- กถามุข
- ตอนหนึ่ง ความริษยาแห่งญาติ
- ตอนสอง การสยุมพรนางเท๎ราปที
- ตอนสาม อาวาหมงคลแห่งเท๎ราปที
- ตอนสี่ ห้องประชุมรัฐมนตรี
- ตอนห้า อินทรปรัสถรัฐ, ราชอาณาจักรใหม่
- ตอนหก การพนันใหญ่
- ตอนเจ็ด การเนรเทศเจ้าปาณฑพ
- ตอนแปด พระเจ้ากรุงวิราฏ
- ตอนเก้า พวกกุรุเข้าเหยียบแดนวิราฏ
- ตอนสิบ การประสบ
- ตอนสิบเอ็ด หารือสงบศึก-เตรียมรบ
- ตอนสิบสอง สงคราม-กุรุเกษตร
- ตอนสิบสาม ความขุ่นหมองของทุรโยธน์
- ตอนสิบสี่ โท๎รณาจารย์ ผู้นำทัพคนใหม่ฝ่ายกุรุ
- ตอนสิบห้า มรณะของอภิมันยุ
- ตอนสิบหก ฉากสุดท้ายของสงคราม
- ตอนสิบเจ็ด อวสานแห่งสงคราม
ตอนสิบ การประสบ
วันต่อจากการมีชัย ได้มีประชุมทางราชการเพื่อประกาศข่าวสาสน์อันน่าปริติยินดีว่า กองทัพท้าววิราฏได้มีชัยชนะกองทัพฝ่ายกุรุอย่างงามหน้า พระที่นั่งท้องพระโรงคับคั่งจนหายใจไม่สะดวก, ผู้แทนราษฎรทุกชั้นทุกพวกพากันมามากล้นหลาม เพื่อมีส่วนในความรื่นเริง. แต่มีสิ่งหนึ่งซึ่งก่อความพิศวงอย่างน่าประหลาดใจแก่พวกไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ คนประหลาดแปลกหน้าคนหนึ่งเพิ่งมีมาสวมราชบัลลังก็ของพระราชาวิราฏ, ฝ่ายอีกสี่คนซึ่งแปลกหน้ามานั้น, สวมเครื่องทรงอย่างเจ้า, ยืนแวดล้อมเฝ้าอยู่รอบราชบัลลังก์นั้น. อันนี้แลเป็นคดีลึกลับซึ่งเร้าความประหลาดใจอย่างยิ่ง, แต่นิกรราษฎรไม่กล้าปริปาก, ได้แต่กระซิบกระซาบกันเบาๆ พวกเขาจ้องดูกันและกันตะลึงลานพิศวงนักหนา ผู้ที่แปลกหน้ามานี้จะเป็นใครหนอ? คงมิใช่ผู้แย่งชิงราชสมบัติ, ซึ่งทรนงขึ้นไปอยู่บนราชบังลังก์นั้น, บางคนนึกคลับคล้ายคลับคลาดูเหมือนว่าจะจำหน้าผู้แปลกหน้ามาได้สองสามคน, แต่นึกไม่ออกว่าชื่อเรียงเสียงไร หรือใครเป็นใคร. ฝ่ายผู้ที่ยังไม่เคยเห็นพักตร์พระราชาของตนนั้นมิได้สงสัยอะไร ถึงกระนั้นความรู้สึกประหลาดอัศจรรย์ใจในเวลานั้นเป็นความรู้สึกซึ่งแปลไม่ออก.
ขณะที่ผู้ดูทั้งหลายกำลังทำการเดาในใจต่างๆนานา, พระราชาวิราฏเสด็จก้าวเข้ามาในห้องที่ออกขุนนาง. พระพักตร์ของท้าวเธอชักแดงก่ำเมื่อแลไปเห็นผู้แปลกถิ่นขึ้นนั่งอยู่เหนือบัลลังก์. ท้าวเธอสำคัญพระหฤทัยว่า ข้าราชการในราชสำนักพร้อมใจกันจัดการจำอวดขนานใหญ่นี้ขึ้น เป็นกิจสมโภชการมีชัยแก่พวกกุรุ, และพระโลหิตของท้าวเธอเดือดพลุ่งพล่านภายในพระกาย เมื่อหวนระลึกถึงความหน้าด้านไม่มีอายของเหล่าราชบริพารขึ้นมา ในการที่ปล่อยให้ขี้ข้าขึ้นนั่งเหนือราชบัลลังก์เล่นสนุกสนาน เป็นการทุราจารต่อพระที่อันศักดิ์สิทธิ์ของขัตติยราช, ทรงคำนึงว่า ‘ความสนุกประหลาดจริงเทียวหนอนี่ มันคงจะตัดเศียรเกล้าของข้าพเจ้าเสียสักวันหนึ่ง และเรียกการอันนี้ว่าล้อเล่น !’ ครั้นเสด็จเข้ามาใกล้ ท้าวเธอจำผู้แปลกหน้านั้นได้ว่าข้าใช้ของท้าวเธอ, ข้าใช้ซึ่งท้าวเธอได้รับเอาตัวไว้ใช้การงานเพราะความสงสารเขา. และโทสะของพระเป็นเจ้าก็ยิ่งเดือดดาลใหญ่, แผดพระสุรเสียงตวาดว่า “นี่อะไรกันหวา?”
ตันตรปาล, เสนาบดีของท้าวเธอคนหนึ่ง, ยืนขึ้นทูลว่า, “จงระงับโทสะเสียก่อนเถิด, พระเจ้าข้า: ผู้แปลกหน้าซึ่งนั่งสวมบัลลังก์ของพระองค์นั้นมิใช่อื่นไกล คือมหาราชยุธิษฐิร! เราควรจะนับว่าเราเป็นผู้มีโชคดีที่พระผู้เป็นใหญ่เป็นประมุขแก่เจ้าทั้งหลายได้มานั่งเป็นประธานให้ตระการตา!”
ราชวิราฏอึดอัดตรัสไม่ออกอยู่เป็นครู่ มีดวงพระหฤทัยอันไม่อยู่กับตัว, เต้นตึกตักไม่เป็นส่ำ, ซ้ำให้เกิดฉงนสนเท่ห์ใหญ่, ความคิดในใจร้อยแปดพันเก้าเข้าครอบดวงกมลในขณะนั้นเหมือนผีสิง. ครันอ้ำอึ้งนิ่งอยู่ครู่ใหญ่, ความจริงก็วาบขึ้นในพระหฤทัยมิทันนาน, และท้าวเธอก็ลงเข่ากรานกราบมหาราช. เมื่อความสามารถพูดออกได้กลับคืนมีมา, ยกหัตถ์ประนมและอยู่ในท่าลงเข่า, กราบทูลว่า “ขอประทานโทษเถิด, พระเจ้าข้า; จงประทานอโหสิกรรม ความขายหน้าอันนี้ในตัวข้าผู้มีสมฤดีอันประมาทแล้วยิ่งกว่าหฤทัย เป็นความเห็นผิดของข้าพระเจ้า, หาใช่ความจงรักภักดีไม่, ที่ได้ประมาทพลาดพลั้งไป ขอพระองค์จงรับข้าพระเจ้าไว้เป็นข้าเถิด, พระเจ้าข้า”
ตรัสเท่านั้นแล้ว พระราชาวิราฏก็ทรงกันแสงไห้, ระลึกถึงกาลที่ล่วงแล้วขึ้นมาทันที ระหว่างที่เจ้าปาณฑวภราดาปลอมพระองค์เป็นข้ารับใช้อยู่ในท้าวเธอ, และท้าวเธอรู้สึกเสียพระหฤทัยเมื่อคิดขึ้นมาถึงการที่ได้ใช้มหาราชเจ้าฉันขี้ข้าเนืองนิตย์. ท้าวเธอรู้สึกตัวว่าได้ล่วงอกุศลกรรมอันหนึ่งซึ่งไม่มีหนทางอย่างอื่นที่จะขมาอัจจัยโทษอันนี้ได้ นอกจากตายเสียเท่านั้น,
ยุธิษฐิรทรงเห็นพระราชาทุกข์ถึงบาปก็ลุกขึ้นยืนหน้าบัลลังก์ ทรงกอดองค์พระราชาไว้ในวงแขนแล้วตรัสว่า: “ข้าพเจ้าอโหสิกรรมความประมาทพลาดพลั้งที่ยังมิได้กระทำเลยนั้นอย่างไรได้ ! ตัวข้าพเจ้าเสียอีก, ตรงกันข้าม, ควรจะขอบบุญเห็นคุณท่านที่ได้ให้สำนักอาศัย และปกป้องภอันตรายในคราวเคราะห์ของเรา, ในเมื่อเทพเจ้าในชั้นฟ้าเกรี้ยวโกรธเคียดขึ้งบึ้งแก่เรา”
“หามิได้ พระเจ้าข้า, ข้าพระเจ้าขอพระราชทานโทษ; ถ้าเหตุดีได้อุบัติแก่พระองค์ในที่นี้ไซร้, ก็มิใช่อื่นไกล, ได้แก่มือลับซึ่งได้อปโลกน์พระองค์ไว้ในตำแหน่งเป็นเจ้าเป็นนายข้าพระเจ้า, และข้าพระเจ้าเป็นบ่าวเป็นข้าพระองค์นั่นเอง.”
“เออ, เออ, จงรักษาคำเยินยอของท่านไว้เวลาอื่นเถิด, ท่านทราบหรือไม่ว่า เราได้ตีกองทัพกุรุที่บุกรุกเข้ามาครั้งที่สองล่องกลับไปขณะที่เธอไม่อยู่?”
“ข้าพระเจ้าเพิ่งทราบเรื่องนี้พระเจ้าข้า, ข้าแต่พระราชาผู้เจ้านายของข้า, พระองค์ไม่ไว้วางพระหฤทัยหรือที่จะให้ข้าพระเจ้าทราบบ้างว่า พระอนุชาของพระองค์ และพระราชินีเท๎ราปทีสำนักอยู่ที่ไหน ?”
“เขาสำนักอยู่ที่นี่พร้อมหน้ากัน, แต่เขามีนามอย่างอื่นเพื่อกลบเกลื่อนเงื่อนเค้าสมญาเดิม นี่คือนกุลน้องของฉัน, มีนามสกุลว่าครันถิก; และนี่คือสหเทพ, อมาตย์ตันตรปาลของท่าน; อรชุนเป็นนายสารถีของท่าน, และภีม, ข้าพระเจ้าเสียใจที่จะพึงลั่นวาจา, เป็นผู้ฆ่ากิจกะผู้เป็นเขยของเธอในเมื่อแปลงสมญาว่าพัลลภ, เท๎ราปทีเป็นนางข้าหลวงเรือนในคนใช้ชิดของพระราชินีวิราฏ, คือไสรินธรี ที่แปลงองค์ กิจกะงวยงงหลงกลจนตัวตาย.”
พระราชาทรงฟังยุธิษฐิรแถลงการด้วยความพิศวงนักหนา. ราวกะว่าเหตุการณ์อัศจรรย์ได้เกิดขึ้นเป็นลำดับกันมา. กาลกิริยาของกิจกะ,อันเป็นเรื่องเศร้าพระหฤทัยในกาลที่ล่วงแล้วก็จริงแล, แต่ในบัดนี้ไม่กระทบพระหฤทัย เหมือนในเมื่อสั่งให้มัดมือและเท้าเทวีและให้ทิ้งนางลงในกองอัคนี. ในบัดนี้ท้าวเธอรู้สึกว่า มรณภัยที่กิจกะได้ประสบนั้นเป็นโทษทัณฑ์อันเบาสำหรับกรรมลามกที่เขาได้กระทำแล้ว ในการจู่ลู่หมายตนเป็นคู่ควรแก่สตรีเพศผู้หนึ่งซึ่งศักดิ์สิทธิ์กว่ามารดาบังเกิดเกล้า, บริสุทธิ์กว่าเทพธิดาในชั้นฟ้า. ท้าวเธอติโทษตัวเองที่ให้ยินยอมให้พระมเหสีทำการหักโหมแด่พระราชินีผู้หามลทินมิได้, ถึงแม้ยุธิษฐิรจะเอาใจสักเพียงไรก็ดี, ดวงหฤทัยของท้าววิราฏก็มิได้รับความสงบเศร้า, พระเนตรของท้าวเธอมิได้สงบกันแสงไห้. ความรู้สึกถึงการที่ได้ประมาทพลาดพลั้งแต่หนหลังหนักอกหนักใจนักหนา และบีฑาท้าวเธอราวกับผีสิง. ยุธิษฐิรเชิญท้าวเธอเข้าที่ไสยาสน์, เพราะมีนิทราเป็นยาระงับใจเศร้าแต่ขนานเดียวเท่านั้น ท้าวเธอตรัสว่า ข้าพเจ้าจะหยุดพูดละ, ถ้าถ้อยคำของข้าพเจ้ามีแต่กระทำให้อัสสุชลของท่านหลั่งไหล ข้าแต่ท่าน, เรื่องที่ล่วงแล้วก็ให้มันเป็นแล้วไปเถิด; อย่ามัวรำพึงถึงความเศร้าที่หาสารบมิได้, การบห่อนดำเนินตามใคร ๆ ไปเรื่อย, บุคคลผู้นั้นจะกอปรด้วยฤทธิ์สักปานไรก็ตาม, หากไม่มีการแปรผันแห่งวาสนาคราขึ้นลง, ชีวิตจักเป็นพื้นตื้อๆไม่มีรสสนุกเลย, ผู้ดำรงในสถานันดรศักดิ์สูงกว่าข้าพเจ้าหลายท่าน ได้รับรสชาติความลำบากยากแค้นกว่าความลำบากที่ได้อุบัติแก่ตัวข้าพเจ้า. อัสสุชลของท่านในบัดนี้กระทำใจของข้าพเจ้าให้ช้ำมากกว่าถ้อยคำหมิ่นประมาทที่เธอจะพึงทำแก่ข้าพเจ้าโดยมิทันรู้ตัว, หรือฟกยิ่งกว่าการหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านจักพึงบังคับให้ข้าพเจ้าทำ. ท่านก็เป็นปราชญ์นี่หนา: เมื่อไรปัญญาของท่านจะประติบัติท่านล่ะ. ถ้าสำหรับตัวท่าน ท่านระงับใจของท่านไม่ได้, ก็จงระงับเพื่อเห็นแก่ข้าพเจ้าเถิด.”
ในบัดนี้ท้าววิราฏรู้สึกได้เทียวว่า ความทุกข์อย่างสาหัสเป็นทางให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราชาธิราชของเธอ, และด้วยพยายามเต็มที่ ท้าวเธอปิดธาราแห่งดวงหฤทัยและห้ามการหลั่งไหลแห่งอัสสุชลเสียได้.
ตั้งแต่ยุธิษฐิรต้องเนรเทศไปเดินป่า การหยาบช้าลามกหลายอย่างได้เกิดขึ้นในรัฐสิมาของท้าวเธอ, อยุติธรรมและการปกครองไม่ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมได้เกิดขึ้นทั่วไป พระราชวังอินทรปรัสถ์ครั้งหนึ่งงามสง่าหาที่เปรียบมิใด้, ในบัดนี้สิกลายเป็นรังค้างคาวและคณานก. บ้านเมืองมีโจรผู้ร่ายดื่นดกชุกชุม. ระเบียบการปกครองได้เปลี่ยนแปลงไปมากเหลือที่กำหนดได้เพียงไร. จักพึงกล่าวได้แต่คำเดียวคือ “อำนาจเป็นธรรม” อันนี้แหละเป็นระเบียบของผู้ทำการปกครองและผู้ที่อยู่ในความปกครอง. ความสงบและนิราสภัยกลายเป็นศัพท์ที่หาความหมายมิได้, นิกรราษฎรทั้งหลายใคร่แต่จักให้ยุธิษฐิรกลับเข้าเมือง, คอยนับปีเดือนอาทิตย์และวันทุกเช้าค่ำด้วยความรีบร้อนใจ. ข่าวสาสน์การประสบเจ้าปาณฑพในราชสำนักวิราฏได้ระบือฮือใหญ่ราวกับไฟป่า, และผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในปกครองของกษัตริย์มหาศาลได้พากันนิวัตนาการโดยรีบด่วนไปกรุงวิราฏ เพื่อแสดงการเคารพแด่บรมกษัตริย์ผู้เป็นเจ้าของเขา. บางคนเดินเท้าไปทางไกลด้วยเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพื่อเห็นหน้าพระราชาผู้ประเสริฐของเขาอีกสักครั้งหนึ่ง. พากันริษยาท้าววิราฏในข้อที่มีเกียรติยศถึงให้ยุธิษฐิรสำนักอาศัยอยู่ในร่มชายคาของเธอ.
แต่ยุธิษฐิรจะกลับไปบ้านเมืองโดยสวัสดิภาพมิได้ ท้าวเธอทราบว่าจะต้องรบทุกก้าวขากลับบ้านเมือง, ท้าวเธอหารือราชสัมพันธมิตรพระราชาวิราฏในเรื่องนี้, กะแผนการรบที่จะตีเอาดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา.
ท้าวเธอตรัสแก่ท้าววิราฏว่า: “ท่านย่อมทราบเหตุการณ์ได้ดีที่ส่อให้เราถูกเนรเทศ. พงศาวดารเหตุการณ์อันลือนามในชีวิตของข้าพเจ้าอาจสรุปได้ในคำคำหนึ่ง “การพนัน” ข้าพเจ้าเอาอาณาจักรและอิสรภาพลงขันพนันกับเขา ข้าพเจ้าเสียเดิมพันไปทีละสิ่ง , ทอดลงไปทีไรก็เสียมิอะไรก็อะไรอย่างหนึ่งซึ่งเป็นส่วนสำคัญของข้าพเจ้า , ด้วยประการฉะนี้ข้าพเจ้าได้เสียไม่แต่มกุฎของข้าพเจ้า, ซ้ำเสียตัวตกไปเป็นข้าเขาด้วย, มิใช่แต่เท่านั้น, ยังเสียเท๎ราปทีผู้ยอดรักอีก, แต่การที่เสียนางไปไม่สู้กระไรแก่ข้าพเจ้ามากเท่าความขายหน้าซึ่งนางได้รับจากหัตถ์ของทุหศาสนผู้เปลื้องเสื้อผ้าอาภรณ์ของนางต่อหน้าบรรดาผู้ที่ประชุมอยู่ในที่นั้น, ครานั้นใจของข้าพเจ้าสลดเศร้านักหนา. เป็นพระกรุณาธิคุณของมหัยกา, ภีษ๎ม, ที่ได้กล่าวเชิงหารือว่า การที่จะทำโทษทัณฑ์แก่เรานั้น ขอให้เป็นการเนรเทศจากนิเวศนสถานชั่วเวลา ๑๓ ปีเป็นกำหนด, และเราก็ยอมรับเอาด้วยดุษณีภาพ, ถึงแม้ทัณฑ์นั้นจะรุนแรงอยู่ก็ตามที. ท่านก็ย่อมทราบอยู่แล้วว่า เราได้กรำความลำบากยากแค้นนักหนา ตลอดกาลนานแห่งการเนรเทศนั้น; ปีที่สุดของกาลอันเต็มไปด้วยเศร้าและอันธการ เพิ่งมาได้รับแสงสว่างอันเรืองโรจน์จ้าจากความเมตตาต้อนรับของเธอ. ในบัดนี้ข้าพเจ้าได้รับทัณฑการต้องเนรเทศนั้นโดยสุจริตครบถ้วนกำหนดกาลนั้นแล้ว, และ ได้ประติบัติเคร่งครัดตามข้อสัญญาซึ่งมัดข้าพเจ้านั้น และในบัดนี้มีความโปร่งใจ, ข้าพเจ้าคิดจะกลับไปบ้านเมืองของข้าพเจ้า. ข้าพเจ้าจะท่องเที่ยวอยู่อย่างผู้ต้องเนรเทศ ไม่มีบ้านชั่วนิรันตรกาลนั้นไม่ได้.”
ราชาวิราฏตอบว่า; ข้าพระเจ้าจะเชื่อแน่ว่า พระองค์จะได้อาณาจักรคืนมาโดยไม่ต้องทำสงครามกันนั้นไม่ได้. กระบี่ของเราแต่อย่างเดียวเท่านั้นสามารถจัดการพิพาทกันให้สงบ. อะไรที่เสียไปโดยอยุติธรรมนั้นยากที่จะได้กลับคืนมาโดยปรกติภาพ.”
เท๎ราปทีก็เห็นสอดคล้องด้วย นางเป็นสตรีก็จริงแล แต่นางเป็นธิดากษัตริย์ชาตินักรบและบาทบริจาริกาของกษัตริย์, นางย่อมทราบคุณการยุทธ์ในการของกษัตริย์. พระนางมีพจนารถว่า: “การไกล่เกลี่ยระหว่างพี่น้องซึ่งหมองใจกันนั้นเท่ากับความฝัน. การทุจริตเสียสัตย์มีรางวัลแต่อย่างเดียว มรณะ, ทุรโยธน์เอารัดเอาเปรียบแก่ท่านเพียงไร, เขาฉลาดลวงท่านเข้าไปในจั่นอย่างไร! แสร้งทำเป็นเล่นการพนันฉันมิตร แล้วลิดเอาราชอาณาจักรอันงามของท่าน ขับไล่ท่านจากบ้านและวงศ์วานของท่านอย่างไร! พระหฤทัยของท่านคงจะตื้นนี่กระไร ที่ไม่แทงตลอดความประมาทพลาดพลั้งเช่นนี้! ให้การสงคราม, สงครามอย่างเปิดเผยตัดสินว่าฝ่ายไหนชอบธรรม.”
พระราชายุธิษฐิรตรัสตอบโดยคิดไว้แล้วว่า: “พี่อยากจะลองใจเจ้าในข้อนี้, พี่จะรีบส่งผู้แจ้งข่าวสาสน์ไปยังราชบริพารและราชาผู้เป็นหัวหน้า ส่งทูตพิเศษจำทูลราชสาสน์ไปยังสำนักศรีกฤษณ ราชาทวารก, ให้ฝักใฝ่ข้างพี่ในการสงคราม. อรชุนเองจะเป็นทูตของพี่.”
รุ่งเช้าวันต่อจากนั้น อรชุนก็จำทูลราชสาสน์ไปยังกรุงทวารก. พระนครของกฤษณตั้งอยู่ชายทะเลตะวันตกทางไกล, ในแว่นแคว้นซึ่งในบัดนี้เรียกว่าคุชราต อรชุนเคยเป็นแขกไปมาหาสู่ราชสำนักกฤษณระหว่างปีแรก ๆ ในขวบ ๑๒ ปีที่เธอต้องเนรเทศอยู่, และระหว่างกุลบุรุษทั้งสองผู้ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติกัน, ได้เกิดมีสัมพันธไมตรีสนิทสนมมากมาย ความสนิทสนมกันอันจักพึงจะเจริญอยู่ได้ระหว่างใจของมนุษย์สองคน. ในโอกาสที่เธอมาหาครั้งนี้, อรชุนสังเกตเห็นเจ้าชายองค์หนึ่งแต่งกายเรียบร้อย เดินเข้าไปในทวารพระราชวังทวารก, เดินไปหน้าเธอไม่กี่ก้าว, ดูท่าทางเจ้าชายผู้นั้นเป็นนายพเนจรอ่อนเพลียเหมือนตัวของเธอ, และดูเหมือนมีธุระด่วนเช่นเดียวกัน. ยามรักษาการอนุญาตให้เธอผ่านเข้าไปโดยดี, และดูประหนึ่งว่า เธอเป็นพระสหายหรือพระญาติองค์หนึ่งของพระราชา, อรชุนเกิดหลากใจว่าเธอจะเป็นใครหนอ, แต่ไม่มีเวลาพอที่จะเปลืองในเรื่องนึกคำนึงในอันไร้ประโยชน์เปล่าๆ เธอมาราชการอันรีบร้อนยิ่ง, และใจของเธอก็หมกมุ่นอยู่ในเรื่องราชการงานเมือง.
เมื่อมาถึงทวารวัง, นายทวารบาลก็อนุญาตให้เธอเข้าไปโดยดีเช่นเดียวกัน, และเธอก็เดินกรายเข้าไปในที่ออกขุนนางโดยไม่มีพิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง; แต่ได้ทราบว่ากฤษณกำลังเข้าที่บรรทมเที่ยงวัน สำราญนิทรารมย์สนิทอยู่, เธอก็เข้าไปในห้องบรรทมพระราชา, แท้จริงมิใช่ว่าจะปลุกท้าวเธอให้ตื่น, แต่ทั้งนี้เพื่อมิให้เปลืองเวลาต่อไปเมื่อท้าวเธอตื่นบรรทม แต่พออรชุนย่างเข้าห้องบรรทมพระราชา, แขกผู้มาหาอีกฝ่ายหนึ่งก็เดินตามเธอเข้าไป, ดูเหมือนว่าเดินสาวก้าวขึ้นหน้าเธอไปสองสามก้าว, ได้เข้าห้องบรรทมนั้นพร้อมกัน. อรชุนไม่อยากดูหน้าของเขาผู้เป็นแขกอีกฝ่ายหนึ่งนั้น แต่ในที่เฉพาะพระพักตร์เธอลืมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง, และความรื่นรมย์สิเนหารักใคร่เข้าครอบเปี่ยมหฤทัยของเธอ, เจ้าชายผู้แขกมาหาไว้สง่าเข้าไปยืนต้นพระแท่น ฝ่ายอรชุนผู้สงบเสงี่ยมเจียมองค์ก็ตรงไปขึ้นอยู่ที่ปลายพระแท่นใหญ่ เป็นที่พอใจของเธอที่ได้แสดงมรรยาทดังนั้นต่อพระสหาย. การที่มีผู้จู่ลู่เข้ามาภายในทำให้พระราชาตื่นบรรทม, และเมื่อลืมพระเนตรขึ้นก็แลไปเห็นอรชุนก่อน ยืนอยู่ที่ปลายพระแท่นใหญ่, และด้วยความดีใจ ท้าวเธอร้องทักว่า: “อรชุน ! เธอมาเมื่อไร ! ฉันยินดีที่พบเห็นท่าน.”
“หม่อมฉันเพิ่งมาเดี๋ยวนี้.”
“เปล่าน่ะ ฉันมาก่อน,” เป็นเสียงอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวสอดขึ้นกลางคัน,-ผู้เป็นแขกมาหาอีกฝ่ายหนึ่งนั้นคือทุรโยธน์. เมื่อหันพระพักตร์ไปทางผู้พูดอีกฝ่ายหนึ่ง, กฤษณเห็นทุรโยธน์ก็ตรัสว่า “นานเทียวหนอเพิ่งพบกันวันนี้. สิทธิโชคโฉลกดีนำท่านมาสู่ที่นี้.”
ทุรโยธน์ใคร่จะได้สัมพันธไมตรีแห่งกฤษณโดยสิทธิที่เป็นผู้มาก่อน (เพราะตามประเพณีกษัตริย์ฮินดูโบราณ, ผิวเกิดแก่งแย่งขอความช่วยเหลือขึ้นระหว่างปรปักษ์, เขามักจะชี้ขาดลงไปว่าให้ช่วยผู้ที่มาก่อน), มิได้กล่าวตอบคำพระราชปฏิสันถารเชิงทักทายปราศรัย, กล่าวแต่ห้วนๆ ออกไปว่า: “ข้าพระเจ้าขอให้ท่านมีส่วนในการสงครามอันจะมีมา และขอจงฝักใฝ่ข้างข้าพระเจ้า”
อรชุนมิได้ร้องขอความช่วยเหลือเอารัดเอาเปรียบเช่นนั้น, นั่งเฉยอยู่ที่ปลายพระแท่นศยนบิฐของกฤษณเหมือนแต่ก่อน. อ้ำอึ้งอยู่สักครู่ กฤษณตรัส: “ข้าพระเจ้าไม่รังเกียจในการที่จะมอบกำลังโยธาหารของข้าพระเจ้าเพื่อประโยชน์ของท่านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย. แต่ข้าพระเจ้ามีเรื่องอเนกปรยายที่จะกล่าวว่า ตามที่เห็นด้วยตาของข้าพระเจ้า ท่านทั้งสองมีภาคย์เสมอกัน. เพื่อรักษาตราชูให้ทรงอยู่เที่ยงระหว่างความเป็นมิตรส่วนตัวและสัมพันธไมตรีทางราชการงานเมือง, ข้าพระเจ้าจะขอกล่าวว่า ข้าพระเจ้าจะมอบกองทัพบกและธนกำลังทั้งมวลแห่งอาณาจักรข้าพระเจ้าให้แก่ท่านฝ่ายหนึ่ง, แต่อีกฝ่ายหนึ่งข้าพระเจ้าใคร่จะมอบตัวข้าพระเจ้าให้, โดยมิได้กุมอาวุธ หรือสวมเกราะเครื่องป้องกัน. ในบัดนี้ให้ท่านต่างฝ่ายต่างเลือกเอาสิ่งที่พอใจของท่านเถิด.”
ทุรโยธน์ทูลว่า “กองทัพบกและธนทรัพย์เป็นของข้าพระเจ้า.” ทะเยอทะยานที่จะเอารัดเอาเปรียบเห็นประจักษ์อยู่แก่ตา, และในความตะลีตะลานงุ่นง่านของเธอ ตรัสถ้อยคำป้ำ ๆ เป๋อๆ มีความหมายอันฟังยาก.
อรชุนตอบ: ข้าพระเจ้ามีความพอใจที่ได้ตัวกฤษณมาเป็นฝ่ายข้าพระเจ้า. ข้าพระเจ้าตีราคามิตรภาพอย่างกฤษณมากยิ่งกว่ากำลังไพร่พลของเธอ.”
คราทีนั้น กองทัพบกของกฤษณก็รีบยกไปกรุงหัสตินาปุร, และทุรโยธน์เป็นผู้นำไปเอง. ในเวลาเดียวกัน, กฤษณก็เสด็จตามอรชุนไปหาท้าววิราฏ, เสด็จไปครั้งนี้โดยมิได้กุมอาวุธและมิได้มีราชบุรุษตามไปด้วย. สองขัตติยสหายไปถึงท้าววิราฏแล้ว.ได้มีการหารือกันในหมู่ปาณฑวภราดา, กฤษณนั่งเป็นประธานในที่ประชุมนั้น ท้าวเธอพยายามแต่จะบำบัดมิให้เกิดการสงครามฆ่าฟันกัน, และตลอดเวลาที่หารือกันอยู่นั้น ท้าวเธอลุกขึ้นยืนกล่าวค้านเพื่อการสงบศึก, เพื่อความเป็นมิตร, เพื่อล้มการรบราฆ่าฟันแห่งญาติทั้งหลาย และความเงียบเหงาว้าเหว่แห่งบ้านช่องที่ครึกครื้นทั่วไป. เป็นการตกลงกันตามคำแนะนำของกฤษณ ให้ส่งทูตไปเฝ้าราชาธฤตราษฎร์ พระญาติผู้ใหญ่ กระทำการปรองดองกันกับเจ้าเการพ.