ตอนสิบเจ็ด อวสานแห่งสงคราม

มรณะของ ‘กรรณ’ ทิ้งเพริดกองทัพกุรไว้ไม่มีผู้นำอีก. ทหารหนีกระจายไปในที่ต่างๆด้วยความตกใจ. และการอลหม่านออกจะกลายเป็นการยุ่งใหญ่ กฤปาจารย์ผู้มีปัญญาแห่งปราชญ์ก็ไปเฝ้าทุรโยธน์ทูลว่า: “กองทัพของท่านในบัดนี้ไม่มีผู้บังคับบัญชา, เมื่อไม่มีผู้บังคับบัญชาดังนี้กองทัพที่ดีที่สุดก็เท่ากับกองโจรเท่านั้น. บัดนี้อรชุนจะไม่มีความขลุกขลักในการที่จะหวดลงเสียให้สิ้นเชิงอย่างทุ่งหญ้า, ได้มีการสละเลือดเนื้อพอ ๆ ด้วยกันแล้วทั้งสองฝ่าย; ขอให้ผู้ที่ได้หนีมรณะมาแล้วถึงเพียงนี้จงหนีเรื่อยไปเถิด, อย่าทอดทิ้งวงศ์สกุลของท่านให้สาบสูญเสียเลย. ยังมีเวลาที่จะกู้อะไรต่ออะไรได้บ้าง, ขอทำสัญญาสงบศึก, หฤทัยของยุธิษฐิรซึ่งกอปรด้วยเมตตาจักไม่ประติเสธความสงบนั้นเสียได้ไม่ว่าเวลาไร”

ทุรโยธน์ตอบ: “กฤปะเอย, ถ่อยคำของท่านน่าฟังและเป็นคำปราชญ์. ท่านเคยเป็นคนกลางพูดไกล่เกลี่ยให้สมัครสมานกันแต่ต้นมาจนบัดนี้; แต่ข้าพเจ้าเกรงว่าคำแนะนำของท่านไม่ใคร่จะเหมาะแก่โลกทุกวันนี้ ข้าพเจ้ามิได้นึกเสียเลยว่ายุธิษฐิรจะรับไมตรีของเราอีก, หรือนึกว่าภีมจะลืมคำปฏิญญาของเขา, หรือนึกว่าอรชุนจะอโหสิกรรมมรณะของอภิมันยุให้ และต่อนั้นข้าพเจ้าจะทำไม่รู้ไม่ชี้ญาติผู้ใหญ่ซึ่งข้าพเจ้าพามาล้มตายเสียนั้นอย่างไรได้? ข้าพเจ้าจะนั่งไขหูทำเป็นไม่รู้ไม่ได้ยินเสียงตะโกนก้องร้องให้ทำการแก้แค้นนั้นอย่างไรได้? ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ จะลงเข่างอนง้อขอความกรุณาเขาอย่างไรได้ ข้อนั้นจะเป็นความเสียชื่อ และอายมากกว่าการปราชัยพ่ายแพ้. ศัลยราชาแห่งมาทรจะนำทัพของข้าพเจ้าวันนี้; และเราจะไม่ลดสายธนูของเรา ตราบเท่าที่เรายังมีทหารอยู่คนหนึ่งที่จะทำสงครามต่อไป”

การล้มตายของ ‘กรรณ’ บันเทิงใจพวกปาณฑพ แต่มิได้ทำให้ไว้วางใจจนเกินควร. เขารู้อยู่ว่าผู้นำทัพกุรุคนใหม่นั้นเป็นดั่งแม่ย่านางเรือเท่านั้น แต่เขาก็รู้ถึงความผิดในการกะประมาณกำลังข้าศึกต่ำไปเหมือนกัน. เจ้าปาณฑวภราดาเข้าไปแวดล้อมรอบองค์ยุธิษฐิร, เพื่อป้องกันองค์ท้าวเธอมิให้แม่ทัพกุรุคนใหม่โจมตีได้, แต่ท้าวเธอปราศรัยเจ้าภราดาเหล่านั้นว่า:-

“ข้าแต่ภราดาทั้งหลาย,-ท่านได้กระทำภาคแห่งการสู้รบของท่านเสร็จแล้วด้วยความกล้าหาญ ทำนองเดียวกันกับที่ท่านได้กรากกรำภาคแห่งความลำบากของท่านนั้น. วันนี้ขอให้ข้าพเจ้านำการตีของปาณฑพเข้าหักกำลังทหารของศัลย, สาตยกิจะรักษาปีกขวาของข้าพเจ้า และธฤษฏทยุมน์คุมปีกซ้าย, ให้ภีมนำกองหน้า, อรชุนรั้งกองหลัง: ตัวข้าพเจ้าจะบัญชากองพลใหญ่กลาง, ด้วยการจัดดังนี้ ข้าพเจ้าหวังใจว่า จะชนะข้าศึกในการเข้าตีคราวเดียว”

ยุธิษฐิรรักษาวาจาของท้าวเธอไว้และได้ต่อสู้ด้วยกล้าหาญ, เป็นการสวัสดีสำหรับพวกปาณฑพที่ได้พระราชาของเขาเป็นผู้นำทัพในวันที่สุดแห่งการรบ. การรบนั้นเป็นการรบอย่างทรามที่สุด-ไม่เป็นไปตามระเบียบ, เป็นพักๆ ชักปั่นป่วน. ‘ลมบ้าหมูแห่งการรบ’ หมุนตระหลบรอบท่านผู้นำทัพทั้งสองฝ่าย, ศัลยกับยุธิษฐิร. ศัลยต่อสู้อย่างแม่ทัพอัปลาภหมดหวัง ! ยุธิษฐิรต่อสู้ด้วยความกล้าของจอมโยธาฝ่ายทรงไว้ซึ่งธรรมานุภาพ ลูกศรที่แผลงไปจากศรทรงของท้าวเธอนั้นพรูหนาและรวดเร็ว, ตกดั่งห่าฝนลงเหนือเศียรเกล้าของศัลยผู้ถึงพรหมลิขิต, ธงชัยเฉลิมพลกุรุอันขาดวิ่นปี้ป่นได้ถูกยิงปลิวไป-พวกกุรุอันแตกแล้วกลับคุมกันขึ้นเป็นหมวดเป็นกอง ได้ถูกตีย่อยยับลง, ศัลยพระองค์เองก็ต้องอาวุธล้มในไม่ช้าต่อจากนั้นมา, สนามยุทธ์ก็กลายเป็นโรงอันใหญ่มหึมาของนายโคฆาตก์ เจ้าปาณฑวภราดาในคราวมีชัยของเธอได้ใช้กระบี่ฟันขวาและซ้าย, หวดทางกว้างใหญ่เข้าไปในแถวทหารกุรุที่ตั้งอยู่นั้น. สหเทพสังหารนักเล่นการพนันด้วยกลโกง คือศกุนิซึ่งได้ครองชีวิตอยู่จนป่านนี้; ภีมตีทุหศาสนผู้ชั่วร้ายล้มลงด้วยกระบองอันใหญ่ของเขา; แล้วก็ตัดเศียรเกล้าออกก้มลงดื่มโลหิตตามที่เขาได้ปฏิญญาไว้ว่าจะทำ “เหอ! เหอ! ข้าพเจ้าไม่เคยดื่มอะไรหวานกว่าสิ่งนี้เลย!” ทุรโยธน์เสด็จหนีไปจากสนามยุทธ์ด้วยความตกพระหฤทัย-ไปตัวคนเดียว, และที่ยังหลงเหลือหรือเดนตายในจำพวกหมู่ใหญ่นั้นก็คือเชลยศึกตัวสั่นเทิ้มสามคน-อัศวัตถามัน บุตรชายของโท๎รณ ซึ่งเชื่อกันว่าตายเสียแล้ว, ท่านพราหมณกฤปาจารย์, และพราหมณ์ผู้ขมังธนู กิรติวรมัน.

พระเจ้าทุรโยธน์ของกรุงหัสตินาปุรในเวลานี้เป็นผู้หนีภัยหาที่พึ่งที่อาศัยมิได้. ขณะที่ท้าวเธอหนีไปจากสนามยุทธ์นั้น คิดเห็นว่าควรที่จะเอาคทากายสิทธิ์ติดตัวไปด้วย, เพราะเกรงว่าข้าศึกจะไล่ติดตามไป, หรือสกัดกั้น, หรือรบกวนตามทาง มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งไม่ไกลจากสนามที่ได้ทำการยุทธ์แล้ว และทุรโยธน์ได้ลงไปอาศัยอยูในน้ำนั้น, รอหาโอกาสที่จะหนีต่อไป. ท้าวเธอเป็นอาจารย์วิทยาการลึกลับแห่งการดำน้ำ, คือมีวิชาระเบิดน้ำได้, และกบดานอยู่ได้หลาย ๆ วันอย่างปลา; ฉะนั้นก็ดำลงในหนองน้ำนี้และนอนซ่อนอยู่ภายใต้พื้นน้ำ.

ระหว่างนั้นได้มีการรื่นเริงในค่ายปาณฑพ; ดวงกมลของยุธิษฐิรไม่มีโอกาสสำหรับเบิกบานใจ, มีแต่เศร้าพระหฤทัยเสียดายสหายและพระญาติทั้งหลายที่ต้องพิฆาตฆ่าฟัน; เพราะเหตุว่า ผู้ที่ล้มตายทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นพระญาติของท้าวเธอทั้งนั้น. ประดิพัทธ์กันโดยการผูกแห่งโลหิต, การผูกแห่งบ้าน, การผูกแห่งสิเนหา. จากมูลเหตุนี้, ขณะที่คนอื่น ๆ กำลังรื่นเริงบันเทิงใจในการมีชัย พระเจ้าแผ่นดินปาณฑพเศร้าพระหฤทัย, ไว้ทุกข์ให้แก่พวกพ้องร่วมวงศ์สกุลและเจ้านายที่ล้มหายตายจากไป, ท้าวเธอแสดงทุกข์ใจอย่างกษัตริย์ลือนามาภิไธยอีกองค์หนึ่งในโบราณสมัยว่า: “จงดูเถิดหนา! ข้าพเจ้าดูเหมือนเป็นราชาอยู่แต่ในหมู่ผู้ตาย!”

ขณะนั้นมีผู้มากราบทูลว่า ได้พบทุรโยธน์นอนซุ่มอยู่ในหนองน้ำ. ข่าวนั้นนำความบรรเทาทุกข์มาสู่พระหฤทัยอันสลดเศร้า หาใช่ว่านำมาซึ่งหวังเพื่อการจับราชศัตรูใหญ่ได้, เป็นเพราะให้โอกาสแก่ท้าวเธอเพื่อกระทำการสงบศึกกับข้าศึก, เพื่อรับราชอาณาจักรอินทรปรัสถ์ของท้าวเธอที่เสียไปคืนมาโดยดี และคืนราชอาณาจักรหัสตินาปุรที่ตีได้แก่ทุรโยธน์. พระหฤทัยของท้าวเธออันกอปรด้วยเมตตานั้นไม่ได้คิดแก้แค้นทดแทนแม้แต่เวลานี้. สิ่งที่ท้าวเธอปรารถนาก็คือ ขอคืนเอาสิ่งที่เป็นของของท้าวเธอโดยสิทธิแห่งโลหิต; ท้าวเธอมิได้ไยดีที่จะแตะต้องส่วนน้อยของสิ่งที่มาเป็นของของท้าวเธอโดยสิทธิแห่งการตีได้, และขัตติยกมลของท้าวเธอก็คงจะได้เป็นสุข เห็นทุรโยธน์ครอบครองราชอาณาจักรอินทรปรัสถ์เก่าของท้าวเธออีกครั้งหนึ่ง, มีปาณฑพราชาเป็นภราดาและราชสัมพันธมิตรของท้าวเธอ. เพราะฉะนั้นแต่พอท้าวเธอทรงทราบที่สำนักของทุรโยธน์แล้วก็รีบเสด็จไปที่ขอบหนองน้ำนั้น, ตะโกนท้องร้องเรียกพระนามทุรโยธน์เต็มพระสุรเสียงที่ทรงสามารถเปล่งได้. ทุรโยธน์ในขั้นต้นมิได้ตอบ; ครั้นเมื่อยุธิษฐิรกล่าวท้าทายให้ขึ้นมารบกันตัวต่อตัว, ท้าวเธอจึงตรัส: “จงเอาราชอาณาจักรของข้าพเจ้าเถิด, และจงอยู่ครองราชัยให้เปนสุขเถิด, ปล่อยข้าพเจ้าอยู่ตามลำพังของข้าพเจ้า: ข้าพเจ้าจะไปอยู่ป่าและครองวัยที่เหลืออยู่ในอายุกาลของข้าพเจ้าในการภาวนาและกระทำการบำเพ็ญตบะ”

ยุธิษฐิรตอบ: “ข้าพเจ้าจะไม่เอาสิ่งซึ่งข้าพเจ้ามิได้มีชัยได้มาในสนามรบ: ข้าพเจ้ารับของให้ปันนั้นไม่ได้”

ทุรโยธน์ตอบ: ถ้าเธอสัญญาจะรบตัวต่อตัวไซร้, ข้าพเจ้าเต็มใจจะขึ้นไปและต่อสู้ท่านตัวต่อตัว”

ยุธิษฐิรรับคำมั่นสัญญานี้, แต่ทุรโยธน์ก็ยังรีรออยู่ และภีมผู้บันดาลโทสะฉุนขึ้นมาเรื่องชักช้านั้น ก็คำรณออกไปว่า: “ถ้าเธอไม่ขึ้นมาจากน้ำละก็ เธอผู้กุมภีล์ปลอม, ข้าพเจ้าจะกระโดดลงไปคร่าเอาตัวเธอขึ้นมา”

ทุรโยธน์ก็รีบโผล่ขึ้นมาบนฝั่ง, และภีมก็หัวเราะเสียงดังเมื่อแลเห็นพักตร์ของท้าวเธอเปรอะเปื้อนโคลนและเครื่องทรงเปียกโซก

“ฮาย, ข้าพเจ้าจะแปลงการหัวเราะของท่านให้เป็นการร้องไห้!”

คำปฏิญญาไว้ตลอดอายุกาลของของภีมคือจะตีทุรโยธน์ให้ล้ม ฉะนั้นภีมเป็นคนแรกที่ขอต่อสู้ท้าวเธอ, ทั้งสองฝ่ายชำนาญในการใช้กระบอง, และทั้งสองฝ่ายเป็นข้าศึกซึ่งกันและกันโดยได้ปฏิญญาไว้. นักรบทั้งสองต่อสู้กันอย่างกระบือป่า, หน้าของเขาทั้งสองมีโลหิตเปื้อนเป็นหย่อม ๆ, ตาวาวเป็นประกายไฟ, ปากฟูมฟองด้วยน้ำลาย, ครู่หนึ่งทุรโยธน์เกือบหักภีมลงได้, ท้าวเธอตีเผงเข้าที่เศียรเกล้าซวนเซจนก้นแทบกระแทกดิน, แต่ในไม่ช้าเขาทรงตัวได้ก็ฟาดข้าศึกของเขาเข้าให้ผับหนึ่ง. สะบ้าหัวเข่าละเอียดไป, ทุรโยธน์ก็ล้มผางลงกลางดิน มีพระพักตร์จุบซึ่งธุลี.

ปฏิญญาของภีมก็เป็นอันสำเร็จลุล่วงไป, เขาได้ฟ้อนรำรอบองค์ทุรโยธน์ด้วยความปลื้มใจ, พลางปราศรัยว่า: “ในบัดนี้แหละได้ชื่อว่า ได้ทำการแก้แค้นทดแทนเท๎ราปทีในที่สุด !”

ยุธิษฐิรกริ้วภีมที่ดูหมิ่นข้าศึกผู้ล้มแล้ว รับส่งให้เอาตัวภีมไปเสียจากที่นั้น: เพื่อจะได้ไม่รบกวนจิตอันช้ำของทุรโยธน์ต่อไป. และเมื่อภีมไปแล้ว, ยุธิษฐิรลงเข่าอยู่ข้างๆ ทุรโยธน์, และตรัสว่า: “ท่านยังเป็นกษัตริย์และเจ้านายของข้าพเจ้า !”

แต่พระเนตรของทุรโยธน์หลับเสียแล้ว; ความรู้สึกของท้าวเธอนั้นออกจากร่างไปเสียแล้ว; ท้าวเธอมิได้รู้เห็นการลงเข่าแสดงเคารพของปาณฑวราชเสียแล้ว, หรือกล่าวคำตอบหรือคำขอบใจ, และเมื่อค่ำลง, พวกแม่ทัพนายกองของกองทัพกุรุที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้พากันมาเยี่ยมเจ้าผู้ใกล้จะตาย แม่ทัพนายกองเหล่านั้นได้ทำการเคารพครั้งที่สุดต่อเจ้านายของเขาซึ่งใกล้จะจากไป. ก่อนที่พระเนตรได้หลับในนิทราแห่งมรณะ.

ศพของนักรบซึ่งต้องอาวุธตายนอนเรียงรายเกลื่อนสนามยุทธ์นั้น, ได้เก็บรวบรวม ณ ที่แห่งหนึ่งและยกขึ้นตั้งเหนือเชิงตะกอนทุกศพ, ได้ประชุมเพลิงปลงตามพิธีทุกๆ ศพ. ศพแรกที่ถวายเพลิงนั้นคือพระบรมศพของทุรโยธน์. เจ้าปาณฑพทั้งหลายได้ไว้ทุกข์ตามพวกเการพ, เพราะเหตุว่าถึงแม้ได้ขาดญาติกันมานานโดยการพิพาทฆ่าฟันกันอย่างดุร้าย, แต่ทั้งสองฝ่ายได้เกิดจากเผ่าพันธุ์ร่วมกัน. และประดิพัทธ์กันโดยการผูกแห่งขัตติยสภาพอันบังคับให้ดำเนินการไว้ทุกข์ทั่วถึงกันในหมู่ฮินดู.

ฐานะของกษัตริย์บอดเฒ่าธฤตราษฎร์ในบัดนี้น่าสงสารที่สุด. ราชบุตรของท้าวเธอต้องอาวุธตายหมด; ไพร่พลของท้าวเธอตายสิ้น, ดวงกมลของท้าวเธอเศร้าสลดนักหนา. ทั้งที่เสียตาอยู่ดังนั้น ท้าวเธอฝืนพระหฤทัยเสด็จออกไปเยี่ยมสนามรบ เพื่อเสด็จไปที่งานศพขนานใหญ่. พระนางฆรณีอันสูงศักดิ์และเจ้าหญิงในพระราชสำนักนั้นด้วยได้เสด็จมาที่งานศพนั้น, และด้วยเสียงโศกาจาบัลย์ของกุลสตรีเหล่านั้น ได้เพิ่มพูนทุกข์ของกษัตริย์บอดนั้น, ความบอดของท้าวเธอทำให้ท้าวเธอไม่มีความส่างโศก ซึ่งการเห็นหน้าผู้ตายที่รักที่ใคร่จักพึงนำมาสู่ใจอันระทมทุกข์นั้นได้บ้างเล็กน้อย. กุลสตรีฆรณีนางในซึ่งไม่เคยย่างเท้าก้าวออกจากกำแพงพระราชวัง เดินพักตร์เปล่าไม่มีผ้าคลุม, ได้เดินเท้าเปล่าตามถนนหนทาง, ขณะที่เขาย่างเท้าก้าวช้าๆ ไปสู่สนามของการเศร้าโศกนั้น เนตรอันอ่อนเหมือนปทุมชาติในบัดนี้แดงดั่งชาดและชอกช้ำด้วยกันแสงไห้, อภิรูปนารีดังนางเทพธิดาตาดำเป็นมันขลับนั้น ในบัดนี้ทอดกายลงกลั้วอยู่ในธุลีขะมุกขะมอมสิ้นสวย; ผมซึ่งลมชวยพัดมาต้องเต้นไหว ๆ อยู่นั้น ในบัดน์สยายยุ่งรุงรัง จักมิได้เกล้าอีกต่อไป; นลาตอันเปล่งปลั่งด้วยเจิมชาดศักดิ์สิทธิ์ในบัดนี้ซีดดั่งเถ้า; มือและเท้าซึ่งประดับด้วยเพชรพลอยอันหายากที่สุดนั้น ในบัดนี้ไม่มีเครื่องประดับราวกับแผ่นผา เจ้าหญิงโสภาหาที่ไหนเปรียบไม่ได้นับด้วยจำนวนร้อยได้เป็นหม้ายไร้พระภัสดาโดยการสงคราม: อีกหลายร้อยองค์ได้เสียบุตรหรือภราดาหรือบิดาไป; และอีกมากมายเหลือที่จะคณนาได้เสียหนึ่งในสี่จำพวกนี้ไป. เหลือความสามารถที่จะกล่าวว่าการเสียหายของใครหนักที่สุด, ทุกข์ของใครหนักที่สุด, ทุก ๆ อนงค์ได้แสดงการโศกเศร้าราวกับว่านางได้เสียโลกิยทรัพย์สิ้นเนื้อประดาตัว นางข้อนทรวง, ทิ้งพระศกของนาง, ทอดองค์ลงกลิ้งเกลือกอยู่เหนือแผ่นดินในความโศกเศร้า, และกษัตริย์บอดเฒ่านั้นประทับยืนอยู่ท่ามกลางนางพญาเหล่านั้น, แลไม่เห็นอะไร ไมไหวติงพระภายในพระทุกข์อันท้าวเธอมิได้ตรัสออกมา, การโอดครวญของพระนางคันธารีเปนที่เศร้าใจมากที่สุด พระนางเข้าสวมกอดพระราชบุตรของนางทีละองค์ ๆ เชยชมด้วยรักใคร่ปรานี, และตรัสสัณหวาจตรอกกรรณอันดับแล้ว. ชั่วเวลาครู่หนึ่งพระนางได้ประพฤติพระอิริยาบถราวกะว่าพระราชบุตรทุกๆ องค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ ราวกะว่าพระนางมาต้อนรับราชบุตรกลับคืนเข้าสู่นิเวศนสถานจากสนามรบ; พระกมลของพระนางผู้มารดาชั่วขณะหนึ่งไม่ยอมตรัสออกมาเป็นถ้อยคำแสดงทุกข์ของมารดา. ในที่สุดพระนางก็โอดครวญเป็นเพลงดังต่อไปนี้:

“นี้ทุรโยธน์โอรสของฉันหรือ? นี้เขาหรือ? ซึ่งแรกออกจากนิเวศนสถานใจคอเบิกบานลำพอง ผันผยองด้วยความดีใจดั่งม้าศึกคึกคะนองของเขา? เมื่อจะออกไปชิงชัย เขาได้ขอพรของฉันว่า: “พระแม่เจ้าจงอวยสวัสดิ์และชัยมงคลให้ลูกด้วย” ฉันตอบว่า “ลูกจ๋า, ขอเทพดาจงป้องกันรักษาตัวเจ้าให้แคล้วคลาดภัยพาล. ลูกของแม่อย่าตกใจ ธัมมะมีอยู่ที่ไหน ชัยชนะมีอยู่ที่นั้น” อนิจจา, ใครรู้เล่าว่านั้นจักเป็นถ้อยคำของฉันที่พูดแก่เขาเป็นครั้งที่สุด? แต่ตัวเขานั้นฉันสงสารไม่มากเท่าที่ฉันสงสารพระราชสามีของฉัน, เออ, ท้าวเธอจะทรงพระวรกายไว้ได้อย่างไรในทุกข์หนักนี้ ในคราวชราอ่อนกำลังของท้าวเธอ ! เออ! บุตรของฉันกล้าและมีสง่า, หาผู้ต่อสู้มิได้ในสงคราม, เป็นที่เข็ดขามแก่ราชศัตรูของเขา, เป็นกษัตริย์สูงศักดิ์ยิ่งในอายกาลของเขา, เป็นบุรษอาชาไนยของยุค, อนิจจา! ในบัดนี้เขาเข้าที่นิทราของนักรบ; เขาได้เข้าสู่เมืองสวรรค์ของนักรบ. ขณะที่ร่างกายของเขานอนอยู่เหนือพื้นปถพีดันมีโลหิตเกรอะกรังนั้น, วิญญาณของเขานิทราอยู่ในทรวงของพระผู้สร้าง. เออ, ฉันจะทุกข์ ทุกข์ของฉันเองหรือ, หรือสงสารวิญญาณอื่นซึ่งมีเพื่อนรักจากไป-วิธวาของทุรโยธน์ที่รักของฉัน ซึ่งเสียพระภัสดาและโอรส. ดูซี! นางเดินจากวีรบุรุษผู้ต้องประหารคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งอย่างไร, สวมกอดพระราชสามีของนาง, แล้วก็กอดลักษมันผู้โอรส, ดังหนึ่งไม่แน่แก่ใจลงไปว่าคนไหนสูงศักดิ์กว่า; ไหนเป็นที่รักที่สิเนหามากกว่ากันในจำนวนสองคนนั้น. ทุรโยธน์ของฉันได้ครองกุรุอาณาจักรสิบสามปี, และกษัตริย์ที่มีสง่ายิ่งได้ริษยาความงามแห่งราชสำนักของเขา, และความสุขความสมบูรณ์แห่งราชอาณาจักรของเขา, อนิจจา! กุรุอาณาจักรเวลานี้ไม่มีผู้ครองราชย์ และทุรโยธน์ของฉันกำลังไปมีมณเฑียรสถานอยู่ในโลกอื่น. และโลกอื่นนั้นคือสวรรค์ชั้นสูงแน่นอนเทียว, ถ้าพระคัมภีร์เวทกล่าวความจริง, ถ้าเทพดาไม่กล่าวมุสาวาท !”

พิธีฌาปนกิจกินเวลานานนักหนา. ไม่แต่จำนวนผู้ตายนั้นมากนักมากหนาถ่ายเดียว, เหตุเพราะโศกปริเทวนาการของท่านกุลสตรีที่ไว้ทุกข์นั้นเป็นอยู่นานและไม่รู้แล้ว. มันยากที่จะพรากเอาร่างกายผู้ตายไปจากการจูบการกอดของเขาแล้วประชุมเพลิงเผาเสีย. ในที่สุดศพทุกๆรายได้ถูกพรากไปจากทรวงอันตื้นตันด้วยสมเพชเวทนาเหลืออาลัย, และชุมไฟเผาเสียตามสมควร, ครั้นเสร็จฌาปนกิจแล้ว, บรรดาผู้ไว้ทุกข์ทั้งมวลก็เดินไปที่ฝั่งน้ำคงคาเพื่อชำระกายในน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ และเพื่ออุทิศมตกภัตไปให้วิญญาณของผู้ตาย, และเมื่อกำลังทำบุญอยู่นั้น พระนางปฤถาเดินเข้าไปหาโอรสทั้งห้า (เจ้าปาณฑวภราดา) ซึ่งกำลังกันแสงไห้อยู่นั้น และไขความลับเรื่องสมภพชาติของ ‘กรรณ’ ว่าเขาซึ่งตราบเท่าเวลานี้ปรากฏว่าเป็นข้าศึกอย่างภัยแรงของอรชุนนั้น, กลายเป็นภราดรของเขาเอง ‘กรรณ’ เองได้มาทราบเรื่องนี้จากโอษฐ์ของภีษ๎มซึ่งใกล้จะตาย, แต่ไม่มีผู้ใดได้ทราบความลับจนกระทั่งมารดาผู้สลดเศร้าได้ไขความแก่เจ้าปาณฑพ และขอให้เธอทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เขาซึ่งเป็นพี่ใหญ่.

ต่อนั้นได้มีประกาศการราชาภิเษกยุธิษฐิรเป็นมหาราชแห่งอาณาจักรหัสตินาปุรอันกลับรวมกันติดเหมือนแต่ก่อน แต่ไม่มีภูมิ, ยศ, หรือทรัพย์ แต่อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นรางวัลทดแทนความลำบากยากแค้นที่ยุธิษฐิรได้กรากกรำในเมื่อต้องเนรเทศ หรือทดแทนความเสียหายที่ท้าวเธอได้รับในสงคราม ดวงกมลของท้าวเธอระทมทุกข์ ความภาคภูมิและอร่ามแห่งการแสดงความจงรักภักดีมีแต่เพิ่มทุกข์เก่าของท้าวเธอขึ้นถ่ายเดียว. ทุกทิวาราตรี พระหฤทัยนึกคำนึงถึงการฆ่าฟันญาติพี่น้องอันเป็นบาปกรรม, การฆ่าฟันกันอย่างดุร้ายในกุรุเกษตรยุทธ์ ในที่สุดนักสิทฐิ์วยาสเข้ามาเฝ้าและทูลแนะนำท้าวเธอให้ทำ ‘อัศวเมธยัชน’ หรือการฆ่าม้าบูชายัญ, ซึ่งเขาว่าจะลบล้างบาปของท้าวเธอได้.

จึงได้มีการค้นหาม้าขาวนวลดั่งแสงจันทร์, มีหูข้างหนึ่งดำ; ครั้นได้ม้าดั่งว่านี้มาแล้ว, ก็เอาแผ่นทองคำมีพระนามาภิไธยยุธิษฐิรจารึกในนั้นผูกรอบหน้าผากม้า, แล้วก็ปล่อยม้านั้นและอนุญาตให้เที่ยวไปตามใจของมัน, มีกองทัพขันในบังคับบัญชาอรชุนติดตามไป, การฆ่าม้าบูชายัญนั้นเป็นประกาศแห่งอิสรภาพความเป็นเจ้าใหญ่เหนือรัฐสิมาทั้งหลายที่แวดล้อมใกล้เคียง, ประเพณีเป็นดังนี้:- ถ้ากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งในประเทศใกล้เคียงบังอาจจับสัตว์นั้น ก็เป็นอันเข้าใจกันว่า เป็นอาณัติสัญญาสำหรับการสงคราม และกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องนั้นจักต้องกรีฑาทัพออกตั้งรบกับกองทัพที่ตามม้านั้นไป ถ้ากษัตริย์องค์นั้นพ่ายแพ้, กษัตริย์องค์นั้นต้องมอบทหารเพิ่มเติมเสริมกำลังกองทัพนั้น ถ้าไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดบังอาจกักม้านั้นไว้, ก็เป็นเครื่องหมายรู้ว่ากษัตริย์ใกล้เคียงทุกๆ พระองค์เต็มใจรับความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของบรมกษัตริย์ผู้เป็นเจ้าของสัตว์ตัวนั้น ครั้นม้านั้นกลับจากการเที่ยวของมัน เขาก็ฆ่ามันบูชายัญเสียด้วยพิธีอันศักดิ์สิทธิ์.

ครั้งนั้นเป็นราตรีกาลของวันเพ็ญเดือนจยัตร (มีนาคมกับเมษายนคาบกัน) ที่ยุธิษฐิร ปล่อยมาขาวเป็นเครื่องแสดงพระราชประสงค์ของท้าวเธอจะทำพิธีอัศวเมธ. อรชุนผู้ติดตามม้าในการเที่ยวไปของมันนั้น, ได้ประสบกับจริตคือการเผชิญภัยหลายครั้ง ครั้งแรกเธอต่อสู้กับราชาแห่งมาลวซึ่งกักสัตว์นั้นไว้, เมื่อเธอต่อสู้กับอรชุน, อรชุนชนะ พระราชาองค์นั้นก็ติดตามอรชุนไปเป็นสัมพันธมิตร การต่อสู้ครั้งอื่น ๆ ได้เป็นไปตามลำดับ, แล้วม้านั้นได้เข้าไปในราชอาณาจักรมณีปุร, พระราชาประเทศนั้นไม่ยอมรับความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของยุธิษฐิร, และอรชุนต้องประจญการต่อต้านของท้าวเธอ และทำให้ท้าวเธอกลับใจเป็นราชสัมพันธมิตร ด้วยประการฉะนี้ จากราชอาณาจักรถึงราชอาณาจักร ม้านั้นได้ท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจชั่วขวบปีเต็มๆ, ระหว่างนั้นยุธิษฐิรบำเพ็ญตบะด้วยความเคร่งครัดเต็มที่เหมือนอย่างพระฤษีในป่า, ท้าวเธอเสวยหนเดียว เว้นจากของสดคาว, และไสยาสน์เหนือแผ่นดิน

ในที่สุดตอนปลายปีอรชุนได้คืนมาสู่สถานพร้อมกันกับพาชี, และได้มีการรื่นเริงทั่วเมือง กองทัพอันมีชัยได้รับการปฏิสันถารโห่ร้องทำนองต้อนรับขับสู้และบำเหน็จรางวัลก่ายกอง. วันเพ็ญเดือนมาฆ (กุมภาพันธ์กับมีนาคมคาบกัน) เป็นวันกำหนดทำพิธีอัศวเมธ, ซึ่งได้ทำ ณ ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งอันตระเตรียมไว้แต่ก่อนสำหรับการนี้ ได้เชิญกษัตริย์และเจ้านายประเทศใกล้เคียงมาประชุมพิธีกิจนี้ ปลูกพลับพลารุ่งโรจน์ด้วยแสงทองและเพชรพลอย, สำหรับรับขัตติยราชเจ้าทั้งหลายผู้เป็นแขกมาสู่สำนัก; ปะรำต่ำเตี้ยสำหรับรับผู้ที่ตำศักดิ์ ชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลายนั้นอยู่ปะรำหลังหนึ่งต่างหาก.

ปลูกสุวรรณมณฑปขึ้นหลังใหญ่ในที่แจ้งภายในพระมหาราชวัง, จัดที่นั่งไว้รอบมณฑปนั้น, สมณะผู้ใหญ่ได้ที่นั่งริมราชบังลังก์, ผู้ต่ำฐานานุกรมลงมาได้ที่นั่งไกลออกไปเป็นขั้น ๆ ยืดไปไกล, บนไพทีสูงปูลาดด้วยสุวรรณภูษา, ตั้งบัลลังก์ทองสองที่สูงใหญ่ ที่หนึ่งสำหรับมหาราช ธฤตราษฎร์, อีกที่หนึ่งสำหรับราชายุธิษฐิร กุลสตรีทั้งหลายนั้นนั่งเรียงรายตามที่ที่กำหนดไว้ทั้งสองข้างราชบัลลังก์.

เมื่อแขกและผู้ดูทั้งหลายเข้านั่งที่, พิธีของวันนั้นก็ตั้งต้น, ยุธิษฐิรกับเท๎ราปทีมีชายผ้าทรงผูกติดกันเป็นขมวดตามแบบที่ใช้ในการอภิเษก, เสด็จลงสรงสนานน้ำพระคงคา เมื่อกำหนดเนื้อที่เป็นนาขวัญได้แปลงหนึ่ง, ยุธิษฐิรไถที่แปลงนั้นด้วยไถทองเทียมโคคู่สีขาว, ฝ่ายเท๎ราปทีเสด็จยุรยาตรตามไถ หว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารทุกชนิดที่ปลูกเพาะกันในราชอาณาจักรนั้น, ฝ่ายชีพ่อพราหมณ์ก็สังวัธยายโศ๎ลกชัยมนตร์จากคัมภีร์เวท, พวกหญิงผู้มาดูงานก็ขับขานเพลงร่าเริงและบทอวยชัยให้พร.

ท่ามกลางที่สี่เหลี่ยมจตุรัสนั้น ได้สร้างไพทีขึ้นไว้สูงพ้นดินหนึ่งศอก, บนแท่นนี้มีรูปแสดงตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของดาวเดือนตะวันในท้องฟ้า ท่ามกลางแท่นนี้มีที่สี่เหลี่ยมย่อม ๆ วางขึ้นไม้จันทน์ไว้กองหนึ่ง มีกลดไหมกางกั้นอยู่เบื้องบน จุดกองไม้จันทน์นี้ในขณะนั้น, แล้วเอาเปรียงและข้าวสาลีกับสิ่งอื่นๆ ที่ศักดิ์สิทธิ์เผาลงในนั้น; และเพลิงก็ลุกรุ่งโรจน์, ควันก็ฟุ้ง กลิ่นหอมนั้นตระหลบกลบทั่วมณฑลที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น.

จึงกษัตริย์และเจ้านายที่มาประชุมพร้อมอยู่หกสิบสี่องค์ด้วยกัน เดินเป็นขบวนไปตักน้ำจากพระคงคามาพรมเศียรเกล้ายุธิษฐิรตามจังหวะดุริยศัพทบรรเลงและเสียงสวดมนตร์.

จึงถึงการถวายไทยธรรมทักษิณาแก่พราหมณ์และแจกของแถมพกแก่เจ้าผู้ครองราชย์อันขึ้นอยู่ในท้าวเธอ, หลายองค์ได้รับพู่ขนนกประดับเพชรพลอยและเครื่องประดับอย่างอื่น ๆ, ฝ่ายผู้อื่นนอกนั้นได้รับพระราชทานช้างม้าหรือเสื้อผ้าเครื่องยศ ต่อนั้นได้เอาม้าที่จะบูชายัญนั้นอาบน้ำมนตร์.

จึงเอาม้าที่จะบูชายัญนั้นลงอาบน้ำศักดิสิทธิ์, และภีมถือดาบใหญ่ปลายงอนผึ่งผาย, ฟันศีรษะม้านั้นฉับเดียวขาด นัยว่าศีรษะสัตว์นั้นอันตรธานสูญไปอย่างน่าอัศจรรย์ แล้วชำแหละร่างม้าเอาเนื้อบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์บูชาเพลิงพิธีนั้น.

ยังมีพิธีอื่น ๆ ต่อไปซึ่งจะไม่กล่าวโดยละเอียดลลอ ขอสังเขปความแต่เพียงว่าได้ประติบัติรายละเอียดของพิธีทุก ๆ อย่างที่มีปรากฏในพระคัมภีร์, ได้ทำทุกสิ่งซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทวีความงามหรือเพิ่มความสำคัญให้แก่การพิธีนั้น, ซึ่งกินเวลาสมโภชกันจริงจังกว่าหนึ่งสัปดาหะ ที่สุด (แต่มิใช่น้อยที่สุด) นั้นก็คือการเลี้ยงดูพวกพราหมณ์ กิจอันนี้ถ้าเว้นเสียก็เสียพิธีการ ภีมเป็นพนักงานดูแลพิธีส่วนนี้ ซึ่งเป็นการใหญ่ เกี่ยวกับการหุงต้มเลี้ยงดูแขกนับด้วยพันๆ ที่นั่งกินอาหารเวลาหนึ่ง ๆ เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้ว, พราหมณ์ทุก ๆ คนก็ได้รับเงินทักษิณาแจกเรียงตัว, ครั้นเสร็จภัตตกิจและรับปัจจัยแล้ว, เสียงขับร้องซ้องศัพท์ให้พรจากปากของคนตั้งหมื่นคนนั้น พร้อมทั้งเสียงอนุโมทนาของคณะพราหมณ์ เลยประสมกันเป็นเพลงกึกก้องเหมือนเสียงคลื่นในท้องทะเลหลวง.

ราชอาณาจักรหัสตินาปุรได้กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นในรัฐประศาสโนบายโกศลของยุธิษฐิร; ความสุข เมตตา, ความสัตย์ และยุติธรรม ได้มีมาอีกในรัชกาลของท้าวเธอ; ราชมณเฑียรสถานที่กรุงอินทรปรัสถ์ซึ่งได้ชำรุดทรุดโทรมไปในเวลาที่ท้าวเธอต้องเนรเทศนั้น, ได้ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างขึ้นใหม่, และทรงบำรุงขึ้นเป็นส่วนเพิ่มเติมพระราชมณเฑียรสถาน; ก่อสร้างซ่อมเสริมสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเสียหายหรือปรักหักพังไปโดยความไม่นำพา, ความโลเลเหลวไหล, หรือการปกครองของอธัมมิกราช.

แต่ท้าวธฤตราษฎร์เฒ่าบอดมิได้วายโศกถึงมรณะของทุรโยธน์ผู้โอรสหัวปีของท้าวเธอ, ซึ่งถึงมีความผิดติดตัวก็ดี, ยังเป็นโอรสหัวรักหัวใคร่ของท้าวเธอ ยุธิษฐิรประติบัติมหาราชเฒ่าด้วยดีตามหน้าที่ของบุตร, และด้วยความหมั่นขยันดั่งทาสา, และมิได้ทำการงานสิ่งใดโดยมิได้รับพระราชานุญาตของท้าวเธอ, เพื่อให้บรมกษัตริย์ผู้มีบุตรไปปราศได้รับความสุขใจสุขกายด้วยเหตุนี้ แต่ไม่มีอะไรที่จะทำให้ท่านผู้เฒ่าร่าเริงได้ในทุกข์อันใหญ่หลวงของท้าวเธอ; ไม่มีอะไรที่จะมารางวัลตอบแทนความเสียหายอันใหญ่หลวงซึ่งมาได้รับในปัจฉิมวัยได้; ไม่มีอะไรสามารถยกความหนักแห่งทุกข์อันทับหฤทัยอยู่ ท้าวเธอเบื่อหน่ายโลก; เครื่องราชกกุธภัณฑ์ปรากฏเหมือนหนึ่งเงาอันหาแก่นสารบ่มิได้, พระหฤทัยอยากได้สุขซึ่งเกินความรู้ของมนุษย์ เพราะฉะนั้นในที่สุดท้าวเธอก็ไปจากหมู่มนุษย์ เสด็จไปอยู่ป่า, และพระนางคันธารีกับวิทุรผู้ปราชญ์ก็ตามเสด็จไปด้วย ยุธิษฐิรและข้าราชการหมู่ใหญ่ได้ตามส่งบริษัทนั้นไปถึงชายป่า, เขาเหล่านั้นกลับ และอำลาด้วยถ้อยคำกล่าวต่อไปนี้:-

“บุตรที่รักของข้า--เจ้าทุกคนรู้อยู่ว่าข้าเปลื้องปลดตัวออกจากทุกข์แห่งกษัตริย์หลายปีมาแล้ว โดยเว้นราชัยให้แก่บุตรของข้าพเจ้าที่ล่วงไปคือทุรโยธน์: และในบัดนี้เขาก็ตายพ้นทุกข์สำเร็จทุกข์ไปแล้ว, ข้ามีความยินดีในการเว้นราชอาณาจักรให้อยู่ในอารักขานัดดาของข้าคือยุธิษฐิร, ซึ่งเคยได้เป็นเหมือนบุตรของข้าคนหนึ่ง ตัวข้าชราและใกล้ฝั่ง, ทรุดโทรมลงโดยกาลและลำบากกาย, ง่อนแง่นใกล้จะตายอยู่แล้ว, อีกประการหนึ่ง, พระเจ้าหากบันดาลให้ข้าเสียตา, เพราะฉะนั้นเหมือนแต่ก่อนแต่ไรมา, ข้าก็มีแต่ตาภายในเท่านั้นอันเป็นมหาบุณยลาภเพื่อความสันโดษ เพราะฉะนั้นข้าเห็นควรแล้วที่จะครองอายุของข้าที่ยังเหลืออยู่เล็กน้อยในความสันโดษนั้น ถ้าระหว่างกาลที่ล่วงมานานที่ข้าได้คัดท้ายบ้านเมือง ข้าได้ทำการสิ่งไรเป็นประโยชน์แก่เจ้านั้น, ข้ารู้สึกตัวว่ามีส่วนได้ชื่อเสียงเล็กน้อย และพลอยเสียชื่อเสียงด้วยเพราะการปกครองเหลวไหล ลูกเอย, ข้าเกรงว่าความผิดนั้นมีมาก-โดยที่ข้าไม่อยากจะทวีเครื่องกระทบใจของเจ้าและของข้า โดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้, สบโชคดีครัน, เหตุการณ์เหล่านั้นมันเป็นอดีตภาคล่วงไปแล้ว ดูกร สุภาพบรุษทั้งหลาย, กิจการงานเมืองของกุรุอาณาจักรเวลานี้ฝากไว้ในอารักขาของท่าน, และเวลาเป็นหน้าที่ของท่านหละ, จะทำหรือทำลายมันเสีย แต่จงจำใส่ใจไว้หนาว่า มรดกมากมายที่ได้ยกให้แก่ท่านนั้นมิใช่อาณาจักรสวยงามนี้ หรือสิ่งอันมีค่าเป็นสิ่งเพิ่มพูนรัฐสิมานี้, คือปรัมปรคดีอันตระการของบ้านเมืองอันสูงศักดิ์นี้แหละเป็นหน้าที่เบื้องต้นที่ท่านต้องรักษาไว้ด้วยความหวงแหน และต้องป้องกันไว้ด้วยความระวังระไว คำของข้าพเจ้ากล่าวเตือนใจท่านในที่สุดคือ ตราบใดท่านทรงไว้ซึ่งธรรมและมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน. ตราบนั้นข้าศึกโดยจักมีกำลังเพียงไรก็ดี; ไม่สามารถที่จะทำอันตรายแม้แก่เกศของท่านเส้นหนึ่งได้.”

ยุธิษฐิรกราบยุคลบาทของมหาราชเจ้าโดยเคารพ, และรับพรของท้าวเธอ, เสด็จกลับไปกรงหัสตินาปุร. ต่อนั้นท้าวเธอได้ครองราชย์เป็นสุขและลือชา, สำแดงพระองค์เด่นให้โลกเห็นปรากฏว่า เป็นผู้ครองราชย์โดยยุติธรรมและกอปรด้วยเมตตา, ชาวประชาพลเมืองพากันรักใคร่, ราชศัตรูหมู่ร้ายเกรงพระเดช, เจ้าประเทศใกล้เคียงพากันนับถือ, ถึงแม้พระอิริยาบถภายนอกเป็นไปตามยศและหน้าที่ของกษัตริย์ก็ดี, แต่ภายในแต่พระหฤทัยของยุธิษฐิรอยากจะได้แต่สันโดษของป่า. พระหฤทัยคิดแล้วคิดเล่าถึงเวลาสิบสามปีที่ท้าวเธอได้ชักให้ล่วงไปในฐานะเป็นผู้ต้องเนรเทศไม่มีที่อาศัย; อากาศบริสุทธิ์แห่งป่า การครองชีวิตอย่างง่ายๆ และสนุกสบายอย่างชาวอาร์คาเดีย ความสุขและความสงัดอันไม่มีใครไปรบกวน ซึ่งได้ทรงเสพระหว่างเวลาสิบสามปีนั้น ซึ่งเปรียบกันกับปัจจุบันนี้อยู่เนืองนิตย์แล้ว, ท้าวเธอมาคิดเห็นว่า เป็นเวลาสุขสนุกสบายที่สุดในพระชนมายุกาล, มิใช่ว่าท้าวเธอจะลืมทุกข์โศกถึงพระญาติที่ต้องพิฆาตล้มตายในการสงครามประทุษร้ายระหว่างพี่น้องนั้นก็หามิได้ ท้าวเธอมิได้วายโศกแต่สักวันหนึ่งถึงวิญญาณของท่านที่เป็นที่รักที่ใคร่, ซึ่งถ้าหากมิได้เกิดสงครามนั้นขึ้นมา คงจะได้ทำให้อาคารสถานและอาณาจักรครึกครื้นรื่นเริง, ทุกข์ใหม่เล่าก็มิได้วายมีมากระทบพระหฤทัย โดยเพียงแต่สองปีภายหลังแต่กาลจากไปแห่งธฤตราษฎร์, นารทผู้ปราชญ์นำข่าวสาสน์มากราบทูลว่า ไฟใหญ่ได้ไหม้ป่า พระราชาเฒ่าบอดกับพระนางคันธารีและทุกคนที่อยู่กับท้าวถูกไฟไหม้หมด.

ต่อข่าวร้ายนี้ได้มีข่าวที่ร้ายกว่าติดตามมาในไม่ช้าที ผู้ถือสาสน์มาจากกรุงทวารกะแจ้งคดีว่า กฤษณรับสั่งให้หาตัวอรชุนไปโดยเร็ว อรชุนก็รีบเสด็จไปกรุงทวาระกะโดยเร็วที่สุดที่จะไปได้, แต่ก่อนเธอได้ไปถึง, กฤษณได้สละชีวิตเสียแล้ว และหน้าที่อันสลดเศร้าของอรชุนก็ต้องอยู่เฝ้าดูการพระศพพระสหายอย่างสนิทของเธอ พาลรามผู้ภราดรของกฤษณได้ตายไล่ๆ กันกับกฤษณ, และท้าววาสุเทพพระราชบิดาของกฤษณก็ตายต่อๆ กันไป, ไม่นานภายหลังแต่กาลอรชุนได้กลับจากกรุงทวารกะแล้ว, น้ำทะเลเกิดใหญ่และได้ท่วมกรุงนั้น, เมืองท่าอันลือนามมีน้ำล้อมของวงศ์ยาทพก็ล่มจมหายไป!

เมื่ออรชุนนำข่าวมรณะแห่งกฤษณและการสาบสูญแห่งยาทวะอาณาจักรมากราบทูลนั้น, ความเศร้าของยุธิษฐิรหาที่สุดมิได้, ความเศร้าที่รุมพระหฤทัยอยู่นั้น ทวีหนักขึ้นเป็นก้อนมืดซึ่งไม่มีอะไรขับให้กระจายหายไปได้; ทรงรู้สึกเบื่อหน่ายต่อน้ำหนักเนื้อหนังร่างกาย-มีพระประสงค์อยู่แต่จะสละพระชนม์ชีพและเครื่องร้อยรัดของร่างกายมิได้วายคิดสักเวลา, ท้าวเธอบอกความประสงค์แก่ภราดาและปรารภว่าอยากจะได้รับอนุมัติไปอยู่ป่าอย่างนักพรต, ชักเวลาให้ล่วงไปในการวิปัสสนา พระอนุชาทั้งสี่ก็ยินยอมตามพระปรารภด้วยยินดี, แสดงความเตรียมพร้อมของเธอทั้งสี่ที่จะตามเสด็จ, เพราะเธอทั้งสี่ก็ทำนองเดียวกันกับยุธิษฐิร ได้รู้สึกเบื่อหน่ายการงานและความลำบากแห่งชีวิต. ใคร่แต่จะหาสุขพักผ่อนร่างกายให้สบาย.

ยุธิษฐิรครานั้นก็แบ่งราชอาณาจักรหัสตินาปุรออกเป็นสองภาค, ภาคหนึ่งท้าวเธอยกให้แก่ปรีกษิต, ผู้บุตรของอภิมันยุ- คลอดภายหลังมรณะของอภิมันยุ, ทรงสถาปนาให้เป็นกษัตริย์ครองกรุงหัสตินาปุร, อีกภาคหนึ่งนั้นได้แก่ยุยุตสุ, ผู้กึ่งภราดร (ลูกพี่ลูกน้อง) ของทุรโยธน์, ซึ่งท้าวเธอทรงเษกให้เป็นราชาครองกรุงอินทรปรัสถ์ และประทานโอวาทสั่งสอนสองกษัตริย์ใหม่ให้รักษาศานติภาพและสันถวไมตรี.

เจ้าปาณฑวภราดาครานั้นก็เปลื้องเครื่องทรงกษัตริย์ออกจากองค์, สละเครื่องเพชรพลอยและอาวุธ, ทรงเครื่องนักพรต, พาพระนางเท๎ราปทีไปด้วย, ออกเดินทางไปป่า, สุวานสัตย์ซื่อตัวหนึ่งติดตามไปด้วย, ซึ่งไม่ยอมให้ทิ้งมันไว้ที่พระราชวัง เธอเดินไปทางทิศบูรพ, วันหนึ่งแล้ววันหนึ่งเล่า, อาทิตย์หนึ่งแล้วอาทิตย์หนึ่งเล่า, ย่างเท้าดุ่มเดินไปในป่ามืดครึ้ม, ข้ามทุ่งอันมีแดดแผดเผา, ข้ามลำน้ำอันกว้างใหญ่ น้ำไหลเชี่ยว เธอทิ้งบ้านเมืองไปด้วยความตั้งใจจะไม่กลับอีกต่อไป: เธอไปสู่การเนรเทศโดยพลการของเธอเอง; เธอพากันหนี มิใช่หนีโทสัคนีแห่งข้าศึก, แต่หนีความเบื่อหน่ายแห่งชีวิต การอันเหนื่อยยากที่สุด, การกรากกรำทุกข์ยากลำบากเหลือแสน, อาการกระวนกระวายแห่งหิวและกระหาย, น่าที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งเจ็บปวดรวดร้าว ในบัดนี้เธอรับเอาด้วยยินดีสามเท่าที่เป็นแล้วแต่หนหลัง, ทำไปทั้งนี้ด้วยหวังพ้นเครื่องร้อยรัดแห่งชีวิตนี้.

ล่วงกาลไปไม่กี่วัน, นางเท๎ราปทีผู้โรยแรงกว่าเพื่อนในพวกนั้นได้ล้มลงตามทาง, สิ้นความรู้สึก สิ้นชีวิต มิได้มีการร้องไห้ให้แก่นาง; มรณะได้เลิกเป็นภัยที่จะทุกข์ถึงอีกต่อไป, และได้เป็นการหลุดพ้นจากความเป็นทาสแห่งชีวิต.

เมื่อเท๎ราปทีล้มตาย, ภีมได้ทูลถามยุธิษฐิรว่า: “เหตุไฉนเท๎ราปทีจึงล้มตาย? เหตุไรนางไม่ไปสู่สวรรค์ทั้งเป็น? นางได้ประพฤติอกุศลกรรมอะไรหรือจึงต้องรับมรณกรรม?”

ปัญหาเหล่านี้มิได้กล่าวในทำนองของผู้กรำทุกข์, แต่กล่าวขึ้นในทำนองของธรรมปริศนา, ยุธิษฐิรตอบว่า: “หฤทัยของนางและชีวิตของนางเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับของอรชุน, และเบื้องว่าอรชุนได้ล่วงอกุศลกรรมแล้ว, นางก็ได้ล่วงอกุศลกรรมด้วยเหมือนกัน, และนางก็ได้รับสามัญทัณฑ์แห่งบาป.”

เจ้าถัดมาภราดาฝาแฝด, คือนกุลและสหเทพ, เป็นผู้ล้มตายตามมารคา, และผู้ที่ยังเหลืออยู่ก็เดินทางต่อไป, ราวกะว่าเหตุการณ์อะไรมิได้เกิดขึ้น, ราวกะว่าได้กะการและทำความตกลงล่วงหน้าไว้เสร็จแล้ว.

แต่เมื่ออรชุนตาย อาการสะท้านเล็กน้อยแล่นทั่วหัวใจภีม, และเธอได้ทูลถามยุธิษฐิรว่า: “เออ, เหตุไฉนอรชุนผู้หาผิดมิได้มาได้รับทัณฑ์แห่งบาป?”

ยุธิษฐิรตอบว่า: “เพราะเหตุครั้งหนึ่งได้คุยโตโอ่อวดว่า เธออาจสังหารข้าศึกของเธอทั้งหมดได้ด้วยการตีทีเดียว; เรื่องนี้เธอไม่สามารถทำให้สำเร็จได้; คำคุยโตนั้นกลายเป็นมุสาวาท; มุสาวาทนั้นเป็นบาป; ผลแห่บาปก็คือมรณะ”

ภีมกับยุธิษฐิรเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ในบัดนี้, และสองภราดาก็เดินไป มิได้สนทนากัน, สุวานสัตย์ซื่อตามไปเหมือนแต่ก่อน. วาระหนึ่งภีมก็เช่นเดียวกัน ได้ล้มลง, ทอดถอนใจใหญ่, และรู้สึกว่ามรณะของเขาเร่งเร้า, ก็ทูลถามยุธิษฐิรว่า: “เธอบอกได้ไหมว่าเพราะอกุศลกรรมอะไร ข้าพเจ้าจึงมาประสบมรณะของข้าพเจ้า ? เท่าที่ข้าพเจ้าเชื่อ, ข้าพเข้ามิได้เคยทำบาปกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมด้วยจิตใจอันรู้ผิดและชอบ”

ยุธิษฐิรตอบว่า: “จ้ะ, เธอได้ทำบาป, มิใช่ทางใจ, แต่ทางกาย เธอกลั้วอยู่ในนิสัยกล่าววาจาด่าทอท่าน, โลภอาหารการกิน และอวดดี”

ในบัดนี้เหลือยุธิษฐิรอยู่แต่พระองค์เดียว, และท้าวเธอก็เสด็จต่อไปเรื่อยๆและมิได้ตรัสว่ากระไร; สุวานเดินตามไป ในที่สุดท้าวเธอบรรลุถึงเชิงเมรุบรรพต, แล้วได้ยินเสียงพระอินทร์ร้องบอกว่า: “ขึ้นสู่สวรรรค์ซี, กษัตริย์ทรงธรรม” แต่ยุธิษฐิรตอบว่า: “ไม่ได้, ข้าพเจ้าไปคนเดียวไม่ได้ จงให้ภราดาข้าพเจ้าและเจ้าหญิงเท๎ราปทีซึ่งข้าพเจ้าได้เสียไปและทอดทิ้งไว้ตามทางเข้าไปด้วยซี เขาเป็นผู้มีสัตย์และสูงศักดิ์ในชีวิตของเขา, จงฟังข้าพเจ้าซี อินทร์เอย, และจงโปรดให้ตามคำวิงวอนของข้าพเจ้า !”

พระอินทร์ตอบจากเบื้องบน: “ภราดาของเธอและราชินีของเธอได้มาก่อนเธอ” ต่อยุธิษฐิรขออนญาตเพื่อให้สุนัขของท้าวเธอตามเข้าไปในเมืองสวรรค์, เพราะว่ามันได้ติดตามท้าวเธอมาตลอดชีวิต, แต่พระอินทร์มีเทวโองการว่า สวรรค์มิใช่ที่สำหรับสัตว์ลามกจักขึ้นได้. ยุธิษฐิรวิงวอนว่า ท้าวเธอจักรู้สึกสบายพระหฤทัยมิได้โดยไม่มีสุนัขตัวนั้น, เพราะเป็นสัตว์สัตย์ซื่อ ได้ติดตามเป็นเพื่อนท้าวเธอมาตลอดชีวิต.

พระอินทร์ตอบ: “เธอได้สละภราดาและมเหสีของเธอด้วยชื่นบานกมล. เมื่อเขาล้มตายไปทีละคนๆ ตามมารคา เหตุไฉนท่านทิ้งสุนัขลามกเสียไม่ได้?”

ยุธิษฐิรทรงอธิบายว่า: “ข้าพเจ้ามิได้มีปรารถนาจะทิ้งผู้ที่ตายแล้ว: แต่ผู้ตายแล้วกลับมีชีวิตคืนมามิได้ ส่วนสัตว์สัตย์ซื่อตัวนี้ยังหายใจอยู่ข้างตัวข้าพเจ้า. ข้าพเจ้าทิ้งขว้างมันเสียอย่างไรได้?”

ตรัสดังนั้นแล้ว, ท้าวเธอก็หันไปทางสุนัขนั้น แต่สุนัขนั้นหายไปแล้ว, และธัมมะคือมหาราชเทพดารักษายุติธรรม, ยืนสวมที่สุนัขนั้น ธัมมะเทพพูดแก่ยุธิษฐิรว่า: “ยุธิษฐิรเอย, ตลอดอายุของเธอ เธอได้เป็นบุตรผู้มีสัตย์คนหนึ่งของข้าพเจ้า เธอไม่ยอมทิ้งขว้างข้าพเจ้าผู้สุนัขของเธอเพราะว่าข้าพเจ้าสัตย์ซื่อต่อเธอ, เธอไม่มีที่เปรียบในสกลโลกนี้; เธอจักหาผู้เสมอเหมือนมิได้ในเทวโลก”

เทพดาก็พายุธิษฐิรขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น, เมื่อท้าวเธอเข้าไปกลับได้เห็นทุรโยธน์นั่งอยู่บนราชบัลลังก์อันรุ่งโรจน์กาววาว, และเจ้ากุรุผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ได้ต้องอาวุธล้มตายในสงครามยืนอยู่รอบราชบัลลังก์ ท้าวเธอพิศดูรูปนั้นด้วยความชมอันตื่นเต้น, แต่เมื่อทอดพระเนตรดูรอบแล้ว, ท้าวเธอมิได้เห็นภราดาเธอหรือเท๎ราปที ท้าวเธอตกตะลึงพิศวง คราที่นั้นพระอินทร์พลางเดาอารมณ์ของเธอ, มีเทวโองการว่า: “เธอหลากใจหรือว่า เหตุไฉนจึงมิได้ประสบภราดาและมเหสีในเมืองสวรรค์? ดีแล้ว, ในบัดนี้ข้าพเจ้าต้องบอกเธอว่าเขาเป็นสัตตบาป, และเมื่อเป็นดังนั้นไซร้ก็เข้ามาในที่นี้ไม่ได้ เวลานี้อยู่ในที่สำนักอื่น เธอต้องอยู่ต่างหากจากเขา, และเสวยสุขแห่งสวรรค์สำหรับตัวเธอเอง ทิ้งคนอื่นเหล่านั้นให้ทนต่อกรรมซึ่งเขาควรรับ การผูกแห่งมนุษย์ในที่นี้ขาดกันหมด และมามีการผูกพันกันขึ้นใหม่”

แต่ยุธิษฐิรมิได้เตรียมตัวที่จะอยู่ห่างจากภราดาและมเหสีแม้ในที่สำนักของผู้ครองสุข ท้าวเธอกล่าวค้านพระอินทร์ว่า “ข้าพเจ้าอยู่กับพวกเการพในเมืองสวรรค์ไม่ได้ ข้าพเจ้าอยากอยู่กับภราดาและภริยาของข้าพเจ้ามากกว่า, เขาจะอยู่ที่ไหนก็ตามที ข้าพเจ้าทิ้งขว้างผู้ที่มีรักผูกพันอยู่เป็นนิตย์โดยเห็นแก่ตนถ่ายเดียวนั้นไม่ได้”

พระอินทร์มีเทวโองการถามโดยโกรธว่า: “เธอเตรียมตัวแล้วหรือที่จะทนทรมานทรกรรมของนิรยาบายเพื่อเห็นแก่เขาทั้งหลาย?” ยุธิษฐิรตอบว่า “ความรักจักกลับกลาย กรรมสาหัสเหล่านั้นเป็นบรมสุข ขอให้ข้าพเจ้าไปที่ภราดาของข้าพเจ้าอยู่ ที่เท๎ราปทีอยู่ ข้าพเจ้าทิ้งขว้างเขาอย่างไรได้?”

ต่อนี้เทพบริวารองค์หนึ่งของพระอินทร์รับเทวบัญชาให้นำยุธิษฐิรไปสุที่ซึ่งวิญญาณเจ้าปาณฑพนอกนั้นสำนักอยู่, และเทวทูตได้พายุธิษฐิรไปทางไกล ลึกและลึกลงไปทุกที สู่เมืองต่ำใต้ ๆ พื้นพระธรณี ในที่นั้นเวหาอันธกาลมืดมิด, และอากาศเต็มไปด้วยควันกำมะถัน ถึงกับสัตว์มีลมปราณหายใจจะไม่ให้สำลักเสมอนั้นไม่ได้ หนทางไปปูลาดด้วยก้อนอัคนี, มีกะโหลกหัวผีเป็นขอบเขต หัวผีเปรตเหล่านั้นมันร้องกรีดหวีดหวาดตามศัพทชาติของเปรตวิสัย ในที่ท่ามกลางมีขุมอันใหญ่มหึมา ลุกรุ่งโรจน์จ้าราวกะว่าเตาใหญ่หมื่นเตารวมเป็นเตาหนึ่ง และในขุมไฟอันเริงแรงแสงกล้านี้ เจ้าปาณฑวภราดากับเท๎ราปทีกำลังนอนอยู่, ร้องอู้ด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว และถูกผลาญเผาด้วยไฟอเวจีอันไม่รู้ดับ

ยุธิษฐิรตกพระหฤทัยมาก, และถอยหลังออกไปด้วยกลัวและเจ็บ; แต่ทันใดนั้นท้าวเธอได้ยินเสียงภราดาและเท๎ราปทีร้องวิงวอนให้หยุดอยู่สักครู่. เพราะว่าการที่ท้าวเธอมาอยู่นั้น ทำให้เขารับสุขว่างทุกข์ที่ต้องทนเสวย ยุธิษฐิรเสียอ้อนวอนดังนั้นไม่ได้, แม้จะได้แก่พระองค์เองเข้าบ้างอย่างที่ได้เห็นในผู้อื่นนั้นแล้วก็ดี ตกลงพระหฤทัยจะอยู่ต่อไป, และก็ไล่เทวทูตผู้นำทางนั้นว่า: “ท่านไปจากข้าพเจ้าได้ละในบัดนี้: ข้าพเจ้าจะอยู่ที่นี้เพื่อระงับทุกข์แห่งน้องของข้าพเจ้าและเท๎ราปที”

ในทันใดนั้น, การเปลี่ยนแปลงอย่างน่าพิศวงได้เกิดขึ้น- แปรฉากนั้นเสียทั้งหมดทันที แม้คนทั้งโลกได้เห็นก็แทบไม่เชื่อตาของตนจะเป็นได้จริงดังนั้น, ที่อันธกาลมืดมิดและที่มหาพิบากในเวลาประเดี๋ยวใจ ได้กลับกลายเป็นที่แจ้งสว่างไสวและที่บรมสุขสนุกสบาย เมืองนรกที่ยุธิษฐิรได้เห็นด้วยพระเนตรของท้าวเธออยู่ชั่วเวลาครู่หนึ่งนั้น เป็นแต่เงาลวงอันพระอินทร์หากบันดาลให้เป็นไป เพื่อพิสูจน์สัจจะและความรักใคร่ของท้าวเธอ, ครั้นสัจจะและเมตตาของท้าวเธอได้ชนะการพิสูจน์อย่างรุนแรงนั้นแล้ว, เทพดาก็พาท้าวเธอไปที่แม่น้ำคงคา, น้ำคงคาคราเมื่อทอดสายไหลอยู่ในสวรรค์, ลำน้ำแห่งความสุขและบริสุทธิ์ ท้าวเธอได้สรงสนานในน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น การสรงสนานนั้นแปลงพระวรกายของท้าวเธอเป็นอากาศธาตุ, เทวสภาพทิพยรูป. และเมื่อเป็นเทพดาแล้ว ท้าวเธอก็ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่เทวโลกชั้นสูงสุด, สวรรค์, ณ ที่นั้นกฤษณ พระอนันตสหายของท้าวเธอก็ต้อนรับท้าวเธอ, กฤษณในขณะนี้มีเปลวรัศมีรุ่งโรจน์มากที่สุด ข่มสิ่งอร่ามเรืองในโลกซึ่งมางสจักษุของมนุษย์เคยได้ประสบพบเห็นแต่ก่อนแต่ไร และในที่นั้น, ท้าวเธอได้เห็นภราดาและเท๎ราปทีมเหสีของเธอด้วย, และทุก ๆ คนที่ท้าวเธอได้รักใคร่ในสกลมนุษยโลกนี้.

สิทธิรัสดุ

จบบริบูรณ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ