้าพระเจ้า”

กฤษณตอบว่า เธอมาจากกรุงวิราฏเพื่อกิจการของเจ้าปาณฑพ. ธฤตราษฎร์ตอบ: “เพื่ออะไร ๆ ก็ตามที, ฝ่าพระบาทย่อมนำความปรีดาหรรษารมย์มาสู่กรุงหัสตินาปุรทุกเวลา. สัญชัยผู้ทูตของข้าพระเจ้าเพิ่งกลับมาจากราชสำนักแห่งเดียวกัน, ข้าพระเจ้าต้องกล่าวว่า, ไม่สมมาดคาดหมายในทางราชการที่เขาไป, เขาไปพูดไกล่เกลี่ยสมัครสมานการแตกร้าวระหว่างกิ่งแห่งญาติวงศ์ ซึ่งครั้งหนึ่งได้ดำรงอนู่กลมเกลียวเป็นอันดี. ข้าพระเจ้ากล่าวทั้งนี้ตามรายงานทูตที่มาแจ้งแก่ข้าพระเจ้า, เบื้องว่ายุธิษฐิรมีเจตนาที่จะทำสงคราม, และฝ่าพระบาทก็ย่อมทราบอยู่ด้วยดีแล้วว่า พระหฤทัยอันกระหายโลหิตของภราดา, การหารือสงบศึกย่อมตกสูญเปล่า ราวกับเม็ดฝนตกลงเหนือแผ่นผาอันแสงแดดแผดเผาร้อนเป็นไฟกระนั้น”

กฤษณตอบโดยเร็วพลันว่า: “ข้าพระเจ้านึกระแวง ถ้อยคำที่ท่านแถลงออกมานั้นไกลจากความเป็นจริง ข้าพระเจ้าทราบเป็นความจริงว่า ยุธิษฐิรได้ใช้ความพยายามทุกท่าเพื่อจะเลี่ยงหลีกการสงคราม: โอรสของท่านเองเป็นผู้พยายามเสาะแสวงยุทธ์แย้งแทงฟันอยู่ การที่จะเอาความคิดลี้ลับในใจประหารผู้อื่นนั้นเป็นราชการคค ไม่เคยปรากฏแก่ใจอันตรงของยุธิษฐิร, ข้าพระเจ้าจะไม่ชักบรรยายเรื่องความผิดคิดร้ายซึ่งอนาถปาณฑพได้กรากกรำมาแล้วด้วยดุษณีภาพ เรื่องเล่นการพนันด้วยลูกสกาอันถ่วงวัตถุธาตุ, เรื่องความผิดที่คิดจะเอาชีวิตและได้ริบราชบาตรไป. ความหมิ่นประมาทที่เธอทั้งห้าภราดาได้รับในที่ประชุมชน, และข้อที่สุดการทุราจารที่ได้กระทำแก่เท๎ราปทีด้วยไร้เมตตาจิต ความระยำเหล่านี้จะดำรงเป็นข้อติฉินนินทาเรื่อยไป, กระทำให้เสียชื่อของวงศ์กุรุหลายชั่วยุค หาแดนที่สุดมิได้, และบังแสงแห่งความบันลือของเขาซึ่งอาจมีขึ้นด้วยกำลังทหารในกาลข้างหน้า ไม่มีหนทางกลับคืนดี, ไม่มีหนทางแก้ไข, ไม่มีหนทางสมานไมตรีอย่างไรที่จะมาลบล้างอสัจจะของญาติพี่น้องเสียได้. ทรัพย์ที่หายไป (หรือเสียไป) อาจได้คืนมา, ดินแดนที่เสียไปอาจจะตีกลับคืนมาได้, ลงเสียเสียแล้วก็ชื่อว่าเสียไปชั่วนิรันตรกาล. เจ้าปาณฑวภราดาได้รับและกรากกรำอาการเบียดเบียนเหล่านี้ด้วยขันตี, ด้วยเพียร, และด้วยมานะกายมากมายเพียงไรแล้ว ! และในบัดนี้เขาร้องขอ; มิใช่การแก้แค้นทดแทนอย่างหยาบช้า, ขอรับสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นส่วนของเขาเท่านั้น. เขาไม่อยากได้ราชัยของท่าน; เขาไม่ตะโกนก้องร้องขอดินแดนของท่าน; เป็นแต่ร้องขอแว่นแคว้นแดนดินของเขา, หรือขอแต่พอตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ได้เท่านั้น. พอเหมาะแก่ฐานะเจ้า, พอเหมาะแก่ฐานะกษัตริย์, พอเหมาะแก่ฐานะมนุษย์. เขาจะอาศัยภิกขาจารเลี้ยงชีวิตอย่างวณิพกพราหมณ์ทั้งหลายไม่ได้, ในนามแห่งมนุษยชาติ ข้าพระเจ้ายืนขึ้นร้องขอความสงบอีกหนหนึ่ง, และขอร้องคัดค้านการรบราฆ่าฟันกัน”

ต่อนั้นกฤษณก็เสด็จไปตำหนักทุรโยธน์, ด้วยหวังจะเกลิ้ยกล่อมย้อมใจให้เขาสอดคล้องด้วยความเห็นของเธออันสงบ, ท้าวเธอรู้อยู่ว่าเสียงของทุรโยธน์ข่มคนทั้งหลายในพระราชสำนักนั้น; รู้อยู่ว่ากษัตริย์บอดผู้เฒ่าท้าวธฤตราษฎร์ไม่มีเสียงอะไรกับเขาในทางราชการงานเมือง, รู้อยูว่าภีษ๎มผู้เฒ่า, แม้มีใจน้อมไปในทางสงบ, ก็สู้รบตบมือกับทุรโยธน์ไม่ไหว; และทราบประจักษ์ใจอยู่ว่า โท๎รณ, กรรณ, และกุรุ ที่ปรึกษาอื่นเล่าก็ล้วนแล้วแต่เป็นข้าของทุรโยธน์, และอยู่ในกำมือของเขาทั้งนั้น. ท้าวเธอจึงมาคิดเห็นว่า ถ้าเธอว่ากล่าวน้าวโน้มใจทุรโยธน์มิให้รบได้, การลำบากขลุกขลักทุกอย่างก็เป็นอันสำเร็จเสร็จสิ้น. แต่คำหารือของกฤษณ์น่าจะกล่อมใจทุรโยธน์ให้น้อมเข้าหาความสงบ, กลับเป็นเรื่องยุให้แข็งกระด้างในทางอวดดียิ่งขึ้นกว่าเก่า. เพราะท้าวเธอผินพระพักตร์มาทางทวารกราช และตรัสว่า “เหตุไฉนท่านแสดงอาการแหนงหน่ายต่อข้าพระเจ้า ?”

กฤษณตอบ: “ข้าพระเจ้าเป็นสหายของท่านไม่ได้จนกว่าท่านจะประพฤติชอบต่อเจ้าปาณฑวภราดาผู้วงศาคณาญาติของท่าน”

เกลี้ยกล่อมทุรโยธน์ให้กลับใจไม่สำเร็จ, ท้าวเธอก็เสด็จไปหาคนอื่น, ที่ทำดังนี้หวังจะหาเพื่อนให้หลายๆ คน ไว้ช่วยค้านความเห็นของทุรโยธน์ในที่ประชุมของเขา. ท้าวเธอเสด็จไปหาวิทุร ซึ่งเขาฟังคำหารือสงบศึกโดยเห็นดีเห็นชอบด้วยทุกท่า, ทูลท้าวเธอในเวลานั้นว่า ทุรโยธน์ทำไขหูต่อความเป็นธรรมเสียเฉียบขาด, และใจมุ่งมาดแต่จะกินเลือดเนื้อให้จงได้, พูดต่อไปว่า: “ถ้าท่านมิได้มาสู่ที่นี้เสียเลยจะดีกว่า, ทุรโยธน์จะไม่ฟังคำแนะนำของมนุษย์คนใดคนหนึ่งมาพูดให้เสียเวลาเปล่า เท่ากับพูดทิ้ง. เมื่อเขาพูดคำใด เขาต้องการให้มนุษย์ทั่วสกลโลกเห็นคล้อยตามเขา”

กฤษณตอบ: “ความใคร่โดยเฉพาะของข้าพระเจ้าคือ จะป้องกันการรบราฆ่าฟันกัน ข้าพระเจ้ามาสู่กรุงหัสตินาปุรเพื่อจะช่วยพวกกุรุให้พ้นจากความฉิบหายซึ่งเขาหาใส่ตัวของเขา ถ้าเขาเชื่อฟังข้าพระเจ้า, เขาทุกคนจะอยู่เป็นสุขนิราสภัย; ถ้าเขาดูแคลนคำแนะนำของข้าพระเจ้า, ขอให้โลหิตแดงศีรษะเถิด.”

วันพรุ่งรุ่งเช้า, ได้มีการเรียกประชุมรัฐมนตรีเป็นมหาสมาคม, และกฤษณได้ฉวยโอกาสนั้นหารือการสงบศึกอีกครั้งหนึ่ง ปราศรัยท้าวธฤตราษฎร์ว่า “ข้าพระเจ้ามานี่ มิใช่จะเสาะแสวงการสงคราม, มาเพื่อจะไกล่เกลี่ยให้สงบยุทธ์นิราสภัยและให้รักใคร่เมตตากัน, มหาราชเจ้าข้า ขออย่าให้ดวงกมลของท่านอันไม่หมองมัวเกลือกกลั้วด้วยอกุศลเลย จงยื่นหัตถ์ทั้งสองของท่านออกอวยพรชัยให้เป็นศรีสวัสดิ์, และบำบัดอุปัทวภัยน่าหวั่นหวาดอันกำลังจะเข้าครอบราชธานีและพี่น้องวงศ์วานของท่าน ขอจงยอมยกให้แก่เจ้าปาณฑวภราดาผู้ใคร่แต่ความสงบนิราสภัย ไม่หาเรื่องหาราวแก่ท่านผู้ใดตามคำร้องขอของเขาอันชอบด้วยธรรม, และรัชกาลอันรุ่งโรจน์ของท่านจะนิราสภัยและรุ่งเรืองเลื่องลือชา, ถ้าเจ้าปาณฑวภราดาทั้งหลายลัมตายลงในการรบพุ่งชิงชัย, ท่านจะได้อะไร? การล้มตายของเขาจะทำให้ใจของท่านชื่นชมยินดีหรือ? เป็นนัดดา-โอรสของเชษฐภราดาท่านมิใช่หรือ? แต่ข้าพระเจ้าขอแถลงให้ที่ประชุมอันมีสง่าผ่าเผยนี้ทราบว่า เจ้าปาณฑวภราดาเตรียมตัวไว้พรักพร้อมที่จะรบเท่ากับที่เตรียมจะสงบศึก; ถ้าหากว่าเกิดรบกันขึ้น, บันทึกเหตุการณ์แห่งการรบที่จะสืบต่อลงไปถึงบุตรหลานของคนทั้งหลาย จะพรรณนาเกลือกลั้วด้วยนิยายเรื่องความไม่มีสัตย์, อสัจจะ, ความโลภซึ่งก่อการสงครามนั้นขึ้น ใครอาจจะบอกได้ว่าผลที่สุดของการสงครามเช่นนั้น ซึ่งพระเจ้าในสวรรค์ท่านห้าม, ข้าพระเจ้าขอถามซ้ำว่าจะเป็นอย่างไร, ใครอาจจะบอกไดว่ามันจะยุติลงในมรณะของเจ้าปาณฑวภราดาหรือยุติลงในความสูญสิ้นเผ่าพงศ์กุรุ?”

กษัตริย์เฒ่าผู้ใจอ่อนก็ทุกข์ใจเมื่อมาได้ฟังคำวิงวอนอันละห้อยนี้, แต่ออกตัวว่ามิรู้ที่จะแก้ไขฝืนนิสัยน้ำใจทรหดแห่งโอรสหัวรั้นของท้าวเธออย่างไร หมดหนทางที่จะช่วยเหลือได้.

ผู้ถัดลงมาซึ่งยืนขึ้นพูดเพื่อความสงบยุทธ์หลุดพ้นภัยคือภีษ๎ม. เธอตักเตือนทุรโยธน์ด้วยเพียรแห่งญาติผู้ใหญ่ผู้ผมหงอกทั้งศีรษะให้ดำเนินตามคำแนะนำเลิศของกฤษณ แต่ทุรโยธน์ฟังแล้วก็เฉยเสียด้วยโกรธฉุนขุ่นใจ.

โท๎รณ, วิทุร, นารท และคนอื่นนอกนั้นก็ดำเนินตามภีษ๎ม เจ้าผู้เฒ่ากล่าวคำวิงวอนทุรโยธน์มิให้ปล่อยนักรบออกขบกัดพลเมืองของเขาเอง.

เปลี่ยนหน้ากันเข้ามาอ้อนวอนมิรู้หยุดยั้ง, ทุรโยธน์จะนั่งอยู่ต่อไปมิได้, เธอลูกขึ้นยืน, และด้วยพระเนตรลุกโพลง พระขนงขมวด ตรัสว่า “กฤษณชังน้ำหน้าข้าพเจ้าและรักเจ้าปาณฑวภราดา; ภีษ๎มแสดงสีหน้าตึงขึ้งโกรธข้าพเจ้า; วิทุรและโท๎รณวางท่าขรึมแก่ข้าพเจ้า; พระราชบิดาของข้าพเจ้าเล่าก็ทรงกันแสงไห้เรื่องบาปกรรมของข้าพเจ้าและโอดครวญเพื่อความสงบ ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าได้ทำอะไรเล่า, ท่านผู้เฒ่าผู้ใหญ่ทั้งหลายจ๋า, ที่ท่านจะมาบิดเบือนความรักใคร่เมตตาของพระราชบิดาข้าพเจ้าให้เหินห่างจากข้าพเจ้า? ถ้ายุธิษฐิรชอบการพนันและวางเดิมพันลงขันพนันเสียราชัยมไหศวรรย์อิสรภาพไป, จะมาพาโลเอาข้าพเจ้าด้วยเรื่องนี้หรือ? ถ้าเขาได้เล่นครั้งที่สองและยินยอมรับโทษเนรเทศไซร้, เหตุไฉนเขาจึงมาเรียกข้าพเจ้าว่าโจร ? ชะตาราศีของปาณฑวภราดาเวลานี้ปั่นป่วนรวเรไปตามยถากรรมของเขา เพื่อนฝูงของเขานั้นไม่กี่คน; กำลังไพรพลก็ไม่แข็งแรง เราผู้ไม่เคยเกรงเจ้าสวรรค์ จะมาพรั่นเสียงตะคอกขู่ของหมู่ชนผู้อ่อนแอแต่เล็กน้อยหรือ ? กษัตริย์อาจจะตายในการชิงชัยก็ได้, แต่ไม่อ่อนน้อมยอมแพ้ใคร, นักปราชญ์ท่านกล่าวไว้ดังนี้ ในบัดนี้จงฟังเสียงข้าพเจ้าซี, ญาติทั้งหลาย! พระราชบิดาของข้าพเจ้าได้ยกราชอาณาจักรอินทรปรัสถ์ให้แก่เจ้าปาณฑวในชั่วเวลาครู่หนึ่งซึ่งลุ่มหลงลูกหลาน, หรือไม่อีกทีหนึ่ง ก็เป็นคราวที่ท้าวเธอหละหลวมในทางราชการงานเมือง ชีวิตข้าพเจ้ายังมีตราบใด. เขาทั้งหลายจะไม่ได้เป็นเจ้าของดินแดนแว่นแคว้นสิมามณฑลนั้นอีก, ราชอาณาจักรของกุรุจะไม่แยกออกเป็นสองอีกต่อไป: ได้มารวมกันอยู่ได้ใต้โล่อันแข็งแรงของข้าพเจ้า และจะคงรวมอยู่เป็นหนึ่งไม่พึงต้องแบ่งภาคชั่วนิรันตรกาล, ถ้อยคำที่ข้าพเจ้าว่านี้แจ่มจริง มั่นอย่างคำมั่นของมนุษย์ทัวไป- ไม่กลับกลายเป็นคำสองไปได้”

กฤษณทราบอยู่ด้วยดีแล้วว่า เป็นการหาประโยชน์มิได้ที่จะยกเอายุติธรรมขึ้นค้านความเห็นลวก ๆ มีพันธุ์อันแข็งกระด้าง, แต่ตราบใดยังมีโอกาสที่จะพูดก็อดพูดไม่ได้ ตอบว่า: “ทุรโยธน์เอย อย่างไรท่านพูดดังนี้ได้? ท่านจะทำลืมเสียอย่างไรได้ว่า ท่านมิได้ล่วงเกินพี่น้องของท่าน?”

ทุหศาสนกระซิบบอกทุรโยธน์ผู้พี่สองสามคำโดยเร็ว, ทักท้วงเขาให้รู้สึกว่า อาจจะเกิดผลร้ายต่างๆ ได้ที่มาคัดค้านท่านผู้ใหญ่ผู้รู้หลักนักปราชญ์รวมกันเป็นจำนวนมากในที่ประชุม; แต่ทุรโยธน์ฟังคำน้องชาย และได้ไปจากห้องประชุมรัฐมนตรี มีโทสะเดือดพล่านใหญ่, มิทันตอบปัญหาตัดพ้อของกฤษณ.

มหาราชเฒ่าผู้ใจอ่อนก็ชี้แจงเหตุผลต่างๆ ให้โอรสใจดื้อกระด้างฟังอีกที, และพระนางคันธารีผู้มารดาก็พลอยคล้อยตามเสียงมหาราชไปด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ดี ทุรโยธน์หาเปลี่ยนความคิดไม่.

กฤษณเห็นว่าความพยายามครั้งที่สุดของเธอล้มละลาย, ก็ออกจากกรุงหัสตินาปุรไปถึงกรุงวิราฏ และรายงานเหตุการณ์ทั้งมวลที่เป็นไป ณ ราชสำนักทุรโยธน์ให้ยุธิษฐิรฟังทุกประการ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ