ตอนสิบห้า มรณะของอภิมันยุ

วันที่สิบสองของการยุทธ์รุ่งสว่างอย่างมืดคลุ้มชอุ่มทั่วสนามยุทธ์อันเกรอะกรังด้วยโลหิต. โท๎รณนั้นใจคอเบิกบานยิ่ง; กำลังกายก็ยังกระชุ่มกระชวยอยู่ กำลังไพร่พลก็ยังไม่โทรมหมด, เขาจัดกองทหารวันนี้เป็นรูปใยแมลงมุมเพื่อทำแนวให้แน่นหนา ข้าศึกตีเข้าไปไม่ได้, เว้นไว้แต่จะเข้าไปตายหรือถูกจับ. ขบวนยุทธ์ซับซ้อนอย่างที่กล่าวแล้วนั้นเป็นหน้าตาแห่งยุทธกิจโบราณของชาวอินเดีย, แต่ตามธรรมดากลเหล่านี้จะได้ใช้ต่อเมื่อเห็นว่าไม่มีทางอย่างไรแล้ว. เพื่อล่ออรชุนเข้าไปในที่ที่ทำกลไว้; จึงได้ส่งคำท้ารบไปถึงเขา, เหมือนเมื่อวันก่อน. อรชุนตรองเห็นอุบายนั้น, ซึ่งหมายความอย่างเดียวกันกับถ้อยคำ แมลงมุมผู้เจ้าเล่ห์เชิญแมลงวันว่า “เข้ามาในห้องรับแขกของฉันซีจ๊ะ” อรชุนรับคำท้ารบแต่มิได้ทิ้งหน้าที่ของตน, และได้ใช้ให้อภิมันยุบุตรชายไปต่อสู้กับผู้ท้า, นักรบหนุ่มนั้นดีใจนี่กระไรที่รับหน้าที่ทำการแทนบิดาดังนั้น, และพลางขึ้นรถศึกขับตรงไปโดยรีบด่วนราวกับว่าความมุ่งหมายนั้นไม่แต่เพียงจะไปรบตอบตามที่ข้าศึกท้าเท่านั้น, ยังจะกวาดกองทัพกุรุทั้งหมดให้เกลี้ยงไปในการรุกครั้งเดียว. นี้เป็นทีที่จะได้หรือจะเสียกัน, เพราะฉะนั้นเพื่อสกัดกั้นมิให้เข้ารุกต่อไป ทุรโยธน์ก็เข้าตีด้วยกำลังอันแข็งแรง. แต่อภิมันยุฝากแผลไว้ที่ทุรโยธน์แผลหนึ่ง. และสังหารทหารรักษาองค์ทุรโยธน์ตายสิ้นทุกคน, ผู้ที่เข้าผจญเจ้าปาณฑพหนุ่มถัดมาก็คือศัลย พระเจ้ากรุงมาทร; และท่านผู้นี้ก็เหมือนกัน, อภิมันยุตัดกำลังเสียด้วยลูกธนูสองสามดอกซึ่งแผลงไปมิได้ผิดที่หมาย, แล้วก็ออกรุกต่อไป.

ถัดนั้นทุหศาสนออกขวางทางไว้. อภิมันยุเห็นเข้าก็ยิ้มเยาะให้และปราศรัยว่า: “ท่านไม่ใช่หรือซึ่งคิดกันกับศกุนิมีชัยได้ราชอาณาจักรของยุธิษฐิรโดยอสัจจะน่าชัง? ท่านไม่ใช่หรือ? ท่านไม่ใช่หรือ ซึ่งจิกเศียรเกล้าคร่าพระนางเท๎ราปที, และหมิ่นประมาทพระราชินีต่อหน้าผู้ดูที่เป็นคนหยาบ? ท่านเรียกภีมว่า ‘ข้าในเรือนเบี้ยของ’ ท่าน ไม่ใช่หรือ? ท่านล่วงเกินอรชุนบิดาของข้าพเจ้า ไม่ใช่หรือ? ดีละ, ท่านเป็นข้าศึกที่พอใจยิ่งของข้าพเจ้า -ข้าพเจ้าเป็นหนี้คำปฏิญญามุ่งร้ายหมายขวัญแก่ท่านอย่างร้ายแรง.”

พูดดังนี้แล้ว, ชายหนุ่มผู้มุทะลุก็ประหารทุหศาสนเข้าด้วยลูกธนูอันน่าสยองเกล้า, และเจ้ากุรุนั้นล้มลงไปงันอยู่เหนือพระธรณี. แต่เจ้ากุรุหลายองค์วิ่งไปช่วยไว้ให้พ้นจากขากรรไกรแห่งมรณะ พากันหามไปจากสนามยุทธ์นั้น โลหิตไหลไม่ได้สติสมประดี.

ต่อนั้นเจ้ากุรุอีกองค์หนึ่งพยายามเข้าสกัดกั้นอภิมันยุ; แต่อภิมันยุปัดเจ้านั้นกระเด็นไปอย่างปัดแมลงวันตัวหนึ่งก็ปานกัน. และได้ออกรุกต่อไปจนทั่วสนามยุทธ์ ไม่มีผู้ใครบรอต่อกรได้.

ถัดนั้นมาก็ถึงชยัทรถ พระเจ้ากรุงสินธุ, ซึ่งคบคิดกับพาลราชอื่นอีกหกองก์เข้าตีอภิมันยุ ข้าศึกทั้งเจ็ดล้อมอภิมันยุไว้รอบทุกด้าน, จากทุกๆด้านข้าศึกยิงธนูไปประหารโดยไม่มีกรุณา. อภิมันยุไม่หวาดหวั่น ทำการรบต้านทานอันเหลือบ่ากว่าแรงนั้นอยู่หลายชั่วโมง. ในที่สุดธงรูปมยุราของเขาได้ถูกยิงล้มลง; รถหักป่นปี้; ม้าตาย; นายสารถีถูกจับ ถึงกระนั้นก็มิได้หวาดหวั่น, อภิมันยุเวียนผันหันหน้ารับข้าศึกทังเจ็ดซึ่งเข้ารุมตีมาพร้อมกัน, ร่างกายเต็มไปด้วยบาดแผลเหวอะหวะ; โลหิตโซมพักตร์และริมฝีปาก; โลหิตอาบย้อมเครื่องแต่งกายตั้งแต่คอถึงเข่า; โลหิตเกรอะกรังมือและอาวุธ; แต่ถึงกระนั้นวีรบรุษหนุ่มก็ยังทำการสู้รบเรื่อยไป, รู้สึกหน้ามืดและโรยแรงเพราะโลหิตตก, เท้าสั่น, รู้สึกว่าชีวิตกำลังเลือนออกจากร่าง. ในที่สุดไม่สามารถที่จะทนทานได้ต่อไป, เขาก็ล้มลง, โลหิตไหลสิ้นแรง, สิ้นสติ, สิ้นใจ. เขาล้มดังพญาช้างงาในป่าใหญ่ ซึ่งต้องอาวุธมีบาดแผลทั่วกาย ถึงแก่ความตายโดยพวกพรานใจร้าย,- ดับดั่งไฟป่าดับ- ตกไปดั่งพระสูรยเทพผู้รุ่งโรจน์ตกลับเหลี่ยมไศลทางทิศตะวันตก,-มืดดั่งดวงจันทรยามมีอุปราค.

จึงยุติยุทธการประจำวันนี้, พระอาทิตย์ตกและดาวก็เด่นดวงปรากฏในท้องฟ้าอันมืดนั้น, ส่องรัศมีสีอ่อนๆ ต้องศพอภิมันยุอันเยือกเย็น.

อรชุนเวลานั้นอยู่ไกล, กำลังรบสู้อยู่ในภาคหนึ่งแห่งสนามยุทธ์นั้นไกลกัน; และขณะที่เธอเดินกลับไปค่ายนั้น ได้เห็นลางร้ายหลายประการตามมารคา, และสนทนากับนายสารถีเสียงเครือด้วยความหวาดหวั่นใจว่า; “เหตุไฉน, กฤษณเอย, ลางร้ายจึงมีมาต้องตาข้าพเจ้าค่ำวันนี้? เหตุไฉนจิตใจของข้าพเจ้าเศร้าสลดอย่างน่าประหลาดดังนี้? เหตุไฉนจึงเงียบสงัดทั่วท้องสนามยุทธ์ ?” และเมื่อเธอใกล้ค่ายของเธอเข้าไป ปราศรัยกับกฤษณอีกว่า: “เหตุไฉนค่ายของยุธิษฐิรจึงเงียบสงัดนักค่ำวันนี้? เหตุไฉนอภิมันยุลูกน้อยของข้าพเจ้าไม่ออกมาคอยรับ?”

ก้าวไปช้า ๆ และสองจิตสองใจด้วยสนเท่ห์ เธอย่างเท้าเข้าไปในปะรำที่ประทับของยุธิษฐิรซึ่งทรงพระกันแสง แต่พอทอดพระเนตรมาเห็นอรชุนแล้วก็ทรงเล่าเรื่องบุตรของเขาซึ่งได้ออกต่อสู้กับราชศัตรูหมู่ใหญ่อันเหลือบ่ากว่าแรง- ทรงเล่าเรื่องชยัทรถคิดกันกับเพื่อนใจร้ายอีกหกคน เข้ากลุ้มรุมวีรษุรุษหนุ่มและประหารเสียเป็นชิ้นน้อยท่อนใหญ่ตายอยู่ในสนามรบ.

อรชุนร้องออกมาได้แต่คำเดียวว่า “ไอ้เด็กกล้า!” เพียงเท่านั้นก็ถึงวิสัญญีภาพล้มราบลงกับพื้นพระธรณี, นอนไม่ได้สติสมประดีอยู่ครู่ใหญ่ ครั้นลืมเนตรขึ้นได้อีก, เธอโกรธจนตัวสั่น, ทูลแด่ยุธิษฐิรว่า: “ท่านว่าชยัทรถทำการหาญหักบุตรของข้าพเจ้าผู้รบรับขับสู้อยู่คนเดียวลงได้โดยคบคิดกันฆ่าเขาหรือ? เพราะว่าที่ทำเช่นนั้นมันก็เท่ากับโจรมีอาวุธเจ็ดคนเข้ากลุ้มรุมตีฟันเด็กคนเดียวซึ่งไม่มีผู้ช่วย เจ้ากุรุเหยียดองค์ลงสู่หินโทษโหคร้ายไม่มีอายเช่นนี้, ทำลายกฎแห่งการรักษากิตติมศักดิ์เช่นนี้, เป็นมลทินด่างพร้อยเสียชื่อเสียงกษัตริย์เช่นนี้หรือ? ขอให้ความโกรธของบิดาฆ่ามันเสียในโลกนี้, และขอให้คำสาปแห่งบิดาผู้มีบุตรอันจากไปแล้วตามมันไปในโลกหน้า! ในบัดนี้ยุธิษฐิรผู้ทรงศีลจงฟังปฏิญญาของข้าพเจ้า,-ขออย่าให้ข้าพเจ้าบรรลุถึงสุขแห่งสวรรค์เลย ถ้าข้าพเจ้าไม่ฆ่าชยัทรถเสียได้ก่อนวันพรุ่งนี้ล่วงไป! ขอให้วิญญาณของข้าพเจ้าไปสู่นิรยภูมิ และต้องโทษทัณฑ์อันขี้ขาดแก่สัตตบาปที่ร้ายๆนั้น ถ้าก่อนอาทิตย์อัสดงวันพรุ่งนี้ข้าพเจ้าไม่ฆ่าชยัทรถเสียได้!”

ได้มีการเศร้าโศกปริเทวนาการในค่ายปาณฑพตลอดราตรีกาลค่ำวันนั้น; ครั้นวันพรุ่งรุ่งขึ้นมา อรชุนแย่งเอาหน้าที่เป่าสังข์ศึกรัวเสียงอยู่ช้านาน, เป็นอาณัติสัญญาสำหรับปฏิญญาอันน่าสยองเกล้าที่เขาจะทำให้สำเร็จลุล่วงไปในวันนั้น.

พวกกุรุได้ทราบคำสาบานของอรชุน; ได้ยินเสียงเสียงสังข์ของอรชุน, ก็ตระเตรียมการสู้รบอย่างดุร้ายวันนั้น บางท่านที่เป็นผู้ฆ่าอภิมันยุตายนั้นพากันกลัวจนตัวสั่น.ชยัทรถนั้นลมใส่เอาด้วยความตกใจ, ไม่ใคร่จะเต็มใจไปล่อหน้าอยู่ในสนามยุทธ์ ท้าวเธอเสด็จสู่ปะรำที่ประทับของทุรโยธน์ก่อนได้อรุณ, และทูลว่า: “คำสาบานของอรชุนทำให้ข้าพเจ้าอาลัยในชีวิตของข้าพเจ้า เหตุไฉนเขาเจาะจงเอาตัวข้าพเจ้าในจำนวนทั้งหมดด้วยกันเป็นสิ่งมุ่งแก้แค้นของเขา? พงศ์เผ่าของเขาหลายองค์ถูกพวกกุรุปลงชนม์ชีพตกไปทุกๆ วัน, แต่ก่อนแต่ไรมาเขาไม่เคยสาบานอย่างน่าขนพองสยองเกล้าดังนี้. อรชุนนั้นแน่นอนเทียวเป็นข้าศึกผู้กล้ายิ่งของเรา, และฉะนั้นคำสาบานของเขามิใช่คำสาบานของพวกขี้เมาซึ่งเราอาจหัวเราะเยาะเสียก็ได้. ข้าพเจ้ากริ่งใจความตายของข้าพเจ้ามาถึงเข้าแล้ว.”

ทุรโยธน์ตรัส “อย่าเสียใจ, ไม่เหมาะแก่นักรบจะปรารภกลัวตายอย่างนี้. ทุกขณะแห่งชีวิตของทหารนั้นเป็นการเล่นกับความตาย ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวว่า, แทนที่วันนี้เป็นวาระที่สุดของท่านนั้น, กลายเป็นมรณะของอรชุนนั้นเอง”

“ภัยของข้าพเจ้าใกล้เข้ามาแล้วหนา”

“กองทัพทั้งมวลของข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ทำการป้องกันรักษาตัวท่านด้วยความระวังระไวอย่างกวดขันวันนี้ เพราะฉะนั้นท่านไม่ต้องกลัวอะไร.”

แตรสั้นอุโฆษการเริ่มรบ, อรชุนพลางขึ้นรถศึก, พูดแก่กฤษณว่า “จงขับม้าสีหมอกของข้าพเจ้าให้เร็วที่สุดที่ท่านจะพึงขับได้, เพราะวันนี้การงานของข้าพเจ้าเป็นการงานอันน่าสยองเกล้า,-ข้าพเจ้าต้องทำให้สำเร็จลุล่วงคำสาบานของข้าพเจ้าภายในเวลาวันแรก หากทำการนั้นไม่สำเร็จ, ข้าพเจ้าก็สละชีพของข้าพเจ้า”

รถศึกของอรชุนลั่นด้วยเสียงก้องอันสะเทือนท้องสนามยุทธ์จากที่สุดด้านหนึ่งเยือกถึงอีกด้านหนึ่ง, คนแรกที่เข้ามาขวางหน้ารถไว้นั้นคือทุรมรรษัณ; แต่อรชุนขับเตลิดไปโดยง่าย, และชักรถต่อไป

ถัดนั้นทุหศาสนเข้าสกัดหน้ารถไว้, เข้าตีอรชุนด้วยช้างศึกโขลงหนึ่ง; แต่เสียงลั่นแห่งรถศึกของอรชุนเท่านั้น ช้างเหล่านั้นตกใจวิ่งแตกหมู่ไปหมด, และอรชุนก็ชักรถต่อไป.

ถัดนั้นท่านโท๎รณาจารย์เองออกสกัดหน้าและท้าให้เข้ารบสู้กันตัวต่อตัว. แต่อรชุนออกตัวโดยสุภาพว่า “จงให้อภัยแก่ศิษย์ของท่านเถิดหนา, ถ้าเขาไม่ยอมรับคำท้าของท่านวันนี้, เขาจะไปตีผู้ฆ่าอภิมันยุลูกของเขาให้สำเร็จตามคำสาบานอันใหญ่หลวงที่เขาได้ลั่นไว้นั้น.” รถศึกของอรชุนอันขับทะยานนั้นลั่นผ่านข้างโท๎รณาจารย์ไปตามแถวทหารกุรุซึ่งโค้งไป, กวาดสิ่งกีดขวางทั้งหลายกระจายหมด, การต่อสู้ทั้งสิ้นแตกกระจายไป, และชักรถเที่ยวค้นหาชยัทรถ.

ตลอดวันเสียงลั่นแห่งรถของอรชุนนั้นก้องแล้วก้องเล่าอยู่ในท้องสนามยุทธ์; แต่ไม่ประสบพบตัวชยัทรถ กฤษณเห็นว่า ม้าเหนื่อยและต้องการพักผ่อนโดยด่วนและอยากน้ำเป็นกำลัง จึงได้ปลดม้าเหนื่อยนั้นออกจากคาน ให้พักและให้อาหารกินใต้ต้นไม้อันร่มรื่น, แล้วเอาเข้าเทียมรถอีก, และรถก็วิ่งข้ามทุ่งอันเซ็งแซ่ด้วยเสียงพลยุทธ์นั้นอีก, แต่ชยัทรถมิได้โผล่มาให้ปรากฏแก่ตาอรชุนในที่นั้น เจ้ากุรุอีกหลายองค์เข้าขวางทางอรชุนไว้; บางองค์ก็ถูกปลงพระชนม์เสีย, บางองค์ก็หลีกหลบไปเสียทางหนึ่ง; แต่ข้าศึกใหญ่ที่เข้ามุ่งจะใคร่พบนั้นอยู่สุดสายตา อรชุนตั้งต้นจะเสียใจอยู่แล้ว, ทีนั้นเมื่อแลไปเห็นชยัทรถอยู่ที่มุมหนึ่ง แห่งสนามยุทธ์นั้น มีทหารกองหนึ่งท่าผึ่งเผยตั้งแวดล้อมคอยป้องกันอยู่, พระอาทิตย์จวนจะตกอยู่แล้ว, และต้องไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปเสียเปล่า แต่ถึงกระนั้นใช่ว่าจะเข้าไปทำการได้ง่ายๆ ‘กรรณ’ ซึ่งเป็นองครักษ์คนหนึ่งคอยป้องกันองค์แห่งชยัทรถอยู่นั้น เห็นอรชุนขับรถตรงเข้าไปหาท้าวเธอก็ถลาออกไป เข้าต่อสู้กับอรชุน, ด้วยความมุ่งหมายจะหน่วงเวลาถ่ายเดียว, ยังขาดเวลาอยู่อีกสองสามนาทีเท่านั้นพระอาทิตย์ก็จะตกลับเหลี่ยมผา, เป็นเวลาสูรยอัสดง, ถ้าเวลานั้นอรชุนทำการไม่สำเร็จลุล่วงตามคำสาบานของเขาไซร้, เขาจะต้องสละชีพ, ข้าศึกอยู่ในกำมือของเขาแล้ว, นี้เป็นความคิดของ ‘กรรณ’ แต่ในใจ, เป็นช่องแล้วสำหรับการพยาบาทและอริกันมาตลอดอายุขัย, กฤษณเห็นทีคับขันอันจะปราชัยหรือมีชัย ซึ่งอรชุนผู้สหายตกอยู่ในบัดนี้, และท้าวเธอเป็นห่วงในเรื่องนี้มากกว่าอรชุนขณะที่ชุลมุนอยู่ในการรบ ทันใดนั้นราวกะว่ามีเทพดามาช่วยกระนั้น, ก้อนเมฆมืดจากทิศตะวันตกผ่านมาบดบังดวงอาทิตย์และปิดแสงสว่างเสียมืดสนิท ถึงกับ ‘กรรณ’ คิดว่าวาระถึงที่สุดลงแล้ว เขาทิ้งอาวุธหันหน้าจะไปจากสนามยุทธ์ แต่รถของอรชุนวิ่งเร็วรี่ไปยังที่ที่ชยัทรถยังยืนอยู่ในวงทหารแวดล้อมนั้น และพระอาทิตย์ก็พลันโผล่ออกมาจากเบื้องหลังก้อนเมฆชั่วเวลาครู่หนึ่ง อรชุนเอาโอกาสครู่นั้นพิฆาตชยัทรถตายคาที่, ปฏิญญาข้อใหญ่ของเขาก็สำเร็จลุล่วงด้วยประการฉะนี้, และเอาศีรษะข้าศึกเสียบปลายทวนสูงใหญ่ในเมื่อมีชัยกลับมาค่าย.

การล้มแห่งชยัทรถเป็นอาณัติสำหรับการแก้แค้นอย่างน่าสยองเกล้าข้างฝ่ายกุรุ เป็นครั้งแรกในการยุทธ์ การแย้งยุทธ์ชิงชัยได้ทำการต่อไปในราตรีกาล, และคบเพลิงลุกรุ่งโรจน์, กระบี่และเกราะสุกวาวในเวลาต้องแสงคบเพลิง, และการรบซึ่งได้เริ่มเวลาอาทิตย์อุทัยได้ยืดเวลาออกไปหลายชั่วโมงภายหลังสุริยลับมนุษยโลก ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนว่าบันดาลโทสะไม่ใคร่จะเหือดลงได้ จนกระทั่งในที่สุดยินยอมพร้อมใจกันพักรบและสงบการฆ่าฟันกันชั่วคราว เคราะห์ร้ายในวันนี้ทำให้ทุรโยธน์เศร้าพระหฤทัยอีก, และท้าวเธอก็เสด็จไปหาโท๎รณ, และตรัสว่า “ข้าพเจ้าเคราะห์ร้ายนักหนา! แถวทหารกุรุบางเข้าทุกที, และการรบของเราอ่อนลงทุกที นี้มันอย่างไรกัน? เมื่อนักรบตัวกลั่นหาที่เปรียบมิได้อย่างท่านนำทัพของข้าพเจ้ามาพบพานการไม่สำเร็จผลอีก? หรือความใจอ่อนอย่างเดียวกัน ซึ่งเมื่อทำให้พาหาของภีษ๎มสิ้นกำลังไปแล้ว ยังทำมือเท้าของท่านอ่อนไปด้วย? หรือเพราะเจ้าปาณฑพเป็นศิษย์ของท่าน? ถ้าการเป็นดังนี้ไซร้ หรือเป็นแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง, ในนามแห่งยุติธรรม ทำไมท่านไม่มอบตำแหน่งของท่านให้แก่กรรณ?”

ความคลั่งถึง ‘กรรณ’ ได้เกิดแก่ทุรโยธน์ทุกๆ คราวที่กองทัพของท้าวเธอถูกตีถอยไปหรือปราชัยไม่น้อยกว่าสามครั้ง ท้าวเธอได้ติเตียนภีษ๎มผู้ศักดิ์สิทธิ์โดยคาดหมายว่ามีใจฝักใฝ่ปาณฑพ, และทุกๆ ครั้งท้าวเธอได้ตั้งพระหฤทัยจะอปโลกน์ ‘กรรณ’ เป็นผู้นำทัพคนใหม่โดยทางประชุมหารือ ในบัดนี้ก็อีก, ครั้นท้าวเธอเห็นอรชุนรักษาปฏิญญาไว้ได้โดยมีชัยมิให้เสียไปได้ด้วยความพยายามของข้าศึกอย่างเต็มที่, ดวงกมลของทุรโยธน์ก็รู้สึกว้าเหว่ และในขณะที่เนาอยู่ในความว้าเหว่นั้น, ก็เข้าอาศัยอยู่ในความหวังว่า ‘กรรณ’ คงจะคืนเอาชัยชนะได้ดุจทำน้ำอันไหลลงสู่ทะเลใหญ่ให้กลับไหลขึ้นมาฉะนั้น.

แต่โท๎รณาจารย์กล่าวตอบท้าวเธออย่างเดียวกันกับคำตอบที่ท้าวเธอได้รับเนือง ๆ จากภีษ๎มในโอกาสอันคล้ายกันว่า: “ทุรโยธน์เอย,-ถ้าและว่ากองทหารของท่านแตกพ่ายไปไซร้, มันก็มิใช่อื่นไกล คือว่าตัวท่านเกี่ยวผลร้ายแห่งอกุศลของท่านเอง, อย่าได้กล่าวโทษผู้ชำนาญในการรบอันมีศีรษะหงอกขาวอย่างข้าพระเจ้าว่า กอปรด้วยอสัจจะหรือประทุษจิต ท่านเป็นเด็กกะจิริตต่อหน้าข้าพระเจ้า พึงทรงทราบความข้อนี้เถิดว่า อรชุนไม่มีผู้เสมอเหมือนในวิชายุทธ์, และพึงทรงทราบเถิดว่า โท๎รณไม่ต้องการให้ต้องเตือนกิจในหน้าที่ของเขา เพื่อให้ท่านทรงทราบความจริงเรื่องนี้, ข้าพระเจ้าขอกล่าวคำสาบานในที่นี้ว่า วันนี้อรชุนจะตายด้วยมือข้าพระเจ้า, หรือตาข้าพระเจ้าจะหลับชั่วนิรันตรกาล, ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง”

เมื่อทินกรส่องแสงสว่างหล้า การยุทธ์ก็ลงมือกันเผ็ดร้อนและดุร้ายมากขึ้น ฆโฏต์กจะเป็นผู้มีชัยได้ความบันลือชื่อเสียงในวันนี้, เขาผู้รากษสีบุตรของภีม, ซึ่งทำมรณกรรมและความตกใจเข้าไปในแถวทหารกุรุอันมีทหารบางตา ด้วยโทสะของรากษสและดูเหมือนตัวเขามีอิทธิฤทธิ์ผิดธรรมดา ซึ่งทำให้อยู่ยงคงแก่ฟันอย่างน่าประหลาด เป็นรากษส, ฆโฏต์กจะไม่พรั่นพรึงต่อมรณภัยและการตกไปเป็นเชลยศึกอย่างมนุษย์สามัญพึงพรั่น, ที่จะปราบเขาได้ก็มีแต่อานุภาพเทพดาเท่านั้น, การครั้งนั้น ‘กรรณ’ มีศรมหัศจรรย์อยู่เล่มหนึ่ง องค์อินทร์เจ้าสุราลัยประทานให้, เพื่อนฝูงของเขากล่าวซ้ำเตือนให้ใช้ศรเล่มนั้นประหารรากษสตนนี้ซึ่งไม่มีผู้ใดต่อต้านได้, การก้าวหน้าของรากษสต่อไปนั้นแปลว่า การเสียหายแก่กองทหารกุรุต่อไปเท่านั้น ‘กรรณ’ จำเป็นต้องยอมตามคำวิงวอนของเพื่อนเขา, ในเรื่องนี้ความประสงค์ของเขาจะถนอมอาวุธคือศรเล่มนี้ ไว้สำหรับสังหารอรชุน ฆโฏต์กจะพลันล้มโดยเทพอาวุธนี้, และต่อนั้นได้มีเวลาสงบสงัดกาหลสักครู่หนึ่งในสนามยุทธ์.

แต่เป็นคราวสงัดเหมือนเวลาก่อนหน้าพายุฟ้าคะนอง เพราะเสียงกาหลแห่งการรบได้พลันตั้งต้นขึ้นด้วยแรงสองเท่าที่เป็นมาแล้ว, เสร็จสังหารฆโฏต์กจะ ‘กรรณ’ ก็ตรงเข้าต่อข้าศึกเก่าของเขา, ทรุบท พระเจ้ากรุงปัญจาล, และราชาวิราฏ ทั้งสองท่านนี้ถูกประหารประลัยไปเวลาเดียวกัน.

วาระแห่งการสาบานอย่างน่าสะพรึงกลัวสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างน่าสยองเกล้าก็ถึงที่สุดลง และการบังคับบัญชาของโท๎รณได้นำมาซึ่ง, ถ้ามิใช่ชัยชนะ, อย่างน้อยก็การแก้แค้นได้,

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ