กถามุข

‘มหาภารตยุทธ์’ เป็นเรื่องโบราณคดีของอินเดีย: เป็นกาพยคดีภาษาสํสกฤต ซึ่งชาวอินเดียแทบทุกคนเคยได้ยินได้ฟัง, แต่ผู้ที่เคยได้อ่านกาพยคดีเรื่องนี้ทั้งชุด และขบถ้อยคำสำนวนแตกขาวถึงกับนำเอาเรื่องออกเล่าสู่ผู้ฟังทั้งหลายเป็นความเรียงติดต่อกันได้ทั้งเรื่องมีน้อยเต็มที. เรื่องนี้ชาวชาติอินเดียชอบฟังมากกว่าอ่าน, เพราะในการอ่านย่อมมีความขลุกขลักหลายประการ, ดังจะพรรณนาต่อไปนี้, สํสกฤตเป็นภาษาเก่าซึ่งชาวอินเดียทุกวันนี้มิได้ใช้พูดและขีดเขียนเป็นมาดรภาษา, แต่เอาบูชาไว้เหนือตำแหน่งสูง เป็นภาษาวรรณคดีโบราณ; และเรื่องมหาภารตยุทธ์นี้ถ้าจะอ่านก็ต้องอ่านแต่คำแปลเท่านั้น; ไม่มี ใครชอบอ่านฉบับสํสกฤต, เพราะเต็มไปด้วยคำอรรถทุกหน้ากระดาษ, และยืดยาดชวนเบื่อหน่าย. ผู้อ่านหนังสือเพื่อหวังความเพลินทุกวันนี้ไม่มีผู้ใดพอใจอ่านเรื่องที่ยากจนเหลือขบหรือเรื่องที่นุงถุงยุ่งยาก, มีกาพยคดีที่อัดความเข้าไว้เป็นต้น. นักวรรณคดีอินเดียผู้หนึ่งได้เรียบเรียงเรื่องนี้เป็นความเรียงน่าฟัง, ใช้ถ้อยคำสำนวนที่ชวนอ่านชวนฟังนักหนา. เห็นว่าเป็นเรื่องที่อำนวยประโยชน์ทางวิชานิยายคดี, คณะหนังสือสำรับพิเศษจึงเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้น ไว้เป็นสมบัติส่วนหนึ่งในหมวดหนังสือไทย.

การยุทธ์ในเรื่องมหาภารตะ เป็นสงครามซึ่งชาวอินเดียตอนเหนือที่ชอบการรบพุ่งฆ่าฟันได้มีส่วนกระทำแก่กัน, และการรบใหญ่ครั้งนั้นได้กระทำกันเมื่อก่อน พ.ศ. ประมาณ ๘๐๐ หรือ ๙๐๐ ปี. นักเลงถกหลายท่านที่ถกว่ามิใช่ ‘พงศาวดาร’ หรือ ‘ประชาวตาร’ นั้น ชอบอ้าง ‘การสงครามโต๎รชาน (the Trojan War)’ ตามที่ปรากฏอยู่หน้าจินตกวีนิพนธ์เรื่อง ‘อีเลียด (the Iliad) เป็นหลักฐานพยาน. แต่ไม่มีเหตุควรสอดแคล้วการยุทธ์ทั้งสองนี้เลย. จริงอยู่ที่ว่าเรื่องประชาวตารโบราณเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งสวมเครื่องแต่งแห่งกาพยคดีเข้าแล้ว ชวนให้เกิดความรังเกียจ, แต่ควรจำใส่ใจไว้ว่า ‘กาพยคดีเป็นที่นิยมชมชื่นแก่ใจของมนุษย์ในยุคขัยโบราณ สำหรับการบันทึกตำนานทั้งหลายซึ่งเขาต้องการให้ไหลลงไปตามกระแสแห่งกาล เพื่อให้บุตรหลานทุก ๆ ชั้นทราบตำนานในยุคขัยที่เขาได้ครองชีวิตอยู่; จริงอยู่, เรื่องหลายเรื่องที่กล่าวเป็นพลความนั้น เป็นปรัมปรคดีไม่ควรเชื่อฟัง, และนาฏกะ (ตัวสำคัญ ๆ ในท้องเรื่อง) ล้วนขนานขึ้นด้วยปากกาของจินตกวี; แต่ภายในเครื่องแต่งที่ห่อหุ้มอยู่นั้นมี ‘แสงแห่งความจริง’ฉายรุ่งโรจน์จ้าออกมาจากเครื่องแต่งแห่งกาพยคดี ปรัมปรคดี ศาสนคดี และวรรณคดี ซึ่งหัวคิดของท่านจินตกวีในสมัยก่อนได้เอามาสวมให้; ฝ่ายท่านจินตกวีรุ่นใหม่แทรกแซมเสริมเข้าให้อีกหลายแห่งโดยใช่ที่ ทำให้รสชาติกาพยคดีเสียไปหมด ไม่พอที่เลย.

การที่จะเรียนกาพยคดีเรื่อง ‘มหาภารตะ’ และขบให้แตกเป็นความเรียงขาวออกไปนั้นเป็นการยากพอใช้ ทำให้นักเรียนที่มีเพียรพอยุ่งใจมิใช่น้อย: เหลียวไปรอบตัวมีแต่ภูมิประเทศอันเต็มไปด้วยเมฆหมอกสีคล้ำๆ, ต้องคลำหาทางด้วยไม่แน่ใจไปทั้งนั้น; ครั้นโผล่ออกจากที่นั้นแล้วเล่าก็ตกเข้ามาในที่ที่หนาทึบด้วยเมฆหมอกยิ่งกว่าที่เก่า. ไม่มีผู้ใดได้พยายามทำสิ่งซึ่งข้าพเจ้าได้ทำขึ้นไว้นี้: ความหมายของข้าพเจ้าคือ จะให้นิยายเรื่องโบราณคดีกล่าวแต่เนื้อความที่เป็นจริง ตัดทิ้งพลความทั้งหลายที่หาสาระมิได้, ปัญหาเรื่องการลิขิตประชาวตาร, ศักราชปีเดือน หรืออายุของหนังสือเรื่องนี้ การรับผิดชอบและพลความเบ็ดเตล็ดต่างๆ นั้น ตกเป็นภาระของท่านที่อยากรู้อยากเรียนเพียรค้นเอาเองเถิด; ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวฝอยของเรื่องนี้เลย ใช่ว่าการเล่าเรียนเบ็ดเตล็ดของเรื่องที่ว่านี้จะไร้ประโยชน์ หามิได้; ย่อมมีประโยชน์แน่นอน.

เราขอแสดงความขอบคุณท่านปราชญ์วรรณคดีที่ได้เสาะแสวงหาความจริงเรื่องนี้สมมาดสมหมาย และได้ช่วยชี้ให้เรารู้ความสำคัญในท้องเรื่อง มีสนามรบ, วันที่ที่ได้ลงมือรบกัน, กำลังทั้งสองฝ่ายที่ได้ต่อสู้กัน, ฯลฯ; และข้อขอดเหล่านี้มติของบางท่านที่เป็นผู้ชำนาญทางโบราณคคีไม่เห็นสอดคล้องด้วย, และต่อนั้น, เพื่อเสริมความยุ่งยากให้หนักเข้า, มีผู้แทรกเคล้ากาพยคดีเลอะเทอะเข้าไปเกรอะกรังของเก่า, ทำให้ของเก่ามีเค้าหน้าแทบไม่เป็นโยนกคดีหรือกาพยคดี ดูออกจะเป็นดิกชันนารีกลาย ๆ รวมศาสนคดี, จรรยาศึกษา, นิยายสอนใจ, กาพยนิยาย, ปรัมปรสุภาษิต และอะไรต่ออะไรจิปาถะ ว่ากันดะออกเหลวแหลกมาหลายรอบร้อยปี จนแทบจะว่าได้ว่าไม่มีตำรับตำราอะไรที่จะไม่ไปรวมอยู่ในเรื่องมหาภารตะ การที่เอาสารพัดตำราเข้าไปอัดไว้เป็นเรื่องเดียวกันนั้น ให้ผลร้ายแก่คนรุ่นหลังมากนักหนา, ในบัดนี้นอกจากผู้ที่มีปรีชาสามารถแล้ว ไม่อาจร่อนและฝัดเอาแกลบรำที่ปิดงำเมล็ด คือ ความจริงของเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกได้ ประมาณสองสามรอบร้อยปีทีหลังคริสตศักราช ได้มีการพยายามทห้ามวิธีดำเนินการ (เคล้าเรื่องสารพัดตำรา) ดังที่ว่านี้ และด้วยทัศนะนี้ สารบาญของโยนกคดีเรื่องมหาภารตะได้พิมพ์เป็นตัวอย่างเรื่องนำขึ้นไว้เป็นคู่ๆ กล่าวคือ กาพย์ทุก ๆ บทที่พิมพ์ขึ้นครั้งนั้นเป็นอรรถคดีบทหนึ่ง, อีกบทหนึ่งเป็นวรรณคดี หรือคำแปลของอรรถบทนั้นเป็นคู่กันไปทุก ๆ บท ราเมศจันทรทัตต์ (Mr. Rames Chandra Dutt) ผู้แปลเรื่องมหาภารตะเป็นอังกฤษพากย์กล่าวว่า “เรื่องมหาภารตะเป็นกาพย์อยู่เก้าหมื่นบท กำหนดขนาดหรือหน้ากระดาษของเรื่องมหึมานี้ใหญ่กว่าเรื่องอีเลียดและโอทิสเสย์ (The Iliad and the Odyssey) รวมกันประมาณ ๗ เท่า” ออกจะใหญ่พอดู จะหาตู้ที่บ้านไหนมาบรรจุไว้ได้ทั้งชุด !

ในบัดนี้ ผู้อ่านของข้าพเจ้าพอจะเข้าใจได้ตลอดแล้วว่า มหาภารตะเป็นคัมภีร์อันมีกุญแจลั่นอยู่ ยากที่เราท่านจักรู้ได้โดยสะดวก แม้นมีคำแปลก็ทำเนา. มีคำแปลเป็นอังกฤษพากย์; ประตาปจันทรรอย (Mr. Pratap Chandra Roy) ปราชญ์หนังสือผู้ลือนามสมัยเรานี้ พิมพ์ขึ้นไว้ที่กัลกัตตาในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นหนังสือใหญ่ ๙ เล่ม ผู้แปลดำเนินตามกฎว่าด้วยการแปลถ่ายภาษาโดยเคร่งอย่างเถรตรงเทียว แต่การแปลตรงตามกำเนิดศัพท์ เพื่อประโยชน์การอ้างอิงศัพท์เป็นตำรับอักษราภิธานนั้น ข้าพเจ้าเกรงว่าบิดเชือนไปไกลจากความเข้าใจของสามัญชน ประการหนึ่งเคยมีผู้บ่นว่า อยากจะอ่านวรรณคดีโบราณของอินเดียสิมาได้อ่านอักษราภิธานศัพท์ ตำรับอะไรมิรู้ดูไม่ได้ แต่ภาษาอังกฤษยังมีเสียงบ่นกันเช่นนี้; ถ้ามีเรื่องร้อยแปดพันเก้าเคล้ากันเป็นสยามพากย์, ข้าพเจ้าเชื่อว่า, คงไม่มีท่านผู้ใดอยากแตะต้องหนังสือเช่นนั้นแน่นอน แต่พอจับอ่านคำแปลอรรถคดีหรือวรรณคดีแสนยุ่งเช่นนี้เข้า คงหาวนอนในเวลาไม่กี่นาที หรือบางทีจะถึงกับหลับเสียด้วยซ้ำ ค่าที่รสชาติถ้อยคำสำนวนมันโบราณเกินไป โบราณจนอ่านแล้วอ่านเล่าไม่เข้าใจ ไม่ผิดอะไรกันกับความรู้สึกของผู้อ่าน ‘เรื่องภาพสรรรค์ชั้นฟ้าและอัพโภกาศของมิลตัน (Milton’s pictures of Heaven and Chaos) นักอ่านสมัยใหม่ไม่สู้จะพอใจทั้งเรื่องสวรรค์ชั้นฟ้าหรืออรรถกถาพรรณนาคุณและฤทธิ์ของเทพดาผู้ใหญ่ไปครึ่ง ๆ กลางๆ วางมาพรรณนาโยนกคดี, ชี้แจงไปไม่ได้ถึงไหน, ไพล่ไปพรรณนาศาสนคดี, นิติศาสตร์, ปราดไปกาพยคดี, กล่าวถึงเรื่องนี้กระโดดไปเรื่องนั้น ระคนกันราวกับแหล่เทศน์หน้าไฟให้วันทอง ซึ่งเณรช้างเป็นผู้แสดงดังนั้น, มันชวนให้ผู้อ่านและผู้ฟังเบื่อหน่ายแน่นอน ป่วยการกล่าวไปไยไม่ต้องการ ใคร ๆ คงไม่อยากอ่านเรื่องกระท่อนกระแท่นไม่ติดต่อกันดังกล่าวมานี้, กวีชาติทางโยนกะและวรรณคดีโบราณมักจะซ่อนความจริงไว้ในโวหารของเขาเสมอ หรือเอาเรื่องจริงกับประดิษฐ์เคล้ากันให้ฟังยากดังอธิบายมานี้.

จะสางเอาเนื้อเรื่องที่เป็นจริงออกจากสิ่งนอกเนื้อหานั้น เท่ากับฝัดหาเมล็ดพืชแห่งความจริงจากแกลบพ้อมหนึ่งก็ปานกัน เรื่องที่ข้าพเจ้าได้เริ่มทำในบัดนี้คือ เขียนเรื่องมหาภารตยุทธ์เป็นความเรียงสยามพากย์, อิงความตามต้นฉบับของฐากูรราเชนทรสิงห์ (Thakur Rajendra Singh) ซึ่งเป็นความเรียงอันร้อยกรองดีแล้ว.

ในพราหมณสมัยอันล่วงแล้วลิบลับกระโน้น กษัตริย์พระองค์ใดทำการเช่นนี้ กล่าวคือ พยายามแปลเรื่องศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นภาษาของคนนอกศาสนาพราหมณ์ไซร้ กษัตริย์พระองค์นั้นจักถูกกล่าวหาว่า ได้กระทำการทุราจารต่อพระศาสนา. ข้าพเจ้าผู้แปลเป็นไทยขอนำเอาถ้อยคำของฐากูรราเชนทรสิงห์มากล่าวให้ท่านฟังดังต่อไปนี้: “ความจริงคือ เพราะข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ (นักรบ) เรื่องอภินิหารและตำนานของโบราณ กษัตริย์เข้ากระตุ้นหนุนใจข้าพเจ้า, ถึงกับทำให้รู้สึกว่าจำเป็นต้องแต่งนิยายเรื่องราวเหล่านี้ใหม่, ใช้ถ้อยคำสำนวนที่ฟังได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามัญและนักเรียนชั้นพิเศษ, ให้เป็นที่เข้าใจได้ทุกท่าน เว้นไว้แต่ท่านที่เป็นนักเลง (อ่านหรือรวบรวม) หนังสือเก่าๆของชาวตะวันออก ข้าพเจ้าไม่วางบทเรียนหนังสือเรื่องนี้ของข้าพเจ้าว่าเป็น ‘คำแปล’ แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เว้นไว้แต่จะเป็นคำแปลมีความหมายอย่างเดียวกันกับที่ได้มีผู้แปล Old Bottom ไว้ในเรื่อง The Midsummer Night’s Dream แท้จริงข้าพเจ้าได้แปลงรูปนิยายเสียใหม่โดยมิได้ตัดทอนกาพยาภรณ์ออกเสียจนสิ้นเชิง

“เวลานี้ดูเป็นโอกาสอันเหมาะที่ข้าพเจ้าจะพิมพ์เรื่องมหาสงครามของอินเดียโบราณ, เพราะสงครามในยุโรปเวลานี้มักมีผู้เรียกว่า กุรุเกษตรของยุโรป (Kurukasettra of Europe) ความจริงเรื่องก็คล้ายคลึงกันมาก ตามความเข้าใจของชาวอินเดีย มหาภารตยุทธ์นั้นเกิดขึ้นเพราะพวกเการพริษยาพวกเผ่าปัณฑุผู้เป็นญาติเรียงพี่เรียงน้องของเขา สงครามปัจจุบันนี้เล่า เกิดขึ้นแพราะเยอรมันริษยาความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ และกิตติมศักดิ์ของราชอาณาจักรอังกฤษในความเห็นด้วยตา, ที่จะหยิบยกเอามหาสงครามขึ้นมาเปรียบเทียบกับปรัมปรยุทธการของมหาภารตะนั้น ดูกระไรอยู่; แต่ตามความเห็นด้วยปัญญา มีความผิดต่างกันไม่เท่าไรระหว่างสงครามใหญ่ทั้งสองสมัยนี้, เท่าที่ผิดและชอบของเรื่องทั้งมวลข้องเกี่ยวอยู่ เรื่องมหาภารตยุทธ์เป็นนิยายไม่จืดแก่อเนกนิกรชาติฮินดูนับด้วยล้าน; เป็นศูนย์รวมแห่งความเชื่อที่เป็นอยู่ชั่วนิตยกาล รายละเอียดแห่งเหตุการณ์ในนิยายศักดิ์สิทธิ์, แม้แต่รายที่ไม่สำคัญเท่าไร ชาวฮินดูที่มีความรู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็ยังซึมได้ตลอด ซึมซาบได้ดีกว่ารายเบ็ดเตล็ดของมหาสงครามคราวนี้ ซึ่งบริษัทรอยเตอร์ส่งมาทางโทรเลขทุกวัน ทั้งเหตุก็ขาวอยู่แล้ว บันทึกเหตุการณ์เรื่องมหาภารตยุทธ์สงครามใหญ่ของอินเดียครั้งโบราณสมัย ลิขิตลงไว้เป็นกาพยคดีนั้นมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ใหญ่ ซึ่งฝังใจชาวฮินดูมากกว่าที่หนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เก่าหรือใหม่ บรรดาที่จะจับอกจับใจมนุษย์ชาติใดชาติหนึ่งในโลกนี้ และหนังสือเรื่องนี้ได้ประทับบทสอนใจลงไว้ในกมลสันดานของชาวเราทุกชั่วอายุคนเป็นลำดับลงมาว่า ความจริงมีอยู่ว่า ธัมมะ (ความชอบธรรม) จะนำมาซึ่งชัยชนะ และอธัมมะ (ความไม่ชอบธรรม) แม้ทีท่าจะแข็งแรงเพียงไรก็ดี, ในที่สุดต้องถูกขยี้เอาต่ำต้อยต้องด้อยราบกราบพระธรณี เพราะฉะนั้นแล, ใจของอเนกนิกรชาติฮินดูซึ่งไม่หวั่นไหวโดยสภาพนิสัยและหนักในความรู้แห่งปราชญ์, จึงมิได้รู้สึกหวั่นหวาดต่อไฟใหญ่อันลุกลามอยู่ในยุโรป ‘อันว่าความชอบด้วยธรรมจะมีชัย ความจริงจะชนะในที่สุด, ยุติธรรมจะเป็นต่อในปลายมือ.’ สุนทรพจน์เหล่านี้มิใช่ธรรมคำสั่งสอนชั้นสูงของชาวฮินดูเลย แต่เป็นความจริงอันเถียงไม่ขึ้น เป็นข้อความเชื่อที่เห็นผลจริงอยู่ทุกวัน เชื่อถือกันทั้งคนชั้นสูงและชั้นต่ำ, ผู้ที่มีความรู้และผู้ที่ไม่ได้เล่าเรียนเขียนอ่านอะไร คนหัวเก่าและหัวใหม่ทั่วหน้ากัน ใจของชาวตะวันตกผู้หวังสุขเป็นสรณะอาจจะกระตือรือร้นจำความหมายของสุภาษิตเช่นนี้ไว้ ใจของเขาอาจจะยอมตามมติของเขา; ทั้งนี้ใช่จะรู้สึกว่าถูกบังคับก็เปล่า แต่คำกล่าวชอบเหล่านี้ เป็นคำที่สาธุชนทั่วไปยอมปฏิบัติตามหรือรับเอาด้วยดีแล้ว แต่ใจของชาวฮินดูทั่วไปได้ความเชื่อหมดสงสัยเป็นอาหารบำรุงเลี้ยงมาหลายชั่วศตกแล้ว, ก็ไม่มีความติดขัดอะไรในที่จะมองเห็นประโยชน์ทั่วไปแห่งธรรมะเหล่านี้; ที่จริง, ความขลุกขลักที่ใจพึงรู้สึกก็คือที่เห็นการณ์ตรงกันข้าม และต่อนั้นเล่า ชาวฮินดูไม่มีโอกาสมากกว่าชาติทั้งหลายในสากลที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์แห่งสัจจะเหล่านี้, เพราะไม่มีชาติไหนที่มีพงศาวดารยืดยาวเท่าชาวฮินดูมีอยู่ ความเคยชินของชาวชาติฮินดูหลายชั่วยุคขัยมาแล้วมีแต่จะยืนยันความจริงเรื่องนี้ ซึ่งคัมภีร์ต่าง ๆ ได้ถ่ายให้และฝังใจอยู่มิรู้ลืมเลย, เพราะเหตุนี้แล, สกลฮินดู, ผู้สัตบุรุษและอสัตบุรุษทั้งหลาย, จึงได้เห็นสอดคล้องต้องกันว่า, การยุทธ์ใหญ่คราวนี้จะกระทำอารมณ์ให้หวั่นไหวไปอย่างไรก็ตามทีของมัน, ในที่สุดมันก็จะยุติลงไปได้แต่ทางเดียวเท่านั้น; ราชอาณาจักรเยอรมันแตกป่นปี้ไป, และความมีชัยอย่างชื่นตาชื่นใจจะได้แก่สัมพันธมิตร.

“เพื่อจักเข้าใจว่า อย่างไรความเชื่อของฮินดูชาติหมู่ใหญ่จึงได้ยึดถือเอาเป็นมั่นเป็นเหมาะตามหัวข้อศาสโนวาทโบราณ, จำเป็นที่เราจะต้องอ่านเรื่องมหาภารตยุทธ์ และจำเป็นต้องสังเกตดูความคล้ายคลึงอย่างน่าประหลาดใจในระหว่าง ทุรโยธน์ ผู้สหายเก่าของเรา, และไกเสอ (Kaiser) ผู้สหายใหม่ของเรา วรรณคคีส่วนใหญ่กำลังเจริญวัยได้มาส่ำสมเป็นบรรณสมบัติแวดล้อมองค์แห่งผู้เป็นเจ้าที่ออกนามทีหลังออกสะพรั่งไป; และบรรณาธิการกับปาฐกทุกๆท่านซึ่งอยากจะพูดจะกล่าวอะไรต่ออะไรในเรื่องมหาสงครามครั้งนี้ ก็มิได้ปล่อยให้เวลาล่วงไปเปล่า กล่าวออกมาตามมติของตนทุกๆ ท่าน แต่หน้าตาสำคัญของการสงครามครั้งนี้ยังมิได้มีท่านผู้ใดแสดงให้เห็นอย่างละเอียดลออพอ ที่แท้, นิกรชาติฮินดูเท่านั้นเห็นหน้าตาของการนี้, และปราชญ์หนังสือ (ผู้เขียนและผู้กล่าวสุนทรพจน์) ฮินดูได้ประกวดประขันตีฝีปากกันในการประกาศความจง รักภักดี, เรื่องนี้แน่นอนแท้, มันเอกอยู่ในตัวแล้ว, ได้นำความไว้เนื้อเชื่อใจไปสู่พระหฤทัยเจ้านายของเราทันท่วงที แสดงให้ท้าวเธอเห็นได้ทันทีว่า นิกรชนชาวฮินดูเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับรัฐบาลอังกฤษ มีความใคร่แต่จะปราบปัจจามิตรผู้หินชาติอุบาทว์ร้าย, และตั้งใจจะสู้จนสละเลือดหยดที่สุด ด้วยชื่นตาชื่นใจในการต่อสู้กับราชศัตรูของ ‘อาณาจักร’ ศัตรูซึ่งทรลักษณ์หยาบหยามใหญ่ ไร้การุณยจิต อมิตรแห่งอารยธรรม ข้าศึกของเราผู้โมหันธ์สำคัญใจว่า อินเดียกำลังเนาในความเดือดร้อนยิ่งใหญ่ ในบัดนี้เขาทราบแล้วว่า อินเดียได้ส่งบุตรนับด้วยร้อยด้วยพันไปควั่นคอเขาเสีย เขาอมิตรซึ่งหลงคิดหลงเชื่อว่า สกุลฮินดูจะเล่นด้วย. คลื่นแห่งความรักชาติก้อนใหญ่ได้กลิ้งจากขอบเขตภูมิประเทศด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ความรักชาติซึ่งมีกำลังที่จะรักษาประโยชน์ของตนและของชาติเป็นปทัสถาน เจือด้วยอุเบกขาชั้นสูง, แต่ความเห็นซึ่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน และผู้กล่าวปาฐกถาได้แสดงแล้วนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นทัศนะของคนชั้นที่ได้เล่าเรียนมาแล้ว และถึงแม้คนจำพวกนี้เป็นทัศนมัคคุเทศก์ของนิกรชาติก็จริงแล, แต่ยังเป็นจำนวนร้อยน้อยนิดเดียวของจำนวนราษฎรหมู่ใหญ่, มีข้อชวนเพลินอยู่อย่างหนึ่ง ชวนให้อยากรู้อยากฟังว่า คนจำพวกที่ไม่ได้รับการศึกษาและจำพวกที่ได้ศึกษามางูๆ ปลาๆ จะเห็นผลที่สุดของการมหาสงครามครั้งนี้อย่างไรหนอ? ข้อนี้แลเป็นความมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้.”

ถ้อยคำที่กล่าวมานี้เป็นความเห็นและพจนคารมของฐากูรราเชนทรสิงห์ เจ้าของชาวฮินดูผู้หวังชอบต่อเจ้าใหญ่เหนือตน, เรา (ผู้เขียนและผู้อ่าน) ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเขา

ความมุ่งหมายของข้าพเจ้าเพ่งเฉพาะการเสาะแสวงหาหนังสือที่น่ารู้มาเรียบเรียงสู่กันฟังเพื่อยังความเพลินในเวลาว่างกิจถ่ายเดียว, ไม่พักเอาหัวคิดไปข้องเกี่ยวกับรัฐประศาสน์ของเขาของเรา มุ่งเอาแต่ความปรีดาทางหนังสือเท่านั้น.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ