- กถามุข
- ตอนหนึ่ง ความริษยาแห่งญาติ
- ตอนสอง การสยุมพรนางเท๎ราปที
- ตอนสาม อาวาหมงคลแห่งเท๎ราปที
- ตอนสี่ ห้องประชุมรัฐมนตรี
- ตอนห้า อินทรปรัสถรัฐ, ราชอาณาจักรใหม่
- ตอนหก การพนันใหญ่
- ตอนเจ็ด การเนรเทศเจ้าปาณฑพ
- ตอนแปด พระเจ้ากรุงวิราฏ
- ตอนเก้า พวกกุรุเข้าเหยียบแดนวิราฏ
- ตอนสิบ การประสบ
- ตอนสิบเอ็ด หารือสงบศึก-เตรียมรบ
- ตอนสิบสอง สงคราม-กุรุเกษตร
- ตอนสิบสาม ความขุ่นหมองของทุรโยธน์
- ตอนสิบสี่ โท๎รณาจารย์ ผู้นำทัพคนใหม่ฝ่ายกุรุ
- ตอนสิบห้า มรณะของอภิมันยุ
- ตอนสิบหก ฉากสุดท้ายของสงคราม
- ตอนสิบเจ็ด อวสานแห่งสงคราม
ตอนสิบสี่ โท๎รณาจารย์ ผู้นำทัพคนใหม่ฝ่ายกุรุ
วันพรุ่งรุ่งเช้าต่อจากมรณกาลของภีษ๎ม, ธงชัยของโท๎รณาจารย์ได้โบกสะบัดสัมผัสเป็นสง่าอยู่เหนือสนามยุทธ์, แสดงเครื่องหมายประจำชาติ ชนทราบแล้วทั่วไปด้วยดี คือสุวรรณไพรทีตั้งอยู่บนหนังมฤค, ไพรทีนั้นบอกบรรพชิตโคตรของเขา, และหนังมฤคบอกบรรพชิตเพศของเขา, เพราะพราหมณาจารยทุกๆ คนในสมัยอินเดียโบราณเป็นอรัณยวาสิน, อาศัยอยู่ในที่ลี้ลับจากหมู่มนุษย์ และไม่มีใฝ่ฝันทางโลกียอย่างไร เว้นไว้แต่จะสั่งสอนธรรมและความรู้ให้แก่หมู่อันเตวาสิกหนุ่ม ๆ มีหิริโอตตัปปะที่มาอยู่แวดล้อมเป็นศิษย์.
ก่อนโท๎รณได้รับตำแหน่งเขาได้กล่าวคำปฏิญญไว้ต่อหน้าทุรโยธน์ว่า เขาจะไปเอาตัวยุธิษฐิรจำเครื่องพันธนาการมาสู่ค่ายกุรุ.
อรชุนได้สดับคำปฏิญญาอันน่ากลัวนี้ก็ทูลยุธิษฐิรว่า: “อาจารย์เฒ่าของเรานั้นศักดิ์สิทธิ์; เราเอาชีวิตไม่ได้; เราฆ่าเขาตายแม้ในการยุทธ์ระหว่างพี่น้องนี้ก็ไม่ได้, ในการยุทธ์ที่ดูเหมือนว่าใครต่อใครอาจจะฆ่าฟันกันได้ทั้งนั้นไม่มีขีดคั่น, แต่ถึงกระนั้น, ถ้อยคำที่เขาได้ปฏิญญาไว้นั้นเป็นปฏิญญาอันน่าสยองเกล้า. ขอให้ข้าพระเจ้ารู้คำปฏิญญาของข้าพระเจ้าต่อของเขา, - ว่าตราบใดโลหิตหยดหนึ่งยังมีอยู่ในกายของข้าพระเจ้า, วรกายของยุธิษฐิรจะไม่ต้องโพยภัยแม้แต่เพียงเสียพระโลมาไปเส้นหนึ่ง และว่าโท๎รณจะไม่เข้ามาใกล้ยุธิษฐิรได้ เว้นไว้แต่เหยียบย่ำข้ามศพของอรชุนเข้ามา!”
ก่อนขึ้นรถศึก, โท๎รณได้เจริญภาวนาบทหนึ่งถึงเทพดา, และกล่าวสุนทรวอนทหารของเขาสองสามคำ. เรื่องกล่าวทีหลังนั้นมีใจความดังต่อไปนี้:-
“ทหารทั้งหลาย ! เกียรติแห่งการนำทหารแกล้วกล้าตกเป็นภาระข้าพเจ้าวันนี้ การรับผิดชอบตกหนักอยู่แก่ข้าพเจ้าในการทำสงครามนี้, ซึ่งเดชะคุณพระช่วยอวยชัย, ข้าพเจ้าหวังใจอย่างเต็มที่, จะสุดสิ้นไปในชัยชำนะเฉียบขาดสำหรับราชการงานสงครามของกุรุ แต่ไม่มีนายพลคนไหนกล้าหาญชาญชัยเพียงไรก็ตามที, อาจจะเอาชัยชนะโดยลำพังตนได้ เขาต้องมีการอุตหนุนช่วยค้ำจุนเต็มความสามารถ, การพร้อมใจช่วยกันรบสู้ของหมู่ไพร่พลทั้งมวลที่ดำเนินตามไปนั้น. ด้วยประการฉะนี้, ท่านต้องระลึกนึกว่าเกียรติของพระมหากษัตริย์และบ้านเมืองของท่าน, ความนิราสภัยแห่งบ้านช่องครอบครัวของท่าน, ย่อมอาศัยกำลังอย่างเต็มที่ของท่าน; ขอให้ทหารทุกคนพึงรู้สึกเรื่องนี้ในใจของตน, และขอให้พึงทำหน้าที่ของตนโดยองอาจอย่างลูกผู้ชาย, ต้องไม่นึกไม่ฝันถึงผลในที่สุด”
ในวันต้นที่โท๎รณเป็นผู้บัญชาการ, อภิมันยุบุตรของอรชุนได้สำแดงตัวเด่นเป็นเอกในการรบ, แสดงความกล้าหาญเห็นประจักษ์แก่ตาคราหนึ่งแล้วคราหนึ่งเล่า, และแสดงตนเป็นนักรบอย่างเอกอุได้ผู้หนึ่งในชั้นซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในข้างหน้า การต่อสู้ประเดิมชัยของเขาในวันนี้คือรบกับกุรุราชาองค์หนึ่ง, ทรงนามว่า เปารพ. อภิมันยุจิกเศียรเกล้าลากออกจากรถทรง, ฟาดท้าวเธอลงยังพื้นเมทนีจนพระอัฐิป่นปี้ไป. เมื่อเห็นท้าวเปารพตกอยู่ในภัย, ชยัทรถ, กษัตริย์สินธู, ก็รีบหนุนเข้าไปช่วย ด้วยกระบี่อันเงื้อง่า ชยัทรถวิ่งถลาเข้าใส่อภิมันยุ, และอภิมันยุก็เข้ารับด้วยกระบี่อันเงื้อง่า, ในไม่ช้ากระบี่ทั้งสองเล่มโดนกันดังฉาด, แล้วอีกฉาดหนึ่ง; ผู้ทำการสู้รบทั้งสองท่านไม่สามารถฟาดฟันผู้ข้าศึกของตนที่ตรงไหนได้สักที, จนกระทั่งชยัทรถพลันลดแขนลง, จ้องแทงตรงหัวใจอภิมันยุ; แต่อภิมันยุเอาโล่รับ มีเสียงธาตุต่อธาตุกระทบกันดังฉาดฉับ, และเออ! กระบี่ของชยัทรถนั้นหักสะบั้น, ชยัทรถนั้นหนีไปยังรถศึกของท้าวเธอ, และขับหนีไปจากสนามยุทธ์นั้น, ปล่อยให้ท่านกุรุราชาอีกองค์หนึ่ง-ศัลย, พระเจ้กรุงมาทร เข้ากระทำการยุทธ์กับอภิมันยุ.
ในขณะนั้นได้มีผู้มาช่วย, ภีมตรงมา มีคทาปลายเป็นตุ่มหนามทุเรียนชูเงื้อง่าและผวาเข้าปะทะศัลยตัวต่อตัว ทั้งสองฝ่ายใช้กระบองคล่องแคล่วเป็นพิเศษด้วยกัน, และเสียงที่เขาผลัดกันตีผลัดกันรับนั้นดังสนั่นเหมือนเสียงสองสิงห์โทโสแย่งเหยื่อกัน, ต่างก็ยืนเทิ่งเหมือนภูผาสูงตระหง่าน ทานการตีของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเบา ๆ ราวกับว่าเป็นเพียงลมพัดดังฮือ ๆ มาต้องกาย. การต่อสู้กันยิ่งแรงขึ้น, ดุขึ้น ร้ายขึ้นทุกที; แต่ถึงกระนั้นนักรบทั้งสองคนดูไม่ใคร่จะยอมถอยหนีสักก้าว ไม่ยอมงดฟาดกันด้วยพลองดังตึง ๆ กว่าข้างหนึ่งข้างใดจะได้ล้ม. ในที่สุดหากบังเอิญเป็นไป, ทั้งสองฝ่ายต่างล้ม. ภีมพลันลุกขึ้นได้, ยกกระบองขึ้นจากพื้นพระธรณีจะตีไม้ตาย, ครั้นเห็นข้าศึกมีโลหิตไหลหมดสติสมประดี, เขาก็อนุญาตให้หามชยัถรถไปยังกองพยาบาล.
ในอีกภาคหนึ่งแห่งสนามยุทธ์นั้น, ท่านโท๎รณาจารย์ออกเล่นงานเป็นตัวสำคัญ, เหลือบเห็นยุธิษฐิรในชั่วเวลาครู่หนึ่งไม่มีกองป้องกันรักษาองค์. เขาก็ชักรถถลันตรงเข้าใส่, ด้วยหมายใจว่าจะมีชัย ทำการสำเร็จตามปฏิญญาว่าจะกุมเอาตัวให้ได้ไปค่ายกุรุ. ‘ศัพทสัญญาบอกเหตุสำคัญ’ ก็พลันอุโฆษทั่วแถวทหารปาณฑพ อรชุนรู้ว่าพระราชาของตนจะตกอยู่ในภัยก็รีบตรงไปหาเจ้า, ขับสินธพวิ่งอ้าวเต็มที่, ในไม่ช้าอรชุนก็ทิ้งท่านหัวหน้ากุรุไว้ในเบื้องหลัง, ไปถึงข้างองค์ยุธิษฐิรก่อนที่แม้แต่ฝุ่นแห่งรถศึกโท๎รณได้ประจักษ์แด่พระเนตรของยุธิษฐิร.
ในภาคอื่นแห่งสนามยุทธ์นั้น ท่าทางของเหตุการณ์วันนี้ยากที่จะรู้ได้ว่า ต่างกันกับเหตุการณ์ในวันก่อน ๆ อย่างไร กระบี่ต่อกระบี่กระทบกันหรือกระทบกับโล่ดังกัก; ทวนหักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่; ขวานศึกจามหมวกยอดเป็นสองซีก; ม้ากลิ้งและล้มตึงลงเหนือพื้นพสุธา; รถศึกสะอึกลงไปประทุนหัก, ล้อหลุด; ยุทธหัตถีรองแปร๋แปร้นโดยเพ้อคลั่ง มีงวงและหางชู. เป็นการกล่าวย้ำซ้ำเรื่องชักจะจืดโดยบ่อยเข้า การฆ่าฟันและเลือดตกยางออก ในบัดนี้เป็นเรื่องธรรมดาของการสงคราม; การหนีและการไล่; การแตกและการกลับคุมกันเข้าเป็นหมวดเป็นกอง; เสียงร้องมีชัยและร้องแสดงเศร้า, คละกับเสียงร้องว่า ‘เอาเข้า’ เสียงร้องเวลาเข้าตีและเสียงร้องปลุกใจ-เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ประจำวัน, ซึ่งนักโบราณคคีแม้เป็นผู้ถี่ถ้วนก็คงไม่อยากบันทึกลงไว้ และฉายาแห่งความมืดได้ลอบมาครอบสนามยุทธ์ท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้, แตรสั้นอันยังความดีใจให้ได้เป่าเพลงสัญญาหยุดรบขึ้นอีกครั้งหนึ่ง.
รุ่งเช้าโท๎รณได้ทำการพยายามครั้งที่สอง จะจับยุธิษฐิรให้ได้ตามคำปฏิญญา, นำกองทหารทั้งมวลเดินมุ่งเข้าที่มุ่งหมายอย่างเดียวคือยุธิษฐิร; เขาหมายลูกธนูทั้งมวลมุ่งยิงเป้าอันเดียว-คือพระราชายุธิษฐิร; เขาเพ่งเล็งแต่ยุธิษฐิร; เพราะเหตุว่าวิญญาณกระหายแต่จะจับยุธิษฐิร, เพื่อทำการกุมเอาตัวยุธิษฐิรให้ได้ง่ายเข้า, เขาล่ออรชุนไปจากข้างท้าวเธอ โดยหนุนสุศรมันให้ท้าอรชุนออกรบกันตัวต่อตัว, อรชุนรับคำท้าแต่ตาคอยดูยุธิษฐิรอยู่ เขาเห็นความคิดลี้ลับแห่งการท้า, แต่ระลึกถึงคำปฏิญญาก็ต่อตีข้าศึกมรณะ, แล้วกลับมาทำหน้าที่ของเขาเฝ้าระวังองค์ยุธิษฐิร.
ขณะที่โท๎รณทำการมุ่งเข้ากุมเอาตัวยุธิษฐิรนั้น, กองใหญ่ของกองทัพกุรุมิได้อยู่เปล่า. เจ้ากุรุหลายองค์ได้กะการที่จะแยกย้ายเข้าตีกองทัพปาณฑพหลายทาง มิได้รวมกำลังเข้าตีแห่งเดียวกัน, พยายามเช่นนั้นเพื่อจะตีเสียให้แตกแหลกเป็นอลหม่าน, และหวังใจด้วยประการดังว่านั้น จะทำให้การที่จะเข้ากุมเอาตัวยุธิษฐิรเป็นการง่ายเข้า ทุรโยธน์เข้าตีภีม, แต่เข้ารบได้สักครู่ก็ต้องอาวุธ, จำเป็นต้องถอยไปจากสนามยุทธ์ อรชุนสังเกตเห็นการรวมกำลังเข้าตีเคลื่อนที่เดินหน้าเข้าหาเขา, และเพื่อเลี่ยงกำลังอันแรงแห่งการตี. เขาก็รี่เข้าใส่ข้าศึกที่ใกล้เข้ามานั้น, และตีแนวข้าศึกแตกไปทีละแถวๆ, ข้าศึกก็กระจัดกระจายเป็นพวก ๆ คุมกันเข้าเป็นหมวดเป็นกองไม่ได้ ไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก, นี้เป็นฝีมืออย่างเอก เป็นฝีมือครู, ทำให้หน่วงการรุกของกุรุได้เนิ่นช้า. อย่างน้อยชั่ววาระนั้น, ‘กรรณ’ เห็นดังนี้, และใจของเขาซึ่งมีพยาบาทก็รุ่งโรจน์ด้วยเพลิงริษยา, ไม่สามารถระงับตัวได้, เข้าตีอรชุนโดยไม่คิดเห็นเป็นและตาย, ตั้งใจจะเอาชัยชนะหรือสละชีวิตของตนเอง. ได้ต่อสู้กันอยู่นานและดังก้อง, แต่ ‘กรรณ’ ก็ดี หรืออรชุนก็ดี มิได้มีชัย, และทั้งสองฝ่ายก็ต้องพึงพอใจในตนของตนด้วยการผลัดกันรับผลัดกันตีไม่มีผล, จนค่ำลง, แล้วก็ต้องผละจากกัน.