ตอนเก้า พวกกุรุเข้าเหยียบแดนวิราฏ

ระหว่างปีเป็นที่สุดแห่งการต้องเนรเทศของเจ้าปาณฑพ, ทุรโยธน์ได้พยายามสืบหาที่สำนักซุ่มซ่อนของเธอทั้งห้าภราดา, เพราะเธอทั้งห้าได้พยายามซุ่มซ่อนตัวดี มิได้มีผู้ใดรู้ระแคะระคาย, ทุก ๆ พวกที่ทุรโยธน์ใช้ออกไปลาดตระเวนสืบข่าวคราวนั้น ได้กลับไปโดยไร้ผลที่คาดหมาย และรายงานว่า พวกเขาได้ตรวจค้นทุกแหล่งหล้าทั้งแนวป่าและท้องถิ่นที่มนุษย์สำนักอาศัย แต่หาได้พบยุธิษฐิรไม่ ทุรโยธน์ก็สำคัญใจว่า สัตว์ร้ายในราวพนัสขบกัดกินเจ้าปาณฑวภราดาทั้งห้าเสียแล้ว. ที่จริงเธอได้ลงเอยเอาดังนั้นเมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้, เพราะพวกที่ต้องเนรเทศจากนิเวศนสถานจะหวังไปตายในป่าใหญ่ให้ดีไปยิ่งกว่าถูกเสือกินได้หรือ? โดยความปรารถนาเป็นบิดาแก่ใจ ทุรโยธน์ก็หลงเชื่อมันขึ้นทุกเวลาว่าเจ้าปาณฑวภราดาไม่มีตัวแล้ว ทั้งนี้เพราะน้ำหฤทัยของเธอปรารถนาให้คู่ประติปักษ์สูญหายตายจากแผ่นดินไป. ฝ่ายโท๎รณอาจารย์นั้นมิได้มีใจเหี้ยมโหด หมายกินเลือดกินเนื้อเช่นนั้น. และภีษ๎มผู้มีพระศกหงอกขาวทั้งเศียรเกล้าก็เช่นเดียวกัน มิใครจะเชื่อเสียเลยว่า เจ้าปาณฑวภราดาทั้งห้าได้สิ้นชีพวายปราณ; พระชนมายุกาลแปดสิบของเธอได้แนะนำคำคติสอนใจเธอไว้บทหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อใหญ่ใจความว่าอย่าลงเอยโดยด่วนเกินไป. เธอย่อมทราบอยู่ว่าเจ้าปาณฑวภราดาเบื้องว่ามีอาวุธสำหรับมือทุกองค์ดังนั้น ก็เป็นอันว่าเป็นพรรคพวกหมู่ใหญ่อยู่ในตัว; จะพึงกลัวอะไรกับสัตว์ร้ายในไพร, เป็นการง่ายที่เธอทั้งห้ายุวภราดาจะป้องกันรักษาตัวของเธอ, เธออาจต่อสู้ศัตรผู้มนุษย์ด้วยกันนับด้วยร้อยด้วยพันเป็นจำนวนมากหลาย; นายขมังธนูอย่างอรชุนนั้นเชื่อว่าจะไม่ถูกข้าศึกลอบเข้าโจมตี, ความหวั่นใจของภีษ๎มคือ-เกรงว่าทุรโยธน์จะถูกโจมตีมิทันรู้ตัว เพราะประมาทเชื่อใจเสียว่าสัตว์ร้ายขบกัดห้าภราดาตายเสียแล้ว. กฤปาจารย์ก็เห็นสอดคล้องต้องกันกับโท๎รณและภีษ๎ม. เขามิได้งำความเห็นไว้แต่ในใจ, และเมื่อทุรโยธน์รับสั่งถามเรื่องนี้ ก็กราบทูลมูลคดีออกไปตรงๆ เฉพาะพระพักตร์ว่า:-

“ความจริงข้าพระเจ้าห่วงใยเรื่องนิราสภัยของพระองค์อย่างยิ่ง-มิได้ประวิงห่วงใยในเจ้าปาณฑวภราดาทั้งห้า ซึ่งเชื่อว่าปราศจากภอันตรายพอเทียว,พระเจ้าข้า พึงเชื่อเถอะ, ปีที่สิบสามแห่งการต้องเนรเทศของเธอจวนจะสิ้นอยู่แล้ว, ควรที่พระองค์จะพยายามสมานการร้าวฉานนานปีนี้ให้เสร็จสิ้นกันไป, จะได้เป็นทางแห่งสุขกายและสุขใจ, หาไม่ละก็, ข้าพระเจ้าเชื่อว่า-แต่ข้าพระเจ้าเกรงพระหฤทัยที่จะกราบทูลความจริงสิ่งที่จะปลิดเอาชีวิตจิตใจ.”

นายกองจารบุรุษทุรโยธน์ใช้ไป, ครั้นเห็นว่าตนเถียงเขาไม่ขึ้น, จึงกราบทูลว่า: “ข้าพระเจ้ามีข่าวคราวดีที่จะกราบทูลให้ทรงทราบ ยุธิษฐิรนั้นสิ้นพระชนม์แล้วเป็นแม่นมั่น ยังมีข่าวดียิ่งกว่านั้น, กิจกะ, พระ สหายอันแกว่นกล้าของเธอ กิจกะผู้น้องเขยพระเจ้ากรุงวิราฏนั้นเล่า, ก็ตายแล้วด้วยมือคนร้าย; และข้าพระเจ้ามีความยินดีเห็นว่าอีกไม่กี่เวลา ธงชัยเฉลิมหล้าของชาวเการพกระเดื่องฤทธิ์จะไปประดิษฐานอยู่เหนือยอดปราสาทของท้าววิราฏ”

ทุรโยธน์รู้สึกปลื้มใจอย่างเด็กเล็กๆ, และด้วยความหุนหันพลันแล่นแห่งเด็กกำดัด, ท้าวเธอสั่งให้จัดกองทัพที่จะยกไปทำการตีกรุงวิราฏเตรียมพร้อมไว้.

ในสองสามเวลา กองทัพกุรุมีสุศรมันผู้แกว่นกล้าเป็นนายทัพได้ยกตรงไปยังกรุงวิราฏ. เป็นกองทัพที่ได้ตกแต่งอย่างเอกทุกประการ-จัดอย่างประณีตบรรจงตั้งแต่แผนที่ที่จะทำการเข้าตีและการป้องกันลงมาจนถึงดุมเสื้อแบบของพลทหาร-จัดการดีที่สุดทุกอย่าง, แต่ไหนแต่ไรกองทัพซึ่งยกออกจากกรุงหัสตินาปุรไม่เคยร่าเริงและหวังชนะถ่ายเดียวเหมือนครั้งนี้. เรื่องความตายไม่ต้องเอาอารมณ์ไปเกี่ยวเกาะ, สิ่งซึ่งปรารถนาคือกระหยิ่มถึงสนามรบเท่านั้น-ความกระสันอันนี้ผู้ที่มีใจคอแกต้วกล้าตีราคามากกว่าความปรารถนาของผู้ที่มีใจโลภแต่จะได้ถ่ายเดียว.

พระเจ้ากรุงวิราฏนั้นเล่า ก็มิใช่คนเกียจคร้าน, ท้าวเธอได้รับรายงานทันท่วงทีว่ามีข้าศึกยกมา, มีบัญชาให้ระดมทหารเพื่อทำการต่อต้านขับไล่ข้าศึกที่เหยียบแดนเข้ามา. มิทันให้ข้าศึกเข้าล้อมกรุง, ท้าวเธอเดินกองทัพมุ่งไปรับข้าศึกกลางทางที่ทุ่งกว้างใหญ่, กองทัพทั้งสองฝ่ายได้มาปะทะกัน ณ ที่นั้น พลางคอยดูอาณัติสัญญาที่จะเข้าทำการต่อสู้กัน. กองทัพทั้งสองตั้งประเชิญหน้ากันและยืนนิ่งอยู่สักครู่ ดูประหนึ่งว่าผู้บัญชาการกองทัพทั้งสองฝ่ายกำลังตั้งกล้องถ่ายรูปกองทัพหน้าตนกระนั้น, ลงท้าย, สุศรมันทนนิ่งอยู่ไม่ได้, ร้องประกาศออกไปว่า “รบ” เสียงดังฟังถนัด. ต่อนั้นลูกศรดังห่าฝนก็หวือว่อนร่อนเวหาในทิศที่ตรงกันข้าม, พุ่งสวนไขว่ไปมา, กระทบกันเสียงฉาดฉับอยู่กลางหาว, ลางดอกก็เข้าทิ่มแทงร่างกายทหารฝ่ายข้าศึก, บางดอกก็ตกลงดิน มิได้แตะต้องกายฝ่ายปัจจามิตร, ทั้งสองฝ่ายรบประชิดหนุนเนื่องกันเข้าไปดังคลื่นในทะเล, ต่างฝ่ายต่างรวนเรร่นรุกบุกไล่ประหารกันด้วยธนูศร, ยิงหนักมาทุกที เสียงอึกกระทึกอึงมี่ยิ่งหนักขึ้น, ลงท้ายพลโยธาทั้งสองฝ่ายก็เข้าตะลุมบอน, ต่อสู้กันด้วยอาวุธดาบและหอก, ทีนี้เป็นอันว่าสู้กันด้วยกำลังและฝีมือรบด้วยเพลงอาวุธสั้น,

ผู้นำทัพทั้งสองฝ่ายไม่แต่เพียงต้อนพลในบังคับบัญชาของตนเข้าประจัญบานเท่านั้น: เขาทั้งสองฝ่ายรบด้วยอย่างเดียวกับพลทหาร, และลูกศรอันแผลงมาจากหัตถ์นายทหารชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายกุรุได้แล่นมาถูกพระกายราชาวิราฏบาดเจ็บเล็กน้อย, ถึงแม้ถูกบาดเจ็บแล้วก็ดี, ท้าวเธอยังแสดงความกล้าหาญรบรุกเรื่อยไปเพื่อปลุกใจไพร่พลของเธอ ไม่แต่เพียงต้องการปลุกใจถ่ายเดียว กองทัพวิราฏอ่อนกำลังและอ่อนหัด, และความอ่อนแอในข้อนี้ตั้งต้นแสดงผลให้เห็นปรากฏออกมาทุกที. ไพร่พลในบังคับบัญชาท้าววิราฏแตกร่นลงไปตั้งมั่นรับแล้วกลับถอยไปอีกครา, และในไม่ช้าก็ค่อยๆถอยหนีไป, จนกระทั่งเห็นได้ว่ารับกองทัพฝ่ายกุรุไม่หยุด.

ต่อนั้นไปไม่ช้า พระราชาวิราฏก็ติดบ่วงบาศของสุศรมัน ซึ่งเหวี่ยงซัดมามัดเอาพระองค์ไปได้. การที่ข้าศึกจับเอาเจ้านายไปได้ในที่รบเป็นการจบเห่สิ้นหวังที่ยังเหลือริบหรี่อยู่ในกองทัพของท้าววิราฏในสนามรบ, การที่แลไปเห็นเจ้านายอยู่มือของข้าศึกนั้นเอง เป็นอาณัติสัญญามีกำลังแรงอันหนึ่งกระตุ้นเตือนใจผู้บังคับบัญชาทุกชั้นให้ปลุกใจไพร่พลซึ่งสลดเศร้ากลับพยายามเอาชัยชนะจงได้, ไพรพลของท้าววิราฏพยายามรบรุกเข้าไปโดยองอาจเพื่อช่วยแก้เจ้านายของเขา, รื้อหนึ่งแล้วรื้อหนึ่งเล่าก็ไม่เป็นผลสำเร็จลงได้ ไม่ชนะข้าศึกซึ่งฮึกเหิมด้วยมีชัย. การแตกพ่ายออกมาทุกครั้งนั้น, น่าที่จะทำให้พลทหารท้อใจสิ, กลับทำให้มีมานะรบแรงแข็งขึ้นทุกที. ยกเข้าตีแล้วโถมเข้าตีอีกครา, เข้าทำการเช่นฆ่าแล้วเข่นฆ่าเล่าราวกับลูกคลื่นใหญ่ในเมื่อทะเลปั่นป่วนด้วยพายุ. การเข้าตีออกจะพร้อมมูลกันและถี่มากขึ้น; เขามิได้รวมกำลังเข้าโจมตีดุจการต้านแห่งใดแห่งหนึ่งเหมือนแต่ก่อนแล้ว, แต่ขยายแถวเรียงรายกระจายกันไปทั่วสนามรบ. ในที่สุดข้าศึกรู้สำนึกตัว การมีชัยชื่นบานในขั้นต้นได้โรยร้างอันตรธานไป, ซ้ำร้ายมากระทบความท้อใจเข้าอีก. ทันใดนั้นกระบี่ของพัลลภ-อันนี้เป็นนามแฝงของภีมระหว่างที่ปลอมตัวอยู่ที่ราชสำนักวิราฏ-ได้ตัดบ่วงบาศซึ่งมัดรึงพระราชาให้พระองค์หลุดออกมาได้ ไพร่พลพาท้าวเธอไป โห่ร้องด้วยมีชัยเสียงกึกก้องท้องฟ้า. ทีนี้เป็นคราวที่พระราชาวิราฏจะทำการแก้แค้นแทนทด. การเข้าตีออกจะถี่เข้าและเป็นผลดียิ่งขึ้น จนกระทั่งกองทัพฝ่ายกุรุแตกพ่ายหนีกลับไปกรุงหัสตินาปุร, จับสุศรมันผู้นำทัพฝ่ายกุรุได้, แต่เพื่อแสดงเมตตาจิตของเธอ, พระราชาวิราฏส่งให้ปล่อยตัวกลับไปบ้านเมืองของเขา.

กองทัพที่ทุรโยธน์ส่งไปทำการราญรบท้าววิราฏด้วยฮีกเหิมใจก็สุดสิ้นลงดังนี้.

แต่การด้อยอันนี้น่าจะทำลายความทรนงใจของทุรโยธน์ กลับทำให้ห้าวฮึกเหิมขึ้นกว่าแต่ก่อน, รีบตระเตรียมกองทัพส่งไปทำการรบท้าววิราฏครั้งที่สองโดยด่วน, คราวนี้ท้าวเธอนำทัพไปเอง, สำหรับการที่จะไปทำคราวนี้ท้าวเธอหาช่องเหมาะเฉพาะเวลาที่พระราชาวิราฏมีการต้องไปจากพระนคร ข่าวที่ท้าวเธอจะยกไปทำการนั้นทราบถึงเสนาบดีของท้าววิราฏ, ได้มีการประชุมพิเศษเพื่อหารือกันด้วยเรื่องที่จะจัดการต่อสู้มหาภัยระหว่างที่เจ้านายไม่อยู่. รัชทายาทได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชากองทัพ. เรียกระดมช้างม้าและเครื่องยุทธภัณฑ์ทุกสิ่งโดยด่วน: เรียกระดมพลใหม่เข้าสวมตำแหน่งหน้าที่เก่าที่ว่างเพราะการสงครามครั้งก่อน. เกิดกาหลทั่วพระราชอาณาจักร. แม้แต่หญิงก็ยังมีส่วนช่วยเหลือการทัพตามกำลังสามารถของตน.

ได้ตระเตรียมการพร้อมเสร็จ เมื่อข่าวราชการทัพมีมาว่าข้าศึกได้ยกเหยียบแดนเข้ามา. กองทหารรักษาดินแดนเมืองหลวงก็รีบรุดยกไปหน่วงข้าศึกไว้ให้ไกลจากกรุงมากที่สุดตามแต่จะทำได้.

ในที่สุดกองทัพทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันอีกครั้ง และภาพของการยุทธ์ที่เป็นไปนั้นก็อย่างเดียวกับคราวก่อน. “การผลัดกันแพ้ชนะ” นั้น แม้เป็นภาษิตโวหารอันเสียความหมายที่เหมาะสำหรับสมัยปัจจุบัน ซึ่งต่อสู้กันด้วยอาวุธเครื่องกลไกทำลายชีพก็จริงแล แต่ในข้างต้นยุคแห่งประชาวตารครั้งนั้น โวหารที่กล่าวนี้ยังใช้กันอยู่หนาหู: จำนวนพลยุทธ์มากมายซึ่งเข้ารบทั้งสองฝ่ายนั้นคล้ายทะเล, ไล่ล้างล้นหลามเป็นคลื่นระลอกกระฉอกฉานเป็นฟองฟูม, ประเดี๋ยวกระทบกันสนั่นเสียง, ประเดี๋ยวก็เงียบหายไป, เสียงกู่ก่องและเสียงร้องไห้ครวญคราง. ‘คำสาบาน, คำหมิ่นประมาท, คำแช่งด่าปรุษศัพท์ต่างๆ นานา.’ ได้เห็นความกล้าและความขลาดของบุคคล. มีเรื่องประหลาดอยู่เรื่องหนึ่ง: เจ้าชายหนุ่มซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองใหญ่ฝ่ายวิราฏกองหนึ่ง เห็นเขาฆ่าฟันกันเลือดสาด, ก็เลยเสียประสาทสัมผัสของเธอขณะนั้น, พลันเลี่ยงลงจากรถศึกที่เธอทรงมา บ่ายหน้าจากสนามรบหลบเข้าบุรี, ต่อเสด็จหนีไปเป็นครู่แล้ว นายสารถีของเธอจึงรู้ว่าเธอหายไปจากที่. ในชั้นตันเขาสำคัญใจว่าเจ้าชายตายด้วยมือปัจจามิตร, แต่ไม่มีโลหิตติดอยู่ตามที่นั่งหรือตามรอบรถศึกนั้นแต่สักแห่ง, ชวนให้เขานึกระแวงและลงสันนิษฐานว่า เธอเปิดหนีไปเป็นแม่นมั่น. ทหารพวกหนึ่งได้รับคำสั่งให้ไปเชิญเธอกลับมายังสนามยุทธ์, และเจ้าชายรู้ใจขลาดก็ถูกกุมตัวรีบรุดมาสู่ที่รบประดุจนักโทษหรือเชลย, ไพร่พลของเธอกล่าวคำค่อนขอดต่อว่า, ว่าไม่พอที่จะมาแสดงความขลาดในเวลาที่เกียรติยศและความเป็นอยู่ของชาติเข้าตาจนเช่นนี้. แม้แต่นายสารถีของเธอก็เว้นดุตะคอกเธอไม่ได้ว่า แลเห็นโลหิตชักหน้าซีดใจสั่นขวัญหนีเหมือนสตรีกระนั้น. นายสารถีผู้ขับรถศึกครั้งนั้นย่อมมีนิสัยเป็นนักรบ และโดยมากมักเป็นเผ่านักรบเช่นเดียวกันกับผู้นั่งไปบนรถนั้น. นักรบหนุ่มน้อยกล่าวคือนายสารถีผู้นี้มิได้มีอาวุธถืออยู่ในมือชั่วกาลนาน, รู้สึกว่าหน้าที่ของเขาจะต้องทำนั้นสำคัญนักหนา, และนึกเกรงว่าเจ้าชายจะไพล่หนีไปเสียอีก ข้าศึกจะจับเอาตัวไปได้, ก็ขับรถบากไปทางด้านสนามยุทธ์ด้านหนึ่ง, ถึงต้นพฤกษ์ใหญ่, ไต่ขึ้นไปบนต้นไม้, หยิบเอาคันศรและซองลูกศรคร่ำเครอะของเขาแล้ว ก็ลงมาหาเจ้า, ตั้งใจจะต่อสู้กับราชศัตรูของเจ้านายด้วยลูกศรสนิมเกรอะกรังนั้น, ทูลว่า “ข้าพระเจ้าจะสอนให้ท่านยิง, ม้ามันจะพารถไปทางไหนก็ช่าง, กองทหารส่วนใหญ่ฝ่ายข้าศึกวายวอดไปหมดแล้ว.”

พูดดังนั้นแล้วก็ยกศรขึ้นพาคสายแล้วยิงไปหลายลูก, ลูกหนึ่งไปตกตรงหน้าภีษ๎ม, อีกลูกหนึ่งไปตกแทบบาทมูลแห่งโท๎รณาจารย์ทางด้านสนามรบฝ่ายพวกกุรุ.

โท๎รณาจารย์ตกตะลึงไปทั้งกายเมื่อได้เห็นศรแผลงมาแม่นยำเช่นนั้น. เขาจำลูกศรได้และรู้จักตัวผู้ยิง รู้ฝีมือผู้ยิงด้วย, รู้ว่าลูกนั้นผู้ยิงมิได้ตั้งใจหมายเล็งศีรษะเขา, ผู้ยิงตั้งใจเพียงแต่จุบเท้าเท่านั้น, หันหน้าไปหาทุรโยธน์ผู้เป็นใหญ่ ปราศรัยว่า:- บัดนี้ข้าพระเจ้ากริ่งใจในเรื่องที่จะมีชัย. ศรลูกนี้ไม่ใช่ของคนอื่นคนไกล เป็นศรของอรชุน, เป็นลูกศรอันผาดแผลงมาจากหัตถ์ศิษย์ผู้แกล้วกล้าของข้าพระเจ้า. ศิษย์ผู้นี้แม้ยืนอยู่ในแถวตรงข้าม, ก็มิได้พยายามที่จะแตะต้องสรีระของข้าพระเจ้า, แต่อยากจะแสดงเคารพต่ออาจารย์ผู้เฒ่าของเขาโดยวางศรมาจุบเท้าแทนตัว”

ทุรโยธน์มายาสรวลเป็นที ในหฤทัยของท้าวเธอยินดีที่ได้มาพบพระญาติผู้ต้องเนรเทศตามข้อสัญญา, ท้าวเธอยินดีทั้งนี้โดยดำริว่า ดีละ เราจะได้เพิ่มโทษเนรเทศเขาอีกสิบสองปี.

ทุรโยธน์ไขความยินดีในใจให้ภีษ๎มฟัง, แต่ข้างภีษ๎มนั้นไม่ใคร่จะอยากสร้างมหาสถานในคัคนานต์ (สมบัติบ้า) และไม่ใคร่จะอยากเข้าไปอยู่ในสถานเช่นนั้นที่ท่านผู้อื่นนิรมิตขึ้นไว้.

ขณะที่เขากับทุรโยธน์กำลังสนทนากันอยู่นั้น รถศึกของท้าววิราฏตรงมาที่นั่น เสียงราวกับฟ้าฟาด ยิงศรโปรยลงมาในกองทัพกุรดุจเม็ดฝน, ห่าฝนคือลูกศรนั้นสาดไปขวาและซ้ายตามรถศึกซึ่งบ่ายหน้าไปทางทิศนั้นๆ รถศึกคันสำคัญนั้นเข้าลุยไล่ไพร่พลแตกเป็นช่องไป. ทับพลทหารตายกองก่ายในสนามรบ. ครานั้นนายสารถีผู้แกว่นกล้าจึงปราศรัยเจ้าชายว่าดังนี้: “ต้องรบศึกอย่างนี้ซี, ดูซี, แถวข้าศึกแตกพ่ายไป, และพลทหารผู้แกล้วกล้าของท่านกำลังซ้องศัพท์สาธุการเยินยอท่านว่าเป็นผู้มีชัย!”

เจ้าชายในท้าววิราฏก็มีชัยแก่ข้าศึกด้วยประการฉะนี้, เสียงนิกรชาติราษฎรซ้องสาธุการอึงมี่ท่ามกลางเสียงครวญครางของพลทหารที่ต้องอาวุธมีบาดเจ็บสาหัส, พลเมืองไหลหลามมาเยียดยัดอัดมารคา ฝ่ายเจ้าชายก็สนทนาร่าเริงมากับนายสารถีผู้ใจภักดิ์ของเธอตามถนนในพระนคร.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ