ตอนสิบสาม ความขุ่นหมองของทุรโยธน์

ทุรโยธน์ต้องอาวุธ,-ทุรโยธน์ผู้อวดดีสำคัญใจว่า ตัวขอท้าวเธอเป็นชายชาตรีอย่างเทพดาองค์หนึ่ง. นัยว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยเท่านั้น, แผลต้องลูกศรอันหวือว่อนมาทางอากาศ; แต่ทุรโยธน์โอดครวญราวกะว่าชีวิตปลิดออกไปจากร่าง ความจริงคือหาใช่บาดแผลมิได้ที่ยังความเจ็บกายให้แก่เธอ ดวงจิตทระนงตัวอันต้องศรนั้นแลเข้าไปกระทบทำใจให้ขุ่นหมองข้องขัด มากยิ่งกว่าเสียหัตถ์หรือชงฆ์ไปข้างหนึ่ง บริวารหมู่หนึ่งได้แวดล้อมท้าวเธอขณะที่สเด็จกะโผลกกะเผลกกลับไปค่าย เข้าปะรำที่ประทับ, เหวี่ยงองค์ดังผับลงเหนือปัจจัตถรณ์, เอนองค์ลงนอนราวกะว่าเตรียมพร้อมจะกระทำกาลกิริยา ท้าวเธอรอท่าภีษ์มด้วยความรอนใจ, และเมื่อท่านแม่ทันผู้เฒ่านั้นมา กทอดถอนใจใหญ่ ตรัสเสียงละห้อยว่า: “ภีษ๎ม, ฉันตายละหนา, เสียทีไม่มีท่าเสียแล้วละ! พวกปาณฑพหักเอาด้วยกำลังหาญได้ทุกสิ่งต่อหน้าเขา.”

ภีษ๎มตอบเสียงเฉื่อยฉ่ำด้วยน้ำรักอย่างบิดาว่า:- “ช้าพ่อ, ช้าพ่อ! พ่ออย่าพูดอย่างเด็กซี, แผลนั้นก็ไม่กระไรกันกับแผลที่เด็กพึงรับทุกวันในการเล่น, เอาน้ำชะและพันมันเสียด้วยผ้าโพกก็ได้นี่.”

ทุรโยธน์ตอบว่า “ข้าพเจ้าเจ็บช้ำกรำใจที่เห็นฝ่ายปาณฑพมีชัย.” ภีษ๎มพูดว่า “นั้นเป็นความเห็นไกลจากผลที่สุดอย่างเดียวกันกับที่ท่านเห็นข้างต้นแห่งการสงคราม เมื่อสองสามเวลาที่ล่วงแล้วท่านได้ทำการพลาดพลั้ง กะประมาณกำลังฝ่ายปาณฑพต่ำไป. และในบัดนี้เล่าท่านก็พลาดพลั้งอย่างใช้ไม่ได้ เท่าที่เป็นแล้วกะประมาณการเสียหายของท่านมากไป. อย่างไรก็ดี, เป็นความจริงที่ต้องไม่ปล่อยให้ลอดนัยนาไปเสียว่า กองทัพของยุธิษฐิรนั้นมีแม่ทัพนายกองที่สามารถมากหลาย; แต่ข้าพเจ้ารับรองท่านได้ว่า ข้าศึกยังไม่ได้เปรียบที่เป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใดอย่างหนึ่งแก่เรา อย่างมงายตกใจกลัว: กลัวเสียหายโดยไม่ไตร่ตรองให้ถ่องแท้นั้นแลเกิดโทษมากกว่าการเสียหายจริง ๆ”

ทุรโยธน์เสด็จเข้าที่บรรทม, แต่เพราะได้รับทุกขเวทนาปวดแผลอยู่ ประกอบทั้งหฤทัยคิดฟุ้งยุ่งไปด้วย, เป็นอันมิได้นิทราแต่สักงีบ, และราตรีกาลนั้นดูช่างยืดยาวแก่ท้าวเธอนี่กระไร เท่ากับเจ็บช้ำกรำใจตลอดอายุกาล, ดาวประจำรุ่งเพิ่งส่องแสงเรืองอุไรในท้องฟ้า, ครานั้นทุรโยธน์มีผ้าพันบาดแผลไว้, ได้นำกองทัพเข้าสุสนามยุทธ์.

ภีษ๎มจักขบวนทหารกุรุเป็นพยุหยาตราพิเศษเพื่อคืนเอาชัยที่ได้เสียไปในวันก่อน จัดขบวนช้างวางเป็นกำแพงหนาแน่นรอบกองทัพราวกับป้อมค่ายหลายชั้น. รถแม่ทัพนายกองต่างๆ อยู่ข้างหลังแถวช้าง รถทุก ๆ คันมีทหารม้าหมู่หนึ่งเจ็ดม้าคอยป้องกันรักษา; ทหารม้าทุก ๆ คนมีหมู่ราบถือธนูคอยป้องกัน; ขมังธนูทุกๆ คนนั้นมีหมู่ทหารถือหอกซัดเจ็ดคนเป็นหมู่หนุน.

อรชุนแลเห็น ‘แถวหน้ากระดานแน่นหนา’ น่ากลัวนี้แต่ไกล, ก็ปราศรัยแก่กฤษณว่าดังนี้: “เธอเห็นขบวนซับซ้อนชอบกลของกองทหารกุรุโน้นไหมล่ะ? แถวของเขายิ่งหนาขึ้นเพียงไรก็ยิ่งเป็นการง่ายที่จะดายลงให้เกลี้ยงเพียงนั้น. เธอสังเกตเห็นไหม เขากำบังตัวนายๆผู้นำของเขาให้พ้นภัยอย่างไร โดยแวดล้อมไว้ภายในแนวป้องกันสามชั้น ? ดูช่างเป็นคนขลาดนี่กระไร, คอยระวังระไวโลหิตและลมหายใจของมันไว้เทียวหนอ.”

ต่อนั้นอรชุนก็เดินหน้าเข้าหา ‘แถวหน้ากระดานแน่นหนา’ ที่กำลังยกมานั้น; โท๎รณาจารย์ก้าวออกมารับหน้าอรชุนและท้าให้รบกันตัวต่อตัว, ด้วยเป็นกษัตริย์ชาตินักรบ อรชุนก็ต้องรับคำท้าทายนั้น; และสองนักรบได้เข้าต่อสู้กันในเชิงยุทธ์ พูดสำหรับแสดงกำลังหาญ, ปัญญา, และความทรหดอดทน ก็เป็นหาไหนไม่เสมอเหมือน แม้ในสงครามที่หาไหนไม่เสมอเหมือนครั้งนั้น:-

‘ครั้งนั้นทุก ๆ วันเป็นโอกาสดีอย่างเอก และทุก ๆ คราวเป็นโอกาสให้ได้เห็นทหารเอก’

ทันใดนั้นศรลูกหนึ่งไปปักหลังโท๎รณาจารย์โดยมิทันรู้ตัว. เหลียวหลังไปดู, โท๎รณาจารย์เห็นราชาศังข์ผู้ราชสัมพันธมิตรองค์หนึ่งของยุธิษฐิร, เมื่อเห็นเป็นการกระทำร้ายอย่างขลาดดังนี้ ตาแกก็เรืองโรจน์ด้วยโทสัคนี, หันไปยิงราชาศังข์ตายคาที่.

ความตายของราชาศังข์ต่อหน้าอรชุนดังนั้นกระตุ้นเตือนอรชุนให้คิดแก้แค้น, ผละจากโท๎รณซึ่งเธอทราบว่าเธอฆ่าไม่ได้, กรากใส่สุศรมันซึ่งเธอจำได้ว่าเคยเป็นผู้นำทัพยกไปปราบราชาวิราฏคราวแรก, ความสามารถในเชิงยุทธ์ของสุศรมันนั้นไม่พอแก่เทพกำลังของอรชุน, จึงบั่นเศียรเกล้าของสุศรมันขาดกระเด็นไปด้วยกระบี่ในเพลงแรกที่เข้าประอาวุธกัน.

แต่การมีชัยและปราชัยเหล่านี้เป็นแต่เพียงส่วนย่อยของยุทธวิธีเท่านั้น, ชัยชนะส่วนใหญ่ของวันที่เจ็ดตกอยู่กับภีษ๎ม ซึ่งไม่มีผู้ใดต้านทานได้ในการรุกรบอย่างเฉียวฉุนของเขา พวกปานฑพแตกร่นถอยหลังไปบ้าง. ทั้งภีมและอรชุนไม่สามารถหักลงได้ด้วยกำลังหาญ, ก่อนราตรีกาลพลบค่ำลง ธงชัยเฉลิมพลยุธิษฐิรได้ถูกข้าศึกฟันล้มลงไป, ได้มีการรื่นเริงในค่ายกุรุ; โดยเชื่อเอาว่ากองทัพของทุรโยธน์ได้ชัยชนะอย่างสำคัญ.

ครั้นแสงทองส่องนภางค์รุ่งอุไรทั่วขอบฟ้าบุรพทิศ, กองทัพทั้งสองฝ่ายได้ยกมายังท้องสนามยุทธ์, และได้ยิงแย้งแทงฟันฆ่ากันโลหิตนองอีก.

วันนี้เป็นคราวของภีมอีกที่จะแสดงกำลังหาญ; ชัยชนะเล็กน้อยของเการพทุกคราวทำให้เขาเดือดดาลโทสะ ชัยชนะของปาณฑพทุก ๆ คราวก็เช่นเดียวกัน ทำให้ภีษ๎มโกรธฉุน: เพราะฉะนั้นตราบเท่าที่น้ำแห่งการยุทธ์ลงและขึ้นนั้น, ก็คือภีมและภีษ๎มนั้นเอง ซึ่งผลัดกันแสดงกำลังห้าวในสนามยุทธ์ แม้แต่ในเวลาอารมณ์เย็นที่สุดภีมก็ยังเป็นข้าศึกอันน่าสยดสยอง: แต่เมือโทสะบันดาลพองทรวงของเขาขึ้นมาแล้ว, เขาก็เท่าพลหมื่นพลแสนในตัว และเช่นนั้นในวันนี้เขาได้เข้าตีกองร้อยของกุรุกระจัดกระจายไปหมดทั้งๆ กองโดยลำพังแต่ผู้เดียว, ตีตะลุยจนแตกระส่ำระสาย.

ภีษ๎มต้องใช้วิชาพูดกล่อมใจเหนี่ยวรั้งเอากองทหารที่กำลังแตกหนีนั้นไว้. ตะโกนจนสุดเสียงว่า: “โอ กุรุ! นี่หรือความกล้าหาญที่ลือไกลของชาวกุรุ ? นี่หรือประเพณีของกษัตริย์นักรบ? ด้วยความประพฤติอย่างนี้หรือที่ท่านหวังจะรักษาชื่อบรรพบุรุษของท่านอันลือเกียรติ? จงดูเถอะ, ตัวข้าพเจ้าได้เอาชีวิตของข้าพเจ้าแต่ชีวิตเดียวเข้าต่อสู้ข้าศึกทีมีกำลังมากกว่า. ถ้าไม่มีใครช่วย, ไม่มีใครหนุนไซร้, ข้าพเจ้าก็หมดกำลังกาย, ถึงแม้โลมาของข้าพเจ้าทุกๆ เส้นจะกลับกลายเป็นนักรบถืออาวุธ.”

ถ้อยคำเหล่านี้เข้าไปกระทบดวงใจทหารกุรุ, และเจ้าคันธารีหกองค์พลันฟังคำขอร้องของท่านแม่ทัพก็บ่ายหน้ารุกเข้าตีขับพวกปาณฑพให้ถอยไป. ขี่สินธพชาติสีขาวดังน้ำนม, ทั้งหกองค์ร่อนดั่งฝูงหงส์ข้ามสมุทร ลั่นวาจาว่าจะฆ่าอิวาวัตผู้บุตรของอรชุนซึ่งเกิดด้วยนางอุลุปีผู้นาคธิดา. อิราวัตมิได้พรั่น, รบรอต่อกรสู้อยู่เรื่อย. ตัวผู้เดียวต้านทานหกคน, จนกระทั่งฆ่าเจ้าคันธารีตายลงห้าองค์เป็นลำดับมา; แต่เจ้าคันธารีองค์ที่หก, พี่ใหญ่ของเจ้าทั้งห้าที่ตาย ซึ่งยืนสูงโย่งกว่าคนทั้งหลาย, ได้ตีอิราวัตล้มลงก่อนกำลังอุดหนุนได้มาถึง.

โทสะของอรชุนนั้นน่ากลัวมากเมื่อทราบว่าอิราวัตต้องอาวุธตาย, และเสียงถ้อยคำที่เขาได้สาบานนั้นก็น่าแสยงขน, เผ่นขึ้นรถศึกขับอาชารวดเร็วดั่งพระกาล, ตีกวาดตลอดแถวกุรุดั่งก้อนหินใหญ่อันเคลื่อนจากที่สูงพุ่งปราดสู่ที่ต่ำ, กระทำมรณกรรมและความพินาศรอบข้าง.

ฆโฏต์กจะ ผู้บุตรภีมโดยนางหิฑิมพาผู้รากษสี มีเพื่อนร่วมใจพวกหนึ่งตามไปด้วย รุกเข้าไปในท่ามกลางทหารข้าศึกเพื่อแก้แค้นแทนทดมรณะของอิราวัต, ทุรโยธน์เองเป็นผู้นำช้างศึกโขลงหนึ่งเข้าต้านต่อ: แต่ฆโฏต์กจะตีแถวช้างงานั้นแตกกระจัดกระจายไป, ทุรโยธน์ตกอยู่ในเอื้อมรากษสโทสะในกลางแปลง, ขณะนั้นราชาผู้เป็นสัมพันธมิตรองค์หนึ่งไสช้างถลันเข้าอยู่ระหว่างทุรโยธน์กับข้าศึกของเธอ: แต่ฆโฏต์กจะฆ่าช้างนั้นเสียด้วยลูกศรไฟ ต่อนั้นภีษ๎มนำกองพลใหญ่ตีพุ่งเข้าไปป้องกันทุรโยธน์ไว้ และฆโฏต์กจะตกอยู่ในที่ล้อมชั่วคราว, คงจะถูกข้าศึกจับตัวได้ถ้าพวกปัญจาลไม่รีบหนุนเข้าไปช่วย.

การรบวันที่แปดอันยังกอปรด้วยผลที่ยังไม่รู้แน่นั้นยุติลง, และทุรโยธน์ก็สลคเศร้าขุ่นหมองอีก ชั่วเวลาแปดวันมาแล้ว เธอได้รบรับขับเคี่ยวกับข้าศึก และกำลังของผู้เป็นข้าศึกทั้งสองฝ่ายที่ก้ำกึ่งกัน: แต่เธอทราบจำนวนทหารล้มตายและความฉิบหายมากมายเฉพาะฝ่ายเธอได้ดี, กับที่ยังมีเหลืออยู่บางตาสำหรับที่จะทำการรบอย่างน่าระอาหน่ายต่อไป. จะช้านานเพียงไรก็ไม่สามารถบอกได้, เธอหวังจะเหยียบย่ำกองทัพน้อย ๆ บ่มีค่าของยุธิษฐิรเสีย, แต่ก็เห็นแล้วว่าไม่ใช่การง่ายในที่สุด, ดวงกมลของท้าวเธอด่ำอยู่ในความทุกข์: รำพึงถึงเหตุการณ์ที่ล่วงแล้วโดยช้ำหฤทัย: ท้าวเธอคิดไปถึงวันพรุ่งที่จะมาข้างหน้าด้วยหนักพระธุระ.

ขณะนี้ ‘กรรณ’ ผู้เจ้าปัญญาอุบายเข้าไปในปะรำที่ประทับของท้าวเธอ, แลเห็นกำลังเนาในอารมณ์อันเหมาะก็ตั้งต้นเบื่อพระกรรณของท้าวไทต่อความจงรักภักดีของภีษ๎ม ตั้งต้นทูลยุยงส่งเสริมกรอกพระกรรณเข้าไปให้ท้าวเธอระแวงแคลงในภีษ๎มว่า: “ข้าพระเจ้ามิได้จงใจที่จะบ้ายแม้เงาแห่งความรังเกียจลงทับความสัตย์สุจริตของท่านผู้หนึ่งซึ่งฝ่าพระบาทได้ทรงไว้วางพระหฤทัยอย่างสนิทสนมสิ้นระแวงมานานแล้ว, แต่ฝ่าพระบาทคงทรงทราบได้ดีไม่เป็นที่สงสัยว่า ไม่มีกองทัพใดโดยจะยอดเยี่ยมเพียงไรก็ตาม อาจจะยังความสมประสงค์ให้สำเร็จได้ ถ้าผู้นำทัพนั้นๆ บังเอิญมาหยุดการเขม้นขะมักต่อราชการในหน้าที่ของเขา. ผู้นำทัพนั้นเปรียบเหมือนศีรษะของร่างกาย. เขาต้องแสดงความขยันขันแข็ง, ขึงขังด้วยกำลังกายและใจ,-ปลุกใจทหารทุกกองในบังคับบัญชา. ข้าพระเจ้าเกรงพระเจ้าข้า,-และข้าพระเจ้าไม่นึกขวยใจที่จะสารภาพว่า เป็นความเกรงของข้าพระเจ้าว่าภีษ๎มมีความคิดลับ ๆ อยู่ในใจ, และความไม่มีสัตย์ในใจของผู้นำทัพนั้นเป็นชนวนอาวุธซึ่งอาจยังความพินาศล่มจมของราชอาณาจักรได้ในชั่วเวลาครู่หนึ่ง.”

ทุรโยธน์นิ่งฟังคำไข, พระหฤทัยกลับคลุ้มไปในความสงสัยอันมืดตื้อซึ่งก็ได้ทรงระแวงไว้แล้วถึงเรื่องความจงรักภักดีในจอมโยธาของท้าวเธอ. และ ‘กรรณ’ คนสำคัญในราชการทหารก็มายังแววแห่งความระแวงให้เห็นเด่นขึ้นอีก, อีกประการหนึ่ง” ‘กรรณ’ นั้นได้เป็นเพื่อนคู่ชีวิตเพื่อนตาย หรือเพื่อนหัวอกอันเดียวกันของทุรโยธน์, ฉะนั้นคำแนะนำของเขาย่อมจะมีน้ำหนักเต็มที่. ทุรโยธน์นิ่งฟัง, และ ‘กรรณ’ พักพูดครู่หนึ่งแล้วก็พูดต่อไป:-

“ข้าพระเจ้าทราบ ภีษ๎มเป็นมหาบิตุลาของพระองค์, และมหาบิตุลาคงจะไม่ทำให้ลูกหลานว่านเครือของตนต้องฉิบหายป่นปี้. แต่ฝ่าพระบาทต้องทรงทราบว่าเขาเป็นบรรพบุรุษทั้งฝ่ายกุรุและฝ่ายปาณฑุ, และธรรมดาคนชราย่อมมีบกพร่องแสดงความลำเอียงและเอื้อเฟื้อแก่ข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่ง คนแก่ทุก ๆ คนย่อมมีบุตรหลานเหลนเป็นหัวรักหัวใคร่และอนงค์แน่งน้อยที่สิเนหาของเขา ภีษ๎มจะได้ลอคพ้นกฎกิเลสนี้แล้วก็หามิได้. แล้วเขาได้กล่าวเปิดเผยแสดงความลำเอียงไปข้างปาณฑพ เมื่อทูลเตือนเชิงชวนธฤตราษฎร์ให้ประสิทธิ์ประสาทอิสรภาพแก่เขา ป่วยการกล่าวสำหรับข้าพเจ้าที่จะฟื้นตัวอย่างเรื่องหลงและรักใคร่โอรสของพระเจ้าปาณฑุที่ล่วงแล้วให้ยืดยาวไป”

“ฉันขอบใจท่าน, กรรณ: ฉันขอบใจท่าน” ธุรโยธน์ตอบดั่งว่ามะเมอเพ้อฝัน และด้วยอาการแห่งคนมะเมอเดินในขณะฝันอยู่, ท้าวเธอจู่ไปยังปะรำที่พักของภีษ๎ม ร้องตะโกนว่า: “ฉันเข้าไปได้ไหม?”

“นั่นใคร มามืดๆค่ำๆ ผิดเวลาดังนี้ ?” เสียงภีษ๎ม ร้องถาม.

“ข้าพเจ้า, ทุรโยธน์.”

“ขออภัยโทษ. เชิญเสด็จข้างใน, อะไรขับท่านให้ออกจากที่นอน?”

“ข้าพเจ้าเสียใจที่มารบกวนท่านในเวลานอนของท่าน. ความคิดหนักใจข้อหนึ่งทับหัวใจข้าพเจ้าอยู่, ข้าพเจ้ามาเพื่อเปลื้องเสียให้หายหนักใจ”

“ความคิดเหลวไหลเก่าๆ ของท่านอีกละกระมัง?”

“เปล่า, มิใช่ความคิดเหลวไหล, แต่เป็นผีอำคืนยังรุ่งข้าพเจ้านอนไม่หลับ ความคิดผีๆ นี้เข้าทับรบกวน”

“จงเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง, และข้าพเจ้าจะระงับจิตให้หลับได้”

ทุรโยธน์ว่า “ท่านไม่เห็นหรือ, เราเสียเขาทุกๆ วันเวลาเย็น? ภีษ๎มเอย, ความหวังมีชัยหรือสดุ้งต่อภัยนั้นย่อมอาศัยกำลังความกล้าหาญชาญชัยของท่านพวกปาณฑพกล้าหาญในการรบ, แต่เขาหลีกหลบหัตถ์ของท่านอันกอปรด้วยกำลัง, และเขาพากันสังหารแถวทหารของเราทั่วไป, จงระลึกถึงคำปฏิญญาของท่านที่ว่า-- จะประคับประคองตระกูลขัตติยราชของกรุงหัสตินาปุรไว้, ถ้าอย่างไรละก็ ท่านจงให้อภัยโทษถ้อยคำหยาบคายของข้าพเจ้า ถ้าภายในดวงกมลอันประเสริฐของท่านถูกความเมตตาในเจ้าปาณฑพเข้าไปครอบงำอาการไหวติงของท่านอยู่ไซร้, จงให้ ‘กรรณ’ ทำหน้าที่ผู้นำทัพของข้าพเจ้าแทนท่าน, และนำทหารเข้าทำการรบให้มีชัยเร็ว ๆ เถิด”

ภีษ๎มถอนไจใหญ่พลางตอบว่า “อนิจจา! ทุรโธชน์, ความหวังของท่านไม่เป็นผล, การณรงค์ของท่านก็เป็นการต่อสู้ที่ไร้ผล, ไพร่พลแสนยากรของท่านเท่ากับของเล่นไม่มีราคาในมือของเวรกรรม. ข้าพเจ้าได้บอกท่านกี่หนแล้วว่าความเป็นธรรมจะชนะ, ว่าผู้ที่รบเพื่อทรงไว้ซึ่งธรรมนั้นมีอาวุธสองเท่า, ฝ่ายผู้ที่รบสำหรับอธรรมนั้นหั่นกำลังของตนเข้าทำลายตนเอง. ท่านลืมเสียแล้วหรือ เมื่อเรายกเข้าไปตีปล้นเอาฝูงสัตว์พาหนะในท่องทุ่งหญ้าของมัตส๎ยะนครแห่งแคว้นวิราฏ, แต่ลำพังความกล้าหาญของอรชุนผู้เดียว ไพร่พลของท่านเป็นก่ายเป็นกองต้องล่องหนี? ท่านลืมเสียแล้วหรือ แต่ก่อนพวกคันธารพจับท่านไปได้, อรชุนเป็นผู้เข้าหักเครื่องจำจองของท่าน? อรชุนผู้นี้ยังอยู่กับพวกปาณฑพ, และในบัดนี้เขาได้รับความช่วยเหลือของกฤษณ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารถีของเขา; และท่านก็ทราบอยู่ด้วยดี กฤษณเป็นชายชาตรีมีเทพดาองค์หนึ่งคุ้มครองป้องกันเขา มันจะประจักษ์แก่ตาของเรารางๆ เพียงไรก็ตาม, ทุรโยธน์, ตัวท่านต้องถึงพรหมลิขิตในการสงครามครั้งนี้. ตราบใดภีษ๎มยังมีชีวิตอยู่, เขาจะทำหน้าที่ของเขาโดยสัตย์สุจริต แต่มรณะของเขาใกล้เข้ามาแล้ว, แล้วจึงให้เจ้าใหญ่นายโตอื่นเข้าสวมที่เป็นผู้บัญชาการกองทัพกุรุแทนเขา. แต่ข้าพเจ้ากล่าวซ้ำให้ท่านฟัง, การยุทธ์กุรุเกษตรนี้จะให้ผลถึงพ่ายแพ้แต่ปรปักษ์”

เมื่อวันพรุ่งรุ่งขึ้นมา, ภีษ๎มชักสีหน้าปึ้งขึ้งโกรธ เปลวอัคนีวาวรุ่งโรจน์ออกจากนัยนา, ถ้อยคำของทุรโยธน์เข้าไปกระทบตลบดวงจิต, และในบัดนี้เขาจึงเข้ารบด้วยโทสะไม่กลัวตาย, แต่เช้าจนเที่ยง แต่เที่ยงจนบ่าย, ไม่มีผู้ใดต่อต้านโทสะของวีรบุรุษยู้เดือดดาลนี้. พวกปาณฑพวิ่งหนีไปข้างหน้าเขาราวกับฝูงเนื้อ, รถศึกของภีษ๎มซึ่งไม่มีผู้ใดต่อต้านก็ทะยานไปในท่ามกลางศพทหารที่ตายแล้วและกำลังร่อแร่อยู่, ทะยานเข้าไปในหมู่ผู้ที่ตั้งรับต่อสู้และผู้ที่หนีหน้า, จนกระทั่งฉายาของราตรีกาลตกต้องสิ่งน่าแสยงแห่งฉากรบนั้น.

ยุธิษฐิรผู้ทรงศีลก็เสียพระหฤทัย; ด้วยความเศร้าท้าวเธอทอดพระเนตรดูยุทธภูมิอันอาบด้วยโลหิตนองกองก่ายด้วยร่างกายผู้ตายและใกล้จะตายทั้งสองฝ่าย; พระหฤทัยอ่อนของท้าวเธอแทบจะทนสิ่งที่ได้ประสบพระเนตรนั้นไม่ได้. เสด็จไปหากฤษณมืด ๆ และตรัสว่า; “สงครามอันน่าสยดสยองนี้ไม่เป็นผล, การผจญฆ่าฟันอันไม่มีที่สุดนี้, การฆ่าตีมิตรญาติมิรู้หยุดลงได้นี้, กรรมของข้าพเจ้า! มิตรของเราเป็นข้าศึกของเรา, และในการที่เราฆ่าฟันเขานั้น เราก็ฆ่าฟันตัวของเราเองเท่านั้น, ได้รบพุ่งฆ่าฟันกันเลือดตกยางออกมากนักหนา, ดูเหมือนว่าเรายังไม่ใกล้หลักชัยเข้าไปเลยนี่, พวกกุรุก็ยังมีชัยอยู่! ไม่มีกำลังอันใดต้านทานภีษ๎มผู้ชนะทุกทิศได้. การอันเหนื่อยเปล่า, ยุ่งยากไปเปล่า; เสียชีวิตมากมายก่ายกองเปล่า, ต่อสู้กรรมนิยมไปเปล่า, ทหารของเราเลือดตกยางออกเปล่า, ราษฎรของเราสละชีวิตให้เราเปล่า, ชาติทั้งหลายได้สละชีพ-โลหิตของเขาเพื่อเห็นแก่เราเปล่า กฤษณเอย, ข้าพเจ้าทนไม่ได้แล้ว; จงหยุดการฆ่าฟันไม่เลือกหน้านี้เสียเถิดหนา, และเราพากันไปอยู่ป่าอีกสักคราวเถิด”

ภายหลังการนี้ยุธิษฐิรได้เรียกประชุมเวลาเที่ยงคืน, และได้ใช้หัวหน้าหลายท่านฝ่ายปาณฑพให้ไปหาภีษ๎ม อ้อนวอนขอความเมตตากรุณา ท่านนักรบโบราณปฏิสันถารต้อนรับด้วยความกรุณาเป็นที่สุด. แต่ในขณะเดียวกันนั้นได้บอกว่า ตราบใดเขายังมีชีวิตอยู่ เขาจะรบสู้ชิงชัยให้ทุรโยธน์ด้วยสัตย์สุจริต. เขาได้สาบานคำแห่งชาตินักรบของเขาไว้ต่อเรื่องนั้น, และเขาจะไม่ทิ้งคำนั้น แต่อย่างกษัตริย์นักรบ เขาได้สาบานไว้ว่าจะไม่รบข้าศึกที่พ่ายแพ้แล้ว หรือข้าศึกที่ล้มหรือหนี, หรือวางอาวุธ, หรือร้องขอความกรุณา; จะไม่รบข้าศึกที่อ่อนน้อมยอมแพ้หรือสิ้นกำลัง, หรือต้องอาวุธ หรือมีกำเนิดเป็นสตรีเพศ

พวกหัวหน้าปาณฑพกลับไปค่ายด้วยหรรษา บอกแก่อรชุนว่า; “ในบัดนี้มีหวังดีที่จะมีชัย, ภีษ๎มได้สาบานไว้ว่า เขาจะไม่รบบุคคลผู้มีกำเนิดเป็นสตรีเพศ เรามีคนอย่างที่ว่านี้อยู่คนหนึ่งในแถวของเรา โดยเคราะห์ดีนี่กระไร. ท่านว่าอย่างไรถึงเรื่องศิขัณฑิน? เขาเกิดมาเป็นสตรี, แต่เมื่อยังเป็นเด็กอยู่ได้แลกเปลี่ยนเพศกับยักษ์ตนหนึ่งก็เลยกลายเป็นบุรุษ. จงให้ศิขัณฑินอยู่กองหน้าของทัพเรา, ภีษ๎มจะต้องถอยไป, ทิ้งเราไว้เป็นเจ้าของสนามยุทธ์โดยไม่มีปัญหา”

อรชุนโกรธมากเมื่อได้ยินคำหารือนี้, และร้องออกมาดังๆ ว่า: “ขายหน้า ! นักรบสุจริตคนไหนจะเหยียดตัวลงทำการรบลับ ๆ, หรือซ่อนความกล้าไว้ข้างหลังสตรีหรือเด็ก? ข้าพเจ้าคนหนึ่งละ เป็นไม่ยอมรบด้วยอาการขลาดดังนี้- เอาอุบายอย่างน่าขายหน้าเข้าเล่นงานภีษ๎มผู้หามลทินมิได้, เล่นโกงใหญ่ให้เสียเกียรติยศของเราเอง.”

กฤษณยืนขึ้นตอบปราศรัยอรชุนว่า: “มันถึงกาลมิคสัญญีโดยพรหมลิขิตแล้วว่าวันพรุ่งนีภีษ๎มจะล้ม. เบื้องว่าเขาได้รบพุ่งต่อสู้ผู้ที่เขารักฉันใด, อรชุนเอย, ท่านก็ต้องรบพุ่งต่อสู้พระญาติของท่านฉันนั้น. เขาได้แสดงให้ท่านเห็นแล้ว กษัตริย์นักรบต้องรบอย่างไร, จะเป็นข้าศึกที่ตนรักหรือข้าศึกที่ตนชังก็ตาม, ข้าพเจ้าขอบอกท่าน, มันไม่มีบาปกรรมอะไรในการที่ให้ศิขันฑินนำกองทหารของเรา, เขาจะเป็นอะไรเวลาเกิดก็ตามที, ในบัดนี้เขาเป็นนักรบอย่างเดียวกันกับท่าน, ไม่มีเล่น์กระเท่ห์, ไม่มีกลโกง. อย่างท่านเกรงดอก”

ได้ฟังคำเตือนสติดังนั้นแล้ว, อรชุนก็ออกรบในวันที่สิบ, มีศิขัณฑินนำหน้ากองทหารปาณฑพ เห็นแม่ทัพใหม่นำทัพยุธิษฐิร, ทุรโยธน์ก็พยายามอ้อนวอนภีษ๎มอีกครั้งหนึ่งให้สละตำแหน่งของเขาแก่ ‘กรรณ’ ท้าวเธอในบัดนี้ทรงเห็นว่า การเปลี่ยนแม่ทัพนายกองเป็นการจำเป็นทางราชการทหาร; ทรงเห็นว่าแม่ทัพคนเดียวกันนำกองทหารออกรบทุก ๆ วันไม่เปลี่ยนตัวเสียบ้างดังนั้น เป็นการบอกความขลาดแคลนแม่ทัพนายกองที่สามารถในพวกกุรุ; และทรงเห็นว่า การเปลี่ยนไม่แต่เพียงให้อาการกระตุ้นใจอันจำเป็นแก่ไพร่พลของท้าวเธอเท่านั้น ยังเป็นการกระทำความหวาดหวั่นตะครั่นตะครอแก่ข้าศึกด้วย. ครั้นท้าวเธอเห็นพวกปาณฑพเลือกผู้นำทัพใหม่, ท้าวเธอใคร่จะดำเนินตามตัวอย่างของเขา, ทรงเห็นว่า ที่ทำดังนี้ท้าวเธอจะได้ทรงไว้ซึ่งเงาแห่งความเสมอหน้ากับข้าศึก. ท้าวเธอจึงอ้อนวอนภีษ๎มอีกครั้งหนึ่งให้มอบตำแหน่งแก่ ‘กรรณ’ แต่ภีษ๎มตอบอหังการว่า “วันนี้ข้าพเจ้าจะปราบพวกปาณฑพให้แหลกรานจงได้, หรือไม่ก็ตายเสียในสนามยุทธ์ อย่ารำคาญพระหฤทัยไปเลย, การสมปรารถนาของท่านนั้นไม่ไกลดอก”

กล่าวคำฉุนเฉียวเหล่านี้แล้ว, วีรบุรุษชราขับรถถลาออกไป. กล่าวคำท้าทายอรชุน, นักรบทั้งสองก็ตั้งต้นต่อสู้กัน กระบวนสงครามยังไม่เคยมีการรบเหมือนอย่างนี้ ระหว่างภีษ๎มกับอรชุน, ซึ่งแน่นอน เป็นนักรบแกว่นกล้าตัวกลั่นของพวกที่กระทำการรบพุ่งกันทั้งสองฝ่าย เป็นการรบที่น่าดู, และทหารมากมายได้มายืนล้อมรอบที่นั้น, เพื่อดูการต่อสู้นั้น, อรชุนกับภีษ๎ม, นักรบเอกด้วยกันทั้งสองคน, ในบัดนี้กำลังแสดงฝีมือรบอย่างเต็มที่, และเป็นการสมควรนักที่คนทุก ๆ คนจะต้องชมเล่นเป็นขวัญตา.

เมื่อการต่อสู้ได้เป็นอยู่ ณ จุดสูงสุดแห่งโทสัคนีนั้น. ศิขัณฑินเข้าโจมตีภีษ๎มโดยมิทันรู้ตัวจากเบื้องหลัง, แต่พอภีษ๎มเหลือบไปเห็นศิขัณฑินเข้าก็พลันระลึกขึ้นมาได้ถึงคำปฏิญญาที่ให้ไว้แก่พวกหัวหน้าปาณฑพ, ว่าจะไม่รบสู้ “ผู้ที่เกิดมาเป็นสตรี,” เมื่อระลึกได้ถึงเรื่องนี้ หัตถ์ของเขาก็หลุดในท่าจะแผลงลูกธนู; คันธนูหลุดจากหัตถ์ทั้งสอง, และลูกธนูของอรชุนก็แล่นไปทิ่มแทงร่างกายทุกแห่ง, ถึงกระนั้นท่านผู้ใหญ่ผู้มีศีรษะหงอกขาวแล้วยืนมั่นดั่งภูผา, โลหิตไหลและมีอาการหน้ามืด, แต่ก็ยังยืนมั่นอยู่กับที่ ในที่สุดรู้สึกว่าการแข่งขันของเขาเป็นอันได้แข่งแล้ว, การแข่งขันเอาเกียรติของเขาไว้นั้นถึงที่สุดลงแล้ว, เขาก็ล้มลงกลางสนามยุทธ์, ล้มอย่างกษัตริย์ชาตินักรบ, ต่อสู้จนถึงที่สุด มิได้มีโอดครวญ, มิได้มีทอดถอนใจใหญ่, ซ้ำไม่ยอมให้ใครถอนทิ้งดึงปลดลูกธนูที่ปักติดตุงนุงนังกายอยู่นั้น, ถนอมไว้ต่างเตียงที่รองกายยามนอน.

ภีษ๎มก็นอนอยู่อย่างนี้ในสนามยุทธ์, ค้างกายบนธนูบิฐ ที่ค้างกายล้วนแล้วด้วยลูกธนู; ดวงตะวันก็ตกลับขอบฟ้า, ดื่นดาราก็เปล่งแสงอร่ามในอัมพร, ส่องรัศมีสีอ่อน ๆ มาต้องหน้าตาอันแจ่มใสของท่านนักรบที่สู้นั้น.

ท่านนักรบชราร่างนอนอย่างสง่าผ่าเผยพร้อมด้วยยศและบริวาร มิได้เอาอารมณ์ไปเกาะเกี่ยวความเจ็บปวดรวดร้าวและกระวนกระวาย, และสนทนาอย่างร่าเริงแก่ผู้ที่มาแวดล้อมเพื่อร้องไห้รำพันครวญ. ผู้ไว้ทุกข์ทั้งมวลนั้นรวมอรชุนกับยุธิษฐิรจากค่ายฝ่ายที่ตรงกันข้ามเข้าในจำนวนนั้นด้วย ทุรโยธน์พร้อมด้วยภราดาของท้าวเธอได้รีบเสด็จมาประทับอยู่ข้าง ๆ ท่านนักรบที่ล้ม, ล้ม, แต่ยังไม่ตาย.

ภีษ๎มทักทายปราศรัยทุรโยธน์ก่อนเพราะใจเป็นห่วงเฝ้าแต่นึกถึงทุรโยธน์เท่านั้น, ให้โอวาททุรโยธน์ด้วยน้ำใสใจจริงหลายครั้งและเนืองนิตย์, แต่เจ้าผู้หนักในจิตคิดอวดดีมิได้ฟังโอวาทของเขาอันไต่สวนชอบแล้ว. ภีษ๎มคิดเสียว่าปัจฉิมวาจาของเขาบางทีจะกระทำการจับอกจับใจอันกระด้างนั้นดีกว่าที่ได้เป็นมาแล้ว. จึงได้พูดว่า: “จงฟังคำของข้าพเจ้าในบัดนี้, ทุรโยธน์เอย, จงฟังเสียงสั่งก่อนตายของญาติผู้จงรักภักดี, ถ้าใจของท่านอันกระด้างดั่งศิลายังน้อมต่อสมเพชเวทนาอยู่ไซร้, จงให้มันสั่งท่านทันทีให้หยุดการฆ่าฟันอันนี้ การพิฆาตเครือญาติด้วยหัตถ์ของเครือญาตินี้เสีย กุรุขัตติยราชเอย, จงไว้ชีวิตเจ้านายผู้กล้าหาญ, ซึ่งได้ติดตามตัวท่านในเวลาปราศศึกและในเวลาสงคราม, ในยามสุขและยามทุกข์, อย่าให้ชาติกุรุที่แกว่นกล้าสาบสูญสิ้นไป, จงคืนส่วนของสหอาณาจักรที่เป็นของเขาโดยชอบธรรมนั้นให้แก่ยุธิษฐิร ยุธิษฐิรผู้ทรงศีลบริสุทธิ์และทรงสัตย์หาที่ติมิได้. ขอให้ปาณฑุและกุรุเนาในสุขและมิตรภาพอีกสักครั้งหนึ่งเถิดพ่อ, นี้เป็นคำร้องขอครั้งที่สุดของข้าพเจ้าต่อท่าน”

ทุรโยธน์นั้นนึกสมเพชท่านแม่ทัพผู้ใกล้มรณะมากนักหนา, แต่ปัจฉิมวาจาของท่านแม่ทันมิได้รับความเอออวยเห็นด้วยในดวงกมลของทุรโยธน์, หฤทัยของท้าวเธอยังน้อมไปในการล้างผลาญเจ้าปาณฑพและการฉ้อโกงเอาอาณาจักรอินทรปรัสถ์ของเจ้าปาณฑพ, ฉะนั้นท้าวเธอก็ตั้งหฤทัยจะขับเคี่ยวสงครามต่อไปจนกว่าจะเหลือทหารที่จะยิงธนูอยู่แต่คนเดียว.

ถัดนั้น ‘กรรณ’ ก็เข้ามาหาวีรบุรุษผู้ใกล้มรณะ ‘กรรณ’ ไม่ชอบภีษ๎ม, นึกริษยาวิชาความรู้เลิศของเขา และตำแหน่งแหล่งยศอันสง่าที่เขาว่าอยู่ เป็นผู้บังคับบัญชาใหญ่ในกองทักบกกุรุ: และในเวลานี้ขณะที่ท่านแม่ทัพเฒ่านอนคอยท่ามฤตยุราชอยู่, คู่ปรับเก่าแก่ก็ลืมเสียซึ่งความชิงดีกัน, และมาแสดงคำอำลาเขาผู้ใกล้จะตายในอันธการแห่งราตรี, ค่อยๆย่องเข้ามาเพื่อจะไม่กระทบกระเทือนเชือนจิตรของท่านนักรบผู้ใกล้จะตาย, แต่ภีษ๎มได้ยินเสียงฝีเท้าก็ร้องเรียกเขาเข้าไปใกล้ ๆ ข้างตัว. พูดเสียงฉ่ำเฉื่อยด้วยน้ำรักว่า “เราเคยเป็นคู่ชิงดีกันแต่ไหนแต่ไร, ริษยาสติปัญญาและความบันลือของกันและกัน, และประกวดประขันจะเอาชีวิตกันอยู่เป็นนิตย์: ในบัดนี้ขอยุติริษยาอาฆาตชิงดีกันเถิดหนา. ข้าพเจ้ามีความอยู่ข้อหนึ่งที่จะพึงไขแก่ท่านนะ ‘กรรณ’ แต่ข้าพเจ้าเกรงว่าเสียงของข้าพเจ้าจะทำให้ข้าพเจ้าเสียการไปก่อนที่จะสั่งความจบ, ข้าพเจ้าจะขอไขความลับข้อหนึ่งให้ท่านทราบ, ความลับซึ่งข้าพเจ้าได้ปกปิดมานานครัน, อรชุนนั้นมิได้เป็นนักรบใหญ่กว่าท่านแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง, เขาไม่มีปัญญามากกว่าท่านในวิชารบ, หรือศักดิ์สกุลก็ไม่สูงกว่าท่านแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง, เพราะท่านเป็นเจ้าชายสืบสายโลหิตกษัตริย์อันเดียวกันกับเขา ท่านเป็นโอรสของพระนางกุนตีและสุริยเทพ. จริงเทียว พระนางคลอดท่านออกมาขณะพระนางยังเป็นสาว, และสูรยเทพเจ้าเป็นผู้ยังกำเนิดบังเกิดเกล้าของท่าน เมื่อยังเป็นราชกุมารอยู่นั้น เขาเอาท่านไปทิ้งแบไว้บนแผ่นผาเพื่อให้ตาย, เพื่อหลีกเลี่ยงความขายหน้ามารดาของท่าน และสารถีคนหนึ่งเอาตัวท่านไปบ้าน เลี้ยงดูท่านเป็นบุตรของเขามา, ฉะนั้นอรชุนก็เป็นภราดรของท่านเอง, และสงครามที่เราทำกันอยู่เวลานี้เป็นสงครามระหว่างญาติ อุบาทว์เต็มที, ซึ่งเป็นหน้าที่ของท่านที่จะนำไปสู่การสิ้นไป โดยเร็ว”

‘กรรณ’ ตกตะลึงโดยภีษ๎มไขความลับแห่งกำเนิดของเขาออกมานั้น, เขาดีใจที่ว่า เสียงติเตียนลงเอาเขาว่าเป็นบุตรสารถีอยู่เป็นนิตย์นั้นไม่จริงเสียแล้ว แต่เขาเสียใจต้องนับอรชุนเป็นภราดร, ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายในสกลโลก อรชุนเป็นนักรบที่เขาชังมากที่สุด-อรชุนเป็นข้าศึกที่เขาอยากจะขยี้เสียที่สุดที่แล้ว, จำเดิมแต่ได้ซ้อมอาวุธประฝีมือกันในวัยที่เป็นเด็กหนุ่มอยู่, ได้มีใจริษยาอรชุนมากมาย และเป็นความมุ่งหมายของเขาโดยเฉพาะจะหักคู่ชิงดีทีเขาชังนี้ลงเสียให้จงได้, เพราะฉะนั้นคำขอร้องของภีษ๎มให้นำสงครามไปสู่ความสิ้นไปโดยเร็วนั้นเข้าไปสัมผัสหฤทัยของ ‘กรรณ’ น้อยเท่าที่ได้สัมผัสหฤทัยของทุรโยธน์กระนั้น, ยามรักษาการวางแวดล้อมรอบภีษ๎มขณะที่เขานอนอยู่เหนือธนูบิฐ-ที่นอนอันศรเสียบ-รอเวลาของเขาอยู่นั้น.

อาศัยการฝึกฝนทำใจของเขาได้อย่างประหลาด. ท่านแม่ทัพผู้ไม่มีบาปได้หน่วงเวลาตายให้เนิ่นไปถึงวันเพ็ญหน้า, คราทีนั้นโดยแน่นิ่งไม่ไหวติงกาย เขาก็ยอมน้อมจิตอันกล้าหาญถวายแด่พระผู้ทรงสร้างมา.

ฝ่ายเการพได้เรียกประชุมหารือการสงครามอีกครั้งหนึ่ง, ในการประชุมครั้งนี้เขาได้เลือกท่านหัวหน้าพราหมณ์โท๎รณาจารย์เป็นผู้นำทัพกุรุแทนภีษ๎ม, เจ้าปานฑพภราดาทราบข่าวด้วยความตระหนกตกพระหฤทัย, เหตุว่าโท๎รณได้เป็นอาจารย์ของเธอ, เธอเห็นบาปกรรมที่จะทำสงครามต่อสู้ครู, เพราะเหตุร่างกายของอาจารย์นั้นนับถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และทำร้ายไม่ได้ในสมัยอินเดียโบราณ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ