ตอนสิบหก ฉากสุดท้ายของสงคราม

เหตุการณ์อันน่าสยดสยองของการสงครามในบัดนี้ใกล้จะถึงที่สุดอยู่แล้ว, ฉากสุดท้ายคือการล้มแห่งโท๎รณและมรณะแห่ง ‘กรรณ’ แต่เหตุการณ์เหล่านี้ได้กระทำกันโดยไม่ไร้หน้าตาอันดุร้ายแห่งการสงครามเป็นบริวารเหตุตามมาด้วย คือศีรษะอันต้องประหารขาดตกจากตัวแล้วกลิ้งอยู่ในธุลี; ศพที่ต้องอาวุธแผลเหวอะหวะนอนคละเกยกันอยู่ก่ายกอง; ศพสัตว์รบที่ต้องทวนหรือหอกซัดและรถทับตายนั้นกำลังขึ้นอึ้ดทึ้ดอยู่ใต้ล้อรถ; เสียงโอยโหยไห้น่าสมเพชเวทนาและเสียงครางน่ารำคาญหู; เสียงเอะอะเกรียวกรูกึกก้องและเสียงร้องแหวแปร๋แปร้น; เสียงสาบานผูกแค้นและเฮฮาดีใจด้วยมีชัย

วันพรุ่งรุ่งเช้าต่อจากวันตายของราชทรุบท, ธฤษฏทยุมน์ผู้โอรสของท้าวเธอออกไปเที่ยวตามหาตัวผู้ฆ่าพระบิดา ตั้งใจจะฆ่าให้ตายตกไปตามกันจงได้, หาไม่ก็ยอมสละชีพในการพยายามนั้น ครั้นภีมเห็นเจ้าชายหนุ่มจะออกไปรบด้วยความตั้งใจดังนี้, เขาก็จับแขนเธอและพูดว่า: “เธอยังหนุ่มนักหนาที่จะทำแก่โท๎รณผู้แกล้วกล้าเพื่อแก้แค้นทดแทนมรณะแห่งพระราชบิดา. ทหารเฒ่าผู้นั้นจักเป็นอาหารอันแข็งและเหนียวสำหรับฟันอ่อนๆของเธอที่จะขบเคี้ยว ปล่อยให้ข้าพเจ้าเถอะ, ข้าพเจ้าจะรบแทนเธอ, ข้าพเจ้าจะแก้แค้นทดแทนมรณะแห่งพระราชบิดาของเธอ.”

ผลักเจ้าชายหนุ่มนั้นถอยหลังออกไป, ภีมกรากเข้าใส่โท๎รณ, และนักรบทั้งสองคนได้มีการผจญขับเคี่ยวอย่างพอวัดเหวี่ยงไม่เพลี่ยงพลั้งเสียท่าแก่กันอยู่ช้านาน, ทั้งสองฝ่ายมิได้ถอยหนีกันแต่สักก้าว. ด้วยกำลังมหิมาของเขา ดังนั้นก็ดี, ภีมนั้นก็ยังไม่คู่ควรแก่ความชำนิชำนาญอันกว้างขวางของท่านพราหมณาจารย์.

กฤษณเห็นความไร้ประโยชน์ในการรบโดยอาศัยกำลังทื่อๆอย่างเดียว, ท้าวเธอจึงแนะนำยุธิษฐิรให้ใช้กลยุทธแทนกำลังทหาร ยุธิษฐิรในชั้นต้นไม่ใคร่จะเต็มใจใช้สิ่งซึ่งท้าวเธอเชื่อว่าเป็นกลโกงอย่างเลวทราม พระหฤทัยของท้าวเธออันกอปรด้วยเมตตา ไม่ยอมใช้กลยุทธ์ซึ่งจรรยาทหารชั้นสูงได้อนุญาตให้ใช้แล้ว แต่ที่ปรึกษาของท้าวเธอทูลชี้แจงว่า จำเป็นต้องทดแทนแก้แค้นข้าศึกซึ่งอาศัยโกงและอสัจจะเป็นสรณะ, และว่า: “ถ้าท่านไม่พอพระหฤทัยในสิ่งซึ่งเป็นเพียงแต่การแก้แค้นทดแทนในสงครามไซร้, ท่านจะทำสงครามไปทำไม ? ทำไมไม่เลิกการรบราฆ่าฟันกันเลือดตกยางออกนี้เสียโดยอ่อนน้อมยอมมอบพระองค์ของท่านโดยตรงต่อหัตถ์ทุรโยธน์? ท่านลืมเกียรติยศที่เขาได้ทำแก่ท่านเสียแล้วหรือ? - เรื่องลูกสกาปลอม หลอมธาตุถ่วงน้ำหนัก, เดิมพันอันหนักหน้า, โทษถึงตาย, การหมื่นประมาททับถมใส่เอาท่านและเท๎ราปที.”

ยุธิษฐิรมิได้ตรัสตอบปัญหาเช่นนี้ สะดุ้งพระหฤทัยหวนระลึกถึงการบาดหมางในก่อนขึ้นมาโดยพลัน, ทรงยืนงันพลางรำพึงถึงเรื่องเจ็บใจนั้น, มีพระเนตรอันคลอด้วยอัสสุชลและพระพักตร์อยู่ในท่าก้ม การนิ่งของท้าวเธอนั้น เป็นอันต้องนึกเอาตามความหมายว่ายอม, และเจ้าปาณฑพเหล่านั้นก็ตั้งใจจะใช้กลยุทธ์อันไร้ราคีปราบโท๎รณผู้แกล้วกล้านั้นเสีย.

ภีมได้สังหารยุทธหัสดินตัวหนึ่งอันมีชื่อว่า อัศวัตถามัน, เสียงร้องบอกกันต่อๆ ไปทั่วท้องสนามยุทธ์ว่า “ข้าศึกฆ่าตาย” นักรบปาณฑพทุกคนซึ่งได้ยินก็ร้องต่อๆ กันไป นักรบโดยมากมีธรรมดาที่มิได้ทราบว่าหมายความถึงใคร, สหายหรือข้าศึก ในสองสามนาทีเสียงนั้นก็ขานผ่านไปจากแถวหนึ่งถึงอีกแถวหนึ่ง กระทั่งถึงที่สุดของท้องสนามกว้างนั้น, ข้าศึกได้ยินเสียงนั้น, และฉวยเอาไปเข้าใจว่าอัศวัตถามันผู้บุตรชายคนเดียวของโท๎รณาจารย์ได้ถูกข้าศึกประหารเสียแล้ว. ในเสียงกึกก้องแห่งคนหมู่ใหญ่และในคราวชุลมุนแห่งยุทธการ ไม่สามารถที่จะฟังรายงานให้แน่ชัดลงไปได้, และรายงานร้ายเป็นธรรมดาย่อมได้รับความเชื่อฟังเอาเป็นจริงเร็วยิ่งกว่าข่าวอันเต็มไปด้วยความยินดี. ด้วยหฤทัยอันสลดเศร้า เจ้ากุรุบางองค์ตรงไปหาโท๎รณเพื่อแสดงความพลอยเสียใจด้วย ข่าวนั้นทำเอาท่านโท๎รณตกใจมากถึงกับสิ้นอยากที่จะเชื่อหูของตน: ในเมื่อทุกข์กระทบหัวใจผับเข้าทีแรกนั้น, ความเชื่อมั่นก็ทำการก้าวช้าๆ เข้าไปในใจอันกำลังสลดเศร้า เมื่อการสะดุ้งครั้งแรกล่วงไปแล้ว, และสัมปชัญญะสติกลับคืนเข้าตัวเขาแล้ว, โท๎รณก็มาที่ค่ายปาณฑพโดยมือเปล่า มิได้กุมอาวุธ, เพื่อทราบความจริงจากโอษฐ์ของยุธิษฐิรซึ่งกล่าวแต่ความจริงถ่ายเดียว, “จงตรัสซิ, ยุธิษฐิร, ท่านเคยเป็นผู้กล่าวความจริงมาแต่ไหนแต่ไร; อัศวัตถามันผู้บุตรอันแกล้วกล้าของข้าพเจ้าต้องอาวุธตายในการรบหรือ?”

ยุธิษฐิรในบัดนี้มีคดีปัญหาอันยากที่จะแก้, ประการหนึ่ง, ท้าวเธอต้องกล่าวความจริงใจทุกประการ: อีกประการหนึ่ง, ท้าวเธอตกอยู่ในความจำเป็นทางรัฐประศาสน์และทางราชการที่จะต้องงำความจริง, และท้าวเธอได้เดินทางกลาง-ถ้ามีทางกลางระหว่างความจริงและความเท็จอาศัยเป็นหนทางเลี่ยงความจริง, ตรัสตอบว่า: “อัศวัตถามันตายเสียแล้ว, ข้าพเจ้าหมายถึงช้างงา.” ภาคบรรยายต่อประโยคห้วนๆนี้ท้าวเธอตรัสเสียงเบาๆ,--บางทีจะมิใช่เสียงเบาโดยรู้สึกพระองค์หรือจงใจกระเส่าให้เบาจนหูฟังไม่ได้ยิน, แต่จะเป็นเสียงกระเส่าค่อยเกินไปเพราะยุ่งพระหฤทัยที่ถูกอัญเชิญให้แก้อรรถปัญหาซึ่งๆหน้า อย่างไรก็ดี, โท๎รณจับถ้อยคำตอนปลายมิได้, และนี้ก็อีกนั่นแหละ คงจะเป็นเพราะความยุ่งใจของโท๎รณนั้นเอง, เป็นขึ้นโดยอาการหวาดเสียวจากประโยคท่อนต้นของยุธิษฐิร.

มิพักรอต่อไปให้เนิ่นนาน โท๎รณาจารย์กลับไปสนามรบ, มีปรารภอยู่แต่ในใจของแก แต่ใจของแกจบลงสิ้นมโนกำลัง; จิตของแกตาย ภายในตัวหนาวและสิ้นศึกฮึกเหิม; อินทรีย์ทั้งหลายและอาการไหวติงกายชั่วขณะหนึ่งสิ้นไป, ยังแต่ปรารถนารอท่ามรณะของแกเท่านั้น ธฤษฏทยุมน์คุมเชิงอยู่ เธอจำได้ว่าโท๎รณเป็นผู้ฆ่าพระราชบิดาของเธอ, ถึงแม้ภีมไม่อนุญาตให้เธอออกต่อสู้โดยเปิดเผยก็ดี, เธอก็ยังคอยหาช่องแก้แค้นทดแทนมรณะแห่งพระราชบิดาของเธออยู่ และบัดนี้เป็นโอกาสดีสำหรับเธอ, โท๎รณไม่เป็นนักรบดุร้ายเหมือนชั่วโมงก่อนอันล่วงแล้ว; เป็นสักแต่ท่าทางร่างเก่าของแกเท่านั้น; แกก็เป็นเป้าให้ธฤษฏทยุมน์สังหารเสียง่าย ๆ ด้วยศรของเธออันแผลงจากระยะไกล, และอีกครู่หนึ่งต่อจากนั้นไป โท๎รณก็นอนตายอยู่ในสนามยุทธ์.

กองทัพกุรุในบัดนี้ไม่มีผู้นำทัพ, ภีษ๎มเล่าก็ยังนอนอยู่เหนือธนูบิฐของเขา, จะตายแหล่มิตายแหล่ร่อแร่อยู่แล้ว; และกองทัพของทุรโยธน์ก็มาขาดผู้ใหญ่ไม่มีผู้นำ เพราะฉะนั้นทุรโยธน์ก็รีบเสด็จไปหา ‘กรรณ’ ตรัสว่า: “กรรณ, ท่านผู้เดียวเท่านั้นเวลานี้สามารถที่จะกู้กุรุไว้ได้ในการสงครามอันน่ากลัวนี้, ภีษ๎มเป็นนักรบที่หาผู้เสมอเหมือนมิได้แน่นอน, แต่ความลำเอียงลับๆสำหรับเจ้าปาณฑพได้เข้าครอบหัวใจ ทำให้มืออ่อนข้อในการต่อสู้. โท๎รณเล่าก็เป็นนักรบที่หาตัวจับมิได้เหมือนกัน; แต่ความรักอันฝังอยู่ในใจสำหรับศิษย์ ซึ่งเป็นหัวรักหัวใคร่ของแกครั้งหนึ่งทำความกล้าหาญของแกเนือยเสียจริง ๆ แต่ท่าน, กรรณ, เคราะห์ดีนี่กระไร, มิได้มีอาการบกพร่องอ่อนแอเช่นนี้ จงตีข้าศึกของเราให้แตกยับเยินไป, และจงนำกองทหารของเราไปสู่ชัยอันลือลั่น, และนามของท่านจะสืบลงไปถึงบุตรหลานเหลนว่าเป็นผู้แกว่นกล้าที่สุดของพวกกุรุที่แกล้วกล้า”

‘กรรณ’ ตอบโดยสุภาพ “ข้าพระเจ้าจะทำหน้าที่ของข้าพระเจ้าด้วยความสัตย์สุจริตต่อพระมหากษัตริย์และบ้านเมืองของข้าพระเจ้า”

พักตร์ก่ำด้วยภาคภูมิใจในเกียรติยศที่ได้รับใหม่, ‘กรรณ’ ขับรถศึกเข้าไปในท่ามกลางกองทหารปาณฑพโดยเร็วไว; แผ่นดินไหวภายใต้เสียงลั่นแห่งรถศึก; สวรรค์ชั้นฟ้าฉายกลับฉายาความพิโรธของเขา, มรณะและอาการหวาดหวั่นขวัญหายได้เข้าครอบครองท้องสนามยุทธ์. ความปรารถนาข้อใหญ่ของ ‘กรรณ’ จะทิ่มหัวใจอรชุนด้วยลูกศร และความใคร่อย่างเอกของอรชุนนั้นจะเอาเลือดเอาเนื้อของ ‘กรรณ’ จนบัดนี้อรชุนสาละวนต่อสู้อยู่กับข้าศึกอื่น, และเป็นโดยหาเวลามิได้ และโดยอดกลั้นอย่างใดอย่างหนึ่งที่ ‘กรรณ’ ได้แคล้วคลาดการตีของอรชุนไปได้เป็นเวลานานครัน, แต่ในบัดนี้ที่ ‘กรรณ’ มาได้เป็นผู้บัญชาการกองทัพกุรุขึ้น, การโยกย้ายของเขาเป็นสิ่งสำคัญอย่างเอกในใจของอรชุน, ผู้นำทัพกุรุชั้นผู้ใหญ่หรือลือนามนั้นก็ล่วงไปตามๆกัน; และหัวหน้าหรือผู้บัญชาการที่กล้าหาญนั้นยังเหลืออยู่น้อยตัว; เพราะฉะนั้นถ้าขยี้ ‘กรรณ’ เสียได้ไซร้, การต้านทานของพวกกุรุต่อไปก็คงเป็นอันไม่สามารถ หรืออย่างน้อยก็คงเป็นการไม่สลักสำคัญอะไร.

เป็นเวลาไม่นานภายหลังแต่กาลเริ่มรบกันวันนั้น, นักรบตัวกลั่นเยี่ยมยอดทั้งสองคนนี้ได้ประสบกัน. ผลคือการต่อสู้กันอย่างน่ากลัว,-การต่อสู้ซึ่งทั้งสองฝ่ายใคร่มานาน, มีโอกาสและเหตุการณ์เข้าไปขวางหน้าถ่วงเวลาให้นานวันออกไป, แต่ทีนี้ถึงเข้าแล้วในที่สุด, และก็ออกจะไม่สู้เร็วนัก. ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง, ตั้งแต่เที่ยงถึงพลบค่ำน้ำค้างตก, สองนักรบผู้บันดาลโทสะได้ปล้ำกันเชิงยุทธ์. ตัวต่อตัว, ดาบต่อดาบ, ทวนต่อทวน. ทุกๆเพลงเป็นลำดับไปทำให้เขามุมากขึ้น, และเมื่อแตรสั้นเป่าอาณัติสัญญาพักรบกันนั้น การรบนั้นก็ยังไม่เด็ดขาดลงไปอย่างเดียวกันกับเมื่อวันที่ตั้งต้น,

เวลาค่ำทุรโยธน์เรียกประชุมหารือการสงคราม, ในการประชุมนี้ท้าวเธอตรัสว่า; “สิบหกวันเต็มๆ เราได้ถอนใจใหญ่และสาดโลหิตของเราทิ้งไปเสียเปล่าๆ การยุทธ์เล่าก็ยังทำกันอยู่ด้วยเพลิงบ้าร้ายอันยังไม่เหือดลงได้. คนกล้าหาญของเรานับด้วยจำนวนร้อยพากันล้มตายไป, เละชัยชนะเล่าก็ยังมองไม่เห็น.”

ความเสียพระหฤทัยอย่างเก่าของท้าวทุรโยธน์ได้สัมผัสท้าวเธออีก, ตลอดเวลาสิบสี่ราตรีกาลของการยุทธ์ที่ล่วงแล้วไป ท้าวเธอหาเวลารื่นเริงบันเทิงพระหฤทัยแม้แต่เพียงวันหนึ่งก็ไม่มี, ถึงแม้เมื่อฝ่ายเธอมีชัยได้เปรียบในเชิงณรงค์ ท้าวเธอก็คงหาเวลาสบายพระหฤทัยมิได้เหมือนกัน, ท้าวเธอรู้สึกหมดหวังอยู่เสมอ, และบางเวลาก็เสียพระหฤทัย. และดูมันไม่มีมูลพอ ในขณะที่ท้าวเธอเฉียวฉุนงุ่นง่านจะเล่นงานใครมักจะใส่ไคล้ภีษ๎มก่อนแล้วก็โท๎รณเป็นที่สุด. และกล่าวโทษเขาทั้งสองว่ากอปรด้วยความลำเอียง, แต่ความคิดในใจของท้าวเธอในขณะนั้นๆคือ จักหาเหตุแต่งตั้ง ‘กรรณ’ คนโปรดของท้าวเธอเป็นแม่ทัพใหญ่; ท้าวเธอยังไม่พอพระหฤทัยกับการเป็นไปของสงคราม. ความจริงคือทุรโยธน์อ่านใจของท้าวเธอเองไม่ชอบด้วยธรรม; สาเหตุจริงแห่งความไม่พอพระหฤทัยของท้าวเธอซึ่งเป็นความเสียทั้งนั้นก็คือ มโนอันสมสัตย์ของท้าวเธอนั่นเอง มิใช่อื่นไกล แต่เธอได้ซ่อนความคิดไว้นานพอดู.

‘กรรณ’ รู้ว่าทุรโยธน์ต้องพระประสงค์คำมั่นสัญญาอย่างแข็งแรงจากแม่ทัพนายกองของท้าวเธออยู่เนืองนิตย์ เพื่อรักษาหัวคิดของท้าวเธอให้เย็นปราศจากตื่นเต้นและพระหฤทัยให้สงบสบาย; เพราะฉะนั้นเขาจึงกราบทูลทุรโยธน์ว่า: “ให้วันพรุ่งรุ่งขึ้นมาเถิด; ทุรโยธน์เอย, และท่านจะเห็นการที่ ‘กรรณ’ ทำสำเร็จลุล่วงได้. เราจะฆ่าอรชุนเสียให้ตายหรือไม่ก็ตายด้วยมือของอรชุน”

ดวงกมลของทุรโยธน์ก็สงบลงอีกเมื่อได้สดับคำสาบานแข็งแรงดังนี้. คำสาบานแข็งแรงนั่นแหละเป็นสิ่งที่ท้าวเธอต้องพระประสงค์มากที่สุด: เพราะปลุกเร้าโลหิตของท้าวเธอและกล่อมหฤทัยด้วยความคิดเพ้อ ๆ ว่าชัยชนะนั้นอยู่ใกล้ๆ ในบัดนี้พระกมลก็สงบอีกหลายชั่วโมง, และเสด็จเข้าสู่ที่บรรทมหลับสนิทสบายในราตรี.

วันพรุ่งรุ่งขึ้นมา ทุรโยธน์ทอดพระเนตรดูดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นนั้นด้วยหวังอันชื่นตาชื่นใจและด้วยมานะ. รถศึกของ ‘กรรณ’ ซึ่งมีศัลยเป็นนายสารถีผู้ขับคนใหม่ ลั่นกึกก้องลำพองทั่วสนามยุทธ์, เอาธารธุชของ ‘กรรณ’ นั้นปลิวสง่าอยู่ในลมอันชวยมาไม่ขาดสาย. ใจของเขาใคร่จะกระทำต่อซึ่งการยุทธ์แย้งแทงฟันกับอรชุนอันได้ทิ้งค้างซังไว้ ไม่ถึงแพ้และชนะกันในวันก่อน, และนัยนาเที่ยวทอดมองหาอรชุนขณะนั้น, ครั้นแลไปไม่ประสบอรชุนโดยพลันทันใจ, ก็คิดแต่ในใจว่า การรบวันที่แล้วมาได้กระทำให้ข้าศึกของเขาตกใจไหวหวั่น, และฉะนั้นข้าศึกจึงซ่อนหน้าอยู่ จึงพูดกับนายสารถีว่า: “อรชุนนั้นเลี่ยงการตีของข้าพเจ้าแน่เทียวละ.” ศัลยตอบว่า: “ท่านจะประสบอรชุนในไม่ช้าที, ข้าพเจ้ารับประกันท่านได้ เขามิใช่คนจ๋องชักขนหยองครั่นคร้ามใคร ๆ. ท่านระวังการรักษาตัวของท่านให้พ้นภัยเถิดดีกว่า”

‘กรรณ’ ชักหน้าตึงขึ้งโกรธเมื่อได้ฟังคำเหล่านี้, และสั่งให้ขับรถไปโดยเร็ว. ไปได้ไม่ไกลเท่าไร ยุธิษฐิรทรงรถอันวิจิตรกาววาวออกต้านทานเขาไว้. นิษาทแกล้วกล้าพวกหนึ่งพยายามทอนกำลังการเข้าตีนั้นให้น้อยลง โดยยกตรงเข้าไปขวางอยู่ระหว่าง ‘กรรณ’ กับยุธิษฐิร; แต่หัตถ์ของ ‘กรรณ’ อันทรงกำลังขับเอาพวกนิษาทถอยกลับไปได้โดยง่าย. พวกปัญจาลได้พยายามทำเช่นเดียวกันและได้ถอยไปเหมือนกัน. ไม่มีอะไรที่จะมาสกัดกั้น ‘กรรณ’ ผู้โกรธเกรี้ยวนั้นไว้ได้, ไม่มีอะไรกระทำความกล้าฝ่าภัยของเขาให้หย่อนลง, เข้ากรากใส่ยุธิษฐิรราวกับอัคนีอันรุ่งโรจน์, ยุธิษฐิรได้รับการโจมตีนั้นราวกับภูผา, น้าวศรของท้าวเธอด้วยอาการอันน่ากลัว, แผลงต้อง ‘กรรณ’ เข้าลูกหนึ่งซึ่งแถกไหล่ซ้ายไป, ‘กรรณ’ แผลงตอบมาหลายลูก ถูกเกราะยุธิษฐิรหลายแห่ง. เสื้อเกราะนั้นทำลายไป, พลัดตกลงดินมีเสียงดัง.โดยองค์เปล่ามิได้สวมเกราะดังนั้นก็ดี ยุธิษฐิรยังต่อสู้อยู่มิได้ลดละ: ต่อนั้นม้าของท้าวเธอต้องอาวุธล้มทีละตัว, ธงมหาราชถูกอาวุธหักสะบั้นลง, รถทรงหักป่นปี้. แต่ถึงกระนั้นยุธิษฐิรยังทำการต่อสู้มิได้ล่าถอย, จนกระทั่งต้องศรเข้าลูกหนึ่งซึ่ง ‘กรรณ’ ผาดแผลงมา, มีพระอาการสวิงสวาย พระโลหิตไหล, ผู้แวดล้อมได้หามท้าวเธอไปจากสนามยุทธ์.

ความเศร้าและขุ่นหมองของยุธิษฐิรนั้นมากนักหนา ที่มาเห็นตัวของท้าวเธอปราชัยพ่ายแพ้แก่ข้าศึกในการรบสำคัญอันเพิ่งได้ทำแก่เขาครั้งเดียวเท่านั้น, ยุธิษฐิรนั้นมิได้ขาดความกล้าหรือกำลังกายแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง; ถ้าท้าวเธอมีความอ่อนแออยู่บ้างก็คือ อ่อนแอในเรื่อง “วิจารณ์เหตุการณ์นั้น ๆ มากเกินไป,” บกพร่องเพราะใจเดินสูงเกินไป; และความอ่อนแอนี้เองซึ่งในบัดนี้ทำให้ท้าวเธอตกเป็นเหยื่อแก่ ‘ลมเสียใจ’ และ ‘ลมโกรธฉุน’ เป็นพักๆ ท้าวเธอนอนอยู่ในปะรำที่ประทับในท่าเข้าที่สนิทนิทรารมณ์, หาใช่เพราะความเจ็บปวดกาย แต่โดยความเจ็บช้ำกรำพระหฤทัยและความโกรธอันระงับไว้ไม่หยุด, นอนหลับเนตรนิ่งราวกับสนิทนิทรา, อรชุนโผล่เข้าไปในปะรำเพื่อดูว่าพระเชษฐภราดรซึ่งต้องอาวุธนั้นมีอาการเป็นอย่างไร, เห็นท้าวเธอหลับอยู่ก็ค่อย ๆ ย่องออกไป, ครานั้นยุธิษฐิรถามออกไปว่า: “อรชุนหรือ?”

“พระเจ้าข้า.”

“ฆ่าไอ้ ‘กรรณ’ แล้วหรือยัง ?” อรชุนก็เข้าไปในปะรำ, กฤษณก็เดินตามเข้าไปด้วย, “ยัง, ยังไม่ได้ฆ่า, พระเจ้าข้า” และอรชุนเกือบจะกล่าวอะไรต่ออะไรต่อไป, กฤษณห้ามเธอเสีย อธิบายให้ยุธิษฐิรฟังว่า อรชุนนั้นเท่าที่เป็นแล้วได้ทำการสู้รบอยู่ภาคแห่งสนามยุทธ์อันอยู่ไกล, แต่ว่าเธอได้ตั้งปฏิญญาว่าเธอจะฆ่า ‘กรรณ’ เสียให้ได้ในชั่วเวลากลางวัน.

ยุธิษฐิรโกรธฉุนมากเมื่อได้สดับดังนี้, ได้ตรัสเชิงถากถางอรชุนว่า: “ไฉนเธอแต่งกายของเธออย่างนักรบ มีหมวกยอดสวมเศียรเกล้าและมีหัตถ์อันทรงไว้ซึ่งธนูศิลป์, จึงเลี่ยงหนีฤทธิ์ ‘กรรณ’ ผู้ข้าศึกอันดุร้ายยิ่งของเธอด้วยใจอย่างหญิงเล่า ? จงมอบศรทิพย์ของเธอให้แก่หัตถ์ที่คู่ควรยิ่งกว่าเสียเถิด, ประเสริฐกว่า, และจงหลบซ่อนหน้าซุกมุมมืดๆ แห่งใดแห่งหนึ่ง, ขณะที่ข้าศึกจองหองของเธอเหยียบย่ำมิตรสหายของเธอและเป็นจอมสนามยุทธ์อยู่นั้น!”

อรชุนตัวสั่นรัวด้วยโทสะอันระงับไว้ไม่หยุดเมื่อได้ฟังคำเสียดสีราวกับมิใช่ภราดรกันดังนี้; และมือก็คลำหาด้ามกระบี่โดยมโนวิญญาณมิได้สั่งเสียให้กระทำ. ชักกรากออกจากฝัก, ในขณะโทสะพลุ่งพล่านนั้น เธอลืมไปว่าผู้ที่กล่าวคำเหล่านี้เป็นพระภราดาธิราชและเป็นเจ้านายของเธอ, กฤษณเห็นภัยก็ตักเตือนสอนใจอรชุนมิให้เอากระบี่ไปเกรอะกรังด้วยโลหิตของภราดรในขณะบันดาลโทสะขึ้นมา อรชุนชักสีหน้าก่ำด้วยอาย, และพลันขอขมาโทษต่อเชษฐภราดรที่โทสะพาไปเองนั้น, ยุธิษฐิรก็ประทานโทษพระอนุชาโดยจริงใจ พลางกอดประทับไว้กับทรวง, ตรัสว่า: “พี่ทำแค้นแก่เจ้านะน้อง: หาใช่ความผิดของเจ้าไม่, ใจของพี่ช้ำด้วยความเจ็บแค้นซึ่งทำลายนิสัยอ่อนโยนเสียสิ้น, แต่ในบัดนี้ขอให้พี่ลบล้างกักขฬกรรมด้วยเมตตาแห่งภราดรเถิดหนา น้องของพี่จงรับพรของพี่, และด้วยพรแห่งพี่ที่รักของเธอนี้ จงออกไปปราบข้าศึกของเธอเสียเถิด”

อรชุนตอบด้วยอัสสุชลคลอคลองเนตรว่า, “ข้าพระเจ้าจะไม่ถอดเกราะนี้กว่าจะได้ฆ่า ‘กรรณ’ ให้ตายตกไป!”

ด้วยปฏิญญานี้, อรชุนขับรถศึกรี่เข้าไปในแถวหน้ากระดานอันหนาแน่นแห่งกองทัพกุรุ ‘กรรณ’ ชักรถเข้าร่ารับอรชุน, และนักรบตัวกลั่นทั้งสองคนซึ่งเคยได้ผจญและรากันไปเนือง ๆ ได้เข้าผจญกันอีกครั้งหนึ่ง จะไม่รากันเหมือนที่เป็นมาแล้วแต่ก่อน ลูกศรของอรชุนตกหนาราวกับเม็ดฝนหน้าร้อน, จนกระทั่งสายธนูขาดด้วยน้าวแรงเกินไป. นักรบตนใดจะได้เคยตกอยู่ในที่เข้าร้ายเช่นนี้เป็นไม่มี.

อรชุนร้องขอพักรบชั่วคราวเพื่อซ่อมสายธนูของเธอ, ตามกฎขัตติยประเพณี (ธรรมเนียมนักรบ) นั้น ท่านว่ามิให้ทำร้ายข้าศึกซึ่งมิได้กุมอาวุธ, และอรชุนได้อ้างถึงประเพณีกษัตริย์ข้อนี้เมื่อเธอร้องขอให้ข้าศึกหยุดสักครู่, แต่ ‘กรรณ’ ซึ่งกระหายโลหิตของอรชุนมิพักประติบัติตามขัตติยประเพณีข้อนั้น, มิได้ฟังคำขอร้องของอรชุน, เอาโอกาสนั้นลั่นธนลูกหนักที่สุดของเขาพุ่งไปที่อรชุน, ด้วยหวังจะล้างชีวิตเสียก่อนที่เธอจักได้มีโอกาสกุมอาวุธสำหรับป้องกันตัวอีก อรชุนเป็นรองในเชิงยุทธ์อยู่สักครู่, และสู้ทนการตีของข้าศึกอย่างเต็มความสามารถที่จะทนทานได้, แต่พอเธอใช้ธนูของเธอได้อย่างเก่า, เธอก็ยิง ‘กรรณ’ เข้าด้วยลูกศร ด้วยกำลังอันไม่มีใครรอต่อต้านได้ แต่ลูกศรของอรชุนนั้นมิได้ให้ผลเช่นเดียวกันกับลูกศรของ ‘กรรณ’ และการต่อสู้ได้เป็นก้ำกึ่งกันอยู่ช้านานทั้งสองฝ่าย, ท่วงทีดูเหมือนจะหย่าหรือรากันไปอีก. โดยเหตุเผอิญเป็นไป ล้อรถของ ‘กรรณ’ ล้อหนึ่งติดโคลนแน่น, และ ‘กรรณ’ ได้ร้องขอพักรบชั่วคราว, อ้างถึงกฎเกียรติศักดิ์ซึ่งเขาลืมกิริยาที่ตัวเองได้ละเมิดด้วยกักขฬจิตในเวลาที่ล่วงแล้วไปสักครู่.

กฤษณในบัดนี้มีโอกาสเหมาะที่จะกล่าวคำถากถา ก็ว่าแก่ ‘กรรณ’ ว่า: “ในบัดนี้ท่านอ้างถึงประเพณีที่ท่านได้ละเมิดเสียเมื่อกี้นี้หรือ, คนอย่างท่านจะเกี่ยวข้องอะไรกับ ‘กฎแห่งเกียรติยศ?’ ท่านได้รักษา ‘กฎแห่งเกียรติยศ’, ไว้หรือเปล่า เมื่อพร้อมด้วยศกุนิท่านได้ปล้นทรัพย์ศฤงคารของยุธิษฐิร ? ท่านได้รักษา ‘กฎแห่งเกียรติยศ’ ไว้หรือเปล่า เมื่อท่านหมิ่นประมาทเท๎ราปทีที่ในห้องประชุมรัฐมนตรี? ท่านได้ประติบัติตาม ‘กฎแห่งเกียรติยศ’ หรือเปล่า เมื่อคบคิดกับไอ้ทุรพลคนพาลสันดานขลาดครึ่งโหล เข้าโจมตีอภิมันยุและฆ่าเขาเสียโดยมิได้มีข้อแค้นเคือง”

‘กรรณ’ ละอายใจมาก กระโดดลงจากรถศึกรบด้วยอาการเดินเท้า, ฝ่ายอรชุนบัดนี้ได้ขึ้นอยู่ในที่ได้เปรียบ, ชักศรอันทิพย์ขึ้นพาดสาย, มาดหมายตรงเศียรข้าศึกแล้วก็แผลงไป. ศรไปต้องข้าศึกล้มผางลงยังทรวงพระธรณี, สาปชี้ขาดลงไปมิให้เขามีเวลาลุกขึ้นได้อีก.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ